เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3179 สำนวน "ชักแม่น้ำทั้งห้า" เป็นสำนวนไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ใช่ไหมครับ
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


 เมื่อ 01 พ.ย. 16, 09:11

ผมเคยอ่านเจอในหนังสือของไทยว่า สำนวนดังกล่าวมีที่มาจากแม่น้ำทั้งห้าของอินเดีย
แต่ผมไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มที่อ่านกลับมาที่จีน จึงไม่แน่ใจในคำตอบ ขอท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยครับ

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 พ.ย. 16, 09:21

ใช่ค่ะ  มาจากมหาเวสสันดรชาดก  ตอนชูชกมาขอสองกุมารจากพระเวสสันดร

แม่น้ำทั้งห้า หรือ "ปัญจมหานที"  คือแม่น้ำคงคา ยมุนา มหิ สรภู และอจิรวดี  ของอินเดีย ค่ะ  ถือเป็นแม่น้ำใหญ่ของอินเดียภาคกลาง  มีน้ำมากมาย เต็มเปี่ยม ไม่เหือดแห้ง   ชูชกจึงได้ยกขึ้นมาเปรียบกับน้ำพระทัยของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นที่มาของสำนวน ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง การพูดจาหว่านล้อมด้วยคำที่ไพเราะเพื่อโน้มน้าวใจผู้ที่ได้ฟังให้คล้อยตามและเห็นด้วยกับตน


" เฒ่าชราได้โอกาส ด้วยตาแกฉลาดในเชิงภิกขาจาร เมื่อจะทูลสนองดรุณราชกุมาร เฒ่าก็พูดหว่านล้อมด้วยคำยอ ชักเอาแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่ออุปมาถวายเสียก่อน แล้วจึงหวนย้อนขอต่อเมื่อภายหลังขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า วาริวโห เมาะ ปญฺจ มหานทีโย พระคุณเจ้าเอ่ย อันว่าแม่น้ำทั้งห้ากระแสสายชลชลา ไหลมาจากห้วงคงคาเป็นห้าแถว นองไปด้วยน้ำแนวเต็มฝั่งฝา นามชื่อว่าคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ "

ไม่ทราบว่าเคยอ่านมหาเวสสันดรชาดกหรือไม่ คะ

 
บันทึกการเข้า
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 พ.ย. 16, 09:35

ผมไม่เคยอ่านมหาเวสสันดรชกดกครับ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นอย่างยิ่งครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 พ.ย. 16, 09:40

" เฒ่าชราได้โอกาส ด้วยตาแกฉลาดในเชิงภิกขาจาร เมื่อจะทูลสนองดรุณราชกุมาร เฒ่าก็พูดหว่านล้อมด้วยคำยอ ชักเอาแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่ออุปมาถวายเสียก่อน แล้วจึงหวนย้อนขอต่อเมื่อภายหลังขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า วาริวโห เมาะ ปญฺจ มหานทีโย พระคุณเจ้าเอ่ย อันว่าแม่น้ำทั้งห้ากระแสสายชลชลา ไหลมาจากห้วงคงคาเป็นห้าแถว นองไปด้วยน้ำแนวเต็มฝั่งฝา นามชื่อว่าคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ "

จึงแตกเป็นนิทเทสกุนทีน้อย ๆ ประมาณห้าร้อยโดยสังขยา ปูโร ไหลหลั่งถั่งมาลบล้นกะทบกะทั่งฟากฝั่งเป็นฝอยฝน บ้างก็เป็นวังวนวุ้งชะวากเวิ้ง บ้างก็เป็นกะพักกะเพิงกะพังพุ บ้างก็ดั้นดุกระเด็นดาษดังดวงแก้วตามทางแถวแนวท่อธาร ไหลซ่าซ่าซ่านซะเซาะโซม เสียงระระระโรมโครมครื้นครั่น พิลึกลั่นบันลือหฤหรรษ์ บ้างก็เลี้ยวลัดดัดดั้นชลาไหล บ่าไปสู่บ่อบึงบางน้อยใหญ่นับอเนกอนันต์ เป็นคลื่นหมื่นมหันต์มไหไหลฟุ้งซ่านสุดที่จะพรรณนา ย่อมเป็นที่อาศัยทั่วไปแก่ฝูงปลานานาสรรพสัตว์ ในภูมิพื้นจังหวัดมงคลทวีป ฝูงชนได้เลี้ยงชีพก็ชุ่มชื่น ถึงจะวิดวักตักตวงทุกค่ำคืนทิวาวัน ถึงจะทดท่อระหัดหันเข้าทุ่งนาป่าและดง น้ำในสาครจะน้อยลงก็หามิได้ เสมือนหนึ่งน้ำพระทัยพระทูลกระหม่อมแก้ว อันยาจกมาถึงแล้วไม่เลือกหน้า ตามแต่จะปรารถนาทุกยวดยานกาญจนอลงกตรถรัตน์ อัศวสรรพสารพัดพิพิธโภไคย จนกระทั่งถึงภายในปัญจมหาบริจาค อันเป็นยอดยากยิ่งทานไม่ท้อถอย ด้วยพระองค์หมายมั่นพระสร้อยสรรเพ็ชญ์ดาญาณ พระคุณเจ้าเอ่ย

เทศน์มหาชาติ กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร ผู้แต่ง เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 พ.ย. 16, 09:56

ความหมายของชื่อ และข้อมูลโดยสังเขป

(๑) “คงคา” แปลว่า “แม่น้ำที่ไหลมาทำให้ห้วงน้ำใหญ่เป็นไป” (คือเมื่อไหลมาก็รวมเอาน้ำในลำน้ำแหล่งน้ำน้อยใหญ่มาด้วย ก่อให้เกิดปริมาณน้ำมากมายมหาศาล)  เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ ๑ ในปัญจมหานที และเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ ๑ ในศาสนาพราหมณ์, แม่น้ำคงคามีความยาวประมาณ ๒,๕๑๐ กม. ตามที่บันทึกไว้ในอรรถกถาว่า มีต้นกำเนิดจากสระอโนดาต ในแดนหิมพานต์ ไหลไปสู่มหาสมุทร จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ออกทะเลที่อ่าวเบงกอล (Bay of Bengal), ปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า Ganges

(๒) “ยมุนา” (ยะ-มุ-นา) แปลว่า (๑) “แม่น้ำที่ยังความสกปรกให้ระงับไป” (๒) “แม่น้ำที่เป็นน้องสาวของพญายม”  เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ ๒ในปัญจมหานที มีต้นกำเนิดร่วมกับแม่น้ำคงคา ที่สระอโนดาตในแดนหิมพานต์ และลงมาบรรจบกับแม่น้ำคงคาที่เมืองปยาคะ (ปัจจุบันคือ Allahabad) ไหลผ่านเมืองสำคัญ คือ Delhi เมืองหลวงปัจจุบันของอินเดีย

(๓) “อจิรวดี” (อะ-จิ-ระ-วะ-ดี) แปลว่า “แม่น้ำที่มีการไหลไม่ช้า” คือมีกระแสเชี่ยว  เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ ๓ ในปัญจมหานที ไหลผ่านเมืองสำคัญ คือ สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล, ปัจจุบัน อจิรวดีเป็นแม่น้ำที่ไม่สำคัญอะไรนัก มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Rapti

(๔) “สรภู” (สะ-ระ-พู) แปลว่า “ลุ่มน้ำเป็นเหตุให้มีสระ”  เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ ๔ ในปัญจมหานที ไหลผ่านเมืองสำคัญ คือ สาเกต, ปัจจุบัน สรภูไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป มีชื่อในภาษาสันสกฤตว่า สรยู

(๕) “มหิ” (มะ-หิ) แปลว่า (๑) “แม่น้ำอันผู้คนนับถือ” (๒) “แม่น้ำที่เจริญ” คือกว้างใหญ่  เป็นแม่น้ำใหญ่ลำดับที่ ๕ ในปัญจมหานที ไหลผ่านไปใกล้แคว้นอังคุตตราปะ ปัจจุบันน่าจะอยู่ในหรือใกล้เขตบังคลาเทศ

(เก็บความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)

จาก บาลีวันละคำ ของ อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 20 คำสั่ง