เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4184 นัยที่แฝงเร้น(กุศโลบาย)ของพิธีรับขวัญเด็กทารก ในเรื่องมาลัยสามชาย คืออะไรครับ
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


 เมื่อ 03 ส.ค. 16, 11:10

ผมสงสัยว่า ตอนที่แม่พูนนำลูกสาวของลอออร (หนูเล็ก) ใส่กระด้งร่อน
แล้วพูดว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกใครมารับเอาไปเน้อ"
ต่อมา ท่านผู้หญิงพัน ราชศักดิ์ ก็มาอุ้มหนูเล็ก แล้วพูดว่า "ลูกชั้น ลูกชั้น ลูกชั้นเอง"
พิธีกรรมนี้ที่ปรากฏในละครเรื่องมาลัยสามชาย คือ พิธีการรับขวัญเด็กทารกแรกเกิดของไทยใช่ไหมครับ

กุศโลบายของพิธีกรรมดังกล่าว ที่ปรากฏในละครเรื่องมาลัยสามชาย เพื่อ
1. ปกป้องผีไม่ให้มาเอาวิญญาณของหนูเล็กไป
2. ปกป้องหนูเล็กให้มีชีวิตที่ดี หลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย (ในละครหนูเล็กป่วยบ่อย)
3. สร้างขวัญและกำลังใจให้ลอออรในฐานะที่ต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะลอออรต้อง
เป็นทั้งพ่อและแม่ของหนูเล็ก ในยามที่เทพถูกเนรเทศไปปีนัง ประเทศอินโดนีเซีย

ผมเข้าใจแบบนี้ถูกต้องไหมครับ
ขอบพระคุณครับ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 ส.ค. 16, 16:26

เป็นพิธีทำขวัญ 3 วันค่ะ  คนละอย่างกับพิธีรับขวัญ

ม.จ.หญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงพระนิพนธ์ เรื่องไว้ ทำขวัญ 3 วัน ไว้ในหนังสือ พิธีของทุกคน (สำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจ) ว่าเป็นประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่เดิม
ในสมัยที่เชื่อผี เชื่อกันว่ามนุษย์ที่เกิดมานี้ ผีเป็นผู้ปั้นรูปร่างลักษณะ แล้วคอยดักจับวิญญาณใส่ ให้มีชีวิต ก่อนส่งเข้าครรภ์มารดา
ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อกันว่า ผีเป็นเจ้าของลูกมาก่อน

ฉะนั้น เมื่อถึงวันเกิด จึงเอาเด็กใส่กระด้งแกว่ง ถามว่า
“3 วันลูกผี 4 วันลูกคน ลูกของใคร มาเอาไปเน้อ”
แล้วก็จัดให้มีหญิงแก่คนหนึ่งเอาเบี้ย (ในสมัยนั้นใช้เบี้ยแทนสตางค์) เข้ามาเป็นผู้รับซื้อ
“ฉันรับซื้อ เป็นลูกของฉันเอง”
ผู้รับซื้อ จึงมีชื่อว่า “แม่ซื้อ” คือคนที่รับซื้อเด็กนั้นมาจากผีแล้ว ภายหลังเข้าใจปะปนกันไปว่า แม่ซื้อคือผีเอง

เมื่อยกกระด้งเด็ก ขึ้นวางบนเตียงเรียบร้อย ก็จุดเทียนขนาด 1 ฟุต ปักในเชิงเทียน วางในขันนํ้าพานรอง (กันไฟลุก) ตั้งไว้ทางหัวนอนเด็ก คอยจุดไฟไว้ให้เทียนครบ 1 เดือน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ส.ค. 16, 07:51

ในโองการแม่ซื้อ จารึกไว้ที่แผ่นหินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จัดตอนแม่ซื้อ

"...แม่ซื้อลางบางพรรณอยู่ในไส้ มักให้ร้องไห้ร้องคราง แม่ซื้อลางบางขวางอยู่ในสะดือ ทำให้อึดอื้อลงท้อง ให้สะอื้นร้องดิ้นรน แม่ซื้อลางบางก้นอยู่ในเศียรทำให้อาเจียนเสียงแห้งแหบ แม่ซื้อลางบางอยู่ในเนื้อ นอนสะดุ้งเพื่อร้องหวาดหวีด ผวิเลือดซีดกำเดา แม่ซื้อลางบางเนาในกระหม่อม มักให้ผอมร้องไห้มิหยุดเป็นซางผุดให้ตาแข็ง แม่ซื้อลางบางแฝงอยู่ในชงค์ มักให้ไหลหลงตกใจร้อง ตีนมือน่องเย็นเฉียบ แม่ซื้อลางบางเลียบอยู่ในเส้น มักให้เต้นสี่ตีนมือ บิดตัวอืออึดไปมา หวาดวายว่าหน้าเขียว" ให้จัดข้าปลาสุราพร้อมเครื่องบัดพลีเชิญแม่ซื้อมารับเครื่องบัดพลี

"..อย่าเย้ากุมารที่เกิดมา จะได้วัฒนาจำเริญ ขอเชิญท่านเอ็นดู ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ เราส่งข้าวน้ำปูปลา ขอให้สืบศาสนาอย่าเปล่าดาย เป็นชายจะได้เป็นสงฆ์ เป็ญหญิงคงได้เป็นชี รักษาศีลมีเมตตาจิต ... เราสู่ขอซื้อไว้ ให้เป็นเบี้ยสามสิมสาม ค่าตัวตามสินไถ่ ในสามวันเป็นลูกผี พ้นสีวันเป็นลูกคน ใช่ลูกของตนอย่าฝักใฝ่ เราให้รูปใหม่ไปต่างตัว จงไปชมชัวในรูปในบัตร โภชนาจัดเซ่นสวงเราบำบวงใช้หนี้แล้ว อย่าแผ้วพานไปมา กระทำสังเวยนานา ดุจดวงตราตีประทับกำกับท่านแต่วันนี้ไป.."
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ส.ค. 16, 12:23

ผู้รับซื้อ จึงมีชื่อว่า “แม่ซื้อ” คือคนที่รับซื้อเด็กนั้นมาจากผีแล้ว ภายหลังเข้าใจปะปนกันไปว่า แม่ซื้อคือผีเอง

ท่านรอยอินอธิบายคำว่า "แม่ซื้อ" คือ เทวดาหรือผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก บางทีก็เรียกว่า แม่วี 

ในโองการแม่ซื้อ ที่จารึกไว้บนแผ่นหินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ดูจะมีแม่ซื้ออยู่ ๒ พวก พวกแรกเป็นผีซึ่งตรงกันข้ามกับที่ท่านรอยอินอธิบาย คือแทนที่จะเป็นผีที่คอยดูแลเด็ก กลับทรมานเด็กให้เจ็บปวดเสียอย่างนั้น  แม่ซื้อพวกที่สองคือคนที่จ่ายเงินเป็นค่าไถ่เด็กจากผี เพื่อเอามาดูแลเอง

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ส.ค. 16, 12:39

เกี่ยวกับเรื่องผีกับเด็กเล็ก ในสมัยโบราณมีอีกความเชื่อหนึ่งคือเชื่อว่าผีมักจะชอบเอาเด็กที่น่ารักไปอยู่ด้วย ดังนั้นเวลาจะทักเด็กต้องหลอกผีโดยบอกว่าเด็กไม่น่ารักด้วยคำว่า "น่าเกลียดน่าชัง" ซึ่งเป็นรหัสรู้กันว่าหมายถึง "น่ารักน่าเอ็นดู" นั่นเอง   มาถึงสมัยปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีลักพาเด็กดูจะเลือนไปแต่ยังมีร่องรอยให้เห็นอยู่ คำชมเด็กเล็กว่า "น่าเกลียดน่าชัง" จึงเลือนเป็น "น่ารักน่าชัง" คือ ยังติดคำหลอกผีว่า "น่าชัง" อยู่  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wu Zetian
ชมพูพาน
***
ตอบ: 120


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 ส.ค. 16, 15:17

ขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ
บันทึกการเข้า
walai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 64


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ส.ค. 16, 08:50

..ตุ๊กตาเสียกระบาล..เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำขวัญเด็กหรือไม่คะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 ส.ค. 16, 20:25

คุณ Walai อ่านคำตอบได้ในนี้ค่ะ
https://sites.google.com/site/phiphat1234567/tukta-seiy-kbal
บันทึกการเข้า
walai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 64


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 06 ส.ค. 16, 07:40

 :-กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ส.ค. 16, 10:46

คุณ Walai อ่านคำตอบได้ในนี้ค่ะ
https://sites.google.com/site/phiphat1234567/tukta-seiy-kbal


๑.
อ้างถึง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี ๒๕๒๕ อธิบายว่า ตุ๊กตาเสียกบาล หมายถึง ตุ๊กตาที่ใส่กระทงกาบกล้วยพร้อมทั้งเครื่องเช่นผีอย่างดอกไม้ ธูป เทียน ของคาวหวาน แล้วนำไปวางไว้ที่ทางแยก ทางสามแพร่ง หรือนำไปลอยน้ำ แล้วต่อยหัวตุ๊กตาออก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบายคำว่า ตุ๊กตาเสียกบาล เพียงว่า ตุ๊กตาที่ใส่กระบะกาบกล้วยพร้อมทั้งเครื่องเซ่นผีแล้วนำไปวางไว้ที่ทางสามแพร่งหรือลอยนํ้า ไม่มีคำว่า แล้วต่อยหัวตุ๊กตาออก

๒.
อ้างถึง
เมื่อหญิงสาวกลัวอันตรายจากการคลอดลูก บรรดาสามี ญาติพี่น้องที่มีความห่วงใยในตัวลูกเมีย ญาติมิตรของตน จึงทำตุ๊กตาเสียกบาลให้ผู้หญิงท้องแก่ใกล้คลอด เพื่อให้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนของผู้หญิงท้องแก่และลูกที่อยู่ในท้อง จากนั้นก็นำตุ๊กตานั้นไปเซ่นผี "โดยการตัดหัว" เพื่อเป็นเคล็ดการส่งอันตรายทั้งหมดให้ไปเกิดกับตุ๊กตา แทนที่จะเกิดกับแม่และลูกที่กำลังจะคลอด ทำให้แม่ลูกปลอดภัยจากการคลอด ต่อมาความเชื่อนี้จึงได้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง

ในช่วงเวลาที่มีเด็กเกิด คนโบราณเชื่อกันว่าผีจะมาเอาชีวิตเด็กทารกไป เพราะหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู สำหรบทารกนั้นหากไม่หักคอตุ๊กตา จะใช้มีดกรีดหน้าตุ๊กตาให้ดูน่าเกลียดแทนก็ได้ เสร็จแล้วเอาไปเซ่นผีที่ทางสามแพร่ง เป็นนัยว่าเด็กคนนี้หน้าตาน่าเกลียดนะ พอผีมาเห็นว่าตุ๊กตาตัวแทนเด็กหน้าตาน่าเกลียด ก็จะไม่มาเอาตัวไป

อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว มีความเห็นแตกต่างกันไปว่า ตุ๊กตาเสียกบาลนั้นไม่ได้ถูกทุบหัว จากการสอบถามหมอสะเดาะเคราะห์ได้ความว่า ตุ๊กตาเซ่นผีนั้นผู้สะเดาะเคราะห์ส่งให้ไปเป็นบริวารผีแทนตัว จึงตัดเล็บตัดผมของตนให้ไปด้วย ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทุบหัวตุ๊กตาเสียก่อน  หากทุบหัวตุ๊กตา ผีอาจโกรธเสียด้วยซ้ำที่ส่งของชำรุดไปแทนตัว ตุ๊กตาเซ่นผีมักปั้นด้วยดิน เมื่อวางที่ทางสามแพร่งแล้วอาจถูกสัตว์รบกวน เช่น วัวควายเหยียบย่ำ จึงทำให้ตุ๊กตาชำรุด นอกจากนี้ภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นนั้น เรียกว่ากะบาน สะกดด้วย น ไม่ใช่ ล นิยมทำด้วยกาบกล้วยหักเป็นสามเหลี่ยมบ้างสี่เหลี่ยมบ้าง ใช้ซี่ไม้ไผ่แทงทะลุกาบกล้วยจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ด้านละ ๗ ซี่ รวมต้องใช้ซี่ไม้ไผ่ ๑๔ ซี่ เป็นก้นกะบาน คำอธิบายนี้สอดคล้องกับที่ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล แต่สะกดเป็น กระบาน  อาจารย์ล้อมสันนิษฐานว่าเพราะพจนานุกรมไม่ได้เก็บคำว่า กะบาน ไว้  จึงเขียนว่า ตุ๊กตาเสียกบาล และพยายามผูกเรื่องต่อยหัวตุ๊กตาเช่นผีประกอบไว้ อาจารย์ล้อมได้เสนอว่าต้องเก็บคำว่า กะบาน หรือ กระบาน ไว้ในพจนานุกรม และแก้คำ เสียกบาล เป็น เสียกะบาน แปลว่า เซ่นผี หรือต้องเซ่นผี        

ข้อมูลจาก บทความเรื่อง เสียกบาล-เสียหัว-หัวใคร เสียกะบานไม่ใช่เสียหัว โดยอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๒ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ส.ค. 16, 13:49

นอกจากนี้ภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นนั้น เรียกว่ากะบาน สะกดด้วย น ไม่ใช่ ล นิยมทำด้วยกาบกล้วยหักเป็นสามเหลี่ยมบ้างสี่เหลี่ยมบ้าง ใช้ซี่ไม้ไผ่แทงทะลุกาบกล้วยจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ด้านละ ๗ ซี่ รวมต้องใช้ซี่ไม้ไผ่ ๑๔ ซี่ เป็นก้นกะบาน คำอธิบายนี้สอดคล้องกับที่ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล แต่สะกดเป็น กระบาน  อาจารย์ล้อมสันนิษฐานว่าเพราะพจนานุกรมไม่ได้เก็บคำว่า กะบาน ไว้  จึงเขียนว่า ตุ๊กตาเสียกบาล และพยายามผูกเรื่องต่อยหัวตุ๊กตาเช่นผีประกอบไว้ อาจารย์ล้อมได้เสนอว่าต้องเก็บคำว่า กะบาน หรือ กระบาน ไว้ในพจนานุกรม และแก้คำ เสียกบาล เป็น เสียกะบาน แปลว่า เซ่นผี หรือต้องเซ่นผี          

ถึงแม้นท่านรอยอินจะไม่ได้เก็บคำว่า กะบาน หรือ กระบาน ไว้ในพจนานุกรม แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็ให้ความหมายของคำว่า กบาล  ความหมายหนึ่งไว้ว่าเป็นภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นผีแล้วนำไปทิ้งที่ทางสามแพร่ง

กบาล ส่วนกลางของกะโหลกศีรษะ, หัว, (คำไม่สุภาพ) เช่น ตีกบาล เขกกบาล; แผ่นกระเบื้อง; ลานกลางหมู่บ้าน เรียกว่า กบาลบ้าน; เรียกภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นผีแล้วนำไปทิ้งที่ทางสามแพร่ง เช่น เอาเหล้าข้าวใส่กบาลออกเซ่นวัก (ขุนช้างขุนแผน). (ป., ส. กปาล ว่า กะโหลกหัว).

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความหมายของคำว่า กบาล ของท่านรอยอินในพจนานุกรม พ.ศ. ๒๕๕๔ ต่างจาก พจนานุกรม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยตัดบางความหมายออก

กบาล  ส่วนกลางของกะโหลกศีรษะ, หัว, (คําไม่สุภาพ) เช่น ตีกบาล เขกกบาล; แผ่นกระเบื้อง; ลานกลางหมู่บ้าน เรียกว่า กบาลบ้าน; เครื่องเซ่นผีที่ใส่ภาชนะกับตุ๊กตาแล้วนําไปทิ้งที่ทางสามแพร่ง และต่อยหัวตุ๊กตาเสีย เรียกว่า เสียกบาล, เรียกภาชนะ ที่ใส่เครื่องเช่นนั้น เช่น เอาเหล้าข้าวใส่กบาลออกเซ่นวัก. (ขุนช้าง ขุนแผน), บางทีใช้ว่า กระบาล เช่น ปรุตรุเคลือบกระบาลหิน. (จารึกวัดโพธิ์). (ป., ส. กปาล ว่า กะโหลกหัว).

หรือจะเป็นเพราะว่าท่านรอยอินคล้อยตามความเห็นของอาจารย์ล้อมแล้ว   ยิงฟันยิ้ม

 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 20 คำสั่ง