เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 31062 อุชเชนี : กวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



 เมื่อ 10 พ.ค. 16, 09:29

"ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ในนามปากกา "อุชเชนี"  กวีเจ้าของผลงาน "ขอบฟ้าขลิบทอง" สิ้นแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙

"เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ"

เพียงคำไม่กี่คำก็กำจาย
ความเรียบง่ายความงามความอบอุ่น
อันหนึ่งอันเดียวกันอันสมดุลย์
ให้เห็นคุณเห็นค่าความเป็นคน

ให้ดวงเทียนต่อเทียนประดังทอง
ให้ "ดาวผ่องนภาดิน"ประดังหน
ให้เห็นวิญญาณไทยใจสากล
ให้เห็นตนพ้นตนอันไม่ตาย

เจียระไนใจประหนึ่งอนรรฆมณี
คำทุกคำคือกวีมีความหมาย
เป็นกำลังใจรู้อยู่มิวาย
เป็นสร้อยสายอักษราทิพย์วาที

คือรวงข้าวพราวรอบขอบโค้งคุ้ง
คือเรียวรุ้งเริงตะวันปานประสี
คือเอกอักษราวุธ "อุชเชนี"
คือกวีของกวี ที่เรารัก. ฯ


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เสาร์  ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 09:40

นามจริงท่านคือ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา สกุลเดิม กรองทอง สมรสกับ ม.ร.ว.จิตสาร ชุมสาย

"เออเชนี" เป็นนามเดิมของท่าน ซึ่งมาแปลงเป็นนามปากกา อุชเชนี ในเวลาต่อมา (เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีที่มาจากชื่อนักบุญหญิงในคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก)

ท่านเป็นนักเรียนมัธยมที่สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศในปีนั้น เมื่อจบปริญญาตรีแล้วก็ได้ทุนไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ประคิณ เป็นคนพูดจาไพเราะนุ่มนวล แต่มีความแข็งแกร่งแน่วแน่ในความคิดและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใดที่ท่านทำ
 
ท่านนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเป็นอย่างมาก

อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นนักอักษรศาสตร์ ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พร้อมกับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

ขอไว้อาลัยอาจารย์ ด้วยความเคารพรักและความทรงจำที่ล้วนแต่ดีงาม จำความอ่อนโยน ความเมตตาที่จริงใจของท่านได้เป็นอย่างดี

จาก เฟซบุ๊กของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 09:41

คารวาลัย

แล้วขอบฟ้าขลิบทองก็หมองสี
แก้วกวีลับล่วงสรวงสวรรค์
ทิ้งอักษรกลอนกานท์อันนิรันดร์
เป็นมิ่งขวัญวรรณศิลป์แผ่นดินไทย


บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 11:04

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา
เพราะจะตั้งเอง ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
เลยไปแอบๆที่กระทู้ของจิตร ภูมิศักดิ์แทน ยิ้มเท่ห์

เนื่องจากมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจในโลกหนังสือฉบับนมนานตามที่ขึ้นภาพไว้
ว่าจะตัดตอนเป็นประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับกวีหญิงผู้เจียระไนเพชรแห่งภาษา
เพราะตัวบทสัมภาษณ์ยาวประมาณ 11 หน้าค่ะ คงพิมพ์ทั้งหมดไม่ไหว
เพื่อแสดงคารวาลัยแก่อาจารย์ประคิณ
ไว้ค่อยๆพิมพิ์แล้วทะยอยลงนะคะ

บันทึกการเข้า
Molly
อสุรผัด
*
ตอบ: 25


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 11:49

ขอบคุณอาจารย์เพ็ญชมพูที่ตั้งกระทู้นี้เช่นกันค่ะ ดิฉันเพิ่งระลึกถึงนักเขียนท่านนี้เมื่อไม่นานมานี้เอง แล้วก็ไหลไปกับครรลองชีวิต มาอ่านเจอจากกระทู้นี้ว่าท่านไปอยู่กับพระเจ้าแล้ว ดีใจและเสียใจพร้อมๆ กัน ขอไว้อาลัยให้ท่านด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 13:12

ยินดีต้อนรับมิ่งมิตร
ด้วยจิตคารวะมุ่งมั่น
ร่วมส่ง "อุชเชนี" ด้วยกัน
สู่แดนสวรรค์ชั้นฟ้า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 13:45

ผลงานของ "อุชเชนี" ซึ่งเป็นที่ จดจำ และ จับใจ มากที่สุด เห็นจะเป็น

ขอบฟ้าขลิบทอง

มิ่งมิตร...
เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน
ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว
ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม
ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน
ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน
ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก
ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร
ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก
ที่จะหักพงแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง
ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 21:14



สัมภาษณ์อุชเชนี  นิด  นรารักษ์

เกริ่นนำ

บทสัมภาษณ์นี้ดำเนินการโดยกองบรรณาธิการนิตยสารโลกหนังสือ 3 ท่าน
ที่ได้แจ้งความประสงค์จะขอสัมภาษณ์ในเดือนมิถุนายน 2522  (หนังสือออกมีนาคม 2523)
โดยใช้สถานที่ทำงานของ “อุชเชนี” คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุริวงศ์
ขณะนั้นผู้ถูกสัมภาษณ์อายุจะครบ 60 ปี ในปีนั้น

กำเนิดอุชเชนี
ประวัติดิฉันมันน้อยนิดจริงๆ เรียนเซ็นโยเซฟคอนแวนต์มาตั้งแต่ 4 ขวบครึ่ง
ตั้งแต่ชั้นมูลจนกระทั่งจบมัธยม 8 ก็อายุน้อยเกินไป 16 ปีเท่านั้นเอง
พ่อแม่รวมทั้งครูบาอาจารย์ก็บอกว่า ควรจะเรียนต่อสักหน่อย
จึงย้ายจาก ม.8 ฝรั่งเศสไป ม.8 อังกฤษ

ในสมัยนั้นเขาแบ่งอย่างนั้น ถ้านักเรียนฝรั่งเศสจะเรียนทุกอย่างเป็นภาษาฝรั่งเศสหมด
รวมทั้งคำนวณ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น
เราจะเรียนภาษาไทยชั่วโมงเดียวต่อวัน
ได้ Prize of Honour สำหรับภาษาฝรั่งเศสเป็นรางวัลสูงสุดในโรงเรียนสำหรับ ม.8

พอมาอีกปีดิฉันก็ข้ามไปเรียน ม.8 ของกระทรวงฯ
ดิฉันก็สอบได้ที่ 1 ของทางด้านอักษรศาสตร์ เขามีทางด้านภาษาและวิทยาศาสตร์
ดิฉันสอบได้ที่ 1 ของทั่วราชอาณาจักรไทย ได้ทุนของกระทรวงศึกษาฯในปีนั้นแล้วก็ได้ทุนเข้าจุฬาฯ

เมื่อเข้าจุฬาฯเราได้สิทธิพิเศษเพราะว่าไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ อันนี้สบายมาก...

แล้วก็พอดีตอนนั้นยังชื่อ อ.อ่างอยู่ค่ะ เลยอยู่สุดท้ายปลายโต่งของรายชื่อ
ยังใช้ “อุชเชนี” อีกทีหนึ่งนะค่ะ  เพิ่งใช้ชื่อ ประคิณ เมื่อเข้าจุฬาแล้ว
ตอนต้นๆใครๆก็ยังเรียกชื่อว่า  เออเชนี แล้วก็..รากของคำว่า เออเชนี(Eugenie)
ก็เป็นคำเดียวกับสุชาติ (คือสุชาติ สวสัดิ์ศรี  บรรณาธิการโลกหนังสือ)แปลว่า เกิดดี
ทีนี้คำว่า “อุชเชนี” อาจารย์สิกสวัติ คือ อาจารย์สุจิตต์ ศิกษมัต ตอนนั้นท่านเรียนอยู่ปี 4
เขียนกลอนเก่งมาก เป็นนักเขียนรุ่นพี่ ดิฉันนับถือมากคู่กับคุณสุภร ผลชีวิน
พอเริ่มต้นเขียนกลอน คุณสุจิตต์เป็นคนบอกว่าไหนๆก็ชื่อ เออเชนี แล้วก็ใช้ชื่อ อุชเชนีก็แล้วกัน
มันใกล้เคียงกันมาก ทีนี้ก็เลยกลายเป็นอุชเชนีของกามนิตไป โดยมากคนคิดว่าเอามาจากกามนิตนั่นเอง
แต่ความจริงแล้วรากเกิดจริงๆเอามาจากชื่อดิฉันเอง

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 21:18

กบฏ(เล็กๆ)ของครอบครัว

สมัยนั้นเขาไม่ให้ผู้หญิงไปเรียนค่ะ คือให้นั่นแหละ แต่ไม่สู้เต็มใจนัก
คุณพ่อดิฉันค้าขาย ท่านก็อยากให้ดิฉันไปเป็นเลขาฯของท่าน
ให้เรียนภาษาจีนเพือจะได้เตียมตัวเข้าไปในวงการค้า
ถ้าไม่ได้สอบได้ที่ 1 จริงๆแล้วไม่ได้ทุน ก็ไม่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเลย
ทีนี้ได้ทุนการศึกษาแล้ว คุณพ่อก็หมดทางที่จะบอกว่า ไม่ให้ไปเรียน เพราะว่าเป็นเกียรติด้วย ท่านก็ยอม
โดยมีข้อแม้ว่าดิฉันต้องเรียนภาษาจีนด้วย วันละชั่วโมง ก็ตามใจท่าน...

แต่พอถึงปีที่ 2 ก่อนจะถึงสอบไล่ปลายปี ดิฉันก็บอกว่าขอหยุดเรียนภาษาจีนสักพักหนึ่งเถิด เพราะว่ามันหนักมาก
แล้วก็ดิฉันต้องการเวลาสำหรับสอบให้ดีจริงๆ เพราะปลายปีที่ 2 นี่จะมีรางวัลพิเศษ
เป็นรางวัลพระราชทานเงิน 1 ชั่ง สำหรับผู้ได้คะแนนรวมเป็นที่ 1 ของชั้น
ดิฉันก็เรียนคุณพ่อไปว่า อยากจะได้อันนี้ ขอเวลาเถอะ ท่านก็ว่าได้ ดิฉันก็ดูหนังสือ ผลออกมาได้จริงๆ..

แล้วดิฉันก็เรียนต่อขึ้นปี 3 จำเป็นต้องทิ้งวิชาประวัติศาสตร์ไปวิชาหนึ่งเพราะว่าเขาให้เอา 3 วิชาเท่านั้น ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส
พอปลายปี 3 ก็ต้องทิ้งภาษาไทยอีก ด้วยความเสียดายอย่างยิ่ง
พอปลายปีที่ 4 ดิฉันก็สอบได้ที่ 1 ฝรั่งเศส  อันที่จริงจะได้รางวัล  สถานทูตแล้วเขาทำเหรียญสลักชื่อให้เสร็จเรียบร้อย
ปรากฏว่าเกิดสงครามอินโดจีนก็ทะเลาะกับฝรั่งเศส เขาเลยไม่ให้
ส่วนภาษาอังกฤษก็ทำเปอร์เซ็นต์คู่มากับคุณขจร สุขพานิช
ซึ่งความจริงตอนนั้นเธอเป็นผู้ใหญ่มาก เป็นครูแล้วกลับย้อนมาเรียนปี 3-4 ต่อ
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 21:26


เกือบต้องเปลี่ยนศาสนาบนเส้นทางราชการ

(หลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว)
ดิฉันไปเรียน ป.ม. ต่อ เรียนได้ค่อนปี ญี่ปุ่นก็ขึ้น ตอนนั้นเขาก็ยกชั้น ป.ม.ไปเลย
เพราะว่าดิฉันเป็นแคธอลิค สมัยจอมพล ป. เขาห้ามคนที่ไม่ได้ถือพุทธศาสนารับราชการ
ดิฉันก็เป็นอาจารย์ในจุฬาฯไม่ได้ 

ตอนนั้นอาจารย์ปิ่นท่านสอนตอนอยู่ ป.ม.
ท่านก็บอกว่า ท่านต้องการให้ทำงานอยู่โรงเรียนเตรียมฯอยู่กับท่าน
ท่านใช้สารพัด ให้ทำอะไรต่อมิอะไร
พอถึงสิ้นปีท่านก็บอกว่าจะเป็นข้าราชการได้ไหม ถ้าเป็น ข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนศาสนา

ดิฉันก็บอกว่า ดิฉันไม่หรอก ก็เลยไปอยู่เซ็นต์โยเซฟ ไปสอนหนังสือชั้น ป.ป. (ประโยคประถม) 
ให้เด็กๆที่นั่นอยู่พัก   1 ปี เต็มๆ เสร็จแล้วท่านพระองค์เปรมฯท่านก็ให้คนมาตามบอกว่า
“ประคิณ กลับมาทำปริญญาโทเถอะ ฉันเชื่อว่าภายใน 2 ปีที่เธอทำปริญญาโท เหตุการณ์ต่างๆในบ้านเมืองเราจะเปลี่ยนแปลง”
ท่านก็ให้ช่วยสอนหนังสือที่จุฬาฯด้วย

ระยะนี้มาอยู่ทำปริญญาโทอยู่กับอาจารย์วิทย์ ศิวะศริยานนท์  แล้วก็ช่วยสอนไปด้วย
เสร็จแล้วก็พอจบปุ๊บจริงๆ  ตอนนั้นไม่มีแล้วล่ะ จอมพล ป.  ดิฉันก็เลยเป็นอาจารย์ในจุฬาฯ

จากใต้เงาจามจุรีมาอยู่ใต้เงาเปลือกหอยเชลล์

ขอย้อนไปเล่าตอนเรียนปีที่ 1 ที่จุฬาฯ
ตามปรกติคนที่สอบได้ที่ 1 ของไทยเรา
เขาต้องสอบไปเมืองนอกคิงส์ สกอล่าชิป ดิฉันก็มีสิทธิ์อันนี้ ถูกเคี่ยวเข็ญให้ไปสอบก็ไม่ไปสอบ
ดื้อแพ่งอยู่อย่างนั้น พ่อไม่ต้องการให้ไป พ่อหวงเต็มประดา

สอนหนังสือจุฬาได้ 5 ปี อาจารย์บุสเกต์ (Prof.Bousquet) ก็บอกว่าต้องการมีการสอนวรรณคดีฝรั่งเศสร่วมสมัยในจุฬาฯ
แต่ว่ายังหาตัวไม่ได้เพราะไม่มีใครเรียนมาทางนี้เลย
ก็บอกว่าได้ติดต่อทุนของสถานทูตฝรั่งเศสให้ดิฉัน ให้ไปเรียนมาทางนี้โดยเฉพาะ 1 ปี เพื่อมาสอนในจุฬาฯ
เป็นวรรณคดีร่วมสมัยคือสมัยใหม่ทั้งหมดเลย  เรียนทั้งบทละคร นวนิยายและที่เป็นร้อยกรอง

จบแล้วมาที่จุฬ่าฯ สอนต่ออีก 5 ปีเป็น 10 ปีเต็มๆ แล้วก็พอดีมันไม่สนุกที่จะสอน สุขภาพเลวลงๆ
หมอบอกว่าควรเปลี่ยนอาชีพตั้ง 5 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ทำงาน 5 ปีแรก เขาบอกว่่าดิฉันเป็นคนที่มีเสียงเบามาก
เวลาสอนหนังสือจะต้องออกแรงตลอดเวลา หลอดลมมันจะอักเสบ เจ็บคออยู่เรื่อย
ก็เลยออกมาอยู่บริษัทเชลล์ตอนนั้น 2500 แล้ว
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 21:35

เริ่มเป็นกวีคนจนตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬา

พูดถึงงานเขียนก็เริ่มตั้งแต่อยู่จุฬาและก็อย่างที่ว่า
อาจเป็นเพราะไม่มีใครเขียนอย่างนั้นก็ไม่ทราบ
คือเราเคยชินกับกลอนหรือว่าร้อยกรองซึ่งเป็นแบบวรรณคดีไทยจริงๆ
แล้วก็เขียนมาอย่างไรก็อย่างนั้นตามสมัยโบราณ

พวกพี่ๆเวลาจะเขียนอะไรก็เขียนแบบเก่า เขียนฉันท์ กลอนอะไรขึ้นมาเพราะๆ
ทีนี้ดิฉันพอเริ่มเขียนเรียกว่ากลอนชาวบ้าน กลอนหกบ้าง กลอนแปดบ้าง
โดยใช้คำง่ายๆเลยทีเดียวและเนื้อหาก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ
เป็นเรื่องของคนยากจน

ดิฉันขอเขียนเรื่องคนจน อันนี้มันฝังลึกอยู่จิตใต้สำนึกของคนที่เป็นแคธอลิกหรือคริสตชนโดยทั่วๆไป
คือคนจนนี่ เป็นรากฐานของคริสต์ศาสนามาอีกทีหนึ่ง ผูกพันอยู่กับคนจน
มีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่แหละค่ะที่ต้องทำอะไรสำหรับคนจนจริงๆ

เมื่อดิฉันไปปารีสกลับมายิ่งเห็นชัดใหญ่เลย เพราะว่าไปที่โน่น อ่านหนังสือมากมายก่ายกองเหลือเกินเต็มสมองไปหมด
กลับมาอยากระบายออกบ้าง อยากจะเขียนอะไรต่ออะไร  มันก็ออกมาพร้อมกับ นิด นรารักษ์ ด้วย
และมันคล้ายๆกับระยะนั้นไม่มีใครนึกถึงคนยากคนจนอะไรนี่

อีกอย่างหนึ่งที่เห็นด้วยตา...ดิฉันอยู่ในถิ่นคนจนจริงๆก็อย่างที่เขียน "จดหมายจากปารีส"
คนจนแกจะนอนตรงที่ไออุ่นขึ้นมาจากหินข้างทาง
เพราะว่าตามถนนที่ปารีสไออุ่นที่มันขังอยู่ใต้ดินจะมีตารางแข็งๆ แล้วมันก็จะมีไออุ่นพลุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน
แล้วพอหน้าหนาว คนก็จะมาอออยู่ทมี่ไออุ่นนี่ ของพวกนี้เห็นกะตาทั้งนั้น เจอกะตัวทั้งสิ้น
ภาพอะไรต่ออะไรต่างๆ สายน้ำในเขื่อนพวกนี้ ที่มีันออกมาเป็นคอลัมน์นิด นรารักษ์ ทั้งหมดเห็นกับตา

สำหรับนิสิตอักษรฯเองก็จะเขียนเรื่องน้อยที่สุด เพราะว่าเรียนรู้มากเกินไป
เมื่อรู้มากเกินไปทำให้แหยงหมดเลย และจะไม่มีใครยอมเขียนอะไร กลัวจะไม่ดีไปหมด
ที่ดิฉันเขียนมันไม่ใช่วรรณคดี มันเป็นเรื่องชาวบ้าน พยายามที่สุดที่จะไม่ใช้ศัพท์ใช้แสงอะไรเลย
แต่ใช้ภาษาพูดธรรมดา กลอนก็ง่ายๆสั้นๆ เขียนไปคนไม่ชอบก็ไม่ชอบเลยล่ะ

ดิฉันก็ถูกคุณพระวรเวทย์วิสิทธิ์ ท่านเรียกไปดุ ท่านเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยดิฉัน
ท่านเรียกดุว่า “เธอเขียนกลอนอะไร” ดิฉันก็บอกว่า เขียนกลอนอย่างนี้อย่างที่อยากเขียน
ตอนนั้นดิฉันเพิ่งกลับมาจากปารีสใหม่ๆ มีอะไรต่ออะไร พวกกวีฝรั่งเศสสมัยใหม่ ซึ่งตามจริงก็ไม่สมัยใหม่ด้วยซ้ำ

อย่างวิคตอร์ ฮูโก ก็ศตวรรษที่ 19 ก็โค้งเคียวเรียวเดือนนี่แหล่ะค่ะ
ฮูโกเขาเขียนเอาว่า  “ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า”
 ดิฉันก็เขียนว่า “โค้งเคียวเรียวเดือน”
ดิฉันก็บอกว่านี่มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ถึงกับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรใช่ไหม
ดูซิ กวีเก่าเขายังเขียนขนาดนี้ ดิฉันก็เลยชี้ให้ท่านดู
“นี่นะคะ อาจารย์ ดิฉันไม่ได้ไปเอามาจากไหนเลย
ไม่ใช่ว่าแหม เก่งเกิ่งอะไร ดิฉันเอามาจากนี้เห็นไหม วิคตอร์ ฮูโก เขาเขียน
ท่านก็บอกว่า (ตอนนี้อุชเชนีทำเสียงแบบคนแก่) ฉันก็ไม่รู้ ฉันกลุ้มใจ
ใครๆเขาว่า เธอเขียนหนังสืออะไรก็ไม่รู้ล่ะ
ขอสักทีไม่ได้เหรอ อย่าไปเขียน หยุดสักทีไม่ได้เหรอ  
นี่นะคะ ท่านก็หวังดี ท่านก็อาจจะผิดหวังที่ท่านอาจอยากเห็นคนเขียนกลอนอย่างสุนทรภู่
เป็นกวีหรือชมผู้หญิงสวยๆ ดิฉันก็ไม่เป็นอย่างนั้นสักที
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 21:42

จิตอาสารุ่นแรกๆ

เราก็ไปท่องเที่ยวกัน ไปเดินตามสลัม ไปกับคุณหมอชวลิต (น.พ. ชวลิต จิตรานุเคราะห์)
และคุณพ่อบอนแนงก์ (Bonningue) เราก็ไปเดิน น้ำครำสูงเท่านี้ก็ยังบุกไปหน้าตาเฉย

เขามีสะพานเดิน แต่มันไม่อยู่ข้างบน มันอยู่ใต้น้ำอีกที เวลาเราเดิน เราก็ต้องหาว่า สะพานอยู่ตรงไหน
แล้งก็ค่อยๆย่องไป ระหว่างบ้านต่อบ้านที่ดินแดงนั่นแหละ และก็กองขยะอันเหม็นคลุ้งที่ดิฉันเขียนในกลอนที่ว่า ”หลังคามุงจากคาดวงยาง”อะไรนี่ 
คนเขาบอกว่าพูดอะไรไม่รู้เรื่อง  แต่เป็นเรื่องของการคาดวงยางจริงๆ

หลังคาเขาจะทำของเขา  เขาหาตับจากมาได้เขาก็เอามาโปะ
หากระดาษหนังสือพิมพ์มาได้ก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์มาโปะ กระดาษแข็งก็เอามาโปะ ทุกเอย่างมาโปะเป็นหลังคาทั้งนั้น 
ใบไม้อะไรก็แล้วแต่...มันก็จะพรึ่บๆๆๆอย่างนี้เวลาลมมา
เขาก็จะเอายางรถยนต์หรือยางอะไรก็ได้โยนทับลงไปเพื่อจะรักษาให้มันอยู่อย่างนั้น
คือคนจนเขานึกทำอะไรได้ เขาก็ทำของเขา
 
ก็มีคนถามว่า  “หมอๆไปดูซิ คนเจ็บจะทำอย่างไรดี” เราก็บอกว่า “ไหนๆ” เขาก็พาไป
มันเป็นกระต๊อบแค่นี้ ใหญ่เท่าโต๊ะเรานี้ พอที่จะมีคนไปนอนตรงนั้นได้
ทีนี้เขาก็เอาอะไรปะๆไว้เต็ม แล้วเขาก็ปิดข้างบน

เราก็ไปดู เขานอนอยู่ข้างใน หมอบอกว่า แล้วฉันจะเข้าไปอย่างไร จะลงไปอย่างไร ไม่มีทางเข้า ทางออก ในที่สุด
เราก็ตัดสินใจยกหลังคาของเขาออกทั้งอัน ช่วยกันหามเอาตัวออกมาแล้วเอาไปโรงพยาบาล

อยู่บริษัทเชลล์ ดิฉันก็ยังไปสลัม แล้วไปซื้อบ้าน
เสาเรือนมันง่อนแง่นๆ ซื้อบ้านไว้ 3 พันบาท
แล้วก็ชวนพวกนิสิตจุฬาฯให้เขาไปช่วยสอนหนังสือที่นั่น
ตอนนั้นเด็กจะมาเรียน ไม่มีเสื้อใส่เขาจะเอาผ้านุ่งของแม่ผืนใหญ่พับเอาเชือกกล้วยคาด
แล้วนิสิตที่ไปช่วยสอนก็ผลัดกันมา

วันหนึ่งเราเอาเสื้อผ้าไปแจก ก็ปรากฏว่าแทนที่จะดี โดนด่าใหญ่เลย
เราพบว่าคนที่ไม่ได้รับแจกก็ผิดหวังเลยด่าสาดเสียเทเสีย

ตอนแรกๆที่เราเข้าไปในสลัม เขาก็จะหาว่าเรามาหาเสียง
แต่พอเราเข้าไปนานๆจนเขารู้จักเราแล้ว เขาก็รู้ว่าเราไม่ได้มาหาเสียง เขาก็ดีขึ้นๆ
ส่วนเด็กที่นั่งเรียน เราจะไปซื้อไม้ยาวๆมา เราก็จะต่อขาเตี้ยๆ เด็กจะนั่งกับพื้นแล้วก็เขียนกระดานชนวน
ดินสอก็จะหาไว้ให้ แต่ทำได้ไม่นาน เขาก็มาเอาเด็กเราไปหมด
มีคนจัดการเอาไปเข้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์
ตอนนั้นไม่มีคนไปทำลักษณะแบบนี้ เป็นครั้งแรก ทุกอย่างมันใหม่เกินไปหมด มันเร็วเกินไปสัก 20 ปี

บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 พ.ค. 16, 22:14

คืนนี้ขอหยุดถ่ายทอดเรื่องราวของท่านไว้แค่นี้ก่อนนะคะ
พรุ่งนี้มีเวลา ค่อยมาเล่าเรื่องส่วนที่เหลือ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 06:04

น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ขอบพระคุณคุณกุลภาที่กรุณานำมาเผยแพร่  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 พ.ค. 16, 08:20

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง