ยินดีต้อนรับ
ท่านผู้มาเยือน
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
หน้าแรก
ตู้หนังสือ
ค้นหา
ข่าว
: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
เรือนไทย
>
General Category
>
ประวัติศาสตร์ไทย
>
การสืบราชสมบัติ
หน้า: [
1
]
2
3
4
พิมพ์
อ่าน: 11328
การสืบราชสมบัติ
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 11:49
คุณหมอ JFK แสดงความปรารถนาใคร่จะทราบเรื่องการที่รัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชสมบัติสืบต่อจากรัชกาลที่ ๒ นั้น เรื่องนี้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าไว้ใน “พระราชวงศ์จักรี” หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ว่า
เรื่องเก่าๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เรื่อยมาจนได้ทรงพบเห็นด้วยพระองค์เองนั้น ทรงฟังมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงฟังคำบอกเล่ามาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ อีกชั้นหนึ่ง
ในตอนที่ว่าด้วยรัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชสมบัตินั้น ทรงเล่าไว้ว่า
“เนื่องสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอนุชาถึง ๑๗ ปี และได้ทรงว่าราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชบิดามาแล้วหลายคราว ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้นับถือเลื่อมใส ทั้งพวกเจ้านายและขุนนางจาม Crawford เล่าไว้ ในหมู่เจ้านายชั้นผู้ให
ญ่ที่เป็นชั้นพระเจ้าอาว์ที่มีพระนามปรากฏเด่นต่อมาก็คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพฯ และกรมหมื่นีกษ์รณเรศ ที่ได้ทรงทำคำมั่นสัญญาไว้ว่าจะถวายราชสมบัติกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทั้งฝ่ายขุนนางผู้ใหญ่มีสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์พี่น้องก็เห็นสมควร ฉะนั้นในวันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต จึงตกลงเชิญเสด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระที่นั่งพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในเวลาทรงพระประชวรหนักเป็นราชประเพณีอยู่แล้ว ให้เสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการอื่นๆ เฝ้าบนพระแท่นที่ประทับและถวายให้ทรงถือพระแสงอาญาสิทธิ์ไว้บนพระเพลาเป็นการแสดงให้คนทั้งหลายที่เฝ้านั้นเข้าใจว่าได้ทรงรับราชสมบัติแล้ว ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็เหมาะเวลาพระชันษาครบที่จะทรงอุปสมบท และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว เมื่อก่อนสมเด็จพระราชบิดาสวรรคตเพียง ๗ วัน สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ไปทูลถามว่าจะต้องพระราชประสงค์ราชสมบัติหรือไม่ และได้ทรงกราบทูลตอบไปว่า ไม่ต้องพระประสงค์ จะขอทรงผนวชเล่าเรียนต่อไป เหตุที่จริงมีอยู่เท่านี้”
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 1
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 11:50
นอกจากนั้นหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ยังได้ทรงเล่าไว้ในพระราชวงศืจักรีอักว่า
“ต้นตระกูลของเจ้าพระยารามฯ คือ (the very) กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ และเป็นผู้ที่คิดยึดราชสมบัติจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ไว้ถวายแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓... เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้วก็โปรดให้พระเจ้าอาว์ผู้ร่วมคิด ๒ พระองค์ เลื่อนพระยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์หนึ่ง คือกรมหลวงศักดิพลเสพ. ส่วนพระองค์เจ้าไกรสร ทรงเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศว่าการกระทรวงวังและกรมพระตำรวจหลวง ซึ่งในเวลานั้นมีอำนาจชำระคดีและตัดสินความผู้ถวายฎีกาได้ด้วย, นับว่าเป็นผู้มีอำนาจไม่ใช่น้อยในเวลานั้น. เจ้านายทรงเล่าต่อๆ กันมาว่า กรมหลวงรักษ์ฯ ทรงสามารถปราดเปรื่องมีอำนาจมากในรัชกาลที่ ๓. มีคนกลัวและเกลียดมากในสมัยของท่าน. ได้ทรงว่าการหลายแผนกซึ่งรวมขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง. และเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เป็นยอดเยี่ยม เช่นครั้งเมื่อกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระราชธิดาซึ่งทรงพระเสน่หาเป็นพิเศษสิ้นพระชนม์, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เสด็จลงพระราชทานสรงน้ำพระศพตามประเพณี ทรงเศร้าโศกสลดเป็นอย่างยิ่ง ครั้นถึงเวลาเบิกกระบวนแห่ให้เดินเข้าไปเชิญพระศพออกมาไว้ข้างหน้า พอประตูวังเปิดเดินกระบวนเข้ามา ก็เป็นกระบวนสำหรับพระเกียรติยศเจ้าฟ้าทุกประการ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนิ่งตะลึงหายทรงพระกำสรดไปทันที ทั้งนี้เพราะกรมหลวงรักษ์ฯ ทรงจัดตามที่กะว่าจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยหายเศร้าโศก. แต่รู้ดีว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่อมพระยศจะไม่ทรงสั่งเองเป็นอันขาด. น่าเสียใจที่ว่าต่อมาต้องทรงแตกกันด้วยมีเรื่องให้ขุ่นเคืองกันหลายครั้งหลายหน จนในที่สุดถึงมีคดีว่ากรมหลวงรักษ์ ทรงซ่องสุมผู้คนและเครื่องสาตราวุธไว้ที่วัง, และมีพระยามอญคนหนึ่งถวายฎีกาว่าลูกชายของตนถูกกรมหลวงรักษ์ ทรงตัดสินให้ฆ่าด้วยเบิกพยานเท็จ. โปรดให้ชำระไต่สวนได้ความว่าจริง. กรมหลวงรักษ์ จึงถูกถอดพระยศลงมาเป็นหม่อมไกรสร (คือพ้นตำแหน่งเกี่ยวข้องกับเจ้า) แล้วถูกตัดสินให้สำเร็จโทษตามความผิดนั้น. เล่ากันว่าหม่อมไกรสรว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่า “ตึกสำเร็จแล้วก็รื้อนั่งร้านเป็นธรรมดา” และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา (fogive and forget) ว่าสิ่งไรที่ได้ทำร้ายต่อพระองค์ท่านมา ท่านทรงยกโทษให้, ขออย่าให้เป็นเวรเป็นกรรมกันต่อไปอีกเลย. แต่หม่อมไกรสรกำทรายตอบว่า จะขอผูกเวรไปทุกชาติ์เท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย! พวกเจ้าๆ ชั้นข้าพเจ้าได้เคยฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องนี้มาแต่เล็กๆ และเคยร้องไห้สงสารปู่ของตัวเองมาเสมอ, จึงจำได้ดี”.
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 2
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 11:52
อนึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่า เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชสมบัติแล้ว ในรัชกาลนี้ไม่มรงรับพระเจ้าน้องนางเธอเป็นพระมเหสีตามพระราชประเพณี ในรัชกาลนี้จึงไม่ทรงมีพระราชกุมารชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทีจะทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติต่อไป ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร
“พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง สมุหพระกลาโหม (สมเด็จองค์ใหญ่) พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย ปฤกษากันว่าจะถวายราชสมบัติแก่ผู้ใด เพราะจะทรงมุ่งเจาะจงพระราชทานราชสมบัติแก่ใคร ก็จะไม่เป็นการสามัคคี ทรงขอให้ปฤกษากันโดยดี เพื่อเห็นแก่ความเจริญของประเทศเป็นใหญ่”
ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้านายและขุนนางจึงได้พร้อมกันไปอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ให้ทรงสละสมณเพศ แล้วเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรีต่อมา
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 3
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 12:09
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทรงมีพระราชโอรสที่เป็นอุภโตสุชาต ประสูติแต่พระราชมารดา คือ สมเด็จเทพศิรินทราบรมราชินี ด้วยกัน ๓ พระองค์
การสืบราชสมบัติจึงตกแก่พระราชโอรสพระองค์โต คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โดยไม่มีข้อสงสัย
แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีพระอัครมเหสีที่ถวายการประสูติพระราชโอรสถึง ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระระชรมราชินีนาถ และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ พระองค์ที่มีพระชันษารองลงมาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินันาถ พระองค์ที่มีพระชันษาต่อลงมาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสุริยสงขลา (ต่อมาเฉลิมพระยศใหม่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อทรงพระมหากรุณาสมเด็จเจาฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐๐ แล้ว ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นกรมขุนเทพทวาราวดี ทรงศักดินา ๕๐๐๐๐ เป็นพิเศษ ด้วยทรงมีพระเกียรติยศเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์อื่นๆ นั้นทรงศักดินา ๔๐๐๐๐ ตามพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แต่เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี ได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักจะทรงออกพระโอษฐ์เรียกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ว่า "เจ้าฟ้าเบิร์สอง" เพราะทรงมีพระชันษาเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เพราะเหตุดังกล่าวจึงเชื่อกันต่อๆ มาว่า รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์ให้การสืบราชสมบัติเป็นไปตามลำดับพระชันษาของพระราชโอรส
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 4
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 12:13
แต่เมื่อพิจารณาความในพระราชบันทึก "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ก็พบว่า
ก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จสวรรคตนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรหนักมาแต่ครั้งวิกฤติ ร.ศ. ๑๑๒ จนทรงหวั่นเกรงในพระราชหฤทัยว่า อาจจะไม่สามารถดำรงพระชนม์ชีพให้ยืนนานต่อไปได้ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงพระราชประสงค์ในการจัดการพระบรมศพไว้ว่า
“ถ้าพระองค์ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตลงก็ให้ฉันเปนผู้ถวายน้ำสรงพระบรมศพและถวายทรงพระชฎามหามหากะฐิน, แต่ถ้าหากฉันยังไม่กลับจากยุโรปก็ให้น้องชายเล็กเปนผู้กระทำกิจนั้นๆ แทน ดังนี้จึ่งเห็นว่าไม่มีทางอื่นนอกจากที่เลือกให้พระโอรสร่วมพระมารดาเดียวกับฉันเปนรัชทายาทต่อๆ ไป ฉะนั้นในระหว่างเวลาที่ฉันยังไม่มีลูก, ขอให้ถือว่าน้องที่ร่วมอุทรกันเปนรัชทายาทตามลำดับอายุพรรษกาล, จำเดิมแต่น้องชายเล็กลงไป.
เหตุใดพระเจ้าหลวงจึ่งต้องทรงมีคำสั่งเช่นนี้ ผู้ที่ไม่รู้เรื่องเดิมคงจะแลไม่เห็นเปนแน่ เพราะเมื่อฉันเป็นรัชทายาทของทูลกระหม่อมอยู่แล้ว ทำไมจะต้องสั่งด้วยว่าให้เปนผู้ถวายน้ำสรงพระบรมศพ? ขออธิบายว่า เมื่อทรงเขียนพระราชหัตถ์ฉบับนั้น ฉันยังหาได้เปนยุพราชไม่, เพราะทูลกระหม่อมใหญ่ ยังมีพระชนม์อยู่ แต่โดยเหตุที่ทูลกระหม่อมใหญ่ไม่ใคร่จะเอื้อในการเข้าไปเฝ้าและพยาบาลทูลกระหม่อมในเวลาที่ทรงพระประชวรอยู่, ทูลกระหม่อมท่านจึ่งทรงหาว่าทูลกระหม่อมใหญ่มิได้มีความจงรักภักดีต่อพระองค์, เปนแต่คอยเปนเจ้าแผ่นดินเท่านั้น, และทรงหาความว่าจะทอดทิ้งพระบรมศพ, จึ่งได้ทรงสั่งไว้ให้ฉันเปนผู้ถวายน้ำสรง”
ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว
“ฉันได้รับพระราชทานพระชัยนวโลหะในพระที่นั่งไพศาล, ต่อหน้าเจ้านายเปนอันมาก, เมื่อพระราชทานพระชัยองค์นั้น ทูลกระหม่อมได้มีพระราชดำรัสว่า พระชัยองค์นั้นได้ทรงหล่อที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) และเดิมตั้งพระราชหฤทัยว่าจะพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส, แต่สมเด็จพระบรโอรสาธิราชพระองค์นั้นสวรรคตเสียก่อนที่ได้รับพระราชทาน บัดนี้ได้ทรงตั้งแต่งให้ฉันเปนพระยุพราชรัชทายาทแล้ว, จึ่งพระราชทานพระชัยองค์นั้นไว้ให้เปนสวัสดิมงคลสืบไป”
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 5
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 12:18
เมื่อพระราชทานพระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธไว้สำหรับพระองค์นั้น ได้มีพระราชกระแส
“ทรงกำชับว่าให้พึงเข้าใจว่าพระราชทานไว้สำหรับพระราชโอรสของเสด็จแม่ทุกคน, เมื่อใครเปนผู้มีอายุมากที่สุดในพวกพี่น้องก็ให้เปนผู้รักษาพระชัยองค์นั้นไว้จนกว่าจะสิ้นอายุ, แล้วจึ่งให้รับรักษากันต่อๆ ลงไปตามลำดับ อาศัยข้อความตามที่ได้กล่าวมานี้ จึ่งเห็นว่าพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพอมีเค้าสังเกตได้ว่า พระโอรสของเสด็จแม่ควรที่จะได้เปนผู้สืบสันตติวงศ์เปนลำดับตามอาวุโส”
ส่วนพระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ นั้น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีรับสั่งให้หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล ทรงบันทึกไว้ในพระประวัติส่วนพระองค์จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงซ์วรเดช ว่า
“เมื่อพระชนม์พรรษาได้ ๕๑ ปีนั้น วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเปลี่ยนรัชกาลใหม่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมารได้สำเร็จราชการเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระองค์ได้ดำรงพระยศเปลี่ยนจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ตามราชประเพณี...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่พระราชทานพระไชยนวโลหะ กับพระเต้าศิลาบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ แด่พระองค์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ก่อนที่จะพระราชทานได้มีพระราชดำรัสว่า “พระไชยเนาวโลหะพระองค์นี้ทูลกระหม่อม (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) รับสั่งไว้ว่า เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ให้ทรงมอบถวายแก่ทูลกระหม่อมอาว์ ทรงรักษาไว้ เพราะเป็นของทูลกระหม่อมปู่พระราชทานไว้เฉพาะพระราชโอรสของทูลกระหม่อมย่า เมื่อมีการพระราชพิธีเมื่อใด ขอให้ได้เชิญเข้าไปตั้งตามเคย” แล้วทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์ในพระเต้าศิลา พระราชทานให้สรงพระพักตร์และเสวยเพื่อเป็นสิริสวัสดิมงคลด้วย เจ้าพนักงานกรมพระภูษามาลาได้เชิญพระพุทธรูปและพระเต้าศิลามาส่งประดิษฐานอยู่ ณ วังบูรพาภิรมย์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นต้นไป และเมื่อถึงการพระราชพิธีใหญ่ๆ ในพระบรมมหาราชวัง เจ้าพนักงานจะได้มาเชิญไปตั้งพระแท่นมณฑลตามเคย”
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 6
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 12:27
อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศรัสเซียและทรงนำพระชายาชาวรัสเซียกลับมาด้วยนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ทรงเป็นพระโอรสได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเกิดวังปารุสก์ว่า
“ตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องราวต่อมา ปรากฏว่า ทูลกระหม่อมปู่ได้ทรงเรียกพ่อให้ไปเฝ้าสองต่อสองและได้ทรงต่อว่าถึงการแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่ง จริงอยู่บุคคลชั้นขุนนางได้เคยมีแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่งมาก่อนนั้นแล้ว แต่ชั้นเจ้านายยังไม่มี ทูลกระหม่อมปู่ได้ทรงเตือนพ่อว่า เป็นที่สองในการสืบสันตติวงศ์ต่อจากทูลกระหม่อมลุง พ่อได้ทรงโต้เถียงว่ามิได้เคยทรงคิดเช่นนั้น เพราะตามที่เข้าใจกัน สมเด็จเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมก็ย่อมมียศเท่ากันหมด พ่อจึงได้ทรงคิดว่าที่สองต่อจากทูลกระหม่อมลุง คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ขณะนั้นเป็นกรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งแก่กว่าพ่อ”
ดังนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางลำดับสืบราชสมบัติตามแบบตะวันตก โดยทรงกำหนดให้ถือพระเกียรติยศของพระชนนีเป็นสำคัญ ฉะนั้นลำดับการสืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ต่อจากรัชกาลที่ ๕ จึงเริ่มจากสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) แล้วจึงต่อด้วยสายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี) เป็นลำดับ
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
ตอบ: 478
ความคิดเห็นที่ 7
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 13:57
มาลงชื่อเข้าเรียนครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
ความคิดเห็นที่ 8
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 17:19
ขอบคุณคุณ V_Mee ที่ตั้งกระทู้มีสาระหาอ่านยากกระทู้นี้ค่ะ คงจะถูกใจคุณหมอ JFK คุณ Praweenj และท่านอื่นๆ
ว่างเมื่อไหร่จะเข้ามาแจมค่ะ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
ตอบ: 205
ความคิดเห็นที่ 9
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 18:55
ขออนุญาตเสริมเรื่องการสืบราชสมบัติหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ บางประเด็นนะครับ
พิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้น อย่างที่ทราบกันดีว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้ที่ทรงบารมีสูงสุด เพราะทรงช่วยราชการต่างพระเนตรพระกรรณเป็นที่ไว้วางพระทัยของรัชกาลที่ ๒ จนได้รับมอบหมายให้ว่าราชการกรมท่าดูแลกิจการต่างประเทศ รวมถึงกรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจว่าความฎีกา
ทรงเป็นเจ้านายองค์สำคัญควบคู่ไปกับเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ที่เป็นพระมหาอุปราช กับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีซึ่งกำกับกรมวังและกรมมหาดไทยอยู่ จนกระทั่งเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ไป กิจการกรมวังและกรมพระตำรวจจึงตกมาอยู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทั้งหมด จึงทรงดูแลราชการแผ่นดินเรื่อยมาตราบจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ ทำให้พระองค์ทรงมีอำนาจบารมีและประสบการณ์ทางการเมืองสูงมาก
ด้วยเหตุนี้หลังจากรัชกาลที่ ๒ สวรรคตอย่างกะหันหันโดยไม่สามารถตรัสสั่งเสียเรื่องราชสมบัติได้ จึงทรงได้ราชสมบัติในรูปแบบที่เรียกขานในสมัยหลังว่า
"อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ"
หมายถึงทรงได้รับการยอมรับจากชนทั้งหลาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงทรงได้แรงสนับสนุนจากพระสังฆราช พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางและพระราชวงศ์ทั้งหลายนั่นเองครับ
ดังที่พระราชพงศาวดารได้ระบุไว้ว่า
"จึ่งอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะผู้ใหญ่มาแล้ว พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรมและท่านเสนาบดีและข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ฯ ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดิน เห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน พากันเข้าเฝ้า...เชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ"
ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎหลังจากทรงปรึกษาพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในเวลานั้น จึงทรงตัดสินพระทัยไม่รับราชสมบัติ แต่คงอยู่ในสมณเพศต่อไป โดย พระนิพนธ์ "ความทรงจำ ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ได้อธิบายว่า
“ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศร พระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์ ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าหวงราชสมบัติดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระราชประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป”
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
ตอบ: 205
ความคิดเห็นที่ 10
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 19:07
แต่นอกจากเรื่องปัจจัยเรื่องความเหมาะสม ยังมีหลักฐานบ่งบอกไปอีกทางหนึ่งที่เจ้าฟ้ามงกุฎเองทรงโดน "ข่มขู่" ซึ่งไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงครับ
อย่างเช่นที่ปรากฏจากบอกเล่าของกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ พระเชษฐาของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งถูกอ้างในบันทึกความทรงจำของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ที่ระบุว่า
“พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไปพอเห็นสวรรคตแล้วก็พระกรรแสงโฮขึ้น
หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลำดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเลย
พระนั่งเกล้ารับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอกอย่างตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทำอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคนไหลออกมาเปียงสบงเป็นครึ่งผืน”
"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสของรัชกาลที่ ๔ เอง ก็ทรงพระนิพนธ์เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ว่า
เขาเชิญไปวัดพระแก้ว มรกฎ อกอา
พัก ณ พระอุโบสถ ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า รอบรั้งขังคุม พระเอย
กุมไว้ในโบสถ์สิ้น สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาน สนมนิเวสะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง จับมล้างพรางไฉน ฯ
จากบทประพันธ์ถอดความได้ความว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงถูกคุมอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดโดยอ้างว่าเป็นการอารักขา ทรงประทับอยู่โดยไม่มีผู้ใด และทำให้เกิดความระแวงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์ หากความเป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปครับ
แม้กระทั่งในพระราชนิพนธ์ภาษาบาลี ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เองก็ทรงกล่าวอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงถูกฝ่ายของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์คุกคามมาตั้งแต่สมัยที่พระบิดายังไม่เสด็จสวรรคต จนต้องเสด็จออกผนวช และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็มีพระทัยอยากจะได้ราชสมบัติอยู่เช่นกันครับ
“ในกาลก่อนแต่นี้ พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่ของพระราชเทวี เมื่อทรพิจารณาถึงกาลอันหนึ่งเทียว
ทรงเห็นซึ่งพระราชบุตรผู้พี่ชายพระองค์ใหญ่กว่าพระราชบุตรทั้งปวง อันชนหมู่ใหญ่นับถือ แล้วปรารถนาอยู่แม้ซึ่งราชสมบัติของพระราชบิดา ครอบงำเสียซึ่งพระราชบุตรต่างพระมารดากัน กระทำอยู่แม้โดยพระกำลัง
แล้วทรงกำหนดซึ่งกาลใช่โอกาสของพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่เทียว พระองค์มีพระชนม์พรรษาได้ยี่สิบปี
แต่พระชาติทรงเห็นช่องทางซึ่งบรรพชาเป็นที่พ้นไปได้ จึงกราบทูลลาพระราชบิดา เข้าไปถึงแล้วซึ่งบรรพชา
มีพระนามปรากฏโดยพระนามของพระภิกษุว่าพระผู้เป็นเจ้า วชิรญาณ ดังนี้”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
ความคิดเห็นที่ 11
เมื่อ 16 ก.ค. 16, 20:11
อ้างถึง
"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสของรัชกาลที่ ๔ เอง ก็ทรงพระนิพนธ์เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ว่า
เขาเชิญไปวัดพระแก้ว มรกฎ อกอา
พัก ณ พระอุโบสถ ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า รอบรั้งขังคุม พระเอย
กุมไว้ในโบสถ์สิ้น สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาน สนมนิเวสะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง จับมล้างพรางไฉน ฯ
จากบทประพันธ์ถอดความได้ความว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงถูกคุมอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดโดยอ้างว่าเป็นการอารักขา ทรงประทับอยู่โดยไม่มีผู้ใด และทำให้เกิดความระแวงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์ หากความเป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปครับ
น่าจะเป็นการ "จุกช่องล้อมวง" หรือเปล่าคะ คุณ V_Mee?
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
ตอบ: 1436
ความคิดเห็นที่ 12
เมื่อ 17 ก.ค. 16, 07:50
จุกช่องล่อมวง คือ การถวายอารักขาเจ้านายที่จะทรงรับรัชทายาท เพื่อมิให้เกิดเหตุร้ายขึ้น แต่ในกรณีเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น น่าจะเป็นการควบคุมพระองค์ไว้ให้ผ่านเหตุการณ์สำคัญ คือ ถวายราชสมบัติแด่รัชกาลที่ ๓
เรื่องการสืบราชสมบัติในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ คงจะไม่ราบรื่นดังที่คุณศรีสรรเพชญ์กล่าวไว้ เพราะพบความตอนหนึ่งในบันทึกของ John Crawford ที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ว่า
"ในเวลานั้นพวกคนไทยแยกกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งนับถือในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) อีกพวกหนึ่งนับถือเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขัตติยราชกุมาร
แต่ตัวครอเฟิดเองได้ถามเจ้าพระยาพระคลัง (ที่เรียกกันว่าสมเด็จองค์ใหญ่) ผู้ที่รับรองว่าควรจะไปเฝ้าเจ้านายพระองค์ใดบ้าง เจ้าพระยาพระคลังได้แนะนำและพาไปเฝ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่วัง จึงได้รู้จักพระอัธยาศัยว่าทรงเฉลียวฉลาดรอบรู้สมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างยิ่ง แต่ได้เฝ้าพระองค์เดียวไม่ได้รู้จักพระองค์อื่นอีก"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
ตอบ: 12563
ความคิดเห็นที่ 13
เมื่อ 17 ก.ค. 16, 08:04
มีข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนรัชกาล จากรัชกาลที่ ๒ เป็นรัชกาลที่ ๓ และจากรัชกาลที่ ๓ เป็นรัชกาลที่ ๔ จากหนังสือ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในต้นฉบับเขียนเป็นย่อหน้าเดียว ขออนุญาตแบ่งเป็นหลายย่อหน้าเพื่อจะได้อ่านสะดวกขึ้น)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงประชวรหนักนั้น, มิได้มีเวลาที่จะทรงสั่งไว้ว่าให้ผู้ใดเปนพระเจ้าแผ่นดินต่อพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าในเวลานั้นทรงผนวชอยู่, และมีพระชนมายุเพียง ๒๐, แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเปนพระเจ้าลูกยาเธอผู้ใหญ่และเปนผู้กำกับราชการอยู่หลายตำแหน่ง, พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าเสด็จสวรรคต ท่านก็ทรงฉวยอำนาจไว้ได้หมด, ฉนั้นท่านจึ่งมิได้ให้ผู้ใดเรียกพระองค์ท่านว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" จนกว่าจะได้กระทำพิธีราชาภิเษกแล้ว.
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนัก ได้ทรงพระประชวรเรื้อรังอยู่นาน, แต่ก็หาได้ทรงมอบหมายราชสมบัติแด่พระองค์ ๑ พระองค์ใดไม่, ทั้งนี้เปนเพราะพระองค์ท่านทรงรู้สึกอยู่ว่า ได้ทรงแย่งราชสมบัติที่รู้กันอยู่ว่าเปนของทูลกระหม่อมปู่ของฉัน, โดยพระองค์ทรงเปนเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ พระโอรสแห่งสมเด็จพระพุทธเลิศหล้ากับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี. ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงเปนเพียงพระองค์เจ้าพระโอรสของพระสนม.
การที่ทรงแย่งครองราชสมบัตินั้นก็ได้เคยมีพระราชดำรัสอยู่ว่า "จะรักษาไว้ให้เขา" เท่านั้น. ฉนั้นที่ควรก็ควรต้องทรงสั่งไว้ว่าเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วให้ราชสมบัติตกเปนของทูลกระหม่อมปู่. แต่พระราชโอรสของพระองค์ท่านก็มีอยู่หลายพระองค์ที่กำลังทรงพระเจริญวัยขึ้น, เปนธรรมดาบิดาย่อมจะต้องอยากให้บุตรเปนทายาท, ฉนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าจึงมิได้ทรงส่งมอบราชสมบัติแก่พระองค์ใด, เปนแต่มีพระราชกระแสรไว้ว่า เมื่อท่านเสนาบดีมุขมนตรีเห็นสมควรจะมอบราชสมบัติถวายแด่พระราชวงศ์พระองค์ใด ก็ให้ถวายแด่พระองค์นั้นเถิด.
เมื่อทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนักนั้น ก็ได้มีผู้ตระเตรียมการกันไว้พร้อม. แต่ไม่มีฝ่ายใดพร้อมเพรียงหรือมีกำลังมากเท่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหกลาโหม) กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัด บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเปนพระยาศรีพิพัฒน์), และท่านทั้ง ๒ นี้ตั้งใจไว้มั่นคงว่าต้องให้ทูลกระหม่อมปู่ได้ราชสมบัติ, และไม่ยอมเปนอันขาดที่จะให้ลูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าได้.
ท่านทั้ง ๒ นี้มีความแค้นเคืองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่, เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่นั้นได้เปนผู้ ๑ ในพวกที่สนับสนุนให้พระนั่งเกล้าขึ้นทรงราชย์, แต่มาครั้งเมื่อพระนั่งเกล้ากริ้วหม่อมไกรสรได้พลอยกริ้วสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ด้วย, จนต้องหนีออกไปตั้งกองสักเลขอยู่ที่เมืองชุมพร จึ่งได้รอดภัย.
เมื่อครั้งหม่อมไกรสรรับพระราชอาญา สมเด็จองค์ใหญ่ร้องว่า พระนั่งเกล้าไม่ทรงซื่อตรงต่อผู้ภักดี. ใช้คำว่า "ท่านใช้เราเปนบรรไดขึ้นถึงที่สูงได้แล้ว ท่านจะเตะบรรไดเสีย" ดังนี้.
ข้างฝ่ายผู้ที่อยากให้ลูกพระนั่งเกล้าได้เปนพระเจ้าแผ่นดินออกจะไม่มีผู้ใดที่หลักแหลมและเจ้านายน้องยาเธอที่จะพอหวังให้ช่วยสนับสนุนลูกพระนั่งเกล้าได้ก็มีอยู่แต่กรมสมเด็จพระเดชาติศร (พระองค์เจ้าละมั่ง, เวลานั้นเปนกรมหลวงเดชอดิศร), เพราะพระนั่งเกล้าโปรดปรานท่านอยู่มาก, แต่พระองค์กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเองท่านวางพระองค์เปนกลางเฉยอยู่, ฉนั้นก็ยากที่จะหวังให้ท่านเปนหัวหน้าได้.
พูดไปตามจริงพระราชโอรสของพระนั่งเกล้าก็ไม่มีองค์ใดที่แหลมอยู่เลย. พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ, พระโอรสพระองค์ใหญ่ (เปนพระบิดาของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๔), กับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์(พระองค์เจ้าสิริวงศ์, เปนพระชนกของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ก็ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้วทั้ง ๒ พระองค์.
พระโอรสพระองค์ที่ ๓ (ซึ่งได้เปนกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ในรัชกาลที่ ๔) ก็ไม่ใช่คนโปรดปรานและออกจะมืด ๆ อยู่, คงมีที่ค่อยยังชั่วอยู่ก็พระองค์เจ้าคเณจร (ซึ่งได้เปนกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร), แต่ก็มีคนนับถือน้อย, ฉนั้นพอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคตลง สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็รีบไปจัดการล้อมวงที่วัดบวรนิเวศ, และอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อมปู่เข้าไปในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๆ ยังทรงพระผนวชอยู่, และทูลอัญเชิญให้เสด็จลาผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, แล้วและจัดการให้มีการถือน้ำโดยเร็วด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
ตอบ: 12563
ความคิดเห็นที่ 14
เมื่อ 17 ก.ค. 16, 08:19
จากรัชกาลที่ ๔ เป็นรัชกาลที่ ๕
อ้างจาก: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 14, 08:58
รัชกาลที่ ๖ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ว่า
เมื่อทูลกระหม่อมปู่เสด็จสวรรคตนั้น, อันที่จริงก็ไม่ควรที่จะมีข้อสงสัยเลย, หากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกระลาโหม) ทำเหตุให้ยุ่งไปเองแท้ ๆ ในขณะที่ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรหนักขึ้น พะเอินทูลกระหม่อมของฉันก็ทรงพระประชวรเปนไข้มีพระอาการมากอยู่ด้วยเหมือนกัน. อีกประการ ๑ ในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็มีพระชนมายุเพียง ๑๕ เต็ม ๆ เท่านั้น, ทูลกระหม่อมปู่จึ่งได้มีพระราชดำรัสฝากให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยเปนผู้ประคับประคองด้วย สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าเปนโอกาสเหมาะที่จะรวบรัดอำนาจไว้ในกำมือของตน, ฉนั้นเมื่อได้ไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมจากพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าไปประทับที่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์แล้ว, และได้จัดการถือน้ำตามประเพณีแล้ว, ก็ยังมิได้ให้เรียกทูลกระหม่อมว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว", เพราะเขานึกว่าทูลกระหม่อมจะสวรรคตเสียก่อนที่จะได้ราชาภิเษก ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยานึกเช่นนี้ ไม่ใช่เปนการใส่ความ, เพราะมีสิ่งที่เปนพยานอยู่อย่าง ๑ คือสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดการให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ, หรือที่เรียกกันอยู่ว่า "ยอร์ช วอชิงตั้น), พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, รับบวรราชาภิเษกเปนกรมพระราชวังบวรก่อนงานบรมราชาภิเษกของทูลกระหม่อม, ซึ่งเปนการนอกธรรมเนียมราชประเพณีโดยแท้, เพราะมิได้เคยมีเลยในรัชกาลใด ๆ, ทั้งครั้งกรุงเก่าและกรุงรัตนโกสินทร์, ที่วังน่าจะได้รับบวรราชาภิเษกก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลนั้นจะได้รับบรมราชาภิเษก.
รัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงกล่าวเชิงประชดถึงเรื่องนี้ไว้ใน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดาร กับเรื่องพระราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช ความว่า
ท่านเสนาบดีปฤกษาว่า พระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ มีวิชาเป็นช่างเชาว์เกลาเกลี้ยงให้เป็นกรมพระราชวังบวรรับบัณฑูรเป็นที่ ๑๖ จะได้คุมข้าไทของวังหน้าต่อไป เป็นวังหน้าที่มิได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ และกษัตริย์มิได้ทรงเลือกเองเป็นที่ ๑ ตั้งแต่กรุงทวารวดีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
บันทึกการเข้า
หน้า: [
1
]
2
3
4
พิมพ์
กระโดดไป:
เลือกกระทู้:
-----------------------------
General Category
-----------------------------
=> ศิลปะวัฒนธรรม
=> ภาษาวรรณคดี
=> ระเบียงกวี
=> ชั้นเรียนวรรณกรรม
=> หน้าต่างโลก
=> ประวัติศาสตร์โลก
=> ประวัติศาสตร์ไทย
=> ทันกระแส
=> วิเสทนิยม
=> ห้องหนังสือ
=> ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย
Powered by SMF 1.1.21
|
SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder
XHTML
|
CSS
|
Aero79
design by
Bloc
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง
Loading...