เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 23859 สกุลไทยจะตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเดือนพฤศจิกายนนี้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 07:58

ผมตระหนักดีว่า คนรุ่นใหม่จะชอบอ่านอะไรที่สั้นๆเพื่อความบันเทิงมากกว่าความรู้ อนาคตในเรื่องภูมิปัญญาของชาติ(หรือของโลก)จะเป็นอย่างไรไม่อยากเดา แต่ผมคงจะไม่ผลิตงานของผมออกมาเพื่อสนองกลุ่มผู้ใช้นี้โดยตรง ปล่อยให้คนอ่านบทความของผมไปตัดต่อย่อเรื่องเอาเองดังที่เขาก็ทำๆกันอยู่แล้ว ซึ่งผมมิได้รังเกียจเลยแม้ว่าเขาจะไม่เอ่ยชื่อผมสักคำก็ตาม

แต่ผมสนใจ e-book มาก มันจะนำบางคนที่อ่านแบบสั้นข้างบนแล้วติดใจมาค้นหาอ่านต่อแบบจะให้จุใจ ทว่าผมยังมีข้อมูลไม่พอที่จะเลือกเอางานของผมไปฝากไว้กับใคร จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อรายได้เข้ากระเป๋านะครับ อยากให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ผมเพียรพยายามค้นคว้ามาเขียน ได้ถูกเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวางที่สุดไม่ว่าจะโดยสื่อใด แต่การที่จะประกาศแจกฟรีๆนั้น อาจทำให้มันดูไร้ค่า จนไม่มีใครอยากหยิบก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 08:50

  ที่คิดๆอยู่ตอนนี้คือจะเขียนนิยายออนไลน์ค่ะ   แต่เป็นเว็บปิด ต้องสมัครสมาชิก   
  แล้วลงวันละตอนสั้นๆ เหมือนกระทู้  ไม่ใช่ยาวๆหลายหน้าอย่างที่ลงในนิตยสาร  เพื่อคนอ่านจะได้อ่านในมือถือ   เวลาอยู่ในรถไฟฟ้า หรือในรถตู้ไปทำงาน  หรือตอนพักเที่ยง
  หมดเวลาก็หมดตอนพอดี
  พรุ่งนี้มาอ่านตอนใหม่ ต่อจากเมื่อวาน
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 09:11

ผมทำงานแผนกไอทีนะ แต่อ่าน PDF File ใน tablet แล้วปวดหัวครับ อาจเป็นเพราะมันเป็นคู่มือทำงานก็ได้มั้ง ทำให้นิยายต่าง ๆ เลยอ่านบนโน๊ตบุ๊คสถานเดียว จะเป็นการจำกัดว่าต้องอ่านที่บ้านนะ หรือที่ทำงานตอนพักเที่ยงนะ เพราะมันใหญ่พกพาไม่สะดวก จัดว่าดีในเรื่องแบ่งเวลา ไม่อย่างนั้นก็จะอ่านหนังสือมันทั้งวัน


อันที่จริงสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบ E-BOOK ก็จะมีสินค้าไว้สำหรับอ่านโดยเฉพาะ อย่าง Amazon ก็มี Amazon Kindle ซึ่งมันปรับแสงให้เราอัตโนมัติ สามารถคั่นย่อหน้าให้เพื่อกลับมาดูได้อีกครั้ง และแม้จะไม่ใช่ tablet แต่ก็สามารถเข้าเน็ตเพื่อโหลดหนังสือ และอัพเดทอะไรต่อมิอะไรบนเครื่องได้ มีให้เลือกหลายยี่ห้อหลายรุ่น จอสี ขาว-ดำ ทำอะไรได้บ้างก็มีให้เลือกเยอะ หรือจะดูหนังบนเครื่องเดี๋ยวนี้ก็สามารถทำได้ แต่จุดเด่นที่สุดของบรรดา kindle ทั้งหลายคือเหมาะสมกับการอ่านมากกว่า tablet ชนิดมากมายก่ายกอง





บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 09:28

นิยายออนไลน์ตอนนี้ผมก็เขียนอยู่นะครับ มีทั้งเรื่องยาวและเรื่องจบในตอนที่ไม่ค่อยอยากจะจบในตอนนัก

ปัญหาคือ

 1 สั้นเกินไปมันดำเนินเรื่องไม่ได้ คนอ่านก็จะบ่นว่ามันสั้นไปหน่อยนะ คุยกันแพร๊บ ๆ จบตอนแล้วหรือ อะไรเนี่ย

 2 เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเขียนอาทิตย์ละ 2 ตอนนะ ลงวันนี้นะ ผมกำหนดไว้นั่นแหละแต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันมีปัญหาวุ่นวายเยอะมาก ไหนจะคิดเรื่องไม่ได้เอย มีงานด่วนงานสำคัญแทรกเข้ามาเอย ที่สำคัญเวลาไม่มีอารมณ์จะเขียนมันก็เขียนไม่ออก ถ้าเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับบทความ ข้อเท็จจริง ยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นนิยายที่ต้องใช้จินตนาการนี่ประสบปัญหาพอสมควร

 3 ยาวเกินไปคนก็ไม่อยากจะอ่านกันนัก บางครั้งผมซอยเนื้อเรื่องออกเป็น 3 ตอน ต้นฉบับก็ยังตอนล่ะ 15 หน้ากระดาษ A4 อยู่เลย

4 คนอ่านมักเข้ามาอ่านช่วงเย็นวันธรรมดาไปจนถึงกลางดึก ส่วนวันหยุดก็มาเรื่อย ๆ มากบ้างน้อยบ้างว่ากันไป ผมจึงพอสรุปได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา นักเรียน มากกว่าคนทำงาน เพราะฉะนั้นการกำหนดขนาดตอนในแต่ละตอนจึงค่อนข้างสำคัญ  ผมจะพยายามให้อยู่ที่ประมาณ 8-10 หน้ากระดาษ A4 ต่อตอน แน่นอน ผมว่าเรื่องจบในตอนเกินแหง ๆ ฮ่า ๆๆๆๆ

5 คนทำงานส่วนใหญ่ไม่อ่านนิยายจากมือถือ คนทำงานที่อ่านนิยายจะใช้คอมพิวเตอร์จากที่ทำงานหรือที่บ้าน เพราะมันอ่านง่ายกว่าสะดวกกว่าและชัดเจนกว่า วัยรุ่นต่างหากล่ะครับที่จะอ่านนิยายจากมือถือ เป็นเรื่องที่ต้องจับประเด็นด้วยว่าเราอยากไปทางไหนกันแน่


ผมเขียนเอาสนุกและอยากมีประสบการณ์ใหม่ ๆ น่ะครับ รวมทั้งอยากเผยแพร่นิยายน้ำเน่าสมัยฝึกเขียนของตัวเองไปด้วย ข้อดีคือทำให้เรารู้ว่าสนามจริงมันเป็นอย่างไร ช่วยพัฒนาวิธีการเขียนของเราให้เป็นไปตามมาตราฐานด้วย


แต่ผมไม่อ่านนิยายคนอื่นเลยนะ นอกจากเรื่องที่มันสนุกโดนใจและใช้วิธีเขียนที่เราชอบจริง ๆ ไม่อย่างนั้นความคิดเรามันจะวิ่งไปตามคนอื่นมากไป ค่อนข้างพอใจกับผลงานตัวเองพอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้จริงจังอะไรเพราะช่วงนี้ยุ่งเหลือเกิน


ในอนาคตหวังไว้ว่าจะเขียนนิยายเรื่องยาวเรื่องใหม่เอี่ยมให้สำเร็จลุล่วง ด้วยประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาหลายปีนั่นแหละครับ และด้วยแนวคิดมุมมองของเราเองโดยไม่ไปเอาแนวการเขียนของใคร ส่วนจะไปได้ถึงไหนอย่างไร  ออกมาเป็นเล่มขายจริงหรือไม่ผมไม่ซีเรียส ขึ้นอยู่กับฝีมือ จังหวะ และวาสนากระมังครับ  ยิงฟันยิ้ม


ในอดีตเคยทำสัญญากับสำนักพิมพ์เหมือนกันนะ แต่เขาปิดตัวไปก่อนเลยไม่ได้พิมพ์เลย ฮ่า ฮ่า ฮ่า






บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 10:42

ผมซื้ออุปกรณ์ tablet เครื่องแรกก่อนจะมี smartphone ซะอีก เครื่องที่ผมซื้อคือ Amazon Kindle Fire HD ที่ถือว่าเป็น tablet ไม่ใช่ e-reader แบบเครื่องอ่าน e-book รุ่นก่อนหน้าของ Amazon ที่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักเพราะเป็นเครื่องอ่านหนังสืออย่างเดียว ไม่ใช่เป็นอุกรณ์สารพัดประโยชน์แบบ tablet


Amazon kindle ของผมใช้งานอ่าน e-book ไม่มีปัญหาเลย ผมซื้อ e-book มาอ่านจำนวนมาก แต่มันใช้อ่านพวก pdf ไม่ค่อยดีแบบที่คุณ superboy บอกเพราะจอมันเล็กไป แค่ 7" ทำให้ตอนหลังต้องขยับมาซื้อ tablet 10" แทน คราวนี้ชีวิตการอ่าน pdf ดีขึ้นมาก ยกเว้นเอกสารหรือหนังสือที่ scan มาจากหนังสือเล่มใหญ่มากๆ ที่ทำให้ตัวหนังสือยังคงเล็ก แต่อ่าน pdf ที่ scan มาจากพวกตำรา textbook นี่ไม่มีปัญหาเลย


ตอนนี้ tablet ยังไม่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ชาวบ้านพกพากันเหมือน smartphone แต่ยุคสมัยของมันคงจะมาอีกไม่นานครับ อาจจะ 5 ปี 10 แต่คงไม่เกิน 10 ปีนี้ เพราะความสะดวกของระบบ internet จะทำให้มันชนะห้องสมุด โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ตอนนี้ internet ไปเกือบทั่วประเทศแล้ว ชาวบ้านร้านตลาดห่างไกลดู youtube กันเป็นเกือบหมด พวกนี้ปริมาณข้อมูลเยอะกว่าหนังสือ 1 เล่มหลายเท่า   อีกทั้งต้นทุนซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดในระยะยาวจะแพงกว่าซื้อ e-book มาก โดยเฉพาะห้องสมุดที่มีพื้นที่จำกัด เก็บหนังสือจำนวนมากไม่ได้ ต่อไปคงมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับระบบห้องสมุดมากขึ้นเล่นสิทธิการอ่านแบบเป็นกลุ่ม แทนที่จะเป็นคนเดียวซื้อขาด รวมถึง e-book ฟรีที่มาจากหนังสือที่หมดลิขสิทธิ์แล้วอีกจำนวนมาก  ยิ่งยุคนี้เป็น cloud แล้วอีก อะไรที่มันอยู่บน internet แล้ว มันมักจะคงอยู่ตลอดไปครับ ยั่งยืนกว่ากระดาษมาก เพียงแต่จะอยู่ถูกที่ถูกทางถูกกฏหมายรึเปล่าเป็นอีกเรื่องนึง ดังนั้นต่อให้อุปกรณ์เสีย แต่สิทธิในหนังสือที่เคยซื้อยังอยู่ เปลี่ยนอุปกรณ์ก็ยังอ่านหนังสือเดิมได้ มันจะไม่หายไปตามอุปกรณ์ที่พังครับ  tablet 10" ผมซื้อมา 6800 บาท แม้จะแพงแต่ราคาถูกกว่า smartphone หลายๆ รุ่นเลย หรือถ้า tablet ไม่มา ก็จะเป็น e-book เองที่จะปรับตัวให้เข้ากับหน้าจอที่เล็กหน่อยของ smartphone ครับ หรือไม่ tablet หรือ smartphone ต่อไปอาจจะเป็นจอพับได้แถมไร้รอยต่อ ทำให้ย่อขยายได้ตามความเหมาะสมกับการใช้งาน


คนยุคใหม่จะคุ้นเคยกับการอ่านแบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หนังสือกระดาษค่อยๆ หมดความสำคัญไปเรื่อยๆ เช่นกัน ต่อไปจะมีลักษณะของของสะสมมากกว่าการเป็นสื่อนำสารแล้ว   แต่ e-book หรือนิตยสาร online ก็ต้องสู้รบกับคนยุคใหม่สมาธิสั้นที่อดทนอ่านอะไรยาวๆ ไม่ค่อยได้กัน ชอบอะไรไวๆ มากหน่อย  นี่ก็เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายให้ต้องผลิตแต่เนื้อหาที่ดึงดูดมากขึ้นถึงจะสู้ได้
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 10:51

 tablet 10" ที่ซื้อมา 6800 บาท ของยี่ห้อไหนหรือครับ เห็นมีราคาเป็นหมื่นทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 12:02

กรณียุตินิตยสารสกุลไทย กรณีศึกษาการอ่านของสังคมไทย

มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) บรรยายในห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา
ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๖ กันยายน ๒๕๕๙

 
          ครูถือว่าข่าวการประกาศปิดตัวของนิตยสารสกุลไทยเป็นข่าวสำคัญ ครูจึงนำมาเป็นหัวข้อการเรียนในวันนี้ซึ่งตรงกับวิชาบรรณาธิการศึกษาที่เรากำลังเรียนกันอยู่
 
          “เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเย่นต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆลดบทบาทลงในยุคของสื่อดิจิตอลเช่นทุกวันนี้  ด้วยเหตุนี้ สกุลไทยจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องแจ้งต่อท่านผู้อ่านว่า คณะผู้บริหารนิตยสารสกุลไทยได้มีมติให้ยุติการจัดทำนิตยสารสกุลไทย โดยฉบับที่ ๓๒๓๗ ซึ่งจะวางจำหน่ายวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ จะเป็นฉบับสุดท้าย...”
 
          หนังสือที่จะอยู่ได้ นิตยสารที่จะอยู่ได้ จะต้องเศรษฐกิจดี ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ไม่ได้หรอก ส่วนเศรษฐกิจดีของนิตยสารมาจากว่า มีคนซื้อ มีผู้อ่าน ก็คือรายได้จากการขายนิตยสารนั้น และ รายได้จากโฆษณา

          ในกรณีของสกุลไทย แสดงว่ารายได้จากการขายนิตยสารและรายได้จากโฆษณาลดลง

          รายได้หลักของนิตยสารทั่วโลก ไม่ได้อยู่ที่การขายนิตยสาร แต่อยู่ที่รายได้จากโฆษณา  ถ้าสังเกตย้อนกลับไปประมาณ ๕ ปีที่แล้ว สกุลไทยมีจำนวนหน้ามากกว่านี้ เพราะว่ามีหน้าโฆษณาหลายหน้า

          ถามว่าคนอ่านสกุลไทยน้อยลงมั้ย มีคนให้ความเห็นว่าผู้อ่านสกุลไทยไม่ได้น้อยลง แต่ซื้อน้อยลงเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น ย่อมมีคนอีกจำนวนมากไปอ่านสกุลไทยจากห้องสมุด หรือในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ซื้อเพียงฉบับเดียวแล้วหมุนเวียนกันอ่าน เพราะฉะนั้น คนอ่านสกุลไทยจึงมิได้ลดน้อยลง

          แล้วทำอย่างไรละ ที่จะให้นิตยสารนี้อยู่ได้?

          ถ้าเราพิจารณาสกุลไทยทั้งฉบับ ประมาณครึ่งฉบับเป็นสาระ อีกครึ่งฉบับเป็นบันเทิงคดีนวนิยายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดให้คนอ่าน

          ครูคิดว่าคนอ่านนิตยสารสกุลไทย ประมาณ ๘๐% อ่านเพราะนวนิยาย

          นอกจากนั้น สกุลไทยยังมีคอลัมน์ที่น่าสนใจอยู่มาก มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอยู่มาก และเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม

          เราเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เราจึงวัดการอ่านจากหนังสือที่เรียกว่า Book ไม่ได้ เพราะยังไกลเกินไปที่จะให้คนอ่านหนังสือเล่มหนา ๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าประเทศไหนก็ตามที่อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เช่น ประเทศอินเดียเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ก็เริ่มต้นให้ประชาชนรู้จักการอ่านด้วยนิตยสารเล่มบาง ๆ ที่มีเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งนิทานบันเทิงคดีด้วย  เมื่อเขาเริ่มการอ่าน ใฝ่หาการอ่าน หลังจากนั้นเขาจึงไปอ่านหนังสือที่หนาขึ้น ๆ

          นี่คือตัวอย่างการจัดการเรื่องการอ่านของนักจัดการเรื่องการอ่านของภาครัฐในประเทศอินเดีย  ขณะที่เราจัดการเรื่องการอ่านแบบจัดงานอีเว้นท์ ตบแต่งซุ้มในงานอย่างสวยงาม เพื่อให้คนแห่กันไปดู แล้วหลังจากนั้นเงินจำนวน ๑๐-๒๐-๓๐ ล้านบาท ก็สูญสลายไป วิธีการอย่างนี้ไม่เป็นผล

          แต่วิธีที่จะเป็นผลที่สุด ก็คือ สื่อซึ่งอยู่ในใจของคนมาเป็นเวลา ๖๑ ปีแล้ว  ถ้านักจัดการหนังสือที่ฉลาด เขาจะใช้สื่อนี้แหละ เพราะอะไร เพราะว่าสกุลไทยลงทุนให้รัฐบาลมาตั้ง ๖๑ ปีแล้ว ทำไมรัฐบาลไม่ถามสกุลไทยสักคำว่า คุณขาดทุนเดือนละเท่าไหร่  ถ้าครูเป็นรัฐบาล แค่หยิบเอาค่าโฆษณาของกระทรวงวัฒนธรรมมาสักจำนวนหนึ่ง ค่าโฆษณาของกระทรวงศึกษาธิการอีกสักจำนวนหนึ่ง ค่าโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขอีกสักจำนวนหนึ่ง และค่าโฆษณาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ ในที่สุดเมื่อรวมทั้งหมดก็พอที่จะให้สกุลไทยไม่ขาดทุนและอยู่ต่อไปได้ โครงสร้างการอ่านก็ไม่สูญสลายไป นี่เป็นวิธีคิดที่ง่ายที่สุด

          แต่บังเอิญรัฐบาลไม่มีคนที่จะมาคิดและรับผิดชอบเรื่องหนังสือและการอ่านของประเทศ จึงปล่อยให้นิตยสารดีๆต้องล้มหายจากไป

           เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว ร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่าจะต้องปิดกิจการ เนื่องจากดำเนินการต่อไปไม่ได้ ประสบกับภาวะขาดทุน  วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสไปที่ร้านหนังสือแห่งนั้น เพื่อที่จะบอกว่าหยุดไม่ได้นะ แล้วผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านหนังสือของคุณอยู่ได้ จะด้วยวิธีไหนก็ตาม

            สำหรับนักจัดการเรื่องหนังสือและการอ่าน  นิตยสารที่มีคนอ่านมากกว่า ๑ หมื่นคนขึ้นไป ถือว่าเป็นเครื่องมือสาธารณะ เพราะเราจะใส่สาระอะไรลงไปก็ได้ เพื่อที่จะดึงคนอ่านอย่างพื้นฐานที่สุด จนกระทั่งอ่านสูงขึ้น

            ถามว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอกหรือนักวิชาการระดับสูงถึงระดับศาสตราจารย์เป็นจำนวนมากแค่ไหนหรือไม่ที่อ่านนิตยสารสกุลไทย  มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จกี่คนที่เริ่มการอ่านจากนิตยสารเล่มนี้ หรือใช้นิตยสารเล่มนี้เป็นองค์ประกอบในชีวิตด้วย

           เมื่อ รัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่จะมาจัดการดูแลเครื่องมือสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการอ่าน

            แต่นิตยสารสกุลไทยคือเครื่องมือสาธารณะชิ้นหนึ่งที่มีอยู่เป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครบอกว่านี่คือเครื่องมือของรัฐบาล

            ถ้าเปิดดูเนื้อหาข้างใน นิตยสารสกุลไทยทำในบางคอลัมน์ได้ดีกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในบางคอลัมน์ทำได้ดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการ แต่บังเอิญกระทรวงเหล่านี้ไม่รู้จักใช้เครื่องมือ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าเราหมดเครื่องมือนี้ไป

            หากว่าเรามีเครื่องมือวัดจำนวนคนอ่านหนังสือ หมายความว่าวัดปริมาณคนอ่านและวัดปริมาณสิ่งที่อ่าน ท้ายที่สุด ทันที่สกุลไทยเลิก ปริมาณการอ่านของคนชนบทก็จะลดลง

            เพราะอะไร เพราะให้สังเกตว่านิตยสารสกุลไทยจะมีอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดประจำอำเภอก็มี

            หรือแม้แต่การที่ทำให้นิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาสาระครึ่งหนึ่งของจำนวนหน้าทั้งหมด ไปตกอยู่ที่ห้องสมุดกลายๆของประเทศทั้งประเทศ นั่นคือความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งที่สุด

            ห้องสมุดกลาย ๆ ของทั้งประเทศคืออะไร ร้านทำผม เห็นผลกำไรที่เกิดขึ้นไหม ระหว่างที่รอทำผมหยิบนิตยสารขึ้นมาอ่าน อาจจะอ่านได้เพียง ๘ หน้า ถ้าคนไทยที่เข้าร้านทำผม แล้วได้สาระจาก ๘ หน้านี้ ประเทศนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าเผื่อมันสูญไป ๘ หน้าละ จะเกิดอะไรขึ้น

            นี่คือสิ่งที่ผู้ที่ได้เรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาต้องขบคิด หรือจะคิดเพียงแต่ว่าเจ๊งก็เจ๊งไป ไม่เป็นไร

            อย่าเชื่อว่าขณะนี้สิ่งที่ล้มหายตายจากไป สืบเนื่องมาจากสื่อดิจิตอล แม้แต่ประเทศฝรั่งเศสเขาก็ไม่เชื่อว่าดิจิตอลจะอยู่ยั้งยืนยง

            ดังนั้น หนังสือกระดาษในประเทศฝรั่งเศสจึงคงต้องมีอยู่ รัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามเข้ามาสนับสนุนอย่างยิ่งโดยการออกกฎหมายคุ้มครองเพื่อให้ร้านหนังสือเล็ก ๆ ได้คงอยู่ สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ได้คงอยู่ และนักเขียนนักแปลเล็ก ๆ ได้คงอยู่

            บังเอิญครูไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถ้าครูมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล วันนี้ครูจะไปหาเจ้าของนิตยสารสกุลไทย เพื่อที่จะถามว่าอยากได้สตางค์สักเท่าไหร่ เพื่อให้นิตยสารฉบับนี้อยู่ต่อไป ดีกว่าที่เราจะมาเริ่มต้นกับนิตยสารฉบับใหม่ ซึ่งจะมีคนอ่านสักกี่คนก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยสกุลไทยก็มีคนอ่านอยู่แล้วจำนวนนับแสนคน

            การที่ทำให้คนสิบคนอ่านหนังสือ เป็นเรื่องยากมาก แต่สกุลไทยมีผู้อ่านอยู่แล้วทั่วประเทศเป็นแสนคน ทำไมรัฐบาลจึงไม่เข้ามาทำอะไร ไม่ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

            อย่าลืมว่านิตยสารสกุลไทยมีการทำงานเหมือนนิตยสารชั้นดีอื่นๆทั่วโลก คือมีระบบบรรณาธิการที่ดี มีการเลือกเรื่องที่ดี ที่เห็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน มีวาระพิเศษต่าง ๆ ในการจัดทำฉบับนั้น ๆ หรือถ้ามีการสัมภาษณ์เด็กที่เก่งมาลงในสกุลไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร นั่นคือโฆษณากระทรวงศึกษาธิการที่ดีที่สุด โดยที่กระทรวงศึกษาฯไม่ต้องลงทุนเป็นเงินเป็นทองเลย แต่ว่าผลที่ได้มากมายมหาศาล เพราะคนที่อ่านสัมภาษณ์ จะรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาฯนี่เก่ง ทำให้เด็กเก่งและดีได้

             ดังนั้น นิตยสารที่ติดตลาดแล้วของชาติใดก็ตาม รัฐบาลควรจะดูแลให้คงอยู่ต่อไป เพราะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ชนิดที่พูดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารประเทศด้วยซ้ำ

http://www.posttoday.com/social/think/455223
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 12:23

อ้างถึง
แต่วิธีที่จะเป็นผลที่สุด ก็คือ สื่อซึ่งอยู่ในใจของคนมาเป็นเวลา ๖๑ ปีแล้ว  ถ้านักจัดการหนังสือที่ฉลาด เขาจะใช้สื่อนี้แหละ เพราะอะไร เพราะว่าสกุลไทยลงทุนให้รัฐบาลมาตั้ง ๖๑ ปีแล้ว ทำไมรัฐบาลไม่ถามสกุลไทยสักคำว่า คุณขาดทุนเดือนละเท่าไหร่  ถ้าครูเป็นรัฐบาล แค่หยิบเอาค่าโฆษณาของกระทรวงวัฒนธรรมมาสักจำนวนหนึ่ง ค่าโฆษณาของกระทรวงศึกษาธิการอีกสักจำนวนหนึ่ง ค่าโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขอีกสักจำนวนหนึ่ง และค่าโฆษณาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ ในที่สุดเมื่อรวมทั้งหมดก็พอที่จะให้สกุลไทยไม่ขาดทุนและอยู่ต่อไปได้ โครงสร้างการอ่านก็ไม่สูญสลายไป นี่เป็นวิธีคิดที่ง่ายที่สุด

บรรทัดทองทั้งย่อหน้า
อยากทราบจริงๆเหมือนกันว่า จะต้องมีงบสนับสนุนเดือนละ ปีละ เท่าไหร่นะ สกุลไทยจึงจะอยู่ได้โดยมารตฐานคุณภาพไม่ตก
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 16:14

tablet 10" ที่ซื้อมา 6800 บาท ของยี่ห้อไหนหรือครับ เห็นมีราคาเป็นหมื่นทั้งนั้น

lenovo tab2 A10-30 ครับ ซื้อจากงานคอมที่ศูนย์ประชุมฯเมื่อปลายเดือนมิถุนาที่ผ่านมานี่เอง จอใหญ่แต่อย่างอื่นเล็กหมด ค่อนข้างช้าแต่เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มครับ ตอนนี้อ่าน e-book หรือ pdf สบายเลย แบตก็อึดมากๆ ของพวกนี้ราคาเป็นหมื่นไม่ได้แอ้มผมหละ เงินเดือนน้อยครับ ร้องไห้  ร้องไห้  ร้องไห้


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 20 ก.ย. 16, 16:36

จะลองไปหาดูบ้าง ขอบคุณนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 21 ก.ย. 16, 09:14

ผู้จัดการออนไลน์ ลงบทความยาวจุใจทีเดียว เรื่องสกุลไทยอำลาวงการ

 เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการ "ฟื้นคืนชีพ" หนังสือสกุลไทยในรูปแบบ "สื่อดิจิตอล" แหล่งข่าวท่านนี้บอกว่า น่าจะพอทำได้
       
       "ถ้ามองในแง่ของฉบับออนไลน์จริงๆ แล้ว โดยศักยภาพของสกุลไทยเอง เราก็น่าจะพอทำได้นะ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มีคนพูดถึงกันเยอะก็คือ แฟนเก่าที่เหนียวแน่นของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ยังคงติดรูปแบบที่เป็นกระดาษกันอยู่ แม้จะบางส่วนจะไม่มีปัญหาที่จะอ่านในออนไลน์ ซึ่งก็คงต้องดูกันอีกที ปัจจุบันเราก็มีการทดลองด้วยการเอาเรื่องที่ลงในสกุลไทยมาลงให้อ่านฟรีในออนไลน์ เช่น ศิลปวัฒนธรรม คอลัมน์บ้านเก่า เพื่อทดลองดูว่าผู้อ่านจะรับไหม จนถึงตอนนี้ก็ยังจะทำอยู่จนกว่านิตยสารจะปิดตัวลง"

อ่านทั้งหมดได้ที่
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000094943
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 21 ก.ย. 16, 09:33

จากใจ 'กฤษณา อโศกสิน' : หมดสิ้น 'สกุลไทย'

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาหลายสิบทศวรรษนั้น ดิฉันเคยได้ยินคำว่า "สายฟ้าฟาด" หรือมิฉะนั้นก็ "ปลดฟ้าผ่า" ผ่านหูผ่านตาไปมาอยู่เนือง ๆ แต่ถ้าถึงกับฟาดลงมาตรง ๆ บนร่างกายหรือหัวใจของตัวเองนั้น คงจะต้องนับนิ้วกันสักนิด... หนึ่ง...สอง...สาม...สี่... ที่อาจสาหัสขนาดน้ำตานองหน้า

จากนั้นก็หลงลืมไปด้วยกาลเวลา แต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น เป็นปีที่ไม่เคยหายไปจากความระลึกถึง เนื่องด้วยคือปีที่ดิฉันแลเห็นตนเองเดินตามคุณประกาศ วัชราภรณ์เพื่อนนักเขียนอาวุโสขึ้นบันไดชัน ค่อนข้างมืดของตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง ไปสู่ชั้นสองอันเป็นกองบรรณาธิการบริษัทอักษรโสภณ ผู้ผลิต นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

ได้พบผู้จัดการ คุณเกษม ส่งเสริมสวัสดิ์ แต่ยังไม่พบผู้อำนวยการ คุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ ผู้พี่ชายครั้นแล้ว คุณประกาศก็ออกปากฝากดิฉันเข้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ด้วยค่าเรื่องครั้งแรกตอนละ ๒๕๐ บาท มีผลงานที่ได้รับการเผยแพร่มาแล้ว ๑๓ เรื่องจาก 'ศรีสัปดาห์' และ 'สตรีสาร' เป็นประกัน โดย 'สตรีสาร' กำลังตีพิมพ์ 'น้ำผึ้งขม' ในปีนั้น

ดิฉันได้รับการต้อนรับจากสกุลไทยอย่างดียิ่งจนต้องขอบคุณเรื่อยมากระทั่งทุกวันนี้

ต่อจากนั้น จึงได้ส่งนวนิยายเรื่องแรก 'ชลธีพิศวาส' เป็นประเดิมทันทีโดยสกุลไทยลงตีพิมพ์ให้อย่างเร็วจนดิฉันเองก็แปลกใจ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นามปากกา "กฤษณา อโศกสิน" "กัญญ์ชลา" "สไบเมือง" ที่ต่อมา ดิฉันเกิดอารมณ์ประทับใจ อยากเขียนนวนิยายแนวธรรมะ ก็ได้ลงตีพิมพ์ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานโดยไม่เคยขาดหายไปแม้เพียงหนึ่งสัปดาห์ มีผู้อ่านเป็นกำลังใจ ติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอตลอดมา

จาก พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ คือปีนี้ ชีวิตการเขียนหนังสือของดิฉันอันมีเวทีใหญ่คือสกุลไทยรายสัปดาห์รองรับ นับได้ทั้งสิ้น ๕๔ ปี

เป็นห้าสิบสี่ปีที่อาจกล่าวได้เต็มปากว่า อยู่ เย็น เป็น สุข ร่วมกับญาติสนิทมิตรสหายอันได้แก่คุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและคุณสันติ-วราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ ทายาทผู้สืบทอดกิจการ พร้อมพรักด้วยเพื่อนนักเขียนทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นน้อง ลงมาจนถึงรุ่นหลาน

มีผู้อ่านเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ขับเคลื่อน

บรรณาธิการบริหารผู้ล่วงลับ คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์และคุณนรีภพ สวัสดิรักษ์ จิระโพธิรัตน์ ผู้รับช่วงต่อตำแหน่งนี้ย่อมทราบดี

ครั้นแล้ว ทุกชีวิตก็เดินทางมาถึงวันสุดท้าย

วันที่สายฟ้าได้ฟาดลงบนเส้นทางของนิตยสารอายุ ๖๒ ปี จนถึงแก่ต้องปิดตำนาน อันเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกหน้าหนึ่งของโลกนิตยสารไทยลงในฉบับสุดท้าย ๓๒๓๗ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ขอได้รับความรักความอาลัยอย่างท่วมท้น จากนักเขียนคนหนึ่งของนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์

กฤษณา อโศกสิน

http://www.nationtv.tv/main/content/social/378517165/


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 21 ก.ย. 16, 14:29

จากใจ 'ซูม' เหะหะพาที : สกุลไทยรายสัปดาห์ อีก ๑ เพื่อนเก่าที่จากไป

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่เป็นข่าวใหญ่พาดหัวยักษ์ของคนรักหนังสือ และ ชอบอ่านหนังสือหนังหาหลายล้านคนทั่วประเทศไทย

นั่นก็คือข่าวการแถลงปิดตัวเองของนิตยสาร “สกุลไทยรายสัปดาห์" ที่ยืนหยัดเคียงคู่สังคมไทยมาถึง ๖๑ ปี

นับเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ระดับที่เรียกกันว่ายักษ์ใหญ่ฉบับที่ ๒ ที่ตัดสินใจปิดตัวเองอำลาแผงในปี ๒๕๕๙ นี้ หลังจากที่นิตยสาร บางกอกรายสัปดาห์ ประกาศปิดตัวไปก่อนเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่านิตยสารบางกอกจะปิดตัวเองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๗ โน่นแล้ว ผมยังหยิบมาเขียนอำลาอาลัยผ่านคอลัมน์นี้ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗ แต่ปรากฏว่าคณะผู้บริหารเปลี่ยนใจ หันมากัดฟันต่อสู้จนในที่สุด บางกอกรายสัปดาห์ก็อยู่มาได้อีก ๒ ปีเศษดังกล่าว

สำหรับนิตยสารสกุลไทยนั้น แทบไม่มีข่าวคราวหรือเบาะแสใด ๆ เลยว่าจะเจอสถานการณ์หนักหน่วงจนถึงขั้นจะปิดตัวเอง

จู่ ๆ ก็มีจดหมายเปิดผนึกอำลาแผงออกมาทันที ทำให้แฟน ๆ และสมาชิกตลอดจนผู้ที่รู้จักคุ้นเคยแม้จะมิใช่สมาชิก รู้สึกช็อกไปตาม ๆ กัน

คงต้องกราบเรียนท่านผู้อ่านว่าความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นกับผมเมื่อทราบข่าวการจากไปของสกุลไทย ก็เป็นเช่นเดียวกับที่ผมเขียนไว้อาลัย "บางกอกรายสัปดาห์" (ล่วงหน้า ๒ ปี) นั่นแหละครับ

คือรู้สึกใจหาย อาลัยอาวรณ์ แม้จะตระหนักดีถึงการเกิดขึ้นและการดับไปอันเป็นสัจธรรมของโลกดังที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ แต่ผมก็อดเสียดายมิได้ที่เพื่อนเก่าและครูเก่าของผมคนหนึ่งกำลังจะจากไป

ผมถือว่า บางกอกรายสัปดาห์เป็น "เพื่อนเก่า" เพราะติดตามอ่านมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม และถือเป็น "ครูเก่า" ด้วย ก็เพราะนักเขียนหลาย ๆ ท่านเปรียบเสมื่อนครูบาอาจารย์ที่ผมอ่านแล้วก็จดจำสำบัดสำนวนมาใช้เขียนหนังสือในภายหลัง

แต่สำหรับ สกุลไทยรายสัปดาห์นั้น นอกจากจะเป็น เพื่อนเก่า และ ครูเก่า ของผมเช่นกันแล้ว ยังเป็น "สนามแจ้งเกิด" สนามแรก ๆ ในการเขียนหนังสือของผมด้วย

ประมาณปี ๒๔๙๙ ผมกำลังเรียนอยู่มัธยม ๕ ที่ปากน้ำโพ เคยส่งบทกลอนมาประกวดได้รางวัลชนะเลิศประจำสัปดาห์ พร้อมเงินตอบแทน ๕๐ บาท ยังจำได้ดีถึงทุกวันนี้

ในปีเดียวกัน สกุลไทยมีหน้าสำหรับแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อยู่ ๒ หน้าเต็ม ๆ ใช้ชื่อว่า "อุดมทัศนีย์" ซึ่งผมก็ส่งมาร่วมสนุกด้วย และได้ลงตีพิมพ์บ่อย ๆ แม้จะไม่มีเงินรางวัลตอบแทนให้ แต่ก็ทำให้คนได้ลงดังพอสมควร เพราะสกุลไทยจะพิมพ์รูปคนเขียนประกอบไว้ด้วย

ผมเลือกรูปที่หล่อมากมาลง ยังจำได้ว่ามีคนเขียนจดมหายมาสมัครเป็นมิตรกว่าร้อยฉบับ จนบุรุษไปรษณีย์ที่นำจดหมายมาส่งสัพยอกว่าไอ้น้องคนนี้ดังที่สุดในปากน้ำโพ เพราะมีคนส่งจดหมายมาถึงมากที่สุด

แม้เมื่อเติบใหญ่ขึ้นความสนใจของผมที่มีต่อนวนิยายจะลดน้อยลงเพราะหันไปอ่านหนังสือหลากรสมากขึ้น ทำให้ห่างเหินสกุลไทยไปนาน

แต่ก็ยังอ่านคอลัมน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะคอลัมน์สังคมหรือบทความที่เกี่ยวกับเจ้านายของเราที่เป็นสัญลักษณ์ของนิตยสารฉบับนี้ เวลาไปรอพบหมอตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีนิตยสารเก่า ๆ มาวางให้อ่านฆ่าเวลา และเกือบทุกโรงพยาบาลจะมีสกุลไทยรวมอยู่ด้วย

ขอแสดงความอาลัยอย่างจริงใจต่อการจากไปของเพื่อนเก่า ครูเก่า และสนามแจ้งเกิดแห่งแรก ๆ ของผม.. "สกุลไทยรายสัปดาห์" ไว้ ณ ที่นี้

"ซูม"

http://www.thairath.co.th/content/726390
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 26 ก.ย. 16, 18:27

อดีตประทับใจ   ภาพปกสกุลไทยที่หายากมากในปัจจุบัน
ชายในชุดขาวผู้คุกเข่าอยู่ในภาพ คือจอมพลป.พิบูลสงคราม ค่ะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 28 ก.ย. 16, 18:40

ตามมาอีก ๑ ฉบับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง