เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 11719 การสืบราชสมบัติ
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 10:11

มีข้อมูลอีกทางหนึ่งว่ามีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าอรรณพสืบต่อราชสมบัติ

ส่วนพระราชโอรสที่มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งครั้งหนึ่งมีพระราชประสงค์จะมอบ "สัญลักษณ์" แห่งการสืบราชบัลลังก์ คือพระประคำทองคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ก็เกิดการ "หยิบผิด" หรือ "สับเปลี่ยน" นำพระประคำองค์ปลอมไปถวาย ว่ากันว่าเป็นลางให้พระองค์เจ้าอรรณพต้องพลาดจากราชบัลลังก์ไป


เรื่องการมอบประคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ให้พระองค์เจ้าอรรณพ มีการกล่าวถึงอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๒ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงครับ

"และในวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำนั้น มีรับสั่งให้ภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาถวายแล้วทรงเลือกพระประคำทองสาย๑อันเป็นของพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (๑) กับพระธำมรงค์เพ็ชร์องค์ ๑ ให้พระราชโกษา (๒) เชิญตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ไปพระราชทานสมเด็จเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเสด็จออกมาทูลกรมหลวงวงศาธิราชสนิทและบอกให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศซึ่งพร้อมกันอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ทราบตามกระแสรับสั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็ไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบด้วยเวลานั้นปิดความไม่ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯทรงทราบว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรพระอาการมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงแนะพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีให้ทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ว่าของทั้ง ๒ สิ่งนั้นพระราชทานเป็นของขวัญ โดยทรงยินดีที่ได้ทรงทราบว่าพระอาการ ที่ประชวรค่อยคลายขึ้นเมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปทูล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯดำรัสถามว่า ของขวัญเหตุใดจึงพระราชทานพระประคำ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดทูลตอบว่ากระไร เมื่อถวายสิ่งของแล้วต่างก็กลับมา

(๑) พระประคำทองสายนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต จะพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราศีในรัชชกาลที่ ๔ แต่บังเอิญเจ้าพนักงานหยิบผิดสาย กรมหมื่นอุดมไม่ได้ไปจึงถือว่าเป็นของสิริมงคลสำหรับแต่ผู้มีบุญญาภินิหาร

(๒) ชื่อ จัน ในรัชชกาลที่ ๕ เป็นพระยา เป็นบิดาพระยาอุทัยธรรม ( หรุ่น วัชโรทัย ) เดี๋ยวนี้"


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 10:18

การไม่ทรงมีพระภริยาเจ้า เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้พระราชโอรสพระองค์ใดมีพระยศเจ้าฟ้า ก็ชัดเจนอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็ทรงเจริญรอยตาม

ทำให้พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ เลือกเจ้านายที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ง่ายขึ้นมากครับ


เรื่องการดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าหรือไม่ ในการพิจารณาผู้เหมาะสมในการสืบพระราชสมบัตินั้น
เราอาจสรุปได้ว่ารัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงใช้เป็นประเด็นหลักในการพิจารณา
ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ออกพระนามพิจารณาก่อนเสด็จสวรรคต ๔ ราย
สองรายแรกก็มิได้เป็นเจ้าฟ้า
รัชกาลที่ ๓ พระองค์เองก่อนขึ้นครองราชย์ก็มิได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า

สุดท้ายแล้วทรงกล่าวเป็นนัยที่ให้เลือกผู้ที่จะไม่ขึ้นมาประหารเครือญาติกันเอง
และประสานประโยชน์กับขุนนางและเครือญาติเพื่อดำรงพระบรมจักรีวงศ์ต่อไป

ตามที่เรียนไปแล้วเบื้องต้น การสืบราชสมบัติของรัชกาลที่ ๔ ส่วนหนึ่งต้องนับเป็นเรื่องของดวงชะตา

ในปลายรัชกาลที่ ๓ บรรดาเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่คุมอำนาจต่างทะยอยกันล้มหายตายจากไปก่อนทีละท่าน

พ.ศ. ๒๓๙๑ พระองค์เจ้าไกรสร ผู้ที่สามารถสืบราชสมบัติได้ ถูกขุนนางล้อมกรอบร่วมกันเตะตัดขา
พ.ศ. ๒๓๙๒ เจ้าพระยาบดินทรเดชา เสาหลักค้ำบัลลังก์ ถึงแก่อสัญกรรมเนื่องจากอหิวาห์ตกโรค
                ดุลย์อำนาจขุนนางเปลี่ยน กลุ่มเจ้าพระยาพระคลังกลับเข้ามามีอำนาจเต็ม
พ.ศ. ๒๓๙๔ รัชกาลที่ ๓ ทรงสวรรคต
                ขุนนางเลือก รัชกาลที่ ๔ ทรงแบ่งอำนาจการปกครองกับพระอนุชา พระญาติและขุนนาง
                
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 11:00

แต่โอกาสที่พระองค์เจ้าอรรณพจะได้ราชสมบัติสืบต่อนั้นดูน้อยมากครับ เมื่อเทียบกับพระบารมีและฐานาศักดิ์กับเจ้านาย ๔ พระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระนามไว้ก่อนสวรรคตดูจะเทียบกันไม่ได้เลยครับ


แม้ว่าจะมีหลักฐานของชาวตะวันตกบางชิ้นระบุว่าพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชประสงค์จะให้พระองค์เจ้าอรรณพได้ราชสมบัติ และปรากฏอยู่ว่าทรงถวายงานอยู่ใกล้ชิดเป็นที่โปรดปราน แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าพระองค์เองไม่ได้มีฐานกำลังหรือบารมีที่เพียงพอ และไม่ปรากฏผู้สนับสนุน โดยที่เสนาบดีตระกูลบุนนาคไปสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎทั้งหมด และไม่ได้ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเตรียมการใดๆ เพื่อให้พระองค์เจ้าอรรณพได้ราชสมบัติเลยครับ

พระองค์ไม่ได้เป็นเจ้านายที่ได้ทรงกรม (ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราษีในสมัยรัชกาลที่ ๔) ได้กำกับเพียงกรมสังฆการีซึ่งไม่มีกำลัง ในช่วงที่รัชกาลที่ ๓ ประชวรก็ทรงมีหน้าที่เพียงเดินหนังสือบ้าง ไม่ได้ทรงมีหน้าที่สำคัญอื่นๆ

เช่นเดียวกับพระโอรสของรัชกาลที่ ๓ องค์อื่นๆ ที่ยังมีพระชนม์ในปลายรัชกาลที่มีพระชนม์พอสมควรอย่าง พระองค์เจ้าโกเมน พระองค์เจ้าลดาวัลย์ พระองค์เจ้าคเนจร พระองค์เจ้าชุมสาย ซึ่งล้วนแต่มีพระชนม์สูงกว่าพระองค์เจ้าอรรณพก็ไม่ปรากฏว่าได้ทรงกรม หรือทรงรับผิดชอบตำแหน่งสำคัญเช่นเดียวกัน

พระโอรสพระองค์โปรดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ คือพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งร่วมพระมารดาเดียวกับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพพระธิดาองค์โปรด กล่าวกันว่าทรงมีพระรูปโฉมงดงามเหมือนกับสังข์ทอง แต่ก็สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๘ เมื่อพระชนม์ ๒๓ พรรษา โดยยังไม่ได้ทรงกรม

เช่นเดียวกับพระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ที่มีพระชันษาไล่เลี่ยกัน และเข้าใจว่าเป็นพระโอรสที่ได้ทรงกรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ก็สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๒


พระโอรสองค์อื่นๆ ที่มีพระชนม์อยู่ ก็ดูจะไม่มีจะไม่มีความเหมาะสมเทียบเท่าสองพระองค์ที่กล่าวมาครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 14:00

ตามความเห็นของดิฉัน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นบุคคลที่สามารถสร้างการถ่วงดุลย์อำนาจ หรือ balance of power ได้เก่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
แต่เดี๋ยวค่อยขยายเรื่องนี้ นะคะ

ย้อนกลับไปสมัยอยุธยา การรบราฆ่าฟันชิงอำนาจในช่วงผลัดเปลี่ยนรัชสมัย เป็นเรื่องเกิดขึ้นซ้ำซากกันมาตั้งแต่สมัยต้น    ไม่สามารถแก้ไขได้ตลอดสี่ร้อยกว่าปีตั้งแต่เริ่มสถาปนาอาณาจักรจนวันสิ้นสุดของอาณาจักร
บุคคลที่อยู่ในข่ายก็ซ้ำๆอย่างพี่กับน้อง เช่นเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา   ชิงอำนาจกันเองตายกันไปเองทั้งคู่  เจ้าสามพระยาผู้อยู่เฉยๆไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เลยยได้ส้มหล่นทั้งเข่ง    นี่ก็กรณีหนึ่ง   
นอกจากนั้นก็ญาติผู้ใหญ่กับญาติผู้น้อย เช่นอากับหลาน  รูปแบบนี้มีบ่อย    ที่มาของประเด็นก็พอมองเห็นได้ พี่ชายกับน้องชายอยู่ในวัยฉกรรจ์    พี่ได้บัลลังก์ น้องก็รอได้เพราะเกรงใจพี่    แต่พี่เกิดมีลูกขึ้นมา   กลายเป็นว่าลูกเข้ามาปาดหน้าได้คิวก่อนอา 
แต่หลานชายมักจะอายุน้อย ฝีมือน้อย  สะสมผู้คนได้น้อย ผิดกับอาที่แข็งแกร่งกว่าเพราะอยู่มานานกว่า    เมื่อพ่อตาย ลูกชายจึงมักจะไม่รอด  ตามหลัก  Survival of the fittest  แล้วอาก็ขึ้นสู่อำนาจแทน

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์ที่ชิงอำนาจกันดุเดือดมาตลอด    จนทำให้อาณาจักรอ่อนแอลง     เมื่อผู้ปกครองไม่ดี  ขุนน้ำขุนนางดีๆก็ร่อยหรอลงเหลือแต่พวกประจบสอพลอ    กลายเป็นบทเรียนให้ราชวงศ์จักรีต้องระแวดระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก   
ในกระทู้นี้ไม่ได้ย้อนไปถึงปลายรัชกาลที่ 1  ทั้งๆช่วงนั้นหวุดหวิดจะซ้ำรอยราชวงศ์บ้านพลูหลวง  หากแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มิได้ทรงวู่วามกับพระราชอนุชา   แต่มาทรงปราบกบฏเอาเมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรแล้ว     กบฎพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ก็ดูๆว่าไม่มีรี้พลกำลังอะไรนัก  ออกจะคล้ายๆกบฏยังเติร์กในหลายๆประเทศที่นายทหารหนุ่มฮึกเหิมเกินตัว  จึงถูกปราบได้ราบคาบ   การผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 1 เป็นรัชกาลที่ 2 จึงเป็นไปโดยเรียบร้อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 14:01

  วันนี้มีเวลามาเสิฟฟาสฟู้ดได้แค่นี้ค่ะ  เชิญท่านผู้รู้สนทนากันต่อ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 16:49

จุดที่สั่งเกตเห็นได้ประการหนึ่งก็คือ หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ที่เป็นพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๒๓๗๕ ก็ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดการเรื่อง "รัชทายาท" อย่างชัดเจนเลยครับ

ในตอนนั้นข้าของเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์พากันตื่นเต้นว่าเจ้านายจะได้ขึ้นเป็นวังหน้า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ไม่ทรงแต่งตั้ง เพียงแต่เลื่อนกรมให้เจ้านายผู้ใหญาเพื่อไม่ให้ตื่นเต้นกันต่อไปอีก โดยในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ระบุว่า


“ครั้งนั้นข้าไทยเจ้าต่างกรม กรมใหญ่ๆ ตื่นกันว่าเจ้าของตัวจะได้เป็นวังหน้า บ้างก็หาเครื่องยศและผ้าสมปัก ที่อยากเป็นตำรวจก็หาหอกรัดประคดเอิกเกริกกันไปทั้งเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ปรึกษาด้วยท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ ท่านพระยาศรีพิพัฒนรัตนโกษากราบทูลว่า ถ้าไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังแล้ว ขอให้ยกเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุนขึ้น ข้าไทยจะได้เห็นว่าเจ้านายของตัวได้เลื่อนที่มียศเพียงนั้นๆ แล้วจะได้หายตื่น ทรงพระราชดำริเห็นด้วย จึงเลื่อนกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ๑ กรมหมื่นรักษรณเรศร ๑ กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ๑ สามพระองค์ขึ้นเป็นกรมหลวง กรมหมื่นรามอิศเรศ ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ๑ เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุน แล้วทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าพระองค์น้อย ขึ้นเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์”


ส่วนตำแหน่งวังหน้าก็ปลอยว่างไปทั้งรัชกาลครับ พิจารณาดูเหมือนว่าพระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะกำหนดรัชทายาทที่ชัดเจน แม้ว่าในพระราชหฤทัยอาจจะทรงมีตัวเลือกอยู่ก็ตามครับ

อาจเป็นด้วยว่าในช่วงเวลานั้นยังมีเจ้านายผู้ใหญ่หลายองค์ที่ต่างก็มีบารมีและสิทธิธรรมที่จะเสวยราชย์สมบัติได้ และก็มีบางองค์ที่ประกาศเป็นศัตรูอย่างเห็นได้ชัดคือในกรณีของเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งแม้จะไม่มีอำนาจแต่โดยศักดิ์นับว่าทรงเป็นอุภโตสุชาติซึ่งก็นับว่าสูงส่งกว่าเจ้านายพระองค์อื่น กับกรมหลวงรักษรณเรศหรือหม่อมไกรสรซึ่งก็ช่วยเหลือสนับสนุนพระนั่งเกล้ามาโดยตลอด เป็นที่ไว้วางพระทัยจนทรงนับว่า "เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกันมา" ได้บังคับการกรมวังและศาลหลวง ทรงบารมีมาก

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรฯ สิ้นพระชนม์ กรมหลวงรักษรณเรศก็คงจะทรงคาดว่าพระองค์จะได้เป็นวังหน้า และน่าจะทรงแสดงออกชัดเจนด้วย ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาว่า "แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง"

ในกรณีว่าพระนั่งเกล้าฯ ประสงค์จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติสืบต่อ หากพระองค์ทรงประกาศอย่างเปิดเผย แน่นอนกรมหลวงรักษรณเรศที่ทรงตั้งตนเป็น "ไพรี" ของเจ้าฟ้ามงกุฎ ย่อมไม่พอพระทัยและอาจจะทรงไปใช้กำลังระรานเจ้าฟ้ามงกุฎมากขึ้น จากที่เดิมก็ปรากฏว่าทรงหาเหตุระรานมาก่อนอยู่แล้วหลายครั้ง จนอาจทำให้เกิดภยันตรายต่อเจ้าฟ้ามงกุฎได้ ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วในสมัยอยุทธยาที่เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงได้เป็นวังหน้าทำให้เจ้าสามกรมไม่พอพระทัยจนก่อกบฎ เป็นต้น


การที่ทรงไม่ประกาศรัชทายาทที่ชัดเจนในเวลานั้นจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความร้าวฉานในหมู่เจ้านายเวลานั้นครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 21:33

ส่วนเรื่องการแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกล่าวกันว่าประสงค์จะถวายราชสมบัติคืนให้กับเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ความทรงจำ ดังนี้ครับ


เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงประกาศเลื่อนกรมให้เจ้านายทั้งหลายหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์สิ้นพระชนม์ ว่าไม่ทรงเลื่อนกรมให้เจ้าฟ้ามงกุฎด้วย ดูเป็นการประหลาด ทำให้กรมพระยาดำรงทรงสันนิษฐานว่า

"ประหลาดอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเว้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ ไม่โปรดฯให้ทรงรับกรม จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าขัดข้องเพราะทรงผนวชเป็นพระภิกษุก็มิใช่ ด้วยเมื่อกรมหมื่นนุชิตชิโนรสทรงรับกรมก็เป็นพระภิกษุ มีตัวอย่างอยู่ ข้อนี้น่าสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นรัชทายาท ไม่สมควรแก่เจ้านายพระองค์อื่น นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงผนวชอยู่ จะทรงตั้งเป็นพระมหาอุปราชก็ขัดข้องทางฝ่ายพระศาสนา จะให้ทรงรับกรมก็ไม่เข้ากับเหตุที่เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น จึงได้งดเสีย "





หน้าบันพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร  มีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ ราชลัญจกรประจำพระองค์



และมีเหตุคือทรงโปรดให้เจ้าฟ้ามงกุฎย้ายมาเป็นพระราชาคณะที่วัดบวรนิเวศวิหารซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ทรงสร้างไว้ ซึ่งนอกจากเรื่องของชื่อวัดซึ่งมีคำว่า "บวร" พ้องกับวังหน้าแล้ว ยังมีเหตุการณ์คือ

"เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศฯนั้น ดูทรงระวังมากที่จะมิให้โทมนัสน้อยพระหฤทัย เป็นต้นว่า เมื่อแห่เสด็จมาจากวัดราชาธิวาสตามประเพณีแห่พระราชคณะไปครองวัดนั้น โปรดฯให้จัดกระบวนเหมือนอย่างแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯให้สร้างตำหนัก (หลังที่เรียกว่า "พระปันยา") กับท้องพระโรงให้เสด็จอยู่เป็นผาสุก และทรงทำนุบำรุงด้วยประการอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก(๑๖) ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระหฤทัย

(๑๖) กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนามวัดบวรนิเวศฯในครั้งนั้นด้วย เพื่อให้เป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ข้าพเจ้า(เสด็จในกรมฯ)เห็นว่าจะพระราชทานมาก่อนแล้ว เพราะเป็นวัดที่สถิตย์ของพระราชาคณะผู้ใหญ่แต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครอง"


ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชทานนามวัดนี้เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎมาประทับจริงตามคำบอกเล่า ก็ยิ่งดูเป็นการตั้งใจมากขึ้นแสดงออกของพระเจตนารมณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ


นอกจากนี้ก็ยังมีตัวอย่างอื่นๆ ที่ทรงวินิจฉัยไปในทางนั้นอีกดังนี้

"ต่อมามีกรณีหลายอย่างที่ส่อให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนงพระราชหฤทัยจะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นรัชทายาท เช่นโปรดฯให้แห่เสด็จอย่างพระมหาอุปราชเมื่อย้ายมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศนฯดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อจะยกยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ เดิมทำเป็นยอดนภศูลตามแบบพระปรางค์โบราณ ครั้งใกล้จะถึงวันฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะเป็นพระประธานวัดนางนอง มาติดบนยอดนภศูล (ดังปรากฎอยู่บัดนี้) จะเป็นด้วยพระราชดำริอย่างไรจึงทำเช่นนั้น หาได้ตรัสให้ใครทราบไม่ และการที่เอามงกุฎขึ้นต่อบนยอดนภศูลก็ไม่เคยมีแบบอย่างที่ไหนมาก่อน คนในสมัยนั้นจึงพากันสันนิษฐานว่ามีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตร ว่าสมเด็จเจ้าฟ้า "มงกุฎ" จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไป แม้เรื่องสำเร็จโทษหม่อมไกรสรนั้น เมื่อคิดดูก็เห็นเหมือนหนึ่งจะทรงป้องกันอันตรายมิให้มีแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะความผิดข้อใหญ่ของหม่อมไกรสรอยู่ที่มาดหมายจะเอาราชสมบัติเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓"
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 18 ก.ค. 16, 22:01

แต่เรื่อง "มงกุฎ" นี้ก็ยังมีผู้ที่เห็นต่าง อย่างเช่นที่ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดมเคยวิเคราะห์เอาไว้ครับ

เลยยกมาให้ทุกท่านลองอ่านประกอบด้วย


ทำไม ร.๓ ไม่สวมมงกุฎ?

ศรีศักร วัลลิโภดม


ข้าพเจ้าเป็นคนชอบเที่ยวและชอบสังเกต จึงทำให้คำถามอะไรต่างๆ นานาทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม มักเป็นสิ่งที่มาจากการพบเห็นมากกว่าจากการอ่านหนังสือ ดังเช่นเรื่องของพระปรางค์ที่พบเห็นในเมืองหลวงของไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงเทพฯ

พระปรางค์เป็นพระสถูปรูปแบบหนึ่งในทางพุทธเถรวาท ที่เกิดจากการนำเอารูปปรางค์หรือศิขรของปราสาทขอมแต่สมัยลพบุรีอันเป็นศาสนสถานฝ่ายฮินดูและพุทธมหายาน มาสร้างให้เกิดรูปแบบใหม่ขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา พระปรางค์ต่างจากพระสถูปแบบอื่นโดยเฉพาะสถูปทรงกลมในลักษณะที่ว่า สถูปทรงกลมมีวิวัฒนาการมาจากพูนดินหรือเนินดินที่ฝังศพและอัฐิธาตุ แต่พระปรางค์มาจากศิขรหรือยอดเขาสูงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยที่หน้าที่ความสำคัญของปรางค์ก็เช่นเดียวกันกับสถูปทรงกลมนั่นเอง คือเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ต่างจากปราสาทอันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ เช่น ศิวลึงค์ เทวรูป หรือพระพุทธรูป แต่โดยระบบสัญลักษณ์ ทั้งพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุและปราสาทที่ประดิษฐานรูปเคารพต่างก็เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุมาศ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลของฮินดู - พุทธ เช่นกัน

พระปรางค์นับเป็นอัตลักษณ์ทางศิลปสถาปัตยกรรมของกรุงศรีอยุธยาโดยตรง เพราะมีสร้างมากกว่าเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่เห็นได้จากปรางค์วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดราชบูรณะ มาแผ่วไปบ้างในสมัยอยุธยาตอนกลางที่มีพระสถูปทรงกลมมากกว่า แต่พอถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย คือรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมา ความนิยมในการสร้างพระปรางค์ก็กลับมาอีก แม้ว่าจะมีรูปแบบแตกต่างไปจากสมัยแรกๆ ก็ตาม มักนิยมสร้างคละไปกับบรรดาเจดีย์ทรงกลมที่ย่อไม้สิบสองหรือยี่สิบ มีทั้งสร้างเป็นปรางค์ประธานและปรางค์ราย

แต่ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นพระปรางค์ประธานและเมรุรายที่วัดไชยวัฒนาราม ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นนิวาสสถานเดิมและที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระชนนี ก่อนขึ้นครองราชย์ พระปรางค์นี้สูงสง่าโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากใต้ของเกาะเมือง เป็นปรางค์ที่เห็นชัดในภาพเขียนเกาะเมืองอยุธยาที่ฝรั่งเขียนขึ้นแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ลงมา

ความโดดเด่นอย่างสำคัญของปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่แตกต่างไปจากปรางค์วัดอื่นๆ ก็คือ มีการจัดผังพุทธาวาสเป็นมณฑลจักรวาลที่ได้สัดส่วนตามเรขาคณิตเหมือนกับผังปราสาทขอม เช่นปราสาทนครวัดของกัมพูชา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากการนำเอาศิลปสถาปัตยกรรมขอมมาปรุงแต่งขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มาจากสามัญชนที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ผู้เป็นทั้งอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการ ทรงมีพระราชอำนาจยิ่งใหญ่และนำความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางการค้าขายกับต่างประเทศให้แก่ราชอาณาจักร จึงได้ใช้ความมั่งคั่งนี้ในการฟื้นฟูวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง รวมทั้งการสร้างประเพณีวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้กับบ้านเมือง อาทิ ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพในสนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ สร้างพระโกศและรูปแบบสัญลักษณ์ของยศถาบรรดาศักดิ์ของเจ้านายและขุนนาง และทำพิธีลบศักราช เป็นต้น เพื่อแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาจักรพรรดิราช ซึ่งแสดงออกด้วยการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพุทธบูชาตามวัดสำคัญต่างๆ เช่นในซุ้มเมรุรายวัดไชยวัฒนารามและที่พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุเป็นต้น

โดยเฉพาะที่วัดหน้าพระเมรุนั้น พระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมีความงดงามยิ่งกว่าพระทรงเครื่องใดๆ ในสยามประเทศก็ว่าได้ อีกทั้งพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุก็เป็นอาคารขนาดใหญ่เก้าห้อง ที่แต่เดิมมักทำเฉพาะพระวิหารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็นับเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างพระอุโบสถให้เป็นอาคารสำคัญกว่าพระวิหารในเขตพุทธาวาสทีเดียว

ถ้าจะให้จินตนาการแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าพระประธานของวัดหน้าพระเมรุนี้ก็คือพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททององค์หนึ่งก็เป็นได้

เมื่อแลเปรียบเทียบความโดดเด่นในทางสถาปัตยกรรมและความนึกคิดในเรื่องสัญลักษณ์ของจักรวาลแล้ว ข้าพเจ้าค่อนข้างเห็นว่าพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามอันประกอบด้วยเมรุทิศ เมรุราย และผังภูมิมณฑลจักรวาลนั้น คือสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ส่งอิทธิพลมายังพระปรางค์วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามที่สร้างเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดแจ้งเป็นวัดในเมืองธนบุรีที่มีมาแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำเจ้าพระยาที่เป็นคลองขุดลัดแม่น้ำอ้อมครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราชแต่พุทธศตวรรษ์ที่ ๒๑ โดยมีวัดระฆังหรือวัดบางหว้าใหญ่เป็นวัดสำคัญ เพราะมีพระปรางค์เก่าแก่แต่สมัยนั้นเป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสถาปนาเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานี วัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ก็กลายเป็นวัดหลวงของราชสำนักทำนองเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อย้ายพระนครมาฝั่งกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน วัดอรุณฯ ก็ได้รับการดูแลเรื่อยมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งก็มีการสร้างพระสถูปเพื่อบรรจุพระบรมธาตุให้เป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาในทำนองเดียวกันกับวัดไชยวัฒนาราม

พระสถูปนี้สร้างไม่เสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๒ แต่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างต่อจนสำเร็จอย่างงดงามเพื่อฉลองเป็นพระราชกุศลถวายสมเด็จพระราชบิดา พระสถูปมีรูปแบบเป็นพระปรางค์ มีปรางค์ทิศและมณฑปรายในระบบมณฑลจักรวาลคล้ายกันกับพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามและแลเห็นโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ที่งดงามริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน พระปรางค์วัดอรุณฯ มีรูปแบบเพรียวกว่าปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามเบญจรงค์อย่างงดงาม ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ว่าได้ เพราะวัดสำคัญอื่นๆ บรรดาที่สร้างในรัชกาลนี้ให้ความสำคัญกับการประดับกระเบื้องสีเกือบทั้งนั้น นับเป็นศิลปะนิยมแบบใหม่ที่นำอาวัสดุกระเบื้องถ้วยชามเบญจรงค์อันเป็นสินค้ามาจากจีน มาตกแต่งขึ้น

เรื่องนี้ถ้ามองให้ลึกลงไปก็สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองของบ้านเมืองในการค้าขายทางทะเลกับต่างประเทศนั่นเอง โดยเฉพาะกับทางจีนที่ทำให้มีการนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมจีนและลายเครือเถาดอกไม้ พืช สัตว์ ที่เป็นมงคล มาประดับซุ้มประตูหน้าต่าง ผนังอุโบสถและวิหาร ที่ทำให้แตกต่างไปจากของในสมัยก่อนๆ แม้แต่ภาพที่แสดงความหมายทางศาสนาที่อยู่ตามผนังภายในพระอุโบสถหรือพระวิหาร ก็มีรูปแบบใหม่ขึ้นมาหลายวัด เช่นภาพลายรดน้ำแสดงเรื่องสามก๊ก หรือแสดงสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราชที่วัดหนังและวัดนางนองเป็นตัวอย่าง

แต่ทว่า ความแปลกใหม่และโดดเด่นที่สุดก็คือ พระปรางค์ประธานวัดอรุณราชวรารามไม่มียอดเป็นนภศูล เช่นบรรดาพระปรางค์ทั้งหลาย หากมีมงกุฎสวมเป็นยอดแทน จึงดูน่าพิศวงว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะในอดีต ทั้งยอดของพระสถูปหรือยอดปราสาทในคติฮินดู – พุทธ มักจะทำเป็นรูปดอกบัวบานหรือบัวตูม อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล จึงน่าจะมีเจตนาอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่

การตั้งคำถามในเรื่องนี้ก็คงมีเกิดขึ้นในคนหลายชั่วหลายยุคแล้ว จึงทำให้มีการเฉลยโดยผู้รู้และปราชญ์ของราชสำนัก ที่มีโอกาสได้รับรู้อะไรต่างๆ จากภายใน ว่าเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการจะยกย่องและประกาศว่าเจ้านายที่จะทรงครองราชย์ต่อจากพระองค์ก็คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔ ในเวลาต่อมา) ผู้เป็นพระราชโอรสอันประสูติแต่พระอัครมเหสีของรัชกาลที่ ๒ ผู้ทรงเป็นพระบรมชนกนาถ อีกทั้งรัชกาลที่ ๓ เองก็ไม่ทรงสวมพระมหามงกุฎ เพราะต้องการแสดงให้ผู้คนเห็นว่าพระองค์ทรงทำหน้าที่เสมือนผู้สำเร็จราชการเพื่อรอเวลาการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามงกุฎ

ข้าพเจ้าได้เรียน ได้ยิน และได้ฟังมาจากนักประวัติศาสตร์ทั้งอาวุโสและไม่อาวุโสแห่งสกุลดำรงราชานุภาพ จนต้องเชื่ออย่างเดียว (เพราะการเรียนประวัติศาสตร์ของสกุลนี้ต้องท่องต้องเชื่ออย่างเดียว เถียงและถามก็ไม่ได้) แต่ชั้นแรกข้าพเจ้าก็ไม่สนใจอะไร จนต่อมาเมื่อได้อ่านงานชีวประวัติของสุนทรภู่ซึ่งปราชญ์ผู้ใหญ่ของสกุลดังกล่าวนี้ เขียนว่าสุนทรภู่เคยเป็นกวีราชสำนักที่รุ่งเรืองและเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ ๒ พอถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ตกอับ ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ เพราะเหตุว่าเคยแต่งกลอนขัดแย้งกับรัชกาลที่ ๓ ในที่ประชุมกวีราชสำนักที่รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นประธาน เลยไม่เป็นที่พอพระทัยเรื่อยมา ทำให้สุนทรภู่ต้องตกอับและร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ แต่งกลอนแต่งนิยายเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เรื่องนี้ดูสมจริงเพราะสุนทรภู่มักจะสะท้อนให้แลเห็นชีวิตที่ตกอับของตนอยู่บ่อยๆ ในวรรณคดีต่างๆ ที่แต่งขึ้น โดยเฉพาะนิราศภูเขาทองและอื่นๆ

เรื่องสุนทรภู่ตกอับเพราะไม่เป็นที่พอพระทัยของรัชกาลที่ ๓ เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าคล้อยตามไม่ได้ เพราะได้อ่านวรรณคดีเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะยอมรับว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ของยุค ซึ่งนอกจากจะมีการใช้ถ้อยคำไพเราะเพราะพริ้งสวยงามแล้ว ยังมีจินตนาการที่เป็นอิสระในเรื่องประโลมโลกย์เหนือบรรดากวีทั้งหลายด้วยก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่าสุนทรภู่ใช้จินตนาการที่เกินความจริงไปหน่อย เพราะสุนทรภู่ไม่ได้ถึงตกอับแบบร่อนเร่พเนจรเช่นคนยากไร้ เวลาเดินทางด้วยเรือจะไปที่ไหนก็มีขี้ข้าพายเรือไปตามที่ต่างๆ จนสามารถแต่งโคลงกลอนได้อย่างสบายใจ แถมยังบอกความจริงให้รู้เสมอว่าเป็นกวีขี้เมา แตกแยกกับเมีย โดยที่เมียไม่ทิ้ง แต่เป็นฝ่ายทิ้งเมียเสียด้วยซ้ำ

ข้าพเจ้าเริ่มแลไม่เห็นภาวะความตกอับของสุนทรภู่ ว่าเป็นเพราะรัชกาลที่ ๓ ไม่โปรด แต่เผอิญรัชกาลที่ ๓ ทรงมีภารกิจในการบริหารปกครองบ้านเมืองมากกว่าที่จะไปนั่งแต่งกลอนกับบรรดานักปราชญ์ราชกวีทั้งหลายบ่อยครั้งเหมือนสมัยรัชกาลที่ ๒ นั่นเอง

ต้องอย่าลืมว่ารัชกาลที่ ๒ นั้นทรงสนพระทัยในเรื่องวรรณคดี ศิลปวัฒนธรรมมากกว่าการบ้านการเมือง และทรงปล่อยให้รัชกาลที่ ๓ ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงรับหน้าที่แทน ทรงเอาพระทัยจดจ่อกับกวีนิพนธ์จนเป็นที่รู้กันดี จนสะท้อนให้เห็นในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามถวายตัวว่า

“ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล

ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้ กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยาฯ”

แม้กระทั่งในเวลาใกล้จะสวรรคต รัชกาลที่ ๒ ก็ประชวรนิ่ง ไม่ทรงตรัสอะไร ทำให้รัชกาลที่ ๓ ต้องทรงทำหน้าที่ต่างๆ แทนจนสิ้นรัชกาล เลยเป็นเหตุให้ทรงเป็นผู้เหมาะสมที่สุดใน “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ในการขึ้นครองราชย์แทน

ข้าพเจ้าไม่คิดว่ารัชกาลที่ ๓ จะทรงมีเวลาอะไรไปคิดอคติกับกวีขี้เมาอย่างสุนทรภู่ ดังจะเห็นได้ว่าสุนทรภู่เองก็ได้อาศัยพระบารมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาองค์โปรดของรัชกาลที่ ๓ ในวัดเทพธิดาราม อันเป็นวัดสำคัญที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้คิดว่ารัชกาลที่ ๓ ย่อมไม่ทรงพิศวาทอะไรกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งผนวชอยู่ ถึงแก่ทรงนำมงกุฎไปครอบยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ เพื่อประกาศความเป็นผู้เหมาะสมในการดำรงราชย์ต่อจากพระองค์ ทำนองตรงข้าม พระองค์ก็ไม่ทรงคิดร้ายเพื่อขจัดให้พ้นไปจากสิทธิในการได้ครองราชย์ ทั้งๆ ที่ไม่ทรงพอพระทัยอะไรนักในเรื่องที่รัชกาลที่ ๔ ขณะทรงเป็นพระภิกษุทรงนิยมพุทธแบบมอญ จนถึงทรงเปรยๆ ว่า ถ้าหากได้ครองราชย์แล้วอาจทำให้พระสงฆ์ไทยห่มจีวรแบบมอญไป เพราะรัชกาลที่ ๓ ดูทรงเป็นห่วงพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่น ดังเห็นได้ว่าทรงสร้างวัด ปฏิสังขรณ์วัดมากมายแทบทุกแห่งหนในราชอาณาจักร เพื่อทำให้ผู้คนที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ที่เข้ามาเป็นคนสยามหรือคนไทย ได้นับถือศาสนาเดียวกัน และเกิดสำนึกร่วมของการอยู่ร่วมปฐพีเดียวกัน จนกระทั่งมีคำกล่าวว่าทรงมั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าสำเภากับต่างประเทศ แต่ก็ทรงใช้เงินจนหมดท้องพระคลังในการสร้างวัดวาอารามและบำรุงพระพุทธศาสนา มากกว่าการสร้างสิ่งอลังการเพื่อแสดงพระเกียรติยศของพระองค์

การถ่อมพระองค์ในเรื่องความโอ่อ่านั้นสะท้อนให้เห็นจากบันทึกของราชทูตฝรั่งที่เข้ามาเจริญไมตรี ที่กล่าวว่าท้องพระโรงที่เสด็จออกรับแขกเมืองนั้นไม่โอ่อ่าและดูเก่าๆ รัชกาลที่ ๓ เองก็ทรงฉลองพระองค์ที่ไม่หรูหราและดูเก่าๆ ด้วย ทำให้แลเห็นความแตกต่างระหว่างวัดกับวังเป็นอย่างมาก เพราะบรรดาวัดวาอารามและศิลปกรรมที่ทรงสร้างให้กับพระพุทธศาสนานั้น ดูสวยงามเลอเลิศและราคาแพง เมื่อตอนใกล้จะสวรรคตก็ไม่ทรงกำหนดพระราชโอรสองค์ใดหรือผู้ใดเป็นผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ แต่กลับปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมุขมนตรีและเสนาบดี ที่เลือกจากความเหมาะสมให้เป็น “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” เช่นเดียวกันกับการขึ้นครองราชย์ของพระองค์

ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการที่มีผู้กล่าวว่าทรงเอามงกุฎไปครอบยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ จึงไม่น่าจะเป็นการ “บอกใบ้” ว่าเป็นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงผนวชอยู่ หรือแม้แต่จะสนับสนุนพระราชโอรสองค์ใดให้ขึ้นครองราชย์ก็เกรงจะเกิดความขัดแย้งและเป็นที่ติฉินนินทา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมทรงเอามงกุฎไปครอบยอดพระปรางค์ให้ผิดแผกไปจากยอดนภศูลของพระปรางค์โดยทั่วไป ซึ่งต้องมองหาคำตอบจากเรื่องอื่นแทน

ข้าพเจ้าจึงคิดว่ารัชกาลที่ ๓ ทรงมีอะไรที่คล้ายๆ กันกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสนอกเศวตฉัตร ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมาจากสามัญชน ทั้งสองพระองค์ต่างฟื้นฟูพุทธศาสนา สร้างวัด บูรณะปฏิสังขรณ์วัด รวมทั้งสร้างประเพณีพิธีกรรมใหม่ๆ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งสองพระองค์ทรงมีความมั่งคั่งจากการค้าทางทะเลเช่นกัน แต่ที่โดดเด่นเช่นเดียวกันคือสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพุทธบูชา

ตามตำนานชมพูบดีสูตร พระพุทธรูปทรงเครื่องหมายถึงการเป็นจักรพรรดิแห่งโลกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องของพระมหากษัตริย์ ก็คือการถวายความเป็นจักรพรรดิของพระองค์แด่สมเด็จพระพุทธเจ้านั่นเอง

แต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเน้นเพียงการสร้างพระพุทธรูปเป็นพิเศษ ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างเดียวไม่พอ หากยังทรงสร้างมงกุฎถวายพระบรมธาตุที่พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามด้วย นับได้ว่าทรงมีจินตนาการในเรื่องสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งไม่เหมือนใคร เพราะเป็นสิ่งที่อธิบายได้แจ่มแจ้งว่าทำไมไม่ทรงสวมมงกุฎ

http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=printpage&artid=167
บันทึกการเข้า
DrJfk
อสุรผัด
*
ตอบ: 34


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 19 ก.ค. 16, 15:52

ขอบคุณมากครับ ปักหมุดไว้ก่อนเด๋วค่อยละเลียดเล็ม

มีบางประเด็นที่เคยได้ยิน แต่มี หลายประเด็นที่ไม่เคยได้ยิน เด๋วค่อยๆไล่

ว่า ด้วย ส่วนของ การสืบรัชกาลที่ 7 ตอนนั้น สายจักรพงษ์ ถ้าไม่ได้ถูก ขีดห้ามไว้เรื่อง มีแม่ เป็นชาวต่างชาติ เรา อาจจะได้ สายราชวงศ์ใหม่

รวมทั้ง คนหล่อ คนเก่ง คนนี้ ก็ได้นะ คุณฮิวโก้ จุลจักร

ฟังเค้าตอบนักข่าว ฉลาด และ เก่ง นะครับ ยิ้ม

บันทึกการเข้า
DrJfk
อสุรผัด
*
ตอบ: 34


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 19 ก.ค. 16, 16:29

อ้อ รบกวนขอสอบถามเป็นความรู้อีกนิดครับ

กฏมณเทียรบาล ว่าด้วยการสืบสันติวงศ์ นี่ มีมานานแล้ว หรือเพิ่ง มี ตอน ร.6 เขียนบัญญัติไว้

และมีระบุไว้มั้ย ครับ ว่า ต้องเป็นเฉพาะชายเท่านั้นที่ขึ้นครองราชย์ได้

และปัจจุบัน มีการแก้กฏข้อนี้กันแล้วหรือไม่

และอีกอัน คือ สงสัย

ตอนสมัย สิ้น ร 6  แล้ว ยุคนั้น ยังมี พระอนุชา ของพระองค์อย่าง ร.7 อยู่ แต่ว่า ฟังดูเหมือน ถ้าไม่มีข้อระบุสั่งเสีย ที่ขอให้เว้น โอรสของพระอนุชา บางองค์ ที่มีพระมารดาเป็น นางละคอน หรือ พระมารดาเป็นชาวต่างชาติ แล้ว พระโอรส เหล่านั้น จะมีลำดับขึ้นก่อน ร7 ทำให้แปลกใจ

ในการจัด ลำดับ ตามกฏ สมมุติ King คือ โอรส องค์ที่ 1  แล้ว มี อนุชา องค์ ที่ 2-3-4

เค้าไล่ ลำดับ ตามPriority โดย ไล่ลำดับ โอรส King ก่อน ถ้าไม่มี

เอาพระอนุชาคนที่ 1 ถ้า สิ้นพระชนภ์ แล้ว เอาโอรส ของ พระอนุชาองค์นี้ ไล่จนหมด ก่อน ถ้าไม่มีหมด ค่อยไปไล่

พระอนุชาคนที่ 2 และ โอรสของท่านใช่มั้ย ครับ ไม่ได้ ข้ามไป  พระอนุชา องค์ถัดไปก่อน คือ หลาน ของน้องคนต้นๆ มาก่อน น้องในสายเลือด ของ King ใช่มั้ยครับ

อีกอัน สมมุติ ถ้าลำดับถัด King เป็น พระขนิษฐา  แล้ว ค่อยถัดไป เป็นพระอนุชา องค์สุดท้าย ถ้า King ไม่มี โอรส พระขนิษฐา มีโอรส อย่างนี้ โอรส ของพระขนิษฐา มาก่อน พระอนุชาองค์สุดท้องของ King หรือป่าว

หลายคำถามหน่อย งงมั้ยครับ แฮ่ะๆ

ถ้าสรุป
1 ตามกฏมณเทียรบาล  ไล่ลำดับความสำคัญ ลูกชาย ของ น้อง หรือ พี่ชาย King  มี อาวุโส กว่า  น้องKing คนเล็ก หรือ ไม่
2 ถ้า ข้อหนึ่งลูกของ พี่ชาย อาวุโส กว่า น้องคนเล็ก King แล้ว ถ้า เป็นลูกของ พี่สาว หรือ น้องสาวล่ะ ครับ ยัง อาวุโส กว่าน้อง King คนเล็กหรือไม่
3 ปัจจุบัน มีการแก้กฏมณเทียรบาล ให้ ผู้หญิงครองราชย์ได้หรือไม่
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 19 ก.ค. 16, 20:24

กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ บัญญัติเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ

ทุกมาตราอ่านได้จากลิ้งค์ด้านล่างครับ
https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%91%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A_%E0%B9%92%E0%B9%94%E0%B9%96%E0%B9%97

เรื่องที่ว่าให้เจ้าชายผู้ชายสืบราชสมบัติได้เท่านั้นมีอยู่ใน หมวด ๕ มาตรา ๑๓ ครับ

ในกาลสมัยนี้ ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้น ท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด

แต่สำหรับ "กาลสมัยนี้" (ปัจจุบัน) ไม่ทราบว่าได้มีการแก้ไขหรือยัง คงต้องรอท่านอื่นครับ



ส่วนเรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์ ในหมวด ๔ มาตรา ๙ ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วครับ



มาตรา ๙

ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น ท่านว่า ให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถจะเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย

เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้

(๑) สมเด็จหน่อพุทธเจ้า

(๒) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพุทธเจ้า และพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไปตามลำดับพระชนมายุ

(๓) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี

(๔) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ หาพระองค์ไม่แล้ว แต่ถ้ามีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรสโดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒ แห่งมาตรานี้

(๕) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระอัครมเหสีหาพระองค์มิได้แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๖) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิสริยยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๗) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด หรือถ้าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น แต่ถ้าแม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดนั้นหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาไม่ด้วยแล้ว ก็ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมา หรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๘) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

(๙) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นหาพระองค์ไม่เสียแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒ แห่งมาตรานี้

(๑๐) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาพระองค์ไม่อีกด้วยไซร้ ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงไปตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ อนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๑๑) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐา และสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓, ๔ และ ๖ แห่งมาตรานี้

(๑๒) ถ้าแม้สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีก็หาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นก็หาไม่ด้วยแล้วไซร้ ท่านว่าให้อัญเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ ตามลำดับสลับกัน โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๗ แห่งมาตรานี้

(๑๓) ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ อีกทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้น ๆ แล้วไซร้ ท่านจึงให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรส และเชื้อสายของท่านพระองค์นั้น ตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย โดยอนุโลมตามข้อความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ๑๒ แห่งมาตรานี้



ซึ่งในลำดับดังกล่าวพระราชนารีทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาไม่ถูกนับอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ ดังนั้นพระโอรสจะไม่ถูกนับด้วย (แต่ในสมัยนั้น เจ้านายฝ่ายในไม่นิยมอภิเษกสมรสกัน จึงไม่ค่อยมีโอรสอยู่แล้วครับ)

บันทึกการเข้า
Praweenj
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 20 ก.ค. 16, 05:27

อิ่มอร่อยเลยครับ  ยิงฟันยิ้ม
ลงชื่อเข้าเรียนครับผม อ่านสนุกมากกกกครับ
จะว่าไปช่วงการผลัดแผ่นดินเป็นช่วงที่ขุนนางผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องมีการ Balance power กันอย่างมาก แม้จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งและเชิดชูจากพระเจ้าแผ่นดินชัดเจนแล้วก็ตาม เท่าที่ทราบ การผลัดแผ่นดินที่ไม่มีเหตุใดๆเลยก็ น่าจะเป็น ร.5 มาเป็น ร.6
จาก ร.2 มาเป็น ร.3 แล้วมาเป็น ร.4 : มีตัวละครดำเนินเรื่องที่เป็นหลักที่พอจะสรุปได้คือ กรมหลวงรักษ์รณเรศหรือหม่อมไกรสร (โอรส ร.1 ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ที่สุดท้ายยังไม่ยอมคืนดีหรืออโหสิกรรมกับ ร.4 จนวันสุดท้าย แต่สุดท้ายแล้ว รุ่นหลาน คือเจ้าพระยารามราฆพ ก็ได้กลายมาเป็นขุนนางคนสนิทและโปรดปรานที่สุดของ ร.6 ซึ่งพระองค์ก็เป็นหลานของ ร.4 เหมือนกับว่ารุ่นหลานได้สลายความเป็นอริของปู่ไปในที่สุด
ในส่วนต่อจากนั้นการผลัดแผ่นดินก็เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่ ร.6 ทรงได้ตั้งขึ้น
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 20 ก.ค. 16, 10:18

การสืบราชสมบัติในปลายรัชกาลที่ ๓ แม้ว่าจะไม่ได้ทรงกำหนดตัวรัชทายาทที่ชัดเจน แต่ดูแล้วก็เหมือนกับทรงบอกกับพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นนัยๆ ให้เห็นว่าเจ้าฟ้ามงกุฎนั้นเหมาะสมที่สุดครับ

ซึ่งก็ไม่อาจทราบได้ว่าในพระราชหฤทัยอาจจะทรงปรารถนาให้เจ้านายองค์อื่นได้ราชสมบัติหรือไม่ (อย่างที่บางแห่งระบุว่าทรงปรารถนาจะให้ราชสมบัติแก้พระองค์เจ้าอรรณพ) แต่สันนิษฐานว่าคงจะทรงเห็นแก่บ้านเมืองและความเหมาะสมเป็นหลัก ไม่ได้อยากให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายร้าวฉานกันไป จึงได้แต่ทรงชี้นำ ที่เหลือให้เป็นเรื่องของเหล่าพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ประชุมตัดสินใจเลือกพระเจ้าแผ่นดินกันเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เหมือนครั้งที่พระองค์ได้ราชสมบัติ

ซึ่งในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งเสนาบดีหลายตำแหน่งก็ไม่ทรงแต่งตั้ง ตรัสว่า "พระเจ้าแผ่นดินต่อไปจะได้ตั้งตามพระราชหฤทัย" ส่วนทางเจ้านายนับแต่หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษไปก็ไม่มีเจ้านายที่มีอำนาจเทียบได้อีก นอกจากนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกซึ่งเป็นขุนพลคู่พระบารมีก็ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ทำให้ปลายรัชกาลดุลอำนาจของราชสำนักจึงอยู่ที่ขุนนางสกุลบุนนาคซึ่งนำโดย เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ)  พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) เสนาบดีกรมพระคลังสินค้า และบุตรชายเจ้าพระยาพระคลังคือ พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) จางวางมหาดเล็ก

ซึ่งก็ปรากฏว่าสกุลบุนนาคมีแนวโน้มสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎมาก ซึ่งก็มีการสันนิษฐานว่านอกจากเรื่องความเหมาะสมแล้ว อาจจะเพราะส่วนขุนนางบุนนาคก็มีนโยบายทางการเมืองที่ค่อนข้างเปิดรับและประนีประนอมกับชาติตะวันตก เจ้าฟ้ามงกุฎเองก็ทรงมีความนิยมชาติตะวันตกที่สอดคล้องกับสภาวะการเมืองในขณะนั้น จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้อาจจะรอท่านอื่นอธิบายเพิ่มเติมครับ



ดังนั้นหลังจากที่รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชกระแสเรื่องรัชทายาทออกมาราวเดือนครึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นก็คงมีการประชุมเจ้านายและเสนาบดีกันแล้วถึงการเลือกผู้สืบทอดราชสมบัติ เจ้าพระยาพระคลังจึงให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ ได้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เสนาบดีการต่างประเทศในรัชกาลที่ ๔) ออกไปทูลเชิญให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังไม่เสด็จสวรรคต

"ครั้นถึงวันพุธเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ยังเป็นปีจอโทศกจุลศักราช ๑๒๑๒ ท่านเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้จมื่นราชามาตย์พลขันธ์ไปเผ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จครองสิริราชสมบัติ จะโปรดรับหรือมิโปรดขอให้ทราบด้วย จึ่งมีรับสั่งว่า ท่านผู้หลักผู้ใหญ่พร้อมใจกันอัญเชิญแล้วก็ต้องรับ แต่ขอให้ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วยอีกพระองค์ ๑ เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบกระแสรับสั่งแล้วจึงข้ามฟากไปพระราชวังเดิมกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ให้ทรงทราบไว้ด้วย แล้วจึงสั่งขุนอักษรสมบัติเสมียนตรากรมท่า คุมทหารปืนปากน้ำนาย ๑ พระนนทบุรีคุมเลขทหารปืนปากน้ำนาย ๑ พระอินทรอาษาคุมลาวเมืองพนัสนิคมนาย ๑ รวม ๓ นาย ไปตั้งกองจุกช่องล้อมวงนั่งยามตามเพลิงรักษาอยู่รอบวัดบวรนิเวศ มิให้ผู้คนแปลกปลอมเข้าไปได้"




พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงทราบดีว่าเหตุที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์นั้นไม่ใช่เป็นเพราะอำนาจเทวดา หรือพระชาติกำเนิด แต่เป็นเพราะมีผู้คนค้ำชูให้พระองค์ได้ราชสมบัติ (ซึ่งก็คงหมายถึงผู้ใหญ่ในสกุลบุนนาคนั่นเอง) ดังที่ทรงเขียนในพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศความว่า

“ที่ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินทั้งนี้ ครั้นจะว่าไปว่าได้เปนด้วยอำนาจเทวดาก็จะเปนอันลบหลู่บุญคุณของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านพร้อมใจกันอุปถัมภ์ค้ำชูให้เปนเจ้าแผ่นดินนั้นไป ด้วยว่าความที่ได้เปนเจ้าแผ่นดินเพราะท่านผู้หลักผู้ใหญ่ค้ำชูอุดหนุนนั้น รู้อยู่แก่ตา เห็นอยู่แก่ตาของคนเปนอันมากตรงๆ ไม่อ้างว่าอำนาจเทวดาแล้ว”
บันทึกการเข้า
DrJfk
อสุรผัด
*
ตอบ: 34


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 20 ก.ค. 16, 17:14

ขอบคุณ คุณศรรเพชญ์ สำหรับข้อมูล ครับ

สรุป ผมเข้าใจถูกต้องแล้ว คือ  กรณีไล่ Priority โอรส ของ พระเจ้าลูกเธอ องค์โต มาก่อน  พระเจ้าลูกเธอ องค์รองๆ ลงไปร่วมพระครรภ์ แต่ ถ้าเป็นโอรสของ พี่สาว ไม่นับ

ดังนั้นกรณี ของร 7 ตามกฏมณเฑียรบาล สมัยนั้น ถ้าไม่ติด เรื่องข้อ มีพระมารดา เป็นคนต่างชาติ พระองค์จุล จะมี  Priority มาก่อน ร7
บันทึกการเข้า
DrJfk
อสุรผัด
*
ตอบ: 34


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 20 ก.ค. 16, 18:14

ในส่วนของ การที่ ร. 3 ขึ้นครองราชย์ก่อน ร 4  ทั้งที่ ร. 4 เป็น โอรสของอัครมเหสี ซึ่งถ้าตามกฏมณเฑียรบาลภายหลัง นี่ถือว่า  Priority สูงกว่า แต่ว่า ทาง ขุนนาง ทั้งหลาย ยกให้ ร3 ขึ้นก่อน แล้ว ประวัติศาสตร์เราก็เขียนกัน ให้ ดูดี มีความปรองดอง เช่น พระมารดา ร.4 บอกกับ ร.3 ว่า น้องยังเล็ก ให้ ร3 ขึ้นแทน แต่ถ้าเรามาดูจริงๆ ผมว่า ท่านตอนนั้นก็อายุครบบวช แล้ว ไม่เด็กแล้ว

ถ้าจะขึ้นจริงๆ ก็ขึ้นได้ แล้ว แต่คงเป็นว่า ทางขุนนาง่ส่วนใหญ่หนุน ร3 มากกว่า ท่านเลยต้องออกไปบวช จนสิ้นรัชกาล ดูตามรูปการ คงไม่ใช่ ไม่เต็มจะรับ ขึ้นครองราชย์ก่อน แต่คงขึ้นไม่ได้ เลยต้องหลบไปบวช

เพราะว่า ถ้ามาดูจากตอนที่ ร.3 สิ้นแล้ว ขุนนางตะกูลบุญนาค มาทูลเชิญให้สึกออกมา ท่านก็ออกมา ขึ้นครองราชย์ และยังกล่าวชมเป็นบุญคุณแทน เทวดา ตามข้อความข้างบน แสดงว่าลึกๆท่านก็คง ต้องการขึ้นครองราชย์ฺเช่นกัน แต่คงเป็นการเมือง ในสมัยนั้น ที่ทำให้ท่านตัองหลบไปบวช

ผมพิมพ์ตามที่คิด ต้องขอกราบขออภัย ที่ใช้ข้อความราชาศัพท์ ไม่ถูกต้อง

และอยากรบกวนเรียนถามด้วยว่า การที่เราถกกันถึง ประวัติราชวงศ์ ลักษณะนี้ เป็นการไม่สมควรหรือไม่ ครับ ถ้าไม่สมควรจะได้เลี่ยง คืออยากให้ ได้ข้อมูลที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ และถูกต้อง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.113 วินาที กับ 19 คำสั่ง