เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 35816 รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 16 ก.ย. 16, 22:36

แผนที่แสดงสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดในเขตวัดเทวราชกุญชร (กรอบเส้นประสีแดง) โรงไฟฟ้าสมัยนั้นมักอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำเพราะใช้ขนแกลบและใช้น้ำสำหรับเครื่องจักรไอน้ำ โรงไฟฟ้าเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสตรงเพราะง่ายต่อการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในรถรางโดยการใช้ Rheostat (โรงไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดที่จ่ายให้แก่หลอดไฟเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ)
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 17 ก.ย. 16, 07:50

แผนที่แสดงสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดในเขตวัดเทวราชกุญชร (กรอบเส้นประสีแดง) โรงไฟฟ้าสมัยนั้นมักอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำเพราะใช้ขนแกลบและใช้น้ำสำหรับเครื่องจักรไอน้ำ โรงไฟฟ้าเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสตรงเพราะง่ายต่อการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในรถรางโดยการใช้ Rheostat (โรงไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดที่จ่ายให้แก่หลอดไฟเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ)
ขอเสริมอีกหน่อยครับ เพราะอยากให้ชนรุ่นหลังได้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไทยน่าสนใจจับต้องได้ สามารถใช้วิทยาการสมัยใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ ไม่น่าเบื่อ เป็นอย่างนี้ครับ เนื่องจากรถรางไฟฟ้าต้องมีการควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลง เช่นเวลาจอดหรือเวลาออกตัว เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่สามารถควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในระบบไฟฟ้ากระแสสลับได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะการประสงค์ที่จะปรับความเร็วรอบของมอเตอร์ในวงจรไฟฟ้ากระแสสลับโดยใช้ตัว Rheostat (ตัวต้านทานไฟฟ้าขนาดใหญ่) เพื่อให้แรงดันไฟฟ้าตกคร่อมที่ตัวมอเตอร์ลดลงนั้นจะส่งผลให้แรงบิด (Torque) ของมอเตอร์ลดลง (T=V/f) รถรางไฟฟ้าในสมัยนั้นจึงต้องใช้กับระบบไฟฟ้ากระแสตรง แต่ถ้าเป็นสมัยนี้สบายมากครับโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เช่น PWM INVERTER

พอจะทราบไหมว่าแต่ก่อนเราใช้ไฟขนาด 110 Volt ใช่หรือไม่
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 17 ก.ย. 16, 20:28

ต่อคำถามว่า "แต่ก่อนเราใช้ไฟขนาด 110 Volt ใช่หรือไม่" นึกว่าตอบง่าย เอาเข้าจริงๆ ตอบยากครับ

ไฟฟ้าเริ่มถูกนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเรื่อยมาในรัชกาลที่ 6 โดยเป็นการใช้งานในกรุงเทพฯ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการขยายการใช้ไฟฟ้าในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากเช่น เทศบาลต่างๆ โดยมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นของตนเองเรียกกันว่า "ไฟฟ้าในชนบท" ซึ่งได้พบว่าไฟฟ้าที่จ่ายให้แก่บ้านเรือนทั่วไปนั้นมีแรงดันไฟฟ้า 110 โวลต์บ้าง 220 โวลต์บ้าง (ไม่รวมประเด็นจ่ายไฟฟ้าให้แก่โรงงานและรถรางไฟฟ้า) จึงขอให้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ว่ามีแรงดันไฟฟ้ากี่โวลต์ อยู่ในช่วงเวลาใด ได้ดังนี้

-   ในหนังสือสัญญาอนุญาตการจุดไฟฟ้าและรถราง ที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลกับบริษัทสยามอิเล็กตริซิตี้จำกัดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2444 ระบุในหนังสือต่อท้ายสัญญาฉบับที่ 1 กำหนดให้มีแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายถึงแห่งใดๆ เท่ากับ 100 โวลต์โดยแตกต่างจากนี้ได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นร5น/149)

-   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2548 บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้มีหนังสือถึงบริษัทในประเทศอังกฤษให้ช่วยออกแบบแก้ไขกรณีโรงไฟฟ้ามีเท่าแกลบปลิวไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนแก่พระสงฆ์สามเณรในวัดเลียบเป็นอันมาก ซึ่งได้กำหนดว่าหากบริษัทที่อังกฤษจะใช้พัดลมในการแก้ไขติดตั้งในปล่องควันจะต้องใช้พัดลมที่ใช้กับระบบแรงดันไฟฟ้า 100 โวลต์ความถี่ 100 เฮิร์ต (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นร5น/724   น.49.5/64)

-   วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เจ้าพระยาวิสูตรโกษา อรรคราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอนได้ส่งรายละเอียด (spec) ของเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคที่ได้จัดซื้อมาใช้ในประเทศไทย ระบุใช้กับระบบไฟฟ้ากระแสสลับ 100 โวลต์ 100 เฮิร์ต (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.ร. 5ต/2   ต1/61   หน้า185)

ได้พบว่าในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้มีการผลิตไฟฟ้าที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 110 โวลต์ 50 เฮิร์ต (จากนิตยสารข่าวช่างฉบับพิเศษ พ.ศ. 2475 ของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย) ซึ่งไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าจาก 100 โวลต์ 100 เฮิร์ต เป็น 110 โวลต์ 50 เฮิร์ตเมื่อใด

-   พ.ศ. 2502 การไฟฟ้านครหลวง (สถาปนาในปี พ.ศ. 2501) ได้เริ่มดำเนินการวางแผนงานในการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าจากขนาด 110 โวลต์เป็น 220 โวลต์ (จากรายงานประจำปี พ.ศ. 2502 ของการไฟฟ้านครหลวง) ตามนโยบายหรือแผนงานของการพลังงานแห่งชาติ เนื่องจากการเพิ่มระดับแรงดันไฟฟ้าจะส่งผลให้กระแสไฟฟ้ามีค่าลดลงซึ่งสามารถลดค่าการสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ สายไฟฟ้าจึงมีขนาดเล็กลงหรือเป็นการช่วยชะลอการเปลี่ยนสายไฟฟ้าให้ใหญ่ขึ้นจากการที่มีผู้ใช้กระแสไฟฟ้ากันมากขึ้น เป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมาก


บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 25 ก.ย. 16, 13:35

ไฟฟ้าแสงสว่างไม่ได้ติดตั้งในประเทศไทยครั้งแรกในวันที่ 20 กันยนยน 2427
ไม่พบหลักฐานว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 25 ก.ย. 16, 14:20

การที่บ้านเมืองไทยมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟถูกแปลงเป็นรหัสเช่นโทรเลข ถูกแปลงเป็นเสียงเช่นโทรศัพท์ ถูกแปลงเป็นแสงสว่างเช่นหลอดไฟจึงไม่ใช่สิ่งแปลกอันใดในใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 25 ก.ย. 16, 20:30

ระบบไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข โทรศัพท์) ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) ล้วนต้องมีแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าเช่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และสายไฟฟ้า โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะจ่ายให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรงหรือจะประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ก่อนก็แล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถบอกปี พ.ศ.อย่างช้าได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในไทยแล้วดังนี้ (ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ)
1.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2408
2.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรศัพท์) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2421
3.   ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2423
4.    ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2434 (เริ่มขอประทานพระอนุญาตก่อสร้าง)
บันทึกการเข้า
MCMLII
อสุรผัด
*
ตอบ: 16


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 04 ต.ค. 16, 16:48

รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า

นางมณีเมขลา ล่อแก้ว
ให้ยักษ์รามสูร ขว้าง ขวานฟ้า หรือเปล่า
นิยายปรัมปรา ว่าด้วยเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

หรือเปล่า   ช่องสี่ บางขุนพรหมใช้เป็นโลโก้เปิดสถานีประจำวัน แก้วในมือนางเมฆขลาส่งสัญญาณคลื่นโทรภาพ ประกอบเพลงช่อบรเทศ

บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 13 ต.ค. 16, 16:58

17 เมษายน พ.ศ. 2453 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีอาการป่วยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อติดต่อกับหมอกาลโลเวให้เข้ามาถวายการรักษาพระอาการประชวรของรัชกาลที่ 5 ด้วยเครื่องไฟฟ้ารักษาโรค ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ให้หมอกาลโลเวทำการรักษาตนเองดูก่อน มีความรู้สึกสบายดีขึ้นมาก จึงให้หมอเป็นธุระจัดซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคนี้จากยุโรป แต่ต่อมาได้มีเปลี่ยนแปลงโดยมีการเสาะหาเครื่องรุ่นใหม่กว่าและดีกว่าในยุโรป

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 พระยาวิสูตรโกษา อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนได้สั่งซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคจากห้างชาลแอนสัน กำหนดส่งลงเรือ 7 สิงหาคม และได้ว่าจ้างผู้ชำนาญการในด้านไฟฟ้าเดินทางมาติดตั้ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการทรงคาดการณ์ว่าจะมาถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม แต่ได้เกิดเหตุขัดข้องเรื่องไม่มีเรือที่ผู้ชำนาญการจะเดินทางมาได้ ทำให้กำหนดถึงล่าช้าออกไปอีกประมาณ 2 เดือนคือวันที่ 1 ธันวาคม อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงมีพระดำริว่าหากเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคมาถึง จะให้พระยาทิพโกษาซึ่งเป็นโรคเหน็บชาและพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองซึ่งป่วยเป็นโรคปาราไลซ์ที่แก้มได้ใช้ทดลองรักษาดู ก่อนที่จะถวายการรักษารัชกาลที่ 5

23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ก่อนที่เครื่องไฟฟ้ารักษาโรคจะมาถึงประเทศไทย
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 16 ต.ค. 16, 21:41

เครื่องไฟฟ้ารักษาโรคอย่างดีจากยุโรป 1 ชุด ราคา 122 ปอนด์ 10 ชิลลิง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 16 ต.ค. 16, 21:45

เครื่องไฟฟ้ารักษาโรค เริ่มออกเดินทางจากกรุงลอนดอน วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2453 กำหนดถึงกรุงเทพฯ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2453


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 19 ต.ค. 16, 02:34

เมื่อครั้งที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรครูมาติซัมได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์นั้น ได้ให้หมอกาลโลเวทำการรักษาตนเองด้วยเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคดูก่อน ซึ่งวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีใจความตอนหนึ่งว่า
   ... วันที่ ๑๔ เวลาเที่ยง ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปให้หมอกาโลเวรักษาด้วยเครื่องไฟฟ้า วิธีใช้เครื่องรักษานั้นคือ
๑.   หมอให้ข้าพระพุทธเจ้าถอดเสื้อและถุงเท้าออกให้นั่งที่เก้าอี้ แต่เท้าเก้าอี้ทั้ง ๔ เท้ามีแก้วรองไม่ให้ถูกกับพื้นกระดาน
๒.   หมอเอากระดาษชุบน้ำห่อกับเครื่องติดที่สายไฟฟ้าให้คนถือเครื่องไฟฟ้านั้นกดลงที่ฝ่าเท้าเครื่องหนึ่ง กดที่กระดูกสันหลังเครื่องหนึ่งแล้วให้เครื่องเดิน เมื่อเครื่องเดินนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็เฉยๆ ไม่รู้สึกว่ามีอะไร ประมาณสัก ๖ มินิตหมอจึงปลดเครื่องซึ่งกดไว้ที่สันหลังมาตั้งที่ฝ่ามือ ประมาณอีก ๕ มินิตปลดเครื่องที่ฝ่าเท้าออกมาตั้งที่หลังเท้าห่างกันประมาณครึ่งนิ้วฟุซ เวลานั้นมีไฟออกจากเครื่องและมีเสียงดังเปรียะๆ ถูกหนังตามหลังเท้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกดังเข็มแทง ประมาณ ๒ มินิตก็เลิก เมื่อเลิกแล้วข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกตัวเบากว่าที่ยังไม่ได้ใช้เครื่องไฟฟ้า
ก่อนที่ให้หมอใช้เครื่องไฟฟ้านี้ คิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ถ้าเท้าและมือติดไฟฟ้าเข้าแล้วคงจะเหมือนกับไฟฟ้าในหีบซึ่งเคยใช้มาแต่ก่อนที่ทำให้ชัก เส้นเท้าและมืองอไป เครื่องนี้ผิดกันที่ไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย
   รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ เวลา ๕ โมงเช้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปที่โรงหมอ หมอให้ข้าพระพุทธเจ้าเปลื้องเสื้อและถุงเท้าออกเสียอีก ให้นั่งที่เก้าอี้เหมือนวันที่ ๑๔ แต่เพิ่มกระดานม้าสูงประมาณ ๕ นิ้วฟุซ เท้ากระดานม้านั้นรองแก้วเหมือนกัน และมีเหล็กแผ่นหนึ่งห่อกระดาษชุบน้ำ วาดลงที่กระดานม้านั้น ให้ข้าพระพุทธเจ้าเหยียบลงทั้ง ๒ เท้า แล้วเอาเครื่องสายหนึ่งติดเข้ากับแผ่นเหล็ก อีกสายหนึ่งให้คนกดที่กระดูกสันหลังให้เครื่องเดินประมาณ ๕ มินิต ปลดเครื่องที่สันหลังมากดที่ฝ่ามือข้างซ้ายอีกเครื่องหนึ่งแล้วให้เครื่องเดินประมาณ ๔ มินิต ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเฉยๆ แต่เวลานั้นมีเหงื่อออกทั่วกาย หมอได้ปลดเครื่องข้างขวามือไปยึดไว้เครื่องหนึ่ง และมือของหมออีกข้างหนึ่งมาคลำตามตัวตามมือข้าพระพุทธเจ้า ไฟฟ้าได้ออกจากมือของหมอและมีเสียงดังเปรียะๆ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเหมือนเข็มแทงประมาณ ๓ มินิต ในเวลานั้นหมอบอกว่าไฟฟ้าได้เดินในตัวข้าพระพุทธเจ้าทั่วแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเบาตัวขึ้นมากกว่าวันที่ ๑๔ เหงื่อออกประมาณ ๒ ชั่วโมงจึงหยุด
   หมอบอกข้าพระพุทธเจ้าต้องมาทำเช่นนี้อีกสัก ๓ หรือ ๔ ครั้ง ....
   ครั้นวันที่ ๑๗ เวลาเที่ยงข้าพระพุทธเจ้าได้ไปที่โรงหมอ หมอก็ให้ถอดเสื้อและถุงเท้าให้นั่งเก้าอี้ เท้าเหยียบบนกระดานม้า เอาสายไฟฟ้าติดที่แผ่นเหล็กอีกเครื่องหนึ่ง กดลงที่กระดูกสันหลังเหมือนวันที่ ๑๕ นั้น พอได้ประมาณ ๘ มินิตหมอเอาเครื่องติดไฟฟ้าอีกสายหนึ่ง เครื่องนั้นข้างปลายมีเหล็กแหลมๆ เหมือนตาปูไปติดประมาณ ๑๕ หรือ ๑๖ อันเอามาจ่อตามหลังเท้าและตามข้อเท้ากับตามกระดูกสันหลังและต้นคอ เมื่อเอาเหล็กมาล่อห่างกับตัวประมาณครึ่งนิ้วฟุต ไฟได้ออกมาตามเหล็กถูกที่ตัว ดูดเอาเส้นขึ้นตุบๆ เมื่อใช้เครื่องอันนี้รู้สึกเจ็บกว่าเครื่องอื่น แต่ดีมาก เมื่อเวลานั้นเหงื่อก็ได้ออกเต็มไปทั้งตัวเหมือนวันที่ ๑๕ คิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมคงจะไปแทงเอาลมที่คั่นค้างอยู่ตามเส้นและเอ็น ...
   ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าวิธีใช้เครื่องไฟฟ้านี้มีประโยชน์ คือไฟฟ้าคงจะเข้าไปไล่เลือดและลมที่คั่นค้างอยู่ให้แล่นตลอดไปได้ ...
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 21 ต.ค. 16, 13:31

ต่อมาได้มีการดำเนินการเสาะหาจัดซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรครุ่นใหม่จากยุโรปเพื่อนำมาถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระอาการประชวร ดังที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาวิสูตรโกษา อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน มีใจความตอนหนึ่งว่า

   ด้วยได้ทราบความจากผู้ซึ่งควรเชื่อถือได้ว่า มีหมอกาโลเวที่เมืองสิงคโปร์รักษาเส้นพิการต่างๆ อย่างที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า รูมะติซัม (Pheumatism), เซียสสติคา (Sciatica), ฤา ลัมเบโก (Lumbago) แลโรคที่คล้ายๆ กันนั้นหายขาดได้ เพราะใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างแรงแลอย่างเดินเรว (Installation of Electricity of high voltage and high frequency) จึงได้คิดจะหามารักษาที่ในกรุงเทพ แต่ได้ความว่าเครื่องไฟฟ้าที่ว่านั้นเปนของใหญ่โตติดอยู่กับที่จะยกไปมา ไม่ได้โดยสะดวก หมอนั้นจึงไม่ยอมเข้าไปในกรุงเทพ แต่หมอกาโลเวได้บอกว่า เดิมที่จะคิดเอาเครื่องไฟฟ้าอย่างนี้มาใช้นั้นเปนด้วยหมอกาโลเวเองเปนโรคลัมเบโก รักษาไม่หายมานาน ครั้นไปลอนดอนได้พบหมอที่ใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างแรงแลอย่างเดินเรวถี่นี้ ได้ให้รักษาก็หายสนิท จึงได้จัดซื้อมาใช้รักษาที่เมืองสิงคโปร์ แต่ยังไม่ได้ความชัดเจนว่าซื้อมาจากห้างใดแน่
   แลได้ทราบความจากพระพิเทศพานิชบอกเองแก่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ว่า พระพิเทศพานิชได้ไปรักษาตัวด้วยเครื่องไฟฟ้าที่เรียกชื่อว่า เอกซ์เร อย่างใหม่ที่สุด เปนเครื่องของมิสเตอร์ ดับลยู.เอ.โคลต์เวล ผู้ใช้เครื่องฉายรัศมี อยู่ที่ ๖ แมนดิวิลเปลศ วิคมอร์ สตริต เมืองลอนดอน (X-ray Installation, up-to-date, at W. A. Coldwell Radiographer 6 Mandeville Place Wigmore, Street, London) ได้รักษาโรคที่มือป่วยเปนเมลดขึ้น ทำให้ปวดนั้นหายสนิท แลว่าเป็นเครื่องไฟฟ้าอย่างใหม่ดีกว่าเครื่องของหมอกาโลเวซึ่งเปนอย่างเก่าหลายปีมาแล้วด้วย
   พิเคราะห์ดูตามความที่ว่ามาข้างต้นนี้ทั้งสองประการนั้น เหนว่าเครื่องไฟฟ้าที่ใช้นี้คงเปนคนละอย่างต่างกัน คืออย่างก่อนที่เรียกว่าเครื่องไฟฟ้า โวลเตช อย่างแรงแลเดินเรวถี่นี้ สำหรับใช้แรงเดินเข้าในตัวแก้เส้นพิการ แลอย่างหลังที่เรียกว่าเอกซ์เร ฤา แรดิโอคคราฟ เปนเครื่องฉายรัศมีนั้น สำหรับใช้ส่องแสงไฟฟ้าประหารโรคตามผิวหนัง เช่นโรคเรื้อน มะเรง พยาธิ เปนต้น ไม่ใช่อย่างเดียวกันแน่
   แต่อย่างไรๆ ก็ดี เครื่องไฟฟ้าทั้ง ๒ อย่างนี้ ฤาจะมีเครื่องอย่างอื่นที่ใช้ในการรักษาไข้เจบอย่างใหม่อีกก็ดี ย่อมเปนสิ่งที่จะเปนคุณเปนประโยชน์ในการบำบัดโรคพยาธิในกรุงสยามได้ ให้พระยาวิสูตรโกษาสืบเสาะหาดูว่าจะมีหมอผู้ชำนาญในการรักษาโรคเส้นพิการอย่างกล่าวมาในข้อต้นที่ต้องการใช้เปนสำคัญกว่าอย่างอื่นๆ นั้นแห่งใดบ้าง แลจะสั่งให้สั่งเครื่องไฟฟ้าอย่างแรงแลเรวถี่นั้นให้พร้อมบริบูรณ์ทั้งเครื่องจะเปนราคาสักเท่าใด แลจะส่งมาถึงกรุงเทพฯ ได้ในกำหนดเวลาเท่าใด แลถ้าจะให้หมอผู้ชำนาญมาตั้งเครื่องนั้นแลแนะนำให้หมอในกรุงสยามใช้เครื่องได้ต่อไป จะคิดเปนเงินค่าจ้างอีกเท่าใดแล้ว ให้มีโทรเลขแจ้งความไปให้ทราบโดยเรว
   อีกประการหนึ่ง มีคำบอกว่าเครื่องไฟฟ้าทั้ง ๒ อย่างนี้ใช้รวมกันได้ ด้วยเปลี่ยนแต่เครื่องมือใช้เลกน้อยเท่านั้น ถ้าการเปนดังนี้ จะสืบราคารวมกันทั้งสิ้นบอกมา ก็จะเป็นประโยชน์เหมือนกัน


บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 21 ต.ค. 16, 23:16

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากมีรถรางไฟฟ้าแล้วยังมีรถไฟฟ้า 4 ล้อหรือรถมอเตอร์คาร์แบบไฟฟ้า ตามแบบแปลนนี้ใช้มอเตอร์ขนาด 5 แรงม้า
เดินหน้าถอยหลังได้ ความเร็วสูงสุด 14 ไมล์ต่อชั่วโมง มีในสยามช่วงปี พ.ศ. 2448
รูปของจริงเป็นอย่างไร?  ฮืม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 22 ต.ค. 16, 00:11

พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชทรงขับรถมอเตอร์คาร์แบบไฟฟ้า
ใช้แบตเตอรี่ เครื่องชาร์จใช้เครื่องยนต์ขนาด 10 แรงม้า มี 2 เครื่อง อยู่ในพระบรมมหาราชวังและที่สวนดุสิต


บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 ต.ค. 16, 21:20

ข้าราชการ "เช้าชามเย็นชาม" กรุณาอ่าน 3 รอบ พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี
พ.ศ. 2439 เกิดเหตุการณ์ที่พลตระเวนของกระทรวงนครบาลปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาโคมไฟฟ้าตามข้างถนนบริเวณสะพานช้างโรงสี (สะพานข้ามคลองหลอดหลังกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ปล่อยให้ฝุ่นเกาะดูเศร้าหมองเป็นเวลานาน เพราะมีเกวียน ม้า รถเจ๊กวิ่งผ่านไปมา โดยเมื่อคราวที่เป็นโคมน้ำมันอยู่นั้น พลตระเวนต้องทำหน้าที่คอยจุดคอยดับ เช็ดกระจกและเติมน้ำมันทุกวัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชกระแสมีใจความว่า
"ที่ได้จัดตกลงกันไว้แล้วเช่นนี้ก็ดี ก็ยังต้องการเตือนกันเรื่อยๆ ไปอย่างไทย ไม่มีอะไรวางมือได้สักอย่างเดียว
เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้นเหมือนอย่างพลเรือน ที่ต้องหุงข้าวกินเอง กวาดเรือนเอง ตักน้ำรดต้นไม้เอง จุดโคมเองทุกอย่าง
อีกสักกี่สิบปี ธรรมเนียมนี้จึงจะหมดไป"

(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ก.ร.5ยธ/1)

พรุ่งนี้วันปิยมหาราชครับ 23 ตุลาคม 2559
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 20 คำสั่ง