เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 9697 ฮานาโกะ : ช้างไทยขวัญใจชาวญี่ปุ่น
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



 เมื่อ 27 พ.ค. 16, 10:35

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ฮานาโกะ ช้างไทยอายุ ๖๙ ปีได้ล้มลงแล้ว ณ สวนสัตว์อิโนะคะชิระ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจต่อประชาชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ช้างพังฮานาโกะ เป็นช้างไทยที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยเดินทางมาญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๙ (พ.ศ. ๒๔๙๒) เมื่ออายุได้ ๒ ปี และถือเป็นช้างเชือกแรกที่เดินทางมาญี่ปุ่นหลังสงครามโลก จึงเป็นที่รักของสาธารณชนญี่ปุ่นตลอดมา และถือได้ว่าเป็นทูตสันถวไมตรีจากประเทศไทยในญี่ปุ่น


จาก เฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น - 在東京タイ王国大使館

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 11:54

ชื่อ "ฮานาโกะ" (はな子) เคยเป็นชื่อของช้างไทยเพศเมีย ชื่อในภาษาไทยคือ "วันดี" เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ถูกส่งมาญี่ปุ่นโดย กลุ่มเยาวชนแห่งประเทศสยาม เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่าสยามกับญี่ปุ่น วันดีเดินทางมาทางเรือนานนับเดือนกว่าจะมาถึงดินแดนอาทิตย์อุทัยเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาอยู่ที่สวนสัตว์อุเอะโนะ โตเกียว และมีชื่อใหม่ในภาษาญี่ปุ่นว่า "ฮานาโกะ"  ฮานาโกะเชือกแรกล้มเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ ๒๔๘๖ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร้อยเอกสมหวัง สารสาส เห็นว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก มีเด็กโศกเศร้าจำนวนมาก เพราะเป็นกำพร้า อยากเป็นกำลังใจให้ จึงส่งช้างเพศเมียอายุ ๒ ปีที่เลี้ยงไว้ไปญี่ปุ่นด้วยทุนส่วนตัว ช้างเชือกนี้มีชื่อเดิมว่า "คชา" เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐ คชามาถึงท่าเรือโกเบเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๒  และมาอยู่ที่สวนสัตว์อุเอะโนะที่เดียวกับฮานาโกะเชือกแรก

ขณะนั้น คชา ไม่มีชื่อภาษาญี่ปุ่น ผู้ดูแลช้างชาวญี่ปุ่นจึงเรียกชื่อว่า คชาโกะ จนกระทั่งสวนสัตว์อุเอะโนะเปิดโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นร่วมกันตั้งชื่อให้กับช้างไทยเชือกใหม่ คชาโกะจึงได้ชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “ฮานาโกะ” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับช้างไทยที่ชาวญี่ปุ่นรู้สึกผูกพันและล้มไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

"ฮานาโกะ" ขณะมาถึงท่าเรือโกเบ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 พ.ค. 16, 16:31 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 14:01

 เศร้า


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 14:38

ในเวลาใกล้เคียงกับที่ฮานาโกะมาอยู่ สวนสัตว์อุเอะโนะ (恩賜上野動物園) ก็ได้รับช้างอีก ๒ เชือก คือ "อินทิรา" จากอินเดีย และ "จัมโบ้" จากประเทศไทย จัมโบ้มาญี่ปุ่นเมื่ออายุประมาณ ๗ ปี  ช้างทั้งสองเชือกอยู่ร่วมกับฮานาโกะ ก่อนที่ฮานาโกะจะถูกย้ายไปอยู่ในความดูแลของสวนสัตว์อิโนะคะชิระ (井の頭自然文化園)

ฮานาโกะถูกย้ายไปที่สวนสัตว์อิโนะคะชิระ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ ๒๔๙๗ ขณะที่อายุได้ ๗ ปี ตามคำเรียกร้องของเด็ก ๆ ในเขตมิตากะ (三鷹市) และ เขตมุซาชิโนะ (武蔵野市) กรุงโตเกียว ซึ่งต้องการให้ช้างไทย "ฮานาโกะ"มาอยู่ใกล้ ๆ

สวนสัตว์อุเอะโนะไม่เคยขาดช้างไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย ทูลเกล้าฯ ถวายลูกช้างอายุประมาณ ๑ ปีแก่มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และพระราชทานชื่อว่า "แม่น้ำ" และนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์อุเอะโนะ เพื่อนฮานาโกะที่สวนสัตว์อุเอะโนะคือ จัมโบ้ ล้มเมื่อ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๔๓ ขณะอายุได้ ๕๖ ปี ส่วนแม่น้ำล้มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ขณะอายุได้ ๓๘ ปี

หลังจากนั้น ประเทศไทยได้มอบช้างไทยจากจังหวัดสุรินทร์แก่ประเทศญี่ปุ่นอีกสองเชือก ได้แก่ช้างพลาย "อาทิตย์" อายุ ๕ ปี  และช้างพัง  "อุทัย" อายุ ๔ ปี เพื่อเป็นของขวัญวันประสูติเจ้าหญิงไอโกะพระธิดาในมกุฎราชกุมารนะรุฮิโตะ ทั้งสองเดินทางมาพร้อมกันโดยเครื่องบิน ถึงประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

เป็นที่หวังว่าทั้ง อาทิตย์ และ อุทัย คงเป็นตัวแทนขวัญใจชาวญี่ปุ่นแทนฮานาโกะต่อไป   ยิงฟันยิ้ม



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 พ.ค. 16, 18:13 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 15:23

ฮานาโกะ ช้างไทยเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 15:58

ยังมีพี่น้องของฮานาโกะจากเมืองไทยอยู่ในญี่ปุ่นอีกหลายเชือก จากการสำรวจของสถานทูตไทยในญี่ปุ่นเบื้องต้นพบช้างไทยในสวนสัตว์ญี่ปุ่น ๙ แห่งจำนวน ๑๔ เชือก  ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีมากกว่า ๑๔ เชือกก็เป็นได้


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 18:37

เคยไปเยี่ยมช้างฮานาโกะสองสามครั้ง ในช่วงฤดูอากาศร้อนและเย็น ไปยืนดูเขาเคลื่อนไหวและพยายามส่งกระแสจิตคุยกับเขา  เขาดูเหงาๆแบบปลงชีวิต คล้ายๆกับว่าก็ใช้ชีวิตไปวันๆนึง  เขาไม่ถูล่ามโซ่ ไม่มีพันธนาการใดๆ มีคนดูแลอย่างดี   

ที่อยู่ของเขาแยกเป็นส่วนที่เป็นอาคารที่ร่มและบริเวณลานที่สามารถเดินเล่นได้ มีแอ่งน้ำให้ลงอาบได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะลงไปอาบเองได้หรือจะต้องลงไปพร้อมกับผู้ดูแล เพราะที่เห็นมา คล้ายกับว่าเป็นการโชว์อย่างหนึ่ง อาบแต่ไม่ได้แช่เล่นอย่างที่อยากจะทำ   ที่ลานนั้นมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง ไม่ใหญ่ ร่มใบไม่หนาแน่น พอให้ร่มได้แบบเลาๆ  ไม่นานก่อนจะหมดวาระประจำการก็มีโอกาสไปเยี่ยมเขาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ ลานเดินเล่นที่เคยเป็นผืนดินก็เปลี่ยนไปเป็นลานคอนกรีต ต้นไม้หายไปกลายเป็นเสาเหล็กทรงเสาพะเนียด ผืนดินที่เป็นฝุ่นที่พอจะดูดเอามาพ่นตัวก็หายไป อยู่กลางแจ้งแดดแรง เสาเหล็กก็คงจะลื่น จะเกาสีข้างเพื่อเกาที่คันก็ไม่ได้ ลื่นไม่เหมือนกับเปลือกต้นไม้ และแถมเสาเหล็กยังร้อนอีกต่างหาก     ก็ยังส่งกระแสจิตบอกเขาว่าอดทนนะ เพราะปรกติเราก็อยู่ในอาคารที่มีร่มหลังคา จะออกมาก็เป็นช่วงเวลาเท่านั้น

ครับ ก็ทำงานกับช้างมามากพอที่จะเข้าใจชีวิตจิตใจของเขาอยู่บ้างครับ   ฮานาโกะอยู่ในกรงทองมีทุกอย่างและการดูแลที่พร้อมมูลอย่างดีเยี่ยม แต่ความเป็นช้างของฮานาโกะก็หมายถึงว่าเขายังต้องการใครสักคนที่อยู่ใกล้ๆตัวเกือบตลอดเวลา

พ้นทุกข์พ้นกรรมไปแล้วนะเป็นสุขเถิด เราได้ทำหน้าที่เป็นทูตสันทวไมตรีตลอดหลายสิบปีมาอย่างดีเยี่ยมแล้ว
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 20:29

ใครที่เป็นแฟนโดราเอมอน น่าจะคุ้นเคยกับชื่อฮานาโกะดี ซึ่งคงหมายถึงฮานาโกะเชือกแรก  โดยในการ์ตูนเรื่องนี้ มีตอนซึ้งๆ ที่กล่าวถึงฮานาโกะ ที่จะต้องถูกฆ่าระหว่างสงครามโลก สุดท้ายจบอย่าง happy ending โดราเอมอนสามารถพาฮานาโกะกลับมาใช้ชีวิตในป่าแถบๆ นี้ได้ และได้ช่วยลุงของโนบิตะในเรื่อง ซึ่งต่างกับชะตากรรมจริงๆ ของฮานาโกะเชือกแรก 

แต่แค่นี้ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความสำคัญของฮานาโกะในจิตใจคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะอาจารย์ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ได้เป็นอย่างดี


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 พ.ค. 16, 21:26

ผมขอนำเสนอ ความรู้สึกอีกแง่มุมหนึ่งครับ ความว้าเหว่

https://www.thedodo.com/hanako-loneliest-elephant-died-1822133727.html

แท้จริงแล้ว สัตว์ทุกหมู่เหล่า ก็ถูกล้อมไว้ด้วยกำแพงของธรรมชาติแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกัน
ชีวิตกว่าหกสิบปีของฮานาโกะ ทำให้ความจริงข้อนี้แจ่มชัดขึ้นในใจชั่วขณะ ก่อนที่จะลับหายไปด้วยปัจจุบัน

และขอร่วมระลึกถึง ช้างฮานาโกะผู้เป็นที่รัก ต่อผู้พบเห็น ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 พ.ค. 16, 09:53

ใครที่เป็นแฟนโดราเอมอน น่าจะคุ้นเคยกับชื่อฮานาโกะดี ซึ่งคงหมายถึงฮานาโกะเชือกแรก  โดยในการ์ตูนเรื่องนี้ มีตอนซึ้งๆ ที่กล่าวถึงฮานาโกะ ที่จะต้องถูกฆ่าระหว่างสงครามโลก สุดท้ายจบอย่าง happy ending โดราเอมอนสามารถพาฮานาโกะกลับมาใช้ชีวิตในป่าแถบๆ นี้ได้ และได้ช่วยลุงของโนบิตะในเรื่อง ซึ่งต่างกับชะตากรรมจริงๆ ของฮานาโกะเชือกแรก  

เรื่องในการ์ตูนสวยงามสำหรับเด็ก

http://youtube.com/watch?v=rA2tXkzdr-g#ws

แต่เรื่องจริงช่างน่าโหดร้ายเกินกว่าจะยอมรับ

วันดีถูกกำจัด (ฆ่า) พร้อมกับจอห์นและดองกี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (แปลจาก ป้ายหน้าโรงช้างในสวนสัตว์อุเอะโนะ กรุงโตเกียว)

วันดี (อักษรคะตะคะนะใช้ว่า ワンリ บางคนจึงแปลว่า วัลลี) และช้างอีก ๒ เชือกถูกกำจัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยเหตุผลหลัก คือ ในช่วงสงครามประเทศญี่ปุ่นยากจนมาก ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ยังอดอยากหิวโหยหาอาหารกินไม่ได้ แล้วจะเอาอาหารอะไรไปเลี้ยงสัตว์ได้ เหตุผลนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะวันดีเท่านั้น แต่ใช้เป็นเหตุผลกำจัดสัตว์หลายประเภทในสวนสัตว์

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ช้างถูกจัดเป็นสัตว์ดุร้าย เช่นเดียวกับเสือ สิงโต ฯลฯ หากลูกระเบิดตกลงมายังสวนสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ตาม ทำให้สัตว์ดุร้ายเหล่านี้หลุดหนีออกจากกรงไปได้ ก็คงไม่มีใครรับรองได้ว่ามันจะไม่ทำร้ายคน แม้ว่าโดยปกติแล้วช้างจะมีนิสัยอ่อนโยน แต่หากมันตื่นตกใจ ก็อาจกลายเป็นสัตว์ที่ดุร้ายได้ทันที ทางสวนสัตว์จึงกำจัดโดยใส่ยาพิษลงในอาหาร มีเรื่องเล่าว่า ตอนแรกตั้งใจจะฉีดยาพิษเข้าร่างกายเหมือนสัตว์ประเภทอื่น แต่ด้วยความหนาของหนังช้าง ทำให้เข็มฉีดยาไม่สามารถแทงเข้าไปได้ จึงต้องเลือกวิธีใส่ยาพิษลงในอาหาร ซึ่งวันดีและเพื่อนก็เหมือนรู้ชะตากรรมของตนเอง ไม่ยอมกินอาหารที่มียาพิษนั้น ทางสวนสัตว์ต้องใช้เวลาอยู่หลายวันกว่าที่ช้างทั้ง ๓ เชือกจะล้มลงไป ปัจจุบัน ทางสวนสัตว์จัดอนุสรณ์เป็นที่ระลึกให้กับสัตว์ที่เป็นเหยื่อความโหดร้ายของสงครามไว้ด้านหลังโรงช้างนั่นเอง

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยที่ไม่เกิดความเสียหายกับสวนสัตว์เลยแม้แต่น้อย สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเหยื่อของสงครามถูกกำจัดไปเพียงเพราะความหวาดกลัวของมนุษย์ กลัวอดตาย กลัวถูกทำร้าย หากสัตว์เหล่านั้นสื่อสารกับมนุษย์ได้ มันคงอยากบอกว่า แค่อดอาหารมันทนได้ คนยังอดได้ทำไมพวกมันจะอดไม่ได้ ทำไมต้องพรากชีวิตของพวกมันด้วย

จาก บล็อกของคุณพีโกะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 พ.ค. 16, 10:11

ช้างมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติในการปกป้องตัวเองเช่นเดียวกับสัตว์ป่าทั่วไป คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าช้างเป็นสัตว์ป่าที่เป็นน่ากลัวเพราะตัวใหญ่ ที่จริงแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่มีนิสัยตกใจง่าย เมือเห็นหรือรู้สึกถึงสิ่งผิดปกติ จะตื่นกลัว ตกใจ และหวาดระแวงสิ่งรอบตัวตามสัญชาติญาณสัตว์ป่าในการปกป้องตัวเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ในสถานการณ์นี้เองที่อาจเป็นอันตรายแก่คนและสิ่งที่อยู่ใกล้กับช้างหากช้างเข้าใจว่าสิ่งรอบตัวเป็นภัยอันตราย

ฮานาโกะก็เช่นเดียวกัน หลายคนอาจไม่ทราบว่าฮานาโกะที่มีนิสัยอ่อนโยนและคุ้นเคยกับคน เคยทำร้ายคนจนเสียชีวิตถึง ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ฮานาโกะเหยียบคนเมาที่แอบเข้ามาในโรงเลี้ยงช้างตอนกลางคืนเสียชีวิต และในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เหยียบผู้ดูแลช้างเสียชีวิต ไม่มีใครทราบสาเหตุที่ทำให้ฮานาโกะก่อเหตุดังกล่าว อาจเป็นเพราะสัญชาตญาณสัตว์ป่า ที่ทำให้ฮานาโกะตกใจกลัว หวาดระแวง และรู้สึกถึงภัย จนเป็นเหตุให้ทำร้ายคนเพื่อป้องกันตัวเองก็เป็นได้

หลังจากเหตุการณ์รุนแรงทั้ง ๒ ครั้ง สวนสัตว์จึงล่ามโซ่ที่เท้าของฮานาโกะทั้ง ๔ ขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทำร้ายคนอีก รวมทั้งเปลี่ยนจากการดูแลใกล้ชิดเป็นการดูแลผ่านกรงขัง เปรียบเสมือนการลงโทษทำให้ฮานาโกะโดดเดี่ยว ซึมเศร้า และซูบผอมอย่างมาก เป็นที่น่าสงสารแก่ผู้มาชมสวนสัตว์ และมีคนญี่ปุ่นส่งจดหมายถึงสวนสัตว์เพื่อขอร้องให้ดูแลฮานาโกะอย่างดีเช่นเดิม

จนกระทั่ง คิโยโซ ยามาคาวะ (山川清蔵) มารับหน้าที่เป็นคนเลี้ยงช้างคนใหม่ ฮานาโกะจึงกลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยามาคาวะซังเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิด ทุ่มเทเวลาให้ฮานาโกะอย่างเต็มที่ ช่วยให้ฮานาโกะฟื้นฟูสภาพและมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดิม พร้อมทั้งเป็นผลให้ฮานาโกะกลับมาไว้ใจคนอีกครั้ง ความประทับใจในความผูกพันระหว่างคนและช้าง เป็นแรงผลักดันให้บุตรชายของยามาคาวะซังรวบรวมเรื่องราวเป็นหนังสือชื่อ "ฮานาโกะ ช้างที่พ่อรัก" (父が愛したゾウのはな子) ขึ้น และนำเผยแพร่ให้ชาวญี่ปุ่นรับรู้ทั่วกันในปี พ.ศ. ๒๕๔๙



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 พ.ค. 16, 11:14

ใน เฟซบุ๊กของ Akihiro Koki Tomikawa พูดถึงฮานาโกะและยามาคาวะซัง ว่า

หลังจากที่ฆ่าผู้ดูแล ฮานาโกะก็ไม่ค่อยกิน และโมโหง่ายขึ้น แต่ผมก็พอจะเดาความรู้สึกของฮานาโกะได้ครับ ฮานาโกะอยู่ในความมืดมานานว่า "เคยฆ่าคน"  

"ทำไมพวกเขาทำแบบนี้?? ทำไมฉันต้องอยู่เชือกเดียว ??" ฮานาโกะอาจจะคิดแบบนั้น
 
ในเวลาแบบนั้นมีชายคนหนึ่งพูดว่า "ผมจะดูแลฮานาโกะเอง" เขาชื่อ คิโยโซ ยามาคาวะ เขาดูแลฮานาโกะอยู่ ๓๐ ปี

เวลาที่คุณคิโยโซเข้าใกล้ฮานาโกะ เหมือนกับฮานาโกะจะขู่เขา "เข้ามาใกล้อีกนิด ฉันจะฆ่าคุณแล้วนะ...." คนรอบข้างคุณคิโยโซไม่เห็นด้วยที่เขาจะปลดโซ่ที่ล่ามฮานาโกะออก แต่เขาก็ปลดโซ่ที่ล่ามฮานาโกะออก หลังจากที่ได้ดูแลฮานาโกะเพียง ๔ วัน

หลังจากเหตุการณ์นั้นเขาก็ดูแลฮานาโกะด้วยความพยายามอย่างมาก ฮานาโกะมีฟันเพียงซี่เดียว (ฟันของฮานาโกะหักหลุดร่วงเกือบหมดตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ขณะอายุเพียง ๓๔ ปี)  เขาจึงต้องตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ในทุก ๆ วัน เขาต้องให้อาหารฮานาโกะ ๔๐-๕๐ กิโลกรัม ซึ่งเป็นงานที่หนัก เวลาที่ฮานาโกะมีอาการท้องผูก เขาก็จะพยายามนวดท้องให้ฮานาโกะด้วยศีรษะของเขา

คุณโคจิ ลูกชายคุณคิโยโซ (คุณโคจิจะเป็นพี่เลี้ยงฮานาโกะคนต่อไป) กล่าวว่า

"เราไม่มีความทรงจำการไปเที่ยวของครอบครัว ไม่มีความทรงจำของการเล่นกับพ่อ พ่อคิดถึงฮานาโกะก่อนเสมอ"

หลังจากที่คุณคิโยโซดูแลฮานาโกะมา ๖ ปี ฮานาโกะก็ไว้ใจเขามากขึ้น
 
"ช้างที่ฆ่าคน" กลายเป็นเป็นลูกสาวคุณคิโยโซเพียงแค่ ๖ ปี ฮานาโกะยังสามารถเป็นไอดอลของสวนสัตว์อีกด้วย
 
ถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลที่สวนสัตวอิโนะคะชิระจะทำงานหนักเพื่อฮานาโกะ ฮานาโกะก็มีอายุมากกว่าอายุขัยเฉลี่ย ๘ ปีแล้ว อาจจะดูลำบาก แต่สวนสัตว์อิโนะคะชิระก็ดูแลฮานาโกะอย่างเต็มความสามารถ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 พ.ค. 16, 13:37

โคจิ ยามาคาวะ (山川宏治) ลูกชายคิโยโซ ยามาคาวะ (山川清蔵) รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลฮานาโกะต่อจากบิดา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 31 พ.ค. 16, 13:54

จากช้างน้อยวันนั้นพลันเติบใหญ่
เป็นขวัญใจเหล่าชนคนญี่ปุ่น
เชื่อมสัมพันธไมตรีดีกว่าคน
ไปสู่หนสุคตินิรันดร์เทอญ


ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก ช้างไทยในญี่ปุ่น ในเว็บสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 31 พ.ค. 16, 14:22

สัตว์ดุร้ายที่เติบโตในสวนสัตว์ ไม่ว่าช้าง เสือ ลิงกอริลลา ฯลฯ   ถ้าหากว่าปล่อยมันกลับคืนสู่ธรรมชาติ   มันจะมีเปอร์เซ็นต์รอดสักแค่ไหนคะ
หรือว่าจะเป็นอย่างเจ้าบุญรอดของคุณนวรัตน  ที่ยังไงเปอร์เซ็นต์ไม่รอดก็มีมากกว่ารอด

ถามคุณหมอเพ็ญ เพราะนึกขึ้นมาได้ว่าถ้าป้าฮานาโกะ  ถูกปล่อยเข้าป่าไทยเสียตั้งแต่ยังเป็นสาวน้อยวันดี   เธอจะรอดไหม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง