เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 35616 รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


 เมื่อ 15 ส.ค. 16, 21:06

เป็นประวัติไฟฟ้าไทยที่น่าเชื่อถือ ไม่ผิดเพี้ยน ค้นคว้าจากเอกสารตั้งต้นในยุคสมัยนั้นๆ ยืนยันพิสูจน์ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่เกี่ยวกับไฟฟ้าไทย ในช่วงรัชสมัยภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในพระบรมราโชบายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระราชปณิธานและพระราชประสงค์ ทั้งทรงพยายามเต็มพระมหาพิริยุตสาหะทะนุบำรุงเป็นที่สุด มิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากพระสกนธ์กายและพระราชหฤทัย แม้พระองค์ทรงเป็นอรรคบริโสดมบรมสุขุมาลชาติเพื่อพระราชประสงค์จะให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน บรรดาเป็นผลให้สยามประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ไฟฟ้าไทยจึงได้วิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้

”ไฟฟ้า” เป็นคำผสม คนไทยในสมัยโบราณได้ใช้ “ไฟ” ในการดำรงชีวิต เช่น ใช้หุงหาอาหาร ใช้ให้แสงสว่าง ซึ่งมีบางคุณลักษณะที่เหมือนกันกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า คือมีลำแสงหรือเปลวไฟที่ทำให้เกิดแสงสว่างและทำให้เชื้อติดไฟได้ คำว่า “ไฟฟ้า” ในสมัยนั้นจึงหมายถึงไฟที่อยู่บนท้องฟ้าที่สามารถลงมาสู่พื้นโลกได้

จากตำนานนครจำปาศักดิ์ว่าในปี พ.ศ. 2360 มีผู้เอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้เชื้อติดไฟ อวดว่ามีอิทธิฤทธิ์สามารถเรียกไฟฟ้าคือไฟที่อยู่บนฟ้าลงมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นได้ ผู้คนเกิดความเกรงกลัว จึงคิดขบถรวบรวมผู้คนยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีรุกรานไปตามหมู่บ้านต่างๆ (จากหนังสือพิมพ์เทศาภิบาล เล่มที่ 4 พ.ศ. 2450)

ความรู้เรื่องไฟฟ้าตามหลักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามาเผยแพร่สู่สังคมไทยโดยมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาในรูปแบบข่าวสารลงในหนังสือพิมพ์

ในปี พ.ศ. 2387 หนังสือพิมพ์ได้ลงหัวข่าวว่า “ตำราไฟฟ้า (Lightning)” เป็นการเอาคำภาษาอังกฤษว่า "Lightning" แปลเป็นภาษาไทยว่า “ตำราไฟฟ้า” ได้กล่าวถึงการเกิดและการเคลื่อนที่ของไฟฟ้า (ฟ้าแลบ) มีการยกตัวอย่างว่าสิ่งใดเป็นสื่อหรือตัวนำไฟฟ้า สิ่งใดเป็นฉนวนไฟฟ้า มีการอธิบายการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 1)

ในปี พ.ศ. 2388 หนังสือพิมพ์ลงข่าวถึงวิธีคำนวณระยะทางหรือตำแหน่งที่เกิดฟ้าผ่าด้วยวิธีจับชีพจร โดยเมื่อเห็นฟ้าแลบก็ให้รีบจับชีพจรแล้วนับจำนวนครั้งของชีพจรจนถึงเมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่า เป็นการอาศัยอัตราความเร็วของแสง เสียง และการเต้นของหัวใจ กำหนดว่าเสียงเดินทางเป็นระยะทาง 140 เมตรต่อการเต้นของหัวใจหนึ่งครั้ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 11) และข่าวจากต่างประเทศว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้จำลองเหตุการณ์ทดลองระเบิดเรือรบโดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวจุดชนวน ข่าวว่าได้มีการสร้างและทดลองใช้โทรเลขได้เป็นผลสำเร็จแล้ว (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 12)

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข โทรศัพท์) ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อใด แต่สามารถบอกปี พ.ศ. อย่างช้าได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว
1.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2408
2.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรศัพท์) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2421
3.   ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2423
4.    ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2434 (เริ่มขอประทานพระอนุญาตก่อสร้าง)

ในปี พ.ศ. 2408 หนังสือพิมพ์ลงข่าวที่มาจากต่างประเทศว่า "อนึ่งข่าวมาแต่บำไบว่ามีจำพวกหนึ่ง ว่าจะตั้งโคมให้แสงสว่างเมื่อเพลากลางคืนเป็นอย่างใหม่เรียกว่าอีเลกโตรแมคเนตอิกไลต์ ข่าวว่าสว่างนั้นมีแสงกล้านัก พอที่คนอยู่ไกลหลายสิบเส้นจะเห็นตัวหนังสือชัดอ่านได้" (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 18) และลงข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีชาวต่างชาติต้องการขายเครื่องไฟฟ้าชุดหนึ่ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 21) ข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีการทดลองและใช้โทรเลขกัน (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 2 ใบที่ 2)

ในปี พ.ศ. 2410 เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้เขียนบทความอธิบายเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร (จากหนังสือแสดงกิจจานุกิจ)

ในปี พ.ศ. 2421 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ทดลองใช้โทรศัพท์ตัวอย่างที่ส่งมายังไทย และทรงโปรดให้ทดลองติดตั้งโทรศัพท์ระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพฯ โดยใช้สายโทรเลขที่มีอยู่แล้วในเส้นทางนี้ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2)

18 สิงหาคม พ.ศ. 2423 เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ผู้บัญชาการกรมพระสัสดีได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตระเตรียมการเกี่ยวกับเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่ได้มาเพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา ตรงกับ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9)

24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างให้ทั่วพระบรมมหาราชวังทีเดียวเลย เปลี่ยนจากที่จะติดตั้งเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งแต่เดิมใช้โคมแก๊สและน้ำมัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขามีใจความตอนหนึ่งว่า "หลวงปฏิบัติยื่นความเห็นฉบับนี้เห็นว่าเป็นการดีและถูกเงินเป็นแน่ จะยอมให้เป็นพนักงานทำเป็นการเหมาเสียทีเดียวก็ได้ เครื่องแก๊สเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้วอยากจะขายเลหลังเสียทีเดียว ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ ให้เขากะดวงโคมทำเอสติเมศให้ทั่วไป ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยทีเดียวจะดี" (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/25)

การที่บ้านเมืองไทยมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟถูกแปลงเป็นรหัสเช่นโทรเลข ถูกแปลงเป็นเสียงเช่นโทรศัพท์ ถูกแปลงเป็นแสงสว่างเช่นหลอดไฟจึงไม่ใช่สิ่งแปลกอันใดในใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ในเรื่องเกี่ยวกับการที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างในโรงทหารน่า มีใจความตอนหนึ่งว่า "เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชานุญาตที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ ... ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบัญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้พระวงษ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้า ๆ ได้ตรวจดูเห็นเป็นเงินนั้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปรึกษากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีพอจ่ายไม่ ..." (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36)

พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิตยจัดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สวนสราญรมย์เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับชาวต่างชาติโดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว อนึ่งเมื่อครั้งมิศเตอร์จาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ ณ สวนแห่งนี้ได้ซื้อเครื่องไฟฟ้าไว้ก่อนแล้ว ต่อมามิศเตอร์จาลบาศเตอร์ได้ถึงอนิจกรรมโคมไฟแสงสว่างได้ตกไปอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้การไม่ได้เพราะแรงไฟไม่พอ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/40)

พ.ศ. 2428 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าราชทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีประเทศฝรั่งเศสได้บรรยายถึงระบบแสงสว่างใช้แก๊ส ว่าตามสองข้างถนนมีโคมไฟใช้แก๊สสูงประมาณห้าศอกตั้งสลับกันเป็นฟันปลา ฝรั่งเศสใช้กันทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน และลงข่าวอีกว่ามีผู้แสดงความเห็นว่าสมควรให้ไทยแปลวิชาไฟฟ้าภาษาอังกฤษเป็นตำราไฟฟ้าภาษาไทย เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียส่งคนมายังไทยเพื่อเล่าเรียนวิชาไฟฟ้าที่เป็นภาษาไทย โดยคาดว่าไทยจะเจริญก้าวหน้าทันประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปในไม่ช้า และภาษาอักษรไทยจะไม่สูญหาย จะแพร่หลายทวีขึ้นทุกๆ ปีสืบไป (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม)

พ.ศ. 2431 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวถึงวิวัฒนาการการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้โคมไฟให้แสงสว่างประเภทต่างๆ เช่น ตะเกียงไต้ (น้ำมันยาง)  คบ โคมน้ำมันมะพร้าว โคมน้ำมันปลา เทียน โคมไฟฟ้า โคมแก๊ส โคมน้ำมันปริโตรเลียม โคมลาน โคมแมงดา โคมเผาน้ำมันแคสออยล์ มีหัวข่าวว่า “ประทีปโคมไฟ” ซึ่งได้บรรยายถึงโคมไฟฟ้าที่ดีกว่าแต่ก่อน มีความว่า "ต่อมาชาวต่างประเทศนำเทียนมาขาย ก็นิยมยินดีว่าสว่างกว่าน้ำมัน ก็ได้ซื้อใช้และทำบุญ แล้วมีโคมไฟฟ้าเข้ามาแต่มีผู้ใช้น้อย เครื่องเครานั้นก็ยังไม่สู้ดีนัก แต่สว่างกว่าของที่มีแล้วพอควร ...... โคมไฟฟ้านั้นก็มีมาต่างๆ ดีขึ้นกว่าก่อนบ้าง ใช้ได้มากดวงขึ้นอีกบ้าง"  (จากหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ เล่ม 4 แผ่น 10)

พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจทำธุรกิจด้านไฟฟ้า มีชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ใช้เงินทุน 480,000 บาท เป็นการระดมหุ้นโดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่าที่ดินของวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปีละ 800 บาท ตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้แก่หลอดไฟฟ้า 20 แรงเทียน (วัตต์) จำนวน 10,000 ดวง ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 ตัว ใช้แกลบและฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 ว/1)

14 มีนาคม พ.ศ. 2434 บริษัท บางกอกแตรมเว จำกัดได้มีหนังสือขอประทานพระอนุญาตต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ อธิบดีกรมนครบาลสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 70 แรงม้าตั้งอยู่บริเวณสะพานเหล็ก คลองผดุงกรุงเกษมเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่รถรางไฟฟ้า เปลี่ยนจากใช้ม้าลาก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 น/318 น21/6)

บริษัทไฟฟ้าสยามได้ใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 2 ปีก็ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เกิดปัญหามากมาย เงินทุนหมดลง เนื่องจากการสั่งการที่ผิด ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย การส่งอุปกรณ์ล่าช้ามาก การก่อสร้างผิดไปจากแบบ มีรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก

6 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าถวายแด่รัชกาลที่ 5 มีใจความตอนหนึ่งว่า "ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เกล้ากระหม่อมรับราชการในกรมยุทธนาธิการตำแหน่งผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ จึงได้เป็นผู้รักษาและจัดการการไฟฟ้าอันมีอยู่แล้ว ได้จุดใช้ราชการหลายครั้งก็ไม่เป็นการสะดวกติดบ้างดับบ้างต้องจัดการแก้ไขกันไปต่างๆ ไม่หยุด แก้ไปแก้มาเครื่องไหม้จุดอีกไม่ได้ต่อไป ทำไม่ได้ในเมืองไทยต้องส่งเครื่องออกไปทำใหม่ที่ยุโรป ... บัญชีจ่ายในการซ่อมทำเครื่องไฟฟ้าเช่นนี้แพงมิใช่เล่น ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนเมื่อรับราชการเป็นผู้บัญชาการใช้จ่ายในกรมยุทธนาธิการ ได้ตั้งเบิกเงินที่จ่ายในการทำเครื่องไฟฟ้านั้นด้วยร้อยด้วยพันชั่ง ซึ่งรู้สึกเต็มใจว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทุนที่ลงไป แม้แต่หนึ่งในส่วนร้อยก็ทั้งยาก ลมเจียนจะจับทีเดียวแต่จำต้องเบิกจ่ายไป ตัดรอนไม่ได้เพราะเป็นการเก่าที่ทำแล้ว" ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงจะต้องพระราชประสงค์ใช้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรกรณีบริษัทไฟฟ้าสยามขาดเงินลงทุน เพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัย (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/2)

รัฐบาลได้รับจำนำเพื่อบริษัทจะได้นำเงินไปดำเนินการต่อ แต่สุดท้ายได้หลุดจำนำตกเป็นของรัฐบาลไทยดำเนินการโดยกระทรวงโยธาธิการเรียกว่า "ไฟฟ้าหลวง"

3 กันยายน พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสในพระนครจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางรถพระที่นั่ง เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้าบริเวณถนนวังแล่นไปจนถึงสะพานเหล็ก เสด็จทอดพระเนตรเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่รถรางของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 3)

17 มกราคม พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางรถพระที่นั่ง เสด็จทอดพระเนตรในโรงไฟฟ้าหลวงที่ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เป็นเวลา 15 นาที (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 21)

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ใกล้เวลา 19.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้า ณ ข้างกระทรวงยุทธนาธิการ แล่นตรงจนสุดทางที่บางคอแหลม เสด็จพระราชดำเนิน แล้วเสด็จทรงรถรางแล่นกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังเวลา 3 ทุ่มเศษ (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 26)

พ.ศ. 2439 เกิดเหตุการณ์ที่พลตระเวนของกระทรวงนครบาลปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาโคม ไฟฟ้าตามข้างถนนบริเวณสะพานช้างโรงสี (สะพานข้ามคลองหลอดหลังกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ปล่อยให้ฝุ่นเกาะดูเศร้าหมองเป็นเวลานาน โดยเมื่อคราวที่เป็นโคมน้ำมันอยู่นั้นพลตระเวนต้องทำหน้าที่คอยจุดคอยดับ เช็ดกระจกและเติมน้ำมันทุกวัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสมีใจความว่า "ที่ได้จัดตกลงกันไว้แล้วเช่นนี้ก็ดี ก็ยังต้องการเตือนกันเรื่อยๆ ไปอย่างไทย ไม่มีอะไรวางมือได้สักอย่างเดียว เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้นเหมือนอย่างพลเรือน ที่ต้องหุงข้าวกินเอง กวาดเรือนเอง ตักน้ำรดต้นไม้เอง จุดโคมเองทุกอย่าง อีกสักกี่สิบปี ธรรมเนียมนี้จึงจะหมดไป" (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ก.ร.5ยธ/1)

"ไฟฟ้าหลวง" ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงโยธาธิการได้ประสบภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน กิจการไม่เจริญก้าวหน้า ติดโคมไฟฟ้าได้น้อย ไฟฟ้าดับบ่อยมาก ซึ่งได้มีการส่งผู้ชำนาญการเรื่องไฟฟ้าเข้าไปตรวจสอบในด้านต่างๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป อีกทางหนึ่งก็ได้ให้มีการรีบจัดหาผู้เช่ากิจการไฟฟ้านี้

มีนาคม พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จากกรณีที่ “ไฟฟ้าหลวง” เกิดสภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรื่องนี้ที่ขาดทุนมาแต่ก่อน ควรที่เธอจะตรวจตราและคิดอ่านเสียช้านานมาแล้ว ซึ่งทอดทิ้งไว้ไม่คิดอ่านให้ตลอดจนต้องมีผู้อื่นมาร้อนรนแทนดังนี้ เป็นการทำราชการบกพร่องในหน้าที่ ให้ต้องเปลืองพระราชทรัพย์ เป็นความผิดของเธอซึ่งไม่มีทางจะแก้ว่าไม่ผิดได้ จึงขอติเตียนอย่างแรงในข้อที่ทำให้เงินของรัฐบาลต้องเสียไปโดยมิได้คิดอ่านการให้รอบคอบและละเลยไม่ว่ากล่าวพิททูลให้แก้ไข สืบไปเมื่อหน้าการอันใดในกระทรวงซึ่งเห็นว่าเป็นแต่เปลืองเงินเปล่าไม่ได้ประโยชน์คุ้ม ควรจะแก้ไขลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงประการใดก็ต้องคิดจัดการโดยเร็วที่สุดอย่าให้เสียเวลา ถ้าจะจัดไม่ตลอดก็ควรจะพิททูลว่ากล่าวให้ตลอดไป การเรื่องไฟฟ้านี้ก็เห็นว่าเป็นอันขาดทุนเหลือเกินกว่าที่จะทนไปอย่างเดิมได้ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงการใหม่ แต่เพื่อจะให้เป็นการพรักพร้อมกันทุกหน้าที่ จึงได้สั่งไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้พร้อมกับเธอและพระยาเทเวศร์ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ ปรึกษากันจัดการเรื่องไฟฟ้านี้เสียให้ทันใน ศก ๑๑๖ ถ้ามีที่จะจัดการได้ดีที่สุดอย่างไร” (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/3)

3 เมษายน พ.ศ. 2440 มิสเตอร์ เบนเน็ต ได้ทำสัญญาเช่ากิจการไฟฟ้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติใช้ชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดมีมิสเตอร์ เบนเน็ตเป็นผู้จัดการ อยู่ในรูปเอกชน การบริหารงานของบริษัทได้ทำการหยุดการจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนนหลวงในคืนเดือนหงายเดือนละ 3 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำตามแบบอย่างในยุโรปและอเมริกา โดยใข้แสงสว่างจากดวงจันทร์แทน จะใช้ช่วงเวลานี้สำรวจซ่อมแซมระบบไฟฟ้าต่างๆ ให้เรียบร้อย และใช้ดวงไฟขนาดใหญ่ประเภท "อาร์คไลท์" ในบริเวณที่โล่งกว้าง เพราะสว่างมากกว่า เปลืองพลังงานน้อยกว่าดวงไฟขนาดเล็กที่ต้องใช้หลายดวง มิสเตอร์ เบนเน็ตได้รายงานว่าปริมาณที่บริษัทได้ทำไปแล้วเป็นเวลา 7 เดือนนั้นเท่ากับกระทรวงโยธาธิการได้ทำไป 3 ปี

กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้การกำกับดูแลด้านไฟฟ้าในส่วนของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของกรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล แทนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 บริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดได้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าถือเป็นครั้งแรกในไทย สำหรับวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของสถานที่หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ได้มีการเดินพาดสายไฟฟ้าออกจากโรงไฟฟ้าเป็นส่วนเฉพาะ แยกกันต่างหากกับส่วนที่จ่ายไฟฟ้าไปตามบ้านเรือน เป็นมิเตอร์ขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ในห้องที่โรงไฟฟ้า ใส่แม่กุญแจ 2 ดอก รัฐบาลกับบริษัทแยกกันเก็บลูกกุญแจคนละชุดกัน โดยสามารถเห็นตัวเลขได้ชัดเจนจากภายนอกห้อง บริษัทจะต้องจดบันทึกเลขมิเตอร์และเวลาขณะเปิดและปิดไฟฟ้าแล้วส่งให้รัฐบาลก่อนเวลา 9.00 น. ของวันใหม่ทุกวัน

พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 มิสเตอร์ เบนเน็ต ผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดได้ทำข้อตกลงหรือสัญญาว่าจะขายสัมปทานกิจการไฟฟ้าให้แก่ชาวเดนมาร์ก ซึ่งต่อมาชาวเดนมาร์กนี้ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเก็นประเทศเดนมาร์กใช้ชื่อว่าบริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัดมีมิสเตอร์ เวสเต็นโฮลช์เป็นผู้จัดการ ซึ่งต่อมาไม่นานมิสเตอร์เบนเน็ตก็ได้มีการขายสัมปทานนี้ไป

1 มกราคม พ.ศ. 2441 บริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัด (Siam Electricity Co.,Ltd) ได้ทำบันทึกข้อตกลงและข้อสัญญากับรัฐบาลไทย บริษัทนี้ถูกเรียกเป็นภาษาไทยอยู่อีกชื่อหนึ่งว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด

พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์ ทรงมีพระราชดำริจะต้องพระราชประสงค์ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าที่รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินการอยู่ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อมูลนั้นมาให้ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาลคิดเปรียบเทียบกับไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ ว่าจะถูกจะแพงกว่ากันอย่างไรบ้าง (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร -5 รล/2 ร.ล1/36)

22 สิงหาคม พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาล ให้ไปจัดการว่ากล่าวกับบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัดให้คิดป้องกันแก้ไขอย่าให้เถ้าแกลบจากปล่องควันโรงไฟฟ้าที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปลิวตกในที่ทั้งปวงเป็นการเดือดร้อนแก่พระสงฆ์สามเณรและราษฎรเป็นอันมาก เมื่อบริษัทจะคิดแก้ไขด้วยประการใด ให้เอ็นจิเนียของกรมศุขาภิบาลเป็นผู้ตรวจจนเป็นที่พอใจว่าจะแก้ไขได้จริงถึงให้ลงมือทำ หรือมิฉะนั้นให้เอ็นจิเนียของกรมศุขาภิบาลเป็นผู้คิดให้บริษัททำตาม (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร น 37/7)

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 มิสเตอร์แอฟโลตล์ซึ่งเป็นผู้แทนห้างบิกริมแอนโก้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโคมไฟแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อจะได้ทรงทอดพระเนตร ทรงพระราชประสงค์ให้ทำการทดลองแขวนโคมนี้ในสวนที่ทรงใช้เป็นสถานที่เสวยพระกระยาหาร เป็นโคมไฟใช้หลอดอาร์คไลท์รุ่นใหม่ขนาด 160 วัตต์ ให้แสงสีนวล สว่างและประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร.5 ต/15)
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ส.ค. 16, 07:50

อยากรู้จังเลยครับว่าใคร คนไหน ของชาวสยาม ที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรก
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ส.ค. 16, 09:00

ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2450 โรงไฟฟ้าได้ประสบกับภาวะขาดฟืนทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามปกติ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายไฟฟ้าโดยหยุดการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับในเวลากลางวันตลอดทุกสาย (ยกเว้นไฟฟ้ากระแสตรงสำหรับรถราง) กำหนดจ่ายให้ส่วนราชการในช่วงเวลา 17.15 น. ถึง 23.30 น. ส่วนบุคคลทั่วไปจ่ายในช่วงเวลา 17.15 น. ถึงตีหนึ่งครึ่ง หากจ่ายน้อยกว่านี้โรงไฟฟ้าจะต้องเสียค่าปรับให้รัฐบาลวันละ 20 บาท

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกฎเกณฑ์ให้ผู้ใช้เรือทราบ ว่าได้มีการวางสายไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองสมเด็จและกรมไปรษณีย์ ห้ามไม่ให้ทอดสมอเรือชนิดใดๆ หรือเกาสมอเรือเป็นอันขาดจากสายไฟฟ้าในระยะ 100 หลา โดยมีป้ายวงกลมสีขาวขนาดใหญ่แจ้งบอกตำแหน่งแนวสายไฟฟ้าไว้ที่ชายฝั่งทั้งสองข้าง

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ส.ค. 16, 09:21

เคยเห็นป้ายบอก cable ที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า


บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ส.ค. 16, 09:48

ป้ายวงกลมนี้แหละครับ ด้านบนเห็นยอดพระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปัจจุบันยังมีพระปรางค์อยู่ มุมบนซ้ายคือกลุ่มควันโรงไฟฟ้าวัดเลียบ กรมไปรษณีย์ตั้งอยู่บริเวณนี้หรือเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพียงแต่สะพานสร้างภายหลังคือในปี พ.ศ. 2472
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 ส.ค. 16, 15:51

อ้างถึง
กำหนดจ่ายให้ส่วนราชการในช่วงเวลา 17.15 น. ถึง 23.30 น.
ยุคนั้น (พ.ศ. 2450) ราชการทำงานกันเวลาไหนครับ คือ ช่วงกลางวัน ไม่มีไฟฟ้า ผมก็เข้าใจว่า เป็นเพราะสมัยนั้น อุปกรณ์สำนักงานไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ยามกลางวันไม่มีไฟฟ้าก็สามารถทำงานได้ แต่เหตุใดจึงต้องจ่ายไฟถึง 23.30 ด้วยหละครับ

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 ส.ค. 16, 16:03

ถ้าอ้างถึงตำนานจำปาศักดิ์ในการใช้แว่นแก้วรวมแสงอาทิตย์มาจุดเป็นไฟแล้ว ก็จะขอเพิ่มข้อมูลให้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยทรง "จุดไฟฟ้า" คือไฟจากฟ้า ในการจุดเทียนหลวง
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 ส.ค. 16, 19:05

ขอบคุณครับคุณ Naris ในภาวะปกติที่โรงไฟฟ้าไม่ขาดฟืนจะใช้ไฟฟ้าแสงสว่างถึงเช้าตรู่ หลอดไฟฟ้าใช้ให้แสงสว่างแทนตะเกียง คบ ไต้และเทียนเพื่อความสะดวกปลอดภัยและป้องกันขโมย ส่วนราชการนั้นรวมถึงโคมไฟฟ้าตามถนนหลวงทั้งในและนอกกำแพงพระนคร หน่วยงานราชการ พระบรมมหาราชวัง พระราชฐานต่างๆ ซึ่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับประชุมเสนาบดีสภาเพื่อใช้บริหารราชการแผ่นดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานในที่ประชุมอยู่เป็นประจำ ปกติเริ่มประชุมเวลา 19.00 น. และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ใกล้เวลา 19.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้า ณ ข้างกระทรวงยุทธนาธิการ แล่นตรงจนสุดทางที่บางคอแหลม เสด็จพระราชดำเนิน แล้วเสด็จทรงรถรางไฟฟ้าแล่นกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังเวลา 3 ทุ่มเศษ ส่วนราชการด้านการสื่อสารเช่นโทรเลขโทรศัพท์ ไม่ทราบว่ามีคนอยู่เวรปฏิบัติงานเวลากลางคืนหรือไม่ ต้องรับโทรเลขจากต่างประเทศในเวลากลางคืนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ตามรั๊วกำแพงต้องมีหลอดไฟฟ้า
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 ส.ค. 16, 09:12

ขอบคุณครับ
ข้าราชการสมัยนั้น ทำงานกันตอนค่ำไปจนถึงดึกนี่เอง
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ส.ค. 16, 20:12

รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า


บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ส.ค. 16, 09:19

รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า

นางมณีเมขลา ล่อแก้ว
ให้ยักษ์รามสูร ขว้าง ขวานฟ้า หรือเปล่า
นิยายปรัมปรา ว่าด้วยเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ส.ค. 16, 11:18

รุ่นผม ต้องภาพนี้ครับ

 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 ก.ย. 16, 14:54

รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า

นางมณีเมขลา ล่อแก้ว
ให้ยักษ์รามสูร ขว้าง ขวานฟ้า หรือเปล่า
นิยายปรัมปรา ว่าด้วยเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

หรือเปล่า

ถูกต้องครับ ซึ่งในปี พ.ศ. 2410 เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุญนาค) ได้เขียนและลงบทความเรื่องการเกิดปรากฎการณ์ตามธรรมชาติต่างๆ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร มีใจความตอนหนึ่งว่า “ถามว่า ในท้องฟ้าบางทีก็มีเสียงดัง...ตำราไทยเขาว่านางมะณีเมขลาฬ่อแก้ว ยักษ์รามสูรเอาขวานขว้างไปจึ่งมีเสียงดัง และมีขวานฟ้าผ่าตกลงมามีรัศมีปลาบคือแสงแก้วนางมะณีเมขลา...ที่ว่าดังนั้นก็เห็นไม่มีพยานด้วยกันทั้งนั้น...ที่เรียกว่าฟ้าผ่าคือฟ้าต่ำลงมา...ทางแร่เดินที่ใดมาก ที่นั้นมักถูกไฟฟ้าเพราะแร่นั้นเกิดด้วยฤทธิ์ไฟมีธาตุไฟอยู่ในแร่มาก ไฟนั้นจึ่งขึ้นรับไฟฟ้า...ก็ที่ฟ้าร้องฟ้าแลบมีเสียงดังแล้วไม่ผ่าลงมา เห็นว่ายังไกลแผ่นดินอยู่ ฤทธิ์ไฟที่แผ่นดินจะขึ้นไปรับไม่ถึง ที่ฟ้าแลบมากสองแห่งสามแห่ง ก็เพราะไฟฟ้ามากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน...ที่เรียกว่าฟ้าผ่าคือไฟนั้นต่ำลงมา ธาตุไฟที่มีอยู่ในแผ่นดินทุกสิ่งก็ขึ้นรับไฟฟ้าลงมา.........ถ้าจะแก้คนถูกไฟฟ้าสลบไปเหมือนหนึ่งตายแล้วก็ดี บางทีก็รักษารอดได้บ้าง จะรักษานั้นให้คนผู้ต้องสายฟ้านั้นให้นอนอยู่ที่กลางแจ้ง เมื่อนอนนั้นยกศรีษะและไหล่ทั้งสองขึ้นวางบนหมอนให้สูงหน่อยหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำที่เย็นใสรดให้สูงบ้างพ่นบ้าง ตั้งแต่ศรีษะลงไปให้ทั่วทั้งกายแล้วถ้าคนไข้สะดุ้งขึ้นมา ก็พึงเข้าใจเถิดว่าฟื้นแล้ว....”

ขอถามต่ออีกหน่อย ว่ารูปนางมณีเมขลาเกี่ยวข้องอย่างไรกับบริษัทรถรางไทยทุนจำกัด (รถรางไฟฟ้าของคนไทยล้วนๆ) ที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ที่วัดเทวราชกุญชรแถวเทเวศน์ ไม่ใช่บริษัทบางกอกแตรมเวจำกัดของพวกฝรั่งชาวต่างชาติที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ที่เชิงสะพานเหล็กนะครับ

ไม่เห็นมีคนพูดถึงประเด็น ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อนปี พ.ศ. 2427 หลายปี กันบ้างเลย  ฮืม  รูดซิบปาก ร้องไห้
บันทึกการเข้า
สมบัติ สุขุมาลย์
ชมพูพาน
***
ตอบ: 137


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 03 ก.ย. 16, 15:30

อยากรู้จังเลยครับว่าใคร คนไหน ของชาวสยาม ที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรก

ช่วงที่ได้ค้นคว้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีพบบ้างว่าไฟฟ้าดูดคนตาย แต่เป็นการตายที่ไม่ปกติ กล่าวคือเป็นการตายจากการเกิดข้อสงสัยของชาวบ้าน ว่ารถรางไฟฟ้าแล่นได้อย่างไร เช่นในช่วงแรกๆ ผู้คนไม่รู้ว่าสายลวดหรือสายไฟฟ้าเปลือยไม่มีฉนวนหุ้มที่อยู่สูงขึ้นไปจากบนหลังคารถรางตลอดเส้นทางที่รถแล่นนั้นมีไฟฟ้าหรือจับแตะต้องแล้วทำให้ตายได้ อย่างไรก็ตามพิสูจน์ได้ยากมากหรือยืนยันไม่ได้ ว่าคนที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรกนั้นคือใคร ยกตัวอย่างเช่นอาจมีการสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรก เมื่อทดลองเดินเครื่องทำให้คนงานในโรงไฟฟ้าถูกไฟฟ้าดูดตายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วมีการปกปิดข่าวก็เป็นไปได้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 ก.ย. 16, 11:49

อยากรู้จังเลยครับว่าใคร คนไหน ของชาวสยาม ที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรก

ช่วงที่ได้ค้นคว้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีพบบ้างว่าไฟฟ้าดูดคนตาย แต่เป็นการตายที่ไม่ปกติ กล่าวคือเป็นการตายจากการเกิดข้อสงสัยของชาวบ้าน ว่ารถรางไฟฟ้าแล่นได้อย่างไร เช่นในช่วงแรกๆ ผู้คนไม่รู้ว่าสายลวดหรือสายไฟฟ้าเปลือยไม่มีฉนวนหุ้มที่อยู่สูงขึ้นไปจากบนหลังคารถรางตลอดเส้นทางที่รถแล่นนั้นมีไฟฟ้าหรือจับแตะต้องแล้วทำให้ตายได้ อย่างไรก็ตามพิสูจน์ได้ยากมากหรือยืนยันไม่ได้ ว่าคนที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรกนั้นคือใคร ยกตัวอย่างเช่นอาจมีการสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรก เมื่อทดลองเดินเครื่องทำให้คนงานในโรงไฟฟ้าถูกไฟฟ้าดูดตายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วมีการปกปิดข่าวก็เป็นไปได้

ชาวสยามนี้่ซนจริงๆ สนใจใคร่รู้ไปถึง ลวดบนรถราง  ลังเล
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง