เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 6435 ภาษาอเมริกันวันละคำ Reflecting มองอดีตเพื่อค้นหาอนาคต
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:41

คุณปัญจมาเข้ามาโพสไม่ได้  ระบบไม่ยอมรับรหัสผ่านของเธอ ทั้งๆถูกต้อง    ดิฉันก็เลยต้องมาโพสแทนเธอเองค่ะ

Reflecting
มองอดีตเพื่อค้นหาอนาคต

                                                                           โดย ปัญจมา

      ช่วงเวลาใกล้สิ้นปีเป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งมักจะเรียกว่าเป็น time to reflect คือช่วงเวลาสำหรับมองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อไตร่ตรองอนาคต   วันนี้เพิ่งกลับมาเขียนคอลัมน์อีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน  ผู้เขียนเลยขอถือโอกาสนี้ reflect กับเขาบ้าง  หวังว่าผู้อ่านคงไม่ว่าอะไร  

     ก่อนจะ reflect ก็ต้องอธิบายความหมายของคำศัพท์ก่อนตามธรรมเนียม    คำว่า reflect นี้เป็นคำกริยา  จะมีกรรมมารองรับหรือไม่มีกรรมมารองรับก็ขึ้นอยู่กับการใช้   คนไทยมักจะออกเสียงคำคำนี้ว่า “รี-เฝล็คท์”  แต่ถ้าเงี่ยหูฟังดีๆ  ชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เขาจะออกเสียงว่า “รัฟ-เฝล็คท์  หรือ “เรอ-เฝล็คท์”  เพียงแต่เสียง F ที่ตามหลัง RE นั้นจะเบามากจนแทบจะไม่ได้ยิน  เพราะต้นกำเนิดของเสียงมันมาจาก “FLECT” ซึ่งเป็นพยางค์ที่สอง      

     นอกจากจะแปลว่า “ทำให้ (แสง) สะท้อน” หรือ “ส่อให้เห็น” และ “สะท้อนกลับ” แล้ว   ฝรั่งเขายังใช้คำกริยา reflect นี้อธิบายถึงเวลาที่ใครสักคนกำลัง think deeply or carefully (about something or someone) ด้วย     พจนานุกรมสอ เสถบุตรจึงให้ความหมายของ reflect ในประการหลังว่าคำนึง  ไตร่ตรอง  และรำพึง     ดังนั้น  ถ้าคุณกำลัง reflecting on 2015 ก็แปลว่าคุณกำลังมองย้อนกลับไปในปี 2558 ที่กำลังจะเลยผ่านอย่างลึกซึ้งและใคร่ครวญนั่นเอง  

.   .   .   .   .


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:42

        การกลับไปย้อนอ่านข้อเขียนเก่าๆ ของตนเองนั้น  เป็นวิธีหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะใช้เวลาที่อยากจะครุ่นคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมาในแต่ละปี   ก่อนที่จะใคร่ครวญเกี่ยวกับอนาคต     แต่ด้วยความที่ไม่ได้จรดปากกาเขียนหนังสือมาเนิ่นนาน  (นานจนได้ยินว่าอาจารย์เทาชมพูท่านกำลังจะเปลี่ยนชื่อคอลัมน์ “ภาษาอเมริกันวันละคำ” ให้เป็น “ภาษาอเมริกันปีละคำ” แล้ว)        การหวนกลับไปอ่านคอลัมน์ที่เขียนไว้ครั้งสุดท้ายในวันนี้   จึงเป็นการย้อนกลับไปสำรวจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเมื่อสองปีก่อน   และไล่ย้อนไปจนถึงวันที่เริ่มเขียนคอลัมน์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2555 ด้วย

         แต่เมื่อทำเช่นนั้นแล้วก็ได้พบว่าตัวเราเองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นในอดีตสักเท่าไหร่   แนวคิด  ค่านิยม หรือหลักการใดที่เคยเชื่อถือยึดมั่นเมื่อสามปีที่แล้ว  และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ข้อเขียนแต่ละตอนในช่วงเวลานั้น  ไม่ว่าจะเป็นตอน ยกประโยชน์ให้จำเลย   เอาใจเขามาใส่ใจเรา   หรือ   ของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับเพื่อนร่วมโลก   ทุกวันนี้ก็ยังเชื่อมั่นและยึดถือมันเหมือนเดิม   เพียงแต่สถานการณ์รอบตัวเราต่างหากที่เปลี่ยนแปลงไป  ทำให้เราละเว้นที่จะแสดงออกซึ่งความเชื่อมั่นในแนวคิดหรือหลักการนั้นๆ เช่นที่เคยเป็นในอดีต    ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะท้อ  หรือเบื่อ หรือทั้งสองอย่าง

         ขณะเดียวกัน  ผู้เขียนก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะรู้สึกดีใจหรือเสียใจกันแน่ที่ค้นพบว่าตัวเองแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยในสามปีที่ผ่านมา  เพราะเหตุที่ผู้เขียนเป็นคนที่เชื่อมั่นอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดนั้นคือพัฒนาการประเภทหนึ่งของมนุษย์ที่เห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า  เป็นประสบการณ์ซึ่งเราทุกคนจำเป็นจะต้องผ่านเพื่อให้วุฒิภาวะของเราเองได้เติบโตอย่างเต็มที่   อันจะมีส่วนช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างผาสุก    เมื่อไหร่ก็ตามที่เรา get too comfortable with ourself แปลว่า “พอใจที่จะเป็นในแบบที่เราเป็นโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย”  เราก็จะขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  ทั้งที่เกี่ยวกับตัวเราเองและโลกที่ล้อมรอบตัวเราไปด้วย     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:43

         แต่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดนั้นจะว่าไปแล้วก็คือการลดละอัตตาของเราเอง  อันเป็นสิ่งซึ่งทำได้ยากมากสำหรับมนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่มักจะชอบคิดว่าตัวเองถูกอยู่เสมอ   นอกจากนี้  ความกลัวก็ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราบางคนปฏิเสธที่จะเปลี่ยนความคิด    เพราะการยอมรับว่าความคิดหรือความเชื่อที่เรามีมาเนิ่นนานนั้นมันไม่ถูกต้อง  หรือมีความคิดเห็นอื่น ๆ ที่มีเหตุมีผลมากกว่าเรานั้น  ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าเราเองอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อนั้นๆ ไปโดยปริยาย  สำหรับพวกเราบางคน  การทำเช่นนั้นคือการ step out of our comfort zone หรือการย่างก้าวออกจากกรอบความคิดหรือพฤติกรรมเดิมๆ ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจหรือมั่นคงปลอดภัย  ซึ่งอาจไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้สำเร็จ    คนบางคนอาจพอใจที่จะขังตัวเองอยู่ในห้องที่คับแคบแต่คุ้นเคย  มากกว่าที่จะเปิดประตูออกไปสู่โลกกว้างที่ยังไม่คุ้นชินก็เป็นได้
                 
.   .   .   .   .

            สิ่งหนึ่งซึ่งฝรั่งเขามักจะทำในยามที่เขาไตร่ตรองหรือครุ่นคิดเกี่ยวกับปีที่กำลังจะเลยผ่าน  ก็คือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “What went well?”  มีอะไรบ้างที่ผ่านไปได้ด้วยดีในปีเก่า  หรือ  ”What’s not working?” มีอะไรบ้างที่มิได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง     ถ้าเอาคำถามนี้ไปถามคนไทยจำนวนหนึ่ง  คำตอบที่ได้ก็คงจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย    เพราะปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา  ส่วนจะดีหรือไม่ดีในความรู้สึกของเรานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกยืนอยู่ข้างไหนระหว่างสองขั้วของความขัดแย้งทางการเมือง   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:44

        นอกจากจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรดีหรือไม่ดีในปีที่กำลังจะผ่านไปแล้ว    ธรรมเนียมหนึ่งที่ฝรั่งเขาชอบทำกันในช่วงเวลานี้ก็คือการตั้งปณิธานให้แก่ตัวเองสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง  (New Year’s resolution) 

        ในบทความที่ชื่อว่า Rebuild  ซึ่งตีพิมพ์ไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556  ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่าในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี   ร้อยละ 40 ของอเมริกันชนวัยทำงานเขาจะลุกขึ้นมาตั้ง New Year’s resolution ให้แก่ตัวเองกัน  แล้วก็ลืมหรือล้มเลิกความตั้งใจที่ว่าในเวลาแค่ไม่กี่เดือนให้หลัง    จำไม่ได้เหมือนกันว่าไปขอยืมสถิตินั้นมาจากแหล่งไหน  แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้อ่านบทความจากเว็บไซท์ของนิตยสาร Forbes ของอเมริกา  ซึ่งอ้างถึงการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของเว็บไซท์ www.health.com ที่ว่าร้อยละ 25 ของคนที่ตั้งปณิธานในวันขึ้นปีใหม่มักจะล้มเลิกความตั้งใจของตัวเองหลังจากหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป  และพอหกเดือนให้หลัง   จำนวนคนที่ยังปฏิบัติตามปณิธานที่ตั้งไว้แก่ตัวเองในวันขึ้นปีใหม่ก็หายไปกว่าครึ่ง  คือลดลงเหลือแค่ร้อยละ 46 เท่านั้น    เพราะฉะนั้น  ใครที่เคยตั้งปณิธานแล้วยังทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งถอดใจ  เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวในโลกแน่ๆ ที่เป็นแบบนี้ 

       การตั้งปณิธานสำหรับปีใหม่คือการมองไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย    แต่ด้วยเหตุที่ไม่เคยมีใครสามารถบรรลุปณิธานใหม่ ๆ ได้ด้วยการอยู่เฉยๆ  หรือทำแต่ในสิ่งเดิมๆ ที่ตัวเองเคยทำอยู่     ฉะนั้น  การเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของตัวเองจึงเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เราสามารถทำเป้าหมายที่เราให้ไว้แก่ตัวเองในวันปีใหม่ให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้         
นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคนอ้วน  เพราะปณิธานที่อเมริกันชนชอบตั้งกันมากที่สุดในวันขึ้นปีใหม่คือปณิธานที่ว่าด้วยการรักษาสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  แต่พอตั้งแล้วก็ยังไม่เลิกนิสัยนั่งแช่หน้าจอทีวีกินพิซซ่าถาดใหญ่ตามด้วยโค้กลิตร    หรือไม่ก็อาจจะยังคิดว่าการยกมือกระดกขวดเบียร์บ่อยๆ นั้นคือการออกกำลังกายประเภทหนึ่ง   ปณิธานที่ตั้งไว้เลยเป็นได้แค่ความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง

.  .  .  .  .
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:45

       บทความสุดท้ายที่ผู้เขียนทิ้งไว้ก่อนจะถูกหน้าที่การงานรัดตัวจนต้องห่างหายไปจากเว็บนี้ร่วมสองปีนั้น   เป็นบทความที่เขียนขึ้นในช่วงที่กรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยเสียงนกหวีดและถนนหนทางยังเต็มไปด้วยป้าย “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อยู่     

       ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับปรากฎการณ์ดังกล่าว   หรือกับการเข้ามามีบทบาทของกองทัพในช่วงเวลาหลังจากนั้น     และต่อการปกครองในรูปแบบที่เป็นไปในปัจจุบัน    เราก็ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่านี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราและจะดำเนินไปเป็นเวลาอีกเกือบสองปี     ดังนั้น  แทนที่จะ dwell in the past หรือมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับปีที่กำลังจะเลยผ่าน     เรามาช่วยกันมองไปยังปีที่กำลังจะมาถึงกันดีกว่า    เพราะไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  หรือการวางรากฐานของการปฏิรูปต่างๆ ไว้ให้รัฐบาลต่อไปมาสานต่อ  จะว่าไปแล้วก็คือการมองไปข้างหน้า  หรือการตั้งเป้าหมายว่าอนาคตของเราจะต้องดีกว่าอดีตนั่นเอง                   

        ไม่ว่าพวกเราบางคนจะยืนอยู่ในขั้วไหนในความขัดแย้ง    สิ่งสำคัญที่เราควรจะถามตัวเองในเวลาเช่นนี้ก็คือ  เราอยากให้สังคมที่ลูกหลานของเราจะรับช่วงต่อในอนาคตเป็นสังคมเช่นไร    อย่าลืมว่าสังคมในอุดมคตินั้นมันไม่มีขายตามท้องตลาด  ถ้าเราอยากให้สังคมที่เราจะทิ้งไว้ข้างหลังเป็นสังคมที่ดีสำหรับลูกหลานของเราเอง     เราก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างก่อนที่มันจะสายเกินไป   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:46

        ถ้าลูกหลานของเรายังอยู่ในวัยเรียน   เราควรจะถามตัวเองว่า   เราอยากให้เขาได้รับการศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ในแบบที่จะส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดของเขา   ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีทักษะเพียบพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล    หรือเราอยากให้เขาได้รับแต่การศึกษาที่เน้นเรื่องท่องจำเป็นหลัก    ซึ่งจะไม่เอื้อแต่อย่างใดเลยต่อการคิดหรือวิเคราะห์ปัญหาที่เขาจะต้องเผชิญในชีวิตประจำวันเมื่อเขาเติบโตเข้าสู่วัยทำงานแล้ว    เราอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งกำเนิดของการเรียนรู้   เป็นโรงบ่มเพาะความคิดอ่านของลูกหลานเราให้เปิดกว้าง   หรือเป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งสำหรับการควบคุมความคิดของเขาให้อยู่แต่ในกรอบแบบเดิมๆ  ในขณะที่โลกรอบตัวเขามันหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวันจนผู้ใหญ่อย่างเราเองก็ตามไม่ทัน                  

         ถ้าลูกหลานของเราเป็นผู้หญิง  ลองถามตัวเองว่า   เราอยากจะให้พวกเธอเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ประเมินค่าของคนที่การกระทำและความสามารถ    เป็นสังคมที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงมีโอกาสทางการศึกษา  เศรษฐกิจ และการเมืองที่เท่าเทียมกัน      หรือเป็นสังคมที่ยังยึดติดกับค่านิยมชายเป็นใหญ่   ทำให้บทบาทและอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของพวกเธอนั้นตกอยู่ในมือผู้ชายทั้งหมด    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:47

      และถ้าเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เห็นคุณค่าของความคิดที่แตกต่าง   เป็นสังคมที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันและกันอย่างสุภาพ    เราควรจะแสดงออกเช่นไรเวลาที่ผู้อื่นแสดงความคิดหรือเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคิดเห็นของเราเอง      

     บางครั้งการสร้างสังคมแบบที่เราอยากเห็นนั้นก็ไม่ใช่การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว      แต่ยังเป็นการงดหรือละเว้นที่จะทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราไม่สมควรจะทำอีกด้วย      

     ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหนก็จะได้ยินคนไทยบ่นกันมากว่าสังคมนี้มันแย่ลงทุกวันเพราะมีแต่คนเห็นแก่ตัว   แต่หากคนที่บ่นนั้นยังดำเนินพฤติกรรมซึ่งมีส่วนส่งเสริมทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่  เช่น  จอดรถกีดขวางการจราจร    ขับรถอย่างไร้มารยาทและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่ยวดยานคนอื่นๆ   ติดสินบนตำรวจเวลาทำผิดกฎจราจร   จัดงานรื่นเริงที่บ้านแล้วเปิดเพลงดังจนได้ยินกันไปไกลถึงสามจังหวัด    ด่านักการเมืองว่าคอรัปชั่นแต่ก็ไม่ละเว้นที่จะใช้อำนาจและสถานภาพของตัวเองในการเอาเปรียบสังคมและผู้อื่น  ฯลฯ   คนคนนั้นก็ยังจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอยู่  แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา   แบบที่ฝรั่งเขาบอกว่า  “You are either part of the solution or part of the problem.” นั่นแหละ

.  .  .  .  .
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 10:49

         บทความตอนนี้อาจจะหนักไปสักนิด   ต้องขอโทษผู้อ่านด้วยค่ะ    ไม่ได้เขียนมานานแล้ว  อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยในการเคาะสนิมออกจากปลายปากกา (และคีย์บอร์ด)     แต่หากคนที่เคยติดตามอ่านกันมาก่อนยังสนใจที่จะตามอ่านอยู่  สัญญาว่าปีหน้าจะพยายามหาเวลามาเขียนให้บ่อยขึ้นและเขียนเรื่องที่ไม่หนักมากเหมือนตอนนี้
ขอสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านค่ะ 
                                                                            ด้วยความปรารถนาดี
                                                                                     ปัญจมา     
                                                                             28 ธันวาคม 2558



บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 11:19

  จุมพิต จุมพิตจุมพิต
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 11:40

              ขอบคุณสำหรับ ของขวัญอันมีค่า จากคุณปัญจมา ครับ



Reflections of My Life เพลงฮิทปี 1969/1970 จากวง  The Marmalade
ที่ชาวเรือนบางคนคงยังจำได้     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 11:53

เข้ามากดไลค์ให้ทั้งสองท่านค่ะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 17:28

        บทความตอนนี้อาจจะหนักไปสักนิด   ..................                                      ........ด้วยความปรารถนาดี
                                                                                     ปัญจมา      
                                                                             28 ธันวาคม 2558


จะเข้ามาเรียนว่า หนักจริงๆครับ หนักที่สุดคือหนักใจ
ยอมรับว่า แม้วัยของผมจะมาถึงตรงนี้ น่าจะวิเคราะห์ว่าอะไรควรจะทำอะไร เพื่อให้สังคมไทยเป็นอย่างที่ควรจะเป็นในสังคมดิจิตัลของอนาคตได้ แต่ก็มืดแปดด้านจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 18:32

อ้างถึง
แต่ก็มืดแปดด้านจริงๆ

นำอุปกรณ์มาให้ค่ะ
ถ้าท่าน NAVARAT.C  ยังบอกว่ามืด  ใครจะกล้ามองเห็น


บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 05:46

              ขอบคุณสำหรับ ของขวัญอันมีค่า จากคุณปัญจมา ครับ



Reflections of My Life เพลงฮิทปี 1969/1970 จากวง  The Marmalade
ที่ชาวเรือนบางคนคงยังจำได้     

ขอบคุณคุณ SILA ค่ะ  อยา่กจะบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงโปรดเพลงหนึ่งของดิฉันสมัยเด็ก ๆ ก็กลัวคนอื่นจะรู้หมดว่าเราอายุเท่าไหร่ 555
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 06:04

                                                                                  
อ้างถึง
จะเข้ามาเรียนว่า หนักจริงๆครับ หนักที่สุดคือหนักใจ
ยอมรับว่า แม้วัยของผมจะมาถึงตรงนี้ น่าจะวิเคราะห์ว่าอะไรควรจะทำอะไร เพื่อให้สังคมไทยเป็นอย่างที่ควรจะเป็นในสังคมดิจิตัลของอนาคตได้ แต่ก็มืดแปดด้านจริงๆ

ดิฉันมีความเห็นว่า   เราอาจจะยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมดิจิตอลในอนาคตได้ก็จริง  แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ ไอ้ที่ทำมาแล้วในอดีตและยังทำต่อไปในปัจจุบันนี่  มันคงไม่ช่วยให้เราไปถึงจุดนั้นแน่ๆ ค่ะ   เพราะฉะนั้น  นอกจากจะพยายามค้นหาว่าเราต้องทำอะไรแล้ว  (ซึ่งอันนี้ปล่อยให้เป็นเรื่องของภาครัฐและภาคเอกชนไปก่อนก็ได้)  เราก็ต้องถามตัวเองด้วยว่ามีอะไรบ้างที่เราควรงด ละเว้น หรือหยุดทำ  การเลิกให้การศึกษาแก่เด็กในแบบที่เน้นให้พวกเขาท่องจำตะพึดตะพือก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องเลิก  เพราะมันจะไม่ช่วยให้เขาสามารถวิเคราะห์ปัญหาและคิดนอกกรอบได้แน่ๆ   และถ้าเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์  มีทักษะที่จะช่วยให้เขาเอาตัวรอดได้ในระบบเศรษฐกิจที่จะพึ่งพาข้อมูลและเทคโนโลยีมากขึ้น  การอบรมสั่งสอนให้เขาเอาแต่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่เถียง ไม่คิดเอง  ไม่กล้าแสดงออก  ก็คงไม่ช่วยให้เขาได้สั่งสมหรือสร้างทักษะและความคิดอ่านในแบบที่เราอยากให้เขามีเป็นแน่    

อันนี้สำหรับผู้ใหญ่บางคนคงทำได้ยาก  เพราะมันเท่ากับเป็นการปลดปล่อยเด็กออกจากการควบคุม  หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นเราถูกพ่อแม่เราพร่ำสอนมาว่าถูก  ว่าควรทำ   ซึ่งอย่าว่าแต่คนไทยเลยค่ะ  ฝรั่งเองก็ยังไม่สามารถทำได้   ตอนเรียนโทที่อเมริกามีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Georgetown ท่านหนึ่งมาเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา Democracy and Human Rights in Asia  ที่คณะ    ท่านเคยบ่นให้ฟังว่าลูกสาวที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มจะต่อต้านพ่อแม่   บางทีก็เถียงหน้ำดำหน้าแดงจนพ่อแม่เหนื่อย  จนวันหนึ่งต้องบังคับว่า  "ถ้าไม่ทำอย่างที่แม่บอกจะไม่ให้ไปดูดนตรีวันเสาร์"  ลูกสาวก็ประท้วงขึ้นมาทันทีว่า  "แบบนี้มันไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่เลยนะแม่"  คุณแม่ก็ตอบไปอย่างเลือดเย็นว่า  "ใช่จ้ะ  เพียงเพราะแม่สอนวิชาประชาธิปไตยในเอเชียที่มหาวิทยาลัย  ก็ไม่ได้หมายความว่าการปกครองในบ้านนี้มันจะเป็นประชาธิปไตยสำหรับลูก ๆ"  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ธ.ค. 15, 07:59 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง