เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 12
  พิมพ์  
อ่าน: 32244 เรื่องของไวน์กับงานสังคม
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 17 ก.ย. 16, 19:04

ดังที่ได้กล่าวว่าพื้นที่ปลูกองุ่นแต่ละแปลงของชาวบ้านเป็นพื้นที่เล็ก ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้ที่มีฐานะดีกว่าและยังมีโรงผลิตไวน์อีกด้วยอยู่ในพื้นทีย่านนั้นๆ เข้ามาซื้อองุ่นหรือน้ำองุ่นจากชาวไร่ในลักษณะกระจายทั่วๆไป แล้วเอาไปผสมกันที่โรงงานของตนเพื่อผลิตไวน์ในตราฉลากของตน  จึงต้องมีมือปรุงน้ำหมักไวน์ประจำแต่ละโรงงาน ออกตระเวนไปตามไร่ต่างๆเพื่อคัดหรือเลือกซื้อองุ่นจากหลายแห่งที่มีความเหมาะสมที่จะเอามาผสมรวมกันเพื่อให้สามารถผลิตไวน์ได้ตามคุณสมบัติและมาตรฐานของตนที่ได้ทำตลาดไว้ในปีก่อนๆตลอดมา

ภาพในส่วนของผู้ปลูกองุ่นและผู้ทำไวน์ที่เป็นลักษณะของ OTOP มันก็เป็นเช่นนี้  

อยู่ในพื้นที่มานานพอควร ก็ทำให้ผมเองพอจะมีพื้นที่แหล่งผลิตและสายพันธุ์องุ่นต่างๆที่พึงพอใจเป็นการเฉพาะอยู่เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 17 ก.ย. 16, 19:34

เข้ามาในเขตที่เป็นชุมชนของคนในชนบทที่ผู้คนมีไร่ไวน์ ก็ จะเห็นอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพของสถานที่คล้ายๆโรงเก็บรถหรือโกดังในเมือง อาจจะดูเงียบๆ ไม่ค่อยจะมีรถจอดอยู่ด้านหน้าหรือมีผู้คนเข้าออก   ครับ..เป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้ามาแวะชิมไวน์ของถิ่นนั้น เผื่ออาจจะได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันบ้าง

ในร้านจะมีไวน์หลากหลายยี่ห้อ วางรวมกันอยู่บนโต๊ะสูงระดับประมาณใต้ราวนม มักจะมีไม่น้อยกว่าสองโต๊ะ แต่ละโต๊ะจะมีไวน์ต่างยี่ห้อกันประมาณ 10+ ขวดวางอยู่   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 18 ก.ย. 16, 18:24

ร้านพวกนี้มักจะมีอยู่เพียงร้านเดียวในเมืองนั้นๆ แต่ก็เคยเห็นที่มีอยู่สองสามร้านเหมือนกัน   มันก็คือร้านขายไวน์ที่มีการผลิตอยู่ในท้องถิ่นแถวๆนั้น  ไวน์ที่วางรวมกันอยู่บนโต๊ะนั้น ส่วนมากจะเปิดขวดแล้ว  ผู้ขายจะเข้ามาแนะนำและให้ลองจิบชิมดู แต่หากจะนึกสนุก ก็จ่ายเงินแล้วกินเป็นแก้วๆไปเลย   

ไวน์ท้องถิ่นพวกนี้เราจะไม่เคยได้ยินชื่อเลย  นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นจะซื้อไวน์พวกนี้ไปดื่มกินกันภายในครอบครัวในลักษณะของๆดื่มกินในมื้ออาหารปกติประจำแต่ละวัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 18 ก.ย. 16, 18:58

ผมได้เรียนรู้ถึงความต่างของไวน์ที่เรียกว่าไวน์ดีหรือที่ว่าใช้ได้นั้น ก็จากการได้สัมผัสและลิ้มลองไวน์ท้องถิ่นเหล่านี้  ซึ่งพอจะอธิบายได้ง่ายๆด้วยการเปรียบเทียบดังนี้ 

ก็คล้ายๆกับการทำน้ำแก้กระหายด้วย น้ำผึ้ง มะนาว โซดา  ซึ่งหากการผสมไม่ดี เราก็จะได้สัมผัสกับรสที่แยกกันระหว่างความหวานของน้ำผึ้ง ความเปรี้ยวของน้ำมะนาว และรสจืดซ่าๆของน้ำโซดา  ซึ่งผมใช้คำเปรียบเปรยว่า เนื้อไปทางน้ำไปทาง   ไวน์ท้องถิ่นเหล่านั้น รสสัมผัสอาจจะยังไม่ดีพอที่จะเข้าไปแข่งขันอยู่ในตลาดระดับเมืองใหญ่ (ระดับจังหวัด หรือ ระหว่างจังหวัด) แต่ก็ดีพอที่จะใช้ดื่มได้ในตามวิถีชีวิตของคนในชนบท 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 18 ก.ย. 16, 19:25

และก็ได้เคยสัมผัสกับไวน์ในระดับที่เรียกว่าดีเยี่ยม (ตามความรู้สึกของผม) ไม่มีตรา ไม่มียี่ห้อ มีแต่กระดาษสีแดงๆ ไม่มีตัวอักษรใดๆเขียนอยู่ ปิดเป็นฉลากขวดเท่านั้น   ที่ประเทศแคนาดา ในงานเลี้ยงอำลาหลังจากภาระกิจเสร็จสิ้น  เจ้าบ้านเป็นผู้มีอันจะกิน มีไร่องุ่นของตนเองอยู่ในประเทศทางอเมริกาใต้ ทำการผลิตไวน์เพื่อใช้ดื่มของตนเองส่งตรงมาจากไร่   แล้วก็มีปศุสัตว์เล็กๆของตนเองในแคนาดา เลี้ยงวัวเอง ชำแหละเอง   

งานในวันนั้นเป็นเนื้อย่างกับไวน์ แต่จัดเป็นแบบปาร์ตี้หลังบ้าน   ไวน์แดงมีน้ำที่มีความข้นมาก มีสีเข้ม มีรสฝาดมากกว่าปกติ มีกลิ่นหอมชวนดื่ม คู่กับเนื่้อที่บ่มจนได้ที่ ย่างแบบ medium rare แล้วหั่นเป็นชิ้นๆขนาดประมาณนิ้วชี้ จิ้มกินกันในลักษณะกับแกล้ม  สุดยอดจริงๆ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 18 ก.ย. 16, 19:31

ไวน์กับเนื้อย่าง


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 18 ก.ย. 16, 20:01

นั่นแหละครับ   

ในภาพยังเห็นกิ่งของต้น Rosemary ด้วย      รูดใบหรือหักกิ่งต้นโรสแมรีมาสักช่อหนึ่งขยำกับเนื้อแล้วย่างไปพร้อมๆกัน  จะเพิ่มความหอมให้กับเนื้อผสมกลิ่นควันไฟ กลิ่นขิ่วของเนื้อจะหายไปเยอะเลยทีเดียว  ใช้ได้ทั้งใบสดหรือใบแห้ง

ต้นโรสแมรีนี้ ในปัจจุบันในไทยมีผู้ผลิตขายแล้วนะครับ เห็นได้ในตลาดขายต้นไม้ทั่วๆไป (ที่ตลาดนัดต้นไม้ที่จตุจักรก็มีขาย)  เลี้ยงยากอยู่เหมือนกันครับ  ต้องการแดดแต่ต้องไม่แรงนัก ดินต้องระบายน้ำได้ดี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 19 ก.ย. 16, 17:51

เมื่อเข้ามาในระดับเมืองใหญ่ ก็จะมีร้านที่เปิดเพื่อขายไวน์สนองให้กับลูกค้าเฉพาะทาง ซึ่งก็พอจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขายไวน์ที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วๆไป สำหรับผู้นิยมดื่มไวน์  กลุ่มที่ขายไวน์ท้องถิ่นที่ค่อนข้างจะเป็นที่นิยมของพื้นที่  และกลุ่มที่ขายไวน์คละระดับ (ในซุปเปอร์มาเก็ต) ซึ่งมักจะเป็นไวน์ประเภทที่มีราคาย่อมเยาว์ เพื่อเอาไปทำอาหารหรือดื่มกินบ้าง    คงไม่ต้องขยายความต่อนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 19 ก.ย. 16, 18:28

ก็มาถึงพวก estate wine 

ผู้ผลิตไวน์ของกลุ่มนี้มีความคิดอยู่บนพื้นฐานของการอุตสาหกรรมและการตลาด  พื้นที่ทำกิจการจะมีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก แหล่งผลิตสำคัญที่รู้แน่ๆก็คือ อยู่ในออสเตรเลียและในอัฟริกาใต้  สำหรับแหล่งผลิตอเมริกาใต้และนิวซีแลนด์นั้นไม่แน่ใจครับ

ไวน์ของผู้ผลิตแต่ละเจ้าในกลุ่มนี้มีหลายชนิดและหลายระดับมาก มีทั้งไวน์จากองุ่นสายพันธุ์เดิมที่เป็นที่นิยมกัน สายพันธุ์เดิมที่ไม่ค่อยจะรู้จักหรือนิยมกัน และสายพันธุ์ผสมใหม่   

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีไวน์ที่ผลิตจากองุ่น(น้ำ)ต่างสายพันธุ์ผสมกัน  กระบวนการผลิตและการบ่มที่ต่างกัน และใช้บรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายอีกด้วย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 19 ก.ย. 16, 19:06

ผมเคยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสสถานที่และผู้ผลิตของไวน์กลุ่มนี้ในออสเตรเลีย  ในการเลื้ยงสังสรรระหว่างผู้ประกอบการกับคณะศึกษาดูงานนานาชาติ เป็นแบบกันเองจริงๆ   นั่งกันในโต๊ะยาวกลางแจ้งช่วงเวลาแดดร่มลมตก มีไวน์หลากหลายชนิดของผู้ผลิตวางตั้งรวมอยู่เป็นกองเป็นจุดๆตลอดความยาวของโต๊ะ   เนื่องจากเป็นฟรีบาร์ แต่ละคนก็เลยลองจิบไวน์ชนิดต่างๆ สุดท้ายก็หน้าตึงๆกันไปทั้งโต๊ะ  จำได้ว่าอาหารเย็นมื้อนั้นเป็นเนื้อแกะ แต่ไม่เห็นมีผู้ใดสนใจว่าจะต้องกินคู่กับไวน์แดงเลย   

ความรู้จากการสนทนาที่ได้จากฝ่ายผู้ผลิตในงานเลี้ยงครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมได้มองเห็นเรื่องของไวน์ไปในอีกภาพหนึ่ง     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 21 ก.ย. 16, 18:22

ไวน์ที่มีการผลิตและสามารถวางขายอยู่ในตลาดนานาชาติได้นั้น ก็ต้องถือว่าทุกขวดเป็นไวน์ที่ใช้ได้ จะไม่มีแบบเนื้อไปทางน้ำไปทางอย่างแน่นอน     คนปกติธรรมดาๆอย่างเราๆ พอจะจำแนกความต่างของไวน์แต่ละยี่ห้อที่มีวางขายอยู่ทั่วๆไปได้ด้วยสัมผัสแรกที่จิบ แต่ก็ไม่ชัดเจนนัก ที่ชัดเจนก็ในเรื่องของความกลมกล่อมนุ่มนวลของรสชาติ กลิ่น สีและความเข้มข้นของน้ำไวน์  ส่วนความลุ่มลึกอื่นๆนั้น เช่น กลิ่นดิน กลิ่นไม้ กลิ่นดอกไม้ ความเป็น vintage...ฯลฯ เหล่านั้น คงจะเป็นเรื่องที่จำแนกได้ยาก  ที่เราเห็นคำบรรยายบนฉลากที่ขวดหรือในวารสารต่างๆนั้น เป็นคำบรรยายของนักชิมไวน์อาชีพที่ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนกันมานานหลายปี



     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 21 ก.ย. 16, 18:54

ไวน์ก็เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ต้องมีการโฆษณาคุณสมบัติและสรรพคุณ เมื่อสินค้าติดตลาดแล้วหลายผู้ผลิตก็ลดการโฆษณา ในขณะที่ราคาขายก็จะค่อยๆขยับขึ้นไป กลายเป็นของดีราคาสูง ทำให้ยอดขายจำกัดมากขึ้น  ก็จะต้องมีสินค้าใหม่ในราคาที่ย่อมเยาว์กว่าเดิมมาทดแทน กลายเป็นของดีราคาต่ำ (จากผู้ผลิตมีคุณภาพ) 

ในสังคมนานาชาติที่ได้ประสบมา คนทำงานในระดับพอจะมีอันจะกินจะเป็นพวก price sensitive ทั้งนั้น  จะเรียกว่าเป็นพวกรายได้น้อยแต่มีรสนิยมสูงก็ได้  ของดีราคาถูกก็จึงเป็นที่รู้จักและแพร่กระจายอยู่ในหมู่คนพวกนี้  หากได้มีโอกาสติดตามข่าวสารเรื่องไวน์ในตลาดโลกดูก็จะพบว่า ไวน์ราคาต่ำมักจะได้รับเลือกให้เป็นไวน์ยอดเยี่ยมแห่งปีเสมอๆ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 21 ก.ย. 16, 19:55

ในอีกภาพหนึ่ง   หากอ่านฉลากที่ขวดไวน์ ก็จะพบว่า ไวน์หลายๆขวด หลายๆชื่อ หลายยี่ห้อ และหลายๆชนิดนั้น โดยเฉพาะที่หากเป็นไวน์ของโลกใหม่นั้น ก็จะมีที่ทำมาจากผู้ผลิตเดียวกันอยู่ไม่น้อย ดังภาพที่ผมได้กล่าวถึง Estate wine หลายชนิดวางอยู่บนโต๊ะงานเลี้ยง   แล้วด้วยเหตุใดเขาจึงผลิตไวน์หลายชนิดออกขายในตลาด เรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับคำพูดก่อนกลับบ้านหลังจากเลิกลาจากงานเลี้ยงที่ว่า good food, good wine     ครับ..ที่จะว่าไวน์ดีหรือไม่ดีนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็จะไปเกี่ยวพันกับการเลือกจับคู่ระหว่างอาหารมื้อนั้นๆ ชนิดนั้นๆ ที่ปรุงรสชาติแบบนั้นๆ กับรสชาติของไวน์นั้นๆ   ไวน์ดีหรือไวน์ราคาสูงก็จึงมิได้หมายความว่าจะต้องดีเสมอไปกับอาหารมื้อนั้นๆ ไวน์ราคาที่ต่ำกว่ามากก็อาจจะเข้ากันได้ดีกับอาหารมื้อนั้นๆอย่างสุดยอดก็ได้   การจับคู่อาหารกับไวน์นี้ (pairing wine with food) จัดได้ว่าเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ก็ขนาดเป็นประสพการณ์ที่มีการถ่ายทอดต่อๆกัน 

ครับ..ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจะสบายใจได้ว่า หากเราคิดว่าอยากจะใช้ไวน์ในงานสังคมใดๆของเรา ก็อย่าไปกังวลกับเรื่องของราคา ชื่อ และยี่ห้อของไวน์ให้มากจนเกินเหตุ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 22 ก.ย. 16, 19:00

เมรัยกับอาหารนี้ เป็นของคู่กันที่ปรากฎอยู่ในเกือบจะทุกสังคม แต่ละชนชาติก็จะมีขั้นตอน วิธีการ กฎ กติกา และมารยาทในการจัดการกับเมรัยนั้นแตกต่างกันไป

ก็จะขอขยายเรื่อง และต้องขออภัยที่จะต้องเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน

ในสังคมจีน จะต้องมีการดื่มอวยพรกันก่อนกิน ใช้จอกใส่เหล้าประจำถิ่นเพื่อดื่มอวยพร จากนั้นจะเป็นเป็นเมรัยอะไรก็ได้  อาหารแบบจีนเป็นแบบจานรวม แขกสำคัญจะต้องเป็นผู้คีบอาหารที่มาเสิร์ฟเป็นคนแรกเสมอ  จากนั้นต่างคนต่างก็จัดการกับอาหารเหล่านั้นด้วยตัวเอง เกือบจะไม่มีการใช้ตะเกียบคีบอาหารให้แก่กัน หากจะต้องทำก็จะต้องกลับตะเกียบ ใช้ส่วนด้ามคีบไปวางให้ในถ้วยข้าว   การใช้ตะเกียบคีบอาหารส่งต่อให้แก่กันเป็นเรื่องต้องห้าม นัยว่าวิธีการดังกล่าวเป็นเรื่องของการคีบกระดูกผู้ตายเมื่อทำการล้างป่าช้า    ตะเกียบจีนจะวางอยู่ข้างขวาของผู้กินโดยปลายตะเกียบชี้ไปทางด้านหน้า
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 22 ก.ย. 16, 19:46

ในสังคมญี่ปุ่น ก็มีการปฏิบัติคล้ายๆกับจีน แต่จะมีการกล่าวอยู่ 4 ครั้งก่อนที่จะดื่มอวยพร โดยเป็นการใช้เบียร์ (คณะผู้จัดงาน เจ้าของเรื่อง เจ้าของงาน เจ้าภาพ) จากนั้นจึงจะเริ่มการกิน   เมรัยหลังจากการอวยพรจะเป็นอะไรก็ได้ และก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเหล้าสาเกอีกด้วย แต่ก็มักจะมีการสั่งสาเกมาดื่มในระหว่างมื้ออาหาร โดยเฉพาะในงานเลี้ยงลักษณะการเลี้ยงรับรอง   
 
ธรรมเนียมการใช้ตะเกียบก็เหมือนๆกับจีน แต่ญี่ปุ่นจะวางตะเกียบไว้ด้านหน้าของจานให้ให้ปลายชี้ไปทางด้านข้าง ไม่ชี้พุ่งไปยังคนที่นั่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม    การเลี้ยงแขกในสังคมญี่ปุ่นนั้น หากมีความสนิมสนมกันมากพอควรก็มักจะเป็นแบบอาหารจานรวม แต่หากเป็นพิธีการหรือไม่สนิทกันนักก็จะเป็นอาหารแบบจานใครจานมัน  ลักษณะมื้ออาหารพิเศษเหล่านี้มีความคล้ายๆกับของไทย ต่างกันก็ตรงที่ ช่วงเมรัยกับกับแกล้มกับช่วงอาหารของญี่ปุ่นจะอยู่บนโต๊ะเดียวกัน  ของไทยมักจะเป็นแบบต้องแยกระหว่างช่วงเมรัยกับกับแกล้ม กับช่วงของมื้ออาหาร ซึ่งมักจะมีการย้ายร้านกิน   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.25 วินาที กับ 19 คำสั่ง