เส้นใต้บรรทัด
จิตกร บุษบา
หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/politic/columnist/26507ทำความเข้าใจ ทำไมครูโขนค้าน ‘เที่ยวไทยมีเฮ’ในเวลาที่สื่อสังคมออนไลน์กำลังเป็นใหญ่ อุปาทานหมู่ ความไม่รู้แต่ “ถือดี” เกิดขึ้นได้ง่ายมาก บ่อยครั้งที่เราพบเห็นการด่าทอตามๆ กันไป แม้สุดท้ายเรื่องพลิกเป็นอีกแบบ แต่ก็ไม่มีใครย้อนมาขอโทษและเรียนรู้ใหม่ มีแต่ชวนกันไป “ไล่งับ”ประเด็นอื่นๆ ตามๆ กันต่อไปอีก และยังคงกล่าวโทษคนอื่น ที่ไม่ทำให้ตัวเองรู้เสียตั้งแต่แรก
ในสภาพสังคมแบบนี้ หากสื่อกระแสหลักไม่ยืนหยัด นำความรู้มาสู่ผู้คน ยอมพ่ายแพ้ต่อพลังของโซเชียลมีเดีย แล้วกระโดดโลดเต้นตามไป ตามใจ เพียงเพื่อจะแลกกับเรตติ้งและความอยู่รอด ก็ควรจะยุบองค์กร ไปเป็นประชาชนธรรมดาๆที่นั่งโพสต์เฟซบุ๊คไปวันๆ จะดีกว่า
ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ สื่อ “มืออาชีพ” คือ“ที่พึ่ง” ของประเทศชาติ งานหนักหน่อย แต่ต้องทำให้ได้ต้องไม่หยุดเรียนรู้ ต้องขวนขวาย ทำความคลางแคลงของสังคมให้ปรากฏตามข้อเท็จจริงและหลักการ
อย่างเรื่อง ครูโขนค้าน “เที่ยวไทยมีเฮ” นี้ ยอมรับว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตำหนิหนักหน่วงไม่น้อยกว่าใคร แต่เมื่อใช้เวลาทบทวนประเด็น แล้วพบว่า “ความเหลื่อมล้ำขององค์ความรู้”ระหว่างคนในวงการโขน กับประชาชนทั่วไป คือ ปัญหาความไม่เข้าใจที่เกิดต่อกัน เมื่อมาบวกกับ “การสื่อสารไม่เป็น”ของครูๆ ทั้งหลาย แต่การ “เล่นเป็น” กับสื่อโซเชียลของบัณฑิต ทองดี และ เก่ง ธชยะ เรื่องจึง “เลยเถิด” ไปกันใหญ่
เรามาตั้งหลักกันใหม่ ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไปด้วยกันครับ
1) บรรดาครูบาอาจารย์โขน เขาไม่ได้หวงรามเกียรติ์ ไม่ได้หวงทศกัณฐ์ ไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ให้ถูกบริบท และถูกขนบของการแสดงแต่ละประเภท
2) รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีที่มีการนำไปใช้งานหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังใหญ่ หุ่น แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ และโขน เฉพาะการนำ “รามเกียรติ์” มาสื่อสารในรูปแบบ “โขน” ก็มีหลายชนิดอีก ตั้งแต่โขนราชสำนักยันโขนชาวบ้าน คือ โขนสด จึงต้องรู้จักว่าโขนแต่ละอย่างมีรูปแบบการเล่นและข้อห้ามที่เรียกว่า “กติกา” หรือ “จารีต” ต่างๆ กันไป
3) ในประวัติศาสตร์ โขนราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ผู้เล่นต้องเป็น “ชายล้วน” ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินทรงผ่อนปรนให้ “ผู้หญิง” ร่วมฝึกโขนและแสดงได้ ต่อมาถึงกับคลี่คลายจนเกิดเป็น “โขนสด” แบบชาวบ้านร้องรำคล้ายลิเกสวมหัวโขนแค่ครึ่งหน้า เครื่องทรงเป็นอย่างย่อม ไม่เต็มเครื่องใหญ่ เล่นไปตลกไป ทะลึ่งตึงตังไป ไม่ผิดกติกา ดูแล้วเฮฮา สนุกสนาน
4) คำว่าทศกัณฐ์ หรือโขน ไม่ได้ถูกยกว่าเป็น “ของสูง” ไปเสียทั้งหมด อยู่ที่ประเภทของ “โขน” ด้วย การแสดงที่เรียกว่า “โขน” จึงมีฐานานุศักดิ์ ในแต่ละชนิดของมันเอง และมีความหลากหลายให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น โขนหน้าไฟหรือโขนหน้าศพ โขนกลางแปลง โขนชักรอก โขนหลวง หรือโขนสด
5) เมื่อ “เที่ยวไทยมีเฮ” เลือกใช้ “โขนหลวง”ทั้งดุ้น คือ เอาคนมาสวมหัวโขน ทรงเครื่องโขนเต็ม ครบ ตามขนบทุกกระเบียด แต่กลับไปใช้ท่วงท่า กิริยาแบบ “โขนสด” หรือไม่ใช่แบบโขนใดๆ ทั้งสิ้น ครูทั้งหลายจึงตำหนิว่าผิดรูปแบบ และ “ไม่เหมาะ”
6) แปลว่าผู้กำกับฯ “หยิบผิด” มีให้เลือกเกือบสิบ ดันไปหยิบ “ของสูงที่สุด” ไปใช้ผิด “ฐานานุศักดิ์” คนที่เขาอนุรักษ์จารีตหรือกติกาก็ต้องทักท้วงและให้แก้ไข แต่ก็หาใช่ผิดไปทั้งเรื่องไม่ มีเพียงบางฉากบางตอน ที่กิริยาผิดไปจากความเป็น “โขนหลวง” และสัตว์พาหนะก็ผิดไปจาก “ศักดิ์” ของตัวละคร (ทศกัณฐ์ขี่ม้า-ม้าเป็นพาหนะของตัวละครชั้นต่ำลงมา แม้แต่พระรามก็ไม่ขี่ม้าตลอดทั้งเรื่อง) จึงจะเห็นได้ว่า ครูโขนเรียกร้องให้ตัดแค่บางฉากออกไปเท่านั้นเอง และเมื่อตัดออกไป การสื่อสารเรื่อง “เที่ยวไทย” ก็ยังคงเดิม
7) ถ้านำรูปแบบโขนหลวงไปใช้อย่างถูกต้อง ไม่ “นอกรีตนอกรอย” ก็คงไม่เป็นเรื่อง หรือหากจะเลือกหยิบ “โขนสด” แต่งเครื่องอย่างโขนสด รำอย่างโขนสด ทะเล้นอย่างโขนสดเสียตั้งแต่ต้น คงไม่เป็นไร จับเก่ง ธชยะ สวมหัวโขนครึ่งหน้า น่าจะยิ่งโดดเด่น และใส่ลูกเล่นอะไรได้อย่างอิสระอีกมากมาย ซึ่งเก่งก็มีพรสวรรค์อยู่แล้วในการสื่อสารประเภทนี้เขามีเสน่ห์ และเป็นที่รักของคนดูจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความไม่รู้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนล้นไปในบางจังหวะ จนไม่ถือเคร่งตามจารีตของการแสดงที่มีแบบแผนเฉพาะตัว

มาบัดนี้ พวกเราที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด เช่นเดียวกับผมก่อนหน้านี้ที่เข้าข่าย “รู้แต่เปลือก เสือกวิจารณ์” คงพอจะเข้าใจแล้วนะ ว่า เราพลาดอะไรไป มิวสิกวีดีโอที่เราได้ดู อาจถูกใจ สนุก แต่ช่วงไหนตอนไหนไม่ถูก ผู้กำกับฯ เขาก็เคารพ และปรับเปลี่ยนให้แล้ว ต่อไปนี้ก็เลิกด่าทอกันได้ เลิกโทษกันไปโทษกันมา ว่าทำไมไม่พูดอย่างนี้เสียตั้งแต่แรกล่ะ บางทีบางเรื่อง เราก็ฟังต่อๆ กันมา แล้วก็เก็บมาถือสา เป็นเดือดเป็นแค้นกันไปโดยไม่ได้อะไรเลย
9) แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นแน่ เห็นชัด คือคนอยากสัมผัส “โขน” ที่มันง่ายๆ ใกล้ชิดผู้คนร่วมสมัยมากขึ้น คนรู้สึกรักรู้สึกเป็นเจ้าของ “ทศกัณฐ์” ร่วมกัน จึงควรใช้โอกาสนี้ในการสื่อสาร ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจ แก่คนรุ่นใหม่ๆ ในสังคมว่า โขนมีหลายแบบให้เลือกใช้ ให้เลือกชม หรือหากจะ “สร้างสรรค์” ต่อให้ยิ่งร่วมสมัยในแบบฉบับของตัวเอง ก็ลองไปเรียนรู้งานแบบ “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น” ที่เขาสามารถเล่าเรื่องเก่า เล่าความเป็นไทย ในแบบของเขา ที่เรียกเสียงปรบมือกึกก้องเสมอ โดยไม่ถูกทักท้วงใดๆ เลย เพราะเขาไม่หยิบ “ของเก่าทั้งดุ้น” แต่เอาไปใช้โดยไม่ศึกษาหรือปฏิบัติตามกติกาที่เคร่งครัดนั้น
10) จึงอยากเชิญชวนทุกท่าน ให้หันมาศึกษาเพื่อเข้าใจ “ความหลากหลาย” ทางศิลปะการแสดงของบ้านเราให้มากขึ้น อย่าไปเที่ยวประชดว่า งั้นเอาไว้บนหิ้งนั่นแหละนะอย่างนี้ใครจะสืบทอด เดี๋ยวก็ตายไปเอง เพราะในความเป็นจริง โขนหลวงไม่ได้ดูยาก ไม่ได้เรื่องมากจนเกินเอื้อม อย่างโขนหลวงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้แสดงให้ประชาชนได้ชมทุกปี ก็มีคนไปดูมาก และดูรู้เรื่องด้วย คนสืบทอดก็มี ทั้งที่สถาบันคึกฤทธิ์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์เดิม)
11) อย่างน้อย ครูๆ เหล่านั้น ก็พยายามทำให้โขนจารีตยังอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป ไม่ผิดเพี้ยน การจะ “ต่อยอด” นั้นทำได้ แต่ต้องเข้าใจของเดิมให้ถ่องแท้เสียก่อน ส่วนเราๆ ท่านๆ ก็หันไปอ่านเรื่อง “รามเกียรติ์” กันอีกทีดีไหม อย่างน้อยก็จะได้สะกด“ทศกัณฐ์” ถูก!!
ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อให้ทุกคนหยุดทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วเอาความรักที่เรามีต่อรากเหง้าของเรามาเรียนรู้ไปด้วยกัน หัดสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์ ผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็รู้จักถอย รู้จักอภัย รู้จักเปิดใจ ไม่ถือดี ไม่มุ่งแต่เอาชนะ หรือแบ่งข้างเป็นพวกมึงพวกกู พวกเก่าพวกใหม่
บ้านเมืองของเรามีเรื่องให้ทะเลาะกันมากมายเกินพอแล้ว เรื่องนี้เมื่อทำความเข้าใจแล้ว ก็ก้าวต่อไป พร้อมๆ กับยอมรับว่า มีเรื่องอีกมากมายที่เรายังไม่รู้พอ ยังรู้ไม่เท่ากัน ก็หมั่นเอาความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่มาแบ่งปันกัน สร้างสังคมแห่งปัญญา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้เกิด ยังผลิตอะไรให้เป็นประโยชน์อย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้ แค่ร่วมกันผลิต “ความรู้” แล้วส่งต่อกันออกไป แชร์ให้เท่าข่าวเม้าท์ดาราและด่านักการเมืองแบบเหมาเข่งบ้างก็คงจะดี