เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1710 ภาษาลูมาจากไหน?
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 16 มิ.ย. 23, 15:38

ช่วง 2-3 ปีมานี้ผมได้ยินชื่อภาษาลูหลายครั้ง แต่ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นชุดคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะกลุ่ม แต่มีวันหนึ่งที่บังเอิญได้ไปอ่านว่าคืออะไรแน่ ก็ถึงกับงง เพราะผมรู้จักอะไรที่คล้ายๆแบบนี้มาก่อน ซึ่งอาจจะไขปริศนาที่มาของภาษาลูได้ครับ

ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดของภาษาลูนะครับ เพราะหาอ่านได้ทั่วไป เอาคร่าวๆคือการเอาคำว่าลูไปไว้ข้างหน้าทุกพยางค์ของประโยคที่จะพูดแล้วผวนคำพยางค์นั้นกับคำว่าลูเป็นคู่ๆกันไป เช่น อีกา เติมลูเป็น  ลูอีลูกา ผวนอีกทีจะได้เป็น  ลีอูลากู ถ้าเป็นพยางค์ที่มีตัวสะกด, สระเสียงสั้น, มีเสียงวรรณยุกต์ที่ไม่ใช่เสียงสามัญ, อักษรนำเป็น ร หรือ ล หรือมีสระอุสระอู ก็มีกฎเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ซึ่งจะไม่ขอยกมาในที่นี้ครับ แต่พอสรุปรวมๆได้ว่าภาษาลูเป็นการเข้ารหัสแบบง่ายๆอย่างหนึ่ง

ที่มาของภาษาลูนั้นไม่ชัดเจน เหมือนจะมีแต่คำเล่าลือ ที่จับต้องได้มากที่สุดก็คือมีการใช้ในรายการคลับฟรายเดย์ราวปี 2550

แต่ผมรู้จักอะไรอย่างหนึ่งที่คล้ายกับภาษาลูมาก ตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน และที่มาของมันก็เก่ากว่านั้นมากด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 มิ.ย. 23, 20:03

แม่เล่าว่าเมื่อก่อนเวลาตากับยายจะคุยกันในเรื่องที่ไม่อยากให้ลูกๆเข้าใจ จะคุยกันโดยใช้ภาษาลับอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "เค็กเจียะเพียะ"

ต้องเท้าความหน่อยว่าตาผมเป็นลูกครึ่งจีนไทย ถูกส่งไปเมืองจีนเพื่อเรียนหนังสือช่วงก่อนสงครามโลกเล็กน้อย ใช้ชีวิตวัยรุ่นอยู่ในเมืองจีนตลอดช่วงสงครามโลก จนได้แต่งงานกับยายซึ่งเป็นสาวจีนแท้ 100% สงครามโลกสงบจึงพากันกลับมาเมืองไทย

นัยว่าตากับยายหัดเค็กเจียะเพียะมาจากโรงเรียนที่เมืองจีนในยุค 80's

ครับ 80's ที่ว่าไม่ใช่ 1980's แต่เป็น 2480's นะครับ ตรงกับปลาย 1930's ต่อกับต้น 1940's

ในความทรงจำอันเลือนลางของผม(และแม่ เพราะแม่เล่าให้ผมฟังตั้งแต่สามสิบกว่าปีที่แล้ว) ผมจำได้ว่า เค็กเจียะเพียะ ใช้วิธีการเข้ารหัสคำโดยการเอา "ลี" ไปปะหน้าคำ แล้วผวน คำเดียวที่ผมจำได้คือ เจี๊ยะ (ที่แปลว่ากิน) เค็กเจียะเพียะจะว่า เหลียะจิ๊ โดนผวนจาก ลิเจี๊ยะ ได้เป็น เลียะจิ๊ แต่หลักการออกเสียงแต้จิ๋ว เสียงเลียะต่อกับจิ๊ พยางค์ต้องเลื่อนเสียงไป จึงกลายเป็น เหลียะจิ๊

หลักการเหมือนกันกับภาษาลูอย่างยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ต่างแค่คำเข้ารหัสที่เป็นลูกับลี อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นภาษาลีได้ไหมครับ?

ผมถามแม่ผมว่ารายละเอียดกฎการสร้างคำมีอะไรบ้าง แต่แม่ก็ไม่รู้ ตากับยายก็เสียไปแล้ว แม่เองเคยจำได้หลายคำ แต่ถึงวัยนี้ก็ลืมไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่แค่คำเดียวคือ เจี๊ยะ - เหลียะจิ๊ เหมือนที่ผมจำได้นี่แหละครับ

เมื่อก่อนนี้ ผมเคยสอบถามผู้ใหญ่ที่รู้จักหลายท่านเรื่องเค็กเจียะเพียะ แต่ไม่มีใครรู้จัก แม่ก็ว่านอกจากตากับยายแล้ว แม่ก็ไม่เคยเจอคนที่รู้จักเค็กเจียะเพียะอีก เป็นอันว่าหนทางการสืบเสาะจากผู้รู้ก็ตีบตันไป

ถึงตาผมจะเกิดเมืองไทย แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าตาไม่ได้หัดเค็กเจียะเพียะไปจากเมืองไทยแน่ เพราะญาติคนอื่นไม่มีใครรู้จักอะไรแบบนี้ นอกจากนี้การที่ยายที่เกิดเมืองจีน และอยู่คนละหมู่บ้านกับตาก็รู้จักเค็กเจียะเพียะด้วย จึงเป็นไปได้มากว่าเค็กเจียะเพียะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในระดับหนึ่งด้วย

อีกอย่างที่น่าสนใจคือ คำว่าเค็กเจี๊ยะในเค็กเจียะเพียะ แปลว่าขอทาน 乞食 ในภาษาจีนแต้จิ๋ว จีนกลางอ่านว่า ฉี่สือ แต่ในภาษาจีนกลางจะไม่ใช้คำนี้เรียกขอทาน แต่จะเรียกว่า 乞丐 (ฉี่ไก้) เข้าใจว่าญี่ปุ่นจะใช้ทั้งสองคำเรียกขอทาน คือจะเป็น 乞食 หรือ 乞丐 ก็ได้

ส่วนเพียะนั้น ผมสืบค้นดู ได้ความว่าเขียนว่า 癖 แปลว่านิสัย หรืองานอดิเรก

ดังนั้นเค็กเจียะเพียะ 乞食癖 น่าจะแปลว่าได้ว่า ลูกเล่นขอทาน ประมาณนี้ครับ

ผลจากการค้นคำว่า เค็กเจียะเพียะ ได้ผลลัพธ์เป็น 0 น้องกุ๊กไม่รู้จัก อนุมานว่าคนจีนในไทยยังไม่เคยมีใครพูดถึงสิ่งนี้บนอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อค้นเป็นภาษาจีนว่า 乞食癖 ได้ผลลัพธ์จากน้องกุ๊กมา 1 รายการ ซึ่งน่าสนใจเอามากๆ

https://yfyq.com/%E6%BD%AE%E6%B1%95%E4%B8%AA%E5%88%AB%E5%9C%B0%E6%96%B9%E7%9A%84%E5%8F%A6%E7%B1%BB%E7%99%96%E8%AF%AD

บทความนี้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ซัวเถา (汕头日报) ไม่ได้ระบุวันไว้ แต่ดูจากบริบทแล้วต้องอยู่ในช่วงปี 2005-2007 ผู้เขียนเล่าถึง ภาษา"ของเล่น" 4 ภาษาในแต้จิ๋ว ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือเค็กเจียะเพียะนี่แหละครับ

ประสบการณ์ของผู้เขียนนั้นคล้ายกับแม่ผม เขาเล่าว่าเป็นภาษาที่เขาเคยได้ยินมาในวัยเด็ก ราวปี 1960's โดยพ่อแม่ของผู้เขียนใช้พูดคุยกันในเรื่องที่ไม่ต้องการให้ลูกรู้ โดยพ่อแม่เขาเรียนรู้มาจากในโรงเรียนในช่วงปี 1930's

เขาค้นคว้าเพิ่มเติมในภายหลังได้ความว่าภาษานี้ใช้กันแพร่หลายในกิ๊กไซ กิ๊กเอี๊ย และเหยี่ยวเพ้ง ( 揭西 揭阳 และ 饶平 ) นอกจากเรียกว่าเค็กเจียะเพียะแล้ว ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่าหมี่โอ่วเพียะ (棉湖癖) โดยที่มาของเค็กเจียะเพียะนี้มีบางกระแสว่ามาจากพวกแก๊งขอทาน อีกกระแสหนึ่งว่ากันว่าเป็นภาษาที่นิยม"เล่น"กันที่ตำบลหมี่โอ๊ว จึงได้ชื่อว่าหมี่โอ่วเพียะ เรื่องนี้ถือว่าเข้าเป้ามาก เพราะหมู่บ้านของตากับยายผมอยู่ห่างจากตำบลหมี่โอ๊วไม่กี่กิโลเมตร

เขายังได้ให้ตัวอย่างการสร้างคำของเค็กเจียะเพียะไว้เล็กน้อย น่าเสียดายว่าวิธีถอดเสียงของเขาไม่สามารถระบุได้ว่าวรรณยุกต์เป็นอย่างไร และสระเป็นเสียงสั้นหรือยาว แต่น่าสนใจว่านอกจากการยืนยันว่าใช้ ลี ในการเข้ารหัส ร่วมกับผวนคำแล้ว ยังมีกฎปลีกย่อยที่คล้ายกับภาษาลูอีกอย่างคือ ถ้าคำที่จะแปลงมีอักษรนำเป็นเสียง ล แล้ว ให้เข้ารหัสด้วย อี แทน ลี แต่กฎอื่นๆของภาษาลู ดูเหมือนจะไม่มีในเค็กเจียะเพียะ

ผมลองไปค้นต่อใน baidu.com ซึ่งเป็นเว็บค้นหาของจีน ได้ผลลัพธ์เพิ่มมาอีกหน้าเว็บหนึ่ง ผู้เขียน(ซึ่งไม่ได้เป็นคนแต้จิ๋ว)ไม่ได้เล่าที่มาที่ไป แต่บอกว่าเรียนเรื่องเค็กเจียะเพียะจากชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยซัวเถา โดยกล่าวว่าเป็นภาษาที่เป็นที่รู้จักกันดี

http://www.360doc.com/content/15/0708/09/2794318_483502748.shtml

ทำให้คิดว่าถ้าสอบถามจากคนแต้จิ๋วในประเทศจีน น่าจะได้ความครับ

ส่วนผมคงขอจบแค่นี้ ไม่รู้จะค้นไปต่อยังไงครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 08:46

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบว่า ภาษาลู คืออะไร เชิญอ่านได้ที่นี่ค่ะ


https://www.wongnai.com/articles/lou-language


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 18:35

หลวงเมืองเล่าถึงภาษาที่มีการเข้ารหัสลับ (Cryptography) ที่มีมาก่อนภาษาลู - ภาษาส่อ

เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นานนัก ท่าน้ำริมคลองบางหลวงใกล้บ้านข้าพเจ้ามีเรือแบบเรือจ้างแต่โตกว่ามาจอด สินค้าที่นำมาขายครั้งละมาก ๆ คือใบยาจืดชนิดกินกับหมาก ร้านประจำรับซื้อหมด เป็นเรือที่มาจากจังหวัดใกล้ ๆ บางลำก็มีข้าวสารมาขาย เป็นข้าวที่มีชื่อเสียง แต่พวกนี้ก็โกหกเก่ง และอวดฉลาดอย่างโง่ ๆ จึงมีบางครั้งที่แม้เรือของเขาซึ่งจอดอยู่หน้าวัดมอญใกล้โรงพักบางยี่เรือหายไปทั้งลำ

คนที่มากับเรือแบบนี้ที่เป็นคนหนุ่ม ๆ ก็มี ข้าพเจ้าเคยได้ยินพวกเขาพูดกัน แต่ฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร บ้านข้าพเจ้าอยู่ใกล้ทางรถไฟสายคลองสาน-มหาชัยด้วย จึงมีคนมอญมาขึ้นรถรางรถไฟเสมอ คนมอญพูดกันก็เคยได้ยิน เสียงคล้ายคนไทย แต่ฟังไม่ออก ที่ว่าคล้ายเสียงคนไทย คงเป็นเพราะเขากินหมากนั่นเอง ข้าพเจ้าคิดว่าคนไทยสมัยนี้พูดไม่เหมือนคนไทยสมัยก่อน เพราะไม่กินหมากกันแล้ว

การที่ชาวเรือหนุ่มจากต่างจังหวัดพูดกัน ข้าพเจ้าฟังไม่รู้นั้น ต่อมาเพื่อนที่เขาฉลาดกว่าข้าพเจ้า ได้อธิบายให้ฟังว่าคนพวกนี้พูดภาษาไทยโดยเติมคำไปข้างหน้าแล้วกลับ เช่น จะพูดว่า "กินข้าว" ก็ดัดแปลงโดยมีคำว่า "ส่อ" อยู่ข้างหน้า คือ "ส่อกิน" แล้วกลับเป็น "ซินก่อ" และ "ส้าวค่อ" เมื่อเราจับคำว่า “ส่อ” ที่นำหน้าได้ก็เข้าใจคำพูดของพวกนี้ได้หมด คืนหนึ่งข้าพเจ้านั่งรับประทานข้าวต้มกุ๊ยข้างโรงหนังตลาดพลู แม้ตอนสงครามข้าวต้มก็ยังขายชามละ ๑ สตางค์ กับข้าว ๑ สตางค์ ถึง ๕ สตางค์ ถ้าเป็นไก่เป็ดก็จานละ ๑๕ สตางค์ เป็นอย่างต่ำ เมื่อเล็ก ๆ ข้าพเจ้าชอบกินแกงจืดใส่ปลิงทะเลชามละ ๑๐ สตางค์ เมื่อไม่กี่วันมานี้คุยกับเพื่อนเรื่องอาหาร ข้าพเจ้ายังนึกว่าปลิงทะเลมีราคาไม่แพง ครั้นได้ยินเพื่อนบอกราคาก็ตกใจ เชื่อว่าต่อให้ถูกรางวัลที่ ๑ คงไม่กล้ารับประทาน

ใกล้โต๊ะที่ข้าพเจ้านั่งกินกับเพื่อน มีชาวเรือหนุ่ม ๆ ๒ คน คุยกันเบา ๆ คนหนึ่งถามอีกคนหนึ่งว่า "เซ็นป่อ…ไซอะรอ" แปลเป็นไทยว่า "เป็นอะไร" คนถูกถามตอบเสียงปกติ คงคิดว่าเราฟังไม่ออกว่า "ส่องหนอ…ไซหน่อ" ("หนองใน" – กามโรคชนิดหนึ่งที่เป็นกันชุกชุมมากสมัยก่อนและสงครามเลิกใหม่ ๆ กลายเป็นโรคเข้าข้อออกดอก คือ เกิดแผลใหญ่เต็มตัว แผลเช่นนี้ชาวบ้านในสมัยสงครามเรียกว่า ดอกซากุระ โรคนี้ขึ้นสมองก็ถึงตายได้)

เพื่อนข้าพเจ้าหัวเราะลั่น ชายหนุ่ม ๒ คน หันมามองตาเขียว เพื่อนจึงพูดกับข้าพเจ้าว่า เมื่อหัวค่ำเขาดูหนังเรื่องสองเกลอตลกอ้วนผอม หัวเราะแทบตาย แล้วก็หัวเราะอีก ชาย ๒ คน จึงจ่ายค่าข้าวต้มแล้วออกจากร้านไป

จาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 มิ.ย. 23, 17:51

ผมไม่เคยรู้ว่ามีภาษา 'ลู' และ ภาษา 'ส่อ'   รู้แต่ว่ามีภาษา 'เล' เพราะเคยเล่นกันในหมู่เพื่อนสมัยยังเป็นเด็กกำลังเรียนช่วง ป.4 ต่อ ม.1 เมื่อ พ.ศ.2500  เช่น ไลเปไหลเหนลาเม = ไปใหนมา เล่นกันอยู่สองสามปี จะใช้สื่อสารกันในลักษณะของการทักทายเล่นกัน และใช้แอบคุยกันในห้องเรียนขณะครูกำลังสอนหนังสือ และในห้องขณะนั่งทำการบ้าน   ที่ใช้ในห้องสอบดูจะมีเพื่อนใช้อยู่เพียงครั้งเดียว เป็นการพูดค่อนข้างดังเพื่อถามหาความเข้าใจของข้อสอบจากเพื่อนๆ    ภาษานี้ดูจะใช้กันเฉพาะในกลุ่มเพื่อร่วมรุ่น ไม่เคยได้ยินรุ่นน้องๆใช้กัน และหายไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อขึ้นเรียนชั้น ม.3   

เช่นกันครับ ไม่ทราบที่มาและต้นตอของภาษานี้ จำได้แต่ว่า ก็มีการเล่นการผวนคำขึ้นมาตามประสาเด็ก อยู่ดีๆภาษา'เล'มันก็โผล่มา แล้วทุกคนก็ยอมรับมัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 มิ.ย. 23, 18:00

พูดถึงภาษา 'ลู' ทำให้นึกถึงคำว่า Loo ซึ่งเป็นคำแสลงที่คนอังกฤษนิยมใช้กันในความหมายของ 'ส้วม'
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 มิ.ย. 23, 18:42

 รู้แต่ว่ามีภาษา 'เล' เพราะเคยเล่นกันในหมู่เพื่อนสมัยยังเป็นเด็กกำลังเรียนช่วง ป.4 ต่อ ม.1 เมื่อ พ.ศ.2500  เช่น ไลเปไหลเหนลาเม = ไปใหนมา

เช่นกันครับ ไม่ทราบที่มาและต้นตอของภาษานี้ จำได้แต่ว่า ก็มีการเล่นการผวนคำขึ้นมาตามประสาเด็ก อยู่ดีๆภาษา'เล'มันก็โผล่มา แล้วทุกคนก็ยอมรับมัน 
พอคุณตั้งเล่าเรื่องนี้   ดิฉันก็ต้องเข้ามาโพสทันทีเพราะนึกสงสัยมานานแล้ว   เพิ่งรู้ว่าเรียกว่า "ภาษาเล"   มันเป็นภาษาเก่ากว่าปี 2500 มาก   คุณแม่เล่าว่าสมัยก่อนดิฉันเกิด  ได้ลูกจ้างมาคนหนึ่ง(สมัยนั้นเรียกว่าสาวใช้)  จะเป็นเชื้อชาติอะไรหรือชนกลุ่มน้อยจากไหนจำไม่ได้แล้ว  แต่ไม่ใช่คนกรุงเทพ หรือภาคกลาง 
เธอพูดแบบที่ตุณตั้งยกมานี่แหละ  คล้ายๆกัน  จำได้คำหนึ่งว่า "ไลเคลาเม" แปลว่า ใครมา
สรุปว่า ภาษาเล  ไม่น่าจะเป็นคำผวน   แต่เป็นภาษาของชนสักกลุ่มหนึ่งที่คนกรุงเทพไม่รู้จักค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 มิ.ย. 23, 18:02

อ.เทาชมพู ตบท้ายไว้ว่า ไม่น่าจะเป็นคำผวน แต่เป็นภาษาของคนสักกลุ่มหนึ่งที่คนกรุงเทพไม่รู้จัก    ทำให้ผมนึกออกถึงเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่ได้รู้มาจากการนั่งสนทนากับชาวกะเหรี่ยง เมื่อครั้งยังเดินทำงานอยู่ในห้วยขาแข้ง พ.ศ.2514   เป็นการสนทนาในวงเหล้ายามเย็นตามปกติหลังจากเสร็จงานเดินสำรวจประจำวันและตั้งแคมป์แรมเสร็จแล้ว  ก็เป็นการคุยกับในเรื่องสัพเพเหระ     ในวันนั้นเกิดไปสนทนาเรื่องการวัฒนธรรมย่องสาวของชาวกะเหรี่ยงหนุ่มทั้งหลาย ที่มีทั้งการกันภายในหมู่บ้านและย่องข้ามหมู่บ้าน ระยะทางขนาดเดินข้ามวันข้ามคืนก็มี   การย่องสาวก็คือการไปจีบสาวโดยขึ้นไปนั่งคุยอยู่บนเรือนของสาวเจ้า จะเป็นช่วงเวลาที่มืดสนิทแล้ว ก็ประมาณ 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อแม่ของสาวเจ้าเข้าห้องนอน  หนุ่มสาวนั่งคุยกันบนชานบ้าน ไม่ต้องการให้พ่อแม่รู้ว่าคุยอะไรกัน ก็เลยมีการใช้ภาษาที่รู้กันเป็นเฉพาะในหมู่หนุ่มสาว ผมจำได้อยู่ 2 ประโยค  ยะแคะยาคา เซคื้อเลก่อ = ไปใหนมา  เป็นประโยคคำถาม  และ ยะแคะยาคา เซคื้อเลคื้อ เป็นประโยคคำตอบ จำไม่ได้ว่าแปลว่าอะไร เข้าใจว่า ตอบว่าไปไร่มา  ก็ถามคนกะเหรี่ยงอยู่ว่าเป็นคำผวนหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่  เขาบอกว่าเป็นภาษาที่ตัวเขาเกือบจะไม่มีความเข้าใจใดๆเลย    ด้วยที่คล้ายกับภาษาเลที่ผมเคยเล่นเมื่อเด็ก ผมก็เลยเดาเอาตามใจตัวเองว่าก็คล้ายๆกับภาษาเล แต่จะมีการเพี้ยงเสียงของคำออกไปด้วย    ประโยคว่าไปใหนมา ของชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ออกเสียงว่า แลซื้อล่อ ของกะเหรี่ยงทางใต้ จะออกเสียงว่า ลีคือแล่  ภาษายะแคะยาคา ก็เลยดูคล้ายกับการเอาสำเนียงกะเหรี่ยงทางเหนือและทางใต้มาผสมกันแล้วผวนคำ  เดา 100% เลยนะครับ  หากมีความสนใจ ก็อาจจะพอใช้เป็นจุดเริ่มของการแกะรอยต่อไปก็ได้           
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 มิ.ย. 23, 09:35

ในบทความ การเล่นทางภาษาของคนไทย ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตามใจ อวิรุทธิโยธิน ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษาการเล่นทางภาษา (language game) ๘ ประเภทคือ ภาษาเส ภาษาส่อ ภาษาหล่อ ภาษาแหล่ ภาษาไหล ภาษาลู ภาษาคอคา และภาษามะละกอ พบว่า ๖ ภาษาแรกมีวิธีการเดียวกันคือมีการเติมคำข้างหน้าและผวนคำ ส่วน ๒ ภาษาหลังมีวิธีการต่างไป

ภาษาคอคา ใช้วิธีเติมคำที่ใช้พยัญชนะ ค โดยใช้สระเดียวกันไว้ข้างหลังคำ คำหน้าจะเป็นเสียงเอก คำที่ตามมาจะเป็นเสียงโท เช่น ไปไหนมา - ไป่ไค้ ไหน่ไค้ หม่าค้า

ภาษามะละกอ ใช้พยัญชนะของคำหลักผสมกับสระอะ ใช้เสียงตรี เติมคำว่า ละ เป็นคำต่อมา ลงท้ายด้วยคำที่ใช้พยัญชนะ ก ผสมกับสระ, ตัวสะกด และใช้เสียงเดียวกับคำหลัก เช่น ไปไหนมา - ป๊ะละไก นะละไก๋ มะละกา

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 มิ.ย. 23, 14:35

อันที่จริง การพูดภาษามะละกอก็ใช้วิธีผวนคำเช่นกัน โดยเติมคำว่า 'ละก๊ะ' (ตามตัวอย่างในบทความ) ไว้หลังคำ แล้วผวน  เช่น คำว่า 'ไป' - ไปละก๊ะ —> ป๊ะละไก

หรือ 'ละกะ' (ตามตัวอย่างในคลิป) ไว้หลังคำ แล้วผวน เช่น 'ไป' - ไปละกะ —> ปะละไก

คุณซอนย่า คูลลิ่ง พูดภาษามะละกอได้น่าทึ่งทีเดียว คิดขึ้นเองจริงหรือ ? (นาทีที่ ๒.๕๘)

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 มิ.ย. 23, 15:28

น่าสนใจมากครับ แสดงว่าภาษาตระกูลภาษาลูนี่มีการเล่นกันในไทยมานานแล้ว นอกจากมีความหลากหลายมากแล้ว อาจจะเก่าแก่ไม่น้อยกว่าเค็กเจียะเพียะในจีน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าเค็กเจียะเพียะในจีนก็อาจจะได้รับไปจากคนจีนในไทยได้เช่นกันครับ

ผมพบว่าลิงก์ yfyq ที่ผมแปะไว้ในกระทู้เหมือนจะค้าง เข้าไม่ได้แล้ว ไปค้นดูเจอเนื้อหาเดียวกันอยู่ในลิงก์นี้ครับ

https://www.toutiao.com/article/7186575117407830539/?source=seo_tt_juhe
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 มิ.ย. 23, 13:35

นักการเมือง & ภาษาลู ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง