หลังจากเกิดเรื่องใน ร.ศ. ๑๑๓ อีก ๔ ปีต่อมาเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ก็ลาออกจากราชการ และยังเกี่ยวข้องอีกหลายคดี

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีจดหมายพิมพ์ดีดลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ว่าเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด ถูกขังเร่งเงินหลวงอยู่
เรื่องนายเพ่ง ศรีสรรักษ์นั้นมีรายละเอียดมาก ถ้าจะให้เล่าต้องให้เวลานาน
ควรแต่สรุปสั้นๆ ว่า นายเพ่งนั้น บิดาและมารดาเหลืออดเหลือนกับพฤติกรรมมาก
จนถึงแก่ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงถอดออกจากตำแหน่งและยศบรรดาศักดิ์
รวมทั้งถอดออกจากสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในฐานะเป็นบุตรคนโตที่สืบสกุลเจ้าพระยาภาสกรวงศ์
และตัดสิทธิจากทายาทผู้ควรได้รับมรดกด้วย
ส่วนเรื่องที่นายเพ่ง ติดคุกนั้น กรณีที่นายเพ่งติดคุกเพราะถูกเร่งเงินหลวงค่านาก็เป็นกรณีหนึ่ง
แต่ก็ยังติดไม่นานเท่ากับคดีต่อมาภายหลังที่นายเพ่งออกจากราชการแล้ว คดีนั้นเป็นคดีใหญ่
ที่มีเจ้านายเข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นคดีที่ไม่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน ผลนายเพ่งติดคุกอยู่หลายปี
กว่าจะพ้นมาได้โดยการดปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ ส่วนเจ้านายพระองค์นั้น
ต้องทรงรับโทษข้ามรัชกาลเป็นเวลานานกว่านายเพ่งหลายปี
เรื่องนายเพ่งนี่ยาวมาก ที่จริงท่านมีฝีมือในทางแปลเรื่องเซอร์ยอนโบว์ริงเข้ามาเมืองไทยไม่น้อย ภาษาไทยนุ่มนวล
ได้อ่านฎีกาของท่านสองสามเรื่อง แต่คดีใหญ่นั้น ยังไม่เห็นเอกสาร
เจ้าคุณพ่อแก้ตัวให้ครั้งหนึ่งว่า ทำการเกินตัวด้วยไปตั้งโรงสีข้าวและกู้เงินมาซื้อเครื่องจักร
พ่อกับแม่ต้องขอผ่อนหนี้แทน ครอบครัวก็ขัดสนเพราะใช้หนี้ให้หลายครั้ง และกำลังจะทำงานเผาหม่อมอินซอ
ไม่มีเอกสารที่กล่าวถึงความเสียใจของท่านผู้หญิงเปลี่ยน การที่ท่านร่วมเซ็นชื่อกับเจ้าคุณภาสขอถอดลูกชายคนโตจาก
ผู้ถือตราตระกูลนั้นแสดงว่าท่านพยายามตัดใจเป็นที่สุด
คลับคล้ายว่านายเพ่ง ศรีสรรักษ์ หลังออกจากราชการแล้ว ก็คบคิดกับชาวญี่ปุ่นทำแบงก์โน๊ตปลอมเข้ามาจากกรุงญี่ปุ่นขนส่งมายังกรุงสยาม
ในฉากญี่ปุ่นบานหนึ่ง และด้วยอะไรก็สุดแล้วแต่ ฉากญี่ปุ่นบานนั้น ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเสด็จในกรมพระองค์หนึ่ง
ครั้นภายหลังเรื่องแบงก์ปลอมแดงขึ้น นายเพ่งถูกจับ เสด็จในกรมท่านก็ติดร่างแหไปด้วย ถูกถอดยศ ริบเหรียญตราเครื่องราชฯ
เป็นเรื่องใหญ่โตเจียว