เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 11648 การสืบราชสมบัติ
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 ก.ค. 16, 18:09


ขอเพิ่มเติมข้อมูลครับ

วังหน้าที่ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์มีอย่างน้อย สองพระองค์
พระศรีสุธรรมราชา อนุชาพระเจ้าปราสาททอง
และ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

การสืบทอดราชสมบัติจาก ร.๒ ไป ร.๓ นับได้ว่าสงบเรียบร้อย
หากเทียบกับสมัย ร.๒ ขึ้นครองราชสมบัติ
และเป็นไปอย่างราบรื่นมากๆเมื่อเทียบกับสมัย อยุธยาตอนปลาย

และผู้มีสิทธิสืบต่อราชสมบัติไม่จำเป็นต้องมีพระยศเป็นระดับเจ้าฟ้าหากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินก็สามารถทำได้
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 ก.ค. 16, 18:51

อ้างถึง
"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสของรัชกาลที่ ๔ เอง ก็ทรงพระนิพนธ์เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ว่า

เขาเชิญไปวัดพระแก้ว            มรกฎ อกอา
พัก ณ พระอุโบสถ               ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด              เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า               รอบรั้งขังคุม พระเอย

กุมไว้ในโบสถ์สิ้น                  สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร                พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาน                 สนมนิเวสะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง          จับมล้างพรางไฉน ฯ

จากบทประพันธ์ถอดความได้ความว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงถูกคุมอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดโดยอ้างว่าเป็นการอารักขา ทรงประทับอยู่โดยไม่มีผู้ใด และทำให้เกิดความระแวงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์   หากความเป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปครับ

น่าจะเป็นการ "จุกช่องล้อมวง"  หรือเปล่าคะ คุณ V_Mee?


ตามความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าเป็นการจุกช่องล้อมวงตามราชประเพณีปกติ ในบทประพันธ์ก็ไม่น่าจะมีข้อความดังนี้ครับ

หับทวารส่งทหารปด              เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า               รอบรั้งขังคุม พระเอย


คือส่งทหารที่กล่าวปดว่าจะมาอารักขา แต่กลับทำการรุกเร้าคุมขังเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นการคุมโดยสงบ นอกจากนี้ยังถูกคุมอยู่เพียงพระองค์เดียวโดยไม่มีข้าราชบริพารเลย



หรือข้อความ คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง          จับมล้างพรางไฉน


สันนิษฐานโดยเบื้องต้นว่าผู้ประพันธ์คือสมเด็จฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์น่าจะทรงฟังเรื่องนี้มาจากผู้ที่เคยฟังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบอกเล่ามาแต่ก่อน ซึ่งก็น่าเจ้านายผู้ใหญ่อย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หรือเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (คงจะไม่ได้ทรงฟังมาจากพระจอมเกล้าฯ ที่เป็นพระบิดาโดยตรง เพราะตอนพระบิดาสวรรคตยังทรงพระเยาว์มาก)


ถ้าบทประพันธ์นี้มาจากคำบอกเล่าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จริง ก็น่าจะเห็นได้ว่าตอนที่พระองค์ทรงอยู่ในอุโบสถวัดพระแก้วนั้น ก็น่าจะทรงอยู่ในภาวะที่ทรงระแวงพอสมควรครับ การที่พระองค์จะทรงกลัวว่าจะโดนทำร้ายในช่วงผลัดแผ่นดินก็คิดว่าคงไม่แปลกครับเพราะพระองค์เองก็เป็นทรงอยู่ในฐานะที่จะสืบราชสมบัติได้อย่างชอบธรรมโดยที่ทรงเป็น อุภโตสุชาติ  

และเมื่อนำมารวมกับเรื่องหม่อมไกรสรที่ทรงวางตัวเป็น "ไพรี" กับพระองค์มาตั้งแต่แรก บวกกับที่ทรงกล่าวไว้เองทรงผนวชเพราะหลีกหนีจากอิทธิพลของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระเชษฐา ในช่วงผลัดแผ่นดินพระองค์ก็น่าจะเป็นที่ระแวงจากฝั่งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์หรือหม่อมไกรสรเช่นเดียวกันครับ จึงทำให้ถูกกุมพระองค์ไว้ชั่วคราว จนรัชกาลที่ ๓ ได้ราชสมบัติแล้วอย่างที่คุณ V_Mee กล่าวครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 ก.ค. 16, 19:20


จะว่าไป การสืบราชสมบัติของรัชกาลที่ ๔ นับเป็นเรื่องของดวงพระชะะตาโดยแท้
ไม่มีเหตุการณ์ใดตลอดรัชสมัยที่ให้เราเชื่อได้ว่า รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์
ให้เจ้าฟ้ามงกุฏเป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 ก.ค. 16, 19:30


ขอเพิ่มเติมข้อมูลครับ

วังหน้าที่ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์มีอย่างน้อย สองพระองค์
พระศรีสุธรรมราชา อนุชาพระเจ้าปราสาททอง
และ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

การสืบทอดราชสมบัติจาก ร.๒ ไป ร.๓ นับได้ว่าสงบเรียบร้อย
หากเทียบกับสมัย ร.๒ ขึ้นครองราชสมบัติ
และเป็นไปอย่างราบรื่นมากๆเมื่อเทียบกับสมัย อยุธยาตอนปลาย

และผู้มีสิทธิสืบต่อราชสมบัติไม่จำเป็นต้องมีพระยศเป็นระดับเจ้าฟ้าหากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินก็สามารถทำได้


สำหรับพระมหาอุปราชที่ไม่ได้เป็นโอรสพระเจ้าแผ่นดิน ผมนึกออกอีกองค์คือ นายจัน พระอนุชาของขุนวรวงศาธิราชครับ

"นางพญาจึ่งมีพระเสาวะนีตรัษสั่งปลัดวังให้เอาราชยานแลเครื่องสูงสังข์กับขัดิวงษ์ออกไปรับฃุนวรวงษาธิราชเข้ามาในพระราชนิเวษมลเทยีนสถานแล้ว ตั้งพระราชพิทธีราชาภิเศกฃุนวรวงษาธิราชขึ้นเปนจ้าวพิภพกรุงเทพวารวะดีศรีอยุทธยาจึ่งเอานายจันผู้นอ้งขุนวรวงษาธิราชบ้านอยู่มหาโลกนั้น เปนมหาอุปราช"

มหาอุปราชจันถูกหมื่นราชเสน่หานอกราชการลอบยิงตายระหว่างขี่ช้างไปเพนียด คืนก่อนที่ขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์จะถูกขุนพิเรนทรเทพและคณะลอบปลงพระชนม์กลางคลองสระบัวครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 ก.ค. 16, 21:41

มีคำบอกกล่าวกันมากในหมู่เจ้านายเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๓ ว่า "เก็บเอาไว้ให้เขา" หรือ "จะรักษาไว้ให้เขา" ซึ่งผมพบอย่างน้อยสองที่คือ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ "เจ้าชีวิต" พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทรงกล่าวว่าทรงได้ยินมาจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถผู้เป็นพระบิดาครับ

ถึงแม้รัชกาลที่ ๓ อาจจะตั้งพระทัยจะคืนราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่พิจารณาตามหลักฐานต่างๆ แม้ว่าจะทรงอุปภัมภ์เจ้าฟ้ามงกุฎในทางศาสนาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้พบว่ารัชกาลที่ ๓ ทรงเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้เสวยราชสมบัติสืบต่อครับ


นอกจากนี้เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงครองราชย์ ตำแหน่งพระมหาอุปราชซึ่งเป็นเสมือนตำแหน่งรัชทายาทอย่างกลายๆ ตกเป็นของพระองค์เจ้าอรุโณทัย กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ซึ่งเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จึงมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของรัชกาลที่ ๓ นอกจากนี้ยังมีเชื้อสายของเจ้านครศรีธรรมราชผ่านพระมารดาที่เป็นธิดาของเจ้าพระยานคร (พัด) และทรงเป็นหลานน้าของเจ้าพระยานครน้อย จึงอาจนับว่ามีฐานอำนาจทางฝั่งพระมารดาอยู่พอสมควร

พระองค์ซึ่งเป็นเจ้านายทรงพระบารมีมากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ โดยทรงได้กำกับกรมพระกลาโหมและหัวเมืองปากใต้ทั้งหมด และทรงเคยบัญชาการทัพออกไปรับศึกพม่าร่วมกับรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ ๓ มาแต่ก่อนและทรงเป็นกำลังสนับสนุนที่ให้รัชกาลที่ ๓ ได้ราชสมบัติถึงทรงได้รับความไว้วางพระทัยเป็นวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เองทรงรับหน้าที่สำคัญคือเป็นแม่ทัพใหญ่ออกไปปราบเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์

พิจารณาแล้ว ถ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยังทรงมีพระชนม์ยืนยาวมาเรื่อยๆ โดยอำนาจบารมีก็ทรงมีแนวโน้มสูงที่จะได้ราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๓ ครับ แต่พระองค์เป็นกรมพระราชวังบวรได้เพียง ๘ ปี ก็สิ้นพระชนม์ไปเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕


ซึ่งช่วงหลังจากนี้รัชกาลที่ ๓ น่าจะทรงเริ่มมองมาที่เจ้าฟ้ามงกุฎมากขึ้นครับ แต่ก็พบว่าสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎก็มีแต่การแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นสันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงออกว่าจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติต่อครับ ไม่ได้ทรงกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และก็ไม่ได้ทรงสถาปนายศศักดิ์ให้เจ้านายองค์ใดเป็นพิเศษ จนถึงก่อนสวรรคตก็ให้เหล่าเสนาบดีและพระราชวงศ์คัดเลือกพระเจ้าแผ่นดินกันเองอย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ได้ราชสมบัติเพื่อป้องกันปัญหาเจ้านายร้าวฉานแย่งชิงราชสมบัติกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 ก.ค. 16, 22:26

ใครมีพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ที่มีไปถึงสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรบ้างคะ  ที่ขึ้นต้นว่า "พ่อมั่งขา  พ่อจงเป็นเชษฐมัตตัญญู"
ดิฉันหาไม่เจอในกูเกิ้ล
ถ้านำมาลงได้ จะเห็นความในพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่าท่านมองเจ้านายในแผ่นดินองค์ไหนอย่างไรบ้าง  ทำไมถึงไม่ทรงมอบราชสมบัติให้ชัดๆ เลยสักพระองค์เดียว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 07:01

พระราชหัตถเลขาที่คุณเทาชมพูกล่าวถึงมีเนื้อหาแสดงความไม่พอพระทัยที่พระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกายซึ่งพระวชิรญาณเถระหรือเจ้าฟ้ามงกุฎทรงตั้งขึ้นห่มผ้าอย่างมอญ

“พ่อมั่งขา

            พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิต และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว      ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่ง เป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด    ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป     มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่

            พระสงฆ์ผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้นแหละ เห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่า พระมอญ        เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ          โดยอัตโนมัติปัญญาของพี่ เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว          แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้น และสืบไปเบื้องหน้าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นศูนย์ไปพี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา

            ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา

            ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย”


              เรื่องนี้ทรงอดกลั้นอยู่ถึง ๒๑ ปี จนจวบจะสวรรคต จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยมีจดหมายกระแสพระราชโองการ โดยโปรดให้ พระราชโอรส คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรรณพ  กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ต้นราชสกุล ‘อรรณพ ณ อยุธยา’ จดตามพระราชดำรัส  ณ วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีจอโทศก เพลาตี ๒ ทุ่มเศษ (พ.ศ. ๒๓๙๓)
          
           เมื่อได้รับพระบรมราชโองการ     ‘พ่อมั่ง’ ก็ไปกราบทูล "กรมหมื่นนุชิตชิโนรส" หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ปรากฏว่า เมื่อรับพระราชทานจีวรแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ท่านก็ทรงครองทันที และทรงครองแบบที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชประสงค์มาตลอดพระชนมชีพ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 07:12

อ้างถึง
แต่ก็พบว่าสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎก็มีแต่การแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นสันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงออกว่าจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติต่อครับ ไม่ได้ทรงกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

คงจะหมายถึง การที่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นในวัดบวรนิเวศ ให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงย้ายจากวัดราชาธิวาส มาครองที่นั่น เสมือนการครองพระบวรราชวังกระมัง
ผมคิดว่าก็ชัดอยู่นะครับ

เรื่องบางอย่างจะชัดมากกว่านี้ไป ก็อาจจะเป็นภัยแก่องค์พระเอง
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 07:15

อ้างอิงจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๑ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต

ในชั้นแรก เมื่อทรงพระประชวรหนักจึงโปรดให้กรมหมื่นวงศาสนิท (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) กับพระยาพิพัฒน์โกษาเขียนออกมา โดยให้พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่เลือกเจ้านายที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเองครับ

พระราชปรารภเรื่องการปกครองแผ่นดิน

"พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ คุณพระรัตนตรัยอันเป็นใหญ่ในโลก ให้เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาราชสุภาวดี กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงเป็นสามัคคีรสแก่กันและกัน ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์มาแล้ว ได้ช่วยกันรักษาแผ่นดินของสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวอันเป็นปฐมกษัตริย์มาได้ถึง ๖๙ ปี จนมีพระญาติประยุรวงศานุวงศสืบ ๆ มาเป็นอันมากประมาณถึงพันหนึ่งสองพัน แต่ที่เป็นผู้หญิงนั้นยกเสีย ว่าแต่ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็มี กลางคนก็มี เด็กก็มีนั้น สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวได้ชุบย้อมคุณานุรูปทุกองค์ แต่ที่จะให้บังคับให้ท่านผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดิน บังคับไม่ได้ขอเสียเถิด ให้พระญาติประยุรวงศกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยประนีประนอมกัน สมมุติจะให้พระองค์ใดหรือผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินก็สุดแต่จะเห็นพร้อมกันเถิด ให้เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า กับสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวด้วย อย่าให้ฆ่าฟันกันเสียนักเลย จงช่วยกันรักษาแผ่นดินไปด้วยกันเถิด อนึ่งการพระราชกุศลซึ่งได้สร้างวัดวาอารามกับทั้งการพระราชกุศลสิ่ง อื่น ๆ ยังค้างอยู่เป็นอันมากนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะได้ครองแผ่นดินสืบไปจงสงเคราะห์แก่ข้า ด้วยเงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าข้างในมีอยู่สัก ๔๐,๐๐๐ ชั่งเศษ ขอไว้ให้ข้า ๑๐,๐๐๐ ชั่งจะใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่นั้น ยังเงินอีก ๓๐,๐๐๐ ชั่งเศษนั้น จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด ทองคำก็มีอยู่กว่า ๒๐๐ ชั่ง ขอแบ่งไว้ให้ข้าเป็นส่วนพระราชกุศลสำหรับปิด วัดวาอารามที่ยังค้างอยู่นั้นให้สำเร็จก่อน ทองเหลืออยู่จากนั้นจะใช้ทำเครื่องละเม็งละคอนและการแผ่นดินก็ตามเถิด อนึ่งพระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาของข้าซึ่งอยู่ในหอพระอัฐินั้น กีดอยู่ก็ให้มอบไว้กับพระเจ้าลูกเธอผู้ชายพระองค์ใด ๆ ก็ตามเถิด ถ้าและเขาฆ่าเสียหมดแล้ว ก็ให้มอบไว้กับพระเจ้าลูกเธอผู้หญิงที่ยังเหลือออยู่นั้นจะได้เชิญไปเสียให้พ้น ถึงพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลยนี้เล่าก็เป็นสูงเท้าหน้าต่ำเท้าหลังหาสมควรที่จะอยู่ร่วมกับพระบรมอัฐิไม่ ก็ให้เชิญไปไว้กับพระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาเสียด้วยเถิด จดหมายกระแสพระราชโองการฉะบับนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นวงศาสนิท พระยาพิพัฒนโกษา เขียนออกมาณวันจันทรเดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอโทศก เพลาตี ๑๑ ทุ่มเศษ"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 07:18

การไม่ทรงมีพระภริยาเจ้า เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้พระราชโอรสพระองค์ใดมีพระยศเจ้าฟ้า ก็ชัดเจนอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็ทรงเจริญรอยตาม

ทำให้พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ เลือกเจ้านายที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ง่ายขึ้นมากครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 07:25

แต่หลังจากที่มีกระแสพระราชโองการออกไปแล้ว ก็ยังไม่มีผู้ใดตั้งรัชทายาท โดยยังอ้างว่าพระอาการยังไม่หนักมาก จนรัชกาลที่ ๓ มีพระกระแสเกี่ยวกับพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ๔ พระองค์กับพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ครับ

อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

"ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำเพลาบ่าย ๕ โมง มีรับสั่งให้หาพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็กเข้าไปเฝ้าในที่ มีพระราชโองการถามว่า พระยาพิพัฒน์ ฯ ได้เอาจดหมายที่ทรงอนุญาตนั้นออกไปปรึกษาหารือเสนาบดีแล้วหรือ เขาว่ากะไรบ้าง พระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูล ว่า ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อม ทุกคนพากันเศร้าโศกและเห็นว่าโปรด ฯ ดังนี้พระเดชพระคุณเป็นที่สุด ปรึกษากันว่าพระโรคนั้นยังไม่ถึงตัดรอน แพทย์หมอยังพอฉลองพระเดชพระคุณได้อยู่ ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร จะช่วยกันฉลองพระเดชพระคุณว่าราชการแผ่นมิให้มีเหตุการณ์ภัยอันตรายขึ้นได้

จึงตรัสสั่งให้ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์ขยับเข้าไปให้ชิดพระองค์ ให้ลูบดูพระสรีรกาย แล้วดำรัสว่าร่างกายทรุดโทรมถึงเพี่ยงนี้แล้ว หมอเขาว่ายังจะหายอยู่ไม่เห็นด้วยเลย การแผ่นดินไปข้างหน้าไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่าท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ เกียจคร้านรักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่คนเดียว แต่รังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงได้อนุญาตให้ ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน

การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะร่ำเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัดสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้วให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ ให้ช่วยทนุบำรุง วัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์รับพระราชโองการแล้วก็ร้องไห้ ถอยออกมาจากที่เฝ้า."
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 07:33

อ้างถึง
แต่ก็พบว่าสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎก็มีแต่การแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นสันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงออกว่าจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติต่อครับ ไม่ได้ทรงกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

คงจะหมายถึง การที่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นในวัดบวรนิเวศ ให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงย้ายจากวัดราชาธิวาส มาครองที่นั่น เสมือนการครองพระบวรราชวังกระมัง
ผมคิดว่าก็ชัดอยู่นะครับ

เรื่องบางอย่างจะชัดมากกว่านี้ไป ก็อาจจะเป็นภัยแก่องค์พระเอง



ส่วนตัวผมก็เห็นว่าชัดครับ และที่ไม่มีการแสดงออกในทางปฏิบัติมากมายอย่างทรงเลื่อนกรมใหญ่โตหรืออื่นๆ ก็น่าจะเพื่อป้องกันการอิจฉาริษยาจากเจ้านายองค์อื่นและกรรแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้านายและขุนนาง (แต่เข้าใจว่าหลังจากหม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษไปแล้วก็คงไม่มีเจ้านายที่มีบารมีองค์ไหนตั้งตนเป็นศัตรูอีกครับ)

โดยเฉพาะพระกระแสรับสั่งก่อนสวรรคตที่ดูจะชี้นำไปที่เจ้าฟ้ามงกุฎมากที่สุดครับ เพราะทรงติเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องการห่มจีวรอย่างมอญซึ่งสามารถแก้ไขได้ ในขณะที่เจ้านายองค์อื่นทรงติเรื่องอุปนิสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก

และหลังจากที่มีพระกระแสออกไปก็โปรดให้มีหนังสือไปแจ้งกรมหมื่นนุชิตชิโนรส (ที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลง) ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงทราบแล้วขอเข้ามารับพระราชทานอภัย และยินดีปฏิบัติตามพระราชโองการดังนั้น ประเด็นที่พระนั่งเกล้าฯทรงรังเกียจการห่มจีวรอย่างมอญของเจ้าฟ้ามงกุฎก็น่าจะจบไปได้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 08:08

มีข้อมูลอีกทางหนึ่งว่ามีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าอรรณพสืบต่อราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๒๗ ปี นับเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รอคอยที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อไป

จนเมื่อเวลาอันเป็นที่สุดแห่งรัชกาลมาถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกขนบธรรมเนียมเดิม คือไม่ระบุองค์รัชทายาทตรงๆ แต่กลับทรงเลือกวิธีเก่าคือ โยนหินถามทาง หยั่งเสียง และการบอกโดยนัยยะ แม้กระทั่งมีพระราชดำรัส "ตัด" พระราชวงศ์ที่อยู่ในข่ายสืบราชสมบัติออก

เบื้องต้นมีพระราชประสงค์ที่จะ "หยั่งเสียง" โดยมีพระราชโองการออกมาให้พระบรมวงศ์และขุนนางเลือกองค์รัชทายาทกันเอง คล้ายกับจะทรงฟังว่ามีมติออกมาอย่างไร แต่ครั้นทรงทวงถามถึงพระราชโองการนั้นว่ามีผลอย่างไร พระยาศรีสุริยวงศ์ก็กราบทูลเป็นการบ่ายเบี่ยงเสียว่า พระโรคนั้นยังไม่ถึงขั้นตัดรอน "ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร"

ครั้นเมื่อทรงทราบดังนี้แล้วว่ายังไม่มีการเสนอผู้ใดขึ้นมา ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชโอรสที่ทรงต้องการให้เป็นรัชทายาทก็ย่อมไม่อยู่ใน "โผ" นั้นด้วย

จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง "กัน" พระราชวงศ์ที่เป็น "ตัวเก็ง" ออก คือ กรมขุนเดชอดิศร ท่านว่าพระกรรณเบาเชื่อคนง่าย กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ พระสติปัญญาไม่ถึงขั้น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ไม่พอพระทัยทำราชการ รักแต่เล่นสนุก ส่วนที่มีความเหมาะสมมากกว่าคนอื่นคือเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่ก็รังเกียจว่าทรงครองผ้าอย่างมอญ จะเห็นได้ว่า "ข้อหา" สำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น "เบา" และแก้ไขได้ง่ายที่สุด เห็นจะทรงปลงพระทัยแล้วหรืออย่างไร?

ส่วนพระราชโอรสที่มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งครั้งหนึ่งมีพระราชประสงค์จะมอบ "สัญลักษณ์" แห่งการสืบราชบัลลังก์ คือพระประคำทองคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ก็เกิดการ "หยิบผิด" หรือ "สับเปลี่ยน" นำพระประคำองค์ปลอมไปถวาย ว่ากันว่าเป็นลางให้พระองค์เจ้าอรรณพต้องพลาดจากราชบัลลังก์ไป

แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าพระประคำทองคำองค์นั้นคือ แรงสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาค ที่ส่งคนไปเตรียมการ "สึกพระ" ตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตเสียอีก ทางด้าน "ทูลกระหม่อมพระ" เองก็ทรงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ "เปิดตัว" ไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอยู่ค่อนข้างจะหนักและทรมาน เสวยข้าวไม่มีรสมาแล้วเป็นปี อาการพระโรคเจ็บหลัง เสียดท้องตามชายโครง เสียดถึงขั้นนอนหงายไม่ได้ พระอาการหนักอยู่จนถึงขั้นต้องออกประกาศหาแพทย์มือดีมารักษา แต่ก็ไม่สามารถจะฉุดรั้งพระอาการประชวรไว้ได้นาน ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกา ๕ บาท ก็เสด็จสวรรคต ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔

ราชสมบัติสืบต่อไปยังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในพระราชวงศ์นี้ที่มีสร้อยพระนาม "อุภโตสุชาติ" ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่มาจาก "เจ้าฟ้า" เท่านั้น อุภโตสุชาติคือการเกิดดี ทั้งพระราชบิดาและพระราชมารดาเป็นเจ้า

พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีที่มีสร้อยพระนามอุภโตสุชาตินั้นมี ๔ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๔, ๕, ๖, ๗

จากบทความเรื่อง ผลัดแผ่นดิน กรุงรัตนโกสินทร์ โดย ปรามินทร์ เครือทอง จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม วันที่ ๑  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่  ๘
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 08:15

คำสารภาพของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ

"กระหม่อมฉันเจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงศ ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตย์โดยจริง ว่าแต่ก่อนเมื่อเป็นภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังยังตั้งหน้าหาความรู้ วินัยสิกขา ไปคบหากับพระสงฆ์พวกศึกษาคิดละเอียดไปต่าง ๆ ได้ฟังท่านพูดกันว่าห่มอย่างรามัญเห็นถูกต้องด้วยเหตุต่าง ๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ห่มเองมิได้ ครั้นภายหลังพระสงฆ์ อื่น ๆ ท่านห่มเข้าไปในพระราชวังเป็นรับสั่งถามเลย ๆ มิได้มีรับสั่ง ก็ พลอยคิดดีใจไปว่าทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วยต่อมา โดยรักไปข้างทางสิกขาหาได้นึกมาถึงพระเกียรติยศและการแผ่นดินเป็นของสำคัญแข็งแรงเหมือนดังทรงพระราชดำริครั้งนี้ไม่เลย ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้นก็มิได้ประพฤติมาดังนี้ อนึ่งเมื่อครั้งโน้นเป็นแต่มีศิษย์เป็นพระสงฆ์อนุจรอยู่ ๕ องค์ ๖ องค์ ไม่ทราบว่าจะมีศิษย์หามากมายไป ครั้นอาศัยพระบารมีเป็นที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบริษัทจึงมากขึ้น จึงคิดเห็นบ้างว่าจะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศและประเพณีพระนคร แต่กาลเลยมานานแล้วก็กระดากอยู่ และไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชาเป็นที่อ้างก็เกรงใจศิษย์หาพวกพ้องที่ประพฤติเหมือนกันอยู่นั้น ครั้งนี้ได้รับสั่งในกรมเป็นที่อ้างก็ยินดีจะประพฤติตามพระราชประสงค์ สนองพระเดชพระคุณมิให้มีความรำคาญเคืองพระบรมราชอัธยาศัย พระเดชพระคุณเป็นที่ล้นที่พ้น ชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อนึ่งก็จะได้เป็น สามัคคีคารวะด้วยพระราชทานคณะผู้ใหญ่เป็นอันมากต่อไปในเบื้องหน้าด้วย. ควรมิควรสุดแต่จะโปรด

ปฏิญาณนี้ถวายไว้แต่ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีจอโทศก พระลังกาในอารามนี้ ๑๑ องค์ ขอรับประทานตามใจเขาเถิดบ้านเมืองครูอาจารย์เขาที่บวชอย่างนั้น ครั้นเคี่ยวเข็นเข้าความจะอึงออกไปนอกบ้านนอกเมือง"


อธิบายเรื่องต่อมา

ถึงรัชกาลที่๔ พระสงฆ์ธรรมยุติกาซึ่งต้องห่มผ้าคลุมอย่างมหานิกายพากันถวายพระพรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับห่มแหวกอย่างเดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบว่าการปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นการของสงฆ์ แล้วแต่จะศรัทธาอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้นไม่เกี่ยวด้วยฝ่ายอาณาจักร เพราะฉะนั้นไม่ทรงห้ามปรามหรือทรงอนุญาตทั้ง ๒ สถาน แต่นั้นพระสงฆ์ธรรมยุติกาก็กลับห่มแหวกต่อมา



บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 08:18

"กรมขุนเดชเล่าท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ เกียจคร้านรักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่คนเดียว แต่รังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงได้อนุญาตให้ ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน "[/i]

เจ้านาย ๔ องค์ที่รัชกาลที่ ๓ ออกพระนามมาล้วนแต่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ยังมีพระชนม์อยู่ในตอนนั้น และอยู่ในข่ายที่จะสืบราชสมบัติได้

นอกจากท่านฟ้าน้อยซึ่งคือเจ้าฟ้ามงกุฎก็มี

-กรมขุนเดช คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์มั่ง กรมขุนเดชอดิศร (สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อนกรมเป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป และได้รับการยกย่องว่า “ทรงพระปรีชารอบราชการ” กำกับกรมพระอาลักษณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงมีผลงานสำคัญคือการชำระโคลงโลกนิติให้มีความไพเราะยิ่งขึ้น



-กรมขุนพิพิธ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อมกรมเป็น กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ทรงได้กำกับกรมพระนครบาลและกรมพระคชบาลซึ่งเป็นกรมใหญ่ ทำให้ทรงมีข้าไทในสังกัดจำนวนมาก ทรงโปรดปรานทางการดนตรีและละคร กล่าวกันว่าในสมัยนั้นกระบวนรำของละครของกรมขุนพิพิธนั้นงามที่สุด

ตอนเกิดคดีหม่อมไกรสร หม่อมไกรสรบอกกับตุลาการว่า "คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปแล้ว ก็จะไม่ยอมเป็นข้าของใคร"  คือหลังสิ้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ตนจะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเมื่อตุลาการถามว่าจะยกเจ้านายพระองค์ไหนเป็นวังหน้า หม่อมไกรสรตอบว่า "คิดอยู่ว่าจะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์" แม้ว่าจะไม่ปรากฎว่ากรมขุนพิพิธจะร่วมมือกับหม่อมไกรสร แต่น่าจะทรงถูกเพ่งเล็งอยู่ไม่น้อย และนอกจากนี้ยังทรงเป็นเจ้านายกำกับกรมใหญ่ มีข้าในสังกัดจำนวนมาก

ปลายรัชกาลกรมขุนพิพิธภูเบนทร์จึงทรงระแวงขึ้นมาว่าพระองค์จะโดนอย่างหม่อมไกรสร ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์ความทรงจำว่า

"เมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรอยู่นั้น มีเรื่องเนื่องกับเหตุที่จะเปลี่ยนรัชกาลที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง ด้วยเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตั้งเสนาบดี ปล่อยให้ตำแหน่งว่างอยู่หลายกระทรวง ตรัสว่า พระเจ้าแผ่นดินต่อไปจะได้ตั้งตามพระราชหฤทัย ทางฝ่ายเจ้านายในตอนนี้ ตั้งแต่สำเร็จโทษหม่อมไกรสรแล้ว ก็ไม่มีต่างกรมพระองค์ใดมีกำลังและอำนาจมาก ทั้งพากันหวาดหวั่นเกรงจะต้องหาว่ามักใหญ่ใฝ่สูงอยู่แทบทั้งนั้น อำนาจในราชการบ้านเมืองตอนปลายรัชกาลที่ ๓ จึงตกอยู่ในเจ้าพระยาพระคลัง(๒๙) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงพระคลังคน ๑ กับพระยาศรีพิพัฒนฯ(๓๐)

เมื่อตอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกประชวร แม้รู้กันอยู่ว่าจะไม่กลับคืนดีได้ ท่านทั้ง ๒ ก็ยังไม่ปรารภถึงกรณีที่จะเปลี่ยนรัชกาลเพราะเกรงพระราชอาญา ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังว่าราชการแผ่นดินอยู่ แต่การที่ท่านผู้ใหญ่ทั้ง ๒ นิ่งเฉยอยู่นั้น ต่อมาเป็นเหตุให้เกิดระแวงหวาดหวั่นกันไปต่างๆ ถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์เรียกระดมพวกข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ ด้วยเกรงจะถูกจับเหมือนหม่อมไกรสร เจ้าพระยาพระคลังทราบความจึงปรึกษากับพระยาศรีสุริยวงศ์(๓๑) ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นผู้เฉียบแหลมในราชการยิ่งกว่าผู้อื่นในเวลานั้น พระยาศรีสุริยวงศ์รับจัดการแก้ไข ให้ไปเอาทหารบรรทุกเรือขึ้นมาจากปากน้ำ แล้วไปทูลกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ให้ปล่อยข้าในกรมไปเสียให้หมด กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็ต้องทำตาม"


ข้าไทของกรมขุนพิพิธภูเบนทร์นั้นมีมากจนวังของพระองค์ในเชิงสะพานหัวจระเข้ไม่พอให้อยู่ ต้องให้ออกไปอาศัยที่ตามศาลาวัดพระเชตุพนด้วย พระยาศรีสุริยวงศ์ไปเฝ้ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ทูลว่าบิดาให้มาทูลถามว่าที่ระดมผู้คนเข้ามาไว้มากมายเช่นนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ตรัสตอบว่า ด้วยเกรงอันตราย จึงเรียกคนมาไว้ป้องกันพระองค์ พระยาศรีสุริยวงศ์จึงทูลว่า บิดาของท่านกับเสนาบดีช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองให้เป็นปกติอยู่ ไม่มีเหตุอันสมควรจะทรงหวาดหวั่นเช่นนั้น ขอให้ไล่คนกลับไปเสียให้หมดโดยเร็ว มิฉะนั้นจะให้ทหารมาจับเอาคนเหล่านั้นไปทำโทษ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็จนพระหฤทัยต้องปล่อยให้คนกลับไป



-ท่านฟ้าน้อย คือ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้บังคับบัญชากรมทหารแม่ปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบ แขกอาสาจาม ทรงสนพระทัยในวิทยาการชาติตะวันตกหลายแขนงโดยเฉพาะเรื่องการทหาร และทรงอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี แต่พระอัธยาศัยเป็นไปตามที่รัชกาลที่ ๓ ทรงกล่าวคือพอพระทัยแต่จะเล่น ไม่ค่อยโปรดทำราชการ ไม่ทรงถือพิธีรีตอง แม้ว่าจะทรงมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔ ก็ตาม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 20 คำสั่ง