เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 10025 สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



 เมื่อ 01 ส.ค. 16, 13:39

เมืองตากเมืองระแหง เท่าที่ทราบก็เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง เพราะชัยภูมิก็นับเป็นเมืองด่านที่อยู่ติดต่อกับพม่า จึงปรากฏว่าเป็นเส้นทางเดินทัพที่สำคัญของพม่าอยู่หลายครั้ง ซึ่งปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาเรียกว่าเมืองตากนั้นเป็น "เมืองหน้าศึก"

แต่เมืองตากนั้นไม่ปรากฏในทำเนียบหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวาในพระอัยการนาทหารหัวเมืองเลย


จึงไม่ทราบได้ว่าเป็นหัวเมืองระดับไหน (แต่คงไม่ใช่เมืองเอกหรือโท) ไม่ทราบทินนามของเจ้าเมืองรวมถึงศักดินาด้วยครับ


เลยอยากสอบถามว่ามีท่านใดพอจะทราบข้อมูลบ้างไหมครบ ขอบคุณครับ


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 13:56

ข้อมูลอื่นๆ เท่าที่ทราบคือในทำเนียบเมืองจากจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมัยรัชกาลที่ ๓ ระบุว่ามีเมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทองขึ้นกับเมืองตากครับ


ซึ่งก็ส่วนคล้องกับพงศาวดารที่ระบุว่า เมื่อตอนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จหนีจากกรุงศรีอยุทธยา มีพระเชียงเงินเป็นหนึ่งในนายทหารผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จมาด้วย และมีการระบุว่าเป็น "ข้าหลวงเดิม" จึงสันนิษฐานว่าอาจจะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนแล้ว ภายหลังได้เลื่อนยศเป็นพระท้ายน้ำและพระยาสุโขทัยตามลำดับ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ การเมืองสมัยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าเมืองเชียงเงิน "ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นเมืองตาก-ระแหง" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าอ้างอิงจากหลักฐานอะไรบ้าง

แต่ถ้าจริงเมืองตากก็ควรจะสูงกว่าระดับจัตวา คิดน่าจะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ไม่น่าจะถึงหัวเมืองชั้นโทระดับเดียวกับสุโขทัย สวรรคโลก กำแพงเพชร


นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงอธิบายไว้ใน พระนิพนธ์ 'ไทยรบพม่า' ว่า "พระยาตากคนนี้เป็นเชื้อจีน เดิมอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นไปรับราชการทางหัวเมืองเหนือ ไปทำราชการมีความชอบได้เป็นเจ้าเมืองตาก เมื่อยังเป็นเมืองขึ้นของเมืองกำแพงเพชร"

ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นเมืองตรี แต่ไม่พบหลักฐานชัดเจนครับ



บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 14:02

เรื่องทินนามก็ไม่ปรากฏ ในเอกสารต่างๆ ก็เรียกกันแต่ว่า "พระยาตาก"

ซึ่งเมืองที่เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็น 'พระยา' ในสมัยอยุทธยาก็น่าจะมีความสำคัญพอสมควร เพราะเมืองส่วนใหญ่หลายๆ เมืองเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์แค่ 'พระ'

แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าเมืองตากมีทินนามแต่อย่างใดครับ หรือแต่เดิมจะมีแต่สูญหายไปหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ครับ


มีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองตากยุคต้นๆ คือ "พระยาสุจริตรักษา" ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 15:05

เรื่องทินนามก็ไม่ปรากฏ ในเอกสารต่างๆ ก็เรียกกันแต่ว่า "พระยาตาก"
ราชทินนามของเจ้าเมืองตากในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏอยู่ในจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ  

จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมืองนี้ ปรากฏอยู่บนคอสองเฉลียงพระระเบียงล้อมอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามทั้ง ๔ ทิศ ได้แก่ ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ ตามลำดับ ในโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ระบุว่า มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปหัวเมืองขึ้นของกรุงเทพมหานคร ๔๗๔ หัวเมืองไว้คู่กับจารึก เมื่อคราวรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ แต่ในปัจจุบันภาพดังกล่าวลบเลือนไปจนหมดสิ้นแล้ว หลงเหลือเพียงจารึกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฉบับตีพิมพ์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ระบุว่า มีการตรวจสอบพบจารึกจำนวน ๗๗ แผ่น ทำเนียบเมือง ๑๙๔ หัวเมือง แล้วนำไปสอบทานกับชื่อเมืองในประกาศพระราชพิธีตรุษพบว่าตรงกัน จึงสันนิษฐานว่าเดิมมีการจารชื่อเมืองตามประกาศดังกล่าวทั้งหมด ส่วนทำเนียบข้าราชการคงใช้ตามที่เป็นอยู่ในเวลานั้น โดยมีการจัดเรียงตำแหน่งจารึกหัวเมืองต่าง ๆ ไว้ตามทิศ เช่น หัวเมืองทิศเหนือ จารึกไว้บนคอสองระเบียงอุโบสถทางทิศเหนือ เป็นต้น

ความในจารึกมีดังนี้

๏ เมืองป่องขึ้นเถินอยู่ดอน  ๑ เมืองเถิน เจ้าเมืองชื่อพระยาเถินบุรีขึ้นกรมมหาดไทย ๑ เมืองตากเจ้าเมือง
ชื่อพระยาวิชิตชลธีศรีสุรสงคราม รามราชราชัย อภัยภักดี พิริยพาหะ ขึ้นกรมมหาดไทย


จาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 15:41

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูครับ ลืมดูตรงจารึกนี้ไป ดูเฉพาะแต่ตรงเมืองเชียงเงินเชียงทองที่ขึ้นกับเมืองตาก


ทินนาม "พระยาวิชิตชลธีศรีสุรสงคราม รามราชราชัย อภัยภักดี พิริยพาหะ" นี้ ฟังดูใกล้เคียงกับทินนามของทหารเรือมาก ดูไม่ค่อยเข้ากับเจ้าเมืองตากที่อยู่ห่างทะเลเท่าไร่ครับ

ซึ่งไปค้นข้อมูลแล้วต่อมาทินนามนี้ก็กลายเป็นทินนามของทหารเรือจริงๆ คือ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและเป็นนักโทษการเมืองจากกบฏบวรเดช


สร้อยนาม "รามราชราชัย" ดูคล้ายจะสื่อถึงพระญารามราชหรือพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งตามศิลาจารึกหลักที่ ๑ ระบุว่าได้ชนช้างกับขุนสามชนที่เมืองตาก


เท่าที่ดูข้อมูลมาปรากฏว่าทินนามปรากฏใช้ช่วงรัชกาลที่ ๓-๔ จะใช้ตั้งแต่สมัยอยุทธยาหรือไม่ก็คงไม่ทราบได้ เพราะไม่พบหลักฐานครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 15:42

พระยาวิชิตชลธี  ฟังราชทินนามน่าจะเป็นเจ้าเมืองทางใต้หรือตะวันออก ที่มีทะเล  
มากกว่าเมืองทางเหนือ
แค่ตั้งข้อสังเกตเฉยๆค่ะ ไม่ได้หมายความว่าคัดค้าน

อ้าว ความเห็นชนกันกลางอากาศพอดี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 15:50

มีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองตากยุคต้นๆ คือ "พระยาสุจริตรักษา" ครับ

มีอยู่หลายท่าน หลายราชทินนาม

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/001/10_1.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/018/538.PDF


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 18:28

จำได้ว่า ในหนังสือ "การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับราชทินนามของพระยาตาก ว่าทำไมชื่อพระยาวชิรปราการ     เจ้าเมืองตากน่าจะเป็นพระยารามณรงค์
ไม่ทราบว่าชื่อพระยารามณรงค์   อ.นิธิได้มาจากที่ใด   ฝากคุณเพ็ญชมพูหรือท่านใดที่ทราบ ช่วยตอบด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 18:51

ที่ราชทินนามเจ้าเมืองตากมีส่วนเกี่ยวกับน้ำนั้น  อาจจะเป็นเพราะเมืองตากเป็นหัวเมืองหน้าด่านชายพระราชอาณาเขต
ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อส่วนกลางและหัวเมืองล้านนาผ่านทางลำน้ำปิง  และติดต่อกับพม่าในเส้นทางบกผ่านทางด่านแม่สอด
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 18:58

จำได้ว่า ในหนังสือ "การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับราชทินนามของพระยาตาก ว่าทำไมชื่อพระยาวชิรปราการ     เจ้าเมืองตากน่าจะเป็นพระยารามณรงค์
ไม่ทราบว่าชื่อพระยารามณรงค์   อ.นิธิได้มาจากที่ใด   ฝากคุณเพ็ญชมพูหรือท่านใดที่ทราบ ช่วยตอบด้วยนะคะ


อาจารย์นิธิหมายถึงราชทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชรซึ่งควรเป็นพระยารามณรงค์ฯ  แต่ทำไมราชทินนามของสมเด็จพระเจ้าตากสินครั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคือพระยาวชิรปราการ

คือไหนๆ กระทู้นี้ก็รวมเรื่องราชทินนามแล้ว ผมก็เลยเอาตำแหน่งใน พระไอยการนาพลเรือนฯ ที่เป็นขุนนางระดับสูงศักดินา 10,000 มาลงไว้เลยครับ เท่าที่ตรวจสอบ มีขุนนางระดับ เจ้าพระยา 5 ตำแหน่ง (เจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งเป็นหัวหน้ามอญ ก็มีบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยา แต่ศักดินาแค่ 3,000 ไร่ ซึ่งอาวุโสในระบบขุนนางโบราณถือ ศักดินาเป็นลำดับแรก จึงถือว่าเป็นแค่ขุนนางระดับกลาง เท่านั้น) ส่วนระดับออกญา หรือ พระยามี 16 ตำแหน่ง เป็นทั้งเสนาบดี และเจ้าเมืองชั้นโท  เข้าใจว่าจะมีตำแหน่งขุนนางที่ไม่ได้ปรากฎในทำเนียบพระไอยการฯ อีกจำนวนมาก คือ สถาปนาขึ้นมาภายหลัง (เข้าทำนองออกกฎหมายเพิ่มเติม) รายชื่อมีดังนี้ครับ

18. ออกญารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ   เจ้าเมืองกำแพงเพชร


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 19:14

จำได้ว่า ในหนังสือ "การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับราชทินนามของพระยาตาก ว่าทำไมชื่อพระยาวชิรปราการ     เจ้าเมืองตากน่าจะเป็นพระยารามณรงค์
ไม่ทราบว่าชื่อพระยารามณรงค์   อ.นิธิได้มาจากที่ใด   ฝากคุณเพ็ญชมพูหรือท่านใดที่ทราบ ช่วยตอบด้วยนะคะ

พระยารามรณรงค์เป็นทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชรตามที่คุณเพ็ญชมพูกล่าวมาครับ เพราะมีประวัติอยู่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรครับ


จริงๆ หลักฐานที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ก็ปรากฏแต่ในหลักฐานสมัยหลังครับ ในขณะที่หลักฐานอื่นที่เก่าหน่อย ก็บ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าน่าจะทรงมีบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นแค่พระยาตาก จึงเรียกกันต่อมาเมื่อทรงได้เป็นเจ้าหรือเมื่อสวรรคตไปแล้วว่า "เจ้าตาก" "เจ้าตากสิน" "พระยาตากสิน" "ขุนหลวงตาก" เอกสารอื่นๆอย่างพงศาวดารพม่าหรือคำให้การเชลยไทยที่ไปอยู่ที่พม่าหลังเสียกรุงอย่างคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เรียกพระองค์ว่า "พระยาตาก"

เข้าใจว่าหลักฐานที่ทำให้เข้าใจกันว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาก่อน น่าจะมาจากเอกสาร "สังคีติยวงศ์" งานนิพนธ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษามคธว่า "วชิรปากานราชา" ซึ่งแปลตรงตัวว่า “กำแพงเพชร” เลยเป็นไปได้ที่น่าจะทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ก็ไม่มีความชัดเจน และมีการสันนิษฐานว่าคำๆ นี้อาจจะเป็นคำเรียกขานพระองค์อย่างยกย่องก็เป็นได้


สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกระบุว่าเคยเป็น "พระยากำแพงเพชร" ครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ซึ่งมีบานแพนกระบุว่าสมเด็จพระพนรัตน์กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสผู้เป็นศิษย์ ได้ทรงชำระต่อมาจากพงศาวดารที่รัชกาลที่ ๑ ทรงชำระเอง จึงเข้าใจว่ากรมพระปรามานุชิตชิโนรสเป็นผู้ชำระเป็นองค์สุดท้าย (น่าจะชำระราวสมัยรัชกาลที่ ๓)

สันนิษฐานว่า ภายหลังกรมพระปรามานุชิตชิโนรสน่าจะทรงได้อิทธิพลจากสังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการชำระพงศาวดารเลยอาจจะทำให้ทรงชำระแก้ไปว่าพระยาตากทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชรโดยการตีความคำว่า "วชิรปากานราชา" ตามความเข้าใจของพระองค์ก็เป็นได้ครับ

ซึ่งในพงศาวดารนี้ ในช่วงศึกบ้านระจัน พ.ศ. ๒๓๐๙ ยังเรียกว่า “พระยาตาก” แต่ช่วงตีฝ่าออกจากพระนครได้เรียกว่า “พระยากำแพงเพชร” คงด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในหนังสือไทยรบพม่าว่า “ครั้นพม่าเข้ามาล้อมกรุงฯ พระยาตากถูกเกณฑ์ลงมาช่วยรักษาพระนคร ฝีมือรบพุ่งเข้มแข็ง มีบำเหน็จความชอบในการสงคราม จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากำแพงเพชร แต่หาทันได้ขึ้นไปครองเมืองไม่”

แต่ส่วนตัวก็คิดว่าเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ได้ทรงเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรจริงๆ เพราะก็ดูขัดแย้งข้อบ่งชี้อื่นๆ จำนวนมาก ที่ยังเรียกพระองค์ว่า "พระยาตาก" อยู่


พระราชพงศาวดารไม่เคยบอกว่าพระองค์ได้เป็น “พระยาวชิรปราการ” เป็นแต่ “พระยากำแพงเพชร” และปกติแล้วทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชรตามพระอัยการนาทหารหัวเมืองก็ไม่ใช่ "วชิรปราการ" แต่คือ "ออกญารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ"  ครับ


ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเมือ พ.ศ.๒๓๑๙ ซึ่งปรากฏชื่อในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า “พฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก” ครับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้ากาวิละแห่งลำปางก็ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในยศพระยาวชิรปราการเช่นเดียวกัน


เข้าใจว่าเอกสารแรกที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมียศเป็น “พระยาวชิรปราการ” คือ “อภินิหารบรรพบุรุษ” ซึ่งระบุว่าเมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรถึงแก่กรรมเลยเรียกพระยาตากลงมายังกรุงเพื่อเลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่พอลงมาแล้วพม่ายกทัพมาพอดีเลยไม่ได้ไปครองเมือง (ซึ่งขัดแย้งกับพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ที่ระบุยังเป็นพระยาตากในช่วงศึกบ้านระจัน แต่ได้เป็นพระยากำแพงเพชรภายหลัง และขัดกับหลักฐานอื่นๆ ที่ยังคงเรียกว่าพระยาตาก)

น่าเชื่อว่าอภินิหารเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ ๕ (สันนิษฐานว่า ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นผู้เขียน) ซึ่งก็มีความพิสดารของเนื้อหาจำนวนมาก หาหลักฐานอ้างอิงไม่ได้ แล้วก็มีความขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ อยู่มาก ประกอบกับนายกุหลาบมีประวัติอยู่ว่าเคยลักลอบทำสำเนาเอกสารจากหอหลวง ไปแต่งเติมดัดแปลงเนื้อหาตามอำเภอใจจนถูกลงโทษมาแล้ว ทำให้เอกสารนี้ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากนักประวัติศาสตร์เท่าไหร่ครับ แต่ก็เป็นเอกสารที่คนทั่วไปนิยมอ้างอิงกันมาก ซึ่งประวัติพระเจ้ากรุงธนบุรีส่วนใหญ่ที่รู้กันก็มาจากเอกสารนี้นั่นเองครับ

เป็นไปได้ผู้เขียนอภินิหารบรรพบุรุษ อาจจะตีความเอาว่าพระยากำแพงเพชร น่าจะมีทินนามตามภาษามคธว่า "วชิรปราการ" และอาจจะได้อิทธิพลจากสังคีติยวงศ์มาด้วยเลยแต่งไปตามนั้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนใดใช้ทินนามว่า "วชิรปราการ" เลยครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 20:03

ที่ราชทินนามเจ้าเมืองตากมีส่วนเกี่ยวกับน้ำนั้น  อาจจะเป็นเพราะเมืองตากเป็นหัวเมืองหน้าด่านชายพระราชอาณาเขต
ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อส่วนกลางและหัวเมืองล้านนาผ่านทางลำน้ำปิง  และติดต่อกับพม่าในเส้นทางบกผ่านทางด่านแม่สอด


เป็นข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ส.ค. 16, 21:11

ดิฉันกลับไปคิดอีกอย่าง ไม่ต้องเชื่อก็ได้เพราะเดาล้วนๆ   
คือเดาว่าราชทินนามของเจ้าเมืองที่สอดคล้องกับเมืองก็มี  เช่นพระยาเถินบุรีเจ้าเมืองเถิน    และที่ไม่สอดคล้องก็มี  เช่นพระยาวิชิตชลธีเจ้าเมืองตาก
 ประการหลังอาจเกิดจากการโยกย้ายขุนนางด้วยเหตุผลต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการถึงแก่กรรมของคนเก่า  หรือการเลื่อนตำแหน่งให้ความดีความชอบแก่คนใหม่ซึ่งมาจากอีกเมืองหนึ่ง    ย้ายกันบ่อยเข้า  ชื่อเจ้าเมืองกับเมืองก็เลยสอดคล้องกันบ้างไม่สอดคล้องกันบ้าง  แล้วแต่กรณี
การบันทึกหลักฐานต่างๆ  อาจบันทึกตามสภาพความเป็นจริงในขณะที่บันทึก    แม้ว่าจะบันทึกในฐานะทำเนียบขุนนาง ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือกฎระเบียบตายตัว ค่ะ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 ส.ค. 16, 09:08

แนบแผนที่จากสมุดภาพไตรภูมิ วาดลักษณะเอาทิศเหนือไว้ซ้ายมือเรา ทิศใต้อยู่ขวามือ ในกรอบจะเห็นอยู่ ๒ เมืองบริเวณจังหวัดตาก คือ เมืองตาก และ เมืองเชียงทอง ด้านเหนือวาดรอยพระพุทธบาทบนยอดเขารัง ส่วนด้านซ้ายเป็นพระพุทธบาทเมืองล้านนา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 ส.ค. 16, 09:21

ราชทินนามผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในรัชกาลที่  ๖

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/724.PDF


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง