เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 10052 สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 06 ส.ค. 16, 15:12


เข้าใจว่าหลักฐานที่ทำให้เข้าใจกันว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาก่อน น่าจะมาจากเอกสาร "สังคีติยวงศ์" งานนิพนธ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษามคธว่า "วชิรปากานราชา" ซึ่งแปลตรงตัวว่า “กำแพงเพชร” เลยเป็นไปได้ที่น่าจะทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ก็ไม่มีความชัดเจน และมีการสันนิษฐานว่าคำๆ นี้อาจจะเป็นคำเรียกขานพระองค์อย่างยกย่องก็เป็นได้


พอดีผมเขียนจากความจำเลยสะกดผิดไปหน่อย ตามเอกสารสังคีติยวงศ์จริงๆ สะกดว่า "วชิรปาการรัญ์ญา" หรือ "วชิรปาการราชา" ครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 06 ส.ค. 16, 15:16

เจอหลักฐานเพิ่มเติมว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีเจ้าเมืองตากใช้ทินนามว่า "พระยาวิเศษสงคราม" ครับ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ 'การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี' ว่า พบร่างท้องตรา พ.ศ.๒๓๒๙ ที่พระยาจักรีส่งถึงพระยากำแพงเพชรให้ยกความดีความชอบของพระยาวิเศษสงครามเจ้าเมืองตาก ได้สู้รบกับพม่าอย่างเข้มแข็ง และได้ผ่อนครอบครัวลงมากรุง ผิดกับเจ้าเมืองอื่นๆ ที่หลบหนีหรือยอมให้พม่ากวาดต้อนไป จึงปูนบำเหน็จยกขึ้นเป็นเจ้าพระยา ตำแหน่งจาววางเมืองตากบ้านระแหงครับ


ซึ่งทินนามนี้ปรากฏว่าได้ใช้เป็นทินนามเจ้ากรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ด้วยครับ


รัชกาลที่ ๑  โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมิตตคามรับราชการทหารเป็นเหล่าทหารอาสาสมัครในกรมท่าช้าง  เรียกว่า  อาสาสมัครโปรตุเกส   เมื่อมีการสั่งปืนใหญ่ชนิดใหม่เข้ามาใช้ในราชการสงครามครั้งนั้น  รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้มีการทดลองยิงปืนใหญ่ดังกล่าว ถวายเพื่อทอดพระเนตร  ณ บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา   ชาวมิตตคามเล่าสืบต่อกันมาว่า   รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่เอาผ้าขาวผูกปากตุ่มใบเขื่อง   แล้วปล่อยลอยอยู่กลางลำน้ำ    จากนั้นมีรับสั่งให้ทหารอาสาแขกยิงปืนลองฝีมือก่อน  ๒  นัด  กระสุนพลาดเป้าทั้ง ๒ นัด    แล้วรับสั่งให้ทหารอาสาจีนลองยิงดูบ้าง  ปรากฏว่า  ทหารอาสาจีนยิงถูก ๑ นัด พลาด ๑ นัด     ที่สุดมีรับสั่งให้ทหารอาสาโปรตุเกสลองยิงดูบ้าง  ปรากฏว่า กระสุนตกตรงเป้าหมาย ทั้ง ๒ นัด  แต่รัชกาลที่ ๑ ทรงแคลงพระทัยว่าอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ   จึงมีรับสั่งให้ทหารอาสาโปรตุเกสลองยิงปืนอีกนัดหนึ่ง  ผลประกฏกระสุนตกตรงเป้าหมายอีก   ว่ากันว่าผู้ที่ยิงปืนถูกเป้าหมายครั้งนั้น  เป็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส แห่งบ้านมิตตคาม  ชื่อ นายแก้ว  สกุล  ลีเบยโร  ( Libeiro )  จึงมีรับสั่งให้ตามตัวนายแก้วมาเฝ้าฯ  รับสั่งถามความดู  จึงได้ทราบว่า  นายแก้วนี้ไม่ได้ยิงปืนไปตามบุญตามกรรมแต่ได้คำนวณระยะยิงตามสูตรที่ได้ร่ำเรียนสั่งสอนสืบทอดกันมาในหมู่ชาวโปรตุเกส    เมื่อได้ทรงทราบเช่นนี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเหล่าทหารอาสาสมัตรโปรตุเกสขึ้นเป็นกองทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หน้า  และโปรดเกล็ฯ ตั้งนายแก้ว  ลีเบยโร  เป็นที่จางวางเจ้ากรมทหารฝั่งแม่นปืนใหญ่หน้า    มีโรงเก็บปืนใหญ่อยู่ที่บริเวณวังสราญรมย์ในปัจจุบัน    มีหน้าที่ควบคุมเรือพระที่นั่งในกระบวนเสด็จฯ ทางชลมารคทุกครั้ง   กับรักษาพระบรมมหาราชวังในระหว่างที่ในหลวงเสด็จฯ ไปประพาสนอกพระนครด้วย


นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส  ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินคดี  ลงโทษผู้กระทำผิดถึงโทษโบย จำ กักขัง และจองจำ   นายแก้ว  ลีเบยโร    ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยซื่อสัตย์สุจริตและกล้าหาญ  จึงได้เลื่อนเป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   และได้เป็นต้นตระกูลของสกุล  "วิเศษรัตน์"  และ  "วงศ์ภักดี"  และได้มีลูกหลานเหลนรับราชการสืบทอดราชทินนามพระยาวิเศษสงครามรามภักดี นี้ต่อมาตามลำดับดังนี้ คือ  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แบน)  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (นอน)  และพระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แก้ว) (ชั้นเหลน)

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 ส.ค. 16, 09:51


จากข้อมูลที่หลายๆท่านได้ยกมา
ผมมีความเห็นคล้อยตามคุณศรีสรรเพชญ์ ในเรื่องที่ว่า พระยาตากไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร
และไม่เคยดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการครับ

กลับไปดูที่ Turpin เขียนไว้ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ใน History of Siam ฯ
(อ้างฉบับแปลอังกฤษ ค.ศ. 1908 โดย Cartwright)

    The Siamese, although united by desire of revenge,
were split into factions for the leadership.
    The eyes of the nation were fixed upon Phya Tak, a Siamese officer,
born of a Chinese mother. A politician and  a warrior, he paved his way
to power by affecting its disdain. He was elected to the leadership by
the unanimous voice of the whole nation. At first he took the unpretentious
title of "Defender of the Nation",  and,  disguising
his ambitions under the cloak of moderation, he wished to appear merely
as a citizen in order to be King in reality.

อาจเป็นไปได้ว่า Defender of the Nation คือ วชิรปราการราชา ครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 09 ส.ค. 16, 14:27

อาจเป็นไปได้ว่า Defender of the Nation คือ วชิรปราการราชา ครับ

คนไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเรียกเห็นดินแดนหรือประเทศของตนว่า "เมืองเพชร" เคยเห็นแต่เรียกว่า "เมืองทอง" ดังชื่อ "เมืองอู่ทอง" และ "สุวรรณภูมิ"  ส่วนชื่อ "เมืองเพชร" เห็นแต่ชื่อจังหวัดซึ่งมักใช้เรียกกันในชั้นหลังเช่น กำแพงเพชร เพชรบุรี เพชรบูรณ์
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 09 ส.ค. 16, 23:13

เอกสารระหว่างหลี่ซื่อเหยาที่เป็นอุปราชเหลียงกว่าง (กว่างตง-กว่างซี) กับราชสำนักจีน ในช่วงต้นๆ ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นครองราชย์และจีนยังไม่ยอมรับพระองค์ แทนพระนามพระองค์ว่า 甘恩敕

คำว่า 甘恩敕 นี้ออกเสียงจีนกลางว่า กานเอินชื่อ แต้จิ๋วจะเป็น กำเอ็งเถ็ก แปลว่าอะไรนั้นแปลไม่ถูกครับ มันฟังไม่ได้ความหมายในภาษาจีน ดังนั้นน่าสงสัยอย่างยิ่งว่าคำๆนี้ หรือบางส่วนของคำนี้เป็นคำทับศัพท์ภาษาไทย

เพื่อจะให้หายข้องใจว่าผมอาจจะสรุปมั่วเอง ผมจะแปลทีละตัวอักษรดังนี้ครับ
甘 - หวานชุ่มคอ
恩 - กรุณา
敕 - พระบรมราชโองการ

ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นชื่อบุคคลได้ แต่น่าสนใจว่ากำแพงเพชรมีชื่อจีนว่า 甘烹碧 จีนกลางว่า กานเพิงปี้ แต้จิ๋วว่า กำเผ่งเผ็ก เห็นได้ชัดว่าชื่อนี้มาจากจีนแต้จิ๋ว

แต่โดยส่วนตัวผมเห็นว่า 甘恩 แต้จิ๋วว่า กำเอ็ง มาจาก กำแพงครับ เผลอๆ 甘恩敕(กำเอ็งเถ็ก) จะเพี้ยนมาจาก 甘烹碧(กำเผ่งเผ็ก) ก็เป็นไปได้สูง ข่าวสารที่หลี่ซื่อเหยาได้นั้น น่าจะผ่านมาจากพุทไธมาศ จีนที่นั่นไม่รู้จักไทยดี ฟังไม่ได้ศัพท์ พอจดบันทึกเป็นตัวอักษรก็เขียนตามที่เข้าใจอย่างนี้เอง

สอดคล้องกับข้อมูลอื่นว่าพระเจ้าตากได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่คงไม่มีโอกาสได้ไปกินเมือง ส่วนราชทินนามพระยาวชิรปราการจะมีจริงหรือเปล่านั้นไม่ทราบครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 10 ส.ค. 16, 09:28


วิเคราะห์ตามแนวคุณหมอเพ็ญก่อนนะครับ

เมืองเพชร ระยะหลังมีแต่เพชรบุรีเท่านั้น แต่ ไม่ใช่กำแพงเพชร หรือเพชรบูรณ์
สมมุติว่าวชิรปราการแปลว่าผู้ป้องกันเมืองเพชร ( ไม่ใช่ผู้ป้องกันเมืองวิเชียรบุรี  ยิ้ม )
เมื่อพระยาเพชรบุรีตายในที่รบและพระยาตากรอดกลับมาได้ ตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบุรีว่างลง
จึงมีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเมืองเพชร และเป็นที่มาของวชิรปราการ 
สมมติฐานนี้ต้องใช้จิตนาการมากเกินไปน่าจะตัดออกได้

เมืองกำแพงเพชร นั้น ชื่อเล่นน่าจะชื่อเมืองกำแพง ไม่ใช่เมืองเพชร
และวชิรปราการไม่น่าจะแปลว่ากำแพงเพชรครับ
อาจจะมีความหมายประมาณผู้ปกป้องที่แข็งแกร่งมากกว่า

ส่วนข้อเสนอของคุณ CrazyHOrse นั้นน่าสนใจมากครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 10 ส.ค. 16, 10:34


เมืองเพชร ระยะหลังมีแต่เพชรบุรีเท่านั้น แต่ ไม่ใช่กำแพงเพชร หรือเพชรบูรณ์

ที่ยกตัวอย่างมา มิได้หวังจะแปลตามตัวอักษร กำแพงเพชร แน่นอนคือ เมืองที่มีกำแพงเป็นเพชร, เพชรบูรณ์ คือเมืองที่อุดมไปด้วยเพชร ความหมายโดยนัยก็คือ "เมืองเพชร" นั่นแล
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 10 ส.ค. 16, 14:40

บทวิเคราะห์เรื่องพระนาม "กันเอินชื่อ" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี เคยมีผู้แย้งครับว่าไม่สอดคล้องกับชื่อเมืองกำแพงเพชรที่เรียกกันในภาษาจีนในเวลานั้นครับ

แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ว่าข้อมูลที่หมักเทียนตื๊อหรือพระยาราชาเศรษฐีส่งไปที่จีน เป็นข้อมูลที่ฟังมาจากผู้อื่นอีกต่อหนึ่งเลยคลาดเคลื่อนไปได้ ซึ่งเรื่องบทวิเคราะห์ของพระนามเดี๋ยวผมจะนำมาลงให้ครับ


ส่วนเรื่องคำว่าวชิรปราการ จริงๆ ผมก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะถอดความเป็นอะไรนอกจาก "กำแพงเพชร" เพราะจะปรากฏในเอกสารโบราณหลายชิ้นกล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรในภาษามคธว่า "วชิรปาการ"

ซึ่งค่อนข้างจะสอดรับกับพงศาวดารสมัยหลังที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็น "พระยากำแพงเพชร" (ไม่ใช่ "พระยาวชิรปราการ") แต่นอกจากพงศาวดารกับหนังสือแต่งสมัยนั้นก็ดูไม่สอดคล้องกับหลักฐานอื่นเท่าไหร่


เดี๋ยวจะขอมาอธิบายอีกทีครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 13 ส.ค. 16, 19:57

พอศึกษาเพิ่มเติม ผมเลยเปลี่ยนความคิดเล็กน้อยเรื่องที่ว่าพระยาตากไม่เคยเป็นพระยากำแพงเพชรครับ


แม้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์จะสันนิษฐานว่าคำว่า"วชิรปาการราชา" ไม่ได้บ่งชี้ว่าพระยาตากจะได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่เท่าที่ดูจากหลักฐานหลายชิ้นแล้วพบว่าต่างก็สื่อถึงเมืองกำแพงเพชร ยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีความหมายอื่นครับ

ตั้งแต่เอกสารภาษามคธของล้านนาอย่าง "ชินกาลมาลีปกรณ์" ที่แต่งโดยพระรัตนปัญญาใน พ.ศ.๒๐๗๑ กับ "ตำนานพระพุทธสิหิงค์" ที่แต่งโดยพระโพธิรังษีในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ต่างก็เรียกเมืองกำแพงเพชรว่า "วชิรปราการ" หรือ "วชิรปาการนคร"

และก็ปรากฏในสังคีติยวงศ์กับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาภาษามคธที่แต่งโดยสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเคยกล่าวไปแล้วว่าเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "วชิรปาการราชา"  "วชิรปาการรญฺญา" หรือ "วชิรปาการรญฺโญ"

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธเองก็ได้นำเนื้อหาพระราชพงศาวดารไทยมาแต่งเป็นภาษามคธ ในส่วนเมืองประเทศราช ๑๖ เมืองสมัยพระเจ้าอู่ทองซึ่งมีเมืองกำแพงเพชรอยู่ด้วย ก็เรียกเมืองนี้ว่า "วชิรปาการนครญฺจ"

เทียบกับเจ้าชุมนุมต่างๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างเจ้าพิษณุโลก เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าพิมาย ในสังคีติยวงศ์ก็เรียกว่า "วิสฺสณุโลกราชา นครสิริธมฺมราชา นครราชสีมาราชา" ตามชื่อเมืองที่ครองอยู่ ซึ่งถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรจริงก็ออกจะไม่มีเหตุผลที่จะเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยนาม "วชิรปาการราชา" ซึ่งดูจากเอกสารของผู้แต่งคนเดียวกันก็ระบุชัดเจนว่าคำๆ นี้คือเมืองกำแพงเพชร


จึงไม่น่าสงสัยว่าคำๆ นี้น่าจะสื่อถึงเมืองกำแพงเพชร



สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ซึ่งบานแพนกระบุว่าชำระโดยสมเด็จพระพนรัตน์และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสซึ่งเป็นศิษย์

"ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัพศกพระบาทสมเดจ์พระบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดีบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้เสดจ์ดำรงพิภพมไหยศวรรยาธิปัติ์ ถวัลราช ณะ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกษินท์ มหินทรอยุทธยา เถลีงพระธินั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระเรื่องพระราชพงศาวดาร แล้วสมเดจ์พระวันรัตน วัดพระเชตุพนผู้เปนอุปัชฌาจาริย์ กับพระเจ้าลูกเธอ ทรงพระนามสมเดจ์พระปรมานุชิตชิโนรสศรีสุคตขัติยวงษ์ผู้เปนศิษได้ชำระสอบเรื่อง ต้น ปลาย แลเรียบเรียงสืบต่อมา ครั้งหลัง จนถึงแผ่นดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งใหม่"

ซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับแรกที่ระบุว่าพระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรในเดือน ๑๒ ก่อนจะเสียกรุง  

"ครั้งถึง ณะ เดือน ๑๒ น่าน้ำ  จึ่งทรงพระกรรุณาโปรดให้พญาตากเลื่อนที่เปนพญากำแพงเพช แล้วตั้งให้เปนนายกองทับเรือ..."


ตอนที่ อ.นิธิ เขียนหนังสือเรื่องการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พงศาวดารฉบับนี้ยังไม่เคยตีพิมพ์ มีแต่พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเนื้อความแทบไม่ได้ต่างกับฉบับนี้เลย แต่เพราะในตอนนั้นไม่เคยพบฉบับที่เก่ากว่า เมื่อมาเห็นพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่มีความละเอียดมากกว่าฉบับอื่นทำให้นักวิชาการไม่ค่อยเชื่อถือ เพราะว่าเป็นพงศาวดารชำระสมัยหลังมากแต่กลับมีความละเอียดพิศดารเพิ่มมาจากฉบับอื่น เลยคิดกันว่าเป็นความแต่งเติมในสมัยรัชกาลที่ ๔

อ.นิธิจึงไม่ค่อยเชื่อถือเรื่องที่พระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรที่มีปรากฏแต่ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ตามความเข้าใจของท่าน) และสันนิษฐานว่าผู้ชำระพงศาวดารซึ่งเป็นคนชั้นหลังตีความจากคำว่า "วชิรปาการราชา" ของสมเด็จพระพนรัตน์เอาเองว่าพระยาตากได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร


แต่ตอนนี้ก็พบแล้วว่าความละเอียดหลายตอน รวมถึงเรื่องพระยากำแพงเพชรมีในพงศาวดารมีมาตั้งแต่สมัยที่ชำระโดยสมเด็จพระพนรัตน์และกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งน่าจะชำระตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้วครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 13 ส.ค. 16, 20:05

จึงต้องมาลองพิจารณาที่ตัวผู้แต่งคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน


ตามประวัติแล้วสมเด็จพระพนรัตน์เกิดในสมัยอยุทธยา ในสมัยธนบุรีมีสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระพิมลธรรมครองวัดโพธาราม ปลายรัชกาลถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีเฆี่ยนแล้วถอดจากสมณศักดิ์เพราะว่าเป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่ทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าพระภิกษุไม่ควรกราบไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบัน จนในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้กลับมาดำรงสมณศักดิ์เดิม และได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในเวลาต่อมา

สมเด็จพระพนรัตน์เป็นผู้มีความรู้เป็นที่นับถือของรัชกาลที่ ๑ อย่างมาก จนได้รับความไว้วางพระทัยให้เป็นพระอุปัชฌาย์ของกรมสมเด็จพระปรามานุชิตชิโนรส และท่านก็มีผลงานประพันธ์จำนวนมากทั้งวรรณกรรมทางศาสนาและการชำระพงศาวดาร ซึ่งพบว่าเนื้อหาหลายตอนมีความเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๑ อยู่มาก


พิจารณาแล้ว ในกรณีที่สมเด็จพระพนรัตน์เป็นผู้ชำระความในพงศาวดารตอนพระยาตากได้เป็นพระยากำแพงเพชร ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าจะเป็นจริง

(ที่บอกว่า 'ถ้า' เพราะผู้ชำระมีสองท่าน และเข้าใจว่าไม่ได้ชำระพร้อมกันเพราะกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสผนวชแค่ ๓ ปี สมเด็จพระพนรัตน์ก็มรณภาพ จึงเข้าใจว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสน่าจะทรงชำระเรียบเรียงพงศาวดารต่อจากสมเด็จพระพนรัตน์จนจบ จนปรากฏในบานแพนกของพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงพงศาวดารฉบับนี้ว่า "จดหมายเหตุพระราชพงษาวดาร ซึ่งพระไอยกาเธอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรศ ศรีสุคตขัติยวงษ์ทรงเรียบเรียงไว้")

เพราะว่าสมเด็จพระพนรัตน์มีชีวิตร่วมสมัยอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ใช่บุคคลสมัยหลัง ถ้าจะทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชรก็ไม่น่าจะแปลกประหลาด นอกจากนี้พระราชพงศาวดารเองถึงกับสามารถระบุเดือนที่พระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรได้ ส่วนตัวคิดว่าแม้ว่าพงศาวดารจะมีการเพิ่มเติมข้อความเพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองอยู่หลายครั้ง แต่กรณีนี้ไม่น่าเป็นการต่อเติมตามอำเภอใจครับ


นอกจากนี้ ถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เคยเป็นพระยากำแพงเพชร ก็ดูไม่มีเหตุผลที่สมเด็จพระพนรัตน์จะกล่าวว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชร และสมเด็จพระพนรัตน์เองก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อเสริมฐานะพระเจ้ากรุงธนบุรีตอนก่อนขึ้นครองราชย์ดูดีขึ้น เมื่อเทียบกับเนื้อหาในพงศาวดารฉบับนี้ที่เขียนประณามการปกครองของพระเจ้ากรุงธนบุรีในปลายรัชกาลเป็นอย่างมาก และสมเด็จพระพนรัตน์เองก็ถูกถอดจากสมณศักดิ์เพราะพระเจ้ากรุงธนบุรี



ถ้าผู้ชำระความส่วนนี้เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพนรัตน์ แม้ว่าจะทรงเป็นคนชั้นหลัง แต่ก็น่าจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์พอสมควร และก็ไม่น่าจะทรงแต่งเติมเนื้อหาส่วนนี้เอาเองตามพระทัยเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีการกล่าวว่าอาจจะทรงได้อิทธิพลจากสังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ที่เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "วชิรปาการราชา" มาชำระพงศาวดาร แต่ไม่น่าจะทรงถึงขั้นแต่งเดือนที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นพระยากำแพงเพชรตามอำเภอพระทัยได้ครับ

ยิ่งทรงครองเพศเป็นสมณะได้เป็นถึงที่สมเด็จพระสังฆราช และโดยวิสัยยังทรงเป็นปราชญ์ที่พระบรมวงศ์ทั้งหลายต่างเคารพนับถือ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะทรงแต่งเรื่องขึ้นเองครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 13 ส.ค. 16, 20:33

เรื่องพระนาม "กันเอินชื่อ (甘恩敕)" ของพระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษาจีน  ต้วน ลี่ เซิง นักประวัติศาสตร์ชาวจีนสันนิษฐานว่าทับศัพท์มาจากกำแพงเพชร ตามที่คุณ CrazyHOrse กล่าวไว้ครับ

ซึ่งถ้าดูจากสำเนียงแต่จิ๋วคือ "กำเอ็งเถ็ก" อย่างที่กล่าวไว้ก็เป็นไปได้ครับ  แต่คำว่ากำแพงเพชรในภาษาจีนในสมัยนั้น ไม่ใช่คำว่า 甘烹碧 หรือสำเนียงแต้จิ๋วว่า "กำเผ่งเผ็ก" ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในปัจจุบันครับ


ต้วน ลี่ เซิง อธิบายว่า คนจีนในสมัยอยุทธยา (ไม่ทราบว่าอ้างอิงจากหลักฐานใดบ้าง) เรียกเมืองกำแพงเพชรว่า "กันเฉิง" หรือในสำเนียงแต้จิ๋วว่า "กำเซี้ย"


อ.นิธิไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะใน "จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ" ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยหลวงเจนจีนอักษร  ในส่วน "พรรณาว่าด้วยกรุงสยาม" ซึ่งเรียบเรียงมาจากหนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า ซึ่งเรียบเรียงในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งต้าชิง ได้เรียกเมืองกำแพงเพชรตามสำเนียงแต่จิ๋วว่า "โกวผินพี้"


แต่ส่วนตัวสันนิษฐานว่าเนื้อหาในจดหมายเหตุจีนส่วนนี้แม้เรียบเรียงในสมัยราชวงศ์ชิง แต่ก็เรียบเรียงจากเอกสารหลายสมัย เพราะบรรยายว่าชายอยุทธยาไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งน่าจะเป็นสมัยอยุทธยาตอนต้นเท่านั้น เป็นไปได้ว่าทางจีนเองอาจจะมีการเรียกหัวเมืองเพี้ยนไปตามยุคสมัย บางสมัยอาจเรียกว่า "โกวผินพี้" บางสมัยอาจเรียกว่า "กำเซี้ย"


ส่วนที่เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "กำเอ็งเถ็ก" มีความเป็นไปได้สูงจีนที่จะเพี้ยนมาจาก "กำแพงเพชร" จากการฟังภาษาไทยที่ใช้เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยตรง ไม่ได้เรียกตามชื่อเมืองกำแพงเพชรที่คนจีนตอนนั้นอาจจะเรียกด้วยชื่ออื่น และอาจจะมีการเรียกเพี้ยนไปบ้างโดยผู้ที่ให้ข้อมูลกับหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองพุทไธมาศ ก่อนจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังต้าชิง ตามที่คุณ CrazyHOrse สันนิษฐานครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 13 ส.ค. 16, 21:00

จากหลักฐานที่ยกมาก็น่าเชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ก็ยังดูขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ อีกมากที่ต่างก็เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพ้นแผ่นดินไปแล้วว่า "เจ้าตาก" "เจ้าตากสิน" "พระยาตากสิน" "ขุนหลวงตาก" ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชรจริง

แม้แต่ในพงศาวดารที่ระบุว่าพระองค์ได้เป็นพระยากำแพงเพชร ยังกล่าวว่าเมื่อพระยากำแพงเพชรตั้งตนเป็นเจ้า คนก็เรียกขานพระองค์ว่า "จ้าวตาก" ซึ่งก็ดูประหลาดอยู่


ถ้าจะให้ลองสันนิษฐานว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ดูจากพงศาวดารแล้วระบุว่าพระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรในเดือน ๑๒ ต่อมาในเดือนยี่ ก็หนีออกจากกรุงไปทางตะวันออก โดยสรุปก็คือได้เป็นอยู่ประมาณ ๒-๓ เดือน


อาจเป็นไปได้ว่าด้วยช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ผู้ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับแวดวงราชสำนักโดยเฉพาะหัวเมืองห่างไกลอาจจะรู้จักพระยาตากในฐานะแม่ทัพที่ป้องกันพระนคร แต่อาจไม่ทราบได้ว่าพระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร หรือไม่ก็เพราะพระยาตากเป็นแม่ทัพคนสำคัญอยู่แล้ว ถ้าเปลี่ยนไปเรียกพระยากำแพงเพชรอาจจะทำให้เกิดความสับสนในการบัญชาการศึกเลยเรียกกันว่าพระยาตากอยู่ตามเดิม ไม่ก็ยังไม่ได้เป็นพระยากำแพงเพชรเต็มตำแหน่ง ยังไม่ได้ออกไปครองเมือง อาจได้เพียงว่าที่เจ้าเมืองกำแพงเพชรเท่านั้น เลยยังคงเรียกพระยาตากอยู่


ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการเดาเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอะไรครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 14 ส.ค. 16, 12:29


ผมยังไม่เปลี่ยนความเชื่อตามคุณศรีฯ นะครับ
เรื่องวชิรปราการราชายังขัดกับข้อมูลหลายๆอย่าง เจ๋ง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 14 ส.ค. 16, 13:22

กำเซี้ยเป็นเสียงแต้จิ๋ว คือ 甘城 เซี้ยแปลว่านคร มีอีกความหมายหนึ่งคือกำแพงเมือง โดยนัยแล้ว เซี้ย เป็นเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบ จีนกลางอ่านเฉิง ผมเข้าใจว่าเป็นรากศัพท์เดียวกับ เชียง ของล้านนา ล้านช้าง และไทยใหญ่

กำเซี้ย จึงแปลได้ว่า นครกำ (ขอไม่แปล กำ เพราะเห็นว่าทับศัพท์แน่ๆ ดังได้กล่าวไว้ใน คคห. ก่อนหน้านี้ครับ) ซึ่งผมไม่เห็นว่าเป็นคนละชื่อกับ กำเผ่งเผ็ก แต่อย่างใด และน่าจะรวมไปกับโกวผินพี้ (ไม่รู้ถอดเสียงมาอย่างไร เพราะไม่เห็นต้นฉบับจีน แต่ผมคิดว่าน่าจะเพี้ยนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขปัจจัยหลายๆ อย่างครับ)

ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นชื่ออันเนื่องมาจากการทับศัพท์ชื่อ กำแพงเพชร ที่คนไทยเรียกกันมานานนะครับ

ถ้าพระเจ้าตากไม่เคยได้เป็นพระยากำแพงเพชร (หรือเป็นว่าที่เจ้าเมืองกำแพงเพชร) ผมว่ามันต้องเป็นเรื่องประหลาดมากๆ ที่เอกสารจีนร่วมสมัยในปี พ.ศ.2311 เรียกพระองค์ว่ากำเอ็งเถ็กครับ ต้องหาเหตุผลที่ดีมาอธิบายเรื่องนี้ให้ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 15 ส.ค. 16, 10:57

ในหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร กล่าวถึง เมืองตาก และกำแพงเพชรไว้ดังนี้

เมืองอื่น ๆ บนเส้นแม่น้ำ (เจ้าพระยา)

ตำบลสำคัญ ๆ ที่แม่น้ำสายไหลผ่าน คือ แม่ตาก (Mê-Tac) อันเป็นเมืองเอกของราชอาณาจักรสยามที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือหนพายัพ ถัดจากนั้นต่อมาก็ถึงเมือง เทียนทอง (Tian-Tong หรือ เชียงทอง) กำแพงเพชร หรือ กำแพง เฉย ๆ ซึ่งลางคนออกเสียงว่า กำแปง (Campingue) แล้วก็ถึงเมืองนครสวรรค์ เขียนว่า (Lacondevan), ชัยนาท (Tchaĭnat) สยาม, ตลาดขวัญ, ตลาดแก้ว (Talaqu'ou) และบางกอก....

เมือง แม่ตาก นั้นกล่าวกันว่า เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก (Pa-yà tac) อันหมายความว่า เจ้าแห่ง (เมือง) ตาก. เมือง เทียนทอง นั้นร้างไปแล้วคงจะเนื่องจากสงครามเก่าแก่กับพะโค. เมือง กำแพง นั้นเป็นที่รู้กันว่ามีเหมืองเหล็กกล้าอันเป็นเหล็กเนื้อดีวิเศษ.


ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส หน้า ๘-๙



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.215 วินาที กับ 20 คำสั่ง