เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 20856 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับงานบุกเบิกทางการทูตของสยามในยุโรป
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 15:35

แม้ว่าท่านทูตปฤษฎางค์จะบันทึกว่าทรงได้รับการต้อนรับเป็นการส่วนพระองค์เป็นอย่างดีจากองค์พระประมุขของทุกประเทศ ในฐานะที่ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์จากสยาม แต่เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นได้

เมื่อถึงวันที่จะเข้าถวายพระราชสาส์นตราตั้งต่อพระนางเจ้าวิกทอเรียที่พระราชวังวินเซอร์ ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๑๘๘๒ นั้น แม้จะได้นัดหมายกับลอร์ดแกรนวิลล์ไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครจะทราบเรื่องการเดินทางของท่าน เมื่อเดินทางออกจากลอนดอนไปโดยรถไฟตู้โดยสารธรรมดา ท่านได้สังเกตุเห็นชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งในเครื่องแต่งกายประจำชาติอลังการ ขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันในรถตู้พิเศษ นำไปโดยมาควิสแห่งฮาร์ติงตัน รัฐมนตรีกิจการอินเดียของอังกฤษ ท่านทูตปฤษฎางค์สอบถามได้ความว่า คณะนั้นประกอบด้วยรัฐมนตรีสองคนจากไฮเดอราบาด ราชทูตจากรัฐไนซาม กับเจ้าหน้าที่ชาวอินเดียและอังกฤษอีกสามสี่คน

ท่านกับมาควิสแห่งฮาร์ติงตันนั้นเคยได้รับการแนะนำให้รู้จักกันมาก่อน แต่ในนาทีนั้นท่านมาควิสไม่มีท่าทีว่าจะจำท่านได้ เพราะกำลังง่วนอยู่กับแขกของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งท่านทูตจำเป็นต้องรักษามารยาทไม่ไปรบกวนเขา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 15:58

เมื่อไปถึงสถานีวินเซอร์ มีรถม้าสามคันมาเทียบไว้รอรับคณะชาวอินเดีย แต่ไม่มีวี่แววว่าจะมีคันใดอีกที่มารอรับท่านราชทูตจากสยาม เมื่อท่านทูตสอบถามเจ้าหน้าที่ก็พบกับคำตอบที่น่าผิดหวัง ไม่มีใครทราบการมาของท่าน เมื่อท่านร้องขอให้จัดรถให้ เขาก็นำท่านไปนั่งในรถคันที่สาม ร่วมกับพวกคนใช้ในเบาะหลัง เพราะที่นั่งดีๆทุกที่ถูกจัดให้แขกผู้มีเกียรตินั่งหมดแล้ว

นายทหารคนสนิทของมาควิสแห่งฮาร์ติงตันหันมาถามท่านว่าท่านทราบไหมว่าคณะของราชทูตสยามจะมาถึงเมื่อไหร่ และจะมากี่คนด้วยกัน ท่านทรงตอบไปว่า ไม่มีใครหรอกนอกจากตัวท่านคนเดียวนี่แหละ นายทหารคนนั้นทำท่างงเป็นไก่ตาแตกแล้วถามว่า ตัวท่านเนี่ยนะ คือท่านราชทูต ครั้นท่านทูตยืนยันว่าใช่ นายทหารผู้นั้นทำท่าตกใจแล้วก็รีบขอให้ท่านสลับที่นั่งกับตน แต่ท่านทูตบอกว่าไม่เป็นไร ท่านรู้สึกสบายดีอยู่แล้วไม่มีปัญหา นายทหารผู้นั้นหายอมไม่ และยืนยันจะให้ท่านเปลี่ยนที่นั่งกับตนให้ได้ จนท่านทูตปฤษฎางค์ต้องทรงยินยอมกระทำตาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 19:29

เอารูปมาประกอบสักหน่อยให้พอเห็นที่นั่งคนรับใช้บนรถม้าหลวงของราชสำนักอังกฤษ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 19:44

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถูกจัดให้นั่งที่นั่งบ่าว ตรงนี้เลยหรือคะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 21:20

ท่านว่าอย่างนั้นแหละครับ เพราะแขกนั่งที่นั่งดีๆหมดแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 01 เม.ย. 16, 08:57

เมื่อถึงพระราชฐานแล้ว คณะทูตชาวอินเดียได้รับการเลี้ยงรับรองมื้อกลางวันโดยมาควิสแห่งฮาร์ติงตัน โดยมีข้าราชสำนักทั้งชายและหญิงเข้าร่วมต้อนรับ  ท่านทูตปฤษฎางค์คงได้ถูกมั่วๆเชิญไปนั่งโต๊ะด้วย จึงมีโอกาสคุยกับคณะชาวไนซาม ทราบว่าพวกเขาต้องรออยู่ในลอนดอนถึง ๒ เดือน กว่าพระนางเจ้าวิกทอเรียจะโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้าได้ หลังจากวันนี้ก็จะอยู่ต่ออีกสักสิบวัน แล้วจะเดินทางไปเที่ยวยุโรปกันก่อนจะกลับบ้าน

หลังอาหารกลางวันทุ กคนลุกขึ้นจากโต๊ะแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่ามาควิสแห่งฮาร์ติงตันจะมาเสวนาด้วย ท่านทูตปฤษฎางค์จึงเป็นฝ่ายเดินไปทักทายก่อนโดยกล่าวว่าท่านมีโอกาสได้พบท่านมาควิส  เมื่อคราวที่มาเข้าเฝ้าพระนางเจ้าวิกทอเรียในครั้งแรก  ท่านมาควิสจำได้จึงตอบว่านึกออกแล้วว่าเคยพบท่านในโอกาสนั้นนั่นเอง  ท่านทูตปฤษฎางค์ไม่ทราบจะพูดอะไรต่อนอกจากจะถามว่า ท่านจะต้องถวายตราตั้งทั้งซองหรือต้องนำออกมาก่อน  มาควิสแห่งฮาร์ติงตันตอบว่าตนก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เดี๋ยวจะถามราชเลขานุการส่วนพระองค์ให้  ได้ความแล้วจะแจ้งให้ทราบภายหลัง จากนั้น  ท่านมาควิสจึงเดินไปถามเซอร์เฮนรี พอนซันบี

ภาพข้างล่าง มาควิสแห่งฮาร์ติงตัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 01 เม.ย. 16, 16:31

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์รออยู่สักพักหนึ่งก่อนที่จะถูกเชิญเข้าไปในห้องที่ตกแต่งด้วยสีเหลืองเพื่อรอเวลาที่จะทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้า ระหว่างที่พระนางเจ้าวิกทอเรียกำลังทรงเตรียมพระองค์อยู่นั้น  ราชเลขานุการส่วนพระองค์ได้เข้ามากระซิบทูลถามถึงวิธีประดับสายสะพายเรื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกของสยาม  หลังจากนั้นสักพัก เซอร์เฮนรี พอนซันบีได้เข้ามาประกาศว่า  พระนางเจ้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัครราชทูตจากสยามเข้าเฝ้าก่อนเป็นรายแรก

ทุกอย่างพร้อม มาควิสแห่งฮาร์ติงตันได้เดินนำหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ไปยังท้องพระโรง  พนักงานชาวที่เปิดประตูให้  ภายในนั้น ลอร์ดริบเบิลส์เดล และลอร์ด เฟรดิคาร์ยืนรออยู่แล้ว  มันน่าแปลกเกินไปสักหน่อยที่ไม่มีการเตรียมการใดๆมาก่อนเลย  ลอร์ดริบเบิลส์เดลจึงเพียงแต่ขานเบิกตัวผู้เข้าเฝ้าง่ายๆว่า “อัครราชทูตสยาม” แทนที่จะต้องเอ่ยนามและตำแหน่งเต็มตามระเบียบพิธีการ

มาควิสแห่งฮาร์ติงตันเดินเคียงท่านทูตปฤษฎางค์ไปยังกลางท้องพระโรง ซึ่งพระนางเจ้าวิกทอเรียทรงประทับยืนเป็นสง่าอยู่โดยมีเจ้าหญิงบีทรีสอยู่เบื้องหลังทางด้านขวาของพระองค์  แล้วท่านมาควิสได้ก้าวไปยืนคู่กันทางด้านซ้าย  หลังถวายคำนับ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้ยื่นถวายพระราชสาส์นตราตั้ง พระนางเจ้าวิกทอเรียทรงแย้มพระพักตร์อย่างงดงาม แล้วทรงยื่นพระหัตถ์ออกมารับ  หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ทรงกราบบังคมทูลตามถ้อยคำที่ทรงเตรียมมาอย่างดีในสมอง พระนางเจ้าวิกทอเรียทรงมีพระราชดำรัสตอบ ถามว่า “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามทรงมีพระกรุณามาก พระองค์ทรงสุขสบายดีอยู่หรือ”
หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ “พระองค์ทรงสุขสบายดีพระเจ้าข้า”
พระนางเจ้าวิกทอเรีย  “ท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดีมากทีเดียว”
หม่อมเจ้าปฤษฎางค์  “ข้าพระองค์ถือเป็นเกียรติที่ได้มาพำนักอยู่ในประเทศของใต้ฝ่าพระบาทมากว่าสิบปีแล้ว พระเจ้าข้า”
พระนางเจ้าวิกทอเรีย  “ มิน่าเล่า ท่านจึงพูดได้คล่องแคล่วนัก”
มาควิสแห่งฮาร์ติงตันสอดตนเข้ามาขัดจังหวะการสนทนา “ เจ้าชายองค์นี้เคยเป็นเลขานุการคณะทูตสยามที่เคยมาเฝ้าพระองค์ในปี 1880 พระเจ้าข้า”
พระนางเจ้าวิกทอเรีย  “ฉันคิดว่าฉันจำท่านได้  ยินดีมากที่ได้พบท่านอีก”

พระองค์ทรงพยักพระพักตร์  ผู้เข้าเฝ้าตระหนักว่าได้เวลาอันสมควรแล้ว
“ เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น” หม่อมเจ้าปฤษฎางค์กราบบังคมทูลก่อนจะถวายคำนับ แล้วถอยตนออกไปจากท้องพระโรงนั้น

หลังจากนั้น คณะของชาวอินเดียจึงได้เข้าเฝ้าต่อ
 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 02 เม.ย. 16, 09:40

หลังการเข้าเฝ้าแล้ว ยังมีเวลาเหลืออีกมากก่อนจะถึงเวลาที่รถไฟขบวนต่อไปจะแวะสถานีวินเซอร์ในเที่ยวกลับสู่ลอนดอน  ลอร์ดริบเบิลส์เดล และลอร์ด เฟรดิคาร์สองกรมวังก็ได้ทำคณะทูตอินเดียและท่านทูตปฤษฎางค์ไปเที่ยวชมภายในห้องหับต่างๆของปราสาท ครั้นได้เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ขบวนรถม้าสามคันจึงได้มาจอดเรียงกันอยู่ด้านหน้าของพระราชวัง เพื่อนำคณะไปส่งยังสถานีรถไฟ

และเช่นเดิม หาได้มีใครเชิญท่านราชทูตไทยให้ขึ้นรถไม่ ดังนั้น โดยปราศจากระเบียบมารยาทอันพึงปฏิบัติ เมื่อชาวอินเดียทั้งหมดได้ขึ้นไปนั่งบนรถเรียบร้อยแล้ว หม่อมเจ้าปฤษฎางค์จึงได้เชิญตนเองขึ้นไปนั่งร่วมกับเขา

เรื่องการไปเข้าเฝ้าพระราชินีนาถแห่งอังกฤษจึงจบลงอย่างสันติสุขได้ดังนี้แล 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 03 เม.ย. 16, 09:06

ภารกิจสำคัญของราชทูตสยามตามพระราชบัญชา

ท่านทูตปฤษฎางค์จะต้องเดินทางไปเฝ้าองค์พระประมุขและเข้าพบประธานาธิบดีประเทศต่างๆอีก ๑๑ ประเทศ หลังจากราชสำนักเซนต์เจมส์แล้ว  ซึ่งภารกิจเหล่านี้ต้องทะยอยกระทำตามแต่จะกำหนดนัดหมายกับกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละแห่งได้ กว่าจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาเป็นปี

ภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดตอนนั้น คืองานที่จะต้องเจรจากับรัฐบาลของชาติมหาอำนาจให้ยอมแก้ไขสนธิสัญญาภาษีร้อยชักสาม ในเรื่องการนำเข้าสุราเข้ามาในพระราชอาณาจักรให้ได้ โดยสยามต้องการเก็บภาษีเพิ่มเป็นร้อยละสิบ  และผู้ค้าปลีกจะต้องลงทะเบียนและเสียค่าอากรกับรัฐบาลด้วย เงื่อนไขดังกล่าวฝรั่งมองว่าสยามมีแต่ได้ประโยชน์ ส่วนเขามีแต่เสีย  รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้เสนอข้อต่อรองโหดๆออกมาสำหรับการทำข้อตกลงใหม่ ส่วนรัฐบาลอังกฤษยื่นเงื่อนไขว่า อังกฤษจะยอมแก้ไขสนธิสัญญากับสยามก็ต่อเมื่อมหาอำนาจทุกชาติตกลงยอมแก้ในบริบทเดียวกันทั้งหมดเท่านั้น

การทำงานของราชทูตสยามยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก เพราะความริษยาของกงสุลใหญ่อังกฤษประจำกรุงเทพ ผู้ไม่ต้องการให้สยามมีผู้แทนประจำราชสำนักซึ่งอังกฤษจะมีแต่จะเสียผลประโยชน์  จึงได้ทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลของตนในเรื่องนี้หลายฉบับ และฟ้องว่าสยามแสดงเจตนาไม่ชอบในเรื่องของสุรานำเข้าจากต่างประเทศ  และถ้าเมื่อไหร่ที่อังกฤษยอมแก้ไขให้เป็นไปอย่างที่คนไทยต้องการแล้ว วงการค้าสุราก็จะเผชิญความเลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะพ่อค้าในบังคับของอังกฤษจะต้องถูกบีบจากการปฏิบัติอย่างโหดร้ายจากหน่วยงานทางราชการสยาม

ท่านทูตปฤษฎางค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวดที่จะติดตามความคืบหน้าของเรื่อง และเจรจาทีละขั้นละตอนกว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 07:22

ท่านอัครราชทูตทรงติดต่อขอเข้าพบปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เซอร์จูเลียน ผู้ซึ่งเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ท่านทูตทรงทวงว่าท่านได้เจรจาเรื่องนี้ผ่านลอร์ดแกรนวิลล์ครั้งหนึ่งนานพอสมควรแล้ว  ท่านรัฐมนตรียังไม่ให้ให้คำตอบแก่ท่านตามที่สัญญาไว้  เซอร์จูเลียนได้ยกกล่องเอกสารกล่องหนึ่งมาให้ท่านดูแล้วบอกว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งนี้มา ท่านยังไม่มีเวลาอ่านเอกสารในกล่องเลย นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุราของสยามทั้งนั้น แต่เอาเถอะ ท่านจะหาเวลาอ่านให้เร็วที่สุดและจะทูลแจ้งให้ท่านทูตทรงทราบต่อไป  แต่ท่านก็มีลูกเล่นที่จะประวิงเวลาโดยขอให้ส่งกฏหมายว่าด้วยสุราของสยามมาให้ท่านศึกษาก่อนเป็นพื้นฐานความรู้

หลังจากนั้นอีกหลายเดือนเหมือนกัน แต่ก็ถือว่าไม่นานเกินรอ สยามและสหราชอาณาจักรก็ได้ทำกรอบข้อตกลงในเรื่องภาษีสุราฉบับใหม่ต่อกัน  โดยมีหม่อมเจ้าปฤษฎางค์และลอร์ดแกรนวิลล์เป็นผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ส่วนปัญหาที่จะไปแก้ไขในตัวสนธิสัญญาเดิมอย่างไรนั้น จะตกลงกันภายหลัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 07:59

เมื่อตกลงกับอังกฤษได้แล้ว หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ก็อาศัยความสนิทสนมกับท่านทูตฮอลแลนด์ที่ประจำอยู่กรุงลอนดอน ผู้ซึ่งมีบุตรชายทำงานเป็นเลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศ  พ่อหนุ่มผู้นี้เป็นผู้ต้อนรับท่านยังกรุงเฮกและพาเข้าพบท่านรัฐมนตรี  ยังผลให้เกิดกรอบข้อตกลงในเรื่องภาษีสุราฉบับระหว่างสยามกับฮอลแลนด์ แต่ยังลงนามกันไม่ได้ เนื่องจากระหว่างนั้นกษัตริย์ฮอลแลนด์เสด็จลักซ์เซมเบิร์ก

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ต้องเดินทางกลับไปครั้ง เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งให้ท่านเป็นอัครราชทูตสยาม ประจำกรุงเฮก หลังจากวันนั้นแล้วท่านจึงมีฐานะและอำนาจเต็มที่จะลงนามในกรอบข้อตกลงในเรื่องภาษีสุราฉบับในนามของรัฐบาลสยาม แต่ยังมิทันจะได้เซนต์สัญญากัน กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์  อัครราชทูตสยามประจำอังกฤษองค์ใหม่ผู้จะมาแทนท่านได้เสด็จถึงโดเวอร์แล้ว ท่านจึงต้องรีบเสด็จกลับไปรับ

แต่การลงนามในกรอบข้อตกลงก็ได้กระทำกันโดยเรียบร้อยในไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 16:14

เป็นงานระดับล้มยักษ์ทีเดียว
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยมในช่วงนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 18:19

ครับ ไม่ว่าจะอย่างไร ท่านเป็นคนไทยระดับสุดยอดคนหนึ่งทีเดียว ที่ทำคุณประโยชน์ให้ชาติและพระมหากษัตริย์ไว้มากถึงระดับนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 05 เม.ย. 16, 07:21

ในภาพคือพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ แห่งราชอาณาจักรฮอลแลนด์ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ทรงบันทึกว่า ในวันที่กลับไปลงนามในกรอบข้อตกลงในเรื่องภาษีสุราฉบับใหม่ต่อกันนั้น รัฐบาลดัชท์ได้จัดงานรับรองเป็นเกียรติแก่ท่านโดยมีคณะรัฐมนตรีทั้งหมดมาร่วมในงาน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 05 เม.ย. 16, 08:10

ต่อจากฮอลแลนด์ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์เสด็จไปสี่ประเทศในการเดินทางครั้งเดียว เริ่มต้นที่สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และจบที่เบลเยียม ประเทศเหล่านี้มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในข้อเสียเปรียบของสยามอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ท่านทูตได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์เดินทางไปกับ Mr. Verney เลขานุการด้านการต่างประเทศของสถานทูต ระหว่างการเดินทางโดยเรือโดยสารตัดข้ามทะเลเหนือมีเรื่องให้ตื่นเต้นเล็กน้อย ฤดูกาลนั้นหมอกลงจัด ในเช้าวันดังกล่าวเรือต้องวิ่งไปอย่างช้าๆราวกับหอยทาก แต่ก็ไม่วาย ระหว่างเดินทางไปข้างหน้าโดยมองหน้าต่างออกไปไม่เห็นอะไรเลยนั้น ต้องเปิดหวูดให้สัญญาณกันเป็นระยะๆ ครั้งหนึ่งเมื่อได้ยินหวูดสัญญาณตอบรับทางด้านหน้าขวา กัปตันก็หักซ้ายหมดตัวและลดความเร็วที่ก็ช้าอยู่แล้วลงอีกจนแทบจะหยุด ทันใดนั้นก็มีเรือสำใหญ่โผล่มาจากหมอกด้วยความเร็วสูงตัดหน้าไปในระยะใกล้ ท่านกล่าวว่าถ้ากัปตันเรือไม่ตัดสินใจทำเช่นนั้น เรือคงถูกเรือลำที่ว่าผ่ากลางขาดเป็นสองท่อนแน่

หลังจากบ่ายสองโมงไปแล้วหมอกจางหายหมด เรือใช้ความเร็วเต็มที่เดินทางถึงเมืองโกเธนเบิร์กอย่างปลอดภัยในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น เมื่อหาโรงแรมในเมืองนั้นพักผ่อนรับประทานอาหารเช้าแล้ว ทั้งคู่ก็นั่งรถไฟเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพชนบทอันงดงามสู่กรุงสตอกโฮล์ม แล้วเข้าพำนักยัง Grand Hotel อันหรูเลิศที่สุดของเมืองนั้น ก่อนจะลงมือเขียนหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเพื่อขอเข้าพบ มอบให้นายเวอร์นีย์ถือไปหาด้วยตนเองในวันรุ่งขึ้น


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.175 วินาที กับ 19 คำสั่ง