เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 16975 ถามเรื่องพระลักษณะของรัชกาลที่ ๑ ครับ
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



 เมื่อ 01 เม.ย. 16, 21:57

ผมเคยอ่านเจอสักแห่งประมาณว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ทันได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงจำได้ว่าพระองค์มีพระฉวีคล้ำมาก ซึ่งเหมือนจะพูดกันว่าเพราะพระองค์เสด็จออกทำศึกสงครามบ่อยครั้ง

อีกเรื่องหนึ่งคือกล่าวกันมาว่าพระพุทธยอดฟ้ากับพระนั่งเกล้านั้นมีพระพักตร์คล้ายกัน เพียงแต่พระนั่งเกล้าทรงพระเจริญหรืออ้วนกว่า และเพราะมีพระพักตร์คล้ายกันทำให้พระพุทธยอดฟ้าทรงโปรดพระเจ้าหลานเธอองค์นี้


เนื้อหาประมาณนี้ครับ ไม่แน่ใจว่าจำมาถูกหรือเปล่า และจำไม่ได้ว่าเคยอ่านจากที่ไหน เลยอยากสอบถามหลายๆท่านว่า มีหนังสือหรือหลักฐานที่อ้างอิงถึงคำบอกเล่าเหล่านี้หรือเปล่าครับ


ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 เม.ย. 16, 08:48

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคตเมื่อ  7 กันยายน พ.ศ. 2452
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ หรือพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ประสูติเมื่อ 18 ตุลาคม 2347     
เด็กอายุ 5 ขวบ สติปัญญาปราดเปรื่อง น่าจะจำปู่ของตัวเองได้บ้างไม่มากก็น้อย  โดยเฉพาะลักษณะเด่นที่กระทบสายตา
คำบอกเล่านี้ไม่เคยได้ยิน   แต่บวกลบพศ. น่าจะมีความเป็นไปได้


ส่วนเรื่องสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระรูปโฉมคล้ายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเคยอ่านพบมาหลายครั้งแล้วค่ะ       
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 เม.ย. 16, 11:19

คุณศรีสรรเพชญลองหาของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์ตอนหนึ่งในเรื่องการสร้างพระบรมรูป ๔ รัชกาลดูนะครับ มีอธิบายมูลเหตุและเนื้อหาโดยละเอียดแล้วทุกประการ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 22:07

ทั้งในพระนิพนธ์เรื่องความทรงจำ กับ บันทึกรับสั่งเรื่องการสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทยของกรมพระยาดำรงฯ ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระพักตร์คล้ายกันที่ว่าเลยครับ

ความทรงจำ

 เรื่องสร้างพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์นั้น ก็เริ่มปั้นหุ่นมาแต่ปีมะเส็ง การสร้างพระบรมรูปไม่เคยมีประเพณีมาแต่ก่อน แต่โบราณรูปที่สร้างเป็นเจดีย์วัตถุสำหรับสักการบูชาสร้างแต่พระพุทธรูป และเทวรูปหรือรูปพระสงฆ์ซึ่งมีผู้นับถือมาก แม้จะสร้างพระรูปเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินก็สร้างเป็นพระพุทธรูปดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือมิฉะนั้นก็สร้างเป็นรูปพระอิศวรหรือพระนารายณ์ ยังมีอยู่ในเมืองเขมรหลายองค์ ที่จะสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปมนุษย์แต่โบราณหาทำไม่ อะไรเป็นต้นเหตุให้ทิ้งตำราเดิม เวลาแต่งหนังสือนี้หมดตัวผู้รู้เสียแล้ว นึกเสียดายที่ไม่ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อยังมีโอกาสที่จะรู้ได้ จึงได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่

คือเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ได้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเข้ามาหลายองค์ เป็นพระรูปหล่อเช่นที่เอมเปอเรอนะโบเลียนที่ ๓ กับพระมเหสีถวายมาเป็นบรรณาการบ้าง เป็นพระรูปปั้นระบายสีเช่นที่ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานบ้าง ความนิยมคงจะเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงมีผู้ส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก๊อต) ไปให้ทำเป็นรูปหล่อที่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ช่างปั้นฝรั่งเศลเป็นผู้ปั้น ได้เห็นแต่ฉายาลักษณ์ จึงคิดประดิษฐ์พระรูปโฉมตามคาดคะเน แล้วหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ขนาดสูงราวครึ่งเมตร ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เห็นพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิดเพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทย (จะเป็นใครสืบไม่ได้ความ แต่เป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมอยู่ในเวลานั้น) ปั้นพระบรมรูปขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์
แต่การปั้นยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ

เมื่อมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่าควรจะสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์เป็นพระรูปหล่อขนาดเท่าพระองค์ขึ้นไว้เป็นที่สักการบูชาเฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ในราชการแผ่นดินก็เห็นชอบด้วย เพราะมีแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเป็นเยี่ยงอย่าง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มสร้างรูปมนุษย์มาแล้ว

สันนิษฐานว่ามูลเหตุที่สร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์ เห็นจะเป็นเช่นว่ามา การสร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประกิษฐวรการอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะได้แน่แต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว

ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับเจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 22:09

บันทึกรับสั่งเรื่องการสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินไทย

ประเพณีทำโมนูเมนท์พระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้วมีมาเก่าแก่ ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้จากเขมรทำเป็นเทวรูป ถ้าถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมักทำเป็นพระโพธิ์สัตว์ สันนิษฐานว่าไทยได้ประเพณีนี้มาแต่เขมร ไทยกรุงศรีอยุธยามีพระเทพบิดร และรูปสมเด็จพระนเรศวรอยู่ที่โรงพระแสง พระบรมรูปทั้งสองนี้คงใช่รูปตัวแต่เป็นเทวรูป ที่ว่าเช่นนี้เพราะปรู๊พได้ เมื่อเสียกรุงนั้นปรากฏว่าพระรูปพระเทพบิดร (ว่าสร้างแทนพระองค์พระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี) อยู่ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไฟไหม้เชิญเอาไปไว้ที่ซุ้มจรนำวัดพุทไธศวรรย์ ชาวบ้านชาวเมืองว่าดุร้ายนัก กรมหลวงเทพหริรักษ์ขึ้นไปทำเพนียด นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงเอาลงมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง เอาไว้ในหอพระเทพบิดรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเมื่อรื้อหอเลยเก็บไว้ในปราสาทพระเทพบิดรมุขหลัง เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังคงอยู่ในนั้น (ได้คงวามว่าได้ย้ายมาไว้ในวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่ทราบว่าเป็นองค์ไหน เพราะมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน) ส่วนที่วัดพุทไธศวรรย์เดิม ได้ปั้นเป็นพระพุทธรูปไว้แทนจนทุกวันนี้

แม้ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลต่อๆมา ก็มีการหล่อพระพุทธรูปไว้แทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ หล่อพระพุทธจักรพรรดิ รัชกาลที่ ๒ หล่อพระพุทธนฤมิตร เป็นทองคำทั้งพระองค์ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในหอพระสุราลัยพิมานทั้งสองพระองค์ แต่พระพุทธนฤมิตรนั้นโปรดฯ ให้จำลองไปไว้ที่วัดอรุณราชวรารามพระองค์หนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปสูง ๖ ศอกสองพระองค์หุ้มด้วยทองคำเนื้อ ๘ องค์หนึ่งหนัก ๖๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ทรงเครื่องต้นอย่างบรมกษัตริย์ ลงยาราชาวดีประดับด้วยนวรัตน์มีราคาเป็นอันมาก พระพุทธรูปสองพระองค์นี้ให้ตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์ข้างเหนือถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ องค์ข้างใต้ถวายว่า พระพุทธเลิศหล้าสุราลัย มาเปลี่ยนเป็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อรัชกาลที่ ๔ (เดิมเรียกรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ใช้บัตรหมายในราชการทั้งปวงอ้างนามแผ่นดินตามพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ ไม่ให้ใช้ว่าแผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง เพราะทรงเห็นเป็นอวมงคล)

เหตุที่ทำเป็นพระบรมรูปหล่อเป็นคนมีดังนี้ ในรัชกาลที่ ๔ พระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ กับเอมเปรสด์ส่งรูปหล่อครึ่งตัวเป็นบัสทองแดงมาถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดมาก และจะต้องให้ของตอบแทน เมื่อทูตฝรั่งเศสกลับไปให้ช่างปั้นรูปมาถวายเป็นรูปเต็มพระองค์แต่ก็ไม่ตกลงกัน เป็นปัญญาว่าจะตอบแทนอย่างไรกัน อีกคราวหนึ่งเอมเปอเรอส่งตราเลยองออนเนอร์มาถวาย ดวงตรามีหัวนะโปเลียนโบนาปารต พระเจอมเกล้าฯ ให้ทำส่งออกไปบ้างเป็นรูปที่ทำได้เหมือนมาก เดี๋ยวนี้พระบรมรูปติดตรานั้นยังอยู่ที่วังฟองเตนโบล

ในเรื่องรูปปั้นนั้น ต่อมาว่าให้พระยาจินดารังสรรค์ปั้นใหม่ด้วยปูนปลาสเตอร์ ปั้นเท่าพระองค์ทรงพระมาลาสก๊อท ทรงผ้าเยียระบับ เดิมอยู่ที่หอศาสตราคม รื้อหอแล้วเอามาไว้ที่กระทรวงมหาดไทยพักหนึ่ง แล้วส่งไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งเพ็ชภูมิไพโรจน์ จังหวัดเพชรบุรี (ที่เขาวัง) กับได้จำลองไว้อีกองค์หนึ่งในปราสาททางด้านตะวันตกในวัดราชประดิษฐฯ แต่หาได้ส่งไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ ไม่ ที่ไม่ได้ส่งไปนั้นเพราะเป็นรูปปั้นด้วยปูนน้ำมัน ยังไม่ได้หล่อ ครั้นจะหล่อต้องเข้าไฟ การเอารูปปั้นเข้าไฟนั้นถ้ายังมีพระชนม์อยู่ถือว่าเป็นอัปมงคล เลยไม่ได้หล่อจนแล้ว

มาในรัชกาลที่ ๕ เลยจับหล่อหมดทั้ง ๔ องค์ เกิดปัญหาขึ้นบ้างตอนปั้นพระพุทธยอดฟ้าฯ เพราะพระพุทธยอดฟ้าฯ หาคนรู้จักยาก นัยว่าเรียกคนที่เคยเห็นมาให้การ แล้วก็ปั้นตามคำให้การนั้น คนที่เคยเห็นพระพุทธยอดฟ้าฯ ครั้งนั้นยังเหลืออยู่สี่คนคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (โต) เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บุรณสิริ) พระองค์เจ้าปุก (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒) และเจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) คนที่เคยเห็นพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นมีมาก

พระบรมรูปหล่อมาหล่อเอาทั้งที่พระเจ้าแผ่นดินยังมีพระชนม์อยู่ ก็พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ดูไม่เป็นการรังเกียจกัน รูปแรกที่หล่อคือเหรียญเงินบาท แต่ก่อนหล่อกันแต่รูปพระเกี้ยว หากล้าหล่อพระบรมรูปไม่ เพิ่งมาหล่อในรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ถัดจากนั้นพระบรมรูปทรงม้าก็หล่อทั้งที่ทรงยังมีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จเปิดพระบรมรูปด้วยพระองค์เองซ้ำไป.
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 06 เม.ย. 16, 17:44


ผมเข้าใจว่า คุณศรีสรรเพชญ ต้องการทราบว่า พระรูปฯ และภาพวาดที่ปรากฏ
มีความใกล้เคียงบุคคลจริง มากน้อยเพียงใด อย่างนั้นหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 เม.ย. 16, 18:24

เข้าใจว่า สิ่งที่คุณศรีสรรเพชญ์ต้องการคือ

หนังสือหรือหลักฐานที่อ้างอิงถึงคำบอกเล่าเหล่านี้

๑.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ทันได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงจำได้ว่าพระองค์มีพระฉวีคล้ำมาก ซึ่งเหมือนจะพูดกันว่าเพราะพระองค์เสด็จออกทำศึกสงครามบ่อยครั้ง

๒.
พระพุทธยอดฟ้ากับพระนั่งเกล้านั้นมีพระพักตร์คล้ายกัน เพียงแต่พระนั่งเกล้าทรงพระเจริญหรืออ้วนกว่า และเพราะมีพระพักตร์คล้ายกันทำให้พระพุทธยอดฟ้าทรงโปรดพระเจ้าหลานเธอองค์นี้
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 เม.ย. 16, 08:30

ตามคุณเพ็ญชมพูว่าครับ ผมอยากได้หลักฐานที่กล่าวถึงจริงๆในการอ้างอิงอย่างเหมาะสม ถ้าเกิดไม่มีหลักฐานจริงๆ ผมก็จะได้ไม่เข้าใจผิดต่อไปครับ

เรื่องพระฉวีคล้ำนี้คุ้นๆเหมือนว่ามาจากคุณชายคึกฤทธิ์ แต่ไม่แน่ใจครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 เม.ย. 16, 09:20

พระพุทธยอดฟ้ากับพระนั่งเกล้านั้นมีพระพักตร์คล้ายกัน เพียงแต่พระนั่งเกล้าทรงพระเจริญหรืออ้วนกว่า

พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ซ้าย) และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขวา)

พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการทรงปั้นหล่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
 
ภาพจาก หนังสือลักษณะไทย


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 เม.ย. 16, 22:42


เราลองเริ่มจากรูปนี้ก่อนไหมครับว่าเหมือนกับรูปถ่ายจริงมากน้อยเพียงใด



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 เม.ย. 16, 13:27


เราลองเริ่มจากรูปนี้ก่อนไหมครับว่าเหมือนกับรูปถ่ายจริงมากน้อยเพียงใด



สำหรับพระบรมรูปล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ มีข้อมูลเบื้องได้ความว่า เดิมหลวงเทพรจนาได้เป็นผู้ปั้นขึ้นไว้แต่ติดค้างอยู่จนสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชดำริว่าไม่งาม จึงโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการปั้นใหม่โดยแก้ส่สวนที่บกพร่องแล้วจึงหล่อในอิริยาบทยืน โดยให้มีลักษณะรอยย่นบนพักตร์และรอยยับภูษาโจงเหมือนธรรมชาติมากกว่าองค์อื่นๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 เม.ย. 16, 13:53

สำหรับพระบรมรูปล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ มีข้อมูลเบื้องได้ความว่า เดิมหลวงเทพรจนาได้เป็นผู้ปั้นขึ้นไว้แต่ติดค้างอยู่จนสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชดำริว่าไม่งาม
ประวัติพระรูปนี้ได้ความว่า เมื่อครั้งปั้นพระรูปด้วยฝีมือฝรั่งไม่ทรงโปรด เนื่องจากไม่เหมือน และให้ช่างไทยได้ลองปั้นดูบ้าง ดูเหมือนว่าจะเป็นหลวงเทพรจนา เมื่อครั้นทอดพระเนตรก็โปรด แต่ติดอยู่ที่ต้องนำสุมไฟหลอมทอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นมงคล จึงได้นำหุ่นเก็บไว้ที่หอเสถียรธรรมปริตร แล้วย้ายไปหอราชพงศานุสรณ์ในรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลที่ ๗ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีจึงได้ขอพระราชทานไปประดิษฐานที่เขาวัง พระที่นั่งเวชยันตวิเชียรปราสาท ต่อมาจึงได้สร้างรูปหล่อโลหะแทน ส่วนองค์ปูนก็ย้ายมายังวัดบวรนิเวศ จนทุกวันนี้


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 เม.ย. 16, 12:15


ผมสนใจเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะจากที่ทำการศึกษาอยู่บ้าง
ปัจจุบันเราน่าจะมีแนวทางที่ชี้แนะได้ว่า พระลักษณะของรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างไร
ส่วนรัชกาลที่ 1 นั้นยังต้องอาศัยจินตนาการค่อนข้างมาก
ตามที่คุณศรีสรรเพชญ์พยายามตามหาหลักฐานนั่นแหละครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 เม.ย. 16, 11:48


อย่างที่เรียนไปบ้างแล้วครับ
พระบรมสาทิสลักษณ์ ที่ปรากฏของรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓
ถ้าเราพิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏอาจถือได้ว่าจิตรกรมีความสามารถวาดออกมาได้มีเค้าใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก

ตอนแรกนี้ขอนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาลงก่อนต่อไปค่อยจับแพะชนแกะกันในเรื่องทฤษฎีพันธุศาสตร์ฉบับอนุบาล และ วิธีการวิเคราะห์ภาพขั้นประถมต่อไป




บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 เม.ย. 16, 12:11


ความรู้จากโรงเรียนสอนว่าบุตรแต่ละคนจะได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมจากบิดาและมารดา
ถ้าให้ บุตร = O   บิดา = A   มารดา = B
สมมุติว่าลักษณะเด่นที่แสดงออกของบุตรมาจากบิดาและมารดาอย่างละเท่า ๆ กัน
เราอาจเขียนได้ว่า  O = 0.5A  + 0.5B

โมเดลนี้เราอาจสามารถนำมาใช้ในการทำนายลักษณะปรากฏของบุตรได้

ยกตัวอย่างบุคลสาธารณะ ครอบครัวของหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ และ หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา

เราอาจพิจารณาได้ว่าลักษณะปรากฏของหม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ O1 มีส่วนคล้ายคล้ายกับ O' ที่ได้จากโมเดล

(พิจารณาตามหลักวิชาการ เพื่อให้เป็นความรู้สาธารณะ ไม่ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย
 แต่หากมีความไม่เหมาะสม ท่านอาจารย์เทาชมพูโปรดพิจารณาลบได้นะครับ)

ในทางกลับกัน ปัญหาที่ยากกว่าคือ ถ้าทราบลักษณะปรากฏบุตร จะกลับไปหาลักษณะของบิดา มารดา ได้อย่างไร  ยิ้ม



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง