เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 61632 พืชผลชื่อ มะ.... กับเมนูทำกิน
กะออม
พาลี
****
ตอบ: 222


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 08 มิ.ย. 16, 14:23

มะรุม แม้ว่าทำอาหารได้ไม่กี่อย่าง เห็นแต่แกงส้ม แต่สรรพคุณท้้งต้นใบดอกรากฝักมากมาย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 08 มิ.ย. 16, 18:37

คนเหนือเรียก "มะรุม" ว่า "มะค้อนก้อม"

ใช่ครับ ฝักมะรุม เอามาทำอาหารกันอยู่เพียงเมนูเดียวคือ แกงส้ม แล้วก็ต้องแกงกับปลาเกล็ดอีกด้วย จะหั่นปลาใส่เป็นท่อนๆก็ได้ หรือจะต้มปลา (โดยเฉพาะปลาช่อน) แล้วแกะเอาแต่เนื้อโขลกรวมไปในน้ำพริกก็ได้  อย่างแรกได้น้ำใส อย่างหลังได้น้ำข้น บางท่านก็เลยแบ่งปลาทำให้แกงเป็นกึ่งน้ำข้นแต่มีเนื้อปลาเป็นชิ้นๆใส่อยู่ด้วย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 08 มิ.ย. 16, 19:02

มะรุมมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมาย สามารถใช้ได้ทุกส่วนของต้น ซึ่งคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว 

แต่ผมคิดว่ามีการใช้ที่ไม่น่าจะทราบกันนักอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ เอายอดอ่อน (สด) ขนาดกำย่อมๆ รูดใบใส่ในเครื่องปั้น ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียดแล้วดื่ม วันละแก้ว  ครับ สำหรับคนไข้ฉายแสงรักษาโรคมะเร็งที่มีผลกระทบต่อการกินอาหาร  ช่วยบรรเทาอาการดื่มกินที่ไม่สะดวกได้มากเลยทีเดียว    เช่นเดียวกับการใช้มะระ ขูดใส้ออก ใส่เครื่องปั่นกินสดๆ ไม่ขมหรอกครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 08 มิ.ย. 16, 19:33

คุณ warisa กล่าวถึง "มะข่วง"   

ขอบคุณครับ ได้ช่วยขุดความทรงจำเกี่ยวกับเครื่องหอมตระกูลนี้  ทำให้ผมนึกออกเลยว่า  ฤๅ..มะแขว่น พริกหอม และพริกพรานนั้น  น่าจะเป็นชื่อเรียกพืชผลที่ต่างสายพันธุ์กันจริงๆ   มะแขว่น มีเม็ดสีดำมันลูกเล็กๆขนาดประมาณ 1-2 มม. พริกพราน มีเม็ดขนาดประมาณเดียวกัน (ออกไปทางใหญ่กว่า) แต่ไม่ดำมัน สีออกไปทางด้านๆและมีกลิ่นหอมฉุนน้อยกว่า   และพริกหอม มีขนาดผลใหญ่ เม็ดในก็ใหญ่กว่า และมีสีออกไปทางโทนน้ำตาลแดงเข้ม มีกลิ่นหอมฉุนน้อยที่สุด   

มะข่วง น่าจะเป็นชื่อเรียกในอีกชื่อหนึ่งของ พริกหอม ครับ

นักพฤกษศาสตร์ มีความเห็นว่าอย่างไรครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 08 มิ.ย. 16, 20:20

ย้อนกลับเรื่อง มะระ     

มะระตุ๋นซี่โครงหมู ของโปรดของคุณเพ็ญชมพู   ก็เช่นเดียวกันครับ   

ผมชอบมะระ ไม่ว่าจะเป็นมะระขี้นก หรือมะระจีน หรือมะระญี่ปุ่น (โอกินาวา)   จะกินดิบ จะต้ม จะแกง จะตุ๋น จะผัดไข่ ฯลฯ  อร่อยทั้งนั้น รวมทั้งยอดมะระด้วย 
บันทึกการเข้า
warisa
อสุรผัด
*
ตอบ: 30


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 08 มิ.ย. 16, 21:35

ออกเสียงว่า มะแลบ แต่สะกด มะแหลบ เป็นทั้งเครื่องเทศและสมุนไพร   หากใช้เป็นเครื่องยาจะเรียกว่า เทียนตาตั๊กแตน

มะแหลบเป็นหนึ่งในสามของเครื่องเทศ (มะแขว่น มะแหลบ ดีปลี) ที่ใช้ในการทำลาบแบบภาคเหนือ ที่เรียกว่า พริกลาบ (เครื่องปรุงรสลาบของภาคเหนือ)   ผมไม่มีความรู้ว่า มีการใช้มะแหลบในอาหารเหนืออื่นๆอีกหรือไม่ นอกเหนือไปจากการใช้ในการทำเมนูลาบ ??

ในทางสมุนไพร เทียนตาตั๊กแตน เป็นหนึ่งในพิกัดเทียนหลักในตำรายาสมุนไพร 
มะแหลบ...จะตำใส่พริกแกงเหนือได้ทุกอย่างค่ะ...ถ้าแกงเหนือสูตรดั้งเดิมจะใส่มะแหลบลงไปด้วยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เช่น แกงแคกบ แกงผักกาดใส่ไก่ แกงหน่อไม้ แกงขนุนใส่ปลาแห้ง แต่ไม่เคยเห็นใส่มะแขว่นหรือมะข่วงลงในแกงพวกนี้นะคะ...
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 09 มิ.ย. 16, 09:57

มะแขว่น กับ มะข่วง ไม่แน่ใจว่าชนิดเดียวกันหรือเปล่า
มะข่วง น่าจะเป็นชื่อเรียกในอีกชื่อหนึ่งของ พริกหอม ครับ

นักพฤกษศาสตร์ มีความเห็นว่าอย่างไรครับ  

ไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์ แต่พอหาข้อมูลได้ว่า มะแขว่น มะข่วง และพริกหอม เป็นพืชชนิดเดียวกัน  และมีอีกหลายชื่อคือ มะแข่น, หมักข่วง, หมากมาศ, ลูกระมาศ, กำจัดต้น  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Zanthoxylum rhetsa (Roxb.) DC. [ชื่อพ้อง Zanthoxylum limonella (Dennst.) Alston]

ข้อมูลจาก กลุ่มงานหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้

ภาพผลและเมล็ดแห้งจาก ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 09 มิ.ย. 16, 11:34

มะแขว่น


มะแขว่นที่นำมาใส่ในอาหารนั้นเป็นมะแขว่นตากแห้ง สีสันไม่น่าดูเท่ากับมะแขว่นสดที่เห็นตามภาพของ อ.เทาชมพู    

ผมไม่แน่ใจว่ามีเมนูอาหารที่ใช้มะแขว่นสดหรือไม่ ??

ในหนังสือชีวิตในวัง หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์เล่าว่าเอาลูกมะมาดสด (มะมาด = มะแขว่น) ใส่ในส้มตำ รสเปรี้ยวจนตาเหล่  ยิงฟันยิ้ม

ชีวิตในวังเล่มหนึ่ง หน้า ๑๙๑  ความว่า

" ....... ลุกขึ้นมาพบพี่หละนั่งหน้าตาอิดโรยอยู่บนแคร่หน้าเรือน
ข้าพเจ้าจึงถามว่า  "อดนอน ทำไมไม่นอนให้เต็มอิ่ม"
พี่หละว่า      " นอนได้ที่ไหน ท้องเดินวิ่งขี้ทั้งคืน ......เมื่อคืนกินส้มตำลูกมะมาดกับข้าวตังทอด มันคงจะเผ็ดมากไป ทำให้ท้องเดินทั้งคืน"


ชีวิตในวังเล่มสอง หน้า ๙๙ ความว่า  (ตอนที่พากันอยากกิน ส้มตำกับข้าวตังปิ้ง)

" พวกเรามีตั้งหลายคนออกกันคนละหนึ่งสตางค์ เดี๋ยวก็ได้กินข้าวตัง แต่ข้าพเจ้าไม่ออกนะ เพราะไม่มีสตางค์เลย แต่จะออกแรงเป็นคนไปซื้อให้  แล้วจะเก็บลูกมะมาดต้นข้างกรงไก่มาใส่ส้มตำ เปรี้ยวดีนัก กินแล้วตาเหล่เชียว......."

นอกจากนี้ผลสดก็ยังใช้ทำอาหารประเภทอื่นได้ด้วย

มะแขว่นดิบนั้นปกติเป็นลูกเล็กพวงสีเขียว ทางภาคเหนือใส่ผลดิบ (หรือสด) ใส่ในแกงผักกาด หรือบางทีใส่แกงอ่อมไก่สีแดงๆ เคยฟังเพื่อนคนลาวที่เรียนอยู่ด้วยกันเรียกว่า "หมากมาด"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 09 มิ.ย. 16, 12:47

ถ้าบอกว่าหมากมาดละก็รู้จักค่ะ   เป็นส่วนประกอบในตำราน้ำพริกโบราณ

https://www.facebook.com/ohhkhunpra/posts/1598942086999749

คุณหญิงสุริยา รัตนกุล เล่าไว้ในเรื่องสั้นว่า ลูกหมากมาดใส่ในน้ำพริกเผาด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 09 มิ.ย. 16, 19:17

เปิด net หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องหอมที่เรียกชื่อ มะแขว่น มะข่วง หมากมาด พริกหอม ฯลฯ    ไปพบ page ที่น่าสนใจ

(http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_ingredient.php?id_ingredient=220) หัวข้อสุดท้าย_เคล็ดลับในการเลือก_ ได้กล่าวว่า "ผลมะแขว่นจะคล้ายกับผลมะขวงมาก แต่มะแขว่นจะมีกลิ่นหอมกว่ามะขวง"   

ก็น่าจะแสดงว่า ผู้คนที่นิยมใช้เครื่องเทศกลิ่นนี้ในชีวิตประจำวันเขาเห็นว่า  มะแขว่น กับ มะข่วง มีความต่างกัน จึงเรียกชื่อต่างกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 09 มิ.ย. 16, 19:34

ที่คุณเพ็ญชมพู ได้ยกข้อความจากหนังสือของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ที่ได้เล่าว่า เอาลูกมะมาดสด ใส่ในส้มตำ รสเปรี้ยวจนตาเหล่

ก็น่าสนใจมาก ที่ลูกมะมาดสด ซึ่งหมายถึงลูกมะแขว่นสดนั้น ออกรสเปรี้ยวจัด  แต่เมื่อแก่จัด(หรือแห้งแล้ว)กลับออกรสเผ็ด(หรือร้อน)ซ่า  ฤๅ..ที่เรียกว่ามะมาดนี้เป็นพืชผลอีกชนิดหนึ่ง ??
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 09 มิ.ย. 16, 20:42

ก็มีอีกมะ..หนึ่งที่น่าจะสับสนอยู่ คือ มะตาด ซึ่งข้อมูลต่างๆจะบอกว่าเป็นต้นเดียวกันกับ ส้าน   แต่มันดูจะต่างกันทั้งต้น ทั้งลูก ทั้งใบ   

เป็นไม้ใน genus เดียวกันแต่คนละ species แน่ๆ  ดังนั้นชื่อที่ชาวบ้านเขาแยกเรียกนั้นจึงน่าจะถูกต้องแล้ว       
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 10 มิ.ย. 16, 09:58

ที่คุณเพ็ญชมพู ได้ยกข้อความจากหนังสือของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ที่ได้เล่าว่า เอาลูกมะมาดสด ใส่ในส้มตำ รสเปรี้ยวจนตาเหล่

ก็น่าสนใจมาก ที่ลูกมะมาดสด ซึ่งหมายถึงลูกมะแขว่นสดนั้น ออกรสเปรี้ยวจัด  แต่เมื่อแก่จัด(หรือแห้งแล้ว)กลับออกรสเผ็ด(หรือร้อน)ซ่า ฤๅ..ที่เรียกว่ามะมาดนี้เป็นพืชผลอีกชนิดหนึ่ง ??

พืชในสกุล (genus) Zanthoxylum อยู่ในวงศ์ (family) Rutaceae สมาชิกในวงศ์นี้ผลมีรสเปรี้ยวเช่น ส้ม มะนาว

ลองค้นใน คลังปัญญาจุฬาเพื่อประเทศไทย (Chulalongkorn University Intellectual Repository - CUIR) พบว่า มีพืชที่เรียกว่า "มะมาด" อีกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum acanthopodium DC. ผลมีรสเปรี้ยวเช่นกัน

ภาพผลมะมาดโดยการเอื้อเฟื้อของ คุณวิกกี้


บันทึกการเข้า
กะออม
พาลี
****
ตอบ: 222


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 10 มิ.ย. 16, 09:59

จำได้ว่าเคยมีตำรับน้ำพริกหมากมาด ตอนนี้ยังหาไม่พบว่าอยู่ในเล่มไหน

มะ.. อื่น ยังมีอีกคือมะไฟ เป็นผลไม้ไม่เคยเห็นใส่ในอาหาร ตอนนี้กลายเป็นผลไม้ล้าสมัย

ทางใต้มีผลไม้ชนิดหนึ่ง รสชาติคล้ายมะไฟ ลูกโต ๆ เรียกว่า ลำแข

คิดถึงทางใต้แล้วก็ให้นึกถึง มะมุด ด้วย คล้ายมะม่วง แต่เวลาปอกเปลือกต้องปอกควั่นเป็นวง

แล้วเฉือนเนื้อตามขวางขึ้นไป รสชาติคล้ายมะม่วงแต่ฉุนกว่ามาก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 10 มิ.ย. 16, 11:26

https://www.facebook.com/ohhkhunpra/posts/1598942086999749

น้ำพริกโบราณที่จะแนะกันในวันนี้ เป็นน้ำพริกที่เดินทางไกลมาจาก "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"และเข้าสู่แผ่นดินสยามในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง โดยสายใยพันผูกระหว่างแผ่นดินสยามกับล้านนาเรียงร้อยขึ้นนับตั้งแต่ครั้ง เจ้าดารารัศมี ธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ เสด็จมา ทรงรั้งตำแหน่งพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมด้านอาหารการกินของล้านนาให้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในพระราชสำนักเมืองใต้ ที่ว่าเป็นที่นิยมอย่างมากนั้น เพราะน้ำพริกนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 โปรดให้เป็นเสบียง ครั้งเสด็จประพาสยุโรปด้วยนั่นเอง "น้ำพริกมะหมาดมาด" น้ำพริกโบราณที่โดดเด่นด้วยส่วนผสมพิเศษ คือ มะหมาดมาด หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ มะแขว่น เครื่องเทศชาวเหนือ มีกลิ่นหอม รสปร่าลิ้น เวลาใช้จะต้องคัดเม็ดสีดำเล็กๆออกจากเปลือกมะแขว่นก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความเอาใจใส่พิถีพิถันเป็นพิเศษทีเดียว และแหล่งของมะแขว่นที่ดีที่สุดต้องมาจาก ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน
มาดูเครื่องปรุงกันดีกว่าเริ่มจาก
พริกชี้ฟ้าแห้งบางช้าง 10 เม็ด กระเทียมเล็ก 2 ช้อนโต๊ะ หอมแดงไทยเจียว 1/4 ถ้วย มะแขว่นคั่วโขลกละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ ปลาเนื้ออ่อนย่างจนกรอบโขลกละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ เนื้อมะขามเปียกสับ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ น้ำเคยดี 2 ช้อนโต๊ะ

มาดูวิธีทำกัน พริกชี้ฟ้าแห้งตัดเป็นท่อนสั้นแช่น้ำจนนิ่ม เอาขึ้นให้สะเด็ดน้ำ ตั้งกระทะคั่วให้หอม จามกันจมูกแดงเป็นใช้ได้ตักขึ้นลงครกหินโขลกให้ละเอียดทันที ตักขึ้นพักไว้ ใส่กระเทียมเจียวและหอมเจียวลงโขลกต่อ ตามด้วยมะแขว่นที่คั่วโขลกรอท่าไว้แล้ว ต่อด้วยปลาเนื้ออ่อน โขลกเคล้าให้ทุกอย่างเข้ากันเป็นเนื้อเดียว เรียบร้อยก็ใส่พริกชี้ฟ้าที่โขลกแล้วลงไป จากนั้นหันไปละลายมะขามเปียกด้วยน้ำเคยดีในหม้อขึ้นตั้งไฟใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไปด้วย การทำเช่นนี้จะทำให้สามารถเก็บน้ำพริกได้นานขึ้นอีกเป็นเดือนทีเดียว(ภูมิปัญญาของคนโบราณแท้ๆ ช่างคิดหาหนทาง ลองผิดลองถูก) เมื่อเคี่ยวกันได้ที่ก็นำลงไปใส่ครกที่โขลกน้ำพริกค้างไว้อยู่ โขลกเคล้าคลึงให้ทุกอย่างเข้ากันดีจนน้ำพริกขึ้นเงาสวย ชิมรสให้ได้เค็มนำ ตามด้วยเปรี้ยวและหวาน ได้ตามนี้...ก็พร้อมรับประทานกันได้
รับประทานคู่กับผักสด อย่างแตงกวา ยอดกระถิน มะเขือเปราะ มะเขือม่วง กะหล่ำปลี...ผักลวก อย่าง ยอดฟักทอง ฟักทอง ดอกแค ถั่วฝักยาว บวบเหลี่ยม บวบงู ผักคันเถิง หน่อซาง ผักเชียงดา เครื่องแนมเป็น ปลาช่อนแดดเดียวทอดหรือย่างก็ได้ เพียงเท่านี้ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ กับน้ำพริกกลิ่นหอมยั่วยวนชวนกิน ชวนหิว ก็ช่วยให้คุณเจริญอาหารในมื้อพิเศษนี้ได้อย่างมีสุขภาพดี และที่สำคัญ จะได้ทราบว่าน้ำพริกนี้มีดีอย่างไร ทำไมถึงได้มีโอกาสตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงประพาสอีหรอบด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.112 วินาที กับ 20 คำสั่ง