เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 22887 ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 08 ม.ค. 16, 13:07

เสียใจจริงๆ  หนังสือกับเจ้าของกระทู้ยังอยู่คนละแห่งกันจนบัดนี้   จึงต้องไปถามอาจารย์กู๊กแก้ขัดไปก่อน

ด้วยผลงานที่ปฏิบัติมาอย่างมีประสิทธิภาพ  คุณหลวงรัตนาฯก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ใหม่เมื่ออายุ 32 ปี   คือเป็นขุนหลวงพระไกรสีสุ
ภาวภักดี ศรีมนธาตุ  ราชอํามาตยคณาการ   เป็นราชทินนามย้อนหลังไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์     
ขุนหลวงพระไกรสี ก็อย่างที่บอกไว้ตอนต้นกระทู้ ว่าเป็นตําแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวงซึ่งถือกันว่าเป็นผู้รู้พระราชกาหนดกฎหมายแม่นยำในพระราชกำหนดบทพระอัยการยิ่งกว่าลูกขุนอื่นทั้งปวง

ถ้าจะถามว่า ทำไมเลื่อนคุณหลวงรัตนาฯขึ้นเป็นคุณพระอะไรสักราชทินนามหนึ่ง เพื่อจะก้าวต่อไปเป็นพระยาอย่างคนอื่นๆ  ไม่ได้หรือ    ก็ขอตอบด้วยคำอธิบายข้างบนว่า  บรรดาศักดิ์ข้างบนนี้ไม่ได้เป็นการเลื่อนขั้นข้าราชการนักกฎหมายเก่งๆคนหนึ่งอย่างธรรมดา  เหมือนนักกฎหมายอื่นๆในยุคนั้น   แต่เป็นการยกย่องฝีมือและความรู้ของคุณหลวงรัตนาฯ ว่าเก่งระดับผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่ไม่ได้มีมาหลายสิบปีแล้วนับแต่ขุนหลวงพระไกรสีคนเดิมถึงแก่กรรมไป
บรรดาศักดิ์นี้ ต้องแยกเป็น 3 ส่วน คือขุนหลวง+พระ+ไกรสี       คุณหลวงรัตนาฯ ท่านเป็นหลวง แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็น พระ  มีคำว่าขุนหลวง นำหน้า ยกย่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย   
สมัยนี้จะเรียกอะไรก็ยังนึกไม่ออก  จะเรียกว่าผู้ชำนาญการพิเศษ ก็ไม่รู้จะใกล้เคียงรึเปล่า   ฝากคุณนเรศและคุณหมอเพ็ญซึ่งรู้หลายสาขานอกเหนือจากสัตว์ประหลาด  ช่วยบอกกันหน่อยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 16 ม.ค. 16, 19:56

กระทู้จะตกหน้าอีกแล้ว  ยิงฟันยิ้ม

คุณหลวงรัตนาฯ ท่านเป็นหลวง แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็น พระ  มีคำว่าขุนหลวง นำหน้า ยกย่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  
สมัยนี้จะเรียกอะไรก็ยังนึกไม่ออก  จะเรียกว่าผู้ชำนาญการพิเศษ ก็ไม่รู้จะใกล้เคียงรึเปล่า   ฝากคุณนเรศและคุณหมอเพ็ญซึ่งรู้หลายสาขานอกเหนือจากสัตว์ประหลาด  ช่วยบอกกันหน่อยค่ะ

บรรดาศักดิ์ "พระ" หากเทียบกับตำแหน่งทางวิชาการปัจจุบันคงจะประมาณ "ระดับชำนาญการพิเศษ" อย่างคุณเทาชมพูว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 16 ม.ค. 16, 20:42

   ก่อนหน้านี้ 1 ปี  คือเมื่อ พ.ศ.2436  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมอัยการขึ้นในกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน   คุณหลวงรัตนาฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอัยการคนแรก  ทำหน้าที่อบรมฝึกหัดผู้ที่จะเป็นพนักงานอัยการ ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า “เนติบัณฑิตย์”
    งานของคุณหลวงมีเต็มมือ  เพราะต้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายของเจ้าพนักงานในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ในคดีซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐบาล    แต่ท่านก็ยังต้องแบ่งเวลาไปคิดร่างแต่งกฎเสนาบดี และร่างประกาศพระราชบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย    ร่างเหล่านี้ในเวลาต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้เป็นกฎหมาย สำหรับแผ่นดินมากมายหลายฉบับด้วยกัน

   เมื่อเลื่อนขึ้นเป็น ขุนหลวงพระไกรสี   งานก็ยิ่งงอกงามขึ้นมาเรื่อยๆ  เห็นได้จากพระราชหัตถเลขา
                                                                             พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท

                                                                               วันที่ 1   พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 115

ถึงกรมหลวงพิชิตปรีชากร (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) ...

   ... อนึ่ง ฉันได้พูดกับขุนหลวงพระไกรษี เมื่องานราชสมบัติเสนอด้วยรัชกาลที่ 1 ในเรื่องซึ่งจะให้มีผู้ชำระความได้มากขึ้น เขาว่า จำเปนจะต้องตั้งโรงเรียนลอสกูล ฉันเห็นเปนถูกต้องแท้ เหมือนที่อิหยิปต์ตั้งศาลแขกได้ ก็อาไศรยโรงเรียนกฎหมายเหมือนกัน เห็นว่าเปนรากเง่าที่จะให้การชำระความเรียบร้อยมั่นคง ครั้นวันนี้ได้พบขุนหลวงพระไกรษี เตือนเขาว่าทำไมไม่ได้เห็นความคิดที่จะจัดการ เขาว่าได้ทำยื่นไว้ที่เธอสามเดือนแล้ว ฉันเห็นว่าเปนข้อสำคัญมาก ถ้าคิดการยังไม่ตลอด ขอให้เร่งคิดเสียให้ตลอดถ้าการคิดตลอดแล้ว ขอให้นำมาบอกให้ทราบ สำหรับขึ้นงบประมาณในศกนี้ ได้ดีกว่าที่จะรอต่อไป

                ในที่สุดนี้ ขอบอกว่ามีความเสียใจที่ไปไม่พบเธอ การที่ไม่ได้นัดนั้น ตั้งใจจะไม่ได้นัดด้วย
                
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 28 ม.ค. 16, 09:59

   ในร.ศ. 116    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขุนหลวงพระไกรสีขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา    ในคำประกาศตราตั้ง  ระบุคุณสมบัติไว้ว่า
    ประกอบไปด้วยปรีชาสามารถ    รอบรู้พระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่   แลมีความซื่อสัตย์สุจริตตั้งอยู่ในความยุติธรรม  
    ตำแหน่งหน้าที่ใหม่แม้ว่าสูงมาก แต่ก็โหดหินไม่น้อยไปกว่าความสูงส่ง   เพราะเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมเก่ากับใหม่  ศาลอยู่ในขบวนการปรับปรุง   มีคดีเก่าๆคั่งค้างมากมายที่เป็นคดีระหว่างขุนนาง เจ้านายและไพร่ราษฎรชาวบ้านสามัญเป็นคู่ความ   แต่เดิม ในกฎหมายเดิมก็มีระเบียบปฏิบัติอย่างหนึ่ง  เมื่อสังคมเลี้ยวเข้าสู่ยุคใหม่ ก็ต้องแก้ไขระบบเดิมให้กลายเป็นปฏิบัติเท่าเทียมกันระหว่างโจทก์จำเลย    หรือที่ปวดหัวกว่านี้ก็คือคู่ความอ้างว่าตนเองอยู่ในบังคับของต่างชาติ ทำให้มีสิทธิพิเศษแตกต่างไปจากคนไทยอื่นๆ
    อุปสรรคทั้งหมดนี้  ขุนหลวงพระไกรสีต้องทำหน้าที่หัวหอก ฝ่าฟันไปให้จงได้      ดูๆสภาพโดยรอบแล้วก็น่าเห็นใจท่าน  เพราะคนรอบๆจำนวนมากเขาก็ชินกับระบอบเดิม  ที่เป็นประโยชน์ทางฝ่ายตัวเขา    เอาระบอบใหม่มาใช้ ทำท่าจะเสียประโยชน์ไปก็ไม่ยอม   ส่วนอีกฝ่ายที่ได้ผลดีจากระบอบใหม่ก็ต้องยืนกรานต่อต้านระบอบเก่า   ใครยืนอยู่ตรงกลางอย่างขุนหลวงพระไกรสีก็เหมือนถูกแรงกระแทกจากรอบด้าน      แต่ท่านก็ยึดโล่ป้องกันตัวอย่างเดียว คือ "สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 11:42

    พอได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา   ท่านก็เจอคดีแรก แม้ว่าไม่ซับซ้อนนัก แต่ก็สมควรจะกล่าวไว้เป็นเกียรติประวัติของท่าน
    เรื่องนี้ กรมอัยการเป็นโจทก์   นายแปลกหรือในคำพิพากษาเรียกว่าอ้ายแปลก เป็นจำเลย
    เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาถึงศาล  ก็เพราะมีการวิวาทกันด้วยไม้ตะพด  ระหว่างผู้เคราะห์ร้ายชื่อนายแทน กับนายแปลก  ต่างคนต่างมีตะพดเป็นอาวุธกันทั้งคู่      สาเหตุเกิดจากนายแทนเมาสุราอาละวาด  เอาไม้ตะพดตีนายแปลกเข้าก่อนถูกข้อศอกและนิ้วก้อยซ้ายหนังกำพร้าถลอก   นายแปลกก็เลยใช้ไม้ตะพดตอบแทนเข้าให้ 3 ทีบนหัวนายแทน จนหัวแตกเลือดไหล  นายแทนบาดเจ็บอยู่ 5 วันทนพิษบาดแผลไม่ได้ก็ขาดใจตาย  
   แต่ในคำให้การนั้น  ซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งคือผู้เกี่ยวข้องไม่ได้มีแค่นายแทนกับนายแปลก    แต่มีหมาอีกตัวเข้ามาเป็นตัวการร่วมด้วย    กล่าวคือระหว่างสองคนตีกันชุลมุนอยู่นั้น   หมาตัวนี้มาจากไหนไม่ทราบ วิ่งเข้ามากัดน่องนายแทนแล้ววิ่งหนีไป     เมื่อตีกันจบแล้ว  มีคนมาคัดเลือดจากแผลที่นายแทนถูกตีและใส่ยาให้   แต่ไม่มีหมอมารักษาแผลที่ถูกหมากัด   นายแทนตายใน 5 วันต่อมา   ฝ่ายทนายจำเลยจึงเห็นว่านายแทนตายด้วยแผลถูกหมากัด    ไม่ใช่แผลจากตะพดของนายแปลก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 12:58

      ขุนหลวงพระไกรสีกับคณะผู้พิพากษา พิจารณาคำฟ้องและคำให้การของพยานแล้ว   เห็นว่านายแทนตายด้วยบาดแผลที่นายแปลกตี   ส่วนเรื่องหมาที่มากัดนายแทนนั้น  ไม่ได้ความสมจริง   จึงให้ยกคำต่อสู้นี้เสีย   แต่นายแปลกไม่ได้เป็นผู้ก่อการวิวาท นายแทนเป็นคนเริ่มขึ้นก่อน   คือทำร้ายนายแปลกก่อน  นายแปลกถูกตีเจ็บก็เลยบันดาลโทสะตีตอบไป   และนายแปลกก็มามอบตัวแก่เจ้าพนักงานโดยดี   จึงมีเหตุควรบรรเทาโทษ  ให้จำคุกนายแปลกไว้ 3 ปี
     ศาลพระราชอาญาตัดสินเมื่อเดือนเมษายน   ต่อมาเดือนพฤษภาคม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน    นับว่าเร็วมาก   นายแปลกก็เดินคอตกเข้าคุกไปใช้โทษอันเกิดจากบันดาลโทสะของตนจนครบ 3 ปี

     ส่วนคดีต่อไปนี้ซับซ้อนกว่าคดีแรกมาก     เป็นคดีที่เกิดก่อนหน้าขุนหลวงพระไกรสีจะมารับตำแหน่งอธิบดี   จำเลยถูกขังมาแล้ว 1 ปีเศษ  
    จำเลยในคดีนี้ชื่อนายรื่น   ถูกอัยการฟ้องว่าเป็นผู้ผลิตและใช้เงินแดง(คือเหรียญกระษาปน์ปลอม)   แต่นายรื่นปฏิเสธข้อหา  ให้การว่าถูกใส่ความ โดยขุนนางชื่อขุน ท.และ นายข.  มาหานายรื่นแล้วชวนไปธุระด้วยกัน ถึงหน้าวัดมหรรณพาราม  สองคนนั่นก็ทำอุบายฝากเงินที่ถือมาด้วยให้นายรื่นถือไว้  ตัวเองเข้าไปในวัด   ออกจากวัดแล้วก็ไม่รับห่อเงินคืน  แต่ให้เดินตามไปถึงบ้านขุน ก. ผู้มีหน้าที่ในที่ว่าการอำเภอ  และเป็นบิดาเลี้ยงของนาย ข.
     พอถึงบ้านขุน ก.ก็ให้คนกลุ้มรุมจับ  แก้ห่อเงินที่ถือออกมาพบว่ามีเงินปลอมอยู่ 99 เหรียญ
    นายรื่นก็เลยโดนข้อหาทำเงินปลอมและใช้เงินปลอม ซึ่งเป็นโทษหนัก
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 13:35

ผมไม่ทราบกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในสมัยนั้นนะครับ (เดาว่า น่าจะเป็นประมวลกฎหมายลักษณะอาญาฉบับแรก) แต่หลักกฎหมายอาญาเป็นหลักที่ค่อนข้างนิ่งแล้ว คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่

คดีนายแทน กับนายแปลก มีข้อสังเกตคือ สมัยนั้นคงจะไม่ได้มีการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวินิจฉัยคดี เนื่องจากจำเลยอ้างว่า นายแทนถูกหมากัด เจตนาของจำเลยคงจะต้องการทำให้ศาลเห็นว่า การที่นายแทนถึงแก่ความตายนั้น "อาจจะ" ไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายแปลกก็ได้ ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบัน การตายของนายแทน เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ต้องมีการชันสูตร ซึ่งผลการชันสูตรก็จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า นายแทนตายเพราะสาเหตุใด

เมื่อไม่มีการพิสูจน์ด้วยวิธีนี้ ก็ต้องอาศัยการสืบพยานมายันกัน ฝ่ายจำเลยอ้างว่า มีหมามากัด การนำหมามาเป็น(วัตถุ)พยาน คงทำไม่ได้ แต่จำเลยอ้างว่ามีบุคคลมาคัดเลือดและทำแผลให้นายแทนด้วย ผมเดาว่า ฝ่ายนายแปลก หาคนๆ นี้ไม่พบ หรือหาพบแต่ไม่สามารถนำเขามาเป็นพยานเบิกความในศาลได้ ขุนหลวงพระไกรสี ท่านจึงมองว่า ข้อต่อสู้นี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานโจทก์ ท่านจึงวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า นายแทนตายเพราะบาดแผลถูกนายแปลกตี

ทีนี้ กฎหมายอาญามีหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ การที่นายแปลกตีหัวนายแทนเลือดไหล จะเป็นผลให้นายแทนตาย (เพราะบาดแผลนั้นได้) หรือไม่ ศาลท่านมองว่า "ได้" เมื่อเป็นเช่นนี้ นายแปลกจึงถูกพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิด ต้องรับโทษตามกฎหมายไปครับ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 13:43

  ดิฉันคิดว่านิติวิทยาศาสตร์สมัยนั้นคงยังไม่มี  มั้งคะ
  คนตายในสมัยนั้นไม่มีฟอร์มาลีนช่วยให้ศพไม่เน่า   นายแทนคงจะเน่าเปื่อยไปแล้วก่อนคดีขึ้นสู่ศาลเสียด้วยซ้ำ  หรือไม่ก็เผาไปแล้วตามประเพณี    หลักฐานทั้งหลายจึงได้จากพยานล้วนๆ
  นายแปลกหาพยานมายืนยันเหมือนกันถึงการมีตัวตนของหมาตัวนั้น  เช่นอ้างพยานคนหนึ่งว่าเป็นเจ้าของหมา   แต่พยานคนนั้นก็ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าของหมา    ส่วนหมากัดจริงหรือไม่ก็ไม่เห็น   พยานอีกคนเป็นภรรยาของนายแปลกเอง ก็เชื่อถือไม่ได้   ส่วนภรรยานายแทนที่มาให้การเข้าข้างนายแปลก ก็เป็นญาติสนิทของนายแปลกเสียอีก   
   สรุปว่าพยานทั้งหมด ไม่มีน้ำหนักพอจะให้ศาลเชื่อว่า มีหมามากัดจริง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 13:58

      กลับมาถึงเรื่องของนายรื่น
      นายรื่นเป็นคนไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม     เมื่อถูกจับกุมกลายเป็นอาชญากรผลิตและใช้เงินปลอม  นายรื่นก็สู้แหลก  อย่างแรกคือยื่นเรื่องขออายัดเรื่องราว  ให้ขุนก.รับทราบไว้ก่อนว่าเขาถูกขุน ท. และนายข.ใส่ความ     แต่ขุนก.ไม่รับอายัด   เห็นได้ชัดว่าไม่เชื่อ   ในเมื่อจับผู้ต้องหาพร้อมของกลางได้เห็นชัดๆยังงี้แล้ว   จะมาฟังอะไรกับคำแก้ตัว   ขุนก.ก็นำตัวนายรื่นส่งศาลกระทรวงเมืองให้ดำเนินคดีทันที
     นายรื่นก็เลยกลายเป็นผู้ต้องหา   ถูกขังอยู่ในกองลหุโทษ
    
     ตัวเองออกมาสู่ภายนอกไม่ได้  นายรื่นก็ไม่ท้อถอย   บอกญาติให้ยื่นฟ้องขุน ก.และนายข. ว่าใส่ความจับกุมนายรื่น    แต่นายรื่นก็เจอตอเข้าอย่างจัง  คือกองไต่สวนโทษหลวงมิได้ไต่สวนคำร้องของนายรื่นเอาเลย      ดูตามรูปการณ์ คิดว่ากองไต่สวนฯปักใจว่านายรื่นผิดชัวร์    จะมาโวยวายยังไงก็ไม่ฟังทั้งสิ้น    
     แต่ในเมื่อนายรื่นดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย  ศาลราชทัณฑ์พิเฉท (ศาลอะไรไม่ทราบ ต้องถามคุณนริศ) ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบ  คือสั่งกองไต่สวนให้ส่งขุนก.และนายข. มาแก้คดี    แต่กองไต่สวนนั้นอาจจะเห็นเหมือนสมัยนี้ ว่า.."เป็นคดีที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ"  ก็เลยพิจารณาโดยไม่แตะต้องขุนก.และนายข.  แปลง่ายๆว่า ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น  
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 14:46

เรื่อง ว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท นี้ เวปไซต์ของศาลฎีกามีข้อมูลอยู่ ผมสรุปมาได้ดังนี้ครับ
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการการสถาปนากระทรวงยุติธรรม และจัดระเบียบการศาลยุติธรรมใหม่ โดยรวบรวมบรรดาศาล ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ให้สังกัดอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเพียงที่เดียว (ก่อนหน้านี้ กระทรวงแต่ละกระทรวง มักจะมีศาลอยู่ในสังกัดของตัวเอง เช่น ใครพิพาทกันเรื่องการเกษตร ก็ไปฟ้องศาลในกระทรวงเกษตรฯ  ใครพิพาทกันด้วยเรื่องการเดินขนส่ง ก็ไปฟ้องศาลในกระทรวงคมนาคมฯ อะไรทำนองนี้เป็นต้นครับ)

เมื่อมีการรวมศาลต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันไว้ในกระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็ปรากฏว่า การพิจารณาคดีต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีในศาลอุทธรณ์คดีหลวงและศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ (ผมเข้าใจว่าหมายถึง คดีแพ่งที่ราษฎรเป็นความกับรัฐ หรือคดีแพ่งที่ราษฎรเป็นความกันเอง) แต่คดีในศาลพระราชอาญายังคั่งค้างอยู่มาก ส่วนหนึ่งเป็นคดีที่ค้างมาตั้งแต่ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรม อีกส่วนเป็นคดีที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งจากในกรุงเทพฯ และหัวเมือง  พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโศภน เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น จึงได้เสนอพระราชบัญญัติจัดการศาลในสนามสถิตย์ยุติธรรม ร.ศ. ๑๑๑ ขึ้นโดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความอาญานั้น มีบทบัญญัติให้มีศาลเพิ่มขึ้นอีกศาลหนึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของศาลพระราชอาญา ดังนี้ครับ

        “....ข้อ ๒ ศาลพระราชอาญามีอยู่ศาลเดียวยังไม่พอแก่การพิจารณาความอาญาที่ยังคงค้างอยู่ แลที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาลเพิ่มขึ้นอีกศาลหนึ่งให้เรียกนามว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท แลให้ศาลพระราชอาญา และราชทัณฑ์พิเฉททั้งสองนี้ เปนกระทรวงพิจารณาพิพากษาตัดสินความอาญาทั้งปวง แลความอาญาที่คงค้างอยู่ในศาลพระราชอาญานั้น ก็ให้แบ่งแยกมาพิจารณาในศาลราชทัณฑ์พิเฉทด้วยตามสมควรบันดาความอาญาซึ่งจะร้องฟ้องกันขึ้นใหม่ ตั้งแต่ วันที่ ๑ เดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ เป็นต้นไปนั้น ให้แบ่งประทับไปยังศาลพระราชอาญา แลศาลราชทัณฑ์พิเฉททั้งสองนี้ตามพระธรรมนูญ”

สรุปว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท คือศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาความอาญาอีกศาลหนึ่ง เพื่อแบ่งเบาคดีที่มีคั่งค้างอยู่ในศาลพระราชอาญานั่นเองครับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 14:58

ที่ว่า ศาลในสมัยนั้น กระจายกันอยู่ในหลายๆ ที่ ก็เป็นดังนี้ครับ

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99_(%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2)

“กฎหมายเก่าของหมอบลัดเล” และ “พระราชบัญญัติในปัตยุบัน” ได้กล่าวถึงศาลที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกรมต่าง ๆ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ในการชำระความประเภทใดไว้ ดังนี้

ศาลธรรมดาในกรุงเทพ ฯ  หมายถึงศาลที่ชำระความอาญาและความแพ่งที่ราษฎรเป็นความกันตามธรรมดา ได้แก่
ศาลนครบาลขึ้นอยู่กับกรมเมือง มีอำนาจเฉพาะแต่คดีอาญามหันตโทษ เช่น ฆ่าเจ้าของเรือนตาย เป็นชู้กับเมียผู้อื่น เป็นต้น
ศาลกระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น ๓ ศาล คือ ศาลหลวง พิจารณาความอุทธรณ์ที่ตระลาการชำระความโดยมิชอบ ศาลราษฎร์ชำระความอาญาที่จำเลยเป็นตระลาการ และศาลตำรวจ ชำระคดีแปลงคารมลายมือ ขี้ฉ้อหมอความ อ้างว่าเป็นญาติทั้งที่ไม่ได้เป็นแล้วว่าความแทนกัน
ศาลกระทรวงกลาโหมหรือศาลอาญานอก ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม ชำระความอาญานอก ซึ่งหมายถึงคดีที่ราษฎรซึ่งมิใช่ข้าราชการกระทำผิด
ศาลกรมท่า หรือ ศาลกรมพระคลังราชการขึ้นอยู่กับกรมท่า มีอำนาจชำระคดีพิพาทระหว่างคนไทยกับชาวต่างประเทศ หรือชาวต่างประเทศด้วยกันเอง
ศาลแพ่งกลาง ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกรมใดที่ทำหน้าที่ชำระความต่างหาก แต่ขึ้นอยู่กับกรมลูกขุน มีอำนาจชำระคดีวิวาททำร้ายกัน ด่าสบประมาทกัน เป็นต้น ซึ่งจำเลยเป็นสมนอก
ศาลแพ่งเกษม ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกรมใดที่ทำหน้าที่ชำระความต่างหากแต่ขึ้นอยู่กับกรมลูกขุน มีอำนาจชำระความแพ่ง เช่น เอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยไม่บอกเจ้าของ บุกรุกที่ดินเรือกสวน เป็นต้น

ศาลชำระความเป็นพิเศษ ได้แก่
ศาลกรมนา มีอำนาจชำระคดีเกี่ยวกับนา ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
ศาลในกระทรวงมหาสมบัติ มีอำนาจชำระคดีภาษีและหนี้หลวง
ศาลกรมวัง แบ่งเป็น ๔ ศาล คือ ศาลอาญาวัง ศาลนครบาลวัง ศาลแพ่งวัง ศาลมรดก ชำระความที่จำเลยเป็นสมใน
ศาลกรมแพทยา ชำระคดีเกี่ยวกับการกระทำอาคมเวทวิทยาคมแก่กัน
ศาลกรมธรรมการ ชำระคดีพระสงฆ์สามเณรกระทำผิดวินัย
ศาลกรมสรรพากรใน ชำระคดีนายระวางกำนันผู้เก็บอากรขนอนตลาดวิวาทกัน
ศาลกรมสรรพากรนอก ชำระคดีเสนากำนันเบียดบังอากรขนอนตลาด
ศาลกรมสัสดี หรือศาลกรมพระสุรัสวดี ชำระคดีเกี่ยวกับการสังกัดหมวดหมู่ของไพร่หลวงและไพร่สม ตลอดจนการปันหมู่
ศาลราชตระกูล ชำระคดีที่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นโจทก์หรือจำเลยทุกชนิด ยกเว้นเรื่องที่ถึงแก่ชีวิตเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีศาลพิเศษที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเมื่อใดก็ได้ตามความเหมาะสมเพื่อชำระความพิเศษบางคดีซึ่งทรงเห็นว่าศาลธรรมดาที่มีอยู่ชำระไม่ได้หรือชำระได้ยาก ศาลดังกล่าวเรียกว่า “ศาลรับสั่ง” เป็นศาลที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 15:01

เมื่อมี ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ได้มีการยุบรวมศาลทั้งหมด 16 ศาล ให้รวมมาเป็นศาลสถิตย์ยุติธรรมให้เหลือเพียง 7 ศาล คือ

ศาลฎีกา เรียกเป็น ศาลอุทธรณ์คดีหลวง
ศาลอุทธรณ์มหาดไทย เรียกเป็น อุทธรณ์คดีราษฎร์
ศาลนครบาล กับศาลอาญานอก รวมเรียกว่า ศาลพระราชอาญา
ศาลแพ่งเกษม ศาลกรมวัง ศาลกรมนา รวมเรียกว่า ศาลแพ่งเกษม
ศาลแพ่งกลาง ศาลกรมท่ากลาง ศาลกรมท่าซ้าย ศาลกรมท่าขวา ศาลธรรมการ และ ศาลราชตระกูล รวมเรียกว่า ศาลแพ่งกลาง
ศาลสรรพากร ศาลมรฎก รวมเรียกว่า ศาลสรรพากร
ศาลต่างประเทศ คงไว้ตามเดิม

สรุปว่า ผมเข้าใจผิดครับ ศาลอุทธรณ์คดีหลวง และอุทธรณ์คดีราษฎร์ คือ ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 15:24

ขอบคุณค่ะคุณนริศ   รายละเอียดเยอะจริงๆ

    ศาลราชทัณฑ์พิเฉทใส่เกียร์ว่าง ไม่แตะต้องขุน ก. และนาย ข.   แต่ศาลที่นายรื่นต้องขึ้นกลับเดินหน้าไปตามปกติ   ศาลรับสั่งพิเศษกองที่ 3  ตัดสินโทษนายรื่นว่า ทำผิดขั้นมัชฌิมโทษ  มีความผิดตามกฎหมายลักษณะโจร   หน้า 311 มาตรา 156   ถูกโทษขั้นเฆี่ยนด้วยลวดหนัง 50 ที   ตัดนิ้วมือ 10 นิ้ว( พระเจ้าจอร์จ!)  แล้วถูกส่งตัวเข้าคุกในกองมหันตโทษ ติดคุกมีกำหนด 10 ปี     แต่ว่าถูกจำขังมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน เลยหักลบกันไป เหลือติดคุกอีก 8 ปี 3 เดือน
    ศาลยังอนุญาตว่า ถ้ามีเงินมาจ่ายค่าปรับ เป็นค่าถ่ายโทษถูกโบยกับโทษตัดนิ้วได้ก็ไม่ต้องโดน   แต่ถ้าไม่มีเงิน  ก็ปรับเป็นอยู่คุกต่ออีก 1 เดือนฟรีๆ
    สรุปว่า ศาลตัดสินตามคำกล่าวหาของอัยการซึ่งเดินเรื่องตามคำกล่าวหาของขุนก. ขุนท.และนาย ข.  ว่านายรื่นผิดข้อหาดังกล่าวแน่นอน     ส่วนเรื่องนายรื่นดิ้นรนฟ้องกลับขุนก.และนายข.ว่าใส่ความเขา  จนบัดนี้  ทางการก็ยังอืดอาดอยู่ ไม่ได้ใส่เกียร์เดินหน้า        นายรื่นก็ต้องเดินเข้าคุกระยะยาวไป
    แต่นายรื่นแกก็ใจเด็ดเหมือนกัน    ติดคุกนานขนาดนี้แกก็ยังไม่ท้อถอย  ทำเรื่องถวายฎีกาอีกจนได้
    ก็เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นก่อนหน้านี้    กรรมการศาลฎีกาดูจากคดีแล้วเชื่อว่านายรื่นผิดจริง ก็ให้ยกฎีกานายรื่นเสีย   แต่เมตตาหน่อยว่าโทษโบยกับตัดนิ้วนั้นให้ยกโทษไป     ไม่ต้องเสียตังค์ค่าปรับด้วย    แต่ติดคุกต้องติดเหมือนเดิมคือ 10 ปี
    ดูแล้ว ถ้านายรื่นถูกใส่ความจริง   แกก็เป็นมนุษย์ที่ซวยอย่างหนักคนหนึ่ง  ต้องเสียอิสรภาพไปถึง 10 ปีเปล่าๆปลี้ๆ  โดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 15:40

    นายรื่นโดนคำสั่งศาลฎีกา ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาสูงสุดไปแล้ว    ทางคำร้องเรียนของนายรื่นว่าเขาถูกใส่ความ ไปติดอยู่ที่ศาลราชทัณฑ์พิเฉท  บัดนี้เพิ่งจะอืดอาดเดินออกจากจุดสตาร์ท     ก็เป็นช่วงเวลาที่พระเอกของเราในกระทู้นี้ คือขุนหลวงพระไกรสี ได้มารับตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา    ตอนนี้นายรื่นกินข้าวแดงอยู่ในคุกแล้ว 1 ปีเศษ   ท่านก็เริ่มพิจารณาคดีที่นายรื่นราษฎรสามัญฟ้องขุนนางขึ้นมาอีกครั้ง
     ถ้าจะถามว่า คดีที่นายรื่นเป็นจำเลย กับนายรื่นเป็นโจทก์ ก็เกี่ยวเนื่องอยู่ในเรื่องเดียวกัน   ทำไมศาลไม่พิจารณาพร้อมๆกัน  คำตอบคือเพราะฐานะในสังคมของนายรื่นกับขุน ก. แตกต่างกัน   นายรื่นเป็นราษฎรสามัญ เรียกง่ายๆว่าไพร่    ส่วนขุนก.เป็นขุนนาง  กระบวนการจึงออกมาเป็นแบบนี้
    ขุนหลวงพระไกรสรรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น  คือตั้งแต่นายข.มาชวนนายรื่นไปธุระด้วยกัน  ถือเงินไปด้วยอ้างว่าจะไปจ่ายเป็นค่าไถ่ตัวทาส   แล้วฝากให้นายรื่นถือเงินไว้     จากนั้นก็ยัดข้อหาผลิตและใช้เงินปลอมให้นายรื่น กลายเป็นแพะ   เพื่อนายข.หวังจะได้สินบนนำจับ   คนจับก็ไม่ใช่ใครอื่นคือพ่อเลี้ยงของนายข.เอง     แต่ไต่สวนแล้วยังฟังไม่ได้ว่าขุน ก.รู้เห็นเป็นใจด้วย  ศาลก็เลยปล่อยตัวขุน ก.ไป   เล่นงานนาย ข.คนเดียว ส่งต่อให้กรมอัยการไต่สวนฟ้องต่อไป
    ในเมื่อศาลพิพากษาคดีนี้ ว่านายรื่นไม่ได้ทำผิดตามข้อหา   นายรื่นก็ควรจะชนะความไป  และไม่ได้รับโทษ   แต่ความซับซ้อนอยู่ที่ว่าศาลอีกเส้นทางหนึ่งได้เดินไปจนสุดทาง พิพากษานายรื่นถึงที่สุดไปแล้วว่าติดคุก 10 ปี    กลายเป็นว่าศาลทางโน้นตัดสินว่าผิด  ศาลทางนี้ตัดสินว่าไม่ผิด     นายรื่นอยู่ตรงกลางจะอยู่ในคุกหรือพ้นคุกกันแน่  
   ขุนหลวงพระไกรสีท่านก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  ให้ยกคำตัดสินของศาลฎีกา   ไม่งั้นนายรื่นออกจากคุกไม่ได้
   5 วันต่อมาหลังจากทำเรื่องกราบบังคมทูลฯ   ก็มีพระราชหัตถเลขาลงมาว่า
   "ให้พ้นโทษ"
   นายรื่นก็เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ด้วยประการฉะนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 18:59

     ในยุคนั้น  การกระทำของขุนหลวงพระไกรสีถือว่าอาจหาญมาก    เพราะนายรื่นเป็นชาวบ้านธรรมดาซึ่งก็ถือกันว่ามีค่าน้อยอยู่มากแล้วในสังคม   ไปมีเรื่องกับขุนนาง    หน่วยงานทั้งหลายก็ติดความเคยชินที่จะต้องให้ความเชื่อถือเกรงอกเกรงใจคนมียศถาบรรดาศักดิ์ไว้ก่อน     แต่ท่านกลับเห็นว่าศาลควรวางตัวเป็นกลาง  ไม่ว่าเข้าข้างฝ่ายใด    ใครผิดใครถูกก็ว่ากันไปตามจริง   ข้อนี้เป็นความเที่ยงธรรมของท่านโดยแท้
     อีกข้อหนึ่งก็คือ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงไม่ค่อยเท่าไหร่      แต่สมัยโน้น นายรื่นถูกตัดสินโดยกรรมการองค์มนตรี(ศาลฎีกา)ไปแล้ว   ท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นวีไอพีระดับชาติ   ถ้าไม่ใช่เจ้านายก็ต้องเป็นขุนนางระดับสูงกว่าขุนหลวงพระไกรสีทั้งนั้น     การนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอให้ยกเลิกคำตัดสินของศาลฎีกา ไม่ใช่เรื่องเล่นๆที่ใครจะกล้าทำ  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่านักโทษก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่ง     ไม่ใช่คนสำคัญใดๆที่จะก่อให้เกิดผลดีผลเสียกับประเทศชาติได้    แต่ขุนหลวงพระไกรสีก็กล้าทำเพื่อผดุงความถูกต้องเที่ยงธรรมไว้    ไม่ได้มองว่าจะมีผลกระทบถึงตัวท่านหรือไม่

    น่าเสียดายอย่างยิ่ง   คนที่ทั้งเก่งและทั้งเที่ยงธรรมอย่างนี้ ถ้าหากว่ามีอายุยืนยาว ก็คงจะได้มีตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่านี้    แต่ท่านก็เลื่อนขึ้นเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี เป็นเกียรติแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูลเพียง 3 ปี  ท่านก็ป่วยด้วยโรคมานกษัย   จนถึงแก่อนิจกรรม  ด้วยวัยเพียงแค่ 38 ปี  6 เดือน   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง