เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 35784 รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 07 ม.ค. 17, 22:16

ผมเคยเห็นโทรศัพท์โบราณแบบนี้ที่ภูกระดึงราวปี 2530 ใช้งานแบบจุดต่อจุด เชื่อมที่ทำการตรงเชิงภูกับที่ทำการข้างบนภูครับ เวลาจะใช้งานก็หมุนคันหมุน กระดิ่งจะไปดังอีกฟากหนึ่งให้ยกหูคุยกันครับ เดาว่าน่าจะเลิกใช้ไปเมื่อโทรศัพท์มือถือแพร่หลายแล้ว
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 08 ม.ค. 17, 10:19

เขาใช้ operator เป็นผู้เชื่อมสายให้ครับ
ยกหูพูดกับเธอ แล้วบอกให้ต่อไปคนโน้นคนนี้ เธอก็จัดการให้เหมือนที่บางแห่งก็ยังใช้อยู่นี่แหละ เพียงแต่ระบบของอุปกรณ์ต่างกันเท่านั้น

สงสัยตรงนี้น่ะค่ะ หมายความแค่บอกชื่อ อย่าง "ขอพูดกับ Ryan Johnson" แค่นี้เองหรือคะ ไม่ต้องบอกเบอร์ ?
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 08 ม.ค. 17, 12:05

ในช่วง 10 ปีแรกมีผู้ใช้โทรศัพท์ซึ่งเป็นระบบแม็กนีโตเพียงประมาณ 60 ราย แผงควบคุมซึ่งมี operator ปฎิบัติงานอยู่นั้นจะมีไฟและช่องเสียบแจ็คสายสัญญาณประจำผู้ใช้โทรศัพท์แต่ละราย
ซึ่งจะต้องมีการเขียนแสดงตัวผู้ใช้แต่ละรายไว้ อาจมีการเขียนเลขลำดับคู่กับชื่อของผู้ใช้กำกับไว้ แต่อย่างน้อยต้องมีการระบุชื่อ เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ operator และในการตรวจซ่อมระบบ

เช่น ผู้เรียกอาจแจ้งว่าขอต่อสายกับ เบอร์10คุณRyanJohnson หรือ ลำดับที่10คุณRyanJohnson  หรือ คุณRyanJohnson หรือ เบอร์10
ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้น้อยรายและคงไม่มีการใช้งานบ่อยครั้งมาก operator คงปฎิบัติงานได้ไม่ยาก

ดังนั้นถ้ามีการเขียนเบอร์หรือเรียงลำดับเลขผู้ใช้แต่ละรายไว้ด้วย เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ Operator ก็คงต้องบอกว่ามีการแจ้งบอกเบอร์หรือบอกลำดับเลขประจำตัวผู้ใช้แก่ operator

คำว่าเบอร์ในที่นี้หมายถึงว่าผู้เรียกไม่สามารถเลือกหมุนเบอร์ไปหาผู้รับต่างๆ ได้โดยตรง เพราะโทรศัพท์ยังไม่เป็นระบบ step-by-step ที่มีตัวหมุนเบอร์โทรศัพท์ครับ
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 08 ม.ค. 17, 13:39

18 เมษายน พ.ศ. 2423 เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีความว่า

         ข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ขอพระราชทานน้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองฯ
ด้วยเครื่องไฟฟ้านั้นข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ   ว่าจะมอบส่งให้พระยานรรัตนราชมานิตฯ   จะได้บังคับให้หลวงอัคนีนฤมิตร
ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไฟก๊าดจัดการไป   ด้วยเครื่องมือแลของที่จะใช้สอยก็มีพรักพร้อม ขอพระราชทานให้เจ้าพนักงานมารับไป
แล้วข้าพระพุทธเจ้ากับหลวงพิไชยเสนาจึงจะได้ไปช่วยจัดการ  ให้สำเร็จใช้ได้ทันสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา
         ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
                                              เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9 เลขที่ 12 หน้า 28-29)

นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอย่างช้าคือในปี พ.ศ. 2423 (ไม่ใช่ พ.ศ. 2427) ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟ (ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง)
ได้เข้ามาในประเทศไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบแล้ว
ซึ่งขัดกับคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 08 ม.ค. 17, 15:20

24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีความว่า

      ข้าพระพุทธเจ้าหลวงปฏิบัติราชประสงค์ ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
      ด้วยพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ปฤกษากับข้าพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ติดไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ตริตรองดูตามในประเทศยุโรปทั้งปวงนี้เขาใช้มากในที่ต่างๆ  เปนการถูกเอกสเปน  น้อยภอจะกราบบังคมทูล
พระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้เปนตัวอย่าง คือใช้ไฟก๊าดท่อยาว ๕ วา กับลวดที่จะล่ามไปยาว ๕ วาเท่ากัน ลวดถูกกว่าหลายสิบเท่า
อนึ่งไฟก๊าดต้องใช้คนเที่ยวจุดทุกแห่ง ถ้าจะใช้เพียง ๕๐๐ ดวง จะต้องมีคนสำหรับจุดตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป ถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างใหม่ก็ไม่ต้องใช้คนที่จุด
ถึงเวลาก็ลุกเองแลไม่ต้องเปลี่ยนถ่านเหมือนเครื่องเก่าของหลวงมีอยู่แล้ว แลไม่ดับๆ ติดๆ ด้วย อนึ่งไฟที่เข้าใช้อยู่ในประตูคืออินดอไล
เขาได้คิดว่าถูกกว่าน้ำมันปิดเตอเลียม แลเทียนไขที่จะใช้จุดยังรุ่งต้องอาไศรยคนช่วยกันตกแต่งคอยเปลี่ยนผลัดอยู่เสมอ
เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม พระเจ้าน้องยากรมหมื่นเทวะวงษ์วโรปการ
ว่าจะใช้เครื่องไฟฟ้าเสียให้หมดในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าในที่ใด ถนนต่างๆ ที่มีในพระบรมมหาราชวังด้วย แลตำหนักพระบรมวงษานุวงษ์
แลเรือนข้าราชการฝ่ายในที่เคยใช้น้ำมันปิดตอเลียมอยู่ ถ้าใครจะซื้อไปใช้ก็จะยอมขายให้ แต่จะต้องขอคืน ๑ เท่ากันกับน้ำมันที่ใช้อยู่
ก็ภอจะคุ้มสูหุ้ยของหลวงที่จะซื้อฟืนมาใช้ในเครื่องจักรได้ ถึงจะไม่ภอก็จะต้องเติมเงินบ้างเล็กน้อยแต่สว่างจะได้การดีมากกว่าทุกวันนี้
แลข้าพระพุทธเจ้าจะขอเปนเจ้าพนักงานใหญ่เปนผู้กำกับดูแลในการที่จะจุดโคมแลรักษาเครื่องทุกอย่าง จะขอรับพระราชทานขุนหมื่นรักษาพระองค์ ๑๒ คน
ที่สำหรับจุดโคมอยู่ทุกวันนี้ ทราบเกล้าฯ ว่าขุนหมื่นรักษาพระองค์ที่จุดโคมทุกวันนี้มีอยู่ถึง ๖๐ คน ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานสัก ๑๒ คน
จะหัดให้เปนอินทเนียสำหรับรักษาเครื่องจักรได้ใช้การในเรื่องนี้ ถ้าเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ขอพระบรมราชานุญาตที่จะตรวจบนพระที่นั่งและที่ต่างๆ
จะได้ทำเอสเมศทูลเกล้าฯ ถวาย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
                                                                  หลวงปฏิบัติราชประสงค์

(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/25 หลวงปฏิบัติราชประสงค์กราบบังคมทูลติดไฟฟ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หน้า 768-769)
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 08 ม.ค. 17, 15:49

24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขา มีความว่า

                            หลวงปฏิบัติยื่นความเหนฉบับนี้ เหนว่าเปนการดีแลถูกเงินลงเปนแน่
                  จะยอมให้เปนเจ้าพนักงาน   ทำเปนการเหมาเสียทีเดียวก็ได้
                  เครื่องแกสเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้ว อยากจะขายเลหลังส่งเสียทีเดียว
                 ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ให้เขากะดวงโคมทำเอศเมศ ให้ทั่วไป
                 ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยที่เดียวจะดี
                                   
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/25 หลวงปฏิบัติราชประสงค์กราบบังคมทูลติดไฟฟ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หน้า 769)

นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงทราบและทรงโปรดให้มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างก่อนปี พ.ศ. 2427
ซึ่งขัดกับคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 09 ม.ค. 17, 13:31

ในช่วง 10 ปีแรกมีผู้ใช้โทรศัพท์ซึ่งเป็นระบบแม็กนีโตเพียงประมาณ 60 ราย แผงควบคุมซึ่งมี operator ปฎิบัติงานอยู่นั้นจะมีไฟและช่องเสียบแจ็คสายสัญญาณประจำผู้ใช้โทรศัพท์แต่ละราย
ซึ่งจะต้องมีการเขียนแสดงตัวผู้ใช้แต่ละรายไว้ อาจมีการเขียนเลขลำดับคู่กับชื่อของผู้ใช้กำกับไว้ แต่อย่างน้อยต้องมีการระบุชื่อ เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ operator และในการตรวจซ่อมระบบ

เช่น ผู้เรียกอาจแจ้งว่าขอต่อสายกับ เบอร์10คุณRyanJohnson หรือ ลำดับที่10คุณRyanJohnson  หรือ คุณRyanJohnson หรือ เบอร์10
ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้น้อยรายและคงไม่มีการใช้งานบ่อยครั้งมาก operator คงปฎิบัติงานได้ไม่ยาก

ดังนั้นถ้ามีการเขียนเบอร์หรือเรียงลำดับเลขผู้ใช้แต่ละรายไว้ด้วย เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ Operator ก็คงต้องบอกว่ามีการแจ้งบอกเบอร์หรือบอกลำดับเลขประจำตัวผู้ใช้แก่ operator


ขอบพระคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ

ขอบพระคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ

คำว่าเบอร์ในที่นี้หมายถึงว่าผู้เรียกไม่สามารถเลือกหมุนเบอร์ไปหาผู้รับต่างๆ ได้โดยตรง เพราะโทรศัพท์ยังไม่เป็นระบบ step-by-step ที่มีตัวหมุนเบอร์โทรศัพท์ครับ

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 09 ม.ค. 17, 18:53


นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอย่างช้าคือในปี พ.ศ. 2423 (ไม่ใช่ พ.ศ. 2427) ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟ (ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง)
ได้เข้ามาในประเทศไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบแล้ว
ซึ่งขัดกับคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"



ขออภัย ตรงไหนครับที่บอกว่า ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟ ติดตั้งในปี พ.ศ. 2423
Preparation ?
Cost estimation ?
Installation ?
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 09 ม.ค. 17, 21:45

เหตุผลที่เครื่องไฟฟ้านี้เป็นเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟฟ้าคือดังนี้ครับ
             1.   ไฟแก๊สหรือไฟก้าดมีเพื่อให้แสงสว่าง
             2.   ถ้าขณะนั้นมีเครื่องไฟฟ้าสำหรับโทรเลข โทรศัพท์ และหลอดไฟฟ้า เครื่องไฟฟ้าที่ใช้แทนหรือเกี่ยวข้องกับไฟก้าดซึ่งนำมาติดตั้งใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา
                ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 ก็ต้องเป็นเพียงเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟเท่านั้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตมอบเครื่องไฟฟ้าให้แก่พระยานรรัตนราชมานิตเพื่อจะได้นำไปควบคุมจัดการแก่เจ้าพนักงานไฟก๊าด

แสดงว่ามีโคมไฟฟ้าแสงสว่างในไทยแล้ว แต่ไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วมีการติดตั้งโคมไฟฟ้าที่กล่าวถึงหรือไม่

ขอเสริมด้วยข้อมูลชิ้นหนึ่ง คือ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 พระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงศ์ (ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ในปี พ.ศ. 2431) ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งโคมไฟฟ้าในสวนสราญรมย์ มีความตอนหนึ่งว่า
   
                  ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ
         ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่าเจ้าฝรั่งที่จะมาครั้งนี้นั้น การที่ในสวนสราญรมย์จะต้องมีไฟเสมอทุกวันเหนจะดี
         โคมที่มีอยู่นั้นก็มือไม่สู่จะงาม ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าโคมไฟฟ้าที่พระยานรรัตนราชมานิตยอยู่เปล่า ไม่มีราชการสิ่งใด
         ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะขอรับพระราชทานไฟจุดในสวนสราญรมย์ จะได้งามสมพระเกียรติยศ
         ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้วข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานให้เปนธุระของพระยานรรัตนราชมานิตยไปจุดไปติดทั้งสิ้น
            อนึ่งเมื่อครั้งมิศเตออาลบาศเตอรับราชการอยู่ในสวนสราญรมย์นี้ ก็ได้คิดที่จะใช้โคมไฟฟ้าเหมือนกัน แต่อาลบาศเตอเอาเงินมิวเซียมซื้อไว้
         ครั้นอาลบาศเตอถึงอนิจกรรมโคมนั้นไปอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่เครื่องจักรที่สั่งมานั้นแรงหาพอไม่ จึ่งใช้ราชการไม่ได้
         (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/40 หน้า 645)

ผมไม่ทราบและอยากรู้มากรู้เลยว่ามิศเตออาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ในสวนสราญรมย์ในช่วงเวลาใด และถึงอนิจกรรมเมื่อใด  ฮืม

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 10 ม.ค. 17, 07:50

ให้ภาพโคมไฟที่ใช้ระบบแก๊สภายในพระบรมมหาราชวัง ในต้นรัชกาลที่ ๕ จะเห็นว่ามีเขม่าดำเต็มไปหมด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 10 ม.ค. 17, 11:43

อ้างถึง
ผมไม่ทราบและอยากรู้มากรู้เลยว่ามิศเตออาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ในสวนสราญรมย์ในช่วงเวลาใด และถึงอนิจกรรมเมื่อใด

เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5358.0
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 12 ม.ค. 17, 22:18

มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าราชทูตสยามที่ออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้บรรยายถึงสภาพต่างๆ ของสังคมฝรั่งเศสที่ได้พบเจอมา มีความตอนหนึ่งว่า

                      ตามสองข้างถนนนั้นมีเสาเหลกกาไหล่ทองแดง สูงประมาณห้าศอกปักห่างกันประมาณแปดวา
                      แต่ปักเยื้องกันเปนฟันปลา บนปลายเสาใส่โคมแก้ว ตามไฟในเวลากลางคืนไฟที่ตามโคมนั้นฝรั่งเสศเรียกไฟก๊าด
                      เปนของประหลาดไม่ต้องใช้น้ำมัน แลใส่เหมือนตะเกียงธรรมดา เวลาเยนเปิดกอกไฟก๊าดไปทั่วทุกเสาโคม
                      เสาโคมเปนหลอดขึ้นไป เอาแต่ไฟจุดปลายหลอด ก็ติดสว่างดีกว่าตะเกียงที่ตามด้วยน้ำมัน เมื่อจะให้ดับก็บิดควงเสีย
                      อย่าให้ลมก๊าดเดินได้ไฟก็ดับ บางถนนที่แคบนั้นก็เอาเหล็กทำเปนกิ่งติดเข้ากับผนังตึก มีโคมแก้วตามไฟก๊าดเหมือนกัน
                      ไฟก๊าดนั้นฝรั่งเสศใช้ทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน...
                     
                      จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2428 เล่ม 4 แผ่น 9
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 12 ม.ค. 17, 23:28

โคมไฟแก๊ส ด้านล่างดวงโคมมีช่องสำหรับอากาศเข้าและใช้จุดไฟ
ต่ำลงมาคาดว่าเป็นก้านหมุนเปิด-ปิดแก๊ส


บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 13 ม.ค. 17, 21:49

โคมไฟฟ้าครับ


บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 22 ม.ค. 17, 12:21

โคมไฟบนเสาไฟฟ้า ข้างวัดราชบุรณะหรือวัดเลียบ
เป็นเสาไม้ เสาต้นที่สองมีหม้อแปลงไฟฟ้าตั้งอยู่บนนั่งร้าน



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 20 คำสั่ง