เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
อ่าน: 25240 ข่าวฮา MV "เที่ยวไทยมีเฮ" จ่อถูกแบบ เอ้า ของสูงมีไว้กราบบบบบบ
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 27 ก.ย. 16, 19:44

อ้างถึง
ผมเลยชวนเด็ก ๆ จินตนาการต่ออีกว่า
ถ้าหัวโขนใน MV ที่ใส่ ไม่ใช่หัวยักษ์ทศกัณฐ์ล่ะ
แต่เป็นศรีษะของพระพุทธรูป พระพุทธเจ้า หรือศรีษะของพระเยซู ที่เราเคารพนับถือ เราจะมอง หรือรู้สึกอย่างไร ?

           ...เด็กๆ นิ่ง เงียบไปชั่วครู่ ผมเดาเอาเองว่าความนิ่งนั้น คือกระบวนการของการทำงานด้านในของเด็ก ๆ รวมทั้งครูเองด้วย

คนที่เค้าทักทวง หรือคัดค้าน เค้าอาจจะมองว่าโขน คงเป็นสิ่งที่เขารัก ศรัทธา ควรบูชา และเคารพ ไม่ต่างอะไรจากพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้กันอยู่นั้นเอง
เราผู้มีความรู้และเข้าใจนาฏศิลป์ที่เรียกว่าโขนน้อยมาก ก็ไม่ควรด่วนตัดสินอะไร ถูกหรือผิด จากความรู้สึก หรือเพราะเสียงส่วนใหญ่ว่าผิดหรือถูก
เพราะ ถูก ผิด มันอยู่ที่เราเอาอะไรวัดหรือเป็นเกณฑ์

สำหรับผม นี่คือประโยคทองโดยแท้ (ขอเลียนแบบคำ ท่านอาจารย์นวรัตน์สักครั้ง ครับ)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 28 ก.ย. 16, 12:05

เส้นใต้บรรทัด
จิตกร บุษบา
หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/politic/columnist/26507

ทำความเข้าใจ ทำไมครูโขนค้าน ‘เที่ยวไทยมีเฮ’

ในเวลาที่สื่อสังคมออนไลน์กำลังเป็นใหญ่ อุปาทานหมู่ ความไม่รู้แต่ “ถือดี” เกิดขึ้นได้ง่ายมาก บ่อยครั้งที่เราพบเห็นการด่าทอตามๆ กันไป แม้สุดท้ายเรื่องพลิกเป็นอีกแบบ แต่ก็ไม่มีใครย้อนมาขอโทษและเรียนรู้ใหม่ มีแต่ชวนกันไป “ไล่งับ”ประเด็นอื่นๆ ตามๆ กันต่อไปอีก และยังคงกล่าวโทษคนอื่น ที่ไม่ทำให้ตัวเองรู้เสียตั้งแต่แรก

ในสภาพสังคมแบบนี้ หากสื่อกระแสหลักไม่ยืนหยัด นำความรู้มาสู่ผู้คน ยอมพ่ายแพ้ต่อพลังของโซเชียลมีเดีย แล้วกระโดดโลดเต้นตามไป ตามใจ เพียงเพื่อจะแลกกับเรตติ้งและความอยู่รอด ก็ควรจะยุบองค์กร ไปเป็นประชาชนธรรมดาๆที่นั่งโพสต์เฟซบุ๊คไปวันๆ จะดีกว่า

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ สื่อ “มืออาชีพ” คือ“ที่พึ่ง” ของประเทศชาติ งานหนักหน่อย แต่ต้องทำให้ได้ต้องไม่หยุดเรียนรู้ ต้องขวนขวาย ทำความคลางแคลงของสังคมให้ปรากฏตามข้อเท็จจริงและหลักการ

อย่างเรื่อง ครูโขนค้าน “เที่ยวไทยมีเฮ” นี้ ยอมรับว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตำหนิหนักหน่วงไม่น้อยกว่าใคร แต่เมื่อใช้เวลาทบทวนประเด็น แล้วพบว่า “ความเหลื่อมล้ำขององค์ความรู้”ระหว่างคนในวงการโขน กับประชาชนทั่วไป คือ ปัญหาความไม่เข้าใจที่เกิดต่อกัน เมื่อมาบวกกับ “การสื่อสารไม่เป็น”ของครูๆ ทั้งหลาย แต่การ “เล่นเป็น” กับสื่อโซเชียลของบัณฑิต ทองดี และ เก่ง ธชยะ เรื่องจึง “เลยเถิด” ไปกันใหญ่

เรามาตั้งหลักกันใหม่ ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไปด้วยกันครับ

1) บรรดาครูบาอาจารย์โขน เขาไม่ได้หวงรามเกียรติ์ ไม่ได้หวงทศกัณฐ์ ไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ให้ถูกบริบท และถูกขนบของการแสดงแต่ละประเภท

2) รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีที่มีการนำไปใช้งานหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังใหญ่ หุ่น แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ และโขน เฉพาะการนำ “รามเกียรติ์” มาสื่อสารในรูปแบบ “โขน” ก็มีหลายชนิดอีก ตั้งแต่โขนราชสำนักยันโขนชาวบ้าน คือ โขนสด จึงต้องรู้จักว่าโขนแต่ละอย่างมีรูปแบบการเล่นและข้อห้ามที่เรียกว่า “กติกา” หรือ “จารีต” ต่างๆ กันไป

3) ในประวัติศาสตร์ โขนราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ผู้เล่นต้องเป็น “ชายล้วน” ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินทรงผ่อนปรนให้ “ผู้หญิง” ร่วมฝึกโขนและแสดงได้ ต่อมาถึงกับคลี่คลายจนเกิดเป็น “โขนสด” แบบชาวบ้านร้องรำคล้ายลิเกสวมหัวโขนแค่ครึ่งหน้า เครื่องทรงเป็นอย่างย่อม ไม่เต็มเครื่องใหญ่ เล่นไปตลกไป ทะลึ่งตึงตังไป ไม่ผิดกติกา ดูแล้วเฮฮา สนุกสนาน

4) คำว่าทศกัณฐ์ หรือโขน ไม่ได้ถูกยกว่าเป็น “ของสูง” ไปเสียทั้งหมด อยู่ที่ประเภทของ “โขน” ด้วย การแสดงที่เรียกว่า “โขน” จึงมีฐานานุศักดิ์ ในแต่ละชนิดของมันเอง และมีความหลากหลายให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น โขนหน้าไฟหรือโขนหน้าศพ โขนกลางแปลง โขนชักรอก โขนหลวง หรือโขนสด

5) เมื่อ “เที่ยวไทยมีเฮ” เลือกใช้ “โขนหลวง”ทั้งดุ้น คือ เอาคนมาสวมหัวโขน ทรงเครื่องโขนเต็ม ครบ ตามขนบทุกกระเบียด แต่กลับไปใช้ท่วงท่า กิริยาแบบ “โขนสด” หรือไม่ใช่แบบโขนใดๆ ทั้งสิ้น ครูทั้งหลายจึงตำหนิว่าผิดรูปแบบ และ “ไม่เหมาะ”

6) แปลว่าผู้กำกับฯ “หยิบผิด” มีให้เลือกเกือบสิบ ดันไปหยิบ “ของสูงที่สุด” ไปใช้ผิด “ฐานานุศักดิ์” คนที่เขาอนุรักษ์จารีตหรือกติกาก็ต้องทักท้วงและให้แก้ไข แต่ก็หาใช่ผิดไปทั้งเรื่องไม่ มีเพียงบางฉากบางตอน ที่กิริยาผิดไปจากความเป็น “โขนหลวง” และสัตว์พาหนะก็ผิดไปจาก “ศักดิ์” ของตัวละคร (ทศกัณฐ์ขี่ม้า-ม้าเป็นพาหนะของตัวละครชั้นต่ำลงมา แม้แต่พระรามก็ไม่ขี่ม้าตลอดทั้งเรื่อง) จึงจะเห็นได้ว่า ครูโขนเรียกร้องให้ตัดแค่บางฉากออกไปเท่านั้นเอง และเมื่อตัดออกไป การสื่อสารเรื่อง “เที่ยวไทย” ก็ยังคงเดิม

7) ถ้านำรูปแบบโขนหลวงไปใช้อย่างถูกต้อง ไม่ “นอกรีตนอกรอย” ก็คงไม่เป็นเรื่อง หรือหากจะเลือกหยิบ “โขนสด” แต่งเครื่องอย่างโขนสด รำอย่างโขนสด ทะเล้นอย่างโขนสดเสียตั้งแต่ต้น คงไม่เป็นไร จับเก่ง ธชยะ สวมหัวโขนครึ่งหน้า น่าจะยิ่งโดดเด่น และใส่ลูกเล่นอะไรได้อย่างอิสระอีกมากมาย ซึ่งเก่งก็มีพรสวรรค์อยู่แล้วในการสื่อสารประเภทนี้เขามีเสน่ห์ และเป็นที่รักของคนดูจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความไม่รู้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนล้นไปในบางจังหวะ จนไม่ถือเคร่งตามจารีตของการแสดงที่มีแบบแผนเฉพาะตัว

เจ๋ง มาบัดนี้ พวกเราที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด เช่นเดียวกับผมก่อนหน้านี้ที่เข้าข่าย “รู้แต่เปลือก เสือกวิจารณ์” คงพอจะเข้าใจแล้วนะ ว่า เราพลาดอะไรไป มิวสิกวีดีโอที่เราได้ดู อาจถูกใจ สนุก แต่ช่วงไหนตอนไหนไม่ถูก ผู้กำกับฯ เขาก็เคารพ และปรับเปลี่ยนให้แล้ว ต่อไปนี้ก็เลิกด่าทอกันได้ เลิกโทษกันไปโทษกันมา ว่าทำไมไม่พูดอย่างนี้เสียตั้งแต่แรกล่ะ บางทีบางเรื่อง เราก็ฟังต่อๆ กันมา แล้วก็เก็บมาถือสา เป็นเดือดเป็นแค้นกันไปโดยไม่ได้อะไรเลย

9) แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นแน่ เห็นชัด คือคนอยากสัมผัส “โขน” ที่มันง่ายๆ ใกล้ชิดผู้คนร่วมสมัยมากขึ้น คนรู้สึกรักรู้สึกเป็นเจ้าของ “ทศกัณฐ์” ร่วมกัน จึงควรใช้โอกาสนี้ในการสื่อสาร ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจ แก่คนรุ่นใหม่ๆ ในสังคมว่า โขนมีหลายแบบให้เลือกใช้ ให้เลือกชม หรือหากจะ “สร้างสรรค์” ต่อให้ยิ่งร่วมสมัยในแบบฉบับของตัวเอง ก็ลองไปเรียนรู้งานแบบ “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น” ที่เขาสามารถเล่าเรื่องเก่า เล่าความเป็นไทย ในแบบของเขา ที่เรียกเสียงปรบมือกึกก้องเสมอ โดยไม่ถูกทักท้วงใดๆ เลย เพราะเขาไม่หยิบ “ของเก่าทั้งดุ้น” แต่เอาไปใช้โดยไม่ศึกษาหรือปฏิบัติตามกติกาที่เคร่งครัดนั้น

10) จึงอยากเชิญชวนทุกท่าน ให้หันมาศึกษาเพื่อเข้าใจ “ความหลากหลาย” ทางศิลปะการแสดงของบ้านเราให้มากขึ้น อย่าไปเที่ยวประชดว่า งั้นเอาไว้บนหิ้งนั่นแหละนะอย่างนี้ใครจะสืบทอด เดี๋ยวก็ตายไปเอง เพราะในความเป็นจริง โขนหลวงไม่ได้ดูยาก ไม่ได้เรื่องมากจนเกินเอื้อม อย่างโขนหลวงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้แสดงให้ประชาชนได้ชมทุกปี ก็มีคนไปดูมาก และดูรู้เรื่องด้วย คนสืบทอดก็มี ทั้งที่สถาบันคึกฤทธิ์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์เดิม)

11) อย่างน้อย ครูๆ เหล่านั้น ก็พยายามทำให้โขนจารีตยังอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป ไม่ผิดเพี้ยน การจะ “ต่อยอด” นั้นทำได้ แต่ต้องเข้าใจของเดิมให้ถ่องแท้เสียก่อน ส่วนเราๆ ท่านๆ ก็หันไปอ่านเรื่อง “รามเกียรติ์” กันอีกทีดีไหม อย่างน้อยก็จะได้สะกด“ทศกัณฐ์” ถูก!!

ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อให้ทุกคนหยุดทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วเอาความรักที่เรามีต่อรากเหง้าของเรามาเรียนรู้ไปด้วยกัน หัดสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์ ผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็รู้จักถอย รู้จักอภัย รู้จักเปิดใจ ไม่ถือดี ไม่มุ่งแต่เอาชนะ หรือแบ่งข้างเป็นพวกมึงพวกกู พวกเก่าพวกใหม่

บ้านเมืองของเรามีเรื่องให้ทะเลาะกันมากมายเกินพอแล้ว เรื่องนี้เมื่อทำความเข้าใจแล้ว ก็ก้าวต่อไป พร้อมๆ กับยอมรับว่า มีเรื่องอีกมากมายที่เรายังไม่รู้พอ ยังรู้ไม่เท่ากัน ก็หมั่นเอาความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่มาแบ่งปันกัน สร้างสังคมแห่งปัญญา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้เกิด ยังผลิตอะไรให้เป็นประโยชน์อย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้ แค่ร่วมกันผลิต “ความรู้” แล้วส่งต่อกันออกไป แชร์ให้เท่าข่าวเม้าท์ดาราและด่านักการเมืองแบบเหมาเข่งบ้างก็คงจะดี
บันทึกการเข้า
Mana
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 28 ก.ย. 16, 21:26

สวัสดีค่ะ เป็นสมาชิกใหม่ที่ตามอ่านมานานแล้ว ครั้งนี้มีกระทู้เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังสนใจพอดี ขออนุญาตนำข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าเพิ่มเติมนะคะ

หลังจากมีกระแสมาพักใหญ่ ก็มีข่าวว่าคุณบัณฑิต ผู้กับกับมิวสิควิดีโอนี้กราบขอโทษศิลปินแห่งชาติ ซึ่งคุณบัณฑิตกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในเฟสบุค บัณฑิต ทองดี ดังนี้

ขอชี้แจงนะครับ บุคคลที่ผมกราบคือครูโขนผู้เมตตา คิอศิลปินแห่งชาติด้านโขนผู้สวมบททศกัณฐ์และดำรงศิปวัฒนธรรมไทยด้านโขนมายาวนาน ไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่ออกมาต่อต้านและสั่งแก้ตั้งแต่ตอนแรก รายการทีวีเชิญมาให้ทรรศนะเรื่องอัตลักษณ์ของโขน ระหว่างออกรายการท่านไม่มีท่าทีดุด่าหรือโกรธเคืองแต่อย่างใดช่วงเบรคของรายการผมสังเกตุเห็นแววตาของความไม่สบายใจบางอย่างของท่านท่านตาแดงๆเหมือนคนเสียใจ เมื่อจบรายการผมคิดว่าผมสมควรขอโทษบุคคลท่านนี้ที่ทำให้ท่านไม่สบายใจและผมกราบในแบบที่เด็กกราบผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ ขอยืนยันว่านี่คือการกราบขอโทษส่วนบุคคล ไม่ใช่กราบขอโทษกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านสั่งแก้ มันคือสัญลักษณ์ของความนอบน้อมไม่ใช่สัญลักษณ์ของการยอมแพ้


จากคำบรรยายดังกล่าว ดิฉันค้นต่อไป ได้ความว่าคุณบัณฑิตและครูโขนท่านนั้นเพิ่งไปแสดงความเห็นในรายการชื่อต่างคนต่างคิด คลิปรายการตอนดังกล่าวมีดังนี้ค่ะ


https://youtu.be/HTgMkD0p7pY


คำบรรยายคลิปถึงผู้ร่วมรายการทั้งสามคือ

1.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร
ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

2.จตุพร รัตนวราหะ
ศิลปินแห่งชาติ 2552 สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน ยักษ์)

3.บัณฑิต ทองดี
ผู้กำกับมิวสิควีดิโอเพลง เที่ยวไทยมีเฮ

ประกาศเกียรติคุณของครูจตุพรมีดังนี้ค่ะ
http://art2.culture.go.th/index.php?case=artistDetail&art_id=316&page=&side=dnc_art_th&detail=biography
บันทึกการเข้า
Mana
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 28 ก.ย. 16, 21:27

จากคลิปรายการดังกล่าว ดิฉันถอดความในส่วนความเห็นของครูจตุพรไว้ได้ดังนี้ค่ะ

............................................

พิธีกร : ครูไม่ได้บอกว่ามันไม่ได้ เพียงแต่บางอย่างอาจไม่เหมาะ เช่นอะไรครับ

ครูจตุพร : ก็คิดว่าทำไมต้องให้ทศกัณฐ์เดินร้องเพลง นี่คือความคิดอย่างนั้น ผมก็เลยเอาตัวผมเป็นหลัก ผมเป็นทศกัณฐ์มาก็หลายสิบปี แต่ที่ร้องเพลงผมไม่ได้ร้อง มีคนร้องให้ มันก็เป็นอีกแบบนึง แต่ว่าการแต่งตัวเป็นทศกัณฐ์ก็ถูกต้องแล้ว ไม่ได้ผิดเพี้ยนอะไร

พิธีกร : รูปที่เราเห็นในมิวสิค เขาก็แต่งถูกต้อง แต่ที่ครูเห็นว่าไม่ถูกต้องเช่นฉากอะไรบ้างฮะ

ครูจตุพร : ฉากนึงก็ฉากที่ไหว้ตรงริมถนน อันนี่ไม่เหมาะสม เพราะการไหว้เป็นการไหว้สิ่งที่เคารพ ไม่ใช่ไหว้กับถนนอย่างนี้ ไม่เหมาะ จะเป็นใครก็แล้วแต่ มาไหว้ก็ไม่ได้ มันคล้ายกับว่าคล้ายจะไปขออะไรเขา

พิธีกร : แต่ท่าไหว้อย่างนี้ ผมเข้าใจถูกไหมครับ ครูกำลังจะบอกว่าเอาทศกัณฐ์มาไหว้ริมถนนเนี่ย คือเหมือนกับสื่อสารอะไรไม่ได้ ทำไมต้องมาไหว้ตรงถนน เพราะโดยหลักแล้วทศกัณฐ์ก็เหมือนกับเป็นยักษ์ ถ้าบทเขาจะไหว้ ถ้าเอาทศกัณฐ์ตัวนี้ไปไหว้อยู่แถววัดหรือไหว้อยู่แถวเสาชิงช้าครูจะไม่คาใจตรงนี้ (ครูพูดรับเป็นระยะ)

ครูจตุพร : ไม่คาใจเลย ไม่ติไม่อะไรเลย

พิธีกร : เพราะเรื่องสถานที่กับยักษ์เหมาะสม

ครูจตุพร : เพราะเป็นเรื่องของการเคารพบูชา คล้ายกับว่าเด็กเคารพผู้ใหญ่ ทีนี้ก็มาเป็นทศกัณฐ์ ถือว่าทศกัณฐ์เป็นกษัตริย์ ก็จะต้องไหว้ ไม่ใช่มาเจอกลางถนนก็ยกมือไหว้ ไม่ใช่ มันไม่ได้เป็นศิลปะ เป็นการทำกันระหว่างบุคคลหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง แค่นั้นนะครับ

พิธีกร : คือกำลังจะบอกว่าถ้าเข้าที่มาของทศกัณฐ์จริงว่าเขาคือกษัตริย์ จะเอามาประกอบบทเพลงอะไรก็ตามแต่ ถ้าเข้าใจที่มาของเขาแล้วใช้สถานที่ให้ถูกต้อง ครูจะไม่ติดใจ

ครูจตุพร : ไม่ติดใจ

พิธีกร : มันมีบาง shot ที่ผมต้องถาม ตรงจุดนี้ เราอาจจะพลาดหรือเปล่า เราไม่ได้ศึกษาจริง ๆ หรือเปล่าว่าทศกัณฐ์เขาเป็นกษัตริย์ เอามาไหว้ตรงนี้แล้วไม่เหมาะสมสำหรับครูโขน

คุณบัณฑิต : ตรงนี้ก็ยอมรับผิดว่าศึกษาไม่เพียงพอและไม่เข้าใจบริบทของโขนอย่างนั้นจริงจึงบอกให้นักแสดงทำแบบนั้น ก็รับผิดและขอโทษคุณครู เพราะไม่รู้ ถ้าครูไม่มาบอกก็คงไม่รู้ ในอนาคตถ้าเรามีโอกาสทำอีกก็คงจะ sensitive กว่านี้และต้องระวังกว่านี้

พิธีกร : คือประเด็นจุดประสงค์คือดี อันนี้เขามีเจตนาที่จะทำให้ทศกัณฐ์มีคนรู้จักไปทั่วโลก ครูก็เข้าใจจุดประสงค์นี้

ครูจตุพร : ก็เข้าใจฮะ เข้าใจจุดประสงค์

พิธีกร : เพียงแค่ปรับให้รู้ว่าทศกัณฐ์ควรจะไปอยู่ในสถานที่ไหนที่เหมาะ

ครูจตุพร : ที่เหมาะ

พิธีกร : ประเด็นอีกอันหนึ่ง เพราะผมก็สงสัย คือตอนที่ทศกัณฐ์เขาเต้น เห็นครูดูมิวสิคนี้อยู่ ครูก็บอกว่ายักษ์ยังเต้นผิดอยู่

ครูจตุพร : เต้นผิด แล้วเต้นไปลักษณะไม่เต้นแบบโขน ไปเต้นแบบทหารเดิน คือยักษ์ต้องขาแบะออกไป (ทำท่าประกอบ) ให้ช่วงเข่าทั้งสองข้างให้ระดับเดียวกับไหล่

พิธีกร : คือครูกำลังจะบอกว่า ขาที่ครูเห็นตรง ๆ เลย (ครูรับ) ในมุมของครู ถ้าคุณเต้นแบะขาให้ถูกต้องตามศิลปะการเต้นของโขนแบบยักษ์ ครูก็จะไม่คาใจ

ครูจตุพร : ไม่คาใจ

..........................................

พิธีกร : ถ้าสมมติว่าเด็กเขาไปจำว่าแต่งองค์โขนแล้วไปขับรถโกคาร์ทได้ ผิดแล้วใช่มั้ยฮะ

ครูจตุพร : ผิดครับ เพราะเราต้องดูว่าเราแต่งตัวอะไร

พิธีกร : แต่งยักษ์

ครูจตุพร : อ้ะแต่งยักษ์ มันก็ต้องไปทางลักษณะนั้น ไม่ใช่ไปขับ..

พิธีกร : อ้อ ยักษ์ขับ (โกคาร์ท) ยักษ์ไปนั่งบานาน่าโบ๊ต ยักษ์เต้นขาตรง ๆ เกิดเด็กไปจำว่าทศกัณฐ์เต้นอย่างนี้

ครูจตุพร : ใช่

พิธีกร : พอเด็กไปเรียนจริง ๆ จำผิดแล้ว

ครูจตุพร : จำผิดแล้ว รากเหง้าเคลื่อนเลย

.......................................

พิธีกร : ครูว่าทศกัณฐ์อยู่ในดนตรีแบบนี้ (เพลงเที่ยวไทยมีเฮ) ครูคาใจไหม

ครูจตุพร : ไม่คาใจ เพราะไม่ได้ไปออกกราวนอก กราวใน หรือนำเพลงของทางดนตรีไทย เป็นเพลงของเขาเองก็ทำไป

พิธีกร : แสดงว่าจะหยิบนางสีดา หยิบพระรามเข้ามารำในมิวสิค จะเป็นดนตรีอะไรก็แล้วแต่ ขอให้คุณรำถูกต้อง

ครูจตุพร : ถูกต้อง คือเพลงนี้ที่ออกมานั่นน่ะ ให้ตรงซะ ไปคร่อมจังหวะ เขาจะมองว่าทำไมเต้นอย่างนี้ ไม่ถูกจังหวะ ไม่ลงตุ้มไม่ลงตั้ม

พิธีกร : ครูจะสื่อว่า ถ้าเพลงอะไรก็ตามแต่ ถ้ายักษ์เต้นถูกจังหวะย่ำเท้า จะเป็นเพลงอะไรนำเสนอ ยักษ์ก็ยังไม่เสียบุคลิกความเป็นยักษ์ที่ถูกต้อง

ครูจตุพร : ไม่เสีย เพราะแต่งตัวอยู่

.........................................

พิธีกร : แต่ก็มีกรณีที่ยักษ์ไปปรากฏในวัดร่องขุ่น เห็นครูบอกชอบมากอันนี้สวย

ครูจตุพร : ฮะ สวย

พิธีกร : ยักษ์ไปอยู่ตรงเสาชิงช้า

ครูจตุพร : ถ้าถามว่าสวยมั้ยก็สวย เพราะเสาชิงช้าสวยอยู่แล้ว

พิธีกร : แต่อาจจะมีเต้นผิดไปหน่อย

ครูจตุพร : ครับ เต้นผิดอะไรอย่างนี้ละครับ

...........................................

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่คุณยุพาและครูจตุพรพูดเกี่ยวกับการรักษาแบบแผนของโขนเพื่อการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมระดับโลก

.........................................

พิธีกร : ...เมื่อครู่ครูกับคุณยุพาบอกว่า โขนกำลังจะถูกขึ้นทะเบียนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับโลก อันนี้ครูเองหรือกระทรวงก็อยากให้สังคมเข้าใจบริบทโขนที่ถูกต้อง เพราะถ้าจำผิด ระดับโลกจะเข้าใจผิด เขาไม่ยอมรับเรา

ครูจตุพร + คุณยุพา : ไม่ยอมรับ

ครูจตุพร : อย่างบ้านใกล้เรือนเคียงเราเนี่ยฮะ ไม่ต้องเอ่ยชื่อ บ้านใกล้เรือนเคียงเขาก็คอยจะดูอยู่ ว่าเราจะทำอย่างที่ว่าไหม เป็นข้อกังวลของเรา

คุณยุพา : สิ่งที่เป็นข้อกังวลของเรา คือกระทรวงวัฒนธรรมหรือประเทศไทยเราเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญาของยูเนสโกแล้ว เข้าไปเพื่อประโยชน์อะไร เพื่อประโยชน์ที่ว่าเราจะมีการประกาศขึ้นทะเบียน ว่ามรดกชิ้นนี้ประเทศไทยมีอยู่ ไม่ใช่ว่าเป็นของประเทศไทย โขนนี่เป็นมรดกร่วม หลาย ๆ ประเทศก็มี แต่เรากำลังจะเสนอโขนเข้าไปเป็นประกาศว่าประเทศไทยมีศิลปะชิ้นนี้อยู่ แล้วถ้าเห็นปรากฏภาพโขน....

พิธีกร : นั่งบานาน่าโบ๊ต สะพายเป้

คุณยุพา : คุณคิดว่าเขามองว่าอะไร ใช่ สิ่งที่กังวล

พิธีกร : นานาชาติอาจสงสัยว่าเอ๊ะ ทำไมจะเอาขึ้นมรดกแบบนี้ แต่ทำไมภาพเป็นแบบนี้ถูกไหมฮะ

คุณยุพา : ใช่... (มีคำพูดต่อไป แต่ขอถอดความมาเพียงเท่านี้)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 29 ก.ย. 16, 09:38

นี่ถ้ายูเนสโกไม่ตัดสินให้โขนไทยเป็นมรดกโลก  คุณบัณฑิตซวยเลย

หลักเกณฑ์กรรมการยูเนสโกว่าอะไรเป็นภูมิปัญญามรดกโลก  คงไม่ได้ตัดสินว่าให้ตก แค่ตัวละครแต่งโขนไปนั่งโกคาร์ทในโฆษณาท่องเที่ยวหรอกค่ะ 
เรื่องทศกัณฐ์ในการท่องเที่ยว  ดิฉันก็ยังยืนยันว่ามันคนละเวที คนละมิติกับการแสดงโขน   เอามาปนกันมันถึงกลายเป็นเรื่องบานปลายออกไปทุกที จนจะกลับมาหาต้นทางไม่ถูกแล้ว

เห็นย้ำกันนักหนาข้างบนนี้ว่า ว่าทศกัณฐ์เป็นกษัตริย์  แล้วก็เอาจารีตของความเป็นกษัตริย์ตามความเข้าใจของตัวเองมาห่อหุ้มโขนตัวนี้ ว่าจะต้องสง่างาม จะต้องสูงส่ง  จะทำอะไรอย่างคนสามัญไม่ได้     ความจริงแล้วโขนรามเกียรติ์ มีที่มาจากวรรณคดีรามเกียรติ์    ถ้าพิจารณาจากเนื้อหาการแต่ง    กวีท่านไม่ได้เรียกทศกัณฐ์ว่าจอมกษัตริย์  แต่เรียกว่าเจ้ากรุงลงกา   หาใช่กษัตริย์ในความหมายของบุคคลผู้สูงส่งได้รับการเทิดทูนเกินกว่าสามัญชนไม่
กวีที่ชุมนุมกันแต่งรามเกียรติ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เข้าใจข้อนี้ จึงกำหนดบทบาทให้ทศกัณฐ์มีฉากแสดงความเฉิ่มบ้าง  บ้าตัณหาบ้าง   อย่างตอนนางเบญกายแปลงเป็นนางสีดา ทศกัณฐ์ก็หลงนึกว่าเป็นตัวจริง ไล่ไขว่คว้าลวนลามหลานสาว   จนนางเบญกายต้องรีบแปลงร่างกลับเป็นเดิม  ทศกัณฐ์จึงได้สติ เขินอาย  แก้ตัวเป็นการใหญ่ว่าลุงตาลาย   แม้แต่ท่ารำตอนนั้นก็สะท้อนความเฉิ่มของทศกัณฐ์ออกมาในรูปตัวตลก   ไม่ได้สง่าอยู่ทุกอิริยาบถอย่างที่อ้างกันอยู่ตอนนี้

เอาคลิปมาให้ดูค่ะ  ยาวหน่อย  อยู่ตอนท้ายๆของคลิป   แต่ถ้าใครชอบความงามของนาฏศิลป์จะได้ดูฉุยฉายเบญกายแปลงในตอนต้นคลิป   ฉุยฉายชุดนี้งดงามไม่แพ้ฉุยฉายพราหมณ์ แม้อย่างหลังรู้จักกันแพร่หลายกว่าก็ตาม

พูดในฐานะบุคคลดีเด่นทางด้านอนุรักษ์มรดกไทยสาขาภาษาและวรรณกรรม เนื่องในปีอนุรักษ์มรดกไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗ (The Thai National Heritage Preservation Award)
และ บุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐(The Thai National Culture Award)
นะคะ ไม่ใช่คนนอกที่ไม่รู้เรื่องโขนแล้วยังมาออกความเห็นอยู่ได้

บันทึกการเข้า
Mana
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 29 ก.ย. 16, 17:43

มาลงชื่ออ่านค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์สำหรับข้อมูลและความเห็นนะคะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 29 ก.ย. 16, 18:38

ผมได้นั่งดูรายการต่างคนต่างคิดวันนั้นอยู่ด้วย แต่ทนดูจนจบไม่ได้ เกิดอาการหงุดหงิดซะก่อน

จากรายการในวันนั้น ดูเหมือนเป็นการเอาเจ้าของโขน 2 คนมารุมอัดผู้กำกับที่หงอมากเกินไป  ดูแล้วรำคาญ ที่เรียกว่าเจาของโขนคงไม่ผิด เพราะได้แสดงความเป็นเจ้าของออกมาเต็มเปี่ยม แม้ผมจะเคารพคุณครูที่เป็นศิลปินแห่งชาติจากความเชี่ยวชาญในการแสดงโขน แต่ก็อดหงุดหงิดไม่ได้ ยิ่งป้าจากกระทรวงวัฒนธรรมนี่ยิ่งไม่ไหว  เหล่าเจ้าของโขนเหมือนจะตีโจทย์การอนุรักษ์โขนผิด จนกลายเป็นว่าอะไรที่ไม่เหมือนเดิมมันใช้ไม่ได้ แม้ปากจะบอกไม่ใช่ เปลี่ยนแปลงได้ แต่การกระทำมันออกมาแบบนั้น


สิบกว่าปีก่อน เคยหลงไปแถวท่าพระอาทิตย์ตอนเย็นๆ ตอนนั้นมีการแสดงต่างๆ สลับไปทุกสัปดาห์ จำได้ครั้งนึงมีการแสดงคล้ายๆ โขนประยุกต์ โดยศิลปินคุณมานพ มีจำรัส ตอนนั้นคุณมานพได้สอนให้เข้าใจท่าทางต่างๆ ของโขนด้วย เช่นยักษ์ต้องทำท่านี้ ลิงท่าแบบนี้ แบบนี้อารมณ์โศก แบบนี้ตลก เป็นเหมือนการแนะนำและให้ความรู้ ทำให้มุมมองต่อโขนของผมเปลี่ยนแปลงไป เห็นความน่าสนใจของการแสดงโขนที่มีอะไรลึกซึ้งกว่าแค่ท่าทางที่ดูแบบคนไม่รู้จะไม่เข้าใจเลยว่าตรงไหนคือศิลปะ ตรงไหนคือสิ่งที่มีคุณค่า ท่าร่ายรำแบบไหนที่เป็นเอกลักษณ์ ผมเชื่อว่าดูโขนให้สนุุกดูโขนให้เป็นต้องมีความรู้ด้วยขนาดหนึ่ง หลังวันนั้นผมกลายเป็นคนอยากดูโขนจนถึงวันนี้


วิธีที่กระทรวงวัฒนธรรมควรทำคือการเผยแพร่ความรู้และการแสดงออกไปพร้อมกันแบบที่ผมเคยเห็น คนดูก็ต้องดูเป็น เป็นแบบไม่ใช่ให้อนุรักษ์ แต่เป็นแบบให้ดูสนุกเป็น ไม่ใช่แค่ให้คนดูดูเห็นแต่ฉากที่อลังการ การร่ายรำที่สวยงาน แต่ไม่เข้าใจความแตกต่างของตัวละครในด้านอารมณ์ ความรู้สึก  ดูๆ ไปกลายเป็นน่าเบื่อ แล้วเลยกลายเป็นว่าโขนที่ถูกต้องมีเหล่านักอนุรักษ์รู้จักกันไม่กี่คน แล้วใครไม่รู้หรือทำต่างออกไปคือทำผิดขนบธรรมเนียมแบบนี้

ยิ่งตอนนี้โขนเป็นการแสดงที่ไกลตัวคนไทยมาก  ผมนี่อยากดูโขนมากๆ แต่เห็นราคาค่าตั๋วโขนกรมศิลฯ ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วรับไม่ไหว จะขนครอบครัวไปดูกันทั้งบ้าน ถ้าอยากได้ที่นั่งดี ค่าตั๋วหมื่นกว่าบาท เลยอดดูจนถึงปัจจุบัน ้าเรายังอนุรักษ์โขนกันแบบนี้ ต่อไปคงไม่มีคนไทยดู กลายเป็นศิลปะไทยแท้ที่เอาไว้ขายฝรั่งแบบฉาบฉวยเท่านั้น
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 09:02

ถ้าเป็นโขนพระราชทาน ราคาบัตรพอจับต้องได้อยู่นะครับ ผมไม่เคยไปดู แต่เห็นในเวปบอกว่าเป็นราคานี้ครับ

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจในสุดยอดวิจิตรนาฏศิลป์ไทยได้แล้ววันนี้ จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiticketmajor.com โทร. 0-2262-3456 บัตรราคา 620, 820, 1,020 และ 1,520 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 120 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com
ที่มา : http://www.thansettakij.com/2015/11/17/18129
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 09:47

ผมขอร่วมแสดงความเห็นต่อเนื่องอีกเล็กน้อยนะครับ

คือ แรกเริ่มเดิมที ผมมีความเห็นว่า การประยุกต์สามารถทำได้ครับ แต่ผมก็มีฉุกคิดเหมือนกันครับว่า ระหว่าง ”ประยุกต์ไม่ได้เลย” (ถ้าเป็นเส้นจำนวนก็ สมมุติว่า อยู่ที่เลข 0 ละกันครับ ห้ามขยับไปไหน ต้องอยู่ที่ 0 เท่านั้น) กับ “ยอมประยุกต์ได้” พอยอมให้ประยุกต์ได้ ก็หมายถึงว่า ไม่ต้องเป็น 0 ละ จะเป็น +1 +2 +10 +100 หรือ – 2 -10 -1000 ก็ได้

ประเด็นก็คือ แล้วจะขีดเส้นความเหมาะสมไว้ที่ใดครับ

ผมเริ่มรู้สึกอย่างนี้ เมื่อได้เห็นกิจกรรมของเวปหนึ่ง ที่จัดประกวดวาดภาพทศกัณฐ์ประยุกต์ โดยบอกว่า จะวาดให้ออกมาเป็นแนว K (ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจศัพท์พวกนี้เท่าใดนะครับ พอจะทราบว่า K คือ Kamo คือ ตัวละครรูปร่างมนุษย์ แต่มีหูหรือหาง หรือลักษณะบางอย่างของสัตว์น่ารักๆ) แนว Y (คือ ชายรักชาย) หรือแนวใดๆ ก็ได้ แม้งานที่มีผู้ส่งประกวดหลายงานจะสามารถยอมรับได้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็มีงานจำนวนมากที่สื่อออกมาในทางลบ คือพยายามทำทศกัณฐ์ให้ออกมาไม่ดีที่สุดเท่าที่จะคิดออก อย่างสถานเบาก็เช่น วาดทศกัณฐ์ให้สวมชุดโขนที่มีลักษณะคล้ายชุด Iron Man หรือเปลี่ยนแปลงบุคลิกของทศกัณฐ์ให้กลายเป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่นหรืออเมริกา อย่างสถานหนักก็เช่น วาดให้ทศกัณฐ์แต่งชุดช่างสีฟ้า นั่งไขว่ห้างบนเก้าอี้ยาวในสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นบุคลิกของตัวละครจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบการมีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกันทางทวารหนัก หรือการเปลี่ยนเพศทศกัณฐ์จากชายให้เป็นหญิง แล้ววาดให้แต่งการโป๊ หรือล่อแหลม หรือแสดงท่าทางยั่วยวน หรือ วาดสุนัขพันธุ์ปั๊กสวมหัวทศกัณฐ์ เป็นต้น

การประยุกต์เช่นนี้ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ไม่ได้กระทำด้วยความยกย่อง และไม่ได้กระทำด้วยความคิดแบบเดียวกับ MV เที่ยวไทยมีเฮ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้สร้างงานเหล่านั้น ก็อ้างว่า นี่คือการประยุกต์ และยกคำว่า “ไดโนเสาร์” เป็นเกราะป้องกันคำวิจารณ์ด้วยเช่นกันครับ

ผมจึงเริ่มฉุกคิดขึ้นมาว่า เพราะการประยุกต์ที่ควบคุมไม่ได้นี้หรือเปล่า ผู้เกี่ยวข้องจึงพยายามบอกว่า “โขนมีจารีต” เพื่อพยายามควบคุมทิศทางการประยุกต์ให้ไปในแนวทางที่เหมาะสม เพราะหากไม่สามารถกำหนดทิศทางของการประยุกต์ได้ + เมื่อมีงานประยุกต์ที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดช่วยปกป้อง ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดก็คงหนีไม่พ้น อย่าให้เกิดการประยุกต์เสียเลยจะดีกว่า หรืออย่างน้อยก็ ก่อนจะประยุกต์ ขอได้โปรดศึกษาจารีตของพวกเราก่อน หรือเปล่าหนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 10:11

ถ้าถามดิฉัน  ดิฉันก็จะเปิดโอกาสให้เกิดมีการประยุกต์ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ    เพราะอะไรก็ตามที่หยุดนิ่ง ไม่มีการนำมาใช้   มันก็จะไม่เติบโต  แล้วก็ตายไปในที่สุด
เหมือนภาษา   ถ้าเป็นภาษาที่มีชีวิตอยู่ จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง   มีศัพท์ใหม่ๆเกิดขึ้นมา มีสำนวนภาษาใหม่ๆเกิดขึ้น มีการวางรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม     ภาษาก็จะดำรงอยู่ต่อไป   
แต่ภาษาที่ตายแล้วคือภาษาที่หยุดนิ่ง  มีแค่นี้อยู่แค่นั้น  อย่างเช่นภาษาสันสกฤต ซึ่งไม่มีคนพูดในชีวิตประจำวันมานานแล้ว  มันก็ตายไป เหลือแต่ในตำราให้คนจำนวนน้อยเรียนกัน  มีสิทธิ์จะหายไปจากความรู้ความสนใจของคน

เราลืมรากเหง้าของทศกัณฐ์ไปแล้วหรือว่าเป็นใคร     ทศกัณฐ์เป็นตัวละครในวรรณคดีจากอินเดีย ฉบับที่ไทยรับมาวิเคราะห์กันว่ามาจากฉบับทมิฬหรือลังกา    เมื่อนำมาใช้ในสมัยอยุธยา ตัวละครรามเกียรติ์ก็อยู่ในฐานะกวีนิพนธ์   ไม่ได้เอามาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อย่างที่เข้าใจกันอยู่ในทุกวันนี้    ขนบธรรมเนียมการเล่นโขนที่ยึดถือหัวโขนว่าเป็นสิ่งต้องเคารพกราบไหว้ คือกราบไหว้ในฐานะครู   แต่ตัวทศกัณฐ์ไม่ใช่ครูตามหัวโขนไปด้วย      ทศกัณฐ์ในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์มีความเป็นมนุษย์ปุถุชนสูงมาก   สูงกว่าตัวละครอื่นๆทั้งหมดในเรื่อง  มีชั่วมีดี มีจุดแข็งจุดอ่อน   กวีไม่ได้ยกทศกัณฐ์ไว้บนหิ้งอย่างที่คนรุ่นหลังเข้าใจผิดกัน

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเอาทศกัณฐ์ไปทำตัวการ์ตูนหรือตัวอะไรทั้งหลาย      ดิฉันมองว่ามันเป็นความคิดต่อยอดจากการนำตัวละครในวรรณคดีมาใช้เท่านั้นเอง     เหมือนเอาเรื่องไซอิ๋วมาทำการ์ตูน   พระอมิตาพุทธเจ้าก็กลายมาเป็นการ์ตูนในเรื่องด้วย     อะไรที่ออกมาสร้างสรรค์มีศิลปะโดดเด่น ย่อมจับใจคน ก็จะดำรงอยู่ยาวนานหน่อย   อะไรที่ไม่เข้าท่า อาจฮือฮาชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็จะตกกระแสไป เพราะไม่มีจุดเด่นให้น่าสนใจอยู่ยาวนาน 
ที่สำคัญคืออย่าไปห้าม  ว่าอย่าทำโน่นทำนี่    สิ่งที่ควรห้ามมี 2 อย่างคือผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรมอันดีงามของประชาชน (หมายรวมถึงผิดศีลในทุกศาสนา)    ทศกัณฐ์ในวรรณคดีทำผิดศีลธรรมอันดีงามมาตั้งหลายข้อยังทำได้   ไม่เห็นมีคนอ่านตั้งแต่อยุธยามาจนถึงทุกวันนี้คนไหนประท้วง       แล้วทำไมเร่ืองแค่แคะขนมครกซึ่งไม่ได้ผิดอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องใหญ่โตกันไปได้
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 11:37

ถ้าเป็นโขนพระราชทาน ราคาบัตรพอจับต้องได้อยู่นะครับ ผมไม่เคยไปดู แต่เห็นในเวปบอกว่าเป็นราคานี้ครับ

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจในสุดยอดวิจิตรนาฏศิลป์ไทยได้แล้ววันนี้ จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiticketmajor.com โทร. 0-2262-3456 บัตรราคา 620, 820, 1,020 และ 1,520 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 120 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com
ที่มา : http://www.thansettakij.com/2015/11/17/18129

ปีนี้ราคาที่นั่งดีๆ ราคา 1800 บาทครับ บ้านผม 6 คน สู้ไม่ไหว  ถ้าที่นั่งถูกสุด 600 บาทคือริมๆ ไกลๆ โน่นเลย อยากดูแต่หนักใจครับ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 11:39

เราลืมรากเหง้าของทศกัณฐ์ไปแล้วหรือว่าเป็นใคร     ทศกัณฐ์เป็นตัวละครในวรรณคดีจากอินเดีย

จิตร ภูมิศักดิ์ตีความว่า เรื่องรามายณะอันเป็นต้นเค้าของรามเกียรติ์ของไทยเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างชนผู้รุกรานและเจ้าของถิ่นเดิม ทศกัณฐ์คือผู้นำ ชาวทราวิฑ ชนเผ่าที่ครอบครองอินเดียก่อนการรุกรานของชาวอารยันอันมีพระรามเป็นหัวหน้า ส่วนเหล่าพลวานรนั้นก็คือชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ที่ชาวอารยันเกณฑ์มาสู้รบ

อ่านรายละเอียดได้ใน หนังสือความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ หน้า ๓๘๖ -๓๙๐
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 15:20

อ้างถึง
ปีนี้ราคาที่นั่งดีๆ ราคา 1800 บาทครับ บ้านผม 6 คน สู้ไม่ไหว
อูย... แพงจริงๆ ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 15:26

เราลืมรากเหง้าของทศกัณฐ์ไปแล้วหรือว่าเป็นใคร     ทศกัณฐ์เป็นตัวละครในวรรณคดีจากอินเดีย

จิตร ภูมิศักดิ์ตีความว่า เรื่องรามายณะอันเป็นต้นเค้าของรามเกียรติ์ของไทยเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างชนผู้รุกรานและเจ้าของถิ่นเดิม ทศกัณฐ์คือผู้นำ ชาวทราวิฑ ชนเผ่าที่ครอบครองอินเดียก่อนการรุกรานของชาวอารยันอันมีพระรามเป็นหัวหน้า ส่วนเหล่าพลวานรนั้นก็คือชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ที่ชาวอารยันเกณฑ์มาสู้รบ

อ่านรายละเอียดได้ใน หนังสือความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ หน้า ๓๘๖ -๓๙๐

ดิฉันเรียนเรื่องนี้ในคณะอักษรศาสตร์   อาจารย์ที่เป็นอาจารย์ของจิตร ภูมิศักดิ์สอนมาอีกที     เป็นหนึ่งในข้อสันนิษฐานที่มาของรามเกียรติ์
อีกข้อหนึ่งที่สันนิษฐานไกลไปกว่านั้นก็คือ รามเกียรติ์ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาจากมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์ด้วย 
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 ก.ย. 16, 15:30



ประยุกต์แนวนี้ ผมโอเคครับ   ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.13 วินาที กับ 20 คำสั่ง