เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 21405 วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๔ สุนทรภู่ กวีเอกของไทย มีอายุครบ ๒๑๕ ปี...
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 03 ก.ค. 01, 09:29

ดิฉันจึงขอเชิญชวนให้ชาวเรือนไทยร่วมกันรำลึกถึงท่าน   ด้วยการซักถาม/บอกเล่า/ จดจำผลงานหรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตของท่าน มาถ่ายทอดสู่กันฟัง      เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆนักศึกษาและนักเรียนที่อาจจะเปิดเข้ามาอ่าน ค่ะ

ส่วนที่ดิฉันเก็บรวมรวมสิ่งละอันพันละน้อยมา  มีดังนี้

 - สุนทรภู่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  ให้เป็นกวีดีเด่นของโลก เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗

-  ลูกหลานเชื้อสายสุนทรภู่ ใช้นามสกุลว่า " ภู่เรือหงส์"

-   แต่เดิม  เราทราบแต่ว่าบิดาสุนทรภู่ไปบวชอยู่ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง   มารดาเป็นแม่นมพระธิดากรมพระราชวังบวรเสนาภิมุข    แต่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้วไปได้ต้นฉบับนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ในหอสมุดแห่งชาติ  เป็นท่อนที่ขาดหายไปจากฉบับเต็ม  บอกว่า บรรพบุรุษของท่านเป็นพราหมณ์เมืองเพชรบุรี

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ.................ต้องไปล่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนท่านยายคำให้นำไป......................บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช.............ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวสถานศาลสถิตอิศวรา.........................เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่........................แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน.........จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ.................เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย............................ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

-  สุนทรภู่ เคยได้แต่ง พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒  ด้วย  ต่อจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงค้างเอาไว้ในการบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์ ตอน ศึกสิบขุนสิบรถ ว่า

     รถที่นั่ง..............................บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล.....ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง.........เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน................พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

กล่าวกันว่าทรงพรรณนามาถึงตอนนี้ก็หยุดค้างไว้  ยังติดขัดเรื่องจะบรรยายต่อไปอย่างไรให้เห็นความยิ่งใหญ่ของรถทรงของทศกัณฐ์   สุนทรภู่ก็แต่งต่อให้ว่า

นทีตีฟองนองระลอก..................กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน.....อานนท์หนุนดินดาลสะท้านสะเทือน
ทวยหางกัมปนาท......................สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน...............คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

-  บั้นปลายชีวิต สุนทรภู่มีชีวิตรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง   ได้เป็นพระสุนทรโวหารเจ้ากรมอาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงแก่กรรม เมื่อประมาณพ.ศ. ๒๓๙๘

- น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ทรงเล่าเกร็ดว่า  ในรัชกาลที่ ๓ มีเจ้านายทรงกรม(ระดับพระองค์เจ้า)องค์หนึ่งเกิดไปชอบหญิงสาวสวยคนหนึ่งเข้าโดยไม่ทรงทราบว่าเจ้าฟ้าน้อย(ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ทรงติดพันหล่อนอยู่เหมือนกัน      ก็เลยส่งเพลงยาวไปเกี้ยว  แม่สาวคนนี้คงจะเอนเอียงมาทางเจ้าฟ้าน้อยเลยนำเพลงยาวไปถวายให้ทรงอ่าน   เจ้าฟ้าน้อยก็ทรงมอบให้สุนทรภู่แต่งเพลงยาวตอบเป็นทำนองว่าผู้หญิงเขียนเอง      เจ้าต่างกรมได้รับเพลงยาวตอบก็ดีพระทัยนึกว่าหล่อนมีไมตรีตอบ   เปิดขึ้นมาอ่านพบสำนวนกลอนหญิงสาวที่เฉียบแหลมเผ็ดร้อนที่สุด  จนครั่นคร้ามไม่กล้าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสาวรายนี้อีก

- สุนทรภู่มีภรรยาหลายคน  คือจัน นิ่ม   งิ้ว  แม่ศรีสาหง  ลูกอิน   มีลูกชาย ๒ คนเท่าที่รู้คือนายพัดและนายตาบ  ในจำนวนนี้แม่จันภรรยาคนแรกดูจะเป็นที่รักมากที่สุด  แต่ก็มีเรื่องเลิกร้างกันไป มีสามีใหม่

- สุนทรภู่ชอบเล่นกลบท มักแฝงเอาไว้ในนิราศอย่างนิราศวัดเจ้าฟ้าและนิราศสุพรรณ

(กลบทสกัดแคร่ - ใช้คำเดียวกันในคำต้นและท้ายสุดของแต่ละบาท)

หนาวลมห่มผ้าห่อน..................หายหนาว
ฟ้าพร่ำน้ำค้างพราว..................พร่างฟ้า
เด่นเดือนเกลื่อนกลาดดาว............ดวงเด่น
ใจเปล่าเศร้าซบหน้า...................นึกน้องหมองใจ

- สุนทรภู่เป็นนักอ่านเรื่องจีนตัวยง   เพราะในผลงานหลายเรื่องได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจีน เช่น บทละครอภัยนุราช  ได้โครงเรื่องจาก ห้องสิน     วิชาปี่ของพระอภัยมณีได้จากวิชาปี่ของเตียวเหลียว    วิชากระบี่กระบองของศรีสุวรรณได้จากวิชาของพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง  (อยู่ในเรื่องไซ่ฮั่น)  ผู้หญิงที่เก่งการรบ ขี่ม้ามีอาวุธประจำกาย  อย่างตัวเอกหญิงชาวเมืองลังกาในพระอภัยมณี ก็ได้เค้ามาจากนางในเรื่องจีนหลายคนด้วยกัน

- สุนทรภู่เป็นคนท้าทายการเล่นคำยาก   คำที่ถือกันว่าสัมผัสยากที่สุดของไทยคือเสียง "อีน"   เพราะมีเพียง ๔ คำ  คือศีล  จีน ปีน  ตีน  สุนทรภู่ก็เอามาใช้ได้ครบถ้วนเพื่อบรรยายชีเปลือยในพระอภัยมณี

 ตัวอะไรไยหนอไม่นุ่งผ้า..............จะเป็นบ้าหรือว่าจะถือศีล
หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน....จะเจ๊กจีนอย่างไรก็ใช่ที
บันทึกการเข้า
วรวิชญ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 13:18

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่แต่งตามที่ยกมาเหมือนบทอัศจรรย์เลยนะครับ จะรบกวนเรียนถามครับว่ากลอนบทนี้อยู่ในเรื่องอะไร
แมลงภู่เป็นคู่กับบุบผา
โบราณว่าเห็นจริงทุกสิ่งสม
หญิงกับชายย่อมเป็นคู่ชูอารมณ์
ชั่วปฐมกัปกัลป์พุทธันดร
ฯลฯ
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์
อันลอยลิบเลิศมนุษย์สุดปฐม
แต่ไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์
จะเตรียมตรมตรึกหาเป็นอาจินต์
บทที่ละไว้ผมนึกไม่ออก ช่วยเติมให้ด้วยครับ
ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 17:31

ค่ะ บทละครที่ว่าสุนทรภู่แต่งคล้ายๆบทอัศจรรย์ระหว่างพระอภัยมณีกับนางเงือก

กลอนที่ยกมา  ถ้าเป็นเรื่องเดียวกันก็เป็นฝีมือนายมี ศิษย์สุนทรภู่  ในนิราศพระแท่นดงรัง  ค่ะ
บทที่ละไว้  จำได้แค่
โอ้สงสารสุริยาฟ้าพยับ..........จะเลื่อนลับยุคุนธรสิงขรเขา
พระอาทิตย์ดวงเดียวเปลี่ยวเหมือนเรา.....กำสรดเศร้าโศกมาเอกากาย
ถึงมีเพื่อนก็เหมือนพี่ไม่มีเพื่อน.............เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย.....มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์...........อันลอยลิบเลิศมนุษย์สุดปฐม
แต่ไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์.........จะเกรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณ
บันทึกการเข้า
วรวิชญ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 18:00

ขอบคุณมากครับ
น่าเสียดายที่นิทานกลอนเรื่องโคบุตร ไม่ใคร่มีใครสนใจสักเท่าไร ทั้งที่สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง เนื้อเรื่องก็น่าสนใจ และเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านโดยแท้ มีอยู่ตอนหนึ่งที่โคบุตรทำลายค่ายกลรูปสัตว์ประจำราศี ซึ่งคล้ายกับเรื่องในนิทานต่างชาติ แต่นึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องใด พอจะเสาะหาคำตอบได้ไหมครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 18:04

วันก่อนนี้จับอ่านพระอภัยมณีอีกหน ตอนพระอภัยเป่าปี่สังหารนางผีเสื้อสมุทรได้แล้ว นางผีเสื้อตายกลายเป็นหินแล้ว กำลังจะเอาไฟเผาศพ แต่พอดีเทวารักษ์ชื่อ เทพมหิงขสิงขร มาห้ามไว้ แล้วเล่าประวัตินางผีเสื้อสมุทรให้ฟัง อ่านแล้วเกิดสะกิดใจขึ้นมาว่า ท่านสุนทรภู่ได้เค้านางผีเสื้อสมุทรมาจากเห้งเจียหรือซึงหงอคง หรือซุนอู๋คง ในเรื่องไซอิ๋วนั้นเอง

เพราะ .... "นางผีเสื้อเมื่อก่อนเป็นก้อนหิน อยู่กระสินธุ์สมุทรมหาชลาไหล...
...ถูกไอน้ำซึ่งได้ไอแผ่นดิน บันดาลหินนั้นให้งอกออกทุกที เป็นหน้าตาขาแข้งอันแรงฤทธิ์ ด้วยพรอิศรารักษ์พระลักษมี นับอนันต์วันคืนได้หมื่นปี จึงเป็นผีเสื้อสมุทรผุดทะยาน..."

เห้งเจียเอง ก็เป็นลิงที่ถือกำเนิดจากก้อนหินที่รับพลังแสงอาทิตย์แสงจันทร์นานๆ หลายหมื่นหลายแสนปี แก่กล้าเข้า กลายเป็นลิงหินเหมือนกัน

แถมเทพมหิงขสิงขรยังหน้าตาคล้ายๆ เซียนหรือนักพรตผู้สำเร็จในลัทธิเต๋าอีก อ่านแล้วนึกถึงขงเบ้งในสามก๊กด้วย เพราะ "...ดูสรรพางค์ร่างกายแก่ชรา แต่ผิวหน้านั้นละม้ายคล้ายทารก ทรงเสื้อโขมพัสตรานุ่งผ้าขาว ผมนั้นยาวย้อยสยายประปรายปรก ถือไม้เท้าเนารัตน์พัดขนนก..."  พัดขนนกน่ะเป็นยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของขงเบ้งนะครับ ขงเบ้งตอนหลังไปอยู่กับเล่าปี่ กลายเป็นนักการเมืองนักการทหารไปแล้วก็จริง แต่ต้นตอดั้งเดิมนั้น ขงเบ้งนับตัวเองว่าเป็นนักปราชญ์หรือผู้ครองพรตในลัทธิเต๋า มากกว่าเป็นมหาอุปราชหรือเป็นแม่ทัพ

เพลงปี่พระอภัยเองก็มาจากเรื่องเตียวเหลียงอย่างที่คุณเทาชมพูว่า  

ม้ามังกรนั่น หน้าตาเป็นกิเลนชัดเจนเลย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 18:14

ค่ายกลนั้นผมไม่แน่ใจว่าท่านสุนทรภู่ได้อิทธิพลมาจากไหน คนที่อ่านหนังสือเรื่องจีนแต่ก่อน หรือหนังสือจีนกำลังภายในเดี๋ยวนี้ คงทราบว่าทางจีนเล่นเรื่องทางนี้มานานมาก วิชาตั้งค่ายกลเป็นวืชาพิชัยสงครามของจีนอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ใช้กองทัพทั้งกองใช้พื้นที่มหาศาลจนถึงใช้คนไม่กี่คน ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็นค่ายกลอรหันต์หรือพยุหะอรหันต์ (ล้อฮั่นตึ่ง) ของวัดเสียวลิ้ม ซึ่งสามารถกักผู้กล้าหาญทั้งแผ่นดินมาได้แล้ว ยกเว้นอยู่แต่พระเอกของนิยายจีนเรื่องนั้นเท่านั้นที่จะต้องฝ่าทำลายค่ายกลอรหันต์ได้ทุกที กี่เรื่องๆ พอพระเอกจำใจบุกวัดเสียวลิ้ม ก็จะมีบทบรรยายว่าหลวงจีนตั้งค่ายกลอรหันต์อันเกรียงไกรที่สยบผู้กล้ามาแล้วมากต่อมาก แล้วพรเอกก็ทำลายได้ทุกที ไม่รู้จะตั้งไปทำไม น่าจะบรรยายว่า เป็นค่ายกลที่ถูผู้กล้าที่เป็นพระเอกแต่ละเรื่องทำลายได้แล้วมากต่อมากมากกว่า..

นอกเรื่องไปไกล กำลังจะบอกว่า แต่ตำราพิชัยสงครามไทยก็มีวิชาตั้งค่ายคูประตูหอรบครับ ไม่ใช่มีแต่ทางจีน และทางไทยตั้งชื่อพยุหะต่างๆ เป็นชื่อสัตว์ด้วย จะสิบสองราศีหรือไม่ไม่แน่ใจ มีชัยภูมิแบบต่างๆ ที่ต้องตั้งค่ายลักษณะต่างๆ และแต่ละลักษณะก็ข่มและถูกข่มโดยลักษณะอื่นๆ อย่าง ครุฑนาม นาคนาม สีหนาม... ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 19:00

เชิญอ่านเรื่อง นิราศรักลพบุรี ที่มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นนิราศของสุนทรภู่  ซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่

http://library.rits.ac.th/journal/rits80/nirat.html' target='_blank'>http://library.rits.ac.th/journal/rits80/nirat.html

โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่าไม่ใช่สำนวนกลอนของสุนทรภู่ น่าจะเป็นกวีชั้นหลังแต่งมากกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 20:06

เว็บสุนทรภู่ ภาษาอังกฤษ มีพระอภัยมณีฉบับแปลของพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรด้วยค่ะ

http://members.tripod.com/sakchaip/bookworm/sunthorn/index.htm' target='_blank'>http://members.tripod.com/sakchaip/bookworm/sunthorn/index.htm

ผลงานของสุนทรภู่

http://www.geocities.com/tthida/' target='_blank'>http://www.geocities.com/tthida/
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW674x007.jpg'>
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 20:21

อันที่จริงหญิงกับชายย่อมหมายรัก
มิใช่จักตัดทางที่สร้างสม
แม้นจักรักรักไว้ในอารมณ์
อย่ารักชมนอกหน้าเป็นราคี


จากสุภาษิตสอนหญิง ของสุนทรภู่
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 20:22

ของขวัญวันสุนทรภู่

ตลาดขวัญขวัญฉันนี้ขวัญหาย
ใครเขาขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ
แม้นขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์
จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาง

บทนี้ให้คุณ นกข. ค่ะ
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 20:23

บทนี้ของคุณแจ้ง

บางระมาดมาดหมายสายสวาท  
ว่าสมมาดเหมือนใจแล้วไม่เหมือน  
แสนสวาทมาดหมายมาหลายเดือน  
มีแต่เคลื่อนแคล้วคลาดประหลาดใจ
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 20:24

และสุดท้าย ให้คุณจ้อ... คนไกลบ้านค่ะ

โอ้หนาวอื่นพอขืนอารมณ์ได้    
แต่หนาวใจยากแค้นนี้แสนเข็ญ  
ทั้งหนาวนอนไกลนุชสุดจะเย็น  
ใครจะเป็นเหมือนหนึ่งข้าจะว่าจริง
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 20:40

มาแก้คำผิด  บรรทัดสุดท้ายเมื่อกี้นี้  
"ใคร ปะ เป็นเหมือนหนึ่งข้าจะว่าจริง"


มีบทนี้อีกบทหนึ่งค่ะ  แม่หญิงเคยคิดว่าเป็นบทเดียวกับในเรื่อง พระอภัยมณี  ที่ว่า

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน....

เพราะเนื้อความคล้าย ๆ กัน แต่กลับไม่ใช่  
เพราะบทข้างล่างนี้มาจาก นิราศพระประธม

แม้นเป็นได้ให้พี่นี้เป็นนก
ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์
ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร

แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นแมลงภู่
ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร
ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา

แม้นเป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะได้ลงสิงสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา
พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัญ

ขอความรู้ค่ะ ว่าสองบทนี้บทใดแต่งก่อน และทำไมจึงคล้ายกัน  
(แม่หญิงชอบบทหลังจากนิราศมากกว่าบทแรกค่ะ)
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 21:41

ตอบแม่หญิง...
ของขวัญเมื่อวันวานผ่านวันนี้
ขวัญกวีศรีสุนทรอาภรณ์สมัย
ขวัญประดับวรรณศิลป์แผ่นดินไทย
ขอขอบจิตคิดขอบใจเรไรเอย

เมื่อนานมาแล้ว รู้สึกยังกับสักชาติที่แล้วเห็นจะได้ ผมเคยเป็นนักเขียนสมัครเล่น (ตอนนี้ไม่ได้เขียนนานแล้วครับ) เขียนเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ผมให้ชื่อว่า นิทานยุคนิกส์ (ตั้งแต่สมัยฟองสบู่ยังไม่แตกครับ) สมัยนั้นรถติดเป็นบ้าเลย ดูเหมือนสมัยนั้นเราจะมีรองนายกอยู่ท่านหนึ่งที่บอกว่าจะแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ให้ได้ภายใน 6 เดือน หรือ 600 ปี หรืออะไรนี่แหละลืมไปแล้ว ผมก็เอามาเขียนเป็นเรื่องสั้น ล้อปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ว่า นายกเทศมนตรีนครในนิทานนครหนึ่ง เดือดร้อนมากกับปัญหารถแน่นเต็มเมือง แก้เท่าไหร่ก็ยังแน่น จึงต้องประกาศหาผู้อาสาแก้ปัญหา แล้วก็มีคนแปลกหน้ามาอาสาจริงๆ
แต่เจ้ากรรมจริงๆ ผู้ที่มาแก้ปัญหาเข้าใจผิด นึกว่าเทศบาลต้องการกำจัดรถที่มีเต็มเมือง เลยใช้วิธีเดียวกับที่เขาเคยทำมาก่อนในนิทานเรื่องอื่น ... คือเอาปี่วิเศษมาเป่าสะกดให้คนขับรถตามกันไปลงทะเลหมด...
กว่าอีตานายกเทศมนตรีแกจะนึกได้ว่าคนแปลกหน้าคนนั้นบอกว่าตัวเขามาจากเมืองแฮมลินก็ช้าไปเสียแล้ว... จบเรื่อง

นิทานยุคนิกส์ ภาค 2 ชื่อเรื่อง ประชันเพลง ได้ไอเดียสืบจากเรื่องแรก ย้ายที่จากเมืองสมมติในนิทานมาเป็นจังหวัดแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย รถติดเต็มเมืองเหมือนกัน (ตอนนั้นผมคาดคะเนให้จังหวัดนั้นเจริญทางเศรษฐกิจมากเนื่องจากโครงการพัฒนาอิสเทอร์นซีบอร์ด แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่าเจริญจริงแค่ไหน) มีชายแปลกหน้าอาสามาแก้เหมือนกัน แต่รายนี้เป็นผู้ร้ายจริงๆ เป็นภุตฝรั่งที่ชอบแกล้งคน จะแกล้งเป่าปี่ให้คนขับรถไปลงทะเลหมดเพราะเห็นสนุก ไม่ใช่เข้าใจผิด คนและรถทั้งเมืองกำลังจะจมทะเลตายหมดแล้ว ก็พอดีมีเสียงปี่อีกเสียงหนึ่ง เป่าทำลายมนต์สะกดลงได้ .... เสียงปี่เสียงนั้น ดังมาจากเมืองแกลงครับ ... อัดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์...

เป็นการเล่านิทาน  บูชาคุณครูท่านสุนทรภู่เล็กๆ น้อยๆ ตามสติปัญญาของผมครับ ทั้งสองเรื่องนิตยสารฉบับหนึ่งกรุณาตีพิมพ์ให้เมื่อสักเกือบสิบปีมาแล้ว
บันทึกการเข้า
ยามะธิดา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 มิ.ย. 01, 22:41

ตามเสียงกลอน... อันไพเราะของ ท่านกวีเอก  สุนทรภู่มาจนเจอ " บรรยากาศเรือนไทย " ค่ะ
น่าเพลินเพลินเสียจริง กะ...บทกวี ที่มีความหมายข้างบน..
ที่ท่านผู้รักงานวรรณกรรมไทย  ช่วยกัน เรียบเรียงให้อ่าน   ล้วนมีความไพเราะ  เข้ากับบรรยากาศวันนี้จริงๆค่ะ  

ทำให้นึกไปถึงกลอนบทนี้ค่ะ

โอ้นกเอ๋ยเคยบ้างหรืออย่างพลอด
นางสาวสาวเขาจะกอดได้ที่ไหน
แต่น้องมีพี่ป้าที่อาลัย
ท่านยังไม่ช่วยกอดแกล้งทอดทิ้ง

         นึกก็พลอยน้อยใจถึงไม่กอด
         หนาวก็ทอดเตาไว้ก่อไฟผิง
         ไม่เรียนเป็นเช่นนกแก้วแล้วจริงจริง
         จะสู้นิ่งหนาวทนอยู่คนเดีนว

นารีใดไร้รักอย่าหนักหน่วง
จะโรยรวงรกเลี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย
อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง

         เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช
         ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
         แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์
         ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมลงภู่ชม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง