เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 22759 ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 08 พ.ย. 15, 10:54

     เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ผู้นี้ น่าจะเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยาพลเทพ(ฉิม) บิดาของเจ้าจอมน้อยในรัชกาลที่ 3   
     ถ้านับอายุตั้งแต่ขุนหลวงพระยาไกรสีเกิดในรัชกาลที่ 4   คุณปู่ของท่านก็น่าจะเกิดในรัชกาลที่ 1 มีอายุมาถึงรัชกาลที่ 3 จึงถึงแก่อนิจกรรม  ไม่น่าจะมีเจ้าพระยาพลเทพชื่อเดิมว่าฉิมซ้ำกันสองคนในรัชกาลเดียวกัน
     หากว่าเป็นคนเดียวกัน  ก็มีประวัติเพิ่มเติมว่า  ท่านเป็นผู้ที่ธิดาของท่านคือ เจ้าจอมน้อย สุหรานากง  ได้ปฏิสังขรณ์วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ  เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดา    วัดนี้มีมาแต่เดิมชื่อว่าวัดหมู      เล่ากันว่าจีนอู๋เป็นผู้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู   ชาวบ้านเรียกว่าวัดอู๋ ต่อมาเพี้ยนเป็นวัดหมู  แต่อีกตำนานหนึ่งก็บอกว่าแถวนั้นเป็นทำเลที่คนจีนค้าหมูตั้งถิ่นฐานกันอยู่มาก  เอาหมูมาปล่อยวัดเพื่อแก้บนมากมายจึงเรียกชื่อว่าวัดหมู  แต่วัดนี้สร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด
    เจ้าจอมน้อย มีสมญาต่อท้ายว่า สุหรานากง  แสดงว่าท่านเคยรำเป็นตัวสุหรานากงในเรื่องอิเหนามาก่อน  คงจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2   ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 3  และคงจะเป็นคนสวยมาก   เห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามวัดหมูเสียใหม่ว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย     พร้อมกับพระราชทาน "พระพุทธรูปปางฉันสมอ" มาประดิษฐานไว้ในวัด
บันทึกการเข้า
กะออม
พาลี
****
ตอบ: 222


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 09 พ.ย. 15, 07:27

ถ้าอย่างนั้น ท่านก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสามเณรกลั่น ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง

๐  เห็นวัดหมูรู้ว่าคุณป้าสร้าง            ครั้นจะอ้างว่าเป็นเชื้อก็เหลือขาม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 พ.ย. 15, 13:01

เณรกลั่นเป็นลูกบุญธรรมของสุนทรภู่     
จากกลอนบทนี้ เรียกเจ้าจอมน้อยว่า "คุณป้า" ก่อนหน้ากลอนบทนี้ เล่าถึงญาติวงศ์พงศาว่าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่  ก็อาจจะหมายถึงสกุลของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) 
ถ้าท่านเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยาพลเทพปู่ของขุนหลวงพระยาไกรสี   ลูกสาวท่าน เณรกลั่นเรียกว่า "คุณป้า"  เณรกลั่นก็อยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกับขุนหลวงพระยาไกรสี(เปล่ง)
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 16 พ.ย. 15, 21:05

เป็นตัวแทนเพื่อนร่วมชั้น มารับอาจารย์ไปเล็คเชอร์ต่อค่ะ
เอ..หรือว่าอาจารย์จะรอแท็กซี่ไฮโซที่มีคนขับเป็นเจ้าชาย มารับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 17 พ.ย. 15, 10:04

แท็กซี่มัวไปรับนักศึกษาเข้าคลาส  หยุดวิ่งชั่วคราว    ต้องนั่งรถไฟฟ้ามาเองค่ะ

กำลังหานามสกุล เวภาระ  คุณ V_Mee เคยเล่าไว้ในกระทู้เก่าว่าเป็นนามสกุลพระราชทาน   แต่ดิฉันหาไม่พบ
ต้องพึ่งเพ็ญชมพูกูเกิ้ลอีกแล้วละมัง

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 17 พ.ย. 15, 10:13

คุณวีมีท่านเล่าไว้อย่างนี้

หลวงรัตนาญัปติ (เทียม)ท่านนี้ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีศาลต่างงประเทศ  กระทรวงยุติธรรม  ท่านถึงแก่กรรมในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  อายุราว ๓๐ ปลายๆ หรือ๔๐ ต้นๆนี่แหละครับ  ในรัชกาลที่ ๖ ทายาทของท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "เวภาระ"
ตอนนั้น คุณวีมีคงยังสับสนอยู่ระหว่างขุนหลวงพระยาไกรสีทั้ง ๒ ท่านคือ เทียม บุนนาค และ เปล่ง เวภาระ

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) ชื่อนี้หากไม่คุ้นอาจจะสับสนกับขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เอาง่าย ๆ

นายเทียม บุนนาค ก็มีอยู่อย่างน้อย ๒ ท่าน เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คือ นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม อีกท่านหนึ่งคือ นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ  พระยาสุรินทรฤๅชัย ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี  ทั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) แต่ต่างมารดากัน
สำหรับเรื่องนามสกุล "เวภาระ" ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมไม่มีข้อมูลในเว็บ พระราชวังพญาไท  ฮืม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 17 พ.ย. 15, 10:52

ตอบคุณเพ็ญชมพู
ขุนหลวงพระยาไกรสีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2444 ในรัชกาลที่ 5   เป็นเวลาสิบกว่าปีก่อนมีพระราชบัญญัตินามสกุล 
เป็นไปได้ว่าลูกหลานของท่านไม่ได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล   แต่อาจจะทูลขอจากเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งแทน   จึงไม่มีนามสกุล เวภาระ อยู่ในทำเนียบนามสกุลพระราชทาน
ต้องรอคุณ V_Mee มาชี้แจงอีกทีหนึ่งค่ะ

กลับมาที่ประวัติ
เมื่อเรียนหนังสือกับคุณป้าจนอายุ 13   แล้ว   เด็กชายเปล่งซึ่งบัดนี้น่าจะโกนจุกแล้ว ก็เข้าวัดฝากตัวเป็นศิษย์พระครูพุทธมนต์ปรีชา (เอม) ซึ่งต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระอริยมุนี  วัดบวรนิเวศ  เรียนหนังสือไทย  ขอม บาลี และวิชาเลขจนอายุ 15  ก็ถือว่าเรียนจบ
สมัยนั้น เด็กหนุ่มอายุ 15 ถือว่าโตเป็นหนุ่มพอจะเตรียมเข้ารับราชการได้แล้ว      นายเปล่งก็ได้เจ้านายคือพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้ชุบเลี้ยง  ทรงสั่งสอนฝึกหัดวิชากฎหมายไทย และขนบธรรมเนียมประเพณีของข้าราชการให้ ประมาณ 2 ปี
เป็นอันแน่นอนว่าอนาคตของนายเปล่ง ก็คือข้าราชการ

นายเปล่งคงจะหัวดีเป็นที่พอพระทัยของเจ้านาย  มีวี่แววว่าฉลาดเฉลียวร่ำเรียนได้เก่งกว่าเพื่อน   จึงถูกส่งให้เรียนสูงมากขึ้น  เข้าไปเรียนที่โรงเรียนพระราชวังนันทอุทยาน  ซึ่งเป็นโรงเรียนชาย สอนภาษาอังกฤษ  มีหมอแมคฟาแลนด์เป็นอาจารย์ใหญ่ และแหม่มโคลเป็นครูสอนอีกคนหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 17 พ.ย. 15, 11:38

   ในโรงเรียนนันทอุทยานนี้เอง แววปราดเปรื่องทางภาษาของนายเปล่งก็ฉายประกายเจิดจ้าขึ้น      ในสมัยที่คนไทยยังกินหมาก ลิ้นแข็ง  ยากที่จะออกเสียง th ch sh z ฯลฯ   เวลาเรียนก็ไม่มีอุปกรณ์ช่วยอะไรทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่ดิกชันนารีของสอ เสถบุตร(เพราะคนเขียนยังไม่เกิด)  นายเปล่งสามารถเรียนเขียนอ่านพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดี จนได้ที่ 1  แต่ผู้เดียวในหมู่นักเรียน    สอบไล่ทีไรได้รับพระราชทานรางวัลทีนั้น  เรียกได้ว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของโรงเรียน
  นายเปล่งเรียนอยู่ 3 ปี  อายุ 18 เป็นหนุ่มเต็มตัว   กรมหลวงพิชิตปรีชากรก็ถือว่ามีวิชาพอตัวแล้ว  โปรดให้ออกมาเป็นเสมียนฝึกหัดในทางพิจารณาความอยู่ในอัฎฐวิจารณ์ศาลา 
  ชื่อศาลาอ่านยากและพิมพ์ก็ยากนี้ คือศาลฎีกาในสมัยนั้น   สถานที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง    มีหน้าที่ตรวจฎีกาและทำความเห็นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงวินิจฉัย     ด้วยเหตุนี้  ศาลฎีกาจึงขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   สมัยนั้นยังไม่มีกระทรวงยุติธรรม   จนพ.ศ. 2455   ในรัชกาลที่ 6  จึงมีพระบรมราชโองการให้ยกศาลฎีกามาสังกัดกระทรวงยุติธรรม

  การเป็นเสมียนในสมัยนั้นไม่ได้กระจอกอย่างที่เข้าใจกันในชั้นหลัง     แต่เป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่ดวงดาว     ขุนนางสมัยนั้นต้องค่อยๆไต่บันไดขึ้นจากขั้นแรกก่อน    โดยเฉพาะในด้านกฏหมายที่ต้องรอบรู้ทั้งกว้างและลึก   ตำรับตำราในสมัยนั้นก็ไม่มีมากอย่างสมัยนี้  ต้องอาศัยฝึกหัดอบรมกับผู้ใหญ่ จนรอบรู้ในหน้าที่การงานไปทีละขั้น
  นายเปล่งได้หัวหน้าคือพระเทพราชธาดา(โต) ในตอนนั้นยังเป็นขุนสุภาเทพ   ได้รับมอบหมายจากกรมหลวงพิชิตปรีชากรให้ช่วยสั่งสอนหน้าที่การงาน และใช้สอยในการพิจารณาความในศาลาลูกขุน 
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 17 พ.ย. 15, 13:22

มาลงชื่อติดตามอ่านเจ้าค่ะ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 18 พ.ย. 15, 17:29

ตอบคุณเพ็ญชมพู
ขุนหลวงพระยาไกรสีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2444 ในรัชกาลที่ 5   เป็นเวลาสิบกว่าปีก่อนมีพระราชบัญญัตินามสกุล  
เป็นไปได้ว่าลูกหลานของท่านไม่ได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล   แต่อาจจะทูลขอจากเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งแทน   จึงไม่มีนามสกุล เวภาระ อยู่ในทำเนียบนามสกุลพระราชทาน
ต้องรอคุณ V_Mee มาชี้แจงอีกทีหนึ่งค่ะ

ไม่มีนามสกุลนี้ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานเลยครับ  แต่อาจเป็นได้ที่ทายาทของท่านจะขอประทานนามสกุลจากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ซึ่งเคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมาก่อน  แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 พ.ย. 15, 20:35 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 18 พ.ย. 15, 20:34

ดิฉันก็คิดอย่างคุณ V_Mee ว่านามสกุล "เวภาระ" ถ้าไม่ได้ตั้งกันเอง  ก็น่าจะเป็นนามสกุลประทานจากเจ้านาย มากกว่านามสกุลพระราชทาน   
นามสกุลพระราชทานมีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง   อย่างหนึ่งที่พบบ่อยมาก คือเป็นคำสนธิ หรือคำสมาส   คือประกอบด้วยคำสองหรือสามคำเชื่อมต่อกัน    เช่น สุวรรณ+ประทีป    ตันตริยานนท์ ->ตันตริย+อานนท์   
ส่วนใหญ่ก็จะนำมาจากชื่อบรรพบุรุษ ทวด ปู่ หรือพ่อ บวกกัน   หรือชื่ออาชีพการงานของบรรพบุรุษ 

แต่ เวภาระ เป็นคำคำเดียว  เป็นชื่อของภูเขาเวภารบรรพต ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของภูเขา หรือเบญจคีนีที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์  พบได้ในพุทธประวัติ
ไม่เข้าข่ายชื่อบรรพบุรุษ หรือชื่ออาชีพ อย่างนามสกุลพระราชทานที่น่าจะพระราชทานให้ลูกหลานของขุนนางสำคัญอย่างขุนหลวงพระยาไกรสี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 19 พ.ย. 15, 19:25

  นายเปล่งเป็นเสมียนอยู่ 2 ปีก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถูกส่งตัวข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่อังกฤษ      แสดงว่าพื้นความรู้ทางภาษาที่เรียนมาจากหมอแม็คฟาแลนด์และแหม่มโคล แน่นเอาการ    จึงได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนแข่งกับฝรั่งได้      
  ในวัย 20 ปี นายเปล่งยังเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้  ต้องไปเรียนในโรงเรียนก่อน เรียนวิชาพื้นฐานคือภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส  ภาษาละติน  และวิชาเลข ตลอดจนวิชาสามัญอื่นๆ     ไม่แน่ใจว่าเคยเรียนวิชาฝรั่งเศสกับละตินมาก่อนในสยามหรือเปล่า  แต่ที่แน่ๆคือต้องไปเรียนเหมือนนักเรียนฝรั่งที่เป็นเจ้าของประเทศ    ไม่มีการยกเว้นในฐานะคนต่างชาติ
   โรงเรียนที่นายเปล่งเข้าเรียนอยู่ 2 ปีเศษ  มีชื่อสะกดโดยตัวท่านว่า "เซาแฮมสะเตต  คอลลิจิเอตสกูล"    ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษคือ  South Hampstead Collegiate School   อยู่ที่ตำบล Hamstead  ในกรุงลอนดอน

   โรงเรียนนี้น่าจะเลิกกิจการไปแล้ว  หรือเปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่นเพราะอาจารย์กู๊กไม่รู้จัก   ดูจากลักษณะแล้วน่าจะเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนถึงมัธยมปลาย  ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย     อาจเป็นโรงเรียนเดียวกับ South Hampstead  High School  ตามรูปข้างล่างนี้ค่ะ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 19 พ.ย. 15, 19:48

   นายเปล่งไม่ได้ทำให้เสียชื่อนักเรียนสยาม    ตรงกันข้าม  กลับทำชื่อเสียงให้พระราชอาณาจักรด้วยการเรียนเก่ง ไม่น้อยหน้าไปกว่าอยู่ในกรุงเทพ  เห็นได้จากได้รับรางวัลที่ 1 เมื่อมีการสอบภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนี้ด้วย
   เรียนอยู่ 2 ปี ก็ได้ไปเป็นศิษย์ของนักกฎหมายชื่อมิสเตอร์โอ.  เอ. ไฟร์  ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ    เห็นจะเป็นการเรียนแบบติว เพื่อมุ่งเฉพาะทาง     เพราะเป้าหมายคือเข้าเรียนนิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย    เรียนอยู่จนอายุ 22  ก็ไปสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย Middle Temple  มี 3 วิชาที่ต้องสอบให้ผ่านคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน  และประวัติศาสตร์อังกฤษ
   ท่านสอบผ่านหมด  จึงได้เข้าเป็นนักศึกษาของ Middle Temple   ไปเรียนวิชาที่หินหนักยิ่งกว่าเก่า คือกฎหมายโรมัน   กฎหมายอังกฤษ   กฏหมายนานาประเทศ  (International Law)  กฎหมายมะหะหมัด และกฎหมายฮินดู    อย่างท้ายสุดนี้มีคำขยายความว่าคือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดีย)  ส่วนกฎหมายมะหะหมัด อาจจะหมายถึงกฎหมายของมุสลิม(อาหรับ?)  ไม่แน่ใจ
คงต้องถามคุณ Naris อีกทีว่าหมายถึงกฎหมายอะไร
   
  Middle Temple เป็นหนึ่งในสี่สถาบันชั้นสูงทางกฎหมายของอังกฤษ   ผลิตบัณฑิตทางกฎหมายซึ่งสมัยนั้น ไทยเรียกว่าเนติบัณฑิตย์    อีก 3 แห่งคื Inner Temple, Gray's Inn และ Lincoln's Inn.  นักกฎหมายดังๆของไทยในยุคก่อนก็ไปเป็นบัณฑิตจากสถาบันเหล่านี้กันหลายท่านด้วยกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 19 พ.ย. 15, 19:50

มิดเดิลเทมเปิลในสมัยท่านเปล่งไปเรียน หน้าตาเป็นแบบนี้


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 20 พ.ย. 15, 16:24

พระธรรมศาสตร์ ตามตำนาน เชื่อว่า ตำรานี้เป็นตำรากฎหมายฉบับแรกๆของโลก ผู้แต่งไม่ทราบแต่ในว่ากันว่า ผู้แต่งชื่อพระมนู บางตำราจึงเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระมนูธรรมศาสตร์ ครับ
 
สมัยผมเรียนกฎหมาย อ.ธงทอง จันทรางศุ เล่าเรื่องพระมนูให้ฟังว่า เดิมท่านเป็นอำมาตย์มีหน้าที่ตัดสินคดีความ มีคดีเรื่องเจ้าของไร่แตง สองไร่อยู่ในที่ดินติดกัน โดยธรรมชาติของเถาแตง ย่อมเลื้อยไปตามพื้น ที่กลายเป็นเรื่องเพราะเถาแตงจากไร่นาย A เลื้อยเข้าไปในเขตไร่ของนาย B แล้วไปออกผลแตงที่นั่น นาย B ก็ยึดถือเอาว่า แตงเกิดในที่ของตน ก็ย่อมเป็นแตงของตน นาย A ไม่ยอม ก็ไปขอให้พระมนูตัดสิน พระมนูก็ให้ไล่สายกลับไปจนพบว่า แตงผลนี้เกิดขึ้นจากต้นแตงในไร่ของนาย A แตงควรเป็นของนาย A แต่พอเปิดกฎหมายดู กฎหมายกลับบัญญัติว่าให้เป็นของนาย B พระมนูรู้สึกว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ในสมัยนั้น วิปริตผิดเพิ้ยนไปหมด จึงรู้สึกท้อใจแล้วลาออกจากราชการ ท่านเดินทางไปจนสุดขอบจักรวาล แล้วได้ไปเป็นจารึกข้อกฎหมายอยู่ ณ กำแพงจักรวาลนั้น พระมนูเห็นว่า กฎหมายในจารึกนี้เป็นธรรมนัก จึงคัดลอกแล้วนำกลับมาใช้ในบ้านเมืองของท่าน ตำรากฎหมายนั้น จึงได้ชื่อว่า พระมนูธรรมศาสตร์ 
 
ในเมืองไทย เป็นชื่อคัมภีร์กฎหมายที่ว่ากันว่า ไทยเรารับเอามาจากชนชาติมอญ ซึ่งมอญก็รับเอามาจากอินเดียอีกทีหนึ่งครับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ ของพระองค์เกี่ยวกับพระธรรมศาสตร์ว่า

“ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิม มอญ ได้มาเป็นภาษาสันสกฤษมีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธ ที่เมืองรามัญ(แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญเพิ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียโดยมาก มีภาษามคธชื่อเก่า พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เป็น มอญ บ้านบางตลาด ปากเกร็ด นนทบุรี มาติกากฏหมายนอกนั้น เป็นภาษารามัญได้วานพระยาโหราฯ แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ ตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระมหาสมมติ ตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด”
(ที่มา : http://www.openbase.in.th/node/10080)

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้รับการนำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีความต่างๆ ในฐานะความยุติธรรมดั้งเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ก็อาจจะมีบทบัญญัติบางอย่างที่พระธรรมศาสตร์ไม่ได้เขียนไว้ ถ้ามีคดีความเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่มีเขียนไว้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงวางหลักเกณฑ์ต่างๆขึ้นใช้บังคับแทน หรือบางทีก็ไม่ได้ทรวงวางหลักเกณฑ์เป็นการทั่วไป แต่ได้ทรงวินิจฉัยคดีความ เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะ แล้วคำวินิจฉัยนั้นมีเหตุผลที่ดี จนได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกันสืบต่อมา ฉะนั้น บรรดากฎหมาย คำสั่ง ข้อบังคับ พระอัยการ ฯลฯ ที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้นเช่นนี้ จะได้รับการรวบรวมไว้ในคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง เรียกว่า “พระราชศาสตร์” ครับ   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.105 วินาที กับ 20 คำสั่ง