เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 30933 อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 10:34

อย่างวิคตอร์ ฮูโก ก็ศตวรรษที่ 19 ก็โค้งเคียวเรียวเดือนนี่แหล่ะค่ะ
ฮูโกเขาเขียนเอาว่า  “ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า”
 ดิฉันก็เขียนว่า “โค้งเคียวเรียวเดือน”
ดิฉันก็บอกว่านี่มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ถึงกับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรใช่ไหม

นอกจาก "โค้งเคียวเรียวเดือน" ใน "ขอบฟ้าขลิบทอง" อุชเชนียังชี้ชวนให้ชม "จันทร์รูปเคียวเกี่ยวฟ้า" ใน "ใต้โค้งสะพาน" เพื่อเป็นกำลังใจแด่ผู้ทุกข์ทน

ใต้โค้งสะพาน  

ดวงใจ
หยุดไห้เสียทีเถิดหนา
ดูจันทร์รูปเคียวเกี่ยวฟ้า
โลมหล้าด้วยแสงเงินเย็น

เรามีแต่โค้งสะพาน
ต่างบ้านคุ้มหัวไม่เห็น
แต่เช้าถึงค่ำลำเค็ญ
หลบเร้นฝนร้าวหนาวกาย

ละเมอว่านั่นสายรุ้ง
ผุดพุ่งรุ่งเร้าเฝ้าหมาย
โยงสุขสู่กันบั้นปลาย
ฝันร้ายรุ่งเฝือเหลือเงา

เพียงโค้งสะพานอันเดิม
ช่วยเสริมความหวังช่างเขลา
แต่คนยากเข็ญเช่นเรา
มีมากมิเบาเจ้าเอย

ถูกเขาขับไล่ไสส่ง
คงแต่ใจตรงเปิดเผย
เราซื่อเราโง่ทรามเชย
แต่มีหรือเคยคดใคร?

พราวเดือนเลื่อนลับอับแฝง
หิ่งห้อยยังแจงแสงใส
ความหวังแม้พลาดคลาดไป
อาจฟื้นคืนใหม่นานา

ด้วยใจแนบเรียงเคียงสนิท
มิ่งมิตรจงพิงอกข้า
หยัดอยู่สู้โลกพาลา
จนกว่าอรุณรุ่งราง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 10:51

ตอนแรกๆที่เราเข้าไปในสลัม เขาก็จะหาว่าเรามาหาเสียง
แต่พอเราเข้าไปนานๆจนเขารู้จักเราแล้ว เขาก็รู้ว่าเราไม่ได้มาหาเสียง เขาก็ดีขึ้นๆ
ส่วนเด็กที่นั่งเรียน เราจะไปซื้อไม้ยาวๆมา เราก็จะต่อขาเตี้ยๆ เด็กจะนั่งกับพื้นแล้วก็เขียนกระดานชนวน
ดินสอก็จะหาไว้ให้ แต่ทำได้ไม่นาน เขาก็มาเอาเด็กเราไปหมด
มีคนจัดการเอาไปเข้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์
ตอนนั้นไม่มีคนไปทำลักษณะแบบนี้ เป็นครั้งแรก ทุกอย่างมันใหม่เกินไปหมด มันเร็วเกินไปสัก 20 ปี

อยู่เพื่ออะไร

ฉันอยู่เพื่อบุคคลที่ฉันรัก       
ซึ่งใจซื่อถือศักดิ์สุจริต
และรักฉันมั่นมานปานชีวิต       
ในความผิดความหลงปลงอภัย

ฉันอยู่เพื่อหน้าที่ที่พันผูก       
เพื่อฝังปลูกความหวังพลังไข
เป็นท่อธารรักท้นล้นพ้นไป       
หล่อดวงใจแล้งรื่นให้ชื่นบาน
 
ฉันอยู่เพื่อค้นคว้าหาสัจจะ       
กลางโมหะอาเกียรณ์เบียฬประหาร
เพื่อสื่อแสงแจ้งสว่างพร่างตระการ       
กลางวิญญาณมืดมิดอวิชชา

ฉันอยู่เพื่อดวงใจที่ไร้ญาติ       
ที่แร้นแค้นแคลนขาดวาสนา
เพื่อรอยยิ้มพริ้มยลปนน้ำตา
บนดวงหน้าโศกช้ำระกำกรม

ฉันอยู่เพื่อเยื่อใยใจมนุษย์       
บริสุทธิ์สอดผสานงานผสม
เป็นเกลียวมั่นขันแกร่งแรงกลืนกลม       
พายุร้ายสายลมมิอาจรอน
 
ฉันอยู่เพื่อความฝันอันเพริศแพร้ว       
เมื่อโลกแผ้วหลุดพ้นคนหลอกหลอน
เมื่ออามิสฤทธิ์แรงแท่งทองปอนด์       
มิอาจคลอนใจคนให้หม่นมัว

ฉันอยู่เพื่อยุคทองของคนยาก       
ที่เขาถากทรกรรมซ้ำปั่นหัว
เพื่อความถูกที่เขาถมจมทั้งตัว       
เพื่อความกลัวกลับบ้าบั่นอาธรรม

เพื่อโลกใหม่ใสสะอาดพิลาศเหลือ       
เมื่อคนเอื้อไมตรีอวยไม่ขวยขำ
เพื่อแสงรักส่องรุ่งพุ่งเป็นลำ       
สว่างนำน้องพี่มีชัยเอย


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 12:46

ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู  นำกลอนมาขยายคำสัมภาษณ์ค่ะ ยิงฟันยิ้ม

จริงๆแล้ว อยากจะลงรูปภาพสวยๆด้วยซ้ำ
เพราะกวีนิพินธ์ของอุชเชนีแต่ละบท สามารถมโนภาพออกมาได้งดงามบนความขมขื่น ยากแค้นได้
เช่น ขอบฟ้าขลิบทอง ใต้โค้งสะพาน
เหมือนภาพเขียนคนยากของจิตรกรหลายท่าน
ถ้าเรียกสมัยใหม่ก็คือ โลกสวยได้แม้บนความทุกข์ยาก
ติดแต่เรื่องลิขสิทธิ์  เศร้า

วรรคทองบางวรรคได้สร้างแรงบันดาลใจเป็นหนังสือของนักเขียนรุ่นหลัง
เช่น เล่มนี้ค่ะ

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 21:26

งานชิ้นแรกของกวีคนจน

“ใต้โค้งสะพาน.” ลงในหนังสือ การเมือง คิดว่า พ.ศ. 2491
เออ.."ใต้โค้งสะพาน” นี่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ฯมากเลยในคณะอักษรฯ
บอกว่า ดิฉันเขียนได้ยังไง ไม่เคยเห็น แต่ความจริงเห็น ที่เขียนนี่เพราะเห็นจริงๆ เห็นกับตาด้วย

ตอนนั้นนักคิด นักเขียน กวีร่วมสมัยก็มี นายผี ทวีปวร มีอีกสองสามคน
แต่ดิฉันไม่มีโอกาสรู้จักเลย แต่เขียนเก่ง เขียนแนวเดียวกันหมด

นายผี ดิฉันเคยเจออยู่บ้างทีสองที เคยพูดคุยด้วย เป็นผู้ใหญ่ จบธรรมศาสตร์ ไม่ทราบเวลานี้อยู่ที่ไหน
ยุคนั้นเหมือนคนบ้าคลั่ง มันไม่เชื่อ มันไปทางเดียวกันหมด
ตั้งแต่ศรีบูรพา มาลัย ชูพินิจ   อิศรา อมันตกุล ไปกันเกรียวไปเลย

ดิฉันไม่ได้ใช้ใครเป็นแบบฉบับ ว่ากันตามจริง เพราะว่าไอ้ที่ดิฉันเขียนทื่อๆ
ดิฉันคิดเป็นตัวเองขึ้นมา เขียนเป็นภาษาลุ่นๆไป

จุดเริ่มต้นของนิด นรารักษ์

ก้อ...คุณศุทธินี (สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์) เขาไปอเมริกา
เขาเขียนคอลัมน์ชีวิตทั่วๆไป พอเขาไปอเมริกาปุ๊ป
ดิฉันเขียนกลอนอยู่ในนั้น เขาก็มาให้ดิฉันเขียนแทน
ก็เขียนอยู่  2 ปี พอเขากลับมาก็คืนเขาเลย
ความจริงดิฉันชอบคอลัมน์นิด นรารักษ์ มากกว่ากลอน
แปลกนะ อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นความประทับใจเก่าๆ เขียนไว้นาน
นึกถึงจะให้มาเขียนเดี๋ยวนี้อีกก็เขียนไม่ได้แล้ว
เมื่อก่อนนี้มันเจออะไรปุ๊ป มันกระทบหัวใจ ก็ออกมาเป็นตัวหนังสือได้
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 21:34

โดนตำรวจเดินตามเป็นเดือนๆไม่รู้ตัว

ตอนที่เขียนอยู่นั้นมันไม่มีอะไร มันใกล้ๆกับที่ว่าจะขึ้นสมัยจอมพล ป. พอดี
มันก็โหมหนัก ทำให้จอมพล ป.ง่อนแง่นๆ
และสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์กันเป็นการใหญ่
เพราะคิดว่าตรงไปตรงมา และจะช่วยทำอะไรให้ดีขึ้น

จอมพลสฤษดิ์ก็รู้ว่า  ที่จอมพล ป. ต้องหมดสมัยไปเพราะอะไร
มันเป็นผลงานของนักเขียนฝ่ายซ้ายแยะเลย มันเป็นไปทั้งคลื่น ต้องใช้คำอย่างนั้น
แล้วท่านคิดว่า ถ้าท่านขึ้นมาเป็นใหญ่คงไม่ปลอดภัยนักที่จะทิ้งพวกนี้ไว้
ท่านก็เลยพยายามเกลี้ยกล่อมบางคนที่คิดว่าจะใช้ประโยชน์ได้
บางคนก็ไม่อยากไป ไม่ยอมตามใจ ท่านก็เอาไปเก็บเสีย
ความจริง ถ้าว่าเขาเป็นเผด็จการ เขาก็ต้องทำอย่างนั้น 
คนที้เก็บทันก็เก็บไป คนที่ไม่อยากให้เก็บ เขาก็ไปของเขาเอง
ไปไหนกันต่างๆ

ตัวดิฉันไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากเขาเดินตาม
ดิฉันไม่รู้เรื่องนี้มาเลยนะ ปกติไปเรื่อยๆ ก็เลิกเขียนหนังสือ
ทุกคนก็เลิกเขียนหนังสือกันหมด ไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนอีกแล้ว ก้อ..นานเชียว

ต่อมามีลูกศิษย์เป็นนายพันตำรวจมาเล่าความหลังว่า
รู้ตัวหรือเปล่า อาจารย์ถูกตำรวจตามทุกๆวัน ตามจากจุฬาฯไปบ้าน
 จากบ้านไปจุฬาฯ จากจุฬาฯไปบ้าน เขาตามอยู่อย่างนั้น
ไม่เห็นดิฉันกระดิกกระเดี้ยไปไหน เช้าก็ไปทำงาน เช้าเย็นๆ สองเดือนเต็มๆ ไม่เกิดอะไรขึ้น
ไม่ได้ไปพบใคร ไม่ได้ไปไหน ตามอย่างนั้นตลอดเวลา เขาก็เบื่อ

เดี๋ยวนี้ก็ไม่เขียนแล้วละ คือว่า มันอะไรทุกอย่างก็เขียนไปแล้ว
อะไรที่อยากพูด อยากอะไรต่ออะไร ก็เขียนไปแล้ว
มันยังใช้ได้อยู่จนเดี๋ยวนี้ ความจริง มันก็ยังเป็นความจริงอยู่

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 21:42

ชอบแซ็งแต็กซูเปรี่ แต่..ขยาดซาตร์

นักเขียนต่างประเทศที่เขาเขียนลุ่นๆคือคนที่ดิฉันชอบ เขาก็ไม่ได้เขียนอย่างนี้
คือดิฉันชอบมากที่สุดก็ แซ็งแต็กซูเปรี่ แต่ว่าเป็นนักเขียนนวนิยาย
คนที่เป็นนักบินแล้วหายไปในอากาศ ชอบคนนั้นมากเพราะเขาเขียนได้สะอาด
อันนี้อาจจะเป็นอันหนึ่งซี่งทำให้ดิฉันไม่อยากแปลวรรณคดีร่วมสมัยของฝรั่งเศสยุคนั้น
เพราะมันขมขื่นกันเกินไป เอะอะก็ชีวิตไม่มีความหมาย
มันตายกันไปง่ายๆหรือว่าฆ่าแกงกันเพียงเพื่อจะ..ขอประทานโทษ..ใช้คำว่าสนองอะไรของตัวเอง
อยากฆ่าก็ทำไปโดยไม่รู้ตัวว่าจะต้องทำอย่างนั้น

มันอันตรายเกินไปสำหรับเด็กไทยที่เราอยู่ดีๆ เรียบๆร้อยๆ
เรื่องอะไรจะไปเอาความคิดของฝรั่งเศสยุคนั้นซึ่งมันเป็นอย่างที่ดิฉันว่ามากมายทีเดียวมาใส่สมองเด็กเรา
นี่ดิฉันพอกลับมาก็ไม่พยายามแปลเรื่องนี้
แล้วก็อย่าง ซาตร์ ( Jean Paul Sartre) ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่งนะ
เขาเก่งเหลือเกินล้นพ้นไปถึงไหนๆ แต่ก็อันตรายที่สุดสำหรับเด็กๆที่อยู่กับร่องกับรอยธรรมดา
คือดิฉันไปปารีสอายุ 33 แล้ว ก็เป็นผู้ใหญ่พอแล้ว รู้ว่าอะไรควรเก็บไว้ อะไรควรปล่อยทิ้งไป

(พอให้ตัวอย่างได้ไหมว่า ความคิดเขาเป็นอันตรายในแง่ไหน – โลกหนังสือ)
ก็..อุ๊ย ก็หมดแหละ ต่อต้านทุกอย่างที่จะต่อต้านได้ในชีวิตนี้ 
ต่อต้านพระเจ้าอย่างนี้ซึ่งดิฉันเป็นแคธอลิคชั้นดี (โลกหนังสือ เฮ)
แหม..ละครของพวกนี้ตะโกนด่าพระเจ้าหน้าเวที พวกยายแก่ทั้งหลายฟังแล้วฮือฮาๆ
อย่างกามูหรือใครต่อใคร อ่านแล้วอ่อนใจ ถ้าบอกว่า แหม ไปจมในปลักนี้ทั้งอัน น่ากลัวจะทิ้งพระทิ้งเจ้าไปหมดแล้ว
แต่ไม่ ไม่ฮะ

(แต่งานเขียนของอาจารย์ก็ต่อต้านไสยศาสตร์ ความเชื่องมงาย)
ความงมงายก็ต้องต่อต้านซิคะ
ศาสนาคริสต์ไม่ใช่ความเชื่องมงายนะคะ(หัวเราะเบาๆ) จริงๆค่ะ(หัวเราะ)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสต์สมัยใหม่ๆนี่ก็พอๆกับพุทธสมัยใหม่ของท่านพุทธทาสนี่แหละ
คือวิทยาศาสตร์ไปถึงไหน ศาสนาไปถึงนั่นแหละ เลยไปสูงกว่านั้น
จนกระทั่งนักวิทยาศาตร์ยอมรับกันไปหมดแล้ว

ไม่ทราบว่าเคยได้ยินชื่อคุณพ่อ เตยาร์ด เดอ ชาแดงส์ หรือเปล่า 
ท่านสามารถอธิบายชื่อ ศาสนา พระเจ้า กับปรากฏการณ์ธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์
ผสมกลมกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างดีเลย
และถ้าอ่านพุทธทาสมากก็ใกล้เคียงกันคือไม่ได้หยุดแค่พระพุทธเจ้า
จะไปถึงธรรมชาติ จะไปถึงพระเจ้าถึงไหนๆ ไปคอสมอส ไปไกลมาก
ไปอนันตธรรม โน้น..โน้น..โน้น ..นู้น ถึงไหนๆ สัจธรรมชั้นสูง
หลวงพ่อเตยาร์ดองค์นี้แหละถูกเนรเทศไปแล้วก็ไปตายที่อเมริกา
ที่ดิฉันใช้คำว่าเนรเทศนี้ก็เพราะว่า โป๊ป ไม่ให้อยู่ที่กรุงโรม เป็นจริง
เพราะว่าท่านเขียนหนังสือก็เหมือนท่านพุทธทาสถูกชาวพุทธหาว่านอกคอก อะไรต่ออะไร
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 21:47

มีศิษย์คนเก่งชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์
(คำสัมภาษณ์ช่วงนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปแล้วในกระทู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ค่ะ เปิดอ่านดูได้)


หิ่งห้อย : การเดินทางร่วมกันของสาวอักษรและหนุ่มวิดยา


หิ่งห้อยแปลร่วมกับอาจารย์ระวี ภาวิไล ก็เพราะเป็นหนังสือของอาจารย์ระวี
คือดิฉันสนิทกับอาจารย์ระวี ตั้งแต่สอนที่จุฬาฯ ท่านอ่อนกว่าดิฉันตั้ง 6 ปี  
รู้จักกันมาเรื่อยๆ สมัยนั้นท่านก็เริ่มต้นแปลยิบรานแล้ว
สมัยที่คนอเมริกันยังไม่รู้จักว่า ยิบรานคือใคร  
แล้วที่แปล ก็พูดกันตั้งนานแล้วว่า น่าจะแปล
ดิฉันก็ลงมือแปล นักอักษรศาสตร์เชียว แปลยั้วไปเยี้ยมา
อาจารย์ระวี แกเป็นนักวิทยาศาสตร์ แกตัดเฉิบๆๆๆ แกบอกว่าให้สั้นๆอย่างนี้
 ดิฉันก็ว่า จะเอาสั้นอย่างนี้หรือ ดิฉันก็เลยแปลไปตามสำนวนแก
แปลต่อไปจนจบเลย อันนี้แกถูกอกถูกใจ ก็เลยเอาชื่อ 2 คนใส่ เพราะว่าหนังสือนั่นของแก

กวีไทยในใจ
ยุคใหม่ชอบเนาวรัตน์(พงษ์ไพบูลย์)
ยุคเดียวกันก็ชอบทุกคน ไม่ต้องมีอะไรจะพูดถึงอีกแล้ว
มันก็เหมือนเพื่อนเรา ที่ทำอะไรพร้อมๆกัน มีไม่กี่คน
และเราก็รู้จักกันทางสมอง ต้องใช้คำอย่างนั้น สัมผัสถึงกันได้ทุกคน เขาเก่งกัน

อย่างท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ท่านเขียนของท่านสมัยใหม่แบบนี้
เลือกส่งสัมผัสตามที่ท่านต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องลงตามที่ท่านอาจารย์โบราณเขียนไว้
ดิฉันไม่ขัดข้องเลย และก็ไม่เห็นเป็นอุบัติร้ายแรงอะไรด้วย
เพราะว่าก็เป็นสิทธิของผู้เขียนที่จะถ่ายทอดยังไง
การที่ไม่บังคับสัมผัสตรงนั้นตรงนี้กลับทำให้ดีเสียอีก
เพราะจะทำให้เกิดลีลาและจังหวะที่แปลกไปหว่าเดิม
แล้วก็เสรีภาพในการที่จะใช้ถ้อยคำนี้มากกว่าเดิม

ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมาทีหลังตลอดเวลา
ไม่ได้อยู่ในวงการนี้มาก่อน เราเป็นครูอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
แล้วเข้ามา เผอิญมีโอกาสที่เขาเปิดให้เข้ามาก็ดีถมไปแล้ว  ยิ้มเท่ห์

จบแล้วค่ะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 21:57

มีศิษย์คนเก่งชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์
(คำสัมภาษณ์ช่วงนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปแล้วในกระทู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ค่ะ เปิดอ่านดูได้)

โลกหนังสือ  : เคยเป็นอาจารย์สอนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช่ไหม ตามสายตาแล้วช่วงนั้นแกเป็นคนอย่างไร
อุชเชนี       : แกเป็นคน..เป็นคนน่าสงสารมาก ดิฉันว่าแกเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา เป็นผู้คงแก่เรียน
                       เป็นคนที่...เป็นนักค้นคว้า เป็นนักวิจัย เป็นคนที่ไม่ได้พอใจแต่เพียงเล็คเชอร์ของอาจารย์
                       แกจะไปหาอะไรต่ออะไรมาเพิ่มเติมของแก และตอนที่แกหามาเพิ่มเติม บางทีก็เกินไปกว่าที่อาจารย์หามา
                       และอันนี้ดิฉันถือว่าอันตราย แกจะมีอะไรมายันว่า นี่ผมค้นมา พอเจอไอ้นี่ มันก็ยากที่ผู้ใหญ่จะรับหรือบางทีก็....
                       เราต้องเข้าใจว่าการเรียนวรรณคดี คำบางคำ มันเป็นเรื่องของการสันนิษฐานว่าไอ้นี่มาจากนั่น
                       ไอ้นี่คงคือคำนั้นนั่นเอง อะไรอย่างนี้

                       เมื่อเราได้รับการสอนมาแบบนั้น เด็กๆทั่วไปก็คงเข้าใจ และเวลาเราตอบข้อสอบ เราก็จะตอบไปตามนั้น
                       ทีนี้ถ้าหากว่าเกิดมีคนไปค้นมาอย่างจริงจังและสามารถตอบได้ว่า คำนี้นั้นคืออะไร ก็เห็นว่าจะเสียหน้าที่ถูกแย้ง
                    
                       ...นี่ อันทำพิษ (อุชเชนีเปิดให้ดูบทกลอนที่ชื่อ "ในนิมิต")
                       "กลีบกุหลาบฉาบชมพูพรูพรั่งฟ้า" ที่ดิฉันเรียกว่า "อันทำพิษ" เพราะว่าอันนี้เป็นอันที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์
                       ขอไปลงในหนังสือมหาวิทยาลัยแล้วเธอถูกโยนบก ไอ้กลอนอันนี้ที่คุณจิตรขอก็ถูกเซ็นเซอร์ด้วย
              
                       " เมื่อขอบฟ้าพร่าพราวหลาวทองทาบ  พุ่งปลายปราบทะลวงถิ่นทมิฬถอย
                         ความมืดแมกแหลกเรื้อไม่เหลือรอย    หทัยพร้อยแสงชมพรากสว่างพราว"

                        อู๊ (ขึ้นเสียงสูง) เขาเห็นชื่อดิฉัน เขาก็คงเซ็นเซอร์แล้ว
                        ตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่จุฬา  เขาคงเห็นนามปากกาก็ไม่เอาแล้ว ไม่อ่านด้วยซ้ำว่าเราพูดอะไร

                       ส่วนที่คุณจิตรแกเขียน ก็มีพูดถึงพระสงฆ์ คุณจิตรก็วิจารณ์พระสงฆ์
                       คนที่ไม่อ่านบทความทั้งหมด..ขีดเส้นใต้แดงๆตรงนั้่นแล้วเอาตรงนั้นไปประณาม
                       ไม่ดูบ้างว่า ข้างบนเขาพูดมาอย่างไร
        
                       คือคุณจิตร เป็นคนเขียนทุกอย่างๆมีเหตุมีผล ไม่ใช่นึกอยากเก็บพระมาด่า มันไม่ใช่อย่างนั้น
                       ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคารพ เขาเพียงแต่พูดเรื่องจริง

                       ....คนเราลงว่าอยากจะหาเรื่อง มันก็ง่ายนิดเดียว หยิบตรงไหนขึ้นมานิด..
                       แล้วคนพวกนี้เรียกว่าอ่านหนังสือไม่เป็น ไม่ดูทั้งความ เอะอะก็มาจับนิดหนึ่งแล้วก็มาว่า....


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 22:16

ขอคารวะอาจารย์ครั้งสุดท้่ายด้วยกลอน รุ่งสาง ที่เขียนไว้เมื่อ 2514

รุ่งสาง
เรื่อเรื่อรางสายแสงแจรงสวรรค์
สื่อความโรจน์โชติฟ้าอ่าอำพัน
ดั่งพู่กันเนรมิตจิตรกร

ปลุกมนุษย์รุดพื้นตื่นจากหลับ
ที่แคบคับ กว้าง ขวาง สล้างสลอน
วิมานสุข ทุกข์สภาพ สาปและพร
หัวร่อซ้อนสะอื้นซ้ำน้ำตาปราย

คนหลับนอกครอกครากเหมือนลากโซ่
คนหลับในใจโวโตเหลือหลาย
คนหลับเล่นเฟ้นฝันพรรณราย
คนหลับตายร้างสิ้นความดิ้นรน

ยามนี้หนอชลอจิตอธิษฐาน
บุญบันดาลให้ รุ่งสาง หว่างเวหน
เฉกชวาลฉานฟ้าทั่วสากล
ด้วยแรงดลศรัทธาสง่าใจ

ชี้ทิศทางกระจ่างงามความถูกต้อง
ตามครรลองอิสระมั่นไม่หวั่นไหว
ปลุกชนหลับฉับฟื้นรื่นเรืองไร
สู่หลักชัยช้อนชีพประทีปลอย
บันทึกการเข้า
Molly
อสุรผัด
*
ตอบ: 25


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 23:14

ขอขอบคุณทุกๆ บทกวีในกระทู้นี้ค่ะ เพราะจับใจมาก และได้รื้อฟื้นความงดงามของภาษาไทยเรา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 12 พ.ค. 16, 10:12

คำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๓๖

เป็นกวีที่มีความเข้าใจในสมบัติวรรณศิลป์ของไทยซึ่งเห็นความเสนาะเพริศแพร้วของเสียง ลำนำ จังหวะในกวีนิพนธ์ ด้วยการนำวรรณศิลป์ ตามขนบนิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม มุ่งให้ความหวัง ให้พลัง ปลอบประโลม ให้ผู้อ่านมีกำลังใจต่อสู้ชีวิต มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม ผลการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงความเป็นกวีผู้มีอัจฉริยภาพ ซึ่งใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมด้วยการส่งสารที่ทรงพลัง สร้างแรงบันดาลใจแก่กวีรุ่นหลังต่อมา


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 12 พ.ค. 16, 14:17

เป็นกวีที่มีความเข้าใจในสมบัติวรรณศิลป์ของไทยซึ่งเห็นความเสนาะเพริศแพร้วของเสียง ลำนำ จังหวะในกวีนิพนธ์ ด้วยการนำวรรณศิลป์ ตามขนบนิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม

ในนิมิต

กลีบกุหลาบฉาบชมพูพรูพรั่งฟ้า
ว่อนเมฆาเหมือนฝันขวัญพี่เอ๋ย
นภาพิศนิมิตหวามงามกว่าเคย
ชวนสังเวยบูชิตชีวิตนี้

แต่ละชีพต่างกลีบกุหลาบร่อน
ชะลอช้อนชุ่มรักเป็นสักขี
การุณยมานหวานล้ำฉ่ำฤดี
โลมปถพีทุกย่างทางครรไล

ฟ้าระริกเงาระรวยกลางห้วยกว้าง
ก็เหมือนอย่างเราฝังพลังไข
ว่าดวงรุ้งพุ่งผ่านม่านตาใจ
ลึกละไมละเมียดหวังตั้งตาคอย

เมื่อขอบฟ้าพร่าพราวหลาวทองทาบ
พุ่งปลายปลาบทะลวงถิ่นทมิฬถอย
ความมืดแมกแหลกเรื้อไม่เหลือรอย
อุทัยพร้อยแสงพร่างสว่างพราย

เพื่อฟากฟ้าสายัณห์อย่างวันนี้
จักปรายปรีดิ์เปี่ยมพ้นล้นความหมาย
เพื่อมรรคาประชาชนจักกล่นราย
ด้วยกลีบกรายกุหลาบแก้วผ่องแพรวใจ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 12 พ.ค. 16, 14:24

มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม

สูงขึ้นไป

เหมือนสายแก้วแวววับระยับเยื้อง
ช้อยชำเลืองชมอุษาคราฉายแสง
พุน้ำหนึ่งผุดพุ่งรุ่งแจรง
ดั่งรุ้งแปลงแปลกฟ้าลงมาดิน

สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ
ไม่รู้ท้อรู้หน่ายคลายถวิล
ถึงแดดจ้าฟ้ามุ่นพิรุณริน
ไม่สูญสิ้นศรัทธาที่ตราใจ

สายน้ำแจ๋วแววแจ่มยะแย้มยิ้ม
รับลมพริ้มทอดระทวยอวยอ่อนไหว
อรชรเพียงช่อผกาไพร
ที่ลมไกวกิ่งกล่อมถนอมกัน

พอดาวพรมแผ่นฟ้าระย้าระยับ
สายน้ำกลับเกลื่อนดารากว่าสวรรค์
สะท้อนวาบปลาบพรายประกายพรรณ
เพียงจะหยันพัชราให้พร่ามัว

ความชดช้อยย้อยหยดและรสหวาน
คือทิพยทานแด่ดินถิ่นสลัว
โปรยความรื่นชื่นใจไว้รอบตัว
ดับกระหายคลายชั่วกลั้วกลี

เฉกน้ำมิตรจิตกวีที่บริสุทธิ์
ย่อมผาดผุดผ่องจรัสรัศมี
ผินฟ้าพุ่งมุ่งงามและความดี
หยิ่งในศรีศักดิ์ตนวิมลนาน

สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ
ประโยชน์ก่อเกิดล้ำเพียงคำหวาน
สร้างความหวังพลังหมายด้วยสายธาร
จากดวงมานกวีนั้นนิรันดร์เอย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 12 พ.ค. 16, 14:27

ใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมด้วยการส่งสารที่ทรงพลัง สร้างแรงบันดาลใจแก่กวีรุ่นหลังต่อมา

เราชุบด้วยใด

ฉันใคร่เห็นเธอก้าวไป
กลางไพรเกลื่อนพฤกษ์ลึกหนา
กลางแดดแผดลวกมรรคา
กลางฟ้าปริปรวนครวญครืน

กลางน้ำกรรชากกรากเชี่ยว
กลางเกลียวฝนกราดฟาดฝืน
กลางโคลนคลุกครูดดูดกลืน
กลางคืนครอบคิดมิดมูล

ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก
ก้าวไปแม้โชคดับสูญ
ก้าวไปแม้ไร้คนทูน
ก้าวไปแม้พูนคนชัง

สัจจะอาจถูกถมทับ
ความดีแหลกยับคับคั่ง
อธรรมอาจเปรื่องประดัง
ความชั่วฉายชั่งนั่งเมือง

น้ำตาฟายฟกตกดิน
รวยรินยิ้มกร้าวเข้าเปลื้อง
ปวดเหน็บเจ็บหายรายเรือง
พิศเฟื่องแสงลิบขลิบฟ้า

คนแพ้คือคนชะนะ
แม้จะถูกเข็ญเข่นฆ่า
คนล้มเพื่อลุกทุกครา
เหล็กกล้าเราชุบด้วยใด
บันทึกการเข้า
เทพกร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 142



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 12 พ.ค. 16, 18:25

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานดินฝังศพ อ.ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง