เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 25316 ข่าวฮา MV "เที่ยวไทยมีเฮ" จ่อถูกแบบ เอ้า ของสูงมีไว้กราบบบบบบ
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 ก.ย. 16, 14:06

อ๋อ หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์นี่เอง ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 ก.ย. 16, 14:29

ลูกสาวแนะนำให้แม่อ่านข้อเขียนนี้ค่ะ

จากเฟซบุ๊ค สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


มีดราม่าอีกแล้ว จากเรื่อง “โขน” มาถึงเรื่อง “ทศกัณฐ์” ในสื่อที่กำลังเป็นประเด็นร้อน สาขาวิชาของเราไม่อาจเอื้อมไปตัดสินว่าใครผิดหรือใครถูก ขอให้เป็นเรื่องอภิปรายกันในสังคมไทยของผู้รู้นักวิชาการด้านนาฏศิลป์ วัฒนธรรมและคนในสังคมเอง

ข้างหนึ่งก็หัวอกผู้ “อนุรักษ์” อีกข้างก็หัวอกผู้ “รัก” ที่ชื่นชมและอยากให้ตัวละคอนโขนมีชีวิตโลดเล่นในสื่อร่วมสมัย ท่านผู้อ่านจะนิยมอย่างไรก็สุดแต่ใจตนเถิด ที่จะเขียนนี้จะเล่าเรื่องทศกัณฐ์ ในข้างสันสกฤตให้ฟังเป็นเกร็ดความรู้ก็เท่านั้น

ทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ของเรา มีชื่อจริงๆ ว่า “ราวณะ” หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า “ราพณ์” เป็นลูกครึ่ง ที่ว่าครึ่งก็ คือ ในทางสันสกฤต ราวณะเป็นโอรสของมุนี “วิศรวัส” (วิ-ศฺระ-วัส) บุตรของฤษี “ปุลัสตยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในฤษี ๗ ตน ที่พระพรหมสร้างขึ้นจากความคิด ที่เรียกว่า มานัสบุตร กับ “นางไกกสี” หรือ “นางไกเกสี” ธิดาจอมรากษส “สุมาลี” หรือ “มาลยวาน” หรือ “มาลี” ราวณะจึงเป็นลูกครึ่ง ข้างหนึ่งเป็นวงศ์พรหม วรรณะพราหมณ์ เป็นครึ่งเทพกับครึ่งรากษส มีพี่น้องร่วมอุทร ได้แก่ กุมภกรฺณะ “มีหูดั่งหม้อ” วิภีษณะ “มีความน่าเกรงขาม น่ากริ่งเกรงอย่างยิ่ง” (ไทยเรียกพิเภก) ทูษณะ “มีการปองร้าย การทำร้ายหมายขวัญ” ขระ “หยาบ คม ดุร้าย” (นอกจากนี้เรามีตรีเศียรด้วย) น้องสาวคนสุดท้อง ชื่อ ศูรปณขา “นางเล็บกระด้ง” (ไทยเรียกสำมนักขา)

นอกจากนี้ ราวณะ หรือ ทศกัณฐ์ ยังมีพี่ชายต่างแม่อีกคนที่สำคัญ คือ กุเพระ (ท้าวกุเวร) หรือเรียกว่า ไวศวณะ (ท้าวเวสสุวรรณ) เป็นโอรสของมุนีวิศรวัสกับนางอิฑาวิฑา ข้างกุเพระนั้นเป็นวงศ์ยักษ์ เดิมครองกรุงลงกามาอยู่ก่อน มีของสำคัญคือ บุษบก (เป็นยานรูปดอกไม้ เหาะได้) แต่โดนราวณะ น้องชายต่างแม่ แย่งไปทั้งเมือง ทั้งบุษบก ตนเองต้องหนี ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อ “อลกา” อยู่ทางเหนือแถบหิมาลัย กุเพระนั้นเป็นจอมยักษ์ และเป็นเทวดารักษาทิศ (โลกบาล) ทางทิศเหนือ

เมื่อลองมาไล่วงศ์กัน
ข้างอินเดีย
พระพรหม > ฤษีปุลัสตยะ > ฤษี หรือ มุนีวิศรวัส + นางไกกสี (ธิดารากษส สุมาลี หรือ มาลี) > ราวณะ แอนด์น้องๆ

ข้างไทย
ท้าวจตุรพักตร์ หรือธาดา (เป็นผู้ครองกรุงลงกาองค์แรก มีน้องชื่อ มาลีวรราช หรือ มาลีวัคคพรหม) + นางมลิกา > ท้าวลัสเตียน + รัชฎา > ราพณ์ (ทศกัณฐ์) แอนด์น้องๆ

จะเห็นว่าที่น่าสนใจอยู่ตรงที่
๑. จตุรพักตร์ (ปู่ของทศกัณฐ์) เป็นพรหมพงศ์ เป็นราชาครองกรุงลงกาองค์แรก ที่จริง ชื่อ จตุรพักตร์ (มีสี่หน้า) หรือ ธาดา (ส. ธาตฤ ผู้สร้าง) ต่างก็เป็นพระนามของพระพรหมทั้งสิ้น ข้างอินเดียพระพรหมเป็นต้นวงศ์จริง ถือเป็นทวดของราวณะ

๒. ข้างอินเดีย “ปุลัสตยะ” เป็นฤษีในคณะสัปตรฺษี (ฤษี ๗ ตน) เป็น “ปู่” ของราวณะ แต่ข้างไทย บอกว่าเป็นพ่อของทศกัณฐ์ เราเรียกว่า ท้าวลัสเตียน เป็นจอมอสูร จอมยักษ์ครองกรุงลงกา เป็นเจเนอเรชั่นที่ ๒ ไปแล้ว

๓. ฤษี หรือ มุนีวิศรวัส พ่อของราวณะข้างอินเดีย ข้างไทยไม่รู้จัก ลูกใครหว่า? ไทยลดหายไปเจเนอเรชั่นหนึ่ง

๔. พี่ต่างแม่ของทศกัณฐ์ ชื่อ กุเปรัน เกิดจากท้าวลัสเตียนกับนางศรีสุนันทา อันนี้เฉียดๆ กับข้างอินเดีย ชื่อ กุเปรัน ฟังดูเป็นสำเนียงทมิฬมาก สันสกฤตเรียก กุเพระ (Kubera) ไม่ใช่ลูกของปุลัสตยะ แต่เป็นลูกของวิศรวัส ลูกของปุลัสตยะอีกที ดังนั้นข้างอินเดีย ปุลัสตยะ จึงเป็นปู่ของทั้งท้าวกุเวรและทศกัณฐ์ ลังกาบดี

๕. ความพ้องแปลกๆ อีกประการคือ ชื่อ สุมาลี หรือ มาลี ที่เป็น “ตา” ของราวณะ มาข้างไทย กลายเป็นว่า เป็น ปู่น้อย คือ เป็นน้องชายของท้าวจตุรพักตร์ ปู่ของทศกัณฐ์ แถมเป็นพรหมอยู่เมืองฟ้าอีกด้วย

เรื่องรามเกียรติ์ของเรา คงเป็นวรรณคดีมุขปาฐะเล่าสืบต่อกันมาหลายข้าง เลยมีเรื่องหลายเรื่องต่างจากฉบับของวาลมีกิ หาที่มายังไม่ได้ก็มาก อาจจะมาจากอินเดียหลายสำนวน หรืออาจจะไม่ได้รับมาตรงๆ แต่รับผ่านวัฒนธรรมอื่นมาก็ได้ และมีการแต่งเติมเรื่องราวเอง ดัดแปลงให้สนุกดังใจเรา ตามรสนิยมของไทยเรา

วัฒนธรรม อะไรๆ ก็ตาม เช่น วรรณกรรม ภาษา ประเพณี ดนตรี นาฏศิลป์ เป็นต้น ย่อมปรับเปลี่ยนไปตามรสนิยมผู้เสพ ตามยุคตามสมัย รามายณะเองก็มีหลายสำนวน การแสดงก็มีหลายแบบ ทำเป็นละครโทรทัศน์ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ฯลฯ แถมตัวละครยังถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น การรณรงค์ การโฆษณาเชิงพาณิชย์ เมื่อรามายณะยังมีการผลิตซ้ำ มีพลวัตร รามายณะจึงยังเป็นเรื่องราวประทับใจของชาวอินเดียเสมอมา และจะเป็นอมตะต่อไป เพราะมีผู้เสพและรักที่จะเรียนรู้เรื่องราวอยู่ตลอด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครดิตภาพประกอบ จาก indicreative.com/wp-content/uploads/2012/01/jetta_ravan.preview.jpg เป็นภาพทศกัณฐ์ หรือ ราวณะ ยอมทิ้งหัวตัวเองลงตะกร้า ให้หัวพอดีที่จะเข้าไปนั่งขับรถยี่ห้อนี้ได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 22 ก.ย. 16, 20:45

กระทรวงวัฒนธรรมเรียกประชุมหาทางออก "ทศกัณฐ์ชวนเที่ยวไทย"

กระทรวงวัฒนธรรมเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเพื่อหาทางออกหลังมีผู้ร้องเรียนการนำสัญชักษณ์ตัวยักษ์"ทศกัณฐ์"ไปใช้ในมิวสิควิดีโอที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ขณะที่กระแสโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์หนัก ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม ถึงกรณีที่ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย อดีตศิลปินกองการสังคีตกรมศิลปากร ได้เข้าร้องเรียนต่อสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ระงับการเผยแพร่มิวสิค วิดีโอ เที่ยวไทยมีเฮ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่เชิญรณรงค์การท่องเที่ยวภายในประเทศที่เลือกใช้ตัวละครทศกัณฐ์มาดำเนินเรื่อง ว่า ทางกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเป็นการประชุมภายในกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงฯจะมุ่งเน้นการพิจารณาที่เจตนาในการจัดทำเป็นหลัก หากเป็นเจตนาดีที่ตั้งใจสืบทอดศิลปะไทยไม่ให้สูญหาย ก็คงต้องหารือถึงการปรับปรุงเนื้อหา รูปแบบ รวมถึง แนวทางการนำเสนอในมิวสิควิดีโอ ดังกล่าว

ทั้งนี้หลังจากมีข่าวการขอให้ระงับการเผยแพร่มิวสิควิดีโอนี้ออกไป ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างมาก โดยส่วนใหญ่เห็นว่า วัฒนธรรมไทยไม่ควรจะถูกแช่แข็งไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกนำมาใช้นอกรูปแบบเดิมเลย ขณะที่บางฝ่ายเห็นว่า ศิลปโขนเป็นศิลปชั้นสูง และวัฒนธรรมในเรื่องของการเคารพต่อครูอาจารย์ที่เข้มงวด ไม่ควรนำมาใช้ในเชิงสนุกสนานหรือล้อเลียนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านอาหารชื่อดัง นำประเด็นนี้มาใช้ล้อเลียนและโฆษณาเพื่อส่งเสริมการตลาด ด้วยการขึ้นข้อความว่า ลูกค้าที่เข้ามากินอาหารในร้าน สามารถแต่งกายแบบไทย เข้ามาถ่ายเซลฟี่ได้....โดยไม่ทำลายวัฒนธรรม

https://www.thaich8.com/news_detail/13509
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 22 ก.ย. 16, 20:56

อ่านที่ท่าน naris เขียนแล้วขอแจมหน่อยเรื่องเรือญี่ปุ่นที่เอามาทำเป็นการ์ตูน ผมว่าบางลำก็ออกจะ X มากไปนิด (ตามสไตล์ญี่ปุ่นเขา) ส่วนเรื่องที่ว่ารู้จักว่ามีอาวุธอะไรบ้างมันก็แค่เปลือก การทำความรู้จักเรือรบซักลำไม่ใช่เรื่องที่ใช้เวลาประเดี๋ยวประด๋าว แม้ว่าเรือญี่ปุ่นบางลำทจะมีเวลาประจำการแค่เพียงประเดี๋ยวประด๋าวก็ตามเถอะ


กับประเทศไทยคงทำไม่ได้แน่นอน ผมเคยเห็นคนทำอยู่เหมือนกันแต่ก็ไม่นิยมแพร่หลาย ประการหนึ่งคือคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือซักเท่าไหร่ ส่วนการ์ตูนหรือมังงะของเราไม่มีความเข้มแข็งเลยซักนิด หรือจะเรียกว่าตายไปเลยก็คงไม่ผิด ต่างจากญี่ปุ่นที่มังงะแข็งแกร่งมาก เขาปูเรื่องด้วยการ์ตูนสงครามอิงกับอาวุธจริงมาหลายสิบปีแล้ว  ตอนเด็กผมเคยอ่านเรื่อง ครุทโนะโฮชิ ซึ่งพระเอกเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-เคิร์ด และต้องไปรับหน้าที่คุมกำลังรบที่ตุรกีอย่างไม่ตั้งใจ ไงครับ พล๊อตเรื่องล้ำสมัยมาก กระทั่งตอนนี้ก็ยังรบกันไม่เลิกไม่รู้กี่สิบปีแล้ว  ยิงฟันยิ้ม


หรือกระทั่งโคตรการ์ตูนอย่าง Area 88 ที่คนรักเครื่องบินทุกคนต้องรู้จัก คาซามะ ชิน มิกกี้ เรียวโกะ เคน วอร์เรน เกร๊ก ซากิ ผมจำหน้าได้ทุกคนเลยนะ ที่บ้านผมมีหนังสือชุดนี้ครบทุกเล่มนะครับ ญี่ปุ่นริ่มต้นจาก 1 และใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเดินมาถึง 100 พวกเขาเดินผิดบ้างถูกบ้างกระทั่งปัจจุบันถึงรู้ว่าสมควรจะไปทางไหน


ส่วนของเรายังไม่ได้เริ่มต้นเลยด้วยซ้ำ อาจจะมีบ้างที่นับ 1 แต่พอไปถึง 20 ก็ถูกส่งกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ต้องหาหนทางของตัวเองให้เจอครับเราถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ เอาญีปุ่นเป็นตัวอย่างได้แต่ต้องไม่เดินตามเขาไม่อย่างนั้นก็จะวนไปวนมาเหมือนเดิม


ยากมากกกกกกก...... ในสถานการณ์ที่คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่ชอบเสพดราม่าจากโซเชี่ยลมีเดียทั้งหลายแหล่อย่างเมามัน โดยไม่สนใจจะหาความจริงทั้งที่มันง่ายเหลือเกิน

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 23 ก.ย. 16, 11:13

A picture is worth a thousand words.

วัฒนธรรมของ  "คนโลกเก่า"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 24 ก.ย. 16, 09:27


ภายหลังจากช่วงเช้าวันที่ 23 ก.ย. 59 ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอข่าว (วธ.สั่งปรับปรุงเนื้อหา เอ็มวีโปรโมตเที่ยวไทย ทศกัณฐ์แคะขนมครก) ผ่านอินสตาแกรมไทยรัฐ
ต่อมามีผู้อ่านจำนวนมากได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยหนึ่งในนั้นคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ใช้อินสตาแกรมส่วนตัว @Nichax
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/732420


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 24 ก.ย. 16, 09:33

           ย้อนหลังไป 2 วันก่อน   เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับกระทรวง   ที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องนัดประชุมด่วน เพื่อพิจารณาหาทางออกว่าจะทำยังไงกันแน่

          เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประชุมกับหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านโขน เกี่ยวกับ MV เที่ยวไทยมีเฮ ว่า จะไม่มีการระงับสื่อการประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่อย่างใด ทว่าหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ผลิตควรตัดฉากบางฉากที่ไม่เหมาะสมออกไป เช่น ฉากทศกัณฑ์แคะขนมครก ขี่ม้า หรือ ขับโกคาร์ท เป็นต้น

          นอกจากนี้ นายอภินันท์ กล่าวอีกว่า ยินดีที่คนรุ่นใหม่นำมรดกของชาติมาต่อยอดสร้างสรรค์ แต่ผู้ผลิตก็ควรศึกษาหรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบว่าเหมาะสมหรือไม่ หลังจากนี้จะมีการประชุมสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพื่อวางแนวทางการจัดทำคู่มือสำหรับสร้างสรรค์โขนต่อไป ไม่ต้องการให้โขนตาย แต่ต้องการให้โขนอยู่ในพื้นที่ใหม่อย่างเหมาะสม

          สุดท้าย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมไม่ใช่หน่วยงานของคนเก่าแก่ที่คอยเฝ้าระแวงวัฒนธรรมไทยเหมือนในช่วง 10 ปีที่แล้ว แต่ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไปด้วยกันด้วย

         ด้านนายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวว่า ภาพโขนที่อยู่ใน MV นั้น เป็นการแสดงกิริยาคล้ายมนุษย์ แค่สวมชุดโขนเอาไว้เท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นายบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับ MV บอกว่าสอบถามผู้เชี่ยวชาญแล้ว แต่ไม่สามารถระบุชื่อได้ว่าเป็นใคร

          อนึ่ง นายบัณฑิต ได้ออกมาประกาศแล้วว่า จะตัดเนื้อหา 40% ในส่วนที่ไม่เหมาะสม หลังหารือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม

          http://travel.kapook.com/view157338.html


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 24 ก.ย. 16, 10:01

   ในที่สุดกระทรวงวัฒนธรรมก็เอาโขนขึ้นหิ้งไว้ต่อไป
   รอยอินให้คำจำกัดความ ความหมายของวัฒนธรรม ว่า สิ่งที่ทําความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ    การแช่แข็งโขนเอาไว้ไม่ให้กระดิกกระเดี้ยจากของเดิมเมื่อ 100 ปีก่อน  นอกจากไม่ทำให้งอกงามแล้ว   ยังจะทำให้หยุดนิ่งอยู่กับที่  แล้วก็ตายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นต่อๆไป ซึ่งควรมีหน้าที่สืบทอดรักษาโขนเอาไว้เมื่อคนรุ่นตัดสินว่าโขนควรอยู่บนหิ้ง ตายกันไปหมดแล้ว    เมื่อพวกนี้ตาย โขนก็จะตายไปพร้อมพวกเขาน่ะแหละ

    ชาวเรือนไทยอาจไม่ทราบว่า โขนในประวัติการแสดงของไทยนั้นมีหลายแบบ     ไม่ใช่แบบเดียวอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้    โขนที่เห็นสวมหัวกันออกมารำอย่างที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ มีฉากมีรถ มีทัพ อลังการ สืบทอดมาจากโขนหลวงสมัยรัชกาลที่ 6  คือเมื่อ 100 ปีก่อน
  ประเภทของโขนมีหลายแบบ  ไม่ใช่แบบเดียวอย่างที่เราเห็นกัน  คือโขนกลางแปลง  โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว  โขนหน้าจอ  โขนโรงใน โขนฉาก  ขอยกตัวอย่างโขนนั่งราว   ซึ่งปัจจุบันหายไปจากการรับรู้ของคนไทยแล้ว    เป็นโขนเรื่องรามเกียรติ์เช่นกัน แต่แสดงสำหรับชาวบ้านดู   ตัวแสดงสมหัวกันทุกตัวไม่เว้นพระลักษณ์พระราม   ไม่มีตัวนาง  ตัวแสดงนั่งอยู่บนราว ไม่มีแท่น ไม่มีพลับพลาฉากตระการตาอย่างสมัยนี้   เนื่องจากนั่งอยู่บนราวกระบอกไม้ไผ่  ถึงเรียกว่าโขนนั่งราว    โขนชาวบ้านพวกนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อย่างน้อยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็มีแล้ว   ถือเป็นการแสดงอย่างหนึ่ง  โดยมากก็แสดงในงานมหรสพ หรืองานพระเมรุของเจ้านาย  ให้ชาวบ้านดู    ไม่ได้ขึ้นหิ้ง  
    ถ้าคนทำ MV เอาโขนนั่งราวมาเล่นโกคาร์ท  หรือหยอดขนมครก   ก็คงไม่มีใครมาเอะอะแบบนี้

    หลัก Survival of the fittest ของชาร์ลส์ ดาร์วิน ใช้ได้กับวิวัฒนาการของวัฒนธรรมด้วยนะคะ     อะไรก็ตามที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ไม่ได้ ก็จะสูญพันธุ์ไปเหมือนวัฒนธรรมอีกหลายๆอย่างที่หมดไปจากสังคมไทยโดยเราไม่รู้ตัวมาแล้ว

     ลองนึกถึงเพลงไทยเดิมดูบ้าง    ถ้าครูเอื้อและครูเพลงท่านอื่นๆในยุคก่อนสงครามโลก ไม่นำมาประยุกต์เป็นเพลงไทยสากล หรือเดี๋ยวนี้เรียกว่าเพลงลูกกรุง   ทำนองเพลงไทยเดิมจำนวนมากก็คงจะหายไปจากการรับรู้ของคนไทยหลังสงครามโลก  เนื่องจากในยุควัธนธัมของจอมพลป.นั้นท่านไม่สนับสนุนเพลงไทยเดิม  แต่ทำนองเพลงไทยเดิมรอดมาได้เพราะปรับเปลี่ยนทันเวลา
  
      ปู่ทศคงจะตายไปตามอายุขัยในอีกไม่นาน    น่าเสียดายว่าน้องทศที่กลับมาเกิดใหม่  ตายไปอีกคนตั้งแต่ยังไม่ทันฉลองวันเกิดปีแรกเลย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 24 ก.ย. 16, 11:17

จาก เฟซบุ๊คของ Nuntdach Makswat (พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์)

เรื่องทศกัณฐ์ นี้ ขออธิบายเพิ่มสักนิดหนึ่ง หลายสิบคนคงทราบแล้ว
แต่คงมีคนไม่รู้ที่มาที่ไปในเรื่องนี้

(1) ทีมผู้จัดทำ ไม่ไดรับจ้างใครมาทำ แม้แต่ทางการท่องเทียวฯ
โดยใช้วิธีเรื่อยไร่หาทุนกันเอง ทุกคนเข้ามาช่วยเหลือกันแบบไม่มีค่าตัว

(2) สาเหตุท่ีทำ มีแรงบันดาลใจมาจากเหตุระเบิด 7 จุดในภาคใต้ตอนบน
เมื่อเร็วๆนี้ เพราะเห็นนักท่องเทียวร้างไป ทีมจัดทำจึงเตรียมทำภาพบยต์เรื่องนี้ขึ้น

(3) ระหว่างการถ่ายทำ ถูกตำรวจ ปรับ ฐานกีดขวางการจราจร ,ถูกเทศกิจ ปรับ
ยืมของพระ ฯลฯ มีอุปสรรคมากมาย

(4) กิจกรรมต่างของ ทศกัณฐ์ ได้รับการปรึกษาจากผู้รู้พอสมควร

ทีมงานท่ีทำทศกัณฐ์ นั้น เป็นทีมงานท่ีเสียสละ นอกจากนั้น รูปแบบของทศกัณฐ์
ท่ีแสดงออก ยังอยู่ในรูปแบบของโขน สมบูรณ์100% ส่วนเรื่องท่ี ทศกัณฐ์ เข้าไปเกี่นวข้องนั้น
ก็เป็นเรื่อง เกี่นวกับของไทย ทั้งสิ้น ไม่ใช้ให้ทศกัณฐ์ ไปทำบะหมี่ แทนขนมครก /ท่ีสุดขอให้กำลังใจทีมทำงานในฐานะผู้ปิดทองหลังะรำ ครับ.

ทศกัณฐ์ นั้นมีพี่น้องหลายคน ในหลายประเทศ แต่ ทศกัณฐ์ ตัวท่ีออกมาเป็นข่าวนั้น
รับรองได้ว่า มีสัญชาติไทยแน่นอน เพราะเป็น ทศ' ท่ีหล่อท่ีสุด ระยับด้วยศิลปไทยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 24 ก.ย. 16, 11:19

   สมชาย แสวงการ Fanpage ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 9 ภาพ

   ได้ดูคลิปที่ใหม่ของทศกัณฐ์ชุดชวนเที่ยวไทยมีเฮ ที่ตัดต่อความสนุกสนานน่ารักของทศกัณฐ์ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ง่ายๆอย่างน่ารักมีเสน่ห์.เเต่ถูกร้องเรียนจนราชการสั่งตัดออกไปถึง40% เช่น ภาพทศกัณฐ์หยอดขนมครก. ทศกัณฐ์ขับโกคาร์ท ทศกัณฐ์ขี่ม้าเลียบชายหาดหัวหิน ทศกัณฐ์โดดหอด้วยสายเคเบิ้ลหรือทศกัณฐ์ขี่เจ้ทสกีฯลฯ
เสียความรู้สึกครับ
เเม้คลิปที่ตัดใหม่จะคงความสวยงามของทศกัณฐ์เเละบทท่องเที่ยวทั่วไทยไว้เเบบสวยเรียบๆก็ตามที
ผมเสียดายที่ทีมนักคิดสร้างสรรค์ดึงตัวละครเอกในรามเกียรติ์มาอยู่ใกล้คนไทยวัย4.0เเม้ยังไม่สามารถเเทนที่ดาราวัยรุ่นคนโปรดจากเกาหลีหรือโปเกมอนโกลได้หมดจด
. เเต่ก็ทำให้เด็กๆไทยที่เกือบลืมตัวเอกในรามเกียรติ์อย่าง ทศกัณฐ์. นางสีดาฯลฯ กลับมาเห็นความน่ารัก่น่าชังของทศกัณฐ์ในอริยาบทต่างๆที่เข้าถึงง่าย.

ผมจะไม่ขัดกับผู้ใหญ่บางคนที่อาจอยากเก็บรามเกียรติ์ไว้ให้เฅป็นของสูงที่จะไปพร้อมกับความทรงจำที่ค่อยๆเลือนหายไปจากสังคมไทย. โดยไม่คิดจะเเบ่งปันถ่ายทอดไปให้ลูกหลานกระมัง.
จึงสั่งการให้ตัดต่อ
คลิปสำคัญๆน่ารักๆนั้นออกไป

ซึ่งผมขอเห็นต่างอย่างยิ่งกับการตัดต่อคลิปครั้งนี้รนนรบางตอนนั้นทิ้งไป เเละขอร่วมกับผู้คนอีกหลายล้านที่จะช่วยกันเเชร์คลิปMVเดิมฉบับเต็มที่ไม่ถูกตัดต่อออกไป. ให้คนไทยเห็นให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกหลานเราได้เห็นได้เเละเข้าถึงศิลปวัฒนธรรม เเบบเข้าถึงง่าย ไม่ต้องปีนบันไดชมครับ
เเละอยากเชิญชวนทุกๆคนช่วยกันเเชร์คลิปMVดั้งเดิมเพื่อให้กำลังใจคนผลิตงานดีๆเเบบนี้ให้สู้ต่อไปครับ

ส่วนคลิปที่ถูกบังคับตัดต่อใหม่นั้น ให้เอาไว้ให้ท่านๆที่หัวอนุรักษ์โบราณคร่ำครึ ท่านเก็บไว้ดูส่วนตัวในที่ทำงานเงียบๆเถอะครับ

สมชาย เเสวงการ. สมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ
23กันยายน2559

http://m.posttoday.com/social/think/455897
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 24 ก.ย. 16, 17:17

เก่ง ธชย ประทุมวรรณ หนึ่งในผู้แสดงนำในเอมวี "เที่ยวไทยมีเฮ" ได้โพสต์คำประพันธ์เพลงฉ่อย ลงใน เฟซบุ๊ก

เมื่อฉันจะไป ไม่มีใคร เห็นหัว
พอมีรางวัลมายั่ว แล้วดีใจ
เรียกเข้าไปพบ ชื่นชม ยินดี
น้องจะให้พี่ ช่วยอะไร
ตัวผม ฝันว่า อยากทำอย่างนี้
เออพี่ว่ามันก็ดี แล้วนี่มันก็ใช่
จัดฉากเสร็จสิ้น บินกลับรัง
แล้วฝันตูก็พัง ใช่ไหม
งานใหม่ เข้ามา ไปเอาหน้าต่อ
แล้วก็หลอก ให้รอ ต่อไป
จนโปรเจคใหม่ เขาบอกว่า
ทศกัณฐ์นั้นหนา จะเที่ยวไทย
อยู่กรุงลงกา ราชธานี
เบื่อหน่ายเต็มที นารีเมรัย
อยากกินหนมครก แบบแคะเอง
จักกะยางปั่งเล่ง สบายใจ
จะเเข่งโกคราส ขี่ม้าชมทะเล
เล่นว่าวก็เฮ ฮาไป
พอเข้าตา ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี
มาบอกทำอย่างนี้ ใช้ไม่ได้
พระเกียรติยศ แผ่ไพศาล
ต้องทรง คชาชาญ สิยิ่งใหญ่
ไอ้ขะหนมครก ไม่ให้แคะเอง
บริวารจะประเคน มาเสริฟให้
จารีต แบบแผน ประเพณี
ต้องอย่างโน้น ต้องอย่างนี้ จำไว้
ขุดกันเข้ามา ทั้งรุ่นย่ารุ่นปู่
แม่ครู้ แม่ครู ผู้ใหญ่
เบื่อหน่ายเต็มทน คนล้าหลัง
โลกมัน แคบจัง รู้ไหม
ไทยจะไปยังไง เดินหน้าถอยหลัง
วัฒนธรรมจะพัง รู้ไว้
ตายไปเอาไปด้วย นะคุณปู่คุณย่า
หนูจะช่วยพา ไปเผาให้

เอชาฯ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 26 ก.ย. 16, 10:45

UNSEEN TOSAKAN ทศกัณฐ์เดินดิน

ภาพโดย สมาชิกหมายเลข 1591200 พันทิป  


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 26 ก.ย. 16, 10:57

ประเด็นที่เก่ง ธชย แต่งเพลงฉ่อยออกมานี่ อันนี้ก็เห็นว่าเกินงามไปนิดนะคะ

บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 27 ก.ย. 16, 17:03

หนูทศกลายเป็นของเล่นไปแล้ว ยังงี้กระทรวงวัฒนธรรมทำอะไรได้บ้างคะ
จดลิขสิทธิ์หัวโขนไว้รึเปล่า


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 27 ก.ย. 16, 18:02

http://education.kapook.com/view157503.html

       เมื่อคุณครูถกประเด็นทศกัณฐ์ กับเด็กชั้น ม.3 ...ช่างเป็นมุมมองที่ยอดเยี่ยมมาก !!

        เขียนดีจนต้องแชร์.. เมื่อคุณครูถกประเด็น "ทศกัณฐ์" กับเด็กนักเรียนชั้น ม.3 แลกหมัดมุมมองทั้งเด็ก ทั้งครู พร้อมดึงสติการตัดสินถูกผิดเรื่อง ทศกัณฐ์ ใน MV เที่ยวไทยมีเฮ

           กลายเป็นข่าวครึกโครมระดับชาติและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับประเด็นความเหมาะสมของการนำ "ทศกัณฐ์" ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผิดแปลกไปจากที่เคยเป็นมา ทั้งการหยอดขนมครก ถ่ายเซลฟี่ ขับโกคาร์ท ขี่ม้า ฯลฯ จนนำมาซึ่งการปรับเนื้อหาและตัดฉากที่ถูกมองว่า "ไม่เหมาะสม" ออกเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

           อย่างไรก็ดี มีผู้คนมากมายที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับคุณครูสอนวิชาสังคมท่านหนึ่งที่ได้หยิบยกดราม่า "ทศกัณฐ์" ใน MV เที่ยวไทยมีเฮ มาถกกับเด็กนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และแสดงความคิดเห็น ก่อนจะนำบทเรียนที่ได้มาบอกต่อกันในเฟซบุ๊ก Sanya Makarin เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 ซึ่งข้อเขียนของคุณครูท่านนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้

           "เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาครับ แต่รู้สึกอย่างเขียนบันทึกของตนเองและศิษย์นี้เอาไว้ ตอนเช้าวันนี้ (อาทิตย์ ๒๕ ก.ย.) เพื่อเป็นบทเรียนกับตนเอง และน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อผู้อ่านครับ  เรื่องมีอยู่ว่าผมมีโอกาสได้ นำคลิป MV เที่ยวไทยมีเฮ มาเปิดให้เด็ก ๆ ม.๓ ได้ดูในชั่วโมงที่ผมดูแล แน่นอนวิชาที่ผมดูแลนั้นเป็นวิชาสังคม คับ แต่สิ่งที่ผมชวนเด็ก ๆ เรียนรู้ก็มักกะเชื่อมโยงกับศาสตร์ โน้นนี้นั้น ตามประสาครูแบบผมอยู่เสมอ ที่ชอบหยิบและโยงให้เด็ก ๆ ได้เห็นตามประสบการณ์ ความรู้ ของตนเองบวกกับของครูที่มี

           ก่อนที่ผมจะเปิด MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เด็กดู ผมถามว่า มีใครเคยดู คลิปนี้บ้าง ? มีนักเรียนอยู่ ประมาณสี่คน ยกมือบอกว่าดูแล้ว ผมถามต่ออีกว่า แล้วมีใครได้ติดตามข่าวบ้าง ว่า MV เพลงดังกล่าวกำลังเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ จำนวนของนักเรียนที่ยกมือเริ่มมากขึ้นกว่าครั้งแรก

          ผมเลยถือโอกาสนี้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก ๆ เมื่อเปิด MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เด็ก ๆ ดู สีหน้า แววตา และเสียงหัวเราะของพวกเค้าดูท่าทางจะพอใจ และชอบ MV นี้ไม่ต่างไปจากครู (สอยอ) ผมถามว่าดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ? หลายเสียงบอกชอบ สนุก และไม่เห็นว่ามันจะเสียหายตรงไหน ในขณะที่กลุ่มไม่ออกเสียง มีสีหน้า ยังไม่แน่ใจ เลยเงียบ ๆ ไปก่อน (ตามเคย)

           หลังจากนั้นผมก็เริ่มเอาคลิปและบทความของผู้ที่เห็นด้วย และเห็นต่าง ว่า MV ดังกล่าวเหมาะสมและไม่เหมาะสมในแง่ของการนำเอาโขน วัฒนธรรมและนาฏยศิลป์ชั้นสูง มานำเสนอในแบบ MV เที่ยวไทยมีเฮ ที่เด็ก ๆ ได้ดูผ่านมาเมื่อกี้ ผมชวนคุยอีกครั้งว่าดูและอ่านแล้ว มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ?

           ดูเหมือนเสียงเริ่มจะแตกเป็นสองฝ่าย มีนักเรียนคนหนึ่งยกมือแลกเปลี่ยนว่า...

           "เอาจริง ๆ นะครู ผมไม่เห็นว่ามันจะน่าเกลียดและเสียหายตรงไหน ดูสนุกและเข้าใจง่ายดีด้วยซ้ำ โขน ก็คือคนหรือเปล่าครับ ทำโขน ให้คนดู ก็ต้องมีความเป็นคนบ้าง"

           นักเรียนอีกคนพูดว่า "ผมเริ่มเห็นปัญหาแล้วครับ ว่ามันอยู่ตรงไหน ผมว่าลูกสมุนชุดเขียวสองตัว ของทศกัณฐ์นั่นแหละ แสดงท่าทางกวนตีนและเกรียนเยอะไปหน่อย เลยเป็นตัวการให้ถูกด่ากัน"

         "ใส่หัวโขนแต่มาเป่าแคน เด้าแรง ๆ ขี่ม้า วิ่งเล่นตามชายหาด มันอาจจะดูไม่สุภาพ ในแบบที่เขาจะอยากเห็นมั้งครับครู"

           "หนูว่าดีนะคะ อย่างน้อยโขนที่เราไม่ค่อยรู้จัก เราก็ได้คุ้นเคยมากขึ้น แถมโขนมาเที่ยวขอนแก่นบ้านเราด้วย เหมือนโขนใกล้ชิดกับพวกเรามากขึ้น (มีเสียงหัวเราะต่อท้าย)"
          …การพูดคุยแลกเปลี่ยน ยังคงไหลลื่นไปเรื่อย ๆ แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคงชอบ มากกว่าไม่ชอบ เห็นด้วยว่า ไม่ควรแบน มากกว่าจะแบน MV ดังกล่าว เสียงในหัว ผมดังขึ้นว่า "เมิงจะจบบทเรียน แค่ตรงนี้จริง ๆ เหรอ สอยอ...ไม่น่าใช่นะ...."

           ผมเลยชวนเด็ก ๆ จินตนาการต่ออีกว่า ถ้าหัวโขนใน MV ที่ใส่ ไม่ใช่หัวยักษ์ทศกัณฐ์ล่ะ แต่เป็นศีรษะของพระพุทธรูป พระพุทธเจ้า หรือศีรษะของพระเยซู ที่เราเคารพนับถือ เราจะมอง หรือรู้สึกอย่างไร ?

           ...เด็กๆ นิ่ง เงียบไปชั่วครู่ ผมเดาเอาเองว่าความนิ่งนั้น คือกระบวนการของการทำงานด้านในของเด็ก ๆ รวมทั้งครูเองด้วย  คนที่เค้าทักทวง หรือคัดค้าน เค้าอาจจะมองว่าโขน คงเป็นสิ่งที่เขารัก ศรัทธา ควรบูชา และเคารพ ไม่ต่างอะไรจากพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้กันอยู่นั้นเอง เราผู้มีความรู้และเข้าใจนาฏยศิลป์ที่เรียกว่าโขนน้อยมาก ก็ไม่ควรด่วนตัดสินอะไร ถูกหรือผิดจากความรู้สึก หรือเสียงส่วนใหญ่ว่าผิดหรือถูก เพราะ ถูก ผิด มันอยู่ที่เราเอาอะไรวัดหรือเป็นเกณฑ์

           พูดมาถึงตอนนี้ ครูกำลังชวนเด็ก ๆ เรียนรู้และบอกว่า เรามีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบ เชื่อหรือไม่เชื่อ แบบไหนก็ได้ แต่ถ้ามองในหลาย ๆ มุมเราก็จะเคารพในความเห็นต่าง และเท่าทันกระบวนการทำงานของสื่อมากยิ่งขึ้น

           เหตุการณ์ในวันพฤหัส (๒๒ ก.ย. ๕๙ ) ในชั้นเรียน ของผม กับเด็ก ๆ ม.๓ จบไปแล้วครับ แต่ประเด็น การพูดคุยเรื่อง MV เที่ยวไทยมีเฮ ยังไม่จบ (แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะจบ ตามกาลเวลา) ในโลกสังคมออนไลน์ และสื่อ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ ยังคงทำงานอยู่ อาจารย์ของผมท่านหนึ่งก็เช่นกัน ท่านเขียนประเด็นนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวได้น่าสนใจครับ

           ในพื้นที่ตรงนี้อาจารย์ได้ใช้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้กับลูกศิษย์และคนที่มาอ่านด้วย ผมจับประเด็นได้ว่า ในฐานะครูผู้สร้างการเรียนรู้ ควรจะศึกษาความรู้ ความเข้าใจ เรื่องศิลปะ และวัฒนธรรมให้มาก และให้ความรู้เรื่องนี้กับนักเรียนด้วย เพราะเมื่อเรามีความรู้น้อย เราก็จะมักตัดสินอะไรจากความรู้สึก ซึ่งทำให้สังคมเราเป็นสังคมบนฐานของความรู้สึก มากกว่าสังคมของเหตุและผล บนฐานของความเป็นจริง เพราะสื่อทุกวันนี้เองก็มักจะนำเสนอประเด็นความขัดแย้ง หรือประเด็นที่ขายได้ มากกว่าจะให้ความรู้กับผู้เสพ ยิ่งได้ดู คลิปของอาจารย์พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ในเวที TEDx Bangkok ถอดความเทพพนม ที่แกพูดถึงความเชื่อ วัฒนธรรม และความจริง ได้น่าสนใจมากครับ ก็ทำให้เราเข้าใจถึงวัฒนธรรมและศิลปะได้มากยิ่งขึ้น

           นอกจากนี้ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้ต่อกับเพื่อนครูคนหนึ่งในโรงเรียน เราได้ข้อสรุปจากเรื่องนี้ว่า เราในฐานะครู ซึ่งเป็นผู้นำพานักเรียน ยิ่งถ้านักเรียนศรัทธาครูคนไหน เขาก็จะเชื่อและเห็นตามครู ถ้าครูเป็นคนมองลบ เด็กจะเชื่อแบบลบ ๆ ถ้าครูมองบวกเด็กจะเชื่อแบบบวก ๆ เราในบทบาทครู เป็นผู้ชี้ว่าสิ่งนั้น ใช่ ไม่ใช่ ชอบ ชั่ว ดี ได้จริง ๆ นะ และถ้าครูเอาทัศนคติส่วนตัวเข้าไปเยอะ ๆ ล่ะ คงเป็นอะไรที่น่ากลัวนะ ผมว่า

           เขียนซะยาวมาถึงตรงนี้ ผมว่าครูหรือผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ควรจะชี้ ชวน เชื่อ แบบไหนดี หรือจะไม่ชวนเชื่อ ไม่ชี้นำ แต่มาเป็นผู้ชวนตั้งคำถาม ชวนหาทางเลือก ชวนมองหลาย ๆ มุม ชวนค้นหาคำตอบต่อ (เพราะหลายเรื่องครูไม่ได้รู้จริง และไม่ใช่เทพเจ้าที่จะให้แสงสว่างได้) เพื่อให้อำนาจในการกล้า ตัดสินใจอย่างมั่นคง และสง่างาม ที่จะเลือกเชื่อ ไม่เชื่อ ชอบ ไม่ชอบ ที่มาจากตัวของนักเรียนหรือเด็ก ๆ เอง ที่ผ่านการใคร่ครวญอย่างคนมีปัญญา

           เรามาฝึกเป็นครู และผู้ใหญ่แบบนั้นกันครับพี่น้อง"   
       
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง