เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3158 กระทู้บ่น ระบบการศึกษาไทยล้มเหลว วิกฤติที่จะยิ่งวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


 เมื่อ 07 ก.ค. 16, 09:18

กลับจากขับ taxi ที่ต่างประเทศ หันมาวิ่งมอไซด์รับจ้างวินหน้ามหา'ลัยแห่งหนึ่งแทน แถมยังมีแม่ลูกคู่นึง ที่ตอนผมไปขับ taxi ที่เมืองนอก เค้าตามไปอาศัยอยู่ด้วย  พอผมกลับมาวิ่งวิน เค้าก็ยังตามมาขออยู่ด้วยอีก ไอ้เราก็สงสารเด็กเลยเอาไปฝากเรียนต่อ ป. 6 ที่โรงเรียนประถมใกล้บ้าน เลยมีโอกาสได้เปรียบเทียบวิธีการและระบบการเรียนของเด็กประถมไทยกับอังกฤษ และในฐานะที่วิ่งวินหน้ามหาลัย เลยได้มีโอกาสพบปะผู้คนทั้งนักศึกษา อาจารย์ ยันภารโรง ได้สังเกตเห็นวิกฤติทางการศึกษาไทยอย่างชัดเจน


สังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนแก่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เด็กเกิดน้อยลง ยุค baby boom ที่เด็กเกิดปีละล้านกว่าคนผ่านไปนานแล้ว ตอนนี้เด็กเกิดปีละราว 7 แสน เด็กเหล่านี้ในอนาคตข้างหน้าต้องรับภาระเลี้ยงดูคนแก่จำนวนมาก ในขณะที่ระบบการศึกษาปัจจุบันผมมองแล้วไม่สามารถให้ความรู้เด็กเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม อนาคตประเทศไทยในวันหน้า ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่  ผมเห็นแต่หนทางมืดมิดอยู่ข้างหน้า นึกถึงฟิลิปปินส์ไว้  อีก 20 ปีผมว่าเมืองไทยอาจจะไม่ต่าง  คือเป็นประเทศที่ทรงๆ ทรุดๆ งั้นๆ แบบอยู่กันไปวันๆ ขีดความสามารถในการแข่งขันไม่มี คนเก่งหาทางอพยพไปที่อื่น อุตสาหกรรม SME คือร้านกาแฟกับทำแบรนด์ครีมขาวหน้าเด้ง


ต้องออกตัวก่อนว่า ความเห็นทั้งหมดในกระทู้นี้ เป็นมุมมองส่วนตัวของผมล้วนๆ ดังนั้นอาจจะไม่ตรงกับมุมมองหรือความเห็นของท่านอื่นๆ และถ้าระคายเคืองสะเทือนความรู้สึกท่านใด ต้องขออภัยไว้ก่อนด้วยครับ



บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ก.ค. 16, 09:34

ที่อยากมาตั้งกระทู้นี้ เพราะวันก่อนเพิ่งไปพบครูของตาเด็กคนที่มาอาศัยอยู่กับผมมา เด็กน้อยร้องห่มร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน เลยซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กบอกว่าสอบตก ครูขู่ว่าจะให้ไปเรียนกับน้อง ป.4 ด้วยความสงสัยเลยไปถามครูว่ามันสอบอะไร วิชาอะไร ได้ความว่าเด็กประถมสมัยนี้ ต้องเรียนพุทธศาสนา และต้องสอบนักธรรมให้ผ่านด้วย หมอนี่ไม่เคยเรียนมา ศัพท์ภาษาไทยยังไม่ค่อยจะแตก มาเจอภาษาบาลีเข้าก็เสร็จเท่านั้น  แถมครูยังบอกว่ามันเป็นมาตรฐาน เด็กทุกคนต้องสอบนักธรรมผ่าน ตรีโทเอกหรืออะไรผมจำไม่ได้แล้ว ต่อให้ชั้นประถมไม่ผ่าน มัธยมก็ต้องผ่านให้ได้อยู่ดี ไม่งั้นจะไม่จบหลักสูตร!!!


ในฐานะพุทธศาสนิกชน ตอนนี้กำลังคิดว่าจะจูงมือกันไปอำเภอ ทำเรื่องเปลี่ยนศาสนาในบัตรประชาชน คือไม่ต้องระบุว่าเป็นพุทธกันหละ  เราเป็นพุทธกันในใจไม่ต้องในเอกสารก็ได้ ตัดปัญหาวิชาที่ต้องเรียนต้องจำออกไปอีก 1 วิชา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ต้องอาศัยปัญญาและการปฏิบัติให้เข้าถึงแก่น ผมไม่รู้ว่าการเรียนนักธรรมสำหรับเด็กประถมจำเป็นแค่ไหน ก็ขนาดวัดที่มีเปรียญ 9 มากที่สุดในประเทศยังไม่ได้เป็นวัดของศาสนาพุทธเลย  แค่ใส่เครื่องแบบคล้ายพระเท่านั้น


ตอนนี้ตารางเรียนของเด็กชาย ป.6 แน่นเอี้ยดมาก  เริ่มเรียนเวลา 7.30 น. เลิกเรียน 16.30 แต่เด็กครึ่งห้องจะเรียนพิเศษกับครูต่อจนถึง 17.30 แปลว่าเด็กที่บ้านไม่ไกลมากจะต้องตื่นนอน 6 - 6.30 น. ถึงจะไปโรงเรียนทัน พ่อแม่ต้องตื่นก่อนหน้าถ้าจะเตรียมอาหารเช้า  ตอนเย็นเด็กจะกลับถึงบ้านห้าโมงกว่าหกโมงกว่าๆ กินข้าวกินปลาเสร็จต้องทำการบ้านที่มีมากมายหลายวิชาทุกๆ วัน กว่าจะเสร็จกินเวลาไปอีก 1-2 ชั่วโมง ไม่เกินสามทุ่มก็ควรเข้านอนแล้ว แปลว่าแต่ละวัน เด็กแทบจะไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นๆ เลยนอกจากการเรียน  เราน่าจะมีอัจฉริยะผู้รอบรู้เต็มประเทศ  แต่ทำไมเราไม่มี กลับกลายเป็นว่าเด็กจำนวนมากล้มเหลวในการเรียนทุกระดับ  ปัญหาไม่ได้มากจากแค่เด็ก ครู หรือผู้ปกครองแล้ว แต่มีอะไรมากกว่านั้นเยอะ


เดี๋ยวผมจะเอาเรื่องโรงเรียนประถมที่อังกฤษแถวบ้านสมัยอยู่ที่โน่นมาเล่าให้ฟัง เพราะได้มีโอกาสสัมผัสเองตรงๆ ว่าทำไมเด็กฝรั่งเรียนแล้วมีความสุขกับโรงเรียน ที่การกวดวิชาไม่เป็นที่รู้จักสำหรับเด็กประถมที่นั่น การบ้านมีแค่สัปดาห์ละครั้งแถมไม่เยอะด้วย
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ก.ค. 16, 09:55

มันเป็น culture shock น่ะค่ะคุณประกอบ    คนไปอยู่เมืองนอกนานๆเป็นยังงี้ทุกคน กว่าจะทำใจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ก็นานนับปี
ส่วนเด็กน้อยของคุณนั้นน่าสงสารมาก   ดิฉันไม่อยากให้ปรับตัวเลย เพราะพื้นฐานการเรียนของแกถูกต้องตามหลักการพัฒนาเด็กแล้ว
เรื่องพุทธศาสนาในโรงเรียน  เขาก็เรียนเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้นเอง
ถ้าหากว่ามีหลวงพี่มาสอน  คุณประกอบลองไปขอร้องท่านดูว่าเด็กมาจากเมืองนอก  ยังไม่แตกฉานภาษาไทยเท่าเพื่อนๆ   ท่านสามารถช่วยได้ค่ะ   หลวงพี่ในเมืองนี้ใจดีกันทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 ก.ค. 16, 10:32

ฮิฮิ  ไม่ใช่ culture shock หรอกครับ เพราะอะไรแย่ๆ ที่เจอในเมืองไทยนี่มันชินและทำใจอยู่แล้ว แต่การได้พบปะนักเรียนนักศึกษา ทัศนคติของครูเองและพ่อแม่ รวมถึงระบบการสอบการตัดเลือกของเรา เทียบคุณภาพนักศึกษาที่ได้เจอวันนี้กับเมื่อ 10 ปีก่อน เห็นความแตกต่างบางอย่างที่ชัดเจนที่ผมไม่โทษตัวเด็กเลย วันก่อนได้คุยกับ หนภ วิศวฯคอมฯ ที่จุฬา ซึ่งนี่คือภาควิชาที่คะแนนคัดเลือกเข้าสูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองไทยแล้วนอกจากทางแพทย์  อาจารย์ก็เล่าให้ฟังว่าคะแนนรวมของ นศ ใหม่ที่รับเข้ามาลดลง แต่เด็กพวกนี้ก็ยังเป็นหัวกระทิอยู่ดี ส่วนระดับปริญญาโทจำนวนคนเรียนลดลงอย่างมาก รวมทั้งมีปัญหาคุณภาพผู้เรียนด้วย แต่นั่นคือจุฬา


ผมค่อนข้างเชื่อว่าเด็กทุกวันนี้เป็นผลลัพธ์ของความล้มเหลวในระบบการศึกษาเราตั้งแต่อนุบาลกันมาเลย  ปลายทางมหาวิทยาลัยจะแก้ไขยาก เพราะระบบการคิดการฝึกฝนของเด็กถูกทำลายจากระบบการเรียนการสอนไร้คุณภาพมาเป็นสิบปีแล้ว แน่นอนว่าในระบบที่ห่วยที่สุดก็ยังมีคนเก่งที่เอาตัวรอดได้ คนเหล่านี้ไปเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ได้ แต่คนเหล่านี้มีจำนวนน้อย  ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ที่โดนระบบทำลายแล้วนี่แหละ ที่เราจะพัฒนาให้ขึ้นมาอย่างไร


มหาลัยที่ผมมาวิ่งวินนี่ เป็นมหาลัยกระดับกลาง ปัจจุบันค่อนไปทางล่างแล้ว  มีสาขาหนึ่ง เด็กเข้าใหม่ต้องเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ และแคลคูลัส ในเทอมแรก อัตราผ่านประมาณ 30-40% เท่านั้น ผ่านนี่คือได้ D ขึ้นไป อย่างแคลคูลัสนี่ถ้าจำไม่ผิด นักเรียน 150 คนไม่มีใครได้ A เลย มี B+ 1 คนมั๊ง ภาคเรียนที่ผ่านมา วิชาการเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นวิชาบังคับ เด็กผ่านประมาณ 60% สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 4-5 ปีมานี้ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในวิชาตัวต่อเนื่อง การเขียนโปรแกรม 2 เพิ่งจับทุจริตได้ เลยได้พบว่าเทอมก่อนหน้าที่ผ่านกันเยอะขึ้นเพราะมีการทุจริตในการสอบกัน บางคนโกงจนได้ B  ตอนนี้กำลังสะสางกันอยู่   เราไม่ได้มีปัญหาแค่เด็กอ่อน เรามีปัญหาจริยธรรมด้วย


ในบางวิชาเลือกของบางคณะ เป็นวิชาที่เด็กทั้งมหาวิทยาลัยนิยมลง เพราะเรียนง่ายสอบง่ายได้เกรดสวย  ผมได้รับการบอกเล่าแต่ยังไม่ขอยืนยัน ว่าคุณภาพการสอนการสอบเป็นไปแบบไร้คุณภาพอย่างน่าตกใจ  น่ากลัวจนไม่กล้าเล่าตรงนี้ ไว้จะกระซิบให้อาจารย์ฟังหลังไมค์ครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ก.ค. 16, 10:45

เรื่องนี้ ผมมีประเด็นอยากร่วมสนทนาด้วยมากครับ เพราะตอนนี้ผมมีลูกที่เพึ่งเข้าเรียนชั้นอนุบาล และมีหลานที่เพึ่งเข้าเรียนชั้น ป.1 พอดี ได้เห็นวิชาที่เด็กๆต้องเรียนแล้ว รู้สึกแปลกๆ แต่เดี๋ยวให้ อ. ประกอบดำเนินเรื่องไปสักช่วงก่อนนะครับ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ก.ค. 16, 11:06

ส่วนตัวผมคิดว่า การโกงสอบมันมีมาตั้งแต่เริ่มมีโรงเรียนแล้ว อินเดียก็มีเยอะทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ถึงขนาดเคยมีภาพผู้ปกครองปีนตึกไปส่งฝิ่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน


แต่หลังจากเรียนจบ ผลการเรียนไม่ได้ตัดสินให้ผมรับใครเข้าทำงาน (แต่ถ้ารู้จักกันก็อีกเรื่อง แฮ่... ยิ้มเท่ห์) โดยเฉพาะสายไอทีเนี่ย อยู่ที่ความพยายามวิริยะอุตสาหะของแต่ละคนเลย อดีตหัวหน้าผมจบมาทางด้านเกษตรนะครับ แต่ได้รับประสบการณ์และโอกาสจากบริษัท รวมทั้งเขาสามารถพัฒนาตัวเองจนปัจจุบันโกอินเตอร์ไปแล้ว


ถ้าระดับการศึกษามีการแข่งขัน ระดับการทำงานก็มีการแข่งขันเช่นกัน คนไทยอาจจะมีข้อบกพร่องเยอะ แต่เรื่องการดิ้นรนเอาตัวรอดผมว่าก็คงพอ ๆ กับชาติอื่น ฉะนั้นถึงจะผ่านไปอีก 20-30 ปีสภาพโดยรวมก็อยู่ประมาณนี้ คืออาจจะดีขึ้นบ้างหรือลดต่ำลงบ้าง แต่ไม่ได้โตหรือตกแบบก้าวกระโดด มีตัวแปรอีกหลายอย่างไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนในระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย สบายใจเถอะครับ  ยิ้มกว้างๆ

เรื่องเด็กเรียนหนังสือเยอะโทษฝ่ายอาจารย์อย่างเดียวก็ไม่ถูกหมด ผู้ปกครองเองก็อยากให้ลูกเรียนพิเศษด้วยความเต็มใจยิ่ง วันหยุดเด็กประถมเลยต้องไปเรียนเพิ่มเติมกันทั้งนั้น ลูกคิดบ้าง กีตาร์บ้าง ภาษาโน่นนั่นนี่บ้าง ตรงนี้ไม่ใช่ตามอาจารย์ที่โรงเรียนมาด้วยซ้ำ

บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ก.ค. 16, 15:19

การโกงสอบอาจเป็นเรื่องปกติและมีมานานแล้ว แต่ไม่ใช่มาตรฐานที่ยอมรับได้  หรือถ้ามองว่านี่คือวิธีเอาตัวรอด ก็ต้องมองต่อว่าเราอยากให้สังคมเป็นแบบไหน



ผมได้ไปเปิดหูเปิดตามาบ้าง ได้เห็นสังคมที่การเอาตัวรอดโดยการเอาเปรียบคนอื่นแม้ว่าเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้และคนส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติกัน ทำให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตในสังคมแบบนั้นมันสบายใจกว่ามาก
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการใช้รถใช้ถนน ในบางสังคมถ้ารถติด รถเยอะ ทุกคนจะรอคิวอย่างสงบ ไม่มีการเปิดเลนพิเศษ ไม่มีการโกงแล้วไปแทรกข้างหน้า
ส่วนในสังคมที่การเอาตัวรอดโดยการเอาเปรียบคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดาอย่างสังคมไทย ถ้าไม่โกงก็ต้องเป็นคนโดนโกง ทุกคนเลยต้องเรียนรู้ที่จะโกงกันหมด



เห็นยกตัวอย่างสาย IT มา เลยต้องบอกว่ายิ่งบุคลากรสาย IT ปัจจุบัน ผมเอาตัวเลขมาให้ดู เรามีบัณฑิตสายนี้ผลิตออกมาปีละประมาณสองหมื่นกว่าคน แต่ส่วนใหญ่เป็นสายคอมพิวเตอร์ธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สายวิศวกรรมและวิทยาการคอมน้อยกว่ามาก
และพวกที่น้อยนี้ ยังมีพวกที่มีคุณภาพจริง ใช้งานได้น้อยลงไปอีก ถ้าเราไม่โกหกตัวเอง ความสามารถในการแข่งขันของเรากำลังถอยลงไปเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว
ปัจจุบันถ้าจะเปิดบริษัทพัฒนาโปรแกรม จะหาตัวโปรแกรมเมอร์เก่งๆ ได้ยากมากครับ และคนเก่งๆ เรามีไม่พอ แถมเราไม่ดึงดูดคนเก่งจากที่อื่นให้มาอยู่ด้วย การแข่งขันของเราในด้านนี้มีปัญหาเรื่องคุณภาพมากครับ


รูปเอามาจากอันนี้ ลองอ่านพิจารณาดูครับ https://thanachart.org/2016/06/17/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ก.ค. 16, 10:24

เคยคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยใกล้กรุงเทพฯ  ท่านปรารภว่า ปัจจุบันเด็กไทยเรียนเพียงเพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้  จึงเรียนพิเศษกันเป็นบ้าเป็นหลัง  โดยละทิ้งการเรียนวิชาพื้นฐานในห้องเรียน
ฉะนั้นเมื่อสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้แล้ว  สาขาวิชาที่รับนักเรียนนั้นเข้าเรียนกลับต้องปรับหลักสูตรปริญญาตรี
โดยใช้เวลาเรียนปีที่ ๑ ไปสอนพื้นฐานในสาขาวิชาชั้นมัธยมที่นักรียนละทิ้งไป  แล้วจึงใช้เวลาอีก ๓ ปีอัดวิชาตามหลักสูตรปริญญาตรี
ที่จะต้องเรียน ๔ ปี เพื่อให้จบหลักสูตรตามกำหนดเวลา

ถามท่านว่า ถ้าไม่สอนทบทวนวิชาพื้นฐานล่ะ  คำตอบที่ได้รับก็เช่นที่ ดร.ประกอบกล่าวไว้ คือ หากสาขาวิชาไม่ช่วยทบทวนเช่นนั้น
นักศึกษาส่วนใหญ่จะถูกคัดออกไประหว่างการศึกษา  คงมีผู้จบการศึกษารุ่นหนึ่งๆ ไม่มาก  และมาตรฐานที่จบมาก็ค่อนข้างร่อแร่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.ค. 16, 11:06

ทำไมฟินแลนด์ถึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
http://www.adviceforyou.co.th/articles/565-finland-education/

ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆในยุโรปตอนบน มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน (น้อยกว่ากรุงเทพซะอีก) ซึ่งคนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อเสียงของประเทศนี้นัก แต่ถ้าบอกว่าประเทศนี้แหละ คือต้นกำเนิดของ Nokia มือถือที่ (เคย) ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่ถือกำเนิดในฟินแลนด์ ซึ่งสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้เริ่มต้นมาจากพื้นฐานด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเยี่ยม มีความเหลื่อมล้ำทางเศรฐกิจน้อยมาก เพราะมีการเก็บภาษีสูงและมีการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาคุณภาพประชากรที่นี่มีคุณภาพ

ในการสำรวจประเมินผลดัชนีทางการศึกษาล่าสุด โดยองค์กรความร่วมมือทางเศรฐกิจและพัฒนา โดยการจัดอันดับนี้ใช้รูปแบบการวัดความสามารถในการแก้ปัญหา (ไม่ใช่การทำข้อสอบ) และการอ่านเขียน (ภาษาของตนเอง) ที่ชื่อ PISA (Program for International Student Assessment) ผลคือ นักเรียนของฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น "นักเรียนที่มีคุณภาพที่สุดในโลก" ประเมินจากนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับของนักเรียนจำนวน 65 ประเทศ


สิ่งที่ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์แตกต่างจากประเทศอื่นๆ (โดยเฉพาะบ้านเรา) มีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ
 
finland-children

โรงเรียนอนุบาลไม่สำคัญเท่าเวลาจากครอบครัว
ที่ฟินแลนด์จะให้เด็กเรียนเมื่ออายุ 6-7 ขวบ (ซึ่งที่บ้านเรานี่คือวัยเรียนประถมแล้ว) ที่นั่นไม่เน้นโรงเรียนอนุบาล แต่อยากให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด เพราะเขาเชื่อว่าครอบครัวสามารถให้ทั้งความรู้และความรัก ความเข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามให้เด็กได้ดีกว่าโรงเรียนอนุบาล ในขณะที่บ้านเราแม้แต่โรงเรียนอนุบาลยังต้องแย่งกันเข้าเรียน และพ่อแม่อยากรีบส่งลูกๆเข้าอนุบาล (หรือแม้แต่เตรียมอนุบาล) เพราะไม่มีเวลาดูแลเด็กๆด้วยตัวเอง ซึ่งฟินแลนด์ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานี้ ฟินแลนด์ก็มีการเปิดรับนักเรียนตั้งแต่วัยเด็ก 8 เดือน - 5 ปี เช่นกัน เรียกว่า Daycare โดยที่ Daycare นั้นจะต้องมีสนามเด็กเล่นให้เด็กใช้วิ่งเล่นโดยที่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปเป็นเพื่อนเล่นได้ โดยเปิดให้บริการฟรี แต้ถ้าพ่อแม่คนไหนไม่ต้องการส่งลูกไปที่ Daycare ก็สามารถที่จะจัดบ้านตัวเองเป็น Daycare ได้และทางเทศบาลเมืองจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนให้ด้วย!! เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองนั่นเองค่ะ และก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะรับเงินมาแล้วก็เลี้ยงลูกแบบทิ้งๆขว้างๆได้นะคะ เพราะทางเทศบาลเค้าจะมีการสุ่มตรวจอยู่เสมอว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกได้เหมาะสมหรือเปล่าค่ะ
 
Finland-Education

เรียนมากไปใช่ว่าจะดี เด็กควรมีเวลาทำในสิ่งที่สนใจ
เด็กในวัยประถมศึกษาที่ฟินแลนด์ จะเรียนไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง เพราะเค้าเชื่อว่าเด็กวัยนี้ควรจะมีเวลาทำในกิจกรรมที่ตัวเองสนใจมากกว่า ในขณะที่เด็กไทยเรียนกันเช้ายันเย็น แล้วยังมีต่อเรียนพิเศษกันอีกในตอนค่ำ (อาจจะเพราะผู้ปกครองบางคนทำงานเลิกดึก ไม่มีเวลามารับลูกๆ ก็ส่งให้ลูกเรียนพิเศษต่อไปก็มี) ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และเกิดความรู้สึกแย่ต่อการเรียนได้
 
kids-at-desks-in-class

จำนวนเด็กในชั้นเรียนน้อย เพื่อการดูแลทั่วถึง
ห้องเรียนที่ฟินแลนดื จะกำหนดให้มีนักเรียนห้องละ 12 คน สูงสุดไม่เกิน 20 คน ยิ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็จะยิ่งจำกัดจำนวนเด็กในห้องให้น้อยลง (ซึ่งหลักการนี้จะคล้ายกับโรงเรียนสอนภาษาในประเทศอังกฤษที่ได้รับการรับรอง Highly Trusted) เพราะที่ฟินแลนด์จะเน้นการพัฒนาคน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้และการดำรงชีวิต ซึ่งนักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน การดูแลรายบุคคลจึงเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ ในขณะที่บ้านเรา โรงเรียนยิ่งดัง ยิ่งรับนักเรียนมาก (โรงเรียนที่แอดมินจบมา มีนักเรียนมากกว่า 3 พันคน และมีนักเรียนห้องละ 50 คน) และการเรียนการสอนจะปลูกฝังให้นักเรียนมีค่านิยมเดียวกันหมด เช่น ต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร โดยที่ไม่พยายามพัฒนาและสนับสุนศักยภาพที่เหมาะสมกับบุคคล
 
findardized-tests

เพราะการศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน ที่นี่จึงไม่มีเกรดเฉลี่ย
ที่ฟินแลนด์มองว่าการเรียนคือการพัฒนาแต่ละบุคคล ไม่ใช่การแข่งขัน ดังนั้นจึงไม่มีการให้เกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวแบ่งแยกความภาคภูมิใจหรือความอับอายให้แก่เด็ก แต่เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากกว่า
 
Finland-Student2

ไม่ใช้ข้อสอบกลางในการวัดระดับ
เพราะเขาเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีจุดประสงค์และเป้าหมายในการให้การศึกษาแก่นักเรียนแตกต่างกัน ฟินแลนด์จึงไม่ใช้ข้อสอบมาตรฐานในการวัดผลนักเรียน (ซึ่งข้อนี้สามารถทำได้ เมื่อโรงเรียนมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ) ซึ่งต่างจากบ้านเราที่ใช้ข้อสอบกลางในการวัดผลนักเรียน เช่น O-Net, A-Net เป็นต้น
 
Finland-Education2

การบริหารโรงเรียนที่มีคุณภาพ
ที่ฟินแลนด์จะใช้การจ้างผู้อำนวยการมาบริหารโรงเรียน และให้กรรมการโรงเรียนดูแล ถ้าผลงานไม่ดีก็เชิญออกได้ เขาไม่ได้ใช้ระบบราชการ หรืออายุราชการในการคัดเลือกคนมาบริหาร ไม่ได้เลือกจากอาจารย์ในโรงเรียน แต่ใช้การคัดเลือกคนที่มีความสามารถในการบริหารจริงๆ เพราะเชื่อว่าการสอนเก่ง กับการบริหารเก่งนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้โรงเรียนเขามีคุณภาพ
 
Finland-Teacher

ครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและมีเกียรติ
ที่ฟินแลนดื ครูของเขาทุกคนตั้งใจอยากเป็นครู คนที่เก่งที่สุดของประเทศจะแข่งกันเป็นครู เพราะครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากแพทย์ หรือ ทนายความ ระบบการศึกษาในฟินแลนด์กำหนดให้อาจารย์ประจำชั้นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทในคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนอาจารย์ประจำวิชาจะต้องจบการศึกษาในคณะวิชาที่สอนก่่อนและจึงมาศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาโทในคณะศึกษาศาสตร์ และยังมีข้อกำหนดพิเศษสำหรับครูการศึกษาพิเศษและครูแนะแนวต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษและการแนะแนวอีกด้วย
 
โดยกฎหมายฟินแลนด์กำหนดให้เด็กทุกคนเรียนการศึกษาภาคบังคับถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (เกรด 9) โดยรัฐบาลสนับสนุนงบ 85% และพอจบมัธยมต้นแล้ว แล้ว ก็จะจบการศึกษาภาคบังคับ ใครไม่อยากเรียนต่อก็ได้ ส่วนใครที่อยากเรียนต่อ รัฐจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้ผู้เรียนเกือบทั้งหมด ยกเว้นค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์การเรียน ก็จะสามารถแบ่งไปได้ 2 ทางคือ
โรงเรียนมัธยมปลาย คือเรียนต่อไปเกรด 10-12  เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสายวิชาการ เช่น แพทยศาสตร์ ครุศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น
โรงเรียนสายอาชีพ จะคล้ายๆ ปวช. บ้านเรา เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการฝึกทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง
และเมื่อเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมปลายหรือโรงเรียนสายอาชีพแล้ว ก็จะแยกไปได้อีก 2 ทางค่ะ คือ มหาวิทยาลัย และ โพลีเทคนิค ซึ่งระบบมหาวิทยาลัยของฟินแลนด์จะไม่ต่างจากในบ้านเรา พอเรียนจบปริญญาตรี ก็ต่อปริญญาโทและเอกได้ ส่วนโพลีเทคนิคนั้น จะคล้ายๆ ปวส. ของเมืองไทยแต่จะใช้เวลาเรียน 3-4 ปี ปัจจุบันฟินแลนด์มีจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นของรัฐประมาณ 20 แห่ง และมีจำนวนโพลีเทคนิคประมาณ 30 แห่งที่ดำเนินการโดยรัฐบาล เทศบาล และเอกชนค่ะ
 
เกร็ดน่ารู้เพิ่มเติม
ฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากที่สุดในโลก
รายการต่างประเทศที่เข้ามาฉายในช่องทีวีของฟินแลนด์ มักไม่ค่อยมีการพากย์เสียงภาษาฟินแลนด์ จะยังคงพูดภาษาเดิมนั้นๆ แต่จะขึ้นซับไตเติ้ลด้านล่างให้อ่านแทน
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นน้อยมากถึงมากที่สุด
และนี่ก็คือระบบการศึกษาของ ฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาอันดับ 1 ของโลกค่ะ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ก.ค. 16, 15:21

ลูกชายผมเพึ่งขึ้นอนุบาล 1 ครับ ส่วนหลายชายเพึ่งจะขึ้น ป.1

เอา Case หลานก่อนนะครับ เนื่องจากหลานผมเรียนห้อง IEP จึงต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซ้ำกัน 2 ครั้ง คือ เรียนเป็นภาษาไทยครั้งหนึ่ง และเรียนเป็นภาษาอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง (แน่นอนว่า การบ้าน X2 ครับ) วิชาดนตรี ครูให้เด็กจดตามที่ครูเขียนบนกระดาน ยาวประมาณ 3-5 หน้า ตั้งแต่วันแรก อาจจะดูไม่หนักหนานัก แต่อาจารย์ครับ เด็ก ป.1 นะครับ จะเขียนหนังสือได้คล่องขนาดจด 3 หน้ากระดาษได้เลยหรือ ครั้นพอจดไม่ทัน ก็กลายเป็นการบ้านที่ต้องเอาไปคัดลอกต่อที่บ้านให้ทัน เท่ากับมีงานเพิ่ม วิชาพระพุทธศาสนา เด็ก ป.1 ต้องจดเช่นกัน และพบกับคำศัพท์ยากๆ เช่น ประสูติ พระราชบิดา พระเจ้าสุทโธณะ  แคว้นกบิลพัสดุ์ (ซึ่งผมว่า ผมเองยังเขียนไม่ถูกเลยครับ) และเมื่อมีให้จด ก็ต้องมีออกสอบด้วย ผมก็ต้องให้เด็ก ป.1 ท่องคำเหล่านี้ให้ได้ เอ้า พระพุทธเจ้า เดิมมีชื่อว่าอะไร ....... ในความเห็นผม เด็ก ป.1 ควรเรียนรู้คุณธรรมเบื้องต้นมากกว่าที่จะเรียนรู้พระพุทธประวัติครับ

วันหยุดยาวที่ผ่านมา หลายผม มีการบ้านจากโรงเรียนทั้งสิ้น 39 หน้า ตรงหันข้างกับ บทความเรื่องกาณศึกษาของประเทศ Finland ที่ อ. เทาชมพู เล่ามากจริงๆครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ก.ค. 16, 15:53

  อ่านแล้วสงสารสมองน้อยๆมากค่ะ   ถ้าจะแก้ไขจริงๆต้องปฏิรูประบบแบบถอนรากถอนโคน
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ก.ค. 16, 13:44

หลังๆ ไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาเรือนไทยเลย งานสุมหัว เศร้า

สัปดาห์ที่แล้ว รร. ประถมที่ส่งเด็กที่บ้านไปเรียน เรียกประชุมผู้ปกครอง จัดที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ผู้ปกครองไปกันหลายพันคน
ทั้งงานเรียกได้ว่ามีแต่ ผอ. โรงเรียนพูดอยู่คนเดียว  นอกจากเล่าประวัติความสำเร็จและความร่ำรวยของท่าน ผอ.เองแล้ว ก็มีการชี้แจงเรื่องเหตุผลต่างๆ เช่นทำไมต้องเก็บเงินเพิ่มค่าอาหาร
แล้วผอ. ก็วกมาเรื่องหนึ่ง คือเด็ก ป. 6 ต้องเริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่ 7.30 น. จนถึง 16.30 น. และยังขอความร่วมมือว่าอยากให้เรียนพิเศษต่อกับครูจนถึง 17.30 และยังมีติววันเสาร์อีก
แล้วก็สำทับว่า ที่โรงเรียนเน้นวิชาการ ใครไม่เน้นให้ไปเรียนที่อื่น


ก็ระดับผู้บริหารคิดแบบนี้ ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว เรียนกันตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งถึงห้าโมงครึ่ง ครูแต่ละวิชายังอัดการบ้านมาอีกเป็นขนาน
ทุกวันนี้กลับมาบ้านแค่สางการบ้านให้หมดก็สองสามทุ่มแล้ว ไม่ต้องคิดถึงการให้ฝึกแบบฝึกหัดเพิ่มสำหรับการเตรียมสอบเข้า ม.1 โรงเรียนดังๆ หน่อย
แถมเด็กคนอื่นๆ เท่าที่รู้ยังมีเรียนพิเศษกันอีก หลายคนเรียนกันถึงสองสามทุ่ม เสาร์อาทิตย์เต็มวัน


วิธีคิดแบบบ้านเราตอนนี้คืออัดๆๆๆๆๆๆ  พยายามสร้างอัจฉริยะให้ได้
โรงเรียนดังๆ ที่มีเด็กต้องการเข้าเยอะ ออกข้อสอบตามมาตรฐานเด็ก ป.6 ไม่ได้ เพราะคนสอบได้จะเยอะเกินไป ต้องเอาของ ม.3 มาออก พ่อแม่เลยยิ่งต้องเร่งเรียน  เห็นแล้วกลุ้มใจมากครับ


โรงเรียนประถมที่อังกฤษ ไม่มีการจัดลำดับว่าเด็กแต่ละคนสอบได้ที่เท่าไหร่ แต่ใช้เป็นระดับวัดแทน มีมาตรฐานให้ว่าเด็กในช่วงชั้นปีนี้ควรได้ระดับไหน แล้วเด็กแต่ละคนอยู่ในระดับไหน ครูก็จะปรับการสอนหรือแบบฝึกหัดตามเด็กแต่ละคน
ไม่มีการเร่งเรียน ไม่มีโรงเรียนกวดวิชาระดับประถม ไม่มีการบ้านมากๆ ทุกวัน การบ้านมีสั้นๆ สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น  แต่มีหนังสือให้เด็กเอากลับมาอ่านเพื่อฝึกฝนการอ่าน เด็กที่ถึงระดับเลือกอ่านเองได้ จะอ่านหนังสืออะไรก็ได้
การเรียนการสอนไม่มีเร่ง เด็กมีความสุข เข้าเรียนเก้าโมงเช้า บ่ายสามโมงเลิกเรียน  ไม่มีเรียนพิเศษเพิ่ม  อย่างมากพ่อแม่ก็ฝากเด็กไว้ให้เล่นที่โรงเรียน รอพ่อแม่เลิกงานมารับ
โรงเรียนไม่ว่าที่ไหน มาตรฐานสูสีกัน เด็กทุกคนเลือกเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องตื่นตีห้าฝ่ารถติดไปโรงเรียน
นี่ยังไม่ถึงระดับฟินแลนด์  แต่ปรัชญาการศึกษาของเค้า ต่างกับของเรามาก


ระบบการศึกษาตั้งแต่ประถมของอังกฤษอาจดูอ่อน แต่สุดท้ายผลปลายทางระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ถามว่าคุณภาพคนที่จบออกมาของใรได้รับความเชื่อถือมากว่ากัน?
ตอนนี้หมดศรัทธาระบบการศึกษาไทยมาก แต่การเงินฝืดเคือง ก็ต้องปรับให้เด็กของเราอยู่ในระบบ


เอาวิธีการวัดผลการเรียนเด็กอังกฤษมาให้ดู มีแค่บอกว่าแต่ละคนระดับไหน ครูจะตั้งเป้าให้ว่าทุกๆ ปี ควรจะเพิ่มแค่ 2 ระดับย่อยพอแล้ว ไม่มีเกรด ไม่มีลำดับว่าใครเก่งกว่าใคร
เช่นเด็กจบ ป. 5 พ่อแม่อาจจะได้ผลมาว่าครูประเมินการอ่าน 4b เขียน 4c เลข 5c แปลว่าเด็กคนนี้ระดับการอ่านและเลขเหนือว่าเกณฑ์ แต่การเขียนอยู่ในเกณฑ์ จะได้รู้จุดเด่นจุดด้อย


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 19 คำสั่ง