เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 14253 "นิศกลง" ในกรงใจของผม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 13 ก.พ. 16, 19:41

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ท่านคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ
   ผมเคยแสดงออกทั้งข้อความที่เขียน รวมถึงวาจาที่กล่าวต่อสาธารณชนหลายครั้งแล้วว่า วรรณคดี-กวีนิพนธ์ไทยเป็นลมหายใจของตนเอง และสำหรับผม หากอ่านวรรณคดีเรื่องใด คติข้อหนึ่งซึ่งถือมั่นมิเคยเปลี่ยน คือต้องแปลศัพท์ให้ออกทุกคำ เพื่อเก็บสะสมไว้ในคลังสมอง บางศัพท์กว่าจะได้นิยามใช้เวลาคอยรอนับสิบปี ทว่าก็คุ้มกับการรอคอย เพราะถ้อยนั้นมีค่าเหนือกว่ามณีราคาโกฏิล้าน
   ขณะนี้ มีโบราณิกศัพท์ (คำเก่า) อยู่คำหนึ่งครับ ผมพากเพียรพยายามตามหาความหมายมาหลายปีก็ยังหาข้อยุติมิพบ นั่นคือ “นิศกลง” ผมเจอคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เท่าที่ประมวลจากวรรณคดีอันจัดเก็บในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ มีดังนี้

   “สมุทรโฆษคำฉันท์” ตอนต้นซึ่งท่านพระมหาราชครูนิพนธ์ มี “นิศกลง” อยู่หนึ่งแห่ง
   “เฉกโฉมศศิสกลธสม
บุรณพรรณนิศกลง
ดาราประดับดูยรรยง
ยยับรัศมิโสภา”

   “เสือโคคำฉันท์” รจนาโดยท่านพระมหาราชครู มีคำ “นิศกลง” อยู่หนึ่งตำแหน่ง ตอนกวีพรรณนาพระรูปพระโฉมพระราชธิดาท้าวมคธ ซึ่งท้าวเธอพระราชทานแก่พระหลวิชัย ความว่า:
   “ริมไรระเรียงเรียบ
ระเบียบทิพยเกลากล
นาสาลำยองยล
คือขอกามนิศกลง”

   “สรรพสิทธิ์คำฉันท์” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พบคำ “นิศกลง” สองแห่ง
   “ครีบครุฑชำเนียรนิศกลง
คือครีบครุฑทรง
สฤษดิรักษ์จักรกร”

   “ตราบเรื่ออรุณเรือง
บรรเทืองโลกนิศกลง
ไก่ขันกระชั้นดง
ดุเหว่าแว่วสำนานหวาน”

   “พระสุธนคำฉันท์” นิพนธ์โดยท่านพระยาอิศรานุภาพ (อ้น” พบคำ “นิศกลง” ตั้งแต่ต้นเรื่อง
   “ครีบครุฑชำนันนิศกลง
ฟ้าหล้าลาญหลง
คือภาพกระพือโดยถวิล”

   “อุเทนคำฉันท์” ท่านพระยาอิศรานุภาพ (อ้น) นิพนธ์เช่นกัน พบ “นิศกลง” สองแห่ง
   “แล้วเสด็จจรลี
โสรจสรงวารี
วิเลปคนธา
ปรัศผัดผ่อง
ลอองพักตรา
พิมพ์เพียงรำพา
วดีนิศกลง”

   “งามองคอาภรณ์
วรภาคพิมลมี
เฉกโฉมพระลักษมี
วิลาสโลกนิศกลง”

   “โคลงนิราศพระพิพิธสาลี” ท่านพระพิพิธสาลีนิพันธ์ พบ “นิศกลง” หนึ่งแห่ง
   “ม่านวังกลม่านน้อง   นางวง ไว้ฤๅ
บงบทจรอรองค์      แม่เต้า
เกศกามแน่งนิศกลง      กมเลศ
วานแหวกวังม่านเจ้า      พี่ให้ขอเห็น”

   เจอะ “นิศกลง” คราใด ผมรู้สึกละม้ายๆหัวใจกำลังติดกรงทุกคราวไปสิน่า กรงแห่งความฉงนสนเท่ห์อย่างไรเล่าครับ ทำให้ติดขัด วกวน  ไปไม่ถูก
   แน่นอน พจนานุกรมเล่มหนาๆของราชบัณฑิตยสถานนั่นไม่เป็นที่พึ่งแก่ผม เพราะค้นแล้วค้นเล่าก็ไร้วี่แวว รอหนังสือ “พจนานุกรมโบราณศัพท์” จากท่านคณาจารย์แห่งราชบัณฑิตที่ว่ากำลังจะออกวางจำหน่ายก็ยังมิได้ฤกษ์คลอด แล้วคนตาบอดอย่างผม จะหันหน้าไปหาใครเล่าครับ? (ร้องไห้ฮือ)

   จริงอยู่ แม้คุณหลวงเล็กแห่งเรือนไทยของเรา เคยให้ความหมายของ “นิศกลง” ไว้ในกระทู้เก่าตามลิงก์นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5166.15
ความว่า:
“ส่วนคำว่า นิศกลง ความหมายนั้นแปลว่า งาม  แต่ที่มาของคำยังไม่ได้ลองค้นดูครับ
เพราะยังไม่มีเวลา  ค้นได้เมื่อไรจะเอามาบอก”
แต่ในหนังสือ “รัตนมาลา: พจนานุกรมแสดงความหมาย สมัยและที่มาของโบราณิกศัพท์” ซึ่งท่านอาจารย์นิยะดา เหล่าสุนทรรวบรวมเรียบเรียง แปล “นิศกลง” ว่า “ปราศจากมลทิน” ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งเคยบอกผม คำนี้หมายถึง “ทอง” ผมสับสนครับ หากเป็นคนตาดี หรือขอแค่เพียงสายตาเลือนรางพอจะใช้แว่นขยายอ่านหนังสือได้ด้วยตนเอง ผมคงเข้าหอสมุด-ห้องสมุดหลายแห่ง หยิบหนังสืออ้างอิงประเภทพจนานุกรม, ปทานุกรม, อภิธานศัพท์ เปิดอ่านตามใจสมปรารถนา ทว่านี่ ดวงตาผมสูญเสียการมองเห็น จะเปิดหนังสือสักกี่ล้านเล่มก็มิปรากฏพยัญชนะใดสักตัวให้ประสาทจักษุสัมผัสกระทบ ผมจึงใช้ถ้อยคำต่างประทีปธูปบุปผากราบคำนับมายังทุกท่าน โปรดอุปถัมภ์ค้ำจุน เอื้อวิทยาทานให้ “นิศกลง” หลุดออกมาจากกรงกังขาในห้วงคำนึงของผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   หมายเหตุ:
เว็บไซต์อ้างอิง

   สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนที่ ๑ ท่านพระมหาราชครูนิพนธ์
http://vajirayana.org/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%86%E0%B8%A9%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%91 

   เสือโคคำฉันท์ ท่านพระมหาราชครูนิพนธ์
http://vajirayana.org/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C


   สรรพสิทธิ์คำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
http://vajirayana.org/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C

   อุเทนคำฉันท์ ของ ท่านพระยาอิศรานุภาพ (อ้น)
http://vajirayana.org/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C

   พระสุธนคำฉันท์ )บางส่วน) ของ ท่านพระยาอิศรานุภาพ (อ้น)
http://vajirayana.org/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C

   โคลงนิราศพระพิพิธสาลี ของท่านพระพิพิธสาลี
http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ก.พ. 16, 19:54

ร้อนถึงท่านอาจารย์หมอเพ็ญชมพูเสียอีกแล้วกระมังคะ
ถ้าหาในพจนานุกรมสันสกฤตไม่พบ    ก็คงต้องพึ่งแหล่งสุดท้ายคือท่านอาจารย์นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ก.พ. 16, 20:21

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ผมเคยลองโทรศัพท์เข้าไปถามถึงสำนักงานท่านรอยอินแล้วนะครับ ทางนั้นบอก จะรับเรื่องไว้ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทยโทรศัพท์กลับมา ผมให้เบอร์มือถือ เบอร์บ้านไปเรียบร้อย สุดท้ายหายจ้อย เขาคงลืมผมแล้วจริงๆ (แง)   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ก.พ. 16, 21:49

ถ้าแปลว่า ทอง ท่านผู้นั้นคงหมายถึงคำว่า นิษกะ  (ทองแท่ง)ว่าเป็นที่มาของคำนี้ค่ะ

อ่านจากบริบทแล้ว   ถ้าแปลว่า ปราศจากมลทิน ก็พอจะเข้ากับความหมายได้  แต่ยังแยกศัพท์ไม่ออกว่ามาจากอะไร
นิ=ไม่  ปราศจาก  งั้นก็ต้องเป็น นิ+ศกลง  คำหลังยังแปลไม่ออก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 08:44

จริงอยู่ แม้คุณหลวงเล็กแห่งเรือนไทยของเรา เคยให้ความหมายของ “นิศกลง” ไว้ในกระทู้เก่าตามลิงก์นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5166.15
ความว่า:
“ส่วนคำว่า นิศกลง ความหมายนั้นแปลว่า งาม  แต่ที่มาของคำยังไม่ได้ลองค้นดูครับ
เพราะยังไม่มีเวลา  ค้นได้เมื่อไรจะเอามาบอก”
แต่ในหนังสือ “รัตนมาลา: พจนานุกรมแสดงความหมาย สมัยและที่มาของโบราณิกศัพท์” ซึ่งท่านอาจารย์นิยะดา เหล่าสุนทรรวบรวมเรียบเรียง แปล “นิศกลง” ว่า “ปราศจากมลทิน” ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งเคยบอกผม คำนี้หมายถึง “ทอง” ผมสับสนครับ

ร้อนถึงท่านอาจารย์หมอเพ็ญชมพูเสียอีกแล้วกระมังคะ
ถ้าหาในพจนานุกรมสันสกฤตไม่พบ    ก็คงต้องพึ่งแหล่งสุดท้ายคือท่านอาจารย์นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย


ดูจากรูปศัพท์และบริบทน่าจะเป็นความหมายที่สองในหนังสือ "รัตนมาลา" ท่านอาจารย์ทองย้อยน่าจะอธิบายที่มาของศัพท์คำนี้ได้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 11:20

ง ท้ายคำน่าจะเป็นเสียงที่ใช้กันทางอินเดียใต้ (ทมิฬ) คำนี้จึงอาจจะมาจาก นิษกลัม ซึ่งก็คือ นิษกล

แปลว่า แบ่งแยกไม่ได้ สมบูรณ์ บริสุทธิ์ ยังหมายถึง ทอง หรือพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 12:01

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพู ท่านอาจารย์เพ็ญชมพู แหละท่านอาจารย์ CrazyHOrse เป็นอเนกอนันต์พันล้านครั้งครับ วันนี้ นอกจากจะเป็นวันแห่งความรักแล้ว สำหรับผมยังถือเป็น “วันแห่งความรู้” ด้วย ผมได้ของขวัญล้ำค่าเหนือกว่าดอกกุหลาบเสียอีกครับ  เพราะสำหรับผมนั้น ค้นพบนิยามศัพท์ยากๆจากวรรณคดีไทยหนึ่งคำ เท่ากับพบขุมทองหนึ่งขุมครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 17:22

เจอคำเป๊ะๆแล้วครับ निष्कलंक นิษฺกลํก
http://shabdkosh.com/translate/निष्कलंक/निष्कलंक-meaning-in-English-Hindi
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 18:42

ตรงกับสันสกฤตว่า निष्कलङ्क

จาก พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 19:07

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ CrazyHOrse และท่านอาจารย์เพ็ญชมพูอีกโกฏิล้านหนครับ (อีโมติคอน: หัวใจโกฏิล้านดวง ร้อยเรียงรวมกันดั่งรวงดาว)
ทีนี้ชัดเลย เห็นจะต้องส่งให้ท่านรอยอินทร์ท่านพิจารณาแล้วหละครับ แม้สำนักงานท่านรอยอินจะมีการทำ “พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย” สมัยต่างๆ แต่กว่าจะทำเสร็จก็นาน พจนานุกรมฉบับหน้าซึ่งถัดจากฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๔ ท่านน่าจะนำคำที่พบบ่อยในวรรณคดีหลายๆเรื่องมาใส่เสียให้เต็มอัตรานะครับ ส่วนคำที่พบน้อย หรือพบแค่แห่งสองแห่งในวรรณคดีบางเรื่อง ก็แยกเก็บในพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีเรื่องนั้นๆไป ว่าแต่ ท่านรอยอินจะยอมรับฟังไหมเนี่ย ข้อนี้ยังวิตกอยู่ครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 22:09

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 ก.พ. 16, 22:10

ลองส่งไปสิคะ คุณชูพงศ์
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ก.พ. 16, 05:22

ผมจะพยายามสุดความสามารถครับอาจารย์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ก.พ. 16, 07:30

ขอแสดงความนับถือในภูมิรู้ของทุกท่านเป็นอย่างยิ่งครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง