เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 22752 ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 13:27

ดิฉันอ้างจากข้อเขียนของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในข้อเขียนประวัติของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

(ขุนหลวงพระไกรสี) ถือกันว่าเป็นผู้รู้พระราชกำหนดกฎหมายชำนิชำนาญ   แม่นยำยิ่งกว่าลูกขุนอื่นทั้งปวง   คู่กับพระเกษมราชสุภาวดีศรีมนธาตุราช     และมักเรียกชื่อสั้นๆว่า "พระเกษม พระไกรสี"   ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้รักษาพระราชกำหนดบทพระอัยการซึ่งเก็บไว้ ณ ศาลหลวง     เมื่อจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายใด มาตราใด  ก็ตกเป็นหน้าที่ของพระเกษมพระไกรสี ที่จะพลิกกฎหมายและปรับบทว่าผิดบทนั้นบทนี้

นี่คือในสมัยอยุธยาค่ะ
ถ้าหากว่าทั้งสองท่านทำหน้าที่เหมือนพนักงานแจ้งค่าปรับเฉยๆ    ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางกฎหมายก็ได้  เพราะลูกขุนคงพิพากษามาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เหลือแต่ว่ามาตรานั้นๆจะโดนโทษปรับขนาดไหน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 15:32

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงลูกขุนและผู้ปรับไว้ในหนังสือเรื่อง พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ใจความตอนหนึ่งว่า

ชื่อของลูกขุนปรากฏเป็นชื่อพราหมณ์อยู่โดยมาก และพราหมณ์ซึ่งยังมีตระกูลอยู่ในกรุงบัดนี้ก็ยังได้รับตำแหน่งในลูกขุน หรืออยู่ในตำแหน่งพราหมณ์แต่ไปเข้าที่ปรึกษาเป็นลูกขุนฯลฯ ตัวลูกขุนทั้งปวงเป็นแต่ผู้พิพากษาความชี้ผิดชี้ชอบอย่างเดียว หาได้เป็นผู้พิจารณาความอันใดไม่ ต้องมีตระลาการที่จะพิจารณาความนั้นตลอดแล้วไปขอคำตัดสินอีกชั้นหนึ่ง แต่ตระลาการทั้งปวงเหล่านั้นแต่เดิมจะอยู่ในบังคับลูกขุนทั้งสิ้นหรือจะจ่ายไปไว้ตามกรมต่าง ๆ ดั่งเช่นเป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่มีอันใดจะยืนยันเป็นแน่ได้ ถ้าจะคิดประมาณดูว่า กรมแพ่งกลางกรมหนึ่ง แพ่งเกษมกรมหนึ่ง สองกรมนี้ยังคงอยู่ในกรมลูกขุน ถึงว่าในบัดนี้จะไม่ได้อยู่ในบังคับพระมหาราชครูผู้เป็นใหญ่ในกรมลูกขุนอย่างหนึ่งอย่างใด สังกัดหมายหมู่ตัวเลขอยู่ในกรมเหล่านั้น ก็ยังขึ้นอยู่ในกรมลูกขุนเจ้ากรมและขุนศาลตระลาการก็รับเบี้ยหวัดอยู่ในกรมลูกขุน หน้าที่ของแพ่งกลางและแพ่งเกษมทั้งสองกรมนี้ ก็มีศาลที่จะพิจารณาความเป็นกระทรวงอันหนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิม แต่ไปมีการอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้วางบทในคำลูกขุนปฤกษา หน้าที่ทั้ง ๒ คือเป็นผู้พิจารณาความอย่างหนึ่ง เป็นผู้วางบทอย่างหนึ่งนี้ ถ้าคิดตามความเห็นในเชิงกฎหมายอย่างไทยแล้วก็เป็นหน้าที่อันไม่ควรจะร่วมกัน แต่การที่เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม ๒ คนนี้ ไปมีหน้าที่วางบทลงโทษขึ้นด้วยนั้น ควรจะเห็นได้ว่าแต่เดิมมาลูกขุนคงจะปฤกษาชี้ขาดและวางบทลงโทษตลอดไปในชั้นเดียว แต่ล่วงมา จะเป็นด้วยผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตใหญ่ ซึ่งมีความรู้และสติปัญญาความทรงจำมากนั้นล้มตายไป ผู้ซึ่งรับแทนที่ใหม่ไม่แคล่วคล่องในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นไว้ หรือไม่มีสติปัญญาสามารถพอที่จะทำการให้ตลอดไปได้แต่ในชั้นเดียวนั้นอย่างหนึ่ง และเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินตั้งพระราชบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นตามกาลสมัยมากขึ้นเหลือที่จะทรงจำไว้ได้ ลูกขุนซึ่งพิพากษานั้นวางโทษผิด ๆ ถูก ๆ หรือไม่ทันเวลา พระเจ้าแผ่นดินจึ่งได้โปรดให้เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม ๒ คนนี้เป็นพนักงานที่จะพลิกกฎหมาย เพราะฉะนั้นลูกขุนจึ่งเป็นแต่ผู้พิพากษาชี้ผิดชี้ชอบ แต่การที่จะตัดสินโทษอย่างไรนั้น ตกเป็นเจ้าพนักงานของกรมศาลแพ่งทั้ง ๒ จึ่งได้ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้ปรับ เพราะเป็นผู้พลิกผู้เปิดสมุดกฎหมายดั่งนี้

ถ้าคิดจะเอาศาลแพ่งกลาง แพ่งเกษมทั้ง ๒ ศาลนี้เป็นตัวอย่างว่า หรือแต่ในชั้นต้นแรกตั้งพระนครที่กล่าวมานั้น ตระลาการซึ่งมีอยู่ในศาลอื่น ๆ ทุกวันนี้จะรวมอยู่ในลูกขุน กรมลูกขุนเป็นกรมยุติธรรมสำหรับพระนครก็ดูเหมือนจะพอว่าได้ แต่ภายหลังมา อำนาจลูกขุนไม่พอที่จะบังคับรักษาให้ศาลทั้งปวงอันอยู่ในใต้บังคับ พิจารณาความให้ตลอดทั่วถึงไปได้ ด้วยเหตุขัดข้องต่าง ๆ ครั้นเมื่อจัดการในตำแหน่งขุนนาง เอาฝ่ายพลเรือนเป็นสมุหนายก ฝ่ายทหารเป็นสมุพระกลาโหม และตั้งตำแหน่งจตุสดมภ์แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถจึ่งได้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปแจกให้กรมต่าง ๆ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมให้อยู่ในกรมลูกขุน ๒ ศาล เพราะ ๒ ศาลนี้ เป็นแต่ว่า ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อน ๆ อันลูกขุนจะพอมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้ ความอื่น ๆ ที่เป็นความสำคัญแข็งแรง และเป็นความที่ประสงค์จะอุดหนุนราษฎรให้ความแล้วโดยเร็วขึ้นกว่าความสามัญ จึ่งได้ยกไปแจกไว้ในกรมต่าง ๆ


เจ้ากรมศาลแพ่งกลางคงเป็นขุนหลวงพระไกรสีราชสุภาวดี ส่วนกรมศาลแพ่งเกษมคือพระเกษมราชสุภาวดี   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 06:21

ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถจึ่งได้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปแจกให้กรมต่าง ๆ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมให้อยู่ในกรมลูกขุน ๒ ศาล เพราะ ๒ ศาลนี้ เป็นแต่ว่า ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อน ๆ อันลูกขุนจะพอมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้

ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อน ๆ นั้นเป็นฉันใด คุณม้าได้ค้นมาไว้ให้พิจารณาแล้ว  ยิงฟันยิ้ม

ศาลแพ่งกลาง พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหา ในสถานเบา เช่น ด่าสบประมาท แทะโลม ข่มขืนมิได้ถึงชำเรา ทุบถองตบตีด้วยไม้หรือมือไม่ถึงสาหัส กู้หนี้ยืมสิน เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานเบาและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมืองรองแพ่งเป็นผู้พิจารณา

ศาลแพ่งเกษม พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหา ในสถานหนัก เช่น บุกรุกที่ดินเรือกสวน ทำชู้หรือข่มขืนกอดจูบเมียหรือลูกหลานผู้อื่นถึงชำเรา เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานหนักและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมือง ขุนแพ่งเป็นผู้พิจารณา 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 12:07

       ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  มีขุนนางบรรดาศักดิ์เป็นขุนหลวงพระไกรสีมาแล้ว 2 ท่าน คือขุนหลวงพระไกรสี (หนู) กับขุนหลวงพระไกรสี (จันทร์) ซึ่งต่อมาได้เป็นขุนหลวงพระยาไกรสีทั้งสองท่าน
       น่าเสียดายไม่ทราบว่าทั้งสองท่านอยู่ในสกุลอะไร  มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6  จนมีนามสกุลตามกฎหมายหรือไม่
       รู้แต่ว่าขุนหลวงพระไกรสี(หนู) เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นราชสกุลทองใหญ่    ก็น่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  จึงได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์ของเจ้านายระดับพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 13:56

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมเห็นว่า ระบบการพิจารณาคดีของไทยในสมัยอยุธยา ใกล้เคียงกับระบบการพิจารณาคดีของประเทศอังกฤษหรือของสหรัฐอเมริกาบางมลรัฐ กล่าวคือ มีการแยกผู้ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อเท็จจริง และผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายแยกจากกัน

การวินิจฉัยข้อเท็จจริง ได้แก่การพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ได้กระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ และมีพฤติกรรมที่แท้จริงเป็นเช่นไร ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ก็เรียกกันว่า Jury ซึ่งไทยเราก็แปลว่า ลูกขุน เมื่อคณะลูกขุน พิจารณาข้อเท็จจริงว่า ผิดหรือไม่ผิด (Guilty or Not Guilty) แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของตุลาการ ที่จะพิพากษาว่า ความผิดเช่นนี้ เข้ากับบทกฎหมายมาตราใด และจะต้องรับโทษเท่าใด

การกระทำเช่นนี้ อาจารย์กฎหมายผมบางท่านเรียกว่า การปรับ คือ ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย นั่นเองครับ

ปัจจุบันระบบศาลของบ้านเรามิได้ทำเช่นนี้ ผู้พิพากษา ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคนๆ เดียวกัน แต่ในการพิจารณาคดี ก็ยังคงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ได้ความว่า ทำผิดจริงตามฟ้องเสียก่อน จึงค่อยปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอยู่เช่นเดิมครับ      
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 14:07

ขอบคุณค่ะ  คุณนริศ   คำวิเคราะห์น่าสนใจมากค่ะ   เห็นภาพชัด
เคยเห็นในหนังประเภท courtroom drama ทั้งหลาย    ลูกขุนนั่งอยู่ในที่กั้น เรียงกันเป็นตับ  ฟังอัยการกับทนายจำเลยทำงานกันไปจนจบแล้ว ก็เข้าห้องไปประชุมชี้ขาดกันว่าผิดหรือไม่ผิด     ส่วนผู้พิพากษาในหนังนั่งเฉยๆไม่ได้ออกความเห็น  อย่างมากเวลาในศาลมีเรื่องเอะอะโวยวายกันก็หยิบค้อนทุบปังเข้าให้ 

รอจนลูกขุนชี้ขาดว่าผิดหรือไม่ผิด จากนั้นก็ค่อยเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา

แต่ก็มีบางคดีเหมือนกัน  ไม่เห็นมีลูกขุน  มีแต่ผู้พิพากษาคนเดียวนั่งบัลลังก์ ฟังโจทก์จำเลย แล้วชี้ขาด รวมทั้งชี้โทษด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 15:59

ในฐานะผู้ศึกษาคดีพระปรีชากลการมา เข้าใจว่าในสมัย(ต้นรัชกาลที่ ๕)นั้น ท่านตั้งองค์คณะผู้พิพากษา กระทำการสอบสวนโจทย์และจำเลยในศาล รวมถึงการมอบหมายให้ผู้พิพากษา(เดี่ยวๆ)เรียกพยานมาสอบสวนให้การนอกศาลก่อน ทำหน้าที่คล้ายอัยการหรือตำรวจ เมื่อเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะนำไปสืบความต่อหน้าจำเลยในศาล เพื่อให้จำเลยซักค้านได้

พอหมดสิ้นกระบวนความแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจึงจะพิพากษาตัดสินโทษ หรือปล่อยจำเลย
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 31 ต.ค. 15, 21:51

ฟังอยู่หลังห้องตั้งแต่เริ่ม  เพิ่งยกมือแสดงตัวตนช่วงกระทู้นิ่งๆนี่แหละครับ
บันทึกการเข้า
Methawaj
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 31 ต.ค. 15, 23:45

แอบย่องเข้ามุมหลังห้องมาเงียบ ๆ เกรงจะมาขัดจังหวะท่านอาจารย์ครับ...^^
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 01 พ.ย. 15, 08:33

วันนี้ต้องลงจากเรือนไปเดินสายนอกเรือนค่ะ    นักเรียนนั่งหลับกันไปก่อนนะคะ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 01 พ.ย. 15, 18:45

เข้ามาตามเรียนกับ อ.เทาชุมพูครับ  ขอเสริมในเรื่องของ 'ขุนหลวง' หน่อยนะครับ

    ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจกับชื่อบรรดาศักดิ์อันฟังประหลาดไม่คุ้นหูของ "ขุนหลวงพระยาไกรสี" เสียก่อนนะคะ
     คำนี้ ไม่ได้แยกออกมาเป็น ขุน+หลวง+พระยา(หรือพระ)  ราวกับว่าตัวท่านรวบบรรดาศักดิ์เอาไว้หมด เหมารวมเป็นทั้งท่านขุน คุณหลวง และเจ้าคุณ ในเวลาเดียวกัน
     แต่คำว่า "ขุนหลวง" เป็นคำเดียว มี 2 พยางค์     หมายถึงตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง  มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในอาณาจักรอยุธยา     อยู่ในสังกัดพระมหาราชครู   ตำแหน่งนี้มีระบุไว้ในพระไอยการนาพลเรือน    คนที่จะเป็นลูกขุน ณ ศาลหลวงได้คือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  ซึ่งก็มีอยู่หลายคนด้วยกัน    แต่คนที่จะได้เป็นขุนหลวงพระไกรสีนั้นถือว่าเป็นผู้แม่นยำทางตัวบทกฎหมายเหนือกว่าลูกขุนอื่นๆ    มี 2 คนคู่กันในระดับ "พระ" คือขุนหลวงพระไกรสี และขุนหลวงพระเกษม
    

คำว่า 'ขุนหลวง' ในสมัยโบราณอาจจะไม่ได้เป็นเฉพาะตำแหน่งของลูกขุน ณ ศาลหลวงอย่างเดียวครับ เพราะมีปรากฏตำแหน่งอื่นๆที่ใช้คำว่า 'ขุนหลวง' ประกอบอยู่ด้วยครับ

สำหรับพระมหากษัตริย์ในยุคอยุทธยาตอนต้น มีปรากฏใช้คำว่าขุนหลวงพระองค์เดียวคือ ขุนหลวงพ่องั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราช จากนั้นมาจึงไม่ปรากฏการเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า ขุนหลวง อีกจนถึงสมัยอยุทธยาตอนปลาย

คำว่าขุนหลวงมีปรากฏใช้สำหรับขุนนางที่ไม่ใช่ลูกขุน ณ ศาลหลวง แต่น่าจะเป็นขุนนางระดับเสนาบดีทั่วไปหรือลูกขุน ณ ศาลา อย่างในประกาศพระราชบัญญัติของพระอัยการเบดเสรจเมื่อปีกุน พ.ศ.๑๙๐๓ สมัยสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี(อู่ทอง) ระบุบรรดาศักดิ์เสนาบดีนครบาลในยุคนั้นใช้คำว่า 'เจ้าขุนหลวง' ครับ
"ศุภมัศดุ ๑๙๐๓ ศุกรสังวัชฉะระ วิสาขมาศ กาลปักขตติยดิถีระวิวาระปริเฉทกำหนด พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบาทบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสดจ์ในพระธินั่งรัตนสิงหาศน จึ่งเจ้าขุนหลวงสพฤานครบาลบังคัมทูลพระกรรุณา ดว้ยผู้ชิงที่แดนรั่วเรือนไร่สวนพิภาษว่าที่เดิมแแก่กัน แลผู้หนึ่งว่าที่นั้นเปนมรฎกจะเอาที่นั้น"

เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งในรูปแบบเก่าก่อนที่จะมีการตราพระไอยการนาพลเรือนและนาทหารหัวเมืองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถครับ


คำว่า 'เจ้าขุนหลวง' ยังพบในพระตำราบรมราชูทิศ เรื่องกัลปนาวัดในเมืองพัทลุง เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๑๕๓ รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมครับ
โดยมีการระบุชื่อขุนนางที่ได้ปรากฏตัวอยู่ตอนทำพระตำรา ซึ่งกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ของสมุหพระกลาโหมว่า เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหม
และบรรดาศักดิ์ของสมุหนายกคือ  เจ้าขุนหลวงมหาเสนาบธิดีศรีองครักษสมุหนายก (บางฉบับเขียนแค่ เจ้าขุน เข้าใจว่าน่าจะเขียนตกไป)

'สํมเด็จบรมบพิตร(มี)พระราชบันทูล ตรัสแก่ออกพระศรีภูริปรีชญาธิราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์ ให้ทำพระดำราแลตราพระราชโองการนี้ต่อหน้าออกพระเสดจสุรินทรราชาธิบดีศรีสุปราช  เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหม  เจ้าขุนหลวงมหาเสนาธิบดีศรีองครักษสมุหนายก  ออกพระอินทราธิราชภักดีศรีธรรมราชพระนครบาล  ออกพระบุรินายกราชภักดีศรีรัตนมณเทียรบาล  ออกพระพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนเกษตราธิบดี  ออกพระศรี(อัค)ราชอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดี  ออกพระธรรมราชภักดีศรีสมุหสังการีย ออกพระศรีพิพัทราชโกษาธิบดี  พขุนสุเรนธรเทพเสนาบดีศรีกาลสมุดสมุหพระดำรวจ  พขุนสุรินทรราชเสนาบดีศรีเทพณรายสมุหพระดำรวจ  พขุนธรเนนทราเทพพระดำรวจ  พขุนเทเพนทรเทพพระดำรสจ  พขุน(พิศ)นูเทพพระดำรวจ  พขุนภาสุเทพพระดำรวจ  พขุนมหามนตรีศรีองครักสมุหพระดำรวจ  พขุนมหาเทพเสบกษัตรพระดำรวจ  พขุนมงคลรัตนราชมนตรีศรีสมุหพระสรรพากร  พขุนอินทรมนตรีศรี(จัน)ทรกุมารสมุหพระสรรพากร  พขุนอินทราทิตยพิพิทรักษาสมุหพระสนม  พขุนจันทราทิพพิพิทรักสาสมุหพระสนม  หัวหมีนหัวพันนายแวงกรมแดงนักมุขทังหลายนงงในวันเดียวนั้น'

พิจารณาจากบรรดาศักดิ์ของขุนนางคนอื่นที่สูงสุดแค่ 'ออกพระ' เข้าใจว่า 'เจ้าขุนหลวง' ในพระตำรานี้ซึ่งมีปรากฏใช้เฉพาะอัครมหาเสนาบดีสองตำแหน่งคือสมุหนายกกับสมุหพระกลาโหม คิดว่าน่าจะเป็นตำแหน่งเสมอกับ 'เจ้าพระยา' ครับ

แต่ก็ดูแปลกที่ไม่ใช้ 'เจ้าพระยา' ทั้งๆที่ก็มีปรากฏใช้อยู่ในพระราชกำหนดเก่าๆที่ออกก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม และในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแม้แต่ตำแหน่งสูงๆอย่าง เจ้าพระยามหาอุปราช สมัยนั้นก็มีบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นแค่ 'พญา' อย่างที่ปรากฏในพระไอยการลักษณมรดก พ.ศ.๒๑๕๕ ว่า 'พญามหาอุปะราชชาติวงวงษพงษภักดีบดินสุรินทเดโชไชยมไหยสุรศักดิแสนญาธิราช' ผมเลยลองคิดอีกแง่หนึ่งว่า บรรดาศักดิ์ 'เจ้าขุนหลวง' สำหรับเสนาบดีผู้ใหญ่อาจจะเป็นบรรดาศักดิ์ที่มอบให้เป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการยกย่องก็เป็นได้ครับ


นอกจากนี้ในพระตำรายังเรียกเจ้าเมืองพัทลุงว่า  เจ้าพขุนหลวง(เจ้าพ่อขุนหลวง) ด้วยครับ

ต่อมาในสมัยหลังๆเท่าที่ทราบก็ไม่ปรากฏการใช้บรรดาศักดิ์แบบนี้กับขุนนางที่ไม่ใช่ลูกขุน ณ ศาลหลวงอีกครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 01 พ.ย. 15, 18:47

สำหรับท่านที่เคยอ่านหนังสือกฎหมายเก่าๆ คงจะคุ้นกับชื่อ หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง)  ราชทินนามนั้นเป็นราชทินนามที่ขุนหลวงพระยาไกรสีได้รับพระราชทาน  ก่อนจะเลื่อนเป็นพระรัตนายัปติ  และเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 01 พ.ย. 15, 19:24

เหตุที่สันนิษฐานว่าตำแหน่ง 'เจ้าขุนหลวง' อาจเป็นตำแหน่งที่ยกเป็นเกียรติมาจากสมุหพระกลาโหมในตันรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมที่ในพระตำราบรมราชูทิศออกชื่อว่า เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหม

หลายๆท่านอาจจะสงสัยในเรื่องทินนามของพระตำรา เพราะ 'มหาอำมาตยาธิบดี' เป็นทินนามของเจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ  ทินนามปกติของสมุหนายกคือ 'มหาเสนาบดี' หรือ 'มหาเสนาธิบดี' ในพระตำรานี้กลับถูกนำไปใช้เป็นทินนามของสมุหนายก แทนที่จะใช้ว่า 'จักรี'  ดูแล้วเหมือนเป็นการเอาทินนามมาใช้สลับกรมกัน

ทั้งนี้พิจารณาจากในพระราชพงศาวดารตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีการกล่าวถึงการก่อกบฏของทหารอาสาญี่ปุ่นบุกโจมตีพระราชวังหลวง แต่พระมหาอำมาตย์สามารถนำทัพไล่ญี่ปุ่นไปได้ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดเลื่อนพระมหาอำมาตย์ขึ้นเป็นสมุหพระกลาโหมครับ แต่คงจะให้ใช้ทินนามว่า 'มหาอำมาตยาธิบดี' ตามเดิมเป็นกรณีพิเศษ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบครับ

'ครั้งนั้นยี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ยี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เปนธรรมคบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากระษัตรเสีย ยี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณห้าร้อยยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยขะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัวอันเสดจ์ออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ  ณะ  พระธินั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้นภอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามาแปดรูปภาเอาพระองค์เสดจ์ไปต่อหน้ายี่ปุ่น  ครั้นพระสงฆ์ภาเสดจ์ไปแล้ว  ยี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเปนไรจึ่งนิ่งเสียเล่า ยี่ปุ่นทุ่งเถียงกันเปนโกลาหล  ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ไล่รบยี่ปุ่นล้มตายเปนอันมาก  ยี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวัง ลงสำเภาหนีไป  ตั้งแต่นั้นมาสำเภาเมืองยี่ปุ่นก็หมีได้เข้ามาค้าขาย  ณะ  กรุงเลย  พระมหาอำมาตย์ให้ไปเชีญเสดจ์สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชวัง  เพลาเช้าเสดจ์ออกท้องพระโรงพร้อมท้าวพญาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ทรงพระกรุณาตรัสว่า ราชการครั้งนี้ พระมหาอำมาตย์มีความชอบมาก ให้เป็นเจ้าพญากระลาโหมสุริวงษ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก  แล้วสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ให้วิเสศแต่งกับปีจังหันถวายพระสงฆ์วัดประดู่เปนนิจภัตอัตรา'

พงศาวดารคงจะชำระในสมัยหลัง เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่คลาดเคลื่อน เช่นเรื่องปีศักราชครองราชย์ของพระเจ้าทรงธรรมเร็วไป เรื่องญี่ปุ่นเลิกค้าขายก็ไม่เป็นความจริงเพราะยังปรากฏว่าค้าขายต่อเนื่องมาจนญี่ปุ่นปิดประเทศในสมัยพระเจ้าปราสาททอง  แล้วก็คงจะคลาดเคลื่อนในเรื่องบรรดาศักดิ์ด้วย ถึงจดผิดว่าพระมหาอำมาตย์ที่ไล่ญี่ปุ่นเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ซึ่งคือพระเจ้าปราสาททองในอนาคต ซึ่งเมื่อเทียบกับหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีตที่ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๒ ตอนพระชนม์ได้ ๓๐ พรรษา  ตอนที่กบฏญี่ปุ่นตามหลักฐานร่วมสมัยคือ พ.ศ.๒๑๕๓ พระเจ้าปราสาททองจะมีพระชนม์แค่ ๙-๑๐ พรรษาเท่านั้นครับ คงไม่สามารถมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ได้ (และบรรดาศักดิ์ก็ไม่สอดคล้องกับหลักฐานของฟาน ฟลีตด้วย)


เข้าใจว่าจริงๆแล้ว พระมหาอำมาตย์ที่ไล่ญี่ปุ่นไปได้จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองคสมุหพระกลาโหมมากกว่าครับ และอาจจะเป็นไปได้ว่าให้ใช้คำว่า 'เจ้าขุนหลวง' จะเป็นคำยกย่องแบบพิเศษให้สมกับความดีความชอบของพระมหาอำมาตย์ครับ เรื่องนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้นครับ ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนอื่นๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 06 พ.ย. 15, 20:04

ขอปล่อยให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายสันนิษฐานถึงบรรดาศักดิ์ และหน้าที่ของขุนหลวงสมัยอยุธยาต่อไป ตามอัธยาศัย     ส่วนดิฉันก็เริ่มที่ขุนหลวงพระยาไกรสี(เปล่ง เวภาระ) ก่อนที่จะมีงานเข้ามาอีก  ให้กระทู้ต้องหยุดนิ่งไปหลายวัน

ในวิกิ  ให้ประวัติท่านไว้ว่า
ขุนหลวงพระยาไกรสี สุภาวภักดี ศรีมนธาตุราช อำมาตยคณาการ มีนามเดิมว่า เปล่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีจอ จุลศักราช 1224 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม 2405 ที่บ้านของหม่อมเจ้าหญิงประดับ ตำบลบางลำพู ริมวัดบวรนิเวศวิหาร
ก็คือในสมัยรัชกาลที่ 4 
บิดาเป็นมหาดเล็กหลวงชื่อนายหริ่ง เป็นบุตรคนที่ 9 ของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) มารดาชื่อ แก้ว
ท่านเปล่งเริ่มเรียนหนังสือไทยเมื่ออายุได้ 9 ขวบ กับสำนักพระครูปริตโกศล (แปร่ม)วัดบวรนิเวศวิหาร เรียนได้ปีเศษ ก็มาเรียนกับป้าชื่อแสง ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) เรียนทั้งหนังสือไทย หนังสือขอมและภาษาบาลี
จนอายุได้ 13ปี ก็ไปเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทย หนังสือขอม ภาษาบาลีและวิชาเลข อยู่กับพระอริยมุนี (เอม) แต่เมื่อยังเป็นพระครูพุทธมนต์ปรีชา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
จนอายุได้ 15ปี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชาการได้ทรงเอาไปบำรุงเลี้ยง และทรงสั่งสอนและฝึกหัดกฎหมายไทยและขนบธรรมเนียมราชการอยู่ 2ปีเศษ จึงโปรดส่งให้ไปเล่าเรียนที่โรงเรียนพระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนสอนภาษาอังกฤษ มีหมอแมคฟาร์แลนด์ (S.G. Mcfarland) เป็นอาจารย์ใหญ่ และ แหม่มโคล (Miss Edna S.Cole) เป็นครูสอน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 06 พ.ย. 15, 20:07

       อ่านจากประวัติ   คิดว่าเด็กชายเปล่งน่าจะหัวดี เรียนหนังสือเก่งมาตั้งแต่เด็ก    อีกอย่างคือเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีวิชาความรู้     เจ้าคุณปู่น่าจะเป็นคนรักวิชาการอย่างน่าทึ่งทีเดียว  เห็นได้จากท่านเปิดโอกาสให้ลูกสาวได้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย  ขอมและบาลี  จนคล่องขนาดสอนหลานชายอายุสิบขวบเศษได้ยาวนานถึงสองปี   
      สมัยนั้นลูกสาวขุนนางใหญ่เรียนวิชาเหล่านี้ไปทำอะไร ดิฉันก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน   ท่านผู้ใดทราบกรุณาเล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ

      ส่วนเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม เวภาระ) รู้ประวัติเพียงสั้นๆว่าเดิมเป็นพระยาศรีสรไกร     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา  ราชทินนามนี้บอกให้รู้ว่าเป็นเสนาบดีกรมนา หนึ่งในสี่จตุสดมภ์     ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2389
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง