เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
อ่าน: 31039 อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เทพกร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 142



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 12 พ.ค. 16, 18:30

ภาพบางส่วนจากหนังสือครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 13 พ.ค. 16, 14:32

เพียงแต่มนุษย์จะรู้จักตายอย่างมีประโยชน์
ตายเพื่ออยู่อย่างอมตะ
แทนการอยู่ที่ไร้ความหมาย เหมือนตายแล้วทั้งเป็น


นิด นรารักษ์
ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หนังสือเพียงแค่เม็ดทราย

พิธีปลงศพ เออเชนี ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี) ณ วัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ

ภาพจาก เว็บอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 13 พ.ค. 16, 21:15

หวังว่าพิธีปลงศพอาจารย์ประคิณ  คงดำเนินไปอย่างน่าประทับใจ
ของที่ระลึกก็น่าจะประทับใจมากเช่นกันค่ะ

มาต่ออีกนิดนิดหนึ่งถึงบทกวีของอาจารย์
หลายบทล้วนเป็นผลงานของอุชเชนีทั้งสิน
อยากจะยกคำกลอนสั้นๆ ของ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา
ที่ประพันธ์ร่วมกับอาจารย์ระวี ภาวิไล
นั่นก็คือ



ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2517

ตัวเองมีความผูกพันกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ
จำได้ว่าตอนนั้นยังอยู่ มัธยมปลาย
อาจารย์ภาษาไทยได้ให้ทุกคนลองนำเสนอ วิธีการบอกลารักและอย่าลืมซึ่งกัน
ซึ่งแต่ละคนก็มีท่วงทำนองภาษา ลีลา แบบเด็กๆ คิคุ อะโนเนะ ตามภาษาวัยรุ่น

แล้วอาจารย์ก็อ่านกวีบทหนึ่ง

"บรรณาการแห่งข้าขลาดเกินกว่าจะเรียกร้องให้เธอรำลึกถึง
และเพราะเหตุนี้ เธอจึงอาจจดจำมันได้

ตัดชื่อข้าทิ้งจากบรรณาการนั้น หากเป็นภาระที่หนักเกิน
แต่โปรดเก็บรักษาบทเพลงของข้าไว้"

อึ้งเลยค่ะ ถามอาจารย์ว่ามาจากหนังสือเล่มไหน
แล้วก็พบปก หิ่งห้อย ฉบับที่เอามาให้ดู
ขอยืมอาจารย์นำมาคัดลอกใส่สมุดของตัวเองอยู่พักหนึ่ง แล้วท่องจำขึ้นใจ

จนถึงปัจจุบันพอมีตังค์บ้างก็ซื้อเก็บไว้หลายเล่ม
แจกจ่ายเพื่อนฝูง

ลักษณะของกลอนเป็นคำสั้นๆ กระชับ(แบบนักวิทยาศาสตร์)
แต่การเลือกใช้เอื้อนถ้อยที่สวยงามและมีจังหวะ ลีลา(แบบนักอักษรศาสตร์)
ทำให้ หิ่งห้อย เป็นการเดินทางที่สมบูรณ์จากสองฝั่งศิลป์
บางช่วงเหมือนบทกล่อม
บางช่วงก็เป็นเหมือนบทสวด
บางช่วงก็เป็นเหมือนไฮกุ

อ่านเสร็จแล้ว ต้องเปิดเพลงนี้



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 14 พ.ค. 16, 14:47

อุชเชนี



'ขนานนาม-อุชเชนี'
กำหนดมีก่อนเกิดกำเนิดฉัน
กวีสตรีวลีรสจดจำนรรจ์
ปรากฏบทประพันธ์ผ่านพจน์เพียร

'ถือหนังสือ-อุชเชนี'
'เพียงเห็นเธอ' แทบวิธีที่อ่านเขียน
'สูงขึ้นไป' 'ก้าวไป' แรงใจเรียน
'รอยจารึก' นวลเนียนเทียนประกาย

'ท่องกลอน-อุชเชนี'
'อยู่เพื่ออะไร' ชี้มีความหมาย
'ก้าวเธอยังก้องปถพี' ภาย
'ในนิมิต' ทั้งหลาย 'ใต้โค้งสะพาน'

'หยัดอยู่สู้โลกพาลา
จนกว่าอรุณรุ่งราง' ฉาน
แสงทองส่องแต้มแก้มกาล
ขับขานสนธยาอรุโณทัย



คือน้อยนิดเนิ่นนานกาลหนึ่งนั้น
คือจริงฝันดีงามสยามสมัย
คือลิขิตจิตวิญญาณบันดาลใจ
คือดอกไม้ผลิถ้วนสวนศรัทธา

คือประโลมปลุกประเลงเพลงพิสุทธิ์
คือมนุษยชาติใช้ใจภาษา
คือ 'หิ่งห้อย' พร้อยแพร้วแววชีวา
คือดวงตาพิเศษศิลปิน

คือคำร้องทำนองของอักษร
คือสายทางสุนทรของวรรณศิลป์
คือสายธารกาลเวลาของฟ้าดิน
คือยลยินเมืองทิวาทุ่งราตรี

คือ 'ขอบฟ้าขลิบทอง' ของคิดถึง
คือคำนึง 'เพียงแค่เม็ดทราย' วิถี
คือ 'ดาวผ่องนภาดิน' ของยินดี
คือ 'ประคิณ' 'อุชเชนี' 'กวีนิพนธ์'

ไพวรินทร์  ขาวงาม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)
พุทธศักราช ๒๕๕๘
เสาร์ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 19 พ.ค. 16, 11:16

กลอนบทนี้อุชเชนีเขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ยังคงทันสมัยอยู่จนปัจจุบัน

ความคิดอิสระ

เพื่อนใจ
ฝันทำไมถึงทุ่งหญ้าสุดตาโพ้น
ฝันทำไมถึงรวงโรจน์อันโชติโชน
ฝันทำไมถึงไม้โอนโยนกิ่งไำกว

เขียนทำไมถึงอรุณอันอุ่นอก
เขียนทำไมถึงนกผกไถล
เขียนทำไมถึงลีลาผกาไพร
เขียนทำไมถึงธาราซ่าซ่าเย็น

นาครธรรมล้ำเลื่องรุ่งเรืองกว่า
เพียงเธอกล้าวาดวางอย่างเราเห็น
ปราสาทแก้วแวววรรณกลางจันทร์เพ็ญ
กับตึกเด่นโดดฟ้าท้าพระพาย

อุทยานปานชะลอมาล่อหล้า
จากฟากฟ้าสุดซึ้งตรึงตาหลาย
ผกาเพ้อเผยอดอกออกเรียงราย
กลีบกระจายเกลื่อนหอมย้อมปถพี

ขอบใจ
ที่ห่วงใยดื้อดึงมาถึงนี่
นาครธรรมล้ำเลื่องเรืองรูจี
เห็นไม่มีวันซึ้งเข้าถึงกัน

อันความคิดอิสระใคร่ผละโผน
กระเจิงโจนจากกรอบและขอบขัณฑ์
สู่ทุ่งกว้างกลางแจ้งแสงตะวัน
บ่มความฝันเฟื่องฟ่องละล่องไกล

ลมพัดผ่านหวานหวิวละลิ่วลิบ
ดังได้จิบอมฤตสนิทใส
จินตนาการคล้อยเลื่อนลอยไป
แมกเมฆมุ่นอุ่นละไมในฟ้าคราม

อิสรภาพวาบวิไลกว่าใดอื่น
สุดจะฝืนมอบไปให้ใครหยาม
ถึงยากดีมีจนใช่คนทราม
ยอมกราบงามขายงานวิญญาณตน
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 19 พ.ค. 16, 14:36

คำบอกเล่าของ สิงห์สนามหลวง (ตัวเป็นๆ)  อดีตทีมงาน นิตยสารโลกหนังสือ
ในคอลัมน์ ประชาชื่น มติชนออนไลน์

"อาลัย ‘อุชเชนี’ และบทกวีที่มีเพื่อเพื่อนมนุษย์"
http://www.matichon.co.th/news/140594
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 19 พ.ค. 16, 14:56

"อาลัย ‘อุชเชนี’ และบทกวีที่มีเพื่อเพื่อนมนุษย์"
http://www.matichon.co.th/news/140594

บทสรุปของ คุณพิมพ์ชนก พุกสุข ผู้เขียนบทความนี้ น่าสนใจ


งานของอุชเชนีนั้นอยู่ข้ามพ้นกาลเวลามาหลายยุคสมัย ผ่านทั้งความยินดีและความขมขื่นของบ้านเมืองในวันที่บรรยากาศหม่นมัว และลมฝนอันกระโชกแรงต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม

และยังคงเป็นบทกวีที่ให้ความหวังที่จะเห็นสิ่งที่ดีกว่าในบ้านเมือง

เพื่อสักวันหนึ่ง เราจะได้เห็นเส้นรุ้งและแสงทองที่ขลิบขอบฟ้านั้นอย่างเท่าเทียมกัน

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 21 พ.ค. 16, 14:52

อย่างวิคตอร์ ฮูโก ก็ศตวรรษที่ 19 ก็โค้งเคียวเรียวเดือนนี่แหล่ะค่ะ
ฮูโกเขาเขียนเอาว่า  “ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า”
 ดิฉันก็เขียนว่า “โค้งเคียวเรียวเดือน”
ดิฉันก็บอกว่านี่มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ถึงกับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรใช่ไหม

มีอีกหนึ่งวรรคทองที่อุชเชนีอาจนำมาจากบทกวีของวิกเตอร์ ฮูโก

ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก
ก้าวไปแม้โชคดับสูญ
ก้าวไปแม้ไร้คนทูน
ก้าวไปแม้พูนคนชัง


วิกเตอร์ ฮูโก Victor Hugo (1802-1885) กวีชาวฝรั่งเศส ได้เขียนถึงบทบาทของกวีไว้ตอนหนึ่งในบทกวีชื่อ Fonction du poete ในหนังสือรวมบทกวีชื่อ Les Rayons et les Ombres (1840) ดังนี้

Le poète en des jours impies
Vient préparer des jours meilleurs.
ll est l'homme des utopies,
Les pieds ici, les yeux ailleurs.
C'est lui qui sur toutes les têtes,
En tout temps, pareil aux prophètes,
Dans sa main, où tout peut tenir,
Doit, qu'on l'insulte ou qu'on le loue,
Comme une torche qu'il secoue,
Faire flamboyer l'avenir !


จิตร ภูมิศักดิ์ถอดความไว้ว่า

กวี ภายใต้วันคืนอันอัปลักษณ์เช่นนี้
ย่อมจักแผ้วทางไว้เพื่อวันคืนอันดีกว่า
เขาคือบุรุษแห่งยุคสมัยของความใฝ่ฝัน
ตีนทั้งสองเหยียบยืนอยู่  ณ  ที่นี้
ตีนทั้งสองเพ่งมองไปเบื้องหน้าโน้น
เขานั่นเทียว โดยไม่คำนึงถึงคำประณามและเยินยอ
เปรียบเสมือนผู้ทำนายวิถีแห่งอนาคต
จักต้องกระทำสิ่งที่จะมาถึงให้แจ่มจ้า
เสมือนหนึ่งโคมไฟในมืออันอาจรองรับสรรพสิ่งของเขา
ซึ่งกวัดไกวจ้าอยู่เหนือศีรษะของมวลชนทุกกาลสมัย


ขออนุญาตสรุปความเป็นบทกวีดังนี้

เพื่อแผ้วถางทางที่อันดีกว่า
ไม่นำพาคำเยินยอฤๅเย้ยหยัน
ถือโคมฉายส่องสว่างพร่างพรายพลัน
เป็นเช่นนั้นคือ "นิยามนามกวี"


นามปากกาหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์คือ "ทีปกร"  อันหมายถึง "ผู้ถือดวงประทีป"  ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของฮูโกบทนี้เช่นกัน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 05 มิ.ย. 16, 08:01

มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม

มิช้าฟ้าสางรางรอง

เพื่อนรัก
หนาวนักเหนื่อยเหน็บเจ็บหรือ
หลับเถิดลมร้ายรายระบือ
หวีดหวือเวียนใจใกล้แล้ว

ขลุ่ยครวญหวนโหยโรยล่อง
ทั่วท้องทุ่งธารลานแก้ว
หลับเถิดดาวรุ่งพุ่งแพร้ว
วาดแววหวังวับจับฟ้า

โลกนี้แสนคับอับเฉา
มือเจ้าวางบนมือข้า
พอแล้วหลับเถิดแก้วตา
มิช้าฟ้าสางรางรอง

สาดแสงแรงรักหลักโลก
คลายโศกทุกข์เศร้าเราสอง
หลับเถิดรักเจ้าราวทอง
ผาดผ่องใจจนล้นมี

แดนดินถิ่นดำคล้ำมืด
ชาชืดเฉาใจใคร่หนี
หลับเถิดรักกล้าข้านี้
จักคลี่แสงคลุมคุ้มกัน

ความหวังฝังไว้ในดาว
ในหาวห้วยไม้ไพรสัณฑ์
หลับเถิดกว่าแสงตะวัน
เฉิดฉันแฉกฟ้าร่าเริง

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 13 มิ.ย. 16, 09:26

จากคุณชูวงค์  ยิงฟันยิ้ม

   ท่านอาจารย์อุชเชนี เป็นกวีอีกท่านหนึ่งที่ผมบูชาครับ และหนังสือ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ของท่าน ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือดีหนึ่งในหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน เสียดายครับอาจารย์ ผมเสียดายตรงที่หนังสือกวีนิพนธ์อีกเล่มหนึ่งของท่าน คือ “ดาวผ่องนภาดิน” กลายเป็นหนังสือหายากไปเสียแล้ว ผมเองก็หมดสิทธิ์ครอบครองครับ เพราะตามแสวงไม่พบเลย

   มีข้อสังเกตประการหนึ่ง นั่นคือ ท่านอุชเชนีนั้น นอกจากจะเป็นมือกลอนแล้ว ท่านยังเป็นมือฉันท์ชั้นครูอีกด้วย ใน “ขอบฟ้าขลิบทอง” แม้งานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นกลอน แต่ก็พบฉันท์จำนวนหนึ่ง ขณะนี้ผมอยู่ที่ทำงานครับ เลยมิได้นำหนังสือเสียงเรื่องขอบฟ้าขลิบทองติดตัวมา ถึงกระนั้น ก็ขออนุญาตเขียนถึงบทกวีชื่อ “พลังรัก” ที่ผมชื่นชอบสักนิดหนึ่งครับ

   ท่านอุชเชนีรจนาบทกวี “พลังรัก” ด้วยภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ ลีลาฉันท์เป็นไปตามขนบคัมภีร์วุโตทัยอย่างเคร่งครัด แต่เสน่ห์ซึ่งท่านสอดซ้อนเข้าไป นั่นคือ สัมผัสใน (สัมผัสสระ) ครับ ภุชงคประยาตฉันท์ บทหนึ่งแบ่งเป็นสองบาท บาทละ ๒ วรรค แต่ละวรรคกำหนดให้เขียน ๖ พยางค์ตายตัว โดยพยางค์ลหุ อยู่ตรงพยางค์ที่ ๑ กับ ๔ ถ้าจะสอดซ้อนเสน่ห์ด้วยสัมผัสใน (สัมผัสสระ) กวีท่านจะกำหนดให้พยางค์ที่ ๓ กับ ๕ ซึ่งเป็นพยางค์ครุสัมผัสกัน ทำให้อ่านแล้วไหวพลิ้ว ท่านอุชเชนีดำเนินลีลาของ “พลังรัก” ในครรลองนี้ชนิดเอตทัคคะทางฉันท์ ภุชงคประยาตของท่าน มีสัมผัสในปรากฏในวรรคที่หนึ่งของบาทแรก และวรรคที่ ๑ กับ ๒ ของบาทที่สอง ตั้งแต่ต้นจนจบบท ผมจึงถือเอา “พลังรัก” เป็นตัวอย่างภุชงคประยาตฉันท์ชั้นเซียนเหยียบเมฆอีกบทหนึ่งครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 13 มิ.ย. 16, 09:27

คงนิรันดร์ คงเสน่ห์ “อุชเชนี”

   ใครหนอเคยเผยความไม่คร้ามพ่าย
เมื่อยามร้ายทุรยุคคลุมทุกหน
“หวานแต่แกร่ง” แรงไฟเฝ้าใฝ่ประพนธ์
ปลุกผู้คนขมขื่นให้ตื่นมา

   “เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ”

   ผ่านเจ็บปวดรวดร้าวกี่ราวเรื่อง
ยังสืบเนื่องกานท์ขลังกำลังหนุน
เกียรติบันลือคือ “กวีผู้มีคุณ”
เปรียบดั่งขุนเขาสง่ายืนท้าทาย

   แม้วันนี้ชีวิตสถิตสรวง
พจน์ทั้งปวงไป่เคยระเหยหาย
เป็นเพชรพริ้งมิ่งขวัญผ่องพรรณราย
ก่องกำจายเจิดจ้าเหนือตาวัน

   คงถ้อยร่ำคำขานเนิ่นนานสมัย
คงอำไพเพราเพริศพร่างเฉิดฉัน
คงจำหลักลักษณ์โศลกแก่โลกบรรณ
คงนิรันดร์ คงเสน่ห์ “อุชเชนี”

ขอน้อมคารวาลัยท่านอาจารย์ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา (นามปากกา “อุชเชนี”, “นิด นรารักษ์”) ศิลปินแห่งชาติ
สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งถึงแก่กรรมในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 06 ก.ย. 20, 07:20

กราบครู ‘อุชเชนี’
อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

มาอีกครั้ง ... มาปฏิบัติธรรม
ภาพครูในทรงจำยังแจ่มใส
ณ สุสาน ‘ศานติคาม’ สงบใจ
เรามากราบครั้งใด ... ก็ยินดี

รำลึกครูผู้สร้างงานเพื่อเพื่อนมนุษย์
รำลึกความโรจน์รุจน์พิสุทธิ์ศรี
รำลึกทวนร้อยรสบทกวี
‘ฟ้าขลิบทอง' วันนี้ยังงดงาม

ณ สุสาน ‘ศานติคาม’ งามสงบ
เราได้พบภาพมรณาน่าเกรงขาม
บ้านคนตายมีศานติผลิเรืองราม
มาทุกยามภาพจริงยิ่งเตือนใจ

กราบขอบคุณ ‘อุขเชนี’ ที่ยิ่งยศ
งามหมดจดทุกย่างก้าวเท่าทันสมัย
เป็นตัวอย่างชีวิตเป็นนิจไป
กราบครู ‘อุชเชนี’ ไว้ ณ วารนี้

ชมัยภร  แสงกระจ่าง
ในนามกลุ่มปฏิบัติธรรมกับคุณหมออมรา มลิลา
๔ กันยายน ๒๕๖๓


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 20 คำสั่ง