เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 106005 ใครอยากรู้จัก NAVARAT.C เชิญที่กระทู้นี้
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:15

สัมภาษณ์พิเศษ
พิชามญชุ์ เรื่อง เทพฤทธิ์ ภาพ

ในประวัติศาสตร์ มี “ชีวิต”
หม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน

   ในโลกเสมือนที่ใช้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสก็เข้าถึงได้อย่าง “อินเตอร์เน็ต” เราอาจรู้จักใครบางคนได้อย่างง่ายดาย ผ่านข้อมูล ข่าวสาร หรือแม้กระทั่งตัวตนที่นำเสนอผ่านโลกอินเตอร์เน็ตนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือค้นคว้าหาความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “Navarat.c” สมาชิกคนสำคัญของ www.reurnthai.com
        เว็บไซต์เรือนไทยดอทคอมดังกล่าวนี้ เป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี เป็นเสมือนชุมชนเล็กๆที่มีความรู้ให้เก็บเกี่ยวมากมายจากบรรดาสมาชิกผู้รู้และศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง หนึ่งในนั้นคือ Navarat.c ซึ่งเป็นที่เปิดเผยต่อมาว่าคือ หม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน สถาปนิกอาวุโส และอีกสถานภาพหนึ่งในเวลานี้คือผู้เขียนคอลัมน์ “ประวัติศาสตร์มีชีวิต”ในนิตยสารสกุลไทยขณะนี้
        หากจะกล่าวถึงผลงานในแวดวงสถาปนิก หม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน เป็นสถาปนิกนักบุกเบิกนวัตกรรมใหม่ๆมากมายให้แก่วงการสถาปนิก จนได้รับเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันในด้านหนึ่งของชีวิต นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจใฝ่รู้ในด้านประวัติศาสตร์ไทยอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่ง ดังปรากฎในกระทู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยในชุมชนออนไลน์ต่างๆ เช่น www.pantip.com และ www.reurnthai.com โดยมีผู้สนใจเข้าไปไถ่ถามติดตามอ่านอย่างคึกคัก อาทิ “ศพในโกศ เรื่องที่ทั้งหลายอยากรู้” “ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์” ฯลฯ
         ยิ่งไปกว่านั้น ใน “ประวัติศาสตร์ชีวิต”ส่วนตัวของหม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน ก็นับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับหม่อมราชวงศ์ นิมิตรมงคล นวรัตน นักคิด นักเขียนผู้มีอุดมการ และอดีตนักโทษการเมืองผู้ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเต่าจนติดเชื้อวัณโรคเรื้อรัง เป็นเจ้าของผลงาน“เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ” หนังสือที่ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน และ 1 ใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:19

      หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์ นิมิตรมงคล นวรัตน และ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ (สังขดุลย์) นวรัตน ณ อยุธยา ผู้เกิดหลังจากมรณกรรมของบิดาเพียง ๔๕ วัน ชะตาชีวิตในช่วงเวลานั้นปรากฎอยู่ในหนังสือ “ชีวิตที่ลิขิตไว้” ของ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยาซึ่งเรียบเรียงโดยหม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตนว่า
      “แม่เล่าว่าแม่รักพ่อเพราะเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ดีทุกกริยามารยาท พูดกับแม่ไพเราะ และไม่เคย กล่าวคำหยาบหรือไร้สาระ ไม่เคยรำพันพิลาปเรื่องเคราะห์กรรมที่ผ่านมา ไม่พยาบาทอาฆาต พ่อเป็นนักคิด นักเขียน เป็นนักอุดมคติ และเป็นกวี สามารถกระทั่งอ่านบทกวีของวิลเลียม เชคสเปียร์แล้วแปลออกมาเป็นฉันทลักษณ์ไทยได้โดยทันที แม่บอกว่าแม่แต่งงานกับพ่อเพราะเชื่อว่าลูกจะต้องออกมีอะไรเหมือนพ่อ”
   อาจจะเป็นด้วยสายเลือด หรือชะตาลิขิตก็สุดคาดเดา แต่จากชีวิตสถาปนิกมืออาชีพมาสู่เส้นทางนักเขียนของหม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน นอกจากจะเป็น Navarat.c ในโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังเป็นนักเขียนประจำในสกุลไทย และมีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊ค “ศพในโกศ เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้” และ "ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติ ในมาดนายพลเรือสยาม”พิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์เพื่อนดี ปรากฎสู่สายตาผู้อ่านแล้วในวันนี้ และ “อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย”ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่กำลังจะติดตามมา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:21

     บทสนทนาต่อไปนี้คือ การเล่าเรื่องราว “ชีวิต” ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ชีวิตส่วนตัวที่ทำให้ได้รู้จัก Navarat.c มากขึ้นกว่าในโลกเสมือน หม่อมหลวงชัยนิมิตรเริ่มต้นเล่าถึงชีวิตในวัยเยาว์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตในเวลาต่อมาว่า
    “ผมเป็นลูกแม่ พ่อผมเสียชีวิตก่อนที่ผมจะเกิด เนื่องจากว่าแม่ทำโรงเรียนอนุบาลสวนเด็ก ซึ่งผมเกิดและเติบโตที่นั่น จึงอาจจะทำให้ผมอ่านหนังสือออกเร็วหน่อย แต่ว่าหนังสือที่ผมชอบอ่านจริงๆคือ พล นิกร กิมหงวน  ความจริงเป็นหนังสือต้องห้ามที่แม่ไม่ให้อ่าน ผมจึงต้องแอบอ่าน เพราะมันสนุก จึงได้อานิสงส์คือทำให้ผมอ่านหนังสือแตก และชอบการอ่าน เมื่อโตขึ้นก็ไปอยู่โรงเรียนประจำที่วชิราวุธวิทยาลัย ที่นั่นมีห้องสมุดดี เป็นห้องสมุดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ผมก็ตื่นตาตื่นใจ แรกๆก็ชอบดูรูปก่อน หลังๆก็มาอ่านเรื่อง อ่านแบบลุยอ่านเลย ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านเห็นว่าผมชอบเข้าห้องสมุด ก็เลยตั้งให้เป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ เก็บหนังสือ ทำให้ผมรู้จักหนังสือ รู้ว่าหนังสืออะไรอยู่ที่ไหน แล้วก็อ่านแทบจะหมดทุกเล่มในห้องสมุด แต่อ่านจบหรือไม่จบเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ เล่มไหนไม่ชอบก็วาง
   -ในวัยเด็ก คุณแม่อบรมเลี้ยงดูอย่างไรคะ
   ถึงคุณแม่จะเป็น single mom แต่อยู่ในครอบครัวใหญ่ ตอนผมเกิดก็มีทั้งคุณตาคุณยายอยู่ แล้วก็น้าๆหลายคน ผมก็เป็นหลานคนสุดท้ายของหลานรุ่นใหญ่ของคุณตาคุณยาย หลังจากนั้นอีกตั้ง ๑๖ ปี รุ่นน้าผมถึงมีลูก เพราะฉะนั้นผมเป็นเด็กเล็กที่สุดในครอบครัวตอนนั้น เวลาเขาเล่นฟุตบอลกัน ผมถูกจับเป็นโกล มีครั้งหนึ่งพี่เขาเตะบอลโดนเราเต็มๆจนล้มทั้งยืน เขาก็ไม่ได้ตั้งใจหรอก ผมตกใจร้องไห้วิ่งไปหาแม่ ก็ถูกแม่ตีซ้ำ ให้ออกไปสู้ใหม่ นี่คือวิธีที่แม่ผมเลี้ยงให้เราเข้มแข็ง ที่ให้เราไปอยู่โรงเรียนประจำเพราะต้องการให้เราเข้มแข็ง 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:24

     b]-คุณแม่ได้เล่าเรื่องคุณพ่อให้ฟังบ้างไหมค-คุณแม่ทำโรงเรียนอนุบาล คงจะให้ความสำคัญกับการศึกษามากนะคะ
     ครับ ตอนผมอยู่ ม.7 ตอนนั้นก็กร่างมาก ผมเป็นหัวหน้าคณะด้วย กิจกรรมนอกหลักสูตรมากไปเลยสอบตก แม่ก็เลยลงโทษผมด้วยการเอาออกจากวชิราวุธ ไปอยู่ที่สาธิตประสานมิตร ๒ ปี ตอนนั้นเขาเปลี่ยนเป็น ม.ศ. ๔ มศ. ๕ ผมเป็นรุ่นแรกที่เป็น ม.ศ. ๔ พอจบ มศ. ๕ ก็เข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ เขาเรียนกัน ๕ ปี ผมก็เรียน ๖ ปี ชอบกิจกรรมนอกหลักสูตร ตอนนั้นก็ทำหนังถาปัดปีละเรื่อง ชอบทำกิจกรรมมาก แต่ก็พยายามจะเรียนนะ พอดีเริ่มมีแฟนด้วย แฟนเรียน ๔ ปีก็จบแล้ว เรายังเรียนไม่จบเลย แย่เหมือนกัน กลัวว่าเดี๋ยวถูกชิงรักหักสวาท (หัวเราะ) ผมจีบภรรยาผมตั้งแต่ผมอยู่ ม.๗ ไปเจอกันในงานปีใหม่ ก็เล็งๆเขาอยู่ พอดีมีเต้นรำบอลรูม เราก็เล็งไว้ว่าพอเพลงขึ้นเราก็ไปโค้งคนนี้แหละ วันแรกที่พบกันนี่ ตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย จนเขาปิดเวที ตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึงตี ๑ ไม่ได้ลงจากเวทีเลย (หัวเราะ)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:26

     ภรรยาชื่ออังศุธร ชื่อเพราะ แค่ชื่อก็ปิ๊งแล้ว ชื่อเขาพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรทรงตั้งให้ ตอนนั้นเขาเรียนอยู่เตรียมอุดม แล้วก็ไปเข้าบัญชี จุฬาฯ อายุเราเท่ากัน พอปีหนึ่งผมสอบตกอีก ตอนนั้นอยากจะเอาหัวทิ่มดิน แต่ก็จบมาได้ ยังมีความรักดีอยู่ พอจบแล้วก็บวชเรียน แต่งงาน
     ตอนที่เรียนหนังสือผมก็เรียนพอให้ผ่าน ไม่ได้หวังจะได้เกียรตินิยม ซึ่งตรงข้ามกับพ่อ แม่ผมผิดหวังมากเรื่องการเรียนผม แค่เอาตัวรอด แต่เราเห็นโลกมากกว่า เห็นทั้งนรกสวรรค์ทุกเรื่อง แต่ไม่ได้ชั่วช้านะครับ แบบว่าสนุกซุกซนไปทุกเรื่องเท่าที่เด็กผู้ชายจะพาตัวเองไปได้

     -เรียนจบแล้ว ได้ทำงานในวิชาชีพสถาปนิกไหมคะ
     จริงๆแล้วทำก่อนจบด้วยซ้ำ สถาปัตย์จบที่ ๔ ปีครึ่ง ถ้าผ่านเทอมสุดท้ายก็ทำ thesis ตอนนั้นผมก็ชวนอาจารย์(ร.ศ.มานพ พงศทัต) ถามว่าอาจารย์มีออฟฟิศหรือยัง ท่านก็ว่ายังไม่มี ผมก็บอกว่าอาจารย์ตั้งสิ ผมจะทำให้ทุกอย่างเลย ขอชื่อเท่านั้นเอง อาจารย์ก็เอาด้วยนะ ถามว่าใช้เงินเท่าไร ผมบอกสัก ๕๐,๐๐๐ ก็พอ ลงทุนคนละ ๒๕,๐๐๐ ผมก็ขอแม่ผมมา แล้วก็ไม่ต้องขออีกเลย
      พอดีมีรุ่นพี่วชิราวุธ คือ อาจารย์ชัยอนันต์ (ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช)  เปิดออฟฟิศรับทำงานวิจัย มีพวกอาจารย์มหาวิทยาลัยเยอะแยะอยู่ชั้นล่าง ชั้นบนไม่ได้ใช้ ก็เลยให้ผมใช้ บริษัทที่เริ่มต้นด้วยเงิน ๕๐,๐๐๐ ตอนนี้ยังอยู่ ชื่อบริษัท Four Aces Consultants ชื่อมันเป็นนักเลงไพ่ไปหน่อยเพราะตอนนั้นผมกับอาจารย์มานพเล่นบริดจ์กัน แล้วก็มีคนทำงาน ๔ คน ตอนนั้นนึกว่าชื่อมันโก้นะ (หัวเราะ)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:42

     พอเปิดบริษัท ผมก็ได้งานใหญ่เลย ตอนนั้นถูกผู้อาวุโสท่านหนึ่งดึงไปอบรมสมาคมฝึกการพูด ในหลักสูตรมีให้ไปกล่าวถึงชีวิตของตัวเองคนละ ๕ นาที เกิดมีท่านหนึ่งซาบซึ้งกับเรื่องที่ผมพูดมาก ท่านก็บอกว่าท่านกำลังจะทำโรงเรียนอนุบาลอยู่ในหมู่บ้านเสรีที่รามคำแหง ตอนนั้นต่อมาเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะให้ผมนี่แหละออกแบบเพราะผมเล่าว่าผมคลอดในโรงเรียนอนุบาล เลยได้งานออกแบบชิ้นแรกคือโรงเรียนอนุบาลวิมลทิพย์ ต่อมาโรงเรียนนี้ได้เป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ออกแบบดีเด่นในพื้นที่ตามกำหนดของกระทรวงฯ
    ตอนที่ผมไปทำโรงเรียนอนุบาลในหมู่บ้านเสรี มีบ้านอยู่แค่ ๒๐ หลัง แล้วกำลังประสบปัญหาเยอะแยะเลย ฝนตก น้ำรั่ว  ท่านเจ้าของโครงการก็ถามผมว่าแก้ปัญหาได้ไหม ผมก็ตามอาจารย์มานพมาแก้ โอเค แก้ได้ เปลี่ยนแบบอะไรต่ออะไรให้ ล็อตใหม่ฝนไม่รั่วแล้ว ก็ทำมาตลอดจนหมู่บ้านเสรีกลายเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไป ขณะเดียวกันก็ได้งานหมู่บ้านจัดสรรมาเยอะมาก เช่น หมู่บ้านสวนสน  หมู่บ้านอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กำแพงแสน ซึ่งโปรเจ็คนี้ ธนาคารโลกเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน มีข้อกำหนดหลายอย่างทั้งงานวิศวกรรมทุกระบบ ก็เลยได้ร่วมงานกับวิศวกรสุขาภิบาลท่านหนึ่งซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ผมที่วชิราวุธ วันหนึ่งไปกินข้าวกัน เขาก็เอาน้ำใส่ขวดใสๆมาเปิดดมอวด บอกว่าน้ำนี่มาจากถังส้วมที่บำบัดแล้ว ระบบนี้ใช้ได้จริงๆ ญี่ปุ่นกำลังมองหาหุ้นส่วน ก็เลยพาไปหาคุณสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ เจ้าของหมู่บ้านเสรี ท่านสนใจ ตกลงในหลักการว่าทำ ผมก็เลยวางมือจากบริษัทโฟรเอส แล้วก็มาตั้งบริษัทใหม่ให้ท่าน ผลิตถังแซทส์ ระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปสำหรับครัวเรือน หลังจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์อื่นที่ผมเป็นคนนำเข้ามาผลิตตามมาเยอะแยะเลย เช่น ถังน้ำไฟเบอร์กลาสพีพี หลังคาเหล็กขึ้นรูปกับที่ เป็นต้น

        -มีความสุขกับชีวิตการเป็นสถาปนิกไหมคะ
        ที่ผมเลือกเรียนสถาปัตย์เพราะแม่ล้างสมองผมตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) ตอนแรกล้างสมองว่าอย่ารับราชการ ให้ทำงานอิสระ ตอนหลังเห็นว่าผมมีฝีมือทางวาดเขียน ก็บอกให้เรียนสถาปัตย์ เพราะไม่มีนาย เราเป็นนายของตัวเองดี แต่ไม่จริงหรอกครับ โอ้โฮ โครตมีนายเยอะเลย ออกแบบให้บ้านหลังเดียว เป็นนายผมตั้งแต่พ่อแม่ แล้วก็ลูกๆ (หัวเราะ) ไม่แฮปปี้ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:44

     ช่วงอยู่โฟร์เอส ผมเป็นกรรมการผู้จัดการ มันก็กลายเป็นเรื่องบริหารไป ในช่วงแรกๆมันสนุก แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเราก็เครียด ทำให้มันดีไซน์ไม่ออก ตอนหลังๆกลับไปทำก็ต้องรื้อฟื้นใหม่ แต่ไม่ทันเขาหรอก เดี๋ยวนี้ยิ่งไม่ทันใหญ่ ตามเขาแฟชั่นไม่ทัน ทำไมทำตึกเอียงๆ งง มันมีเหตุผลอะไร ผมมันสถาปนิกแผนโบราณ คิดแบบโบราณ อย่างบ้านก็ออกแบบให้ฝนไม่รั่วก่อนละ หลังคาใหญ่ๆเข้าไว้ ไม่มีแอร์ก็อยู่ได้
    ผมก็เรียกตัวเองว่าเป็นสถาปนิกนะครับ คือสถาปนิกมันกว้างกว่าแค่เป็นผู้ออกแบบบ้านนะ ผมออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับวงการสถาปัตยกรรม ผมก็เป็นสถาปนิก ผมได้รับเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะสถาปัตย์ฯ ก็เพราะเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องอะไรประหลาดๆเข้ามาแนะนำให้กับวงการ และติดตลาดใช้กันอยู่
 
     -ทราบว่าอาจารย์เคยเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบรายาวดี รีสอร์ทที่จังหวัดกระบี่ซึ่งโด่งดังมากในยุคหนึ่ง
     ผมทำงานกับบริษัทพรีเมียร์ โพรดักส์ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ทำอยู่ ๑๐ ปี ก็พอดีมีเหตุว่าแม่ผมเป็นอัมพาตได้สักพัก โรงเรียนก็ไร้เรือธง ตอนนั้นเกิดใต้ฝุ่นชื่อเอลซี่ น้ำท่วมโรงงานผมอยู่ ๖ เดือน ก่อนหน้านั้นคุณสุวิทย์ก็เสีย ครอบครัวก็ยังไม่ได้จัดการปัญหาธุรกิจอะไร บริษัทก็ค่อนข้างเดือดร้อน พอน้ำแห้งก็ยังไม่มีการตัดสินใจอะไร ผมก็เลยลาออก เพราะมีภาระที่ยิ่งใหญ่คือไปรักษากิจการของแม่ ก็ลาออกไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลสวนเด็ก จนฟื้นขึ้นมาได้ ก็ให้ภรรยาทำต่อ หลังจากนั้นผมก็กลับไปโฟร์เอส คิดทำโครงการของผมเอง แล้วมีโอกาสไปลงทุนซื้อที่ที่กระบี่ ตอนนั้นคนกรุงเทพแทบจะไม่รู้จักว่ากระบี่อยู่ที่ไหน แต่ที่ไปเพราะไปช่วยเพื่อนที่เขาจะทำบังกะโล เพื่อนก็พาไปเที่ยวหาดพระนางซึ่งสวยมาก ผมจึงซื้อที่สวนมะพร้าวมีเอกสารสิทธิ เป็นแหลมเล็กๆที่มีถึงสามหาด 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:47

     พอซื้อมาก็ทำบังกะโล เพื่อเรียกพวกฝรั่งสะพายเป้เข้าไปก่อน การได้ที่ดินตรงนี้มาเหมือนกับได้เพชรดิบๆ แต่ผมจะเจียระไนให้มันเป็นเพชรประดับมงกุฎให้ได้ โดยจะต้องทำเป็นโรงแรมให้ถึงระดับห้าดาว  ๒ ปีแรกทำบังกะโลเพื่อซื้อเวลาสำหรับเตรียมโครงการ พอบังกะโลผุก็พอดีกับที่ผมนำโครงการกลับไปร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ใช้ที่ดินเป็นทุน ทำโรงแรมรายาวดีขึ้นมา จุดเด่นของที่นั่นคือผมไม่ตัดต้นมะพร้าวสักต้นเลย นั่งคิดอยู่นานเลยว่าจะมีสถาปัตยกรรมอะไรที่จะเข้าไปอยู่ในนั้น ต้นมะพร้าวมันถูกปลูกไว้เป็นตารางหมากรุก  ช่องว่างมีเฉพาะระหว่างต้นมะพร้าว ผมดีไซน์อาคารออกมาเป็นทรงกลม ไม่ได้ดัดจริตอยากให้มันหวือหวา แต่พอกลมแล้วมันมีความคล่องตัว หมุนวางผังให้หน้าต่างหันหน้าเห็นวิวทะเลทุกหลัง ถ้าเป็นสี่เหลี่ยมมันจะระเกะระกะไปหมด โรงแรมนี้ได้รางวัลเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายรางวัล รวมทั้งรางวัลดีเด่นระดับอาเซียนด้วย

    -ถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะสถาปนิกนะคะ
   ระดับหนึ่งเท่านั้นครับ ผมไม่ได้มีผลงานอะไรมากมาย แต่ผมพูดได้เลยว่าสถาปนิกเดี๋ยวนี้ให้เวลากับงานออกแบบไม่มากเท่าที่ผมเคยทำ เพราะเวลาเขาเป็นเงินเป็นทอง ไม่มีเวลามานั่งแก้แบบ ของผมแก้แล้วแก้อีก อย่างรายาวดีอาคารทุกหลังผมไปนั่งเล็งหมดเลยว่าจะหันหน้ายังไง ผมทุ่มกับมันจริงๆ รายาวดีก็ประสบความสำเร็จมาก แต่ถึงจุดหนึ่งผมก็ต้องขายหุ้นของผมทั้งหมด แล้วก็ไม่ย่างเท้ากลับไปอีก ผมเคยคิดว่าวันหนึ่งมันต้องถึงจุดนั้นนะ เราต้องทำใจไว้ ผมไปตั้งแต่ตอนที่มันยังรกเป็นป่า ไม่มีคนเลย วันหนึ่งพอกระบี่ดังขึ้นมา คนเต็มไปหมดเลย มีทั้งความสกปรก เห็นแก่ตัว เราจัดที่ทางกำหนดโซนให้จอดเรือหางยาวจอดเขาก็ไม่ยอมจอด ผมไปยืนไหว้ให้ไปจอดที่จัดไว้ ยังไม่ไปเลย  ไม่รู้จะทำยังไง ผมทนเห็นไม่ไหว ตอนผมไปเกาะพีพีแรกๆ มีบังกะโลอยู่แล้วก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทุเรศเหมือนทุกวันนี้ นี่คือมุมมองของผมนะ แต่ในมุมมองของคนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย  เขาก็...โอ้โฮ สวรรค์ เพราะเขาไม่เคยเห็นเมื่อครั้งกระนั้น โอเค มันเป็นเรื่องของกาลเวลา แต่คนอย่างผมก็ต้องเป็นคนที่ถอยออกไป ให้คนอื่นเขามาแทนที่ แต่ก็ไม่อาลัยอาวรณ์นะครับ จบก็คือจบ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:50

      พอวางมือจากรายาวดี ผมนึกว่าผมจะรีไทร์ละ อายุประมาณ ๕๕  พอเอาเข้าจริงก็รีไทร์ไม่ได้ เหมือนฟ้าลิขิต ออกมาปั๊บงานอื่นก็เข้าปุ๊บ ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมไปค้ำประกันบริษัทหนึ่งไว้ เป็นบริษัทผลิตใยปาล์ม คือคนมาเลเซียเอา know how มาร่วมลงทุนกับคนไทย เพื่อนผมมาขอให้แนะนำคนที่กระบี่ เพราะเขาอยากลงทุนที่นั่น ตอนหลังเขาให้ช่วยเป็นคนกลางเข้ามาถือหุ้นซัก 6 เปอร์เซ็นต์ พอบริษัทต้องกู้เงินเพื่อสั่งซื้อเครื่องจักร ผมก็ต้องเซนต์ค้ำประกันกับเขาด้วย ปรากฏว่าวันที่กู้ ดอลลาร์ละ 25 บาท พอค่าเงินล่มสลาย วันที่ตัดบัญชีรูดลงไปถึง 52 บาท หนี้เพิ่มมา 2 เท่า ผู้ถือหุ้นยอมปล่อยให้เป็นหนี้เสีย บริษัทถูกธนาคารฟ้อง ผมก็แย่ไปด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน ถูกเล่นงานคนเดียว แพ้คดีสองศาล เลยยอมแพ้ขอเจรจายอมความเป็นผู้ชำระหนี้แทนบริษัท เจ้าหนี้ก็ยอมลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง ผมก็เลยได้โรงงานนี้ติดมือมาแบบทุกขลาภ
      โดยที่เนื้อหาของโรงงานมันไม่ได้เลวร้าย ปลุกปล้ำอยู่สองปีสุดท้ายผมก็พัฒนาเอาใยปาล์มที่ผลิตได้มาทำผลิตภัณฑ์เรียกว่า ผ้าห่มดิน ใช้สำหรับป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน โชคดีมาก พอผลิตได้ก็มีโอกาสได้ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ คือผมได้นำผ้าห่มดินไปขอให้ A.I.T.ทดสอบ อาจารย์ที่นั่นพอเห็นแล้วเลยนำผมไปเฝ้าพระองค์ที่โรงเรียนตชด.ที่ระเมิง จังหวัดตาก สมเด็จท่านพระราชทานเงินให้สร้างอาคารเรียนหลังใหญ่บนยอดเนิน ซึ่งหน้าดินได้ถูกฝนกัดเซาะอย่างน่ากลัวจะพังลงมา ผมจึงมีโอกาสได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ในโครงการใหญ่ครั้งแรก และเป็นผลสำเร็จ ผลิตภัณฑ์ผ้าห่มดินของผมจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจยิ่ง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:52

        ต่อมาได้โปรดเกล้าให้นำไปใช้ที่พระตำหนักภูฟ้า และในคราวที่เกิดดินถล่มที่อำเภอลับแลก็ทรงให้มูลนิธิชัยพัฒนานำไปทำโครงการนำร่องสำหรับการฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่เสียหาย ธุรกิจใหม่ของผมจึงลุกขึ้นเดินได้แต่บัดนั้น ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น
   
        มาเริ่มเขียนหนังสือได้อย่างไรคะ
   ระหว่างที่ทำธุรกิจผ้าห่มดิน ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓  ธุรกิจผมก็ชะงัก แทนที่ผมจะนั่งเครียด ผมก็เขียนหนังสือ พอดีเป็นจังหวะที่ตอนนั้นมีงานออกพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ  คือ ผมได้มีโอกาสเข้าไปชมพระเมรุมาศเป็นคนแรกๆ แล้วก็ถ่ายรูปมา จากนั้นก็เอาไปเขียนเรื่องลงในเว็บพันทิป ตั้งแต่ยังไม่มีใครเคยเห็นความอลังการ ก็เป็นที่ฮือฮา จากเรื่องนั้นมาผมก็มาต่อด้วยเรื่องศพในโกศ เลยชักสนุก ก็เล่นในพันทิปอยู่สองสามปี จนกระทั่งอาจารย์วินิตา (รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) โทรมาชักชวนให้ไปเขียนที่เรือนไทย (www.reurnthai.com

       หลังจากนั้น ผมก็เขียนประจำในเว็บเรือนไทย ตอนหลังบ้านเมืองเลิกวุ่นวายแล้ว งานการก็เริ่มเข้ามา ผมก็ยังติดลมอยู่ แต่บอกอาจารย์วินิตาไปหลายทีแล้วว่าจะถอนตัว (หัวเราะ) แต่อาจารย์มีทริคที่จะทำให้ผมเขียนต่อ จังหวะผมทำงานร้อยปีชาตกาลของพ่อผม ก็ส่งหนังสือให้ท่านเล่มหนึ่ง ท่านก็วิจารณ์หนังสือพ่อผมในเรือนไทยเลย ทิ้งคำถามไว้บ้างอะไรบ้าง ผมก็ต้องเข้าไปขยายความ ก็ไปพาดพิงคณะราษฎร แล้วก็มีคนเข้ามาถามถึงพระยาทรงสุรเดช ผมก็บอกว่าผมติดไว้ก่อนละกัน พอจบเรื่องนั้น ก็นึกได้ว่ามีเรื่องพระยาทรงฯค้างอยู่ ทีนี้ล่ะไปโลดเลย เป็นซีรีส์ใหญ่ คือผมมีหนังสือเยอะเกี่ยวกับเรื่องตั้งแต่ ๒๔๗๕-๒๕๐๐ หนังสือก็มาจากการซื้อ ของพ่อมีส่วนหนึ่งแต่น้อย หนังสือเกี่ยวกับ ๒๔๗๕ ก็มีหลายเวอร์ชั่น ผมก็ดูว่าเรื่องไหนน่าเชื่อถือก็เอามาเขียนโดยสุจริตใจ ไม่มีอคติ พยายามทำใจให้เป็นกลาง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:53

      -ความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์เริ่มต้นมาจากตรงไหนคะ
   ตั้งแต่เด็ก พงศาวดารทุกเล่มผมอ่านหมด ตอนแรกก็อ่านนวนิยายอะไรต่างๆด้วย ตอนหลังๆมาเห็นว่านวนิยายเป็นแค่เรื่องแต่ง เรื่องจริงในประวัติศาสตร์บางเรื่องมีรสชาติยิ่งกว่านิยายอีก แต่มันก็เสียอย่างหนึ่งว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์มันมีอยู่จำกัด แค่ปริมาณหนึ่งเท่านั้น หมดแล้วหมดเลย เดี๋ยววันหนึ่งผมก็ตัน ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว

        -อาจารย์มีวิธีการค้นคว้าหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างไร
   ผมไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ผมจึงเป็นแค่นักเล่านิทานประวัติศาสตร์ให้คนฟังก็แล้วกัน เล่าสนุกๆเด็กๆจะได้อยากฟังด้วย ถ้าไปสอนเป็นวิชาการเดี๋ยวเด็กๆหลับหมด คุณอย่าเอาที่ผมเขียนไปอ้างอิงนะครับ เพราะผมไม่ใช่อาจารย์ ไม่ใช่เขียนแบบนักวิชาการ แต่ผมเป็นนักเล่านิทานที่เล่าเรื่องที่ผมเชื่อว่าจริง เรื่องนี้เชื่อเพราะเหตุนั้นเหตุนี้
   การค้นคว้า ผมค้นจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตนี่เปิดโลกอย่างมหัศจรรย์ ผมเป็นหนี้บุญคุณอินเตอร์เน็ตเหลือจะกล่าว อย่างเรื่องผ้าห่มดิน ผมได้ความรู้ตรงนี้มาจากอินเตอร์เน็ต ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ แรกๆที่ผมเล่นอินเตอร์เน็ต เอาคีย์เวิร์ดภาษาอังกฤษใส่เข้าไป ได้เรื่องได้ราวออกมาเยอะเลย อย่างริชลิว ใช้ google translation ช่วยใส่ให้เป็นภาษาเดนมาร์ก โอ้โฮ คราวนี้ถึงกับมันส์หยด  google translation นี่แปลเป็นภาษาไทยใช้ไม่ได้เลย แต่ถ้าแปลเป็นอังกฤษนี่เยี่ยมยอด พอได้ภาษาอังกฤษมา ก็เลยค้นคว้าต่อได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:54

        ส่วนการใช้หลักฐานอ้างอิงในการค้นคว้า ผมดูหลักฐานปฐมภูมิเป็นหลัก แต่ถึงกระนั้นก็ต้องดูด้วยว่าคนเขียนมีอคติหรือเปล่า ผมให้น้ำหนักกับหลักฐานปฐมภูมิมาก แต่เมื่อได้มาแล้วก็ต้องเปรียบเทียบปฐมภูมิกับปฐมภูมิด้วยกันว่าอันไหนน่าเชื่อถือ ต้องให้น้ำหนักกับคนที่พูดด้วย
   สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์นี่ การหาข้อมูลนี่มันเป็นกิเลสอยู่เรื่อย เหมือนพวกนักสะสมของ ได้ตัวนี้มาแล้วก็ยังขาดตัวนี้ ต้องหามาให้ได้ เท่าไรก็ยอม มันคล้ายๆอย่างนั้น

       -เรื่องศพในโกศเป็นเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ในสกุลไทย มีแรงบันดาลใจอย่างไรและหาข้อมูลอย่างไรคะ
   ที่พระเมรุมาศสมเด็จพระพี่นางฯ ผมได้เห็นเขาพัฒนาเตาสมัยใหม่สำหรับที่จะเผาโลงพระศพ ขนาดเจ้านายระดับสูงยังเลือกที่จะนอนโลง แล้วโกศเป็นอย่างไรเล่า ผมสงสัยก็กลับมาค้นคว้า แต่ยังไม่ได้รู้ชัดเจน ก็เลยโยนเรื่องนี้ลงไปในกระทู้ ความหมายของกระทู้คือคำถาม ตั้งคำถามขึ้นมา ใครจะแสดงความเห็นก็ใส่เข้ามา มาถกเถียงกัน แต่ถึงจุดหนึ่งก็ตัน เพราะไม่มีใครรู้จริง คนที่รู้เรื่องนี้ถ่องแท้ก็คือพวกภูษามาลา ผมก็ต้องไปพบเจ้าพนักงานภูษามาลาให้ได้ จึงได้รู้ว่าวิชานี้เขาไม่เขียนเป็นตำรา ไม่ยอมให้ถ่ายรูป เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ คนรุ่นเก่าก็ถ่ายทอดกันมาอย่างนั้น ภูษามาลาเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักพระราชวัง เจ้าพนักงานภูษามาลาอาวุโสจะเป็นผู้ถวายการตัดพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามธรรมเนียมแต่โบราณ ตำแหน่งภูษามาลาเป็นตำแหน่งที่จัดการเรื่องส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:55

        ตอนที่ผมไปพบ ก็เรียนท่านตามตรงว่าควรจะเปิดเผยบ้างดีกว่าให้คนไปเดากันผิดๆ เช่นว่ามีการใช้เหล็กแหลมสวนทวาร มันจะยิ่งไปกันใหญ่ แต่ก็ถือว่าท่านเมตตามากที่ได้ให้รายละเอียด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ยอมให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เลย

       -ขอถามถึงเรื่องนิราศกรมหมื่นสถิตย์ ว่าด้วยวิกฤตวังหน้าที่เพิ่งจบไป เรื่องนี้เขียนขึ้นเพราะอาจารย์มาจากเชื้อสายวังหน้า?
   พ่อผมมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ นิพนธ์นิราศนี้ พระองค์ท่านเป็นสายบุ๋น ทำงานในหอพระสมุด เป็นบรรณาธิการหนังสือวชิรญาณอยู่พักหนึ่ง 
         พอท่านสิ้นลูกหลานไปเปิดตู้เจอนิราศนี้เข้า ตอนนั้นก็คัดลอกกันต่อๆมาด้วยลายมือ แต่ฉบับที่ผมได้มานี้เป็นฉบับพิมพ์ดีดแล้วโรเนียวแจกในวันเกิดคุณอาท่านหนึ่ง ผมได้มาตอนที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย อ่านแล้วก็ไม่ซึ้ง เพราะไม่เข้าใจเรื่องราวที่ท่านเขียน  คือถ้าไม่มีบรรยายประกอบ ไม่มีทางที่ผู้อ่านจะเข้าใจ มันเป็นยังไงมายังไงกัน ตอนนั้นรู้เพียงว่าเกี่ยวข้องกับปัญหาวิกฤติวังหน้า เสด็จทวดเราไปเกี่ยวกับเขาด้วย มันก็ดูไม่เป็นมงคลเท่าไร ไม่ใช่เรื่องน่าโอ้อวด ผมได้มาแล้วก็เก็บไว้เฉยๆนานมาก จนกระทั่งในเว็บเรือนไทยมีกระทู้ของอาจารย์วินิตา เรื่องกรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้ายของสยาม ก็มีคนเข้ามากล่าวถึงเรื่องกรณีวางเพลิงในวังหลวง สงสัยว่าจะเป็นฝีมือวังหน้า
       ตอนที่อาจารย์ขึ้นกระทู้นี้มา ผมไม่เข้าไปเลย เพราะรู้แล้วว่าเดี๋ยวจะต้องมีคนเข้ามากล่าวหาวังหน้าในเรื่องนี้ ถึงจุดหนึ่งผมก็เอานิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ มาลงเปรียบเทียบกัน สังคมสมัยใหม่เขารับรู้ข้อมูลอย่างไรก็ว่ากันไป แต่อันนี้เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งของวังหน้า จะมองว่าเป็นข้อแก้ตัวก็ได้ อาจารย์วินิตาไม่รู้ว่าผมมีหนังสือที่ว่านี้ ก็ตื่นเต้นว่านี่มันเป็นเอกสารปฐมภูมิ ไปๆมาๆกระทู้นี้เลยยาวกว่ากระทู้แรก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:56

       ผมคิดว่าเป็นงานสั่งที่ผมจะต้องทำในฐานะที่เป็นสมาชิกราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ท่านไม่ใช่บรรพบรุษสายตรงของผมก็จริง แต่ในเมื่อผมเป็นเชื้อสายวังหน้า เห็นท่านโดนสาดโคลนไว้เยอะในอดีต ผมก็อยากจะล้างถวาย เขียนเรื่องนี้จบผมก็คิดว่าหมดพันธะแล้ว

      -ถ้าเรียนถามว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ามานั้น มีคุณค่าอะไรกับตัวเองและคนอื่น
   เป็นคำถามที่ดีมาก แต่ตอบยากที่สุดเลย ผมกำลังสับสนในตัวเองเหมือนกันว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของผมมันมีประโยชน์อะไร ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ผ่านไปแล้ว แล้วก็จบไปแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกว่ามาฟื้นฝอยหาตะเข็บกันทำไม ในยุคสมัยใหม่มันมีความรู้เกิดขึ้นเยอะแยะมากเลยที่ทุกคนจะต้องตามให้ทัน มันไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่เป็นตัวเลขทวีกำลัง ความเจริญของโลกมันเร็วมากเสียจนประวัติศาสตร์ไม่มีโอกาสเข้าไปแย่งพื้นที่สมองของคนรุ่นใหม่ อย่างลูกผม เขาไม่สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ถ้าพูดแบบให้ความยุติธรรมต่อเขา คือเขาอาจจะมีเรื่องอื่นที่เขาต้องสนใจมากกว่า ในที่สุดเรื่องประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับเป็นวิชาเลือก บางคนวาดเขียนเก่ง ดีไหม ดี เพราะจรรโลงจิตใจคน แต่คุณจะไปบังคับให้คนเขามาเขียนรูป หรือมาชื่นชมก็ไม่ได้ ประวัติศาสตร์ยิ่งหนักไปกว่าเขียนรูปอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 09:58

       สำหรับผมเอง อย่างที่บอกว่าผมอ่านทุกอย่าง แต่ประวัติศาสตร์สำหรับผมมันเป็นเรื่องจริงที่อ่านแล้วมันส์ สนุกกว่าเรื่องแต่งอีก มันมีประโยชน์แน่ แต่มันจะตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่หรือเปล่า เช่น ถ้ามันมีประโยชน์แบบ...ทำให้เกิดความรักชาติ ซึ่งถ้ามองจริงๆแล้วความรู้สึกรักชาตินี่มันทำให้เกิดชาตินิยม เราก็ไปดูถูกเพื่อนบ้านเพราะคิดว่าเราแน่กว่าเขา อย่างนี้เป็นเพราะประวัติศาสตร์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ต้องควบคู่ไปกับทิศทางอื่นด้วย ต้องสร้างวุฒิภาวะในการคิดให้แก่คน
   หม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน นิยามตนเองว่าเป็น “นักเล่านิทานประวัติศาสตร์” ซึ่งนับว่าเป็นนักเล่าที่เล่าเรื่องได้สนุกสนานน่าติดตามจนประวัติศาสตร์นั้น มี “ชีวิต”โลดแล่นขึ้นมาในหน้ากระดาษ เป็นเรื่องราว เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้คนได้ใคร่ครวญขบคิด ดังข้อสรุปที่ว่า
   “ผมสรุปว่าประวัติศาสตร์ก็เป็นแค่นิทานสำหรับผมนะครับ มันมีพื้นฐานมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่อย่าไปซีเรียส ฟังสนุกๆ แล้วอย่าทำผิดพลาดแบบประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เป็นบทเรียนอย่าให้ทำผิดอย่างเดิมๆอีก”
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง