เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 18872 พระเอกของเรื่องรามเกียรติ์?
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 30 ก.ค. 01, 23:35

ผมเองอ่านรามเกียรติ มานานและอ่านหลายครั้ง แต่ไม่แน่ใจสักทีว่าอ่านจบหรือยัง เพราะว่า ไม่ทราบว่าตอนจบอยู่ตรงไหน
หลายท่านคิดว่า พอพระรามประหารทศกัณฐ์ลงได้แล้ว ก็น่าจะจบ แต่จริง ๆ ยังมีตอนต่อ ที่หนุมานได้เป็นพระยาอนุชิต แต่ก็ครองเมืองไม่ได้ เพราะว่าไม่คุ้นกับงานบริหารหรือไงไม่ทราบ แต่ว่า ก็มีต่ออีกว่า นางสีดากับพระรามเกิดทะเลาะกัน นางสีดาหนีไปหรือถูกไล่ไปนี่แหละ ไปมีลูกของพระรามทีหลัง ส่วนทางเมืองลงกา ก็มีศึกมาแล้วพิเภกโหรคนเก่งผู้รบไม่เป็นก็โดนจับ ร้อนถึงลูกหนุมานต้องมาตามพ่อ แล้วก็ไปขอพระรามมาปราบอีก
แล้วเหมือนกันว่า สุดท้าย พระรามง้อ
นางสีดาได้ เพราะพระอิศวรลงมากล่อมให้หรือไงนี่แหละครับ ส่วนหนุมานนั้น เกิดมีตำนานมาเกี่ยวกับเมืองลพบุรี ที่ว่ายักษ์ตัวนึง จำชื่อไม่ได้ ถูกศรพระราม แต่เห็นว่ายักษ์ตัวนี้เป็นอมตะหรือไงเนี่ย ถ้าศรพระรามหลุดออกไปจะฟื้นมา พระรามหรือยังไงสั่งให้
หนุมาน มาคอยตอกศรนั้นไว้ เรื่อย ๆ
เค้าว่าเมืองลพบุรีเลยมีไฟไหม้ ใหญ่
อยู่เรื่อย ประมาณ ทุกสิบปีหรือไงนี่ละครับ
ใครทราบว่ารามเกียรตินั้นจบตอนไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 ส.ค. 01, 10:35

ตอบจากความจำสมัยเรียน
นางสีดาที่ว่าเป็นลูกสาวทศกัณฐ์ มีในฉบับไทยค่ะ ไม่ใช่ในรามายณะ

พระรามในรามเกียรติ์ออกจะหุนหันขี้ระแวงมากไปหน่อย  เอะอะก็สั่งฆ่านางสีดาเหตุเพราะวาดรูปทศกัณฐ์ให้นางกำนัลดูเท่านั้น  เป็นฝีมือกลั่นแกล้งของนางยักษ์ชื่อนางอดูลที่แปลงกายเป็นสาวใช้มาขอให้วาด
  แต่ในรามายณะ มีเหตุผลหนักแน่นกว่านี้คือชาวเมืองไม่สามารถยอมรับนางที่ตกไปอยู่เมืองยักษ์เป็นนมนาน   เรียกว่าเสียเครดิตว่างั้นเถอะค่ะ

รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ ๑ จบลงเมื่อพระมงกุฎกับพระลบโอรสพระรามไปปราบยักษ์ที่มายึดเมืองไกยเกษ  เสร็จแล้วก็กลับคืนเมืองมาหาพ่อ  พระรามก็ครองเมืองด้วยความผาสุกตลอดมา   ไม่มียักษ์มากวนอีก  เพราะปราบราบเรียบไปหมดแล้วทุกเผ่าพันธุ์  น่าจะค่อนข้างไปทาง genecide

ยักษ์ที่คุณพระนายถามถึง เป็นตำนานของท้าวกกขนากกับนางศรีประจันต์ของลพบุรีค่ะ  
ในรามเกียรติ์เรียกว่าท้าวอุณาราช  มีฤทธิ์มากฆ่าด้วยอาวุธธรรมดาไม่ได้ต้องเอากกแก้วมาเป็นศรแล้วยิงปักอกไว้...

ตกลงในถ้ำริมสวนขวัญ.....ตรึงมั่นไว้กับแผ่นผา
มิได้ไหวติงกายา...............พระจักราก็ซ้ำสาปไป
ให้เกิดไก่แก้วอลงกรณ์.......กับนนทรีถือค้อนเหล็กใหญ่
อยู่รักษาอสุรานี้ไว้.............ให้ได้ถึงแสนโกฎิปี
แม้นเห็นกกเลื่อนเคลื่อนคลาด.....จากอกอุณาราชยักษี
ไก่นั้นจึงขันขึ้นทันที.........นนทรีเร่งเอาพะเนินรัน

นนทรี  ในที่นี้เป็นลิงค่ะ ไม่ใช่ปลาหรือต้นไม้ตามศัพท์ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 06 ส.ค. 01, 16:58

พระรามมีความผิดฐานทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ในที่นี้คืออสูรพงศ์พรหม) หรือเปล่า น่าคิดต่อครับ

เพราะถ้าเอาบรรทัดฐานของสมัยนั้นที่มีในเรื่องจริงๆ มาจับ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ที่จริงเป็นภารกิจของพระรามหรือพระนารายณ์อวตารลงมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะด้วยซ้ำ คือเพื่อ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" อสูรให้หมดสิ้น

มีนิทานชาวบ้านไทยเรื่องหนึ่งที่ไม่ปรากฏในรามายณะฉบับเดิม และเข้าใจว่าไม่ปรากฏในรามเกียรติ์ไทยฉบับมาตรฐาน คือ ฉบับพระราชนิพนธ์ด้วยซ้ำ พูดถึงจุดจบของพิเภกที่น่าสนใจ (เข้าใจว่าโขนกรมศิลปากรสมัยอาจารย์เสรี หวังในธรรม หรือไม่ก็โขนธรรมศาสตร์ของอาจารย์คึกฤทธิ์นี่แหละ เคยจับเอาตำนานพื้นบ้านตอนนี้มาเล่นเป็นโขน)

ตามตำนานไทยนี้ พิเภกนั้นเป็นโหรเอกที่ดูอะไรเห็นทะลุปรุโปร่งแม่นยำไปหมด และเกิดมาเป็นยักษ์ก็จริง แต่มีจิตใจรักสัตยธรรม จึงอยู่กับพงศ์ยักษ์ด้วยกันไม่ได้ ต้องหนีมาอยู่กับพระรามตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัว แต่พิเภกเป็นโหรที่มีทั้งจรรยาบรรณของโหรมืออาชีพ และคงจะรู้สึกอยู่ดีว่าถึงอย่างไรๆ ตัวก็เป็นยักษ์ มาอยู่กับฝ่ายข้าศึกยักษ์โดยล่วงรู้ข้อมูลฝ่ายโน้นหมด จะเอามาบอกฝ่ายมนุษย์ให้เข่นฆ่าพงศ์พันธุ์ของตัวหรือ... ก็เกิดเป็น dilemma หรือความขัดแย้งในใจตัวเองขึ้น พิเภกจึงขอกับพระรามไว้ว่า ตามธรรมเนียมโหร จะไม่บอกอะไรก่อน ถ้าไม่ถาม ไม่ถามก็ไม่บอก ถามแล้วถึงจะบอก และจะบอกตามความจริงเท่าที่ตัวรู้ตามวิชาการของตน แต่บอกแค่เท่าที่ถามเท่านั้น

พระรามได้อาศัยความรู้ของพิเภกตลอดการศึก จนปราบทศกัณฐ์และพวกพ้องลงได้จนหมด (แต่สังเกตได้ว่า ตลอดการสงคราม พิเภกไม่เคยเตือนก่อนขึ้นมาเองโดยไม่มีใครถาม บางทีรอให้เกิดเหตุแล้ว มีคนถามจึงค่อยบอกวิธีแก้) พอปราบยักษ์หมดแผ่นดินแล้ว บ้านเมืองก็น่าจะสงบสุขเสียที แต่ปรากฏว่าพระรามยังเร่าร้อนใจ หาสาเหตุไม่ได้ รู้สึกว่ามี unfinished mission อยู่ดี จึงโปรดให้หาพิเภกมาเข้าเฝ้า พิเภกซึ่งตอนนั้นครองกรุงลงกาอยู่แล้วก็มาเฝ้า พระรามก็ตรัสเล่าให้ฟังแล้วถามว่าจะทำอย่างไร

พิเภกใช้วิชาโหรของตัวจับปั๊บก็รู้เหตุตลอด และโดยที่เป็นยักษ์ที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพโหรของตนยิ่งนัก ก็กราบทูลทันทีว่า ภารกิจของพระรามที่อวตารลงมา คือการล้างอสูรให้หมดสิ้นพงศ์พันธุ์ เป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทรงประกอบให้สำเร็จ นี่แสดงว่ายังไม่เสร็จภารกิจ ขอให้ทรงพระแสงศรเสี่ยงทาย อธิษฐานสั่งว่า ขอให้ศรราม - ซึ่งไม่ใช่ดารา - เล่มนี้จงไปสังหารเชื้อเผ่ายักษ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้สิ้น จะได้เสร็จภารกิจการอวตารโดยสมบูรณ์ แล้วให้ทรงแผลงศรนั้นไป พระรามก็ทรงทำตามคำแนะนำ ได้แผลงศรออกไปโดยสั่งศรไปเช่นที่ว่า

ศรเล่มนั้นก็วิ่งไปตลอดทั้งโลกานุโลก (ทำยังกับจรวดขีปนาวุธที่มีระบบค้นหาเป้าด้วยตนเองสมัยนี้) แล้วก็กลับมาที่หน้าพระลานที่ออกพระโรงของพระรามเอง พุ่งเข้าปักอกพิเภกนั่นเอง เพราะพิเภกเป็นยักษ์ตนสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในโลกที่ยังไม่ได้ถูกพระรามปราบ พระรามทรงตกพระทัยและเสียพระทัยมาก แต่พิเภกแข็งใจกราบทูลว่าทุกอย่างที่เป็นไปเช่นนี้ถูกต้องสมควรแล้ว ตัวเป็นยักษ์ ก็ต้องตายด้วยศรพระราม และในฐานะที่ตัวเป็นข้าพระราม พระรามถามอะไรมา ก็ต้องสัตย์ซื่อต่อวิชาชีพของตนและต่อหน้าที่ในฐานะที่เป็นข้าราชการของพระราม คือตอบตามตรงตามวิชาการ แม้จะรู้ตัวอยู่เต็มหัวอกว่าจะทำให้ตัวต้องตายเองก็ยินดี แล้วพิเภกก็ขาดใจตาย กลับกลายเป็นเทพ (ดูเหมือนชื่อเวสสุญาณ) กลับขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ตามเดิม เพราะเวสสุญาณเดิมเป็นเทพที่ได้รับคำสั่งสวรรค์ให้ลงมาเกิดเป็นโหรเพื่อช่วยพระรามปราบยักษ์ เมื่อพระรามปราบยักษ์จนตัวสุดท้ายคือตัวพิเภกเองแล้ว ก็เป็นอันว่าจบภารกิจของเวสสุญาณเหมือนกัน

เรื่องนี้ไม่อยู่ในตำนานรามายณะของอินเดียครับ แต่มีอะไรให้คิดหลายอย่าง ผมเคยดูโขนเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว คุณเทาชมพูตั้งประเด็นเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เลยนึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 06 ส.ค. 01, 21:00

ตามเรื่องฉบับมาตรฐาน พิเภกก็ครองลงกาสืบไปจากทศกัณฐ์ เรียบร้อยดี แต่ตามนิทานชาวบ้านเรื่องนี้ เห็นทีพิเภกจะมีความขัดแย้งในใจมาก ที่ได้รับใช้อุดมการของตัวตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในใจตัว จนเป็นเหตุให้พี่น้องวงศ์ตระกูลตายหมด จนต้องหาทางออกด้วยการแสวงหาความตายอย่างนั้น

ผมเคยเปรียบเทียบพิเภกกับกุมภกรรณไว้ ยักษ์ทั้งสองตนนี้มีอะไรคล้ายๆ กัน คือเป็นยักษ์ที่อยู่ในศีลในธรรมเหมือนกัน ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทศกัณฐ์เหมือนกัน และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก ระหว่างความถูกต้องตามที่ตัวเองเชื่อ กับหน้าที่ต่อประเทศบ้านเมืองของตน ต่อพวกพ้องของตนและต่อทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นทั้งพี่ชายและพระราชาของตนเหมือนกัน แต่ทางเลือกที่ยักษ์ทั้งสองเลือกในที่สุดนั้นไม่เหมือนกัน พิเภกเลือกข้างตัดวงศ์ตระกูลตัวเองไปสามิภักดิ์พระราม ซึ่งเป็นต่างเผ่าพันธุ์ เพราะเห็นว่าทศกัณฐ์ผิด แต่กุมภกรรณ เมื่อได้เตือนทศกัณฐ์แล้วทศกัณฐ์ไม่ยอมฟัง กุมภกรรณก็ยึดถือหน้าที่ต่อกรุงลงกาออกรบให้ทศกัณฐ์ ไม่ว่าทศกัณฐ์จะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ไม่รู้ละ คิดทำนองเดียวกับฝรั่งอเมริกันคนหนึ่ง (สตีเฟน เดอคาตูร์) ที่ยืดอกบอกว่าเขาเลือก My country - Right or wrong!!! "ประเทศชาติของข้า ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม"...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 06 ส.ค. 01, 23:22

กลับไปตอบคำถามคุณพระนายก่อนค่ะ เดี๋ยวลืม
พระเอกในรามเกียรติ์ ดิฉันนับแบบส่วนตัวได้ ๓
๑) พระเอกประจำเรื่องที่สืบต่อมาจากรามายณะ เรียกว่าเป็นพระเอกตามประเพณี คือพระราม
๒) พระเอกแบบไทย  เป็นนักรบ และนักรัก ทำนองเดียวกับขุนแผน   รามเกียรติ์ของเรามอบบทนี้ให้หนุมาน เพราะโดยเนื้อเรื่องแล้วพระรามไม่อาจจะเป็นนักรักได้   เพราะมาตามนางสีดากับผลาญยักษ์  จะมัวไปมีนางเล็กๆอื่นๆระหว่างทางก็คงไม่เหมาะสมกับบท
๓) พระเอกส่วนตัว  ชอบทศกัณฐ์ค่ะ   ดูมีชีวิตชีวาเป็นคนจริงๆ มีผิดพลาดบกพร่องแต่ก็มีขัตติยะมานะ  ตอนจบรู้ว่าตัวเองออกรบต้องตายก็ยังออกมา แล้วแปลงกายเสียหล่อเชียว   เรียกว่าไม่ยอมตายอย่างทุเรศว่างั้นเถอะ  คารมตอนตัดพ้อและลาตายก็กินใจมาก

เรื่องกุมภกรรณ น่าจะเป็นยักษ์ฉลาดที่สุดในรามเกียรติ์ ขอเวลาไปลอกคำพูดคมๆของยักษ์ตนนี้มาให้อ่านกัน
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 07 ส.ค. 01, 00:14

คุณเทาฯ มากระตุ้นต่อมความอยากรู้ของผมเสียอีกแล้ว
แปลว่าหนุมานของอินเดียเดิม เป็นทหารเอกที่ไม่ค่อยจะเจ้าชู้เท่าไหร่หรือครับ ? (เห็นจะเป็นไปได้ เพราะหนุมานไทยนั้นมีลักษณะสไตล์เจ้าชู้ที่เป็นไทยๆ จริงๆ เสียด้วย)
ผมทราบแต่ว่าหนุมานแขกดั้งเดิม ดูเหมือนจะไม่ได้ใช้ตรีเป็นอาวุธ แต่ใช้กระบอง เคยเห็นรูปถ่ายเทวรูปหนุมานในอินเดีย

กุมภกรรณเพื่อนเป็นยักษ์ที่ คม จริงๆ ปากกล้าด่าได้ตั้งแต่พระรามเอง ไปจนถึงทศกัณฐ์ ดูเหมือนค่อนข้าง cynic คำปริศนาของกุมภรรณที่ว่า "ช้างงารี ชีชายโฉด หญิงสามโหด ชายทรชน" นั้น แม้แต่พระนารายณ์อวตารลงมาอย่างพระรามก็ตีไม่แตก โหรเอกอย่างพิเภกที่ทายได้ทุกเรื่องก็ไขไม่ออก ต้องให้กุมภกรรณเพื่อนมาเฉลยเอง และเฉลยแล้วก็แสบไปตามกัน

เพื่อนๆ คิดอย่างไรกับนางกบที่ต่อมากลายเป็นมณโฑครับ? ผมว่าชีวิตของมณโฑก็น่าสนใจมาก ถ้าคุณเทาชมพูเห็นว่าทศกัณฐ์เป็นพระเอกส่วนตัว ผมก็ว่านางมณโฑเป็นนางเอกส่วนตัวของผมเหมือนกัน แต่เป็นตัวละครที่น่าสงสาร ทั้งๆ ที่สวยมากไม่น้อยไปกว่านางสีดาสักเท่าไหร่ จิตใจก็ดี มีกตัญญู มีความคิดสติปัญญา แต่ถูกโชคชะตาหรือคนแต่งเรื่อง (ซึ่งต้องเป็นผู้ชายแน่ๆ) กลั่นแกล้งตลอดเรื่อง มณโฑมีอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ แต่ไม่เหมือนนางคัสซานดรา ในมหากาพย์เรื่องสงครามกรุงทรอย ซึ่งถูกเทพอะพอลโลและโชคชะตากลั่นแกล้งตลอดเรื่องเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 07 ส.ค. 01, 01:12

วันนี้ฝนขอเข้าข้างพระเอก นางเอก ก่อนนะคะ
ตามที่ฝนทราบมารามายณะ ที่ชาวฮินดู นับถือ
บูชา ..พระราม  มาก นะคะ เวลาตกใจ ยังอุทาน...ให้พระรามช่วย...
นางสีดา นั้นเล่า ก็เป็นตัวอย่าง ของกุลสตรี ที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะของกัลยาณี ซื่อสัตย์ มั่นคงต่อสามีนะคะ
กิริยา  ก็งาม แช่มช้อย อดทนต่อความยากลำบาก

แต่ฝนก็จะลอง  ตามไปฟังคารม ของทศกัณฑ์ ว่าจะคมขนาดไหน นะคะ...คืนนี้จะได้นอนไหมนี่...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 07 ส.ค. 01, 19:45

คุณฝอยฝน ขอผัดตอนทศกัณฐ์ลาตายไว้พรุ่งนี้นะคะ   ไว้อดนอนคืนพรุ่งนี้ดีกว่าค่ะ

หนุมานในรามายณะ มีฤทธิ์ขนาดนับถือกันเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง    ถึงยุคนี้ในบางแคว้นก็ยังนับถือเทพเจ้าหนุมานอยู่       เคยดูหนังอินเดีย ดูตัวใหญ่อุ้ยอ้ายไม่ว่องไวอย่างหนุมานในโขนของเรา หน้าตาก็ดูเคร่งเครียดกว่าด้วยค่ะ
ในรามายณะฉบับสันสกฤต ไม่มีตอน "นางลอย" คือตอนนางเบญกายแปลงเป็นนางสีดาตาย ศพลอยน้ำมา   เมื่อไม่มีตอนนี้ ก็ไม่มีตอนหนุมานได้นางเป็นเมียด้วย
และตอน"จองถนน"  หนุมานได้นางสุพรรณมัจฉาลูกสาวทศกัณฐ์ซึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งปลา  จนมีลูกด้วยกันชื่อมัจฉานุ ก็ไม่มีอีกในรามายณะ

ในพระราชนิพนธ์ "บ่อเกิดรามเกียรติ์" ทรงกล่าวถึงเรื่อง หนุมานนาฏกะ  ซึ่งตามตำนานเล่าว่าหนุมานแต่งเอง  แต่ยังมิได้ทรงอ่าน      เรื่องราวของหนุมานที่ไม่มีอยู่ในรามายณะอาจจะมีอยู่ในเรื่องบ้างนี้ก็ได้
แต่ที่ดิฉันเห็นว่าหนุมานในรามเกียรติ์เป็นพระเอกแบบไทยนั้นก็เพราะสังเกตว่ามีบทรักแทรกเข้ามาอยู่หลายตอน โดยไม่ต่อเชื่อมกับเนื้อเรื่องใหญ่เท่าไรนัก  เรียกว่าจะตัดไปก็ไม่เสียเรื่อง อย่างตอนได้นางเบญกาย นางสุพรรณมัจฉา หรือนางฟ้าชื่อบุษมาลี    เป็นบทรักย่อยๆแทรกเข้ามาพอเปลี่ยนรสจากเรื่องทำศึกต่อๆกันมาหลายตอน  
    วิธีการแต่งแบบนี้พบได้ในวรรณคดียุคไล่ๆกันอย่างอิเหนา และขุนช้างขุนแผน     ตอนอิเหนาตามหานางบุษบาก็ไปได้นางคนนั้นคนนี้ตามทาง แล้วก็จบกันไป   ขุนช้างขุนแผนเองก็มีตอนขุนแผนแวะเข้าห้องนางแก้วกิริยา     หรือในฉบับที่เล่าถึงเนื้อความตอนจบฉบับหอพระสมุดแล้ว   พระไวยก็ไปได้เมียอีกคนหนึ่งหลังจากนางสร้อยฟ้าถูกขับกลับไปเชียงใหม่   แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับเนื้อเรื่องใหญ่      
กวีไทยมักจะสร้างบทให้พระเอกไทยเป็นนักรักด้วยนอกจากเป็นนักรบ  ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก็จืดไปหน่อย อย่างพระรามมีนางสีดาคนเดียวเลยไม่ค่อยดังเท่าขุนแผนและอิเหนาไงคะ      คนอ่านนึกได้แต่เฉพาะความสำคัญว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร   แต่ไม่ใช่นักรัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 ส.ค. 01, 20:15

คุณฝอยฝน ขอผัดตอนทศกัณฐ์ลาตายไว้พรุ่งนี้นะคะ   ไว้อดนอนคืนพรุ่งนี้ดีกว่าค่ะ

หนุมานในรามายณะ มีฤทธิ์ขนาดนับถือกันเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง    ถึงยุคนี้ในบางแคว้นก็ยังนับถือเทพเจ้าหนุมานอยู่       เคยดูหนังอินเดีย ดูตัวใหญ่อุ้ยอ้ายไม่ว่องไวอย่างหนุมานในโขนของเรา หน้าตาก็ดูเคร่งเครียดกว่าด้วยค่ะ
ในรามายณะฉบับสันสกฤต ไม่มีตอน "นางลอย" คือตอนนางเบญกายแปลงเป็นนางสีดาตาย ศพลอยน้ำมา   เมื่อไม่มีตอนนี้ ก็ไม่มีตอนหนุมานได้นางเป็นเมียด้วย
และตอน"จองถนน"  หนุมานได้นางสุพรรณมัจฉาลูกสาวทศกัณฐ์ซึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งปลา  จนมีลูกด้วยกันชื่อมัจฉานุ ก็ไม่มีอีกในรามายณะ

ในพระราชนิพนธ์ "บ่อเกิดรามเกียรติ์" ทรงกล่าวถึงเรื่อง หนุมานนาฏกะ  ซึ่งตามตำนานเล่าว่าหนุมานแต่งเอง  แต่ยังมิได้ทรงอ่าน      เรื่องราวของหนุมานที่ไม่มีอยู่ในรามายณะอาจจะมีอยู่ในเรื่องบ้างนี้ก็ได้
แต่ที่ดิฉันเห็นว่าหนุมานในรามเกียรติ์เป็นพระเอกแบบไทยนั้นก็เพราะสังเกตว่ามีบทรักแทรกเข้ามาอยู่หลายตอน โดยไม่ต่อเชื่อมกับเนื้อเรื่องใหญ่เท่าไรนัก  เรียกว่าจะตัดไปก็ไม่เสียเรื่อง อย่างตอนได้นางเบญกาย นางสุพรรณมัจฉา หรือนางฟ้าชื่อบุษมาลี    เป็นบทรักย่อยๆแทรกเข้ามาพอเปลี่ยนรสจากเรื่องทำศึกต่อๆกันมาหลายตอน  
    วิธีการแต่งแบบนี้พบได้ในวรรณคดียุคไล่ๆกันอย่างอิเหนา และขุนช้างขุนแผน     ตอนอิเหนาตามหานางบุษบาก็ไปได้นางคนนั้นคนนี้ตามทาง แล้วก็จบกันไป   ขุนช้างขุนแผนเองก็มีตอนขุนแผนแวะเข้าห้องนางแก้วกิริยา     หรือในฉบับที่เล่าถึงเนื้อความตอนจบฉบับหอพระสมุดแล้ว   พระไวยก็ไปได้เมียอีกคนหนึ่งหลังจากนางสร้อยฟ้าถูกขับกลับไปเชียงใหม่   แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับเนื้อเรื่องใหญ่      
กวีไทยมักจะสร้างบทให้พระเอกไทยเป็นนักรักด้วยนอกจากเป็นนักรบ  ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก็จืดไปหน่อย อย่างพระรามมีนางสีดาคนเดียวเลยไม่ค่อยดังเท่าขุนแผนและอิเหนาไงคะ      คนอ่านนึกได้แต่เฉพาะความสำคัญว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร   แต่ไม่ใช่นักรัก

กุมภกรรณ น้องชายของทศกัณฐ์และเป็นพี่ชายของพิเภก ดำรงตำแหน่งอุปราชกรุงลงกา       ตอนอ่านรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑   ดิฉันวาดภาพกุมภกรรณเป็นยักษ์ผู้ชายตัวใหญ่วัยกลางคน ท่าทางขรึมๆ ประพฤติดีมีศีลธรรม  ไม่เบียดเบียนใคร   พูดจามีเหตุผลตรงไปตรงมา  เป็นยักษ์มีวุฒิภาวะน่านับถือที่สุดในกรุงลงกาก็ว่าได้
     ตอนทศกัณฐ์ไปตามตัวมาให้ออกศึกรบกับพระราม    กุมภกรรณเองก็ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร    ตรงกันข้ามรู้ทะลุปรุโปร่งว่าสาเหตุเกิดเพราะพี่ชายกับนางสำมนักขาน้องสาวเป็นตัวก่อเรื่อง  ก็เตือนพี่ชายตรงๆว่า

อันมูลศึกสงคราม............ซึ่งลุกลามเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า
เป็นต้นด้วยนางสีดา........ที่ไปลักพาเอามาไว้
ใช่จะชิงสมบัติพัสถาน......ศฤงคารบริวารนั้นหาไม่
พระองค์จงส่งนางไป........ให้แก่พระรามผู้สามี
ก็จะสิ้นเสี้ยนศึกภัยพาล....ไม่รำคาญใต้เบื้องบทศรี
ทั้งจะได้เป็นมิตรไมตรี.....ต้องที่ในทศธรรมาฯ

แต่เมื่อพี่ชายไม่ฟังทั้งยังด่าให้ด้วยว่า " เสียชาติที่เกิดร่วมครรภ์  จะเจ็บร้อนด้วยกันนั้นหาไม่" กุมภกรรณก็จนใจและจำใจต้องยกทัพออกมารบกับพระราม     พิเภกออกมาเกลี้ยกล่อมพี่ชายให้สวามิภักดิ์กับพระราม
ถึงตอนนี้เป็นตอนที่ดิฉันชอบมากที่สุด  เพราะแสดงจุดยืนกุมภกรรณได้ชัดเจนมาก    เป็นคนมีเหตุมีผลตลอด  แล้วว่าคนอื่นได้ถูกจุดด้วยเถียงได้ยาก     คือด่าสวนน้องชายเข้าให้  เพราะรู้ว่าพิเภกไปเข้าข้างศัตรูเมื่อถูกทศกัณฐ์โกรธขับไล่จากเมือง

ธรรมดาพี่น้องผิดกัน.......ไม่ช้าพลันก็จะกลับคืนดี
ถึงมาตรถ้าองค์พระเชษฐา.....โกรธาขับไล่มึงหนี
ญาติวงศ์พงศาก็ยังมี........เหตุใดอสุรีจึงไม่ไป
กลับมาเข้าด้วยลักษมณ์ราม....บอกความตื้นลึกทั้งปวงได้
จะแกล้งฆ่าพงศ์พันธุ์ให้บรรลัย....มาหากูไยไอ้อัปรีย์

เมื่อพิเภกติดสินบนเข้าให้ด้วยการบอกว่าจะยกเมืองลงกาให้เมื่อทำสงครามเสร็จ  กุมภกรรณนอกจากจะไม่หลงลมแล้วก็ด่าหนักเข้าไปอีก  เรียกว่าถือศักดิ์ศรีมากกว่าพิเภกหลายเท่า  เพราะกุมภกรรณก็รู้ว่าพิเภกมาเข้าข้างพระรามเพราะพระรามคงสัญญาว่าชนะศึกก็จะยกลงกาให้ครอง
ตอนนี้เป็นบทกลอนที่คนไทยสมัยก่อนเคยยกมาเปรียบเปรยนักการเมืองกลับกลอกว่า

ลงกาเป็นสองเมืองหรือ........ให้น้องแล้วจะรื้อให้พี่
ลวงได้แต่มึงไอ้อัปรีย์............กูนี้มิได้เชื่อวาจา

แล้วก็มาถึงคำถามที่คุณนกข.ยกมา คือกุมภกรรณปากเก่งจริงๆ    ด่าหมดทุกฝ่ายไม่ลำเอียงเข้าฝ่ายไหน    ด่าในรูปปริศนาฝากไปถึงพระรามว่า ถ้าเป็นพระนารายณ์อวตารมาจริงต้องไขปริศนาออกว่า "ชีโฉดหญิงโหดมารยา ช้างงารีชายทรชน" หมายถึงใคร  
ผลคือพระรามไขไม่ออก หวิดจะเสียฟอร์มพระนารายณ์    ต้องให้ลิงมาถาม  กุมภกรรณก็ไขให้ว่า

อันเจ้าลงกากรุงไกร...........งั้นได้แก่ช้างงารี
มารษาอาธรรม์พ้นนัก.......ไปลอบลักพาเมียเขาหนี
ฝ่ายองค์พระรามสามี.........คือชีโฉดชั่วสามานย์
เมียรักของตัวผู้เดียว..........ทิ้งไว้เปล่าเปลี่ยวในไพรสานต์
ครั้นหายเที่ยวหาไม่พบพาน.......จนต้องรอนราญวุ่นไป
หญิงโหดคือสำมนักขา.......ชั่วช้าไม่มีที่เปรียบได้
ไปเที่ยวเกี้ยวชายไม่อายใจ.....จนต้องทุกข์ภัยพ้นทวี
อันชายทรชนคนชั่ว............คือตัวพิเภกยักษี
ไปเข้าด้วยพวกไพรี............มิได้รู้คุณญาติกา

ช้างงารี เป็นช้างงาเล็ก ไม่สมบูรณ์      ตำราคชลักษณ์บรรยายถึงช้างลักษณะดีและร้ายเอาไว้ชัดเจน  ถือว่าถ้าเมืองไหนได้ช้างลักษณะไม่ดีเข้ามาจะเสียหาย  เนื่องจากช้างเป็นกำลังสำคัญของกองทัพ    และช้างดีเป็นการบันดาลบุญบารมีของกษัตริย์ได้ด้วย    
กุมภกรรณเปรียบพี่ชายเป็นพญาช้างเจ้าของสัตว์ แต่ว่ามีลักษณะร้าย  ก่อความเสียหายแก่อาณาจักร  
 ส่วนชี หมายถึงนักบวช เพราะพระรามบวชเป็นโยคีตอนอยู่ในป่า  โฉด แปลว่าโง่เขลา  ในที่นี้กุมภกรรณว่าพระรามทั้งโง่และเลวด้วยที่รับผิดชอบคุ้มครองเมียตัวเองไม่ได้

พระรามได้ยินคำเฉลยก็โกรธจัดไปตามฟอร์ม    แต่เถียงไม่ออกว่าไม่จริง  ในที่สุดก็รบ  แล้วกุมภกรรณก็ต้องแพ้  รู้ๆกันอยู่แล้ว  
ตอนกุมภกรรณตาย  กวีเทคะแนนเข้าข้างพระราม ให้กุมภกรรณมารู้ตอนจะสิ้นใจว่าเป็นพระนารายณ์อวตารก็เลยตกใจทูลขออภัยโทษ  แล้วเรียกพิเภกมาสั่งความว่า
 
ซึ่งเจ้าจะรับราชการ.........ใต้เบื้องบทมาลย์พระทรงศร
สิ่งใดอย่าให้อนาทร.........ผ่อนตามฤทัยพระทรงฤทธิ์

หลักการอันนี้  สมัยบ้านเมืองมีศึกสงคราม  กษัตริย์เป็นจอมทัพ ต้องอาศัยความเด็ดขาดในการออกคำสั่ง  ก็ไม่ควรมีข้าราชการหัวหมอคอยต่อล้อต่อเถียงออกนอกแถว   แต่ถ้าใช้หลักการนานสักสองร้อยกว่าปี    ข้าราชการประจำผ่อนตามฤทัยนักการเมือง ประเทศชาติอาจเสียหายเหลือคณานับก็ได้
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 07 ส.ค. 01, 21:11

ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพู ที่เล่าเรื่องรามเกียรติ์ให้ฟัง

ฝนยังไม่ได้มีโอกาสอ่าน รามเกียรติ์ แบบละเอียด จบสักรอบเลยค่ะ ..
ยังไงๆ  ฝนก็เห็น พระราม เป็นชายในฝันนะคะ
อิอิ ....แหม..ภาพลักษณ์  ยักษ์ จะดีกว่าคน ไปได้อย่างไรคะ...แต่ ยักษ์ที่คุณเทาชมพูเล่าถึง  น่าเอ็นดูจังค่ะ

ฝน ได้ยินมาว่า มีผู้ เขียนวิเคราะห์ธรรมะ ผ่าน เรื่องรามเกียรติ์  แต่ฝนยังไม่มีโอกาสได้อ่านค่ะ
ถ้าได้อ่านเมื่อไหร่ ..ฝนจะมาคุยให้ฟังนะคะ...
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 08 ส.ค. 01, 00:32

ภาพพระรามเป็นนักรัก ก็คงมีตอนเดียวแหละครับงานนี้ คือตอนที่พระราม  ไปงานยกศร (เข้าใจว่าเป็นศรเทพเจ้าของพระอิศวรหรือไงนี่แหละ) เรียกว่าตามตำนานไทยเป็นงานยกศร ที่จัดขึ้นหาคู่ให้นางสีดา พระรามกับ
นางสีดานั้นได้ปิ๊งกันก่อนแล้วครับ แบบรักแรกพบเลย คือเห็นกันทางหน้าต่างพระรามมองจากข้างล่าง นางสีดานั้นยืนริมหน้าต่าง พอมองกันปุ๊บก็รักกันเลย พระลักษณ์ผู้น้องนี่ก็บทเสียสละตลอด คือพระลักษณ์นั้น ยกศรก่อน แล้วจริง ๆ พระลักษณ์ก็ยกขึ้นได้ แต่เห็นพี่ชายนั้นหลงรักนางสีดา ไปแล้วก็เลยหลีกทางให้ไม่ยอมยกศรนั้นขึ้น พระรามก็ยกศรได้ตามฟอร์ม  เรื่องรามายณะนั้น เป็นวรรณคดีที่ไม่เน้นเรื่องชู้สาวเท่าไหร่ พระรามมีนางสีดา คนเดียว พระลักษณ์ ไม่มีเลยสักคน ยกทศกัณฐ์ไว้คน ที่มีเมียเยอะไปหมด ไม่รู้ฉบับ อินเดียนั้นทศกัณฐ์จะเจ้าชู้เหมือนฉบับไทยหรือเปล่า
แต่ถ้าเป็นมหาภารตะ ที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ นี่ท่านมีเมียมากจริงๆ แถม พี่น้องปาณพ ยังมีเมียเดียวกัน คือสามี 5คน ภรรยา คนเดียวอีก เป็นเรื่องที่แปลกมาก ทั้งที่อรชุนเป็นคนไปได้นางมา แต่แรก
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 08 ส.ค. 01, 18:16

ผู้วิเคราะห์ธรรมะในรามเกียรติ์ มีจริงๆ ครับ เข้าใจว่าท่านจะเป็นสำนักเดียวกับท่านผู้วิเคราะห์ธรรมะในไซอิ๋ว และในเวสสันดรชาดก

รายละเอียดการวิเคราะห์ผมก็จำไม่ได้แล้ว แต่จำแก่นความคิดได้ว่า ท่านเล่นกับแนวคิดเรื่องสูญญตา ของทางมหายาน หรือจะเรียกว่าอนัตตาของทางเถรวาทก็ได้ ถ้าคุณฝอยฝนหาได้ อ่านแล้วช่วยมาเล่าให้ฟังหน่อยสิครับ ฟื้นความจำผม ผมอ่านมานานแล้วลืมไปแล้ว
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 09 ส.ค. 01, 12:37

เรื่องที่ว่าพระรามเป็นนารายณ์อวตารนั้นท่านผู้รู้ได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายข้อว่าเป็นเรื่องมั่วนิ่ม ยกตัวอย่างกันคร่าวๆคือตอนที่กุมภกรรณตั้งriddle ให้แก้แล้วแกแก้ไม่ออก อีกตอนหนึ่งคือตอนที่อินทรชิตสำเร็จสุดยอดวิชาแล้วมีเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามคือพระอิศวร พระนารายณ์ และ พระพรหม ประทานศรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้คนละเล่ม ถ้าพระรามเป็นนารายณ์อวตารจริง ไฉนยังมีพระนารายณ์มามอบของที่ระลึกให้อินทรชิตได้ เอ๊ะ... หรือ อินทรชิตมั่วนิ่มกันแน่หว่า?
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 09 ส.ค. 01, 20:00

"อวตาร" แปลว่าแบ่งภาคลงมาเกิดครับ คุณ CrazyHorse ผมก็ไม่แม่นเทววิทยาฮินดู แต่รู้สึกว่าอวตารทั้งสิบปางของพระนารายณ์นั้น แขกเขาไม่ได้หมายความว่าพระวิษณุทั้งองค์เสด็จลงมาเป็นพระเอกเรื่องนั้น แล้วเลยไม่มีพระวิษณุอยู่บนสวรรค์ เพราะมัวไปเกิดเป็น - ใครก็ตามแต่ - อยู่ในโลกเบื้องล่าง พระเป็นเจ้าโดยสภาพแล้วอย่างไรๆ ก็ต้องดำรงอยู่ ที่ลงไปเกิดนั้นเป็นแค่ภาคหนึ่งของพระองค์เท่านั้นที่ลงไป ถ้าถามแขกว่าทำได้ยังไงที่มีทั้งพระนารายณ์อวตารอยู่บนดินแล้วคนหนึ่งเป็นพระราม แล้วยังจะมีพระนารายณ์ไม่อวตารไปโปรดอินทรชิตโดยมอบศรวิษณุปาณัมให้อีก คนๆ เดียวอยู่ 2 ที่ (หรือหลายที่) ได้ยังไง แขกก็คงจะแบมือ ยักไหล่ แล้วก็บอกว่า - อีนี่คนทำไม่ได้ แต่พระเจ้าทำได้น่ะนาย...

ลองเทียบกับการประทับทรงของเสด็จพ่อเสด็จแม่ทั้งหลาย จะเห็นได้ว่าเวลาปกติคนทรงก็เป็นคน ต้องเสด็จพ่อลงประทับก่อน จึงจะกลายจากคนเป็นเทวดา และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะห้ามไม่ให้เทวดาองค์เดียวอยู่พร้อมกันหลายๆ ที่ หรือลงประทับคนทรงทีเดียวหลายคนไม่ได้ ก็เทวดานี่ครับ ทำได้ทุกอย่าง

ผมเองก็เคยสงสัยหรือหัวเราะเยาะรามเกียรติ์มาแล้วเหมือนกันเรื่องนี้ คุณ CrazyHorse จำได้ไหมครับว่า มีฉากที่ปรศุรามรบพระอรชุนจนเขาพระสุเมรุเอียง อยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ด้วย ผมเคยสงสัยว่า ก็ปรศุรามน่ะไม่ใช่ใครอื่น ก็พระนารายณ์อวตารเหมือนกัน เพียงแต่อยู่คนละปาง ไหงอวตารปางโน้นมาโผล่เป็นตัวประกอบในอวตารอีกปางได้หว่า? แถมเป็นตัวที่ค่อนไปทางเป็นผู้ร้ายหน่อยๆ ด้วย แล้วคนที่ปรศุรามรบด้วยก็ไม่ใช่ใคร เป็นพระอรชุน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสหายของอวตารอีกปางคือปางเป็นพระกฤษณ์...  ยิ่งมั่วกันไปใหญ่ (เว้นแต่ว่าพระอรชุนนี้จะเป็นคนละองค์กับอรชุนโน้น เพียงแต่ชื่อซ้ำกัน)

สรุปเอาง่ายๆ ว่าเทวดาซะอย่างแบ่งภาคได้ไม่รู้จบสิ้นครับ

คุณจินตวีร์ วิวัธน์ เคยเขียนนิยายเรื่อง สาบนรสิงห์ บอกว่า พระวิษณุเป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาถือรูปเป็นสัตว์ประหลาด คือนรสิงห์ ครั้นเสร็จภารกิจปราบมารแล้วก็เสด็จกลับคืนไปไวกูณฐ์ ทิ้งรูปนรสิงห์ไว้ในโลกเบื้องล่าง มีมารมาสวมรูปนั้น นรสิงห์ที่เคยเป็นพระนารายณ์อวตาร เป็นพระเอก จึงกลายเป็นผู้ร้ายหรืออสูรไปได้ เหมือนกับว่าพระนารายณ์เสด็จแบ่งลงมาประทับทรงรูปต่างๆ ชั่วคราว จะเป็นรูปพระราม พระกฤษณ์ ปรศุราม หรืออะไรก็ตามแต่ ตัวละครนั้นๆ ได้ชื่อว่าเป็นนารายณ์อวตารก็จริง แต่ก็มีบางขณะที่ตัวละครเหล่านั้นดูเป็นคนธรรมดานี่เอง มีรักโลภโกรธหลง สงสัยตอนนั้นทิพยภาวะคือความเป็นพระนารายณ์ในตัวจะหลับไปวูบหนึ่ง

ใครจำเรื่องพระคเณศเสียงาได้บ้างครับ พระคเณศก็เสียงาเพราะสู้กับปรศุรามเหมือนกัน แต่ในเรื่องนั้นเป็นพราหมณ์ปรศุผู้มุทะลุหุนหัน จนไปทะเลาะกับพระคเณศแล้วเลยถูกพระอุมาสาป ต้องได้พระนารายณ์แปลงมาเป็นพราหมณ์น้อยมาขอโทษให้พระอุมาใจอ่อนหายโกรธ นี่ผมก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า ก็พระนารายณ์น่ะ อวตารเป็นปรศุรามไปแล้ว กลิ้งโค่โล่อยู่กับพื้นเพราะสาปพระอุมาแล้ว จะมีพระนารายณ์ที่ไหนมาช่วย (ตัวเอง?) อีกเล่า...

วุ่นวายพอๆ กับ Back to the Future 1 -2 -3 เลยนะครับ แต่ถ้าเราถือเสียว่าเป็นแค่แบ่งภาคมาก็ไม่แปลก
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 10 ส.ค. 01, 00:51

พิเภกครองกรุงลงกาต่อจากพี่ชายได้ช่วงนึง แล้วก็ถูกลูกของทศกัณฑ์ที่ติดท้องนางมณโฑ
ทำรัฐประหารยึดอำนาจ หลังจากนั้นพิเภกเป็นยังไงบ้างครับ ได้รับโทษทัณฑ์ที่ทรยศต่อเผ่าพงษ์ยักษ์
ยังไงหรือเปล่า อ้อ... แล้ว คำพูดนี้ใครเป็นคนพูดครับ ...ถึงจะชั่วก็ชั่วแต่ตัวยักษ์  สุริยวงศ์พงษ์ศักดิ์หาชั่วไม่...
ผมว่าเป็นข้อคิดที่ดีทีเดียว

...พูดถึงความชอบแล้วผมชอบหนุมานนะ เคยเห็นคนสักสักหนุมานเหินหาวไว้เต็มแผ่นหลังเลย
แต่ไม่เคยเห็นที่เป็นแบบ "หนุมานคลุกฝุ่น" ซักทีว่าเป็นยังไง...

กำเนิดหนุมานบางสายก็ว่าเป็นลูกพระพาย บางสายก็ว่าพระพายเป็นแค่คนนำเชื้อของพระอิศวร
(ที่ทำหกไว้ตอนเห็นรูปพระนารายณ์แปลงเป็นนางงามไปปราบนนทุกนิ้วเพชร) ไปซัดเข้าปากนางสวาหะ
ซึ่งผมเคยถามไว้ในมองอดีตเมื่อประมาณหนึ่งปีมาแล้ว คุณทิดก็ได้ทำบทบรรยายประกอบมิวสิคไว้เป็นที่
น่าหวาดเสียวพอสมควร ตกลงหนุมานเป็นลูกใครแน่ครับ เพราะผมเองก็ยังไม่ได้อ่านรามเกียรติ์อย่างจริงจังซักที
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง