เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2065 ภาษาอเมริกันวันละคำ Under the Weather เพราะอากาศเปลี่ยน
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


 เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 10:56

สาวไทยวัยใกล้กลางคนกวาดสายตาไปรอบๆ ร้านสะดวกซื้อซึ่งตั้งอยู่ ณ ชั้นล่างของอาคารสำนักงานที่ตนทำงานอยู่  ก่อนจะส่งยิ้มให้พนักงานสาวน้อยที่ยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์และเอ่ยปากทักทายตามปกติวิสัยว่า

“สวัสดีค่ะ สบายดีไหมคะ”

ถ้าเป็นวันอื่นๆ  สาวน้อยคนเดิมจะส่งยิ้มอ่อน ๆ มาให้แต่เพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้เอื้อนเอ่ยอะไรอีก  อันเป็นที่เข้าใจกันได้  เนื่องจากการทักทายแบบนี้มิได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยเสียทีเดียว  แต่เป็นสิ่งที่สาววัยกลางคนทำจนติดเป็นนิสัยเนื่องจากหน้าที่การงานและชีวิตประจำวันนั้นทำให้ต้องคลุกคลีตีโมงกับชาวต่างชาติอยู่ตลอดเวลา 

ทว่าวันนี้ไม่เหมือนวันก่อนๆ   เพราะไม่เพียงแค่สาวน้อยหลังเคาน์เตอร์จะส่งเสียงตอบว่า
 “ไม่ค่อยสบายค่ะพี่”
กลับมาให้คนถามแปลกใจเล่นเท่านั้น  เธอยังอธิบายเสียยืดยาวด้วยว่า
“หนูรู้สึกเบื่อๆ เศร้าๆ อย่างไรก็ไม่รู้  บางทีก็รู้สึกอยากร้องไห้  ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องอะไรให้เสียใจหรือกังวล  พี่ว่าหนูบ้าหรือเปล่าคะ”
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 10:57

เนื่องจากวันนั้นเป็นวันซึ่งอุณหภูมิในตอนเช้าลดต่ำลงกว่าปกติ  และมีลมเย็นๆ พัดผ่านพอให้รู้สึกว่าฤดูหนาวที่รอคอยกำลังจะเดินทางมาถึงแล้ว   บทสนทนาต่อจากนั้นจึงหันเหไปยังเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิพลของภูมิอากาศต่ออารมณ์ของมนุษย์   ด้วยเหตุที่สาวผู้สูงวัยกว่าเคยไปใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมาหลายปี  ทำให้ได้เคยสัมผัสกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วด้วยตัวเอง   จึงสามารถอธิบายจากประสบการณ์ส่วนตัวได้ถึงบทบาทที่ฤดูกาลต่างๆ มักจะมีต่อความรู้สึกของผู้คน  และให้คำแนะนำที่อาจช่วยให้สาวน้อยคนนั้นสามารถบริหารจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลได้ในภายหลัง

เรื่องอิทธิพลของดินฟ้าอากาศต่ออารมณ์ของมนุษย์นี่เป็นเรื่องที่ฝรั่งเขาตื่นตัวและให้ความสำคัญมาก   ถึงขนาดมีการบัญญัติคำศัพท์ทางจิตวิทยามาเรียกภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลว่า Seasonal Affective Disorder หรือ SAD เลยทีเดียว

ผู้รู้ฝรั่งเขาอธิบายว่า  สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกซึมเศร้ามากกว่าปกติในฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาวนั้นน่าจะมาจากการที่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแสงแดดน้อยกว่าปกติ   เวลาที่แสงแดดตกต้องร่างกายของคนเรานั้นมันจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในสมองซึ่งช่วยเสริมสร้างความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าหรือร่าเริงให้แก่เราได้  ดังนั้น  การที่ร่างกายได้รับแสงแดดน้อยลงตามฤดูกาลจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกซึมเศร้ามากกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว   และหากเราไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกเช่นนั้น  เราก็อาจจะยิ่งรู้สึกซึมเศร้ามากกว่าเดิมก็เป็นได้ 
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 10:57

ในสำนวนภาษาอังกฤษนั้นมีการนำดินฟ้าอากาศมาใช้อธิบายอารมณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราอยู่เนืองๆ  ที่จั่วหัวไว้ข้างบนว่า Under the Weather นั่นก็เป็นสำนวนหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ  เวลาที่ชาวต่างชาติเขาพูดว่าเขากำลังรู้สึก “under the weather” แปลว่าเขาไม่ค่อยสบาย  อาจจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัวเป็นไข้ อะไรทำนองนั้น  (ส่วนมากมักจะได้ยินฝรั่งเขาพูดกันเวลาที่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นหวัด)   

ถ้าฝรั่งคนไหนเรียกเพื่อนคนใดคนหนึ่งของเขาว่า “fair-weather friend”  ก็เท่ากับเขากำลังบอกเป็นนัยๆ ว่าเพื่อนคนนั้นคบไม่ค่อยได้  เพราะจะเป็นเพื่อนกับเขาก็เฉพาะเวลาที่เขาประสบความสำเร็จหรือมีความสุข   แต่จะหายหัวทันทีที่เพื่อนต้องการความช่วยเหลือหรือมีความทุกข์   เพราะ fair-weather day นั้นคือวันที่อากาศค่อนข้างดี มีเมฆน้อย มีแสงแดดส่องสว่างพอประมาณ ไม่มีฝน  อุณหภูมิหรือแรงลมอยู่ในระดับปกติ  ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไปนั่นเอง

ฤดูหนาวอันยาวนานนั้นทำให้คนในแถบตะวันตกเขาให้ความสำคัญกับวันหยุดในช่วงฤดูร้อนมาก    นี่เป็นสาเหตุให้ร้านรวงต่างๆ ในแถบยุโรปตอนเหนือบางประเทศเขาปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเดือนสิงหาคมทั้งเดือน  แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วง high season ของปีก็ตาม  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเจ้าของร้านเองเขาก็อยากไปพักผ่อนรับสายลมและแสงแดดของฤดูร้อนเช่นดียวกับคนอื่นบ้างเหมือนกัน  และถ้าไม่รีบไปตั้งแต่สิงหา  เดี๋ยวพอถึงเดือนกันยาหรือตุลาประเทศเขาก็อาจจะไม่มีแสงแดดให้นอนอาบแล้ว  เวลาเขาพักร้อนกันทีเขาก็ไปกันนานเป็นเดือน  ไม่ใช่แค่สามสี่วันก็กลับมาทำงานด้วย   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 10:59

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า  อเมริกันชนเขาไม่มีธรรมเนียมปิดร้านหนีนักท่องเที่ยวในช่วงปลายฤดูร้อนเหมือนคนยุโรป   ตรงกันข้าม  ฤดูร้อนคือฤดูทำเงินของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการหรือท่องเที่ยว  ดังนั้น  เจ้าของหรือผู้บริหารกิจการต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้จึงไม่ใคร่จะอยากให้พนักงานลาหยุดกันยาวๆ สักเท่าไหร่ในช่วงนั้น   (สมัยที่สาวใหญ่ไปเป็นโรบินฮู้ดอยู่ที่เมืองนอก  จำได้ว่ารายได้จากการเป็นสาวเสริฟในร้านอาหารไทยในช่วงฤดูร้อนจะมากกว่าในฤดูหนาวอยู่โขทีเดียว  เพราะคนที่นั่นมักจะออกมาทำกิจกรรมหรือทานอาหารนอกบ้านกันมากกว่า  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าในหน้าหนาวนั้นกว่าจะออกจากบ้านแต่ละทีก็ต้องมีพิธีรีตองนานมาก  ตั้งแต่ต้องติดเครื่องยนต์ไว้ล่วงหน้าสัก 5 ถึง 10 นาทีเพื่อให้เครื่องทำความร้อนมันเริ่มทำงานก่อนเราจะขึ้นรถ    แถมยังอาจต้องเสียเวลาโกยหิมะออกจากทางเข้าบ้าน หรือขูดหิมะออกจากกระจกรถทั้งหน้าและหลังอีก   ในขณะที่ในหน้าร้อนนึกอยากไปไหนก็กระโดดขึ้นรถติดเครื่องยนต์แล้วออกไปได้เลย)   

สาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันเขาไม่ปิดร้านหนีนักท่องเที่ยวในช่วงปลายฤดูร้อนเหมือนคนในแถบยุโรป   อาจมาจากทัศนคติต่อการทำงานที่แตกต่างกันก็เป็นได้   คนอเมริกันที่เกิดก่อนรุ่น Gen Me นั้นส่วนใหญ่จะบ้างานมาก  โดยเฉพาะพวกที่ทำงานกับรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน ดีซี   ถึงขนาดที่คนใกล้ตัวของสาวใหญ่ยังเคยเล่าให้ฟังว่า เพื่อนร่วมงานของเขาที่กระทรวงการต่างประเทศนั้นจะมองคนที่กลับบ้านก่อนสองทุ่มว่าเป็นพวก nobody คือพวกที่ไม่มีความสำคัญต่อนโยบายของรัฐ (เพราะถ้าเขาสำคัญจริง เขาจะมีงานให้สะสางยันดึกถึงแม้ว่าเวลาเลิกงานปกติคือห้าโมงเย็นก็ตาม)   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 11:32

ทัศนคติแบบนี้เพิ่งจะมาเปลี่ยนได้ก็ตอนพลเอกคอลิน พาวเวลล์เข้ามาเป็นรัฐมนตรีนี่เอง   โดยในวันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งนั้นท่านรัฐมนตรีก็ได้ให้นโยบายกับลูกน้องไว้ว่า  “ถ้าคุณไม่สามารถทำงานของคุณให้เสร็จลงได้ภายในเวลาทำการแปดชั่วโมงที่คุณมี นั่นอาจเป็นเพราะสาเหตุสองประการ  ประการแรกคือมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับงานของคุณ ถ้าเป็นเพราะสาเหตุนี้ ขอให้มาพบผม  ผมจะดูว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้อย่างไรบ้าง  แต่ถ้าเป็นเพราะประการที่สอง คือคุณเป็นคนทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ  อันนั้นเป็นสิ่งที่คุณต้องแก้ไขด้วยตัวคุณเอง”  แปลสั้นๆ ว่ากรุณาหาสมดุลย์ระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานให้เจอ  อย่าให้งานมาบงการชีวิตหรือแย่งเอาเวลาที่มีอยู่ทั้งหมดของตัวเองไป   

นอกจากนี้  สภาพสังคมที่แตกต่างก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ทัศนคติต่อการลาพักร้อนของอเมริกันชนแตกต่างไปจากคนในแถบยุโรป  พลเมืองของหลายประเทศในยุโรปนั้นได้รับสวัสดิการสังคมที่ดีเยี่ยม  พ่อแม่ไม่ต้องเสียเงินส่งลูกหลานให้เล่าเรียนจนจบปริญญาตรีเพราะรัฐออกให้หมด  เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ไปหาหมอได้ฟรีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้   บางประเทศก็มีการอุดหนุนนายจ้างเพื่อให้พนักงานที่เป็นแม่สามารถลาหยุดหลังคลอดบุตรได้นานถึงหกเดือนโดยได้รับค่าจ้างเต็มหน่วย  ทำให้นายจ้างไม่ต้องกังวลว่าถ้ารับพนักงานผู้หญิงเข้ามาแล้วจะมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะกว่าพนักงานชาย

หลังจากกลับมาทำงานแล้ว  พ่อแม่ที่มีบุตรเกิดใหม่ยังสามารถลางานได้ปีละสองเดือนจนลูกเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายอีก เช่นที่สวีเดน ซึ่งให้พนักงานลาเลี้ยงลูกได้นานถึง 480 วันนับตั้งแต่วันที่ลูกเกิดจนลูกอายุครบแปดปี  แถมระหว่างพ่อกับแม่นั้นจะแบ่งกันใช้วันหยุดเหล่านี้อย่างไรก็ได้  คนเป็นพ่อจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระคนเป็นแม่เพื่อให้ผู้หญิงสามารถแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้เช่นเดียวกับผู้ชาย  ไม่ต้องกลัวว่าพอลาไปเลี้ยงลูกนานๆ แล้วจะถูกนายหมายหัวว่าทำงานไม่คุ้มค่าจ้าง  อะไรทำนองนั้น
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 11:33

แต่เมื่อเราหันมาดูในอเมริกาเราก็พบว่า  เพิ่งจะมาไม่กี่ปีมานี้เองที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกกฎหมายมาบังคับให้พลเมืองทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ  และเปิดโอกาสให้ใช้เงินภาษีไปอุดหนุนคนจนหรือคนที่มีรายได้ปานกลางเพื่อให้เขาสามารถจ่ายค่าประกันสุขภาพรายเดือนได้   ส่วนเรื่องการศึกษานั้น  ถ้าใครส่งลูกไปโรงเรียนของรัฐก็ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย   แต่พอถึงระดับมหาวิทยาลัยแล้วก็ตัวใครตัวมัน  แถมค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของอเมริกาก็ไม่ถูกเสียด้วย  (ถึงได้มีคำพูดที่ว่า  เด็กที่เพิ่งจบปริญญาตรีในอเมริกานั้นส่วนมากจะเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นหนี้) 
ยิ่งเรื่องลาคลอดนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง  อเมริกาอยู่ในสถานะที่ล้าหลังกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มาก   เพราะถึงกฎหมายที่นั่นเขาจะให้พนักงานหญิงสามารถลาคลอดได้สามเดือนเหมือนในเมืองไทยก็จริง   แต่ก็เป็นสามเดือนที่ไม่ได้รับค่าแรง  แถมคนที่จะมีสิทธิลาคลอดได้สามเดือนโดยที่ไม่ได้รับค่าแรงนี้ยังต้องเป็นพนักงานของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่มีลูกจ้างไม่น้อยกว่า 50 คนเสียอีก   และต้องทำงานกับหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี  จึงเท่ากับว่าร้อยละ 40 ของคนทำงานในอเมริกาที่เป็นสตรีไม่เข้าข่ายนี้ไปโดยปริยาย   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 11:34

ออกนอกเส้นทางยาวไปถึงเชียงใหม่แล้ว  ขออนุญาตกลับเข้าเรื่องสำนวนที่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศต่อนะคะ  อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าฝรั่งเขาให้ความสำคัญกับภูมิอากาศมาก ดังนั้นเวลาที่เขาจะพูดเปรียบเปรยหรืออธิบายถึงอะไรดีๆ  เขาจึงมักจะนำคุณศัพท์ warm หรืออบอุ่นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น warm welcome คือการต้อนรับอย่างอบอุ่น  คนที่มี warm personality คือคนที่มีบุคลิกอบอุ่น ร่าเริง น่าเข้าใกล้  เวลาที่เรารู้สึก warm to someone คือเวลาที่เราเริ่มจะรู้สึกเป็นมิตรหรือผูกสมัครรักใคร่กับคนผู้นั้น  ในทางกลับกัน คำหรือคุณศัพท์ว่า cold จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่ให้ความรู้สึกตรงกันข้ามกับ warm  เอาไว้อธิบายถึงอะไรที่ไม่ดีไปโดยปริยาย

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีการเผยแพร่รายงานเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีที่กำลังจะมาถึง  ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัยของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ  ผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวได้แสดงออกซึ่งความมั่นใจในพื้นฐานอันแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ แม้จะยังขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดในภูมิภาค
การพูดเช่นนี้อาจช่วยให้คนไทยบางกลุ่มรู้สึกมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจของชาติจะยังไม่ล่มสลายแม้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ   แต่สำหรับคนที่ต้องถูกปลดออกจากงานเพราะกิจการเจ๊ง  หรือคนหาเช้ากินค่ำซึ่งต้องเผชิญกับภาวะที่กำลังซื้อในประเทศลดลงอย่างฮวบฮาบมานานหลายปี  และยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้น  การพูดแบบนี้คงเป็นได้แค่ “cold comfort”  หรือคำปลอบใจที่อาจฟังดูสวยหรู  แต่ไม่ช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เขาเผชิญอยู่ให้ดีขึ้นได้เลย   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 ธ.ค. 16, 11:35

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว  ผู้อ่านบางท่านอาจจะอยาก turn cold shoulder ให้แก่ผู้เขียนก็เป็นได้  ในฐานะที่ไม่ยอมมองโลกในแง่ดีอย่างที่รัฐบาลอยากจะให้มอง 
to give หรือ to turn cold shoulder to someone แปลว่ามีอาการมึนตึงต่อใครคนใดคนหนึ่ง   หรือปฏิบัติต่อผู้ใดผู้หนึ่งอย่างไม่เป็นมิตร  ในสมัยโบราณ  การ give หรือ turn cold shoulder to someone นั้นคือการแล่เนื้อชิ้นที่วางทิ้งไว้จนเย็นชืดแล้วนำไปเสริฟให้แขกผู้มาร่วมทานอาหารด้วยทั้งๆ ที่ไม่ได้รับเชิญ 
หรือแขกที่อยู่นานจนเจ้าของบ้านอยากจะเสียมารยาทไล่กลับเสียเต็มแก่  แทนที่จะเสริฟอาหารที่เพิ่งออกมาจากเตาร้อนๆ ให้ตามธรรมเนียมของเจ้าบ้านที่ดี 
เพราะฉะนั้น  ใครที่ไปเยี่ยมใครในเวลารับประทานอาหารเย็นโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า   หรือแวะไปหาเพื่อนแล้วนั่งพล่ามกับเขาเป็นชั่วโมงโดยที่ไม่ได้สนใจอาการกระสับกระส่ายของเจ้าบ้านเลย     ถ้าเจ้าของบ้านเขาเอาอะไรเย็นๆ ชืด ๆ มาเสิรฟให้  ก็ให้รู้ได้เลยว่าถึงเวลาที่จะต้องลากลับแล้ว    ถ้าไม่อยากให้ friendship ของคุณกับบุคคลผู้นั้นต้อง turns cold ในภายหลัง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง