เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 120 เมื่อ 10 ก.ย. 16, 17:38
|
|
เรื่องนี้ถ้าเป็นละครทีวี คนดูคงนั่งรอกันแทบหลับ กว่าพระเอกจะโผล่มาตอนจบ พระนางเอลิซาเบธเป็นผู้หญิงที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ก็คงใช้ประสบการณ์สร้างสมความเชี่ยวชาญทางการเมืองติดตัวเอาไว้ไม่น้อย พระนางได้ผูกมิตรกับสตรีบรรดาศักดิ์คนหนึ่งชื่อว่าเลดี้มาร์กาเร็ต โบเฟิร์ด ที่เป็นมิตรกันไม่ใช่ว่ารักชอบอัธยาศัยกันเป็นพิเศษ แต่เป็นเพราะเลดี้คนนี้มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อเฮนรี่ ทูเดอร์ ( Henry Tudor) หนุ่มคนนี้สืบสายเลือดมาจากราชสกุลแลงคาสเตอร์ แม้ว่าเป็นสายเลือดห่างๆแต่ก็พอจะอนุโลมได้ว่าใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะหาได้ในอังกฤษ เนื่องจากสายเลือดแลงคาสเตอร์ที่ใกล้ชิดราชบัลลังก์มากกว่านี้ล้มหายตายจากกันไปหมดสิ้นแล้ว ในสงครามดอกกุหลาบที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ สตรีทั้งสองได้ตกลงผูกข้อมือ(ตามสำนวนไทย)เอาไว้ ระหว่างเฮนรี่กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ค ทั้งนี้เพื่อจะหากำลังสนับสนุนทั้งทางฝ่ายยอร์คและฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่เหลืออยู่ในราชอาณาจักร แต่ฝ่ายชายเองก็หาได้อยู่สบายๆในอังกฤษไม่ เขาต้องลี้ภัยไปอยู่ที่บริตตานี่ แต่ก็อาศัยทุนให้ยืมจากพระเจ้าแผ่นดินบริตตานี ยกทัพมาอังกฤษ โดยสมคบกับดยุคแห่งบัคกิ้งแฮมก่อกบฎต่อพระเจ้าริชาร์ด อย่างที่เล่ามาแล้วในค.ห.ก่อน แผนกบฏล้มเหลว บัคกิ้งแฮมพ่ายแพ้ถูกประหารไปก่อน เฮนรี่ต้องหนีเอาตัวรอดไปฝรั่งเศส
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 121 เมื่อ 11 ก.ย. 16, 10:00
|
|
อย่างไรก็ตาม เฮนรี่ไม่ยอมแพ้ เมื่อหนีไปอยู่ฝรั่งเศสเขาก็เกลี้ยกล่อมพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสให้สนับสนุนเงินทองและกองทัพ ยกมาชิงบัลลังก์อังกฤษจนได้ อีกครั้งหนึ่ง เฮนรี่เป็นคนฉลาดในการใช้สิ่งที่มีให้เป็นประโยชน์ ในยุคกลาง เชื้อสายชาติกำเนิดสำคัญที่สุดในการเรียกความศรัทธานับถือจากชาวบ้านราษฎรทั้งหลาย เมื่อต้องการกำลังพลจากที่ไหน เขาก็อ้างเชื้อสายตัวเองว่าสืบมาจากผู้นำหรือวีรบุรุษของถิ่นนั้น เช่นไปที่เวลส์ก็บอกว่าตัวเองสืบเชื้อสายมาจากอดีตพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ของเวลส์ ก็ได้ผลดี คือชาวบ้านไม่คิดจะต่อต้าน กองทัพของเฮนรี่ก็ผ่านได้ลอยลำ เผลอๆจะได้ชาวบ้านมาสมทบด้วยเสียอีก เฮนรี่ฉลาดพอจะอ้างตัวเองเป็นเชื้อสายแลงคาสเตอร์ที่เหลืออยู่คนเดียวในอังกฤษ เพื่อเรียกความจงรักภักดีจากขุนนางฝ่ายกุหลาบแดงทั้งหลายที่ยังเหลืออยู่พอสมควร เพียงแต่ขาดผู้นำ ทั้งๆที่การอ้างของเขา ดูจากสมัยนี้มันก็ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ คืออ้างจากทางแม่ ไม่ใช่ทางพ่อ เขาอ้างว่าแม่ของเขาเป็นเหลนของเสด็จทวดจอห์นแห่งก๊อนท์ ดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ ชื่อนี้ถ้าใครจำไม่ได้โปรดย้อนกลับไปอ่านกระทู้ต้นๆนะคะ ดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ผู้เป็นต้นตระกูลกุหลาบแดงผู้นี้ สมรส 3 หน ทั้งๆมีเมียอยู่แล้วก็ไปได้เมียลับๆชื่อแคทเธอรีน (ซึ่งเป็นนิยายนางเอกเรื่อง"แคทเธอรีน" ที่ "สุคนธรส" แปลเป็นไทยแล้ว) มีลูกออกมาหลายคน แน่นอนว่าลูกเหล่านี้เป็นลูกนอกสมรส แต่ว่าในบั้นปลายท่านดยุคสมรสกับแคทเธอรีนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยังผลให้เธอกลายเป็นภรรยาตามกฎหมาย ไม่ใช่เมียเก็บอย่างเมื่อก่อน และลูกที่มีกันก่อนหน้านี้ รัฐสภาก็ออกกฎหมายย้อนหลังให้มีผลเป็นลูกตามกฎหมายกันหมด หนึ่งในจำนวนนี้ละค่ะเป็นบรรพบุรุษของแม่ของเฮนรี่
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 122 เมื่อ 11 ก.ย. 16, 10:32
|
|
เวลานั้นพระเจ้าริชาร์ดครองราชย์ได้ 2 ปี เป็น 2 ปีที่พระองค์กำจัดถากถางเสี้ยนหนามไปได้หมด รวมทั้งหอกข้างแคร่ล่าสุดคือบัคกิ้งแฮม ราษฎรไม่ชอบพระราชาองค์นี้เลย แต่ยังสงบอยู่เพราะหาใครมาต่อต้านไม่ได้ เฮนรี่จึงมองออกว่า ถ้าจะชิงบัลลังก์ให้ได้ก็ต้องจบชีวิตพระเจ้าริชาร์ดให้ได้โดยเร็วที่สุด จะเป็นอันหมดปัญหา ไม่ต้องกลัวเสี้ยนหนามอื่น นอกจากนี้ พระเจ้าริชาร์ดยังกุมอำนาจไว้ได้เบ็ดเสร็จ พระองค์ไม่ต้องทำอะไร แค่รักษาชีวิตไว้ให้รอดอยู่บนบัลลังก์ก็ชนะแล้ว เขาก็เลยตัดสินใจทำศึกแบบแตกหัก เรียกว่าใครดีใครอยู่ ศึกครั้งนี้มีชื่อว่า the Battle of Bosworth Field รบกันที่ทุ่งบอสเวิร์ธในมณฑลเลสเตอร์เชอร์ ศึกครั้งนี้เป็นศึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของอังกฤษ เพราะเป็นศึกที่จบสงครามดอกกุหลาบลงโดยสิ้นเชิง พูดไปๆ เรื่องนี้ก็เหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิตนะคะ กองกำลังทางฝ่ายเฮนรี่มีน้อยกว่าทัพหลวง มีคนประมาณ 5000 คน น่าจะเสียเปรียบตั้งแต่ต้นมือแล้ว แต่ของพรรค์นี้มันบ่แน่ดอกนาย ทัพหลวงที่ยกมาเกิดแปรพักตร์ ขุนนางบางส่วนยกไพร่พลมาแล้ว เกิดลังเลว่าเราจะสู้เพื่อพระราชาต่อไปหาอะไร เราก็ไม่ได้ชอบพระองค์เลยสักนิด พระองค์เองจะปูนบำเหน็จคุ้มไหมก็ไม่รู้ สู้เอากำลังไปช่วยฝ่ายโน้น หรือเฉยๆซะก่อน ดูว่าฝ่ายไหนเพลี่ยงพล้ำค่อยร่วมกับฝ่ายชนะ เอาชิ้นปลามันมากินมิดีกว่าหรือ พอคิดอย่างนี้ ขุนนางพวกนี้ก็เลยถอยทัพกลับ ไม่ร่วมรบด้วยซะดื้อๆ เหลือแต่ทัพขุนนางมือซ้ายมือขวาของพระเจ้าริชาร์ดเข้ารบกับฝ่ายเฮนรี่ พวกนี้ใจฝ่อที่พรรคพวกแตกแยกออกไปอยู่แล้ว ก็เริ่มระส่ำระสายเมื่อเจอแม่ทัพฝ่ายเฮนรี่ที่มือเหนือกว่า ทหารบางส่วนแตกระจัดกระจายหนีเอาตัวรอดไปดื้อๆ ส่วนขุนนางฝ่ายแปรพักตร์เห็นท่าว่าฝ่ายพระราชาเห็นทีจะไม่ไหว ก็ระดมพลฝ่ายตัวเองพุ่งเข้าสนามรบเข้าช่วยฝ่ายเฮนรี่ อัศวินทั้งหลายช่วยกันล้อมกรอบพระเจ้าริชาร์ด กลุ้มรุมสังหารพระองค์ดับสนิทอยู่ในสนามรบนั่นเอง สงครามดอกกุหลาบก็จบลงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนับแต่ครั้งนั้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 123 เมื่อ 11 ก.ย. 16, 10:34
|
|
อีกรูปหนึ่งค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 124 เมื่อ 11 ก.ย. 16, 10:38
|
|
วาระสุดท้ายของพระเจ้าริชาร์ด วาดโดยจิตรกรยุคปัจจุบัน
|
 คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 125 เมื่อ 11 ก.ย. 16, 16:23
|
|
ว่ากันว่า คำพูดสุดท้ายของพระเจ้าริชาร์ดก่อนพบจุดจบด้วยน้ำมือข้าศึก คือทรงตะโกนว่า "ทรยศ" คำนี้น่าจะหมายถึงขุนนางฝ่ายแปรพักตร์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือเซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น เป็นสามีของมาร์กาเร็ต โบเฟิร์ด แม่ของเฮนรี่ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของเฮนรี่ ทูเดอร์นั่นเอง สแตนลีย์แสดงตัวเป็นฝ่ายยอร์คมาตลอด เป็นหนึ่งในข้าราชบริพารที่พระเจ้าริชาร์ดไว้ใจให้เป็นหนึ่งในขุนพลฝ่ายพระองค์ ยกทัพออกไปปราบกบฎในครั้งนี้ ในเมื่อสแตนลีย์เป็นเพียงพ่อเลี้ยง ไม่ใช่พ่อแท้ ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะจงรักภักดีต่อเจ้านายมากกว่าลูกเลี้ยง แต่พอถึงสนามรบเข้าจริง สแตนลีย์ดันรวนเร ถอยพลของตัวเองออกไปไม่เข้ารบเสียเฉยๆ พระเจ้าริชาร์ดก็ไม่มีทางอื่นนอกจากตะลุยเข้าไปกลางสมรภูมิ เพื่อจะเด็ดชีพเฮนรี่เสียให้เร็วที่สุด จบศึกคราวนี้ลงได้เสียที รูปการณ์กลายเป็นว่า พระเจ้าริชาร์ดเลยถลำเข้าไปท่ามกลางวงล้อมของศัตรู เป็นเสือในฝูงสิงห์ที่โจนเข้ามาทุกทิศทุกทาง แต่ประวัติศาสตร์ก็ยอมรับว่าพระองค์สู้อย่างนักรบผู้กล้า เด็ดชีพขุนศึกฝ่ายเฮนรี่ไปได้สองหรือสามคนด้วยมือพระองค์เอง ก่อนม้าจะถลำลงไปในหล่ม ไปไหนไม่ได้ พระองค์ก็เลยถูกจ้วงฟันด้วยฝีมือข้าศึก บาดแผลผ่าลึกเข้าไปถึงกระโหลก จากนั้นก็ถูกกลุ้มรุมฟันอย่างไม่นับ บาดแผลที่ค้นพบจากโครงกระดูกในระยะหลังมีถึง 11 แผล เฉพาะกระโหลกศีรษะมีถึง 8 ก็คงจะสิ้นพระชนม์ลงไปทันที ไม่ทันเจ็บปวดทรมานยาวนาน พระศพของริชาร์ดถูกถอดเสื้อผ้าออกเหลือแต่ร่างเปล่าๆ ผูกติดหลังม้าแห่ไปให้ฝายชนะดู เป็นการประจาน แต่ก็ยังดี พระเจ้าเฮนรี่ก็ฝังพระศพให้เรียบร้อยในโบสถ์ของมณฑลนั้นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 126 เมื่อ 11 ก.ย. 16, 18:24
|
|
เมื่อแม่ทัพใหญ่สิ้นชีวิตในการรบ ก็ถือว่าทัพฝ่ายนั้นพ่ายแพ้ไปอย่างเด็ดขาด เฮนรี่ผู้ชนะก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ ทรงยุติสงครามดอกกุหลาบที่ยืดเยื้อมาหลายสิบปีด้วยการเสกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ค พระธิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เพื่อรวมแลงคาสเตอร์ทางฝ่ายเจ้าบ่าวและยอร์คทางฝ่ายเจ้าสาวเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตราของราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์ทูเดอร์ จึงมีรูปกุหลาบขาวซ้อนอยู่บนกุหลาบแดง หมายถึงการรวมกันระหว่างสองราชสกุล ไม่แตกแยกกันอีกต่อไป มีเฮนรี่ ทูเดอร์ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ทูเดอร์
หมายเหตุ คำว่า Tudor นี้ นักแปลออกเสียงว่า ทิวดอร์ บ้าง ทิวเดอร์บ้าง ทูดอร์บ้าง ทูเดอร์บ้าง เจ้าของกระทู้นี้ไปถามเว็บออกเสียง ก็ออกเสียงกันไปคนละแบบ อังกฤษอย่าง อเมริกันอย่าง แม้แต่อังกฤษด้วยกันก็ออกเสียงไม่เหมือนกัน แต่เสียงส่วนใหญ่ออกเสียงว่า ทูเดอร์ ก็เลยขอทูเดอร์ตามนั้นค่ะ
ขอจบกระทู้แต่เพียงนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
tita
|
ความคิดเห็นที่ 127 เมื่อ 12 ก.ย. 16, 11:21
|
|
นั่งฟังเลคเชอร์อย่างเพลิดเพลิน จนจบคลาสอย่างไม่รู้ตัว
ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่กรุณาสละเวลาเรียบเรียงข้อมูล บรรยายทั้งครอบคลุมข้อมูลสำคัญ และสนุกสนานชวนติดตาม
ถ้าอ่านเองคงเข้ารกเข้าพงสับสนชีวิตไปแล้ว เพราะไม่รู้เลยว่าในสงครามครั้งนี้ยังมีศึกสำคัญซ้อนอยู่มากมาย ผลัดกันแพ้ชนะหลายชั่วคน
ส่วนใหญ่แล้วประวัติศาสตร์อังกฤษเราจะคุ้นเคยตั้งแต่ช่วงราชวงศ์ทูเดอร์ลงมา อาจเป็นเพราะมีเรื่องราวดราม่ามากมายในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระนางแมรี่ ที่ 1 พระนางอลิซาเบธที่ 1 ลงมาจนราชวงศ์ต่อๆ มา ในขณะที่ข้อมูลเรื่องราวของราชวงศ์ในยุคกลางอย่าง plantagenet ค่อนข้างกระจัดกระจายปะติดปะต่อข้อมูลลำบาก ได้กรอบใหญ่จากกระทู้นี้ช่วยทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้มากขึ้น การค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมก็จะสะดวกและเข้าใจง่ายขึ้น
ขอบพระคุณมากนะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Naris
|
ความคิดเห็นที่ 128 เมื่อ 12 ก.ย. 16, 11:35
|
|
ผมก็ยังอยู่นะครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Jalito
|
ความคิดเห็นที่ 129 เมื่อ 12 ก.ย. 16, 12:35
|
|
ผมก็ยังอยู่ครับ มึนๆกับ เอ็ดเวิร์ด ริชาร์ด เฮนรี่ จนหลุดออกจากเรือนไม่รู้ตัว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศุศศิ
อสุรผัด

ตอบ: 32
|
ความคิดเห็นที่ 130 เมื่อ 12 ก.ย. 16, 14:42
|
|
มารายงานตัวครับ สงครามกุหลาบผมได้ยินครั้งแรกไม่ได้มาจากประวัติการสู้รบตามกระทู้นี้ แต่ได้ยินจากการแข่งฟุตบอลพรีเมียร์ของอังกฤษ แน่นอนคู่รักคู่แค้นคือ ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ทีมลิเวอร์พูล ที่คนไทยรู้จักในนาม ศึกแดงเดือด แต่ยังมีอีกคู่เรียกว่าสงครามดอกกุหลาบ คือทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด(แคว้นเชสเชียร์ โลโก้เก่าจะมีกุหลาบแดงอยู่ด้วย) กับ ทีมลีดส์ ยูไนเต็ด แคว้นยอร์คเชียร์ โลโก้จะมีกุหลาบขาว) สองทีมนี้เป็นทีมคู่รักคู่แค้นกันมาเหมือนกัน แต่ปัจจุบัน ลีดส์ตกไปอยู่ในลีกรองแล้ว เลยไม่ค่อยเจอกันอีก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นางมารน้อย
พาลี
   
ตอบ: 306
ทำงานแล้วค่ะ
|
ความคิดเห็นที่ 131 เมื่อ 13 ก.ย. 16, 09:50
|
|
มาตามอ่านจนจบค่ะ 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
|
|
|
paganini
|
ความคิดเห็นที่ 132 เมื่อ 25 เม.ย. 21, 03:26
|
|
มาตามเรียนหลังจากคลาสเลิกไปแล้ว 5-6 ปี ยังได้ความรู้เต็มที่อยู่ครับ
ขอบคุณครับคุณครู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 133 เมื่อ 25 เม.ย. 21, 16:43
|
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
paganini
|
ความคิดเห็นที่ 134 เมื่อ 25 เม.ย. 21, 22:08
|
|
บังเอิญจริงที่คืนนี้มีสงครามดอกกุหลาบในยุคใหม่ ลีดส์ยูไนเต็ด รับการมาเยือนของ แมนเชสเจอร์ยูไนเต็ด ผลสดๆร้อนๆคือเสมอกันไป 0-0 พึ่งจะสังเกตว่าตราสัญลักษณ์ของสโมสร มีดอกกุหลาบขวาของยอร์กอยู่ด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|