เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 10024 สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 15 ส.ค. 16, 11:35

เอ่ อาจารย์ครับ ผมจำได้ว่า พญาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็เคยได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ อีกท่านหนึ่งด้วย ใช่ไหมครับ 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 15 ส.ค. 16, 12:13

ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ ซึ่งปรากฏชื่อในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า “พฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก” ครับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้ากาวิละแห่งลำปางก็ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในยศพระยาวชิรปราการเช่นเดียวกัน
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 16 ส.ค. 16, 11:13

ขออภิปรายประเด็นนี้ครับ


ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธเองก็ได้นำเนื้อหาพระราชพงศาวดารไทยมาแต่งเป็นภาษามคธ ในส่วนเมืองประเทศราช ๑๖ เมืองสมัยพระเจ้าอู่ทองซึ่งมีเมืองกำแพงเพชรอยู่ด้วย ก็เรียกเมืองนี้ว่า "วชิรปาการนครญฺจ"

เทียบกับเจ้าชุมนุมต่างๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างเจ้าพิษณุโลก เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าพิมาย ในสังคีติยวงศ์ก็เรียกว่า "วิสฺสณุโลกราชา นครสิริธมฺมราชา นครราชสีมาราชา" ตามชื่อเมืองที่ครองอยู่ ซึ่งถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรจริงก็ออกจะไม่มีเหตุผลที่จะเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยนาม "วชิรปาการราชา" ซึ่งดูจากเอกสารของผู้แต่งคนเดียวกันก็ระบุชัดเจนว่าคำๆ นี้คือเมืองกำแพงเพชร
 

ในเวลาที่พระเจ้าตากได้เริ่มทำการ re-unification สยามนั้น
วิสฺสณุโลกราชา กลายเป็นเจ้าฝาง ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองฝาง ไม่ใช่เมืองพิษณุโลก
นครราชสีมาราชา กลายเป็นเจ้าพิมาย ศูนย์อำนาจอยู่ที่พิมาย ไม่ใช่เมืองโคราช
วชิรปาการราชา คือเจ้าตาก ตั้งมั่นอยู่ที่ธนบุรี
เหลือแต่ นครสิริธมฺมราชา ที่ยังอยู่ที่เมืองนคร

อนึ่ง ตามพงศาวดาร นครราชสีมาราชา
ไม่ใช่ พระยากำแหงสงคราม หรือ พระยานครราชสีมาอย่างแน่นอน
เพราะโดนวางแผนลอบทำร้ายเสียชีวิตในงานทำบุญตั้งแต่กรุงยังไม่แตก

ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงได้ว่า วชิรปราการราชาคือ พระยากำแพงเพชรแต่อย่างใดครับ
นอกจากจะเหมารวมว่าชุมนุมในอาณาเขตของเมืองใหญ่ให้ใช้ชื่อเมืองใหญ่นั้นแทน

ฝางคือพิษณุโลก พิมายคือนครราชสีมา และ ตากคือกำแพงเพชร ?

ในเอกสารร่วมสมัยของทางฝรั่งเศส ก็เรียก Paya Tak
หรือในเอกสารคำให้การฯ ก็เรียก พระยาตาก

ส่วนในประเด็นที่ว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยากำแพงเพชร คุมกองเรือ ในเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่งนั้น
ค่อนข้างขัดกับเอกสารอื่นครับ
ในศึกท้ายๆก่อนตีฝ่าออกจากกรุง พระยาตากสนับสนุนการรบของพระยาเพชรบุรีซึ่งคุมกองเรือ
ตอนนั้นยังเป็นพระยาตาก และไม่น่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเพราะผลการรบไม่ได้รับชัยชนะ
และในเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการควบคุมของสยามแล้ว
จึงเป็นเรื่องแปลกที่จะตั้ง ให้พระยาตากเป็นเจ้าเมืองที่พม่ายึดไว้แล้วและถือเป็นการให้ความดีความชอบ

ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าผู้แต่งพงศาวดารจะแต่งเรื่องขึ้นเองตามใจชอบครับ
ต้องมีมูลเหตุหลักฐานจูงใจมากกว่านั้น




บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 16 ส.ค. 16, 12:28

เรื่องตั้งพระยาตากเป็นพระยากำแพงเพชรที่โดนพม่ายึดไปแล้ว ถ้าจะพยายามตีความก็คือ รบให้ชนะพม่าสิครับ แล้วท่านจะได้ครองกำแพงเพชรเป็นบำเหน็จ

เรื่องนี้โยงมาถึงเรื่องตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก ตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ชื่อเป็นกำแพงเพชร? น่าคิดว่าก่อนหน้านั้นเชียงใหม่อยู่ใต้พม่ามานาน กำแพงเพชรจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในเส้นทางแม่น้ำปิง (ไม่นับเมืองตากที่เป็นเมืองชัยภูมิสำคัญ แต่มีที่ราบขนาดเล็กเลี้ยงคนได้จำกัด) การตั้งพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺกจึงฟังดูคล้ายๆกับว่าเอาชื่อกำแพงเพชรไปใส่ที่เชียงใหม่แทน

แต่พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศก็เล่าเรื่องการตั้งพระยาสุรบดินทร์เป็นพระยากำแพงเพชรไว้ด้วย (พ.ศ. 2313) และเอ่ยถึงอีกครั้งในปี 2319 ในนามพระยาสุรบดินทร์เจ้าเมืองกำแพงเพชร ส่วนเหตุการณ์ตั้งพญาจ่าบ้านในปี 2317 ใส่ชื่อไว้เป็นพระยาวิเชียรบุรี (ไม่มีกำแพงเพชร)

งงครับ

ส่วนเรื่องที่คุณ Koratian ว่า การตั้งให้เป็นพระยากำแพงเพชรคุมกองเรือ ผมว่าไม่ขัดนะครับ ถ้ามีการตั้งพระยาตากเป็นพระยาเพชรบุรีจริง คนจะเรียกชื่อตามเมืองที่เคยครองจริง หรือเมืองที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งก็ไม่แปลก  แต่ถ้าไม่เคยได้เป็นพระยากำแพงเพชร อันนี้ขัดกับความเรื่องตั้งพระยากำแพงเพชรในพงศาวดาร และขัดกับหลักฐานจีน (ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้น) ด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 16 ส.ค. 16, 13:28


ในเวลาที่พระเจ้าตากได้เริ่มทำการ re-unification สยามนั้น
วิสฺสณุโลกราชา กลายเป็นเจ้าฝาง ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองฝาง ไม่ใช่เมืองพิษณุโลก
นครราชสีมาราชา กลายเป็นเจ้าพิมาย ศูนย์อำนาจอยู่ที่พิมาย ไม่ใช่เมืองโคราช
วชิรปาการราชา คือเจ้าตาก ตั้งมั่นอยู่ที่ธนบุรี
เหลือแต่ นครสิริธมฺมราชา ที่ยังอยู่ที่เมืองนคร

อนึ่ง ตามพงศาวดาร นครราชสีมาราชา
ไม่ใช่ พระยากำแหงสงคราม หรือ พระยานครราชสีมาอย่างแน่นอน
เพราะโดนวางแผนลอบทำร้ายเสียชีวิตในงานทำบุญตั้งแต่กรุงยังไม่แตก

ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงได้ว่า วชิรปราการราชาคือ พระยากำแพงเพชรแต่อย่างใดครับ
นอกจากจะเหมารวมว่าชุมนุมในอาณาเขตของเมืองใหญ่ให้ใช้ชื่อเมืองใหญ่นั้นแทน

ฝางคือพิษณุโลก พิมายคือนครราชสีมา และ ตากคือกำแพงเพชร ?


เรื่องช่วงเวลาสำหรับเอกสารนี้คงเอาแน่นอนไม่ได้ครับ เพราะไม่ได้เจาะจงชัดเจน เพียงแต่อธิบายกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งก็น่าเชื่อว่าชุมนุมเหล่านี้ได้แยกตนเป็นอิสระตั้งแต่กรุงยังไม่เสียให้พม่าแล้วครับ


"วิสฺสุณโลกราชา" หมายถึงเจ้าพระพิษณุโลกแน่นอนครับ ไม่ใช่เจ้าพระฝาง เพราะสังคีติยวงศ์ยังกล่าวต่อไปว่าชนทั้งหลายในเมืองพิษณุโลกได้ยกเป็นกษัตริย์ และได้รบกับ "วรสฺวางคภิกฺขุนา" ซึ่งก็คือพระภิกษุจากเมืองสวางคบุรีหรือเจ้าพระฝางถึงสามครั้งไม่แพ้ชนะ จนกระทั่งวิสฺสุณโลกราชาถึงแก่กาลกิริยาไปเอง สอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร

"นครราชสีมาราชา" ก็หมายถึงพระยานครราชสีมาอย่างแน่นอน เพราะสังคีติยวงศ์กล่าวต่อไปว่านครราชสีมาราชาถูกมหาชนฆ่าตาย แล้วยกพระราชบุตรของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานามว่า "เทพฺพิวิจนาเมน" ซึ่งก็คือกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นกษัตริย์ สอดคล้องกับพงศาวดารที่ระบุว่ากรมหมื่นเทพพิพิธลอบฆ่าพระยานครราชสีมาแล้วยึดเมืองได้  แต่สังคีติยวงศ์ไม่ได้กล่าวเรื่องหลวงแพ่งน้องพระยานครราชสีมามายึดเมืองคืนแล้วให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่พิมายซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้น แต่ข้ามไปตอนพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาตีเมืองนครราชสีมาเลย

ส่วนเรื่องสถานที่ว่าว่าศูนย์กลางไปอยู่พิมายนั้น สังคีติยวงศ์ได้เหมารวมไว้กับนครราชสีมาอย่างที่กล่าวมาครับ ดังที่ยังกล่าวว่ากรมหมื่นเทพพิพิธ "ได้สำนักอยู่ในเมืองนครราชสีมาบุรนั้น"


ดังนั้นชื่อเหล่านี้จึงบ่งบอกถึงเจ้าเมืองอย่างไม่น่าสงสัยครับ

ดังนั้นเมื่อวิสฺสุณโลกราชาคือเจ้าพระยาพิษณุโลก นครสิริธมฺมราชาคือเจ้านครศรีธรรมราช (เดิมเป็นพระปลัด แต่ได้ว่าราชการเมืองนครอยู่ก่อน) นครราชสีมาราชาคือพระยานครราชสีมา ความเป็นไปได้มากที่สุดของวชิรปาการราชาก็ควรจะเป็นพระยากำแพงเพชรอย่างในพงศาวดารครับ

ส่วนเรื่องเมืองศูนย์กลางของชุมนุมไม่น่าจะเกี่ยวกับชื่อเรียกโดยตรง อย่างที่สังคีติยวงศ์ไม่เคยเรียกกรมหมื่นเทพพิพิธว่า "นครราชสีมาราชา" หรือ "วิมายราชา" และสังคีติยวงศ์ก็กล่าวถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "ธนปุเร วสนฺเตน วชิรปาการรญฺโญ" หรือ "พระราชาวชิรปาการราชดำรงอยู่ในเมืองธนปุร" ซึ่งเข้าใจว่าความหมายจริงๆ น่าจะเป็น "พระยากำแพงเพชรได้ครองเมืองธนบุรี" ครับ





ส่วนในประเด็นที่ว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยากำแพงเพชร คุมกองเรือ ในเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่งนั้น
ค่อนข้างขัดกับเอกสารอื่นครับ
ในศึกท้ายๆก่อนตีฝ่าออกจากกรุง พระยาตากสนับสนุนการรบของพระยาเพชรบุรีซึ่งคุมกองเรือ
ตอนนั้นยังเป็นพระยาตาก และไม่น่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเพราะผลการรบไม่ได้รับชัยชนะ
และในเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการควบคุมของสยามแล้ว
จึงเป็นเรื่องแปลกที่จะตั้ง ให้พระยาตากเป็นเจ้าเมืองที่พม่ายึดไว้แล้วและถือเป็นการให้ความดีความชอบ



ตามพงศาวดารระบุว่าเลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร แล้วให้ยกทัพเรือไปกับพระยาเพชรบุรี ไม่ใช่ว่ายกทัพเรือไปแพ้ไปแล้วถึงตั้ง ซึ่งก็ปรากฏว่าก่อนสงครามนั้นพระยาตากมีผลงานอยู่ในการรบที่ค่ายปากน้ำประสบ เวลาไล่เลี่ยกับศึกบ้านระจัน โดยกล่าวว่าทัพกรุงถูกตีแตกจนจมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราชต้องหนีข้ามแม่น้ำไป แต่พระยาตากยังรบรออยู่แล้วหนีมาภายหลัง ถ้าจะทำความชอบในช่วงนี้จนได้เลื่อนยศก็ดูไม่เป็นการแปลกประหลาดครับ


ส่วนเรื่องที่ตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ในกรณีที่เกิดขึ้นจริง ก็เห็นตรงตามคุณ CrazyHOrse ที่จะคาดว่ารอรบชนะพม่าถอยไปแล้วค่อยให้พระยาตากไปครองเมืองกำแพงเพชร ประกอบกับช่วงเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรและอีกหลายเมืองถูกพม่าตีแตกหรือหนีเข้าป่ากันหมด น่าจะทำให้ตำแหน่งเจ้าเมืองว่างลงหลายเมือง จึงอาจจะหวังให้พระยาตากไปครองเมืองกำแพงเพชรหลังจากเสร็จศึกก็ได้ครับ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรครับ ในประวัติศาสตร์ก็มีตัวอย่างอยู่หลายครั้งหลายชาติที่ตั้งคนของตนให้เป็นเจ้าเมืองที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของตน แต่ตั้งไว้ล่วงหน้าเพื่อรอยึดมาได้แล้วให้ไปครองในอนาคต อย่างเช่นในสมัยสามก๊ก ตามประวัติศาสตร์เล่าปี่ตั้งม้าเฉียวให้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลเหลียงโจว ซึ่งตอนนั้นเหลียงโจวเป็นเขตอิทธิพลของโจโฉเป็นต้น คงคาดไว้ว่ารอพิชิตวุยก๊กได้จึงให้ม้าเฉียวกลับไปครอง


ส่วนเรื่องประเด็นที่ว่าในหลักฐานอื่นๆ จำนวนมายังคงเรียกพระยาตาก ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 19 ส.ค. 16, 23:22


เรื่องนี้โยงมาถึงเรื่องตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก ตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ชื่อเป็นกำแพงเพชร? น่าคิดว่าก่อนหน้านั้นเชียงใหม่อยู่ใต้พม่ามานาน กำแพงเพชรจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในเส้นทางแม่น้ำปิง (ไม่นับเมืองตากที่เป็นเมืองชัยภูมิสำคัญ แต่มีที่ราบขนาดเล็กเลี้ยงคนได้จำกัด) การตั้งพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺกจึงฟังดูคล้ายๆกับว่าเอาชื่อกำแพงเพชรไปใส่ที่เชียงใหม่แทน


ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงเจ้ากาวิละตอนได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๓๒๕ ว่ามียศเป็น "พระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว" ครับ (พงศาวดารไทยเรียก พระยาวิเชียรปราการ) แต่เมื่อมาครองเมืองแล้วจึงปรากฏเรียกกันว่า "พระเป็นเจ้ามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว"

ไม่รู้ว่ากำแพงเพชรกับกำแพงแก้วในที่นี้จะมีความหมายเดียวกันหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 19 ส.ค. 16, 23:57

สำหรับทินนามเจ้าเมืองตาก มีระบุในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เหมือนกันครับ


โดยระบุว่า พ.ศ.๒๓๓๒ มีศึกพม่ามา พระยาตากในเวลานั้นชรามากแล้ว ครั้นเจ้ากาวลิะจะหวังให้ช่วยคุ้มกันให้ล้านนาก็คงไม่ได้แล้ว

เมื่อเจ้ากาวิละยกทัพขับไล่พม่าไปได้ จึงพานายน้อยสุภา นายน้อยชวนะลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แจ้งข้อราชการแล้วขอให้ทั้งสองมาช่วยราชการบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระพทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงตั้งนายน้อยสุภาเป็น "พญาอนุชิตชลที" เจ้าเมืองตากระแหง ตั้งนายน้อยชวนะเป็น "พญาอินทคีรี" ให้ช่วยราชการรักษาบ้านเมือง


ทินนาม "อนุชิตชลที" นั้นใกล้เคียงกับ "วิชิตชลธี" ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีความหมายถึงน้ำเหมือนกันครับ


ซึ่งทินนามอนุชิตชลธี มีปรากฏใช้ตั้งแต่สมัยอยุทธยาแล้ว โดยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.๒๒๐๓ เกิดศึกฮ่อ (แมนจูราชวงศ์ชิง) ยกทัพมาตีเมืองอังวะ และมีข่าวว่าจะมีตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราชของอังวะด้วย ทางเชียงใหม่หาที่พึ่งไม่ได้จึงส่งหนังสือมาอยุทธยายอมเป็นประเทศราช และขอกำลังไปช่วยป้องกัน แต่เมื่อยกทัพหลวงไปถึงเมืองพิษณุโลก เชียงใหม่เกิดกลับใจทำให้อยุทธยาต้องยกทัพไปตีหัวเมืองของเชียงใหม่

ช่วงเวลานั้นพระยากำแพงเพชรยกทัพไปตีเมืองรามตี พระยาพรหมคีรีกับพวกละว้า (ลัวะ) อีกราว ๑๘๐๐ คนมาหาพระยากำแพงเพชรขอสวามิภักดิ์เป็นข้ากรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดพระราชทานชื่อให้พระยาพรหมคีรีว่า "พระยาอนุชิตชลธี" แล้วพระราชทานเงินทองสิ่งของให้ ก่อนจะให้กลับไปภูมิลำเนาของตน


หลังจากนั้นพงศาวดารก็ระบุว่าได้ยกทัพไปตีเมืองอินทคีรีต่อ และได้เมืองอินทคีรีมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุทธยา


จึงสันนิษฐานว่าทินนาม "อนุชิตชลธี" กับ "อินทคีรี" นี้น่าจะเป็นทินนามที่ใช้ในเมืองเหนือมาตั้งแต่สมัยอยุทธยา แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยใช้กับเมืองตากในสมัยนั้นครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 20 ส.ค. 16, 08:08


และในเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการควบคุมของสยามแล้ว
จึงเป็นเรื่องแปลกที่จะตั้ง ให้พระยาตากเป็นเจ้าเมืองที่พม่ายึดไว้แล้วและถือเป็นการให้ความดีความชอบ



ยังมีตัวอย่างในการตั้งเจ้าเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุทธยาโดยตรง คือตามหลักฐานของวันวลิตในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองระบุว่า หลังจากที่ยามาดะ นางามาสะซึ่งเป็นออกญานครเสียชีวิต เมืองนครศรีธรรมราชเป็นจลาจลเนื่องจากพวกทหารอาสาญี่ปุ่นแย่งชิงอำนาจกันเอง และเจ้าเมืองนครคนเก่าก็ถูกญี่ปุ่นฆ่าตายระหว่างจลาจล ต่อมาชาวเมืองนครขับไล่ญี่ปุ่นไปได้ก็สบโอกาสแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุทธยา

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงทราบ ก็โปรดให้ยกทัพจากในกรุงไปปราบกบฎ และทรงแต่งตั้งขุนนางคนหนึ่งเป็นออกญานคร คุมทหาร ๓๐๐๐ เป็นทัพหลัง เพื่อให้ครองเมืองนครศรีธรรมราชหลังจากปราบกบฎได้ครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 22 ส.ค. 16, 10:36


ผมขออ้าง พงศาวดารฉบับ พันจันทนุมาศ ก่อนครับ
---------------------------------------------------
   ชาวบ้านค่ายระจันให้เข้ามาขอ ปืนใหญ่ ๒ บอก ปรึกษากราบทูลว่า ถ้าค่ายบ้านระจันเสียแก่พะม่า พะม่าจะเอาปืนเข้ามารบกรุง
จะให้ไปนั้นมิบังควร ครั้นรุ่งขึ้นพะม่า ยกไปตั้งค่ายณบ้านขุนโลก นายจันท์เขี้ยวคุมพรรคพวกออกมาตี พะม่า
ฆ่าพะม่าตายเป็นอันมากประมาณสัก ๕๐๐ ตัวก็ต้องปืนตายในที่รบ
ฝ่ายข้างในกรุงยกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก พะม่าให้ยก หาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะหนี
พวกอาทมาตชวนวิ่งเข้าไปใกล้ ค่ายพะม่าๆ เอาม้าโอบหลัง ก็ถอยหลังมาโพสามต้น
จมื่นศรี เสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าลงข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก
แต่พวกพระยาตากรบรออยู่คอยข้ามมาต่อภายหลัง
อนึ่งพระยารัตนา ธิเบศร์ออกไปไรทอง หล่อปืนใหญ่ขึ้นณบ้านระจัน ๒ บอก
ครั้นพะม่ายกไปตีอีก ค่ายบ้านระจันก็แตก ไพร่พลล้มเป็นอันมาก
ขณะนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าอยู่เมืองปราจินบุรี อพยพราษฎรเข้ามาอยู่ด้วยเป็นหลายหมื่น
พะม่าจึงยกทัพเรือออกไปตีเมือง ปราจินแตก กรมหมื่นเทพพิพิธ พระยารัตนาธิเบศร หนีไปอยู่ เมืองนครราชสีมา
  
  ขณะนั้นโปแม่ทัพสีกุกป่วยเป็นไข้ตาย โปสุพลาแม่ทัพปากน้ำประสบเป็นใหญ่สิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว
ยกมาตั้งค่ายโพสามต้นแล้ว ให้มาตั้งค่ายวัดการ้อง แลก่ออป้อมสูง ฝ่ายข้างในกรุงจึงแต่งทัพข้ามไปตีค่ายบ้านป้อมวัดการ้อง
พะม่ายิงปืนมาถูกนายเริก ซึ่ง รำดาบอยู่หน้าเรือตกน้ำลงคนหนึ่ง ก็ถอยทัพกลับมาสิ้น วันนั้นพะม่า เข้าตั้งค่าย ณ วัดภูเขาทอง
พระยาศรีสุริยภาศซึ่งเป็นนายป้อม สั่งให้ประจุปืนมหากาฬมฤตยราช ๒ สัด ๒ ลูก ยิงไปนัดหนึ่งปืนก็ร้าวราน
ครั้นเพลาค่ำไทยหนีมาคนหนึ่ง ให้การว่าปืนพระมหากาฬมฤตยูราช ซึ่งยิงออกไปนั้นถูกเรือรบพะม่าล่ม ๒ ลำคนตายหลายคน
และ บัดนี้พะม่ายกเข้ามาตั้งค่ายที่วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเตา วัดสุวรรณ วัดแดง

 ครั้น ณ เดือน๑๒ ในกรุงจึงแต่งทัพเรือให้พระยาตาก พระยาเพ็ชรบุรี หลวงศรเสนี ออกไปตั้งอยู่วัดใหญ่ คอยสะกัดตีเรือรบพะม่าซึ่งขึ้นลงหากัน
อนึ่งพะม่าค่ายบางไทรวัดโปรดสัตว์ยกทัพมากลางทุ่ง พระยาเพ็ชรบุรียกออกตีอยู่ณค่ายวัดสังกวาดก็ตายที่รบ
พระยาตาก หลวงศรเสนี ถอยมาแอบดูหาช่วยหนุนไม่ แล้วไปตั้งอยู่วัดพิชัย
ฝ่ายข้างในกรุงเกณฑ์กันไปตั้งค่ายที่วัดชัยวัฒนาราม จึงออกไปตั้งค่ายคลองสวนพลู

 ครั้นเดือนอ้ายโปรสุพลาให้กองทัพเมืองแพร่มาตั้งโพสามต้นฟากตะวันออก กองทัพเมืองแพร่ยกกองทัพหนีไปทางพระพุทธบาท
ให้คนถือหนังสือเข้ามาถึงพระยายมราชว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงธรรม มีพระคุณอยู่ จึงมิได้อยู่รบกรุงด้วยพะม่า

 ครั้นเดือนยี่ปีจออัฐศกเพลาค่ำ เกิดเพลิงขึ้น ณ ท่าทราย ไหม้ลามมาสะพานช้าง ข้ามมาติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่าหญ้า
จนวัดราชบูรณะ วัดพระมหาธาตุ เพลิงไปหยุดที่วัดฉันท์ทันต์

-----------------------------------------------

กรณีตีค่ายปากน้ำประสบไทยรบแพ้นะครับ
จากพงศาวดาร ยังไม่เห็นช่วงเวลาที่พระยาตากจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้
ฉบับคำให้การก็ชัดเช่นกันว่า ในเหตุการณ์เดียวกันไม่มีการตั้งพระยาตากเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร

กรณี พระเจ้าปราสาททองแต่งตั้งพระยานคร ก็หลังจากโปรดให้ยกทัพไปปราบกบฎแล้ว
เป็นการแสดงอำนาจของราชสำนักที่อยู่เหนือเมืองนคร จะนำมาเทียบเคียงกับกรณีนี้มิได้ครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 22 ส.ค. 16, 12:48

เราต้องพิจารณาด้วยความความในพงศาวดารพันจันทนุมาศ (เจิม) ถึงแม้จะปรากฏว่าเป็นฉบับที่เก่าที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ นั้นเชื่อถือได้ไหนครับ และไม่จำเป็นว่าฉบับที่เก่าที่สุดจะต้องถูกต้องที่สุดเสมอไป และรายละเอียดสงครามในพงศาวดารพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้นมีแต่เนื้อหาคร่าวๆ แทบไม่มีรายละเอียดใดๆ และยังมี timeline คลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับพงศาวดารพม่าด้วย


ซึ่งถ้าเนื้อหาของพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้นถูกต้องอยู่แล้ว สำหรับเนื้อหาตอนนี้ เหตุใดผู้ชำระจะต้องชำระแก้ว่าเดือน ๑๒ พระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรก่อนจะให้ยกทัพเรือไปกับพระยาเพชรบุรี (ส่วนมากในฉบับหลัง มักจะมีแต่การเพิ่มข้อความที่ให้พระเจ้าเอกทัศน์ในแง่ลบ) ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ยิ่งพิจารณาจากตัวผู้ชำระพงศาวดารคือสมเด็จพระพนรัตน์ที่เกิดทันพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยแล้ว และยังเขียนโจมตีพระเจ้ากรุงธนบุรีจำนวนมาก ก็ดูไม่มีเหตุผลที่จะสร้างเรื่องขึ้นมาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชรให้ดูดีขึ้น และยังต้องอธิบายเรื่องคำว่า "กำเอ็งเถ็ก" กับคำว่า "วชิรปราการ" ซึ่งตามหลักฐานแล้วล้วนสื่อถึงเมืองกำแพงเพชรด้วย


และถ้าพิจารณาในพงศาวดาร ก็จะเห็นว่าพระยาตากรบแค่ตีค่ายปากน้ำประสบเพียงแต่ครั้งเดียว แต่เมื่อดูในเอกสารอื่นๆ อย่างคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า พระยาตากมีผลงานหลายครั้งมาก จะทำความชอบสะสมในสงครามมาก็ไม่ใช่การแปลกประหลาดแต่อย่างใด นอกจากนี้ถึงค่ายปากน้ำประสบจะรบแพ้ แต่เนื้อหาจากพงศาวดารก็บ่งบอกว่าพระยาตากนั้นยังรบถ่วงเวลาเพื่อให้คนอื่นหนีได้ ก่อนจะหนีภายหลัง ถ้าพงศาวดารจะนับตรงนี้เป็นความชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด


เรื่องตั้งเจ้าเมือง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคงเป็นด้วยรอให้พม่าถอยกลับไปแล้วขึ้นไปครองเมืองที่น่าจะว่างเจ้าเมือง (ในบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือน่าจะว่างเจ้าเมืองลงหลายเมือง ไม่เฉพาะแค่กำแพงเพชร) ถ้าจะอธิบายว่าอยุทธยายังถือหัวเมืองเหล่านั้นเมืองของตนมาตั้งแต่เดิมแม้ว่าจะถูกพม่ายึดครองอยู่ การจะตั้งเจ้าเมืองทดแทนเตรียมไว้ล่วงหน้าก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่แปลกอันใดครับ เรื่องกบฎเมืองนครก็เช่นเดียวกัน เพราะในเวลานั้นโดยพฤตินัยแล้วอยุทธยาก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือเมืองนครแม้จะเป็นหัวเมืองของอยุทธยาก็ตาม พิจารณาในทางปฏิบัติก็คือการตั้งเจ้าเมืองเตรียมล่วงหน้าไม่ได้แตกต่างกันเลยครับ ไม่ว่าจะยกไปตีทันทีหรือเตรียมไว้ล่วงหน้าจากภาวะที่ไม่ปกติและยังไม่สามารถจัดการให้เรียบร้อยได้ก็ตาม


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 20 คำสั่ง