เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 19526 ผู้หญิงของสุนทรภู่
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 26 เม.ย. 16, 11:47

ยังติดตามอยู่เช่นกันครับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 26 เม.ย. 16, 13:38

อาจารย์ระวัง Post สลับกันนะครับ  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 28 เม.ย. 16, 09:56

จะพยายามค่ะ  ยิ้มเท่ห์ ยิ้มเท่ห์

ชีวิตของสุนทรภู่ค่อนข้างระหกระเหิน  ขึ้นสูงก็สูงมาก  ตกต่ำก็ต่ำมาก  สูงก็ขนาดหมอบใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งน่าจะเป็นระดับเจ้าพระยาที่มีโอกาสขนาดนี้      ตกต่ำก็ขนาดต้องรำพึงว่า

มาถึงบางธรณีทวีโศก                            ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น
โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น                     ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้                   ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ              เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ

ถ้าไม่โทษกรรมเก่า  ก็ต้องมองหากรรมปัจจุบันมาอธิบาย  อย่างหนึ่งที่เห็นในนิราศก็คือสุรากับนารี   สุนทรภู่กินเหล้า   กินชนิดขาดไม่ได้    ส่วนผู้หญิงก็ขาดไม่ได้เช่นกัน   สองข้อนี้อ่านได้จากคำรับสารภาพของเจ้าตัว

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง                   มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา                  ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ                    พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                       ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก                 สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                    แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 28 เม.ย. 16, 10:04

 กรรมในปัจจุบันของสุนทรภู่มี 2 อย่าง คือสุนทรภู่เป็นคนติดเหล้า  ติดหนักขนาดเมาอาละวาด คุมสติไม่อยู่  (ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย)    แม้ว่าบวชแล้วก็ยังเลิกไม่ได้   ข้อนี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องฟ้องร้องต้องอธิกรณ์เมื่อบวชในวัดราชบูรณะ  ต้องออกจากวัดลงเรือตุหรัดตุเหร่ไปกับลูกชาย     
ตัวท่านเองก็ไม่ใช่ว่าไม่รู้ถึงโทษของสุรา     แต่ก็สารภาพอย่างหน้าชื่นตาบานว่า  " ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป"    แปลว่า จะให้ตัดขาดจากเหล้า  ไม่ให้จิบให้ชิมเสียเลยก็เกินไปละ   สรุปคือ รู้ทั้งรู้ว่าติดเหล้าแล้วเหมือนตกนรกก็ยังไม่วายกินอยู่นั่นเอง   

แต่ที่ร้ายกว่าเหล้าก็คือ มัวเมาเรื่องผู้หญิง   ขนาดบวชเป็นพระแล้วก็ยังสารภาพว่า คิดถึงผู้หญิงอยู่ตลอดเวลา    หักห้ามใจให้อยู่ในศีลอย่างผู้ถือบวชไม่ได้  (แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน)   
จึงไม่น่าแปลกว่า ไม่ว่าจะบวชหรือสึกเป็นคฤหัสถ์     ไปไหนต้องหลงละเมอเพ้อพกถึงสาวคนนั้นสาวคนนี้ที่พบเห็นอยู่ร่ำไป    แม่คนนั้นแม่คนนี้บางคนที่รำพันไว้ในนิราศก็น่าจะเป็นลูกสาวชาวบ้านหรือขุนนางที่เจอขณะเจ้าของบ้านเขานิมนต์ไปสวด     หลวงลุงก็อดใจไม่ได้อยู่ร่ำไป
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 28 เม.ย. 16, 14:10

มารายงานตัวค่ะ จริงๆ อ่านมาตลอดนะคะ แต่ไม่ได้ออกเสียงค่ะ  ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 29 เม.ย. 16, 14:08

ผู้หญิงอีกสองคน ที่สุนทรภู่เอ่ยไว้ในนิราศพระประธม   บอกเล่าความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ  ผิดไปจากคนอื่นๆ

ที่ปลูกรักจักได้ชื่นทุกคืนค่ำ                               ก็เตี้ยต่ำตายฝอยกร๋องกร๋อยโกร๋น
ที่ชื่นเชยเคยรักเหมือนหลักประโคน                      ก็หักโค่นขาดสูญประยูรวงศ์
ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่                                 ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
จะเชิญเจ้าเท่าไหร่ก็ไม่ลง                                 ให้คนทรงเสียใจมิได้เชย

เริ่มต้นพรรณนาถึงอกหักรักสลาย  ซึ่งเป็นธรรมดาของกวีท่านนี้   เกี้ยวผู้หญิงได้สมหวังอยู่พักหนึ่งก็มีเหตุตัดสวาทขาดกันไป   เท่าที่สังเกต   พระเอกเราเป็นฝ่ายอกหักเสียมากกว่าจะหักอกผู้หญิง
แต่หญิงที่เข้ามาพัวพันนี้   น่าจะมีหลายคนพร้อมๆกัน  ไม่ได้เกี้ยวทีละคน    เมื่อเลิกร้างกับสาวอื่นไปหมดแล้วจึงปรากฏว่ายังเหลืออีกคนหนึ่งชื่อว่า แม่ศรีสาคร      แต่จะหันกลับไปสานสายสัมพันธ์ต่อ ก็ไม่สำเร็จ   เพราะแม่ศรีสาครได้หวานใจคนใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว  เป็นหญิงด้วยกันชื่อนางสาหงส์ 
คงจะรักใคร่กันมากเพราะใช้คำว่า "สิงสู่เสน่หา"  ทำให้คิดว่าคนใดคนหนึ่งในคู่นี้น่าจะมีอาชีพเป็นคนทรง    ไม่นางสาหงส์ก็นางศรีสาคร
สุนทรภู่คงจะเจ็บใจไม่น้อย  จึงเปรียบเปรยว่าตัวเองทำตัวเป็นคนทรงแข่งกับเขาบ้าง   แต่ล้มเหลว เชิญแม่ศรีสาครเท่าไหร่ นางก็ไม่ยอมมาเข้าทรงสักที  สรุปว่ากวีก็เลยรับประทานแห้วไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 29 เม.ย. 16, 14:16

ในนิราศพระประธมนี้เช่นกัน พูดถึงแม่ม่ายคนหนึ่งที่สุนทรภู่ไปติดพัน 

สงสารแต่แม่ม่ายสายสวาท                             นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล
อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองไน                        เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว
แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง                            ไปร่วมห้องหายหม้ายทั้งหายหนาว
นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวข้าวเหนียวลาว                 ลืมข้าวเจ้าเจ้าประคุณที่คุ้นเคย

สุนทรภู่น่าจะเคยมีความสัมพันธ์กับแม่ม่ายคนนี้ ในระดับไม่ธรรมดา       แต่ว่าผู้หญิงเปลี่ยนใจ    ไปชอบผู้หญิงด้วยกัน   พระเอกของเราก็เลยตัดพ้อต่อว่า  กระทบกระแทกว่าทอมของเธอนั้นเหมือนข้าวเหนียวลาว    ส่วนชายแท้อย่างท่านเหมือนข้าวเจ้า   ตามธรรมดาคนไทยซึ่งหมายถึงชาวภาคกลางกินข้าวเจ้าเป็นหลักอยู่แล้ว    ไม่ได้กินข้าวเหนียว      เมื่อแม่ม่ายรายนี้ไปทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ก็เลยถูกเหน็บแนมเอาแบบนี้
คำว่า "เพื่อน" ในที่นี้ ไม่ได้แปลว่า friend   แต่หมายถึงเลสเบี้ยน

แม่ม่ายคนนี้อาจจะหมายถึงแม่ศรีสาครก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 29 เม.ย. 16, 15:17

ที่ปลูกรักจักได้ชื่นทุกคืนค่ำ                               ก็เตี้ยต่ำตายฝอยกร๋องกร๋อยโกร๋น
ที่ชื่นเชยเคยรักเหมือนหลักประโคน                       ก็หักโค่นขาดสูญประยูรวงศ์
ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่                                ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
จะเชิญเจ้าเท่าไหร่ก็ไม่ลง                                 ให้คนทรงเสียใจมิได้เชย

แม่ศรีสาครได้หวานใจคนใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว  เป็นหญิงด้วยกันชื่อนางสาหงส์  คงจะรักใคร่กันมากเพราะใช้คำว่า "สิงสู่เสน่หา"  ทำให้คิดว่าคนใดคนหนึ่งในคู่นี้น่าจะมีอาชีพเป็นคนทรง    ไม่นางสาหงส์ก็นางศรีสาคร สุนทรภู่คงจะเจ็บใจไม่น้อย  จึงเปรียบเปรยว่าตัวเองทำตัวเป็นคนทรงแข่งกับเขาบ้าง   แต่ล้มเหลว เชิญแม่ศรีสาครเท่าไหร่ นางก็ไม่ยอมมาเข้าทรงสักที  สรุปว่ากวีก็เลยรับประทานแห้วไป


ตีความได้ ๒ นัยคือ

๑. อาจไม่มีใครเป็นคนทรงเลยก็ได้

คุณชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ภาควิชาภาษาไทย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาบทกลอนของสุนทรภู่ (ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต, ๒๕๔๔) ได้ตีความบทกลอนตอนนี้ว่า แม่ศรีสาครนั้นรักใคร่นางสาหงส์ คำว่า “สิงสู่" ในที่นี้แสดงว่าความรักที่แม่ศรีสาครมีต่อนางสาหงส์ถึงขั้นหลงใหลมากถึงขนาดไม่ยอมจากมาหรือไม่ยอมอยู่ห่างไกลนอกจากนี้ข้อความที่ว่า "จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง"แสดงว่าสุนทรภู่ก็มีจิตหมายปองแม่ศรีสาครแต่แม่ศรีสาครไม่สนใจสุนทรภู่ และไม่ยอมเลิกรักนางสาหงส์

๒. ถ้ามีคนทรง อาจจะเป็นนางสาหงส์

ชื่อนางสาหงส์นี้ไปปรากฏในเรื่อง อภัยนุราช อันเป็นบทละครของสุนทรภู่ และได้พรรณาว่า

บัดนั้น                                          นางศรีสาหงคนทรงผี
อยู่แต่ตัวผัวตายหลายปี                      อายุสี่สิบสี่ปีปลาย
นัยน์ตาพองสองผมนมคล้อย                ทำชดช้อยลอยเลิศเฉิดฉัน
นุ่งแดงห่มชมพูพิศดูกาย                     ออกจากเรือนเดือนหงายกรีดกรายมา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 29 เม.ย. 16, 15:27

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่านางสาหงส์นี้สุนทรภู่ได้อาศัยให้เป็นแม่สื่อเพื่อช่วยให้ได้รักกับแม่ศรีสาคร และนางสาหงส์มีอาชีพเช่นนี้ ก็ช่วยให้คิดไปว่าคงจะมีนิสัยจัดจ้านสักหน่อย ทั้งยังชวนให้คิดต่อไปอีกว่า บางทีนางก็คงตกเป็นเมียกวีเอกของเราด้วย นางศรีสาหงในเรื่องอภัยนุราชนี้ สุนทรภู่คงจะถอดเอามาจากนางสาหงส์แม่สื่อของท่าน และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็พอปรับได้กับ นางผีเสื้อยักษ์ ในเรื่องพระอภัยมณี เพราะตอนที่ฤๅษีเกาะแก้วพิสดารด่าผีเสื้อสมุทรก็มีความคล้ายกันอยู่

พระโยคีชี้หน้าว่าอุเหม่                       ยังโว้เว้วุ่นวายอีตายโหง
เพราะหวังผัวมัวเมาเฝ้าตะโกรง             ว่ากูโกงมิงตกนรกเอง
อียักษาตาโตโมโหมาก                      รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหม็ง
นมสองข้างอย่างกระโปรงดูโตงเตง        ผัวของเอ็งเขาระอาไม่น่าชม


ในนิราศพระประธมมีตอนหนึ่ง กล่าวถึงแม่ศรีสาครว่า

แม่หม้ายสาวขาวโศกโฉลกมี              เหมือนแม่ศรีสาครฉะอ้อนเอว

อาจารย์ธนิต กล่าวว่า เห็นพอจะปรับได้กับนางเงือกเพราะนางเงือกมีลูกออกมาชื่อ สุดสาคร ชื่อนี้ออกจะพ้อง ๆ กับแม่ศรีสาครอยู่ เหตุที่พอจะปรับได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ นาม ศรีสาคร พอจะแปลได้ความว่าเป็น ศรีแก่ลำน้ำ ก็ผู้ที่เป็นศรีแห่งลำน้ำนั้น เห็นจะได้แก่ นางเงือก เป็นแน่นอน ดังนั้น สุนทรภู่จึงวาดนางเงือกโดยถอดแบบมาจากแม่ศรีสาครก็อาจเป็นได้

แม่ศรีสาคร อาจมีลักษณะเหมือนอย่างตอนที่พระอภัยมณีพิจารณานางเงือก สุนทรภู่พรรณาไว้ว่า

พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย             ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม  
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม           ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง  
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด                  ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง  
พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง          แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 02 พ.ค. 16, 09:38

นางเงือกน้อยแม่ของสุดสาครเป็นสาวรุ่น   ส่วนแม่ศรีสาครเป็นแม่ม่าย น่าจะเป็นสาวใหญ่แล้ว   อาจจะเป็นคนละคนกัน

กลับมาที่อาการ "ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก" ของสุนทรภู่        นอกเหนือจากสาวๆระดับสามัญชนเหมือนกัน ที่สุนทรภู่เจออยู่หลายคน     ในนิราศวัดเจ้าฟ้า  ท่านยังกล่าวถึงหญิงสาวในระดับสูงกว่าสามัญที่ท่านไปพัวพันอยู่ด้วย

                                               อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช                  ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงษ์          ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมลงภู่ชม
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน          ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่หาอาลัยใจนิยม                          จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม

ท่านรำพันถึงสาวชาววัง ที่เรียกเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า "ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์"  แล้วยังบอกเสียอีกว่า "ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมงภู่ชม"
ถ้าหมายถึงแม่จัน ที่เป็นสาวชาววังหลังก็ไม่แปลก   เพราะเคยร่วมหอลงโรงกับหนุ่มแมงภู่กันมาแล้ว      แต่ในกลอนตอนนี้ คงไม่ใช่แม่จันซึ่งเลิกร้างกันไปนานหลายปีแล้ว   แต่น่าจะหมายถึงสาวสูงศักดิ์ที่สุนทรภู่เล็งแลอยู่ในขณะนั้น    วิธีเขียน แฝงนัยยะไว้ว่า ถึงยังไงก็ไม่พ้นมือ

ถ้านักเรียนชั้นเรียนนี้ สงสัยว่าทำไมชีวิตกวีเอกถึงได้ระหกระเหินลุ่มๆดอนๆ  ไม่เห็นจะราบรื่นอย่างที่ควรเป็น ทั้งที่เป็นขุนนาง  ดีกว่าไพร่เป็นกอง    ขนาดบวชแล้วก็ยังไม่มีความสุขในรสพระธรรมอย่างพระสงฆ์อื่นๆ   
คำตอบก็คือ  อาการเมาเหล้ากับอาการเมารัก  นี่แหละคือสาเหตุ   ตัดเหล้าไม่ได้อย่างเดียวก็หนักพอแล้ว   นี่ยังตัดรักไม่ขาดอีกด้วย
ใจคะนึงหาสาวๆอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตอนบวช  อุตส่าห์แปลงจากพระเป็นเณร อ้างชื่อลูกชายเป็นคนแต่งเพื่อให้เพลาๆความไม่เหมาะไม่ควรลงหน่อย   ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของท่านอยู่ตลอดเรื่อง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 02 พ.ค. 16, 09:48

ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเช่นกัน ที่บอกให้รู้ว่าใจของสุนทรภู่ตอนนั้นกำลังหลงใหลใฝ่ฝันสาวสูงศักดิ์อยู่นางหนึ่ง    เป็นใครไม่ได้บอกชื่อไว้  ซึ่งก็คงบอกไม่ได้ เพราะเผยแพร่ออกไปอาจจะหัวขาด

มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น                        ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน                        เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังคอยสอยสวาท                                แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ                                จะต้องคร่ำคร่าเปล่าแล้วเราเอย

กลอนตอนนี้ มีลักษณะเป็นกลอนเพลงยาวเขียนถึงผู้หญิง     เพราะมีคำว่า "จงทราบความตามใจอาลัยวอน" กับ "จะคอยฟังดังคอยสอยสวาท"    คือเป็นการเขียนส่งให้หญิงสูงศักดิ์ที่ท่านเปรียบเทียบว่าเป็นดอก "มณฑาทิพย์"  คือดอกไม้สวรรค์     โดยหวังว่าจะได้คำตอบจากเธอด้วย
นิราศวัดเจ้าฟ้า จึงไม่ใช่บันทึกการเดินทาง   ไม่ใช่กลอนที่เขียนไว้ขายชาวบ้าน  อย่างเขียนนิทานเรื่องพระอภัยมณี    แต่เป็นสารหรือแมสเสจที่ส่งให้หญิงงามนางหนึ่งที่ท่านมีใจให้อยู่ในตอนนั้น      หวังว่าเธอจะตอบ   ถ้าตอบดังหวัง แล้วก็จะ "ชิมให้อิ่มหนำ" แปลว่าจะก้าวเข้าไปถึงความสัมพันธ์กันละ    แต่ถ้าผู้หญิงยังสงวนท่าทีไม่ตอบ  ก็คงแห้วรับประทานไปเหมือนรายก่อนๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 02 พ.ค. 16, 10:29

ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเช่นกัน ที่บอกให้รู้ว่าใจของสุนทรภู่ตอนนั้นกำลังหลงใหลใฝ่ฝันสาวสูงศักดิ์อยู่นางหนึ่ง    เป็นใครไม่ได้บอกชื่อไว้  ซึ่งก็คงบอกไม่ได้ เพราะเผยแพร่ออกไปอาจจะหัวขาด

มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น                   ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน                      เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังคอยสอยสวาท                        แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ                       จะต้องคร่ำคร่าเปล่าแล้วเราเอย


กลอนตอนนี้ มีลักษณะเป็นกลอนเพลงยาวเขียนถึงผู้หญิง     เพราะมีคำว่า "จงทราบความตามใจอาลัยวอน" กับ "จะคอยฟังดังคอยสอยสวาท"    คือเป็นการเขียนส่งให้หญิงสูงศักดิ์ที่ท่านเปรียบเทียบว่าเป็นดอก "มณฑาทิพย์"  คือดอกไม้สวรรค์     โดยหวังว่าจะได้คำตอบจากเธอด้วย

ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์       จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน               อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ


นี่คือความอีกตอนหนึ่ง  มีคำว่า "ทั้ง" เริ่มต้นไว้ เป็นการคั่นระหว่างบทก่อนกับบทนี้ให้รู้ว่าคนละคน
แก้วเนตร แปลว่าแม่แก้วตา(พี่)  มณฑาทิพย์ เป็นสร้อยคำประกอบชื่อเกสรา  บอกให้รู้ว่าเปรียบแม่คนนี้เป็นดอกไม้สวรรค์  น่าจะมีฐานะในสังคมดีกว่าหญิงชาวบ้านทั่วไป
ยิ่งอวยพรให้หล่อนเป็นดอกไม้สวรรค์ที่ลอย(กลับ)ขึ้นไปถึงสวรรค์ ก็ยิ่งเห็นว่ายกย่องคนนี้
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน    วรรคนี้แน่นอนว่าเป็นเมีย
ส่วนวรรคท้ายแสดงว่าแม่เกษ ตายเพราะอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่ใช่เจ็บป่วยหรือแก่ตาย

ในพระอภัยมณี  สุนทรภู่ตั้งชื่อตัวละครหญิง เมียของศรีสุวรรณว่า นางแก้วเกษรา   ผู้หญิงคนนี้เป็นคนดีที่สุดในบรรดาเมียๆของพระเอกพระรอง
สวย อ่อนหวาน ไม่มีความหึงหวง จงรักภักดีต่อสามี เสมอต้นเสมอปลาย แต่ไม่ค่อยมีบทบาท  เป็นภาพที่เลือนๆเมื่อเทียบกับคนอื่น
เป็นได้ว่าเอาเค้าโครงการสร้างมาจากแม่เกษคนนี้แหละค่ะ

ฤๅ "แม่มณฑาทิพย์" จากนิราศวัดเจ้าฟ้า จะเป็นคนเดียวกับ "แม่เกสรา" ในนิราศพระประธม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 02 พ.ค. 16, 11:13

กลอนอีกตอนหนึ่งบอกถึงสถานะของเธอ ว่าเป็นดวงจันทร์ ที่สุนทรภู่เป็นแค่กระต่าย   แต่ไม่ใช่กระต่ายธรรมดา  เป็นกระต่ายกายสิทธิ์ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมกับดอกฟ้า
คำว่า "ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม"  ฝากคุณเพ็ญชมพูไปค้นว่า หมายถึงอะไร

เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน                     ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่หาอาลัยใจนิยม                                     จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง                     สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม                             ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า             ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา
ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา                             มิให้แก้วแววตาอนาทร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 03 พ.ค. 16, 08:45

แต่ "มณฑาทิพย์" อาจไม่ใช่ผู้หญิงฐานะทางสังคมสูงสุดเท่าที่สุนทรภู่จะเกี่ยวข้องด้วยได้      ยังมีอีกคนหนึ่ง  คนนี้นักวรรณคดีถอดความออกมาแล้วก็ตกตะลึงพรึงเพริดกัน ว่าสุนทรภู่อาจเอื้อมใฝ่สูงถึงขนาดนี้เชียวหรือ

พูดถึงความเป็นมาของ "รำพันพิลาป" เป็นเรื่องที่สุนทรภู่ได้แต่งขึ้นตามความฝันของท่านในคืนวันจันทร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเวลานั้นท่านมีอายุ ๕๖ ปี ยังครองเพศเป็นสมณะและจำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม
ต้นฉบับ "รำพันพิลาป" ที่ใช้เป็นฉบับพิมพ์มีอยู่ ๑ เล่มสมุดไทย พระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) ได้นำมามอบให้แก่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๑ และพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้ตรวจสอบชำระและทำเชิงอรรถประกอบตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเนื่องในวันเกิดครบ ๑๗๕ ปีของสุนทรภู่ (๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๔)

ในรำพันพิลาป  สุนทรภู่เล่าว่าฝันไป ว่าเห็นนางฟ้าทรงโฉมงดงาม พร้อมบริวารสาวน้อยๆจำนวนมาก  มาปรากฏตัวให้เห็น

ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ                       ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี
ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด              โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี                      แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ                      เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชะม้ายชายชำเลือง              ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม              แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม              มาประโลมโลกาให้อาวรณ์
แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร์              วิไลลักษณ์ล้ำเลิศประเสริฐสมร
ครั้นปราศรัยไถ่ถามนามกร                      ก็เคืองค้อนขามเขินสะเทินที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 03 พ.ค. 16, 08:52

ไต่ถามกันยังไม่ทันรู้ชื่อ นางก็ขึ้นรถทิพย์เหาะลอยลับไปจากสายตา      แต่กวีเอกของเราก็ไม่หมดความหวัง   จู่ๆก็เห็นเทพธิดาคือนางเมขลาเหาะลอยมาบอกชื่อให้รู้

นี่จนใจไม่รู้จักที่หลักแหล่ง                     สุดแสวงสวาทหมายไม่วายหมอง
เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง             เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา                     ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์                     พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นี้อยู่ชั้นฟ้า                     ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้                     เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด                     มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร             จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง ๚
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง