เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 16114 เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
ด.เด็ก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 08:51

ประวัติศาสตร์เรียนเพื่ออะไรครับ เรียนเพื่อเคียดแค้นเหตุการณ์ในอดีตเพื่อที่จะแก้แค้นในอนาคต หรือว่าเรียนเพื่อให้รู้ว่าในอดีตเคยมีอะไรต่อกัน เวลาคบหาในปัจจุบันจะได้เตือนตนให้ระมัดระวังอย่าซุ่มซ่าม หรือมีเหตุผลอื่นๆอีก
   ผมคิดว่าถ้าเราไม่รีบหาเหตุผลที่แท้จริงในการเรียนรู้ เราจะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่หวังผล ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้ครับ..
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 19:24

ตำราวิชาการของพม่า ไม่รู้ว่าใช้ในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย  แต่จะระดับไหนก็ตาม ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า มีลักษณะการปลุกเร้าและถ่ายทอด"ความเชื่อ " ไม่น้อยไปกว่าเขาประณามการเขียนตำราไทย
เป็นเรื่องแปลกมากที่การเขียนตำราเกี่ยวกับอีกประเทศหนึ่ง  ไม่ยักใช่การ survey ซึ่งมุ่งเชิงปรนัย ด้วยการยึดหลักฐานข้อเท็จจริงเท่าที่ทำได้   แต่เป็นการวิจารณ์นิสัยใจคอความรู้สึกของคนอีกชาติ

"คนโยธยา รักการใช้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ใส่ใจในการทุ่มเททำงานหนักมากนัก และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง พวกเขาปฏิบัติต่อ นักล่าอาณานิคมตะวันตก อย่างผสมกลมกลืนแทนที่จะต่อสู้ขับไล่คนพวกนี้" ตำราระบุ และ ยังโจมตีพระมหากษัตริย์ไทยต่อนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษต่อชาวต่างชาติและมหาอำนาจ รวมทั้งโจมตีด้วยว่านโยบายของไทยเป็นนโยบายลู่ตามลม

ตำราไทยไม่เคยวิจารณ์นิสัยคนในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าประเทศไหนว่าบกพร่องอย่างไร แม้แต่ในตำราประวัติศาสตร์ไทย  ก็ไม่มีเล่มไหนบอกว่าพม่ามีนิสัยอย่างไร   เอ่ยถึงเพียง" การกระทำ "ในสงครามที่มีต่อไทยเท่านั้น

คนไทยที่เหลือรอดจากเสียกรุง  ก็ยังมาตั้งถิ่นฐาน มีลูกมีหลาน  คนชั่วพ่อลูกได้รบกับพม่ามาตลอดรัชกาลที่ ๑ และ ๒  จนสงบไปเมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่า
ทำไมคนไทยจะไม่รู้กันว่าพม่าเป็นผู้รุกรานความมั่นคงของไทยมายืดเยื้อยาวนาน  ไม่ว่าจะศึกถลาง หรือสงครามเก้าทัพ
ไม่ใช่ว่าจอมพลป.จะมาสร้างเรื่องให้เกลียดพม่า  โดยก่อนหน้านี้ไทยก็เฉยๆกับพม่า  ข้อนี้ขอค้านว่าไม่จริงเลย
นอกจากสุนทรภู่เขียนในนิราศไว้แล้ว  แม้แต่ในตะเลงพ่าย ก็ยังบันทึกถึงความอ่อนแอของอุปราชฝ่ายพม่าเมื่อยกมารบไทย
ขนาดพ่อประณามลูกว่า " เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์"
ทั้งหมดนี้ แสดงว่าเราไม่ได้มองพม่าในแง่บวกแน่ เกือบ ๑๕๐ ปีก่อนจอมพลป.เกิด

ดิฉันมองเห็นความรู้สึกเหยียดหยามที่พม่ามีต่อไทย และการโยนความผิดทั้งหมดมาลงที่ไทย
แม้แต่เรื่องเดียวกัน  ก็มองต่างมุม
ไทยเลือกการประนีประนอมกับมหาอำนาจเพื่อการอยู่รอด  มากกว่าการแข็งข้อต่อต้านแล้วถูกยึดครองแบบพม่าโดนจากอังกฤษ
มหาอำนาจไม่เคยเข้ามารุกรานขั้นถอดถอนประมุขของไทย เนรเทศไปไว้ที่อินเดีย แบบอังกฤษทำกับพระเจ้าสีป่อ
เราอาจเสียดินแดน  เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ไม่ถูกยึดครอง  รัฐบาล( ในยุคสมบูรณาฯ ถือว่าพระมหากษัตริย์คือหัวหน้ารัฐบาล) ก็ยังอยู่รอดปลอดภัย มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและปกครองประเทศจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕
แต่พม่าไม่มีปรวัติศาสตร์ในทำนองนี้ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าสีป่อ
เขาไม่ได้เปรียบเทียบข้อนี้เลยหรือว่าเป็นนโยบายที่แตกต่างกัน ส่งผลการปกครองออกมาผิดกัน

ถ้าหากว่ามติชนแปลตำรานี้มาถูกต้องและได้ใจความใหญ่อย่างนี้นะคะ
ก็มองว่าตำรานี้เขียนขึ้นเพื่อสนองจุดมุ่งหมายของทางการ ให้เกิดความรู้สึกในทางลบต่อไทย
ขอยืนยันว่าไม่ใช่วิชาการค่ะ    และข้อเท็จจริงหลายอย่างผิด เช่นในกรณีจอมพลป.   หลักฐานทางไทยมีมากพอสมควร
ที่แสดงให้เห็นว่าชาตินิยมของจอมพล ป. วนเวียนกับการปลูกฝังความรักชาติ  ส่วนการต่อต้านศัตรูเป็นองค์ประกอบอันหลีกเลี่ยงมิได้
วีรกรรมย่อมเกิดจากสงคราม   ไม่มีสงครามก็ไม่มีวีรบุรุษ    เมื่อจะยกย่องวีรกรรมบรรพชนไทยก็ต้องเอ่ยถึงสงครามที่พวกเขาชนะหรือฮึดสู้ไปด้วยอยู่ดี
แม้แต่พม่าเองก็เถอะ    ก็เคยมีคนดีคนเก่งยืนหยัดต่อต้านอังกฤษมาแล้วเช่นกัน   เด็กอังกฤษจะกล่าวหาได้หรือว่าพม่ายุแหย่เยาวชนพม่าให้เกลียดอังกฤษ
ทางฝ่ายไทย  จอมพลป.เองก็ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับพม่า   พาผู้นำพม่าไปอยุยา มีการสักการะแสดงความเคารพต่อวิญญาณบรรพบุรุษไทยด้วย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 20:05

เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูที่ว่าความเคียดแค้นของสยามที่มีต่อพม่านั้นสะสมมาตั้งแต่หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่ได้มาเริ่มที่ยุคจอมพล ป. แต่คงต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเริ่มจากสมัยใดก็ตาม แบบเรียนของไทยในปัจจุบัน วาดภาพพม่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกอย่างนี้ แบบเรียนไทยส่วนเกี่ยวกับพม่าว่า พม่าเป็นศัตรูเป็นอาณาจักรของราชวงศ์ตองอู เป็นอาณาจักรของราชวงศ์อลองพญาผู้ทำลายกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้สอนให้รู้จักพม่าที่เป็นสหภาพพม่า เป็นดินแดนของคนหลายชาติพันธุ์ มีความขัดแย้งกันภายใน เป็นชาวพื้นเมืองของภูมิภาคนี้ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรามายาวนาน ทั้งยามที่มีไมตรีกัน และยามที่เป็นศัตรูกัน ผมไม่ได้เห็นว่าแบบเรียนพม่าเขียนได้ถูกต้อง แต่ผมก็คิดว่าแบบเรียนไทยก็ปลูกฝังความเชื่อผิดๆให้กับคนไทยเช่นเดียวกัน การปลูกฝังดังกล่าวทำให้เรามองพม่าด้วยอารมณ์ ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ลองคิดดูให้ดี แบบเรียนของพม่าที่ว่พม่าต้องทำลายโยเดียด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องการรับศึกสองด้าน พม่าจะเขียนแบบเรียนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมอญของพระเจ้าอลองพญาอย่างไร แบบเรียนดังกล่าวแก้ตัวให้กับชาว "พม่า" เท่านั้น ไม่ได้มีผลกับชาวยะไข่ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ฯลฯ เลย สิ่งที่อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้คือ ชาว "พม่า" นั้นไม่ได้เป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน ต่างกับที่คนไทเป็นประชากรหลักในประเทศไทย (รวมไทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวสยามด้วย) ประวัติศาสตร์ของเขา ผมไม่เชื่อว่าจะปลูกฝังให้คนทั้งประเทศได้เหมือนกับของเรา แต่จุดมุ่งหมายก็เหมือนกัน คือเพื่อรับใช้การเมือง สิ่งที่ขัดกับข้อมูลทางวิชาการในแบบเรียนพม่านั้น เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ก็คงจะปฏิเสธได้ยากว่าในแบบเรียนไทยก็มีไม่น้อยกว่ากัน ในเหตุการณ์แบบนี้ ผมกลับเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะปรับแบบเรียนของเรา ให้มองเห็นเพื่อนบ้านของเราในภาพที่เป็นจริงมากขึ้น รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งไม่แพ้ครับ ดีกว่ามาโกหกคนของเราเองให้เห็นภาพบิดเบือนไป แล้วมาโวยวายเมื่อเพื่อนบ้านทำบ้าง ด่ากันไป โกรธกันไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 20:43

หลักการเขียนตำรา มีตามลำดับดังนี้
๑)จุดมุ่งหมายของตำราเล่มนั้น
๒) ขอบเขตข้อมูลที่ใช้
๓) การวิเคราะห์และเลือกใช้ข้อมูล
ตำราประวัติศาสตร์ที่ให้เด็กเรียน ส่วนใหญ่จะมุ่งด้าน survey คืออธิบายกว้างๆถึงความเป็นมาและลักษณะสำคัญในแต่ละยุค
ถ้าเป็นตำราระดับสูงกว่านั้น เอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการ จะเจาะลึกลงไป หรือเสนอในเชิงการเมือง จิตวิทยา สังคม ปรัชญา เอามาประยุกต์ก็ได้
เนื้อความออกมาไม่เหมือนกัน แม้บนฐานข้อมูล เดียวกัน
๒) ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ได้ใช้เฉพาะพระราชพงดาวดาร แต่ใช้หลักฐานอื่นๆด้วยเช่นหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานจากต่างประเทศ  
ปัญหาก็เลยตกมาถึงข้อที่ ๓
๓) การวิเคราะห์และการเลือกใช้ข้อมูล
ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว การบันทึกตั้งแต่อยุยามีปัญหาด้าน documentary    มาตลอด  เพราะการเก็บหลักฐานส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของตำนานและมุขปาฐะ   ผิดกับบางประเทศอย่างอังกฤษจะเก็บในรูปเอกสารละเอียดลออ  
ตำนานถ่ายทอดมาหลายๆร้อยปีก็ผิดเพี้ยนได้
เราเพิ่งจะมาเก็บเป็นระบบแบบตะวันตก ก็ราว ๑๐๐ ปีมานี้เอง  
การวิเคราะห์และการเลือกใช้ข้อมูลถึงเป็นเรื่องนักประวัติศาสตร์ยากจะลงรอยกัน   ไม่ใช่บิดเบือนหรอกค่ะ  แต่น้ำหนักในข้อมูลที่แย้งกันมันเท่าๆกัน  ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง   พอเอาอย่างนี้อีกฝ่ายก็ยกข้อมูลอีกอย่างมาโต้ได้   กว่าจะชี้ขาดได้บางครั้งต้องเอาวิทยาศาสตร์มาตัดสิน  อย่างกรณีศิลาจารึกพ่อขุนรามที้อ้างว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงทำขึ้น
ดิฉันสงสัยทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า "โกหกคนของเราให้เห็นภาพที่บิดเบือนไป"  ไม่ว่าคุณ CrazyHOrse หรือใครพูดก็ตาม
เพราะดิฉันเชื่อว่า ตั้งแต่มีการรวบรวมพงศาวดารขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มาจนปัจจุบัน    นักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านั้นท่านได้รวมรวมสิ่งที่ท่าน "เชื่อ" ว่าเกิดขึ้นจริงๆ  แม้ว่าท่านไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่า    ไม่ใช่" จงใจ" บันทึกสิ่งที่รู้ว่าไม่จริงลงไป
แต่ความเชื่อนั้นเป็นอัตนัย จนบัดนี้การเรียบเรียงก็ยังเป็นอัตนัยอยู่มาก   สลัดไม่หลุด มันเป็นเนื้อหาทางมนุษยศาสตร์ในหลายสาขาซึ่งจะออกทางอัตนัยมากกว่าทางวิทยาศาสตร์

ดิฉันมีสิทธิ์จะ"โวยวายเมื่อเห็นว่า เพื่อนบ้านบิดเบือน"   ส่วนการที่ว่าของเราเองบิดเบือนหรือไม่  ก็ไม่ได้ทำให้ประเด็น " เพื่อนบ้านบิดเบือน" กลายเป็น "ไม่บิดเบือน" ไปได้

เรื่องการปรับแบบเรียน  จนทุกวันนี้คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ก็ทำงานกันอยู่ค่ะ    แบบเรียนก็เปลี่ยนกันบ่อย  ไม่ใช่ยืนกรานกันอยู่ ๕๐ ปีแล้วยังไม่เปลี่ยน
ข้อสำคัญคือ เปลี่ยนยังไงล่ะ ถึงจะแน่ใจว่าถูกต้อง?

จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาบอกได้ว่า..ที่ถูกต้องที่สุดเป็นยังไง

ดิฉันยังไม่เข้าใจอยู่อย่าง พูดจริงๆ
ตั้งแต่เข้ามาเล่นเน็ต  เจอความเห็นบ่อยมากว่า...ประวัติศาสตร์ไทยบิดเบือน
แต่ไม่มีใครบอก คือยังหาไม่เจอว่าส่วนไหนบิดเบือน และทำไมถึงคิดว่าบิดเบือน

สมมุติว่าคุณจะเรียบเรียงเรื่องพระสุพรรณกัลยา    หลักฐานทางไทยบอกว่าถูกประหาร   ทางพม่าบอกว่าไม่ให้ประหาร
ถ้าหลักฐานทั้งสองเล่ม เป็นทุติยภูมิทั้งคู่    บันทึกขึ้นภายหลังนับร้อยๆปี   จะรู้ได้ไงว่าเล่มไหนถูกบิดเบือน
หลักฐานอื่นในลาวเขมรจีนมลายู ก็ไม่มีมาสนับสนุนเสียด้วย
ถ้าคุณจะปรับตำราประวัติศาสตร์ให้เด็กเรียน คุณจะหยิบอันไหนขึ้นมาชี้ขาดลงไป
ถ้าคุณเลือกอย่างไทย  อาจจะมีข้อแย้งว่าบิดเบือนของพม่า  ถ้าเลือกอย่างพม่า  ก็จะมีอีกความเห็นสวนมาว่าบิดเบือนของไทยเข้าให้
ลงมันทั้งสองความเห็นเลยงั้นหรือ...ยังงั้นเด็กนักเรียนจะเจอข้อมูลสองแบบนับไม่ถ้วนเลยเชียวละค่ะในประวัติศาสตร์  แล้วก็จะนำกลับไปสู่คำถามอีกนั่นแหละ ว่าอันไหนจริงคะครู
แล้วก็ย้อนกลับไปตอนต้นใหม่ค่ะ เป็นงุกินหาง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 21:07

ขอต่อประเด็นของคุณ CrazyHorse นะคะ เรื่อง
" แบบเรียนไทยก็ปลูกฝังความเชื่อผิดๆให้กับคนไทยเช่นเดียวกัน การปลูกฝังดังกล่าวทำให้เรามองพม่าด้วยอารมณ์  ไม่ใช่ด้วยเหตุผล"
ดิฉันมองว่า-
แบบเรียนไทยที่เกี่ยวกับประเทศอื่นจะมุ่งแสดงภาพ "ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอดีตของไทย" เป็นหลักใหญ่ ไม่ว่าประเทศไหน
มองจีนในฐานะแหล่งค้าขายใหญ่ของไทย   ไม่ใช่มองการเมืองภายในของจีนในแต่ละราชวงศ์
มลายู หรือลาว หรือเขมร ก็มองในส่วนเกี่ยวกับไทย
ถ้าจะมองละเอียดลึกลงไปกว่านั้น ไปเรียนในระดับปริญญาตรีตอนปลาย หรือโท
การเรียนแบบsurvey คือการมองกว้างๆเท่าที่จำเป็น    ความจำเป็นของผู้วางแบบเรียน  คือยึดสิ่งที่เกี่ยวกับไทยเป็นหลัก
เรียกว่าถ้าต้องรู้  เอาความรู้ที่เกี่ยวกับไทยไว้ก่อน
เราจึงไม่ได้เรียนระบบจักรพรรดิราขของพม่า ไม่ได้เรียนการค้าขายทางมหาสมุทรอินเดีย หรือความสัมพันธ์ของพม่ากับจีน
ในเมื่อพม่าเกี่ยวข้องกับไทยในเชิงศึกสงครามมากที่สุด  ตำราก็ออกมาทางนั้นบ่อยกว่าทางอื่น
ประเทศทำศึกกัน เห็นจะมองกันในแง่ดีได้ยาก  เหมือนลาวมองไทย  ไทยก็มองพม่า พม่าไปมองอังกฤษอีกที (ก็เป็นได้)

ระหว่างพิมพ์ ดิฉันนึกไปถึงเจ้าอนุวงศ์ที่ลาวถือเป็นวีรบุรุษของเขา  แต่เราถือว่าเป็นกบฏ
ความจริงไม่ว่าประเทศไหน  กบฎที่ฮึดสู้เพื่อความเป็นไท ย่อมเป็นที่สรรเสริญของคนรุ่นหลัง  สก๊อตแลนด์มีร็อบ รอยวัรบุรุษสู้อังกฤษ   ฝรั่งเศสมีโจนออฟอาร์ค  แต่ละประเทศเขาก็ภูมิใจของเขา
แต่จะให้อังกฤษย้อนกลับมาภูมิใจร็อบรอย คงแปลกนะคะ
เราเองก็ภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวร    แต่เราก็รู้ว่าพม่าไม่ภูมิใจด้วยแน่
แต่จะสร้างภาพใหม่  ให้เยาวชนไทยรู้สึกค่อนไปทางพม่า หรือเฉยๆ เหมือนประเทศที่ ๓ มอง  จะดีกว่างั้นหรือคะ?

ดิฉันยกย่องสมเด็จพระนั่งเกล้า   แต่ก็ยอมรับถ้าเพื่อนชาวลาวยกย่องเจ้าอนุวงศ์  
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ดิฉันไปยกย่องวีรบุรุษของเพื่อนมากกว่าของตัวเอง ดิฉันก็ทำไม่ได้  เขาเองก็คงไม่ทำเช่นกัน
เรียกว่า มองกันคนละมุม
แต่คนละมุมแบบนี้ เราก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าบางครั้งมุมมันเบียดกระทบกระทั่งกันได้    เมื่อไรไปล่วงเกินเรื่องของอีกฝ่าย ถึงขั้นประเมินผลว่าทำความเลว  ยังงี้เกิดบาดหมางกันแน่
   ต่อให้มีเหตุผลแค่ไหนก็เถอะ ยิ่งยกเหตุผลได้มากทั้งสองฝ่าย  อุณหภูมิอาจจะยิ่งสูงค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 21:27

ใครจำได้บ้างว่าละครเรื่อง เลือดสุพรรณ ของคุณหลวงวิจิตรวาทการ ที่ว่าเป็นมือขวาของท่านจอมพล ป. ในการปลุกกระแสสร้างความรู้สึกชาตินิยมในเมืองไทยสมัยนั้น (หรือบางคนอาจจะเรียกว่ามือขวาด้านการโฆษณาชวนเชื่อของท่านจอมพลก็ได้) พูดถึงพม่าไว้อย่างไร
เรื่องนั้น ทหารพม่าเป็นพระเอก สาวชาวบ้านไทยเป็นนางเอกครับ และ- ครับ ในเรื่องนี้พม่ากับไทยรักกันครับ
ผมรับว่าหลายๆ เรื่องผมไม่เห็นด้วยกับคุณหลวงวิจิตรฯ หรือท่านจอมพล ป. เลย แต่เพื่อความยุติธรรมตามหลักฐานที่คุณหลวงเขียนไว้จริงๆ ก็ต้องบันทึกให้เครดิตไว้ว่า เฉพาะละครเรื่องนี้ ท่านผู้เขียนได้แสดงภาพของทหารพม่าอย่างชัดเจนว่าก็เป็นคนเหมือนคนไทยเรานี่เอง ไม่ใช่ยักษ์มาร มีหัวใจ มีความรัก มีทั้งคนดีคนชั่ว มีทั้งคนที่เป็นสุภาพบุรุษใจเมตตาและที่เป็นคนโหดร้าย แต่ในสภาพที่มีสงครามระหว่างกัน ปมวามขัดแย้งระหว่างความรักหนุ่มสาวกับหน้าที่ต่อชาติในใจนางเอก เป็นปมทางวรรณคดีอันหนึ่งที่คุณหลวงใช้ศิลปะการประพันธ์สร้างพล็อตผูกใจคนดู ในที่สุดเมื่อพระเอกตาย นางเอกนำหน่วยรบไทยออกรบจนตัวตายหมดทั้งหน่วย ตอนจบคุณหลวงก็ให้แม่ทัพพม่าผู้มีชัยมีบทพูดให้เกียรติความกล้าหาญของคนไทย แม้จะเป็นข้าศึกศัตรูกันก็ตาม เราได้ความรู้สึกว่า "สงคราม" ต่างหากเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่ไทย ไม่ใช่พม่า - และทั้งหมดนี่มาจากปลายปากกาของคนที่ได้ชื่อว่าร่วมกับจอมพล ป. กระพือกระแสคลั่งชาติด้วยซ้ำ

คนที่เรียกตัวว่าเป็น "นักวิชาการประวัติศาสตร์" ของพม่า เวลาเขียนตำราที่ว่ากันว่าเป็นตำราวิชาการ เขียนได้โดยให้เกียรติเพื่อนบ้านได้เท่าครึ่งของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นมือโฆษณาชวนเชื่อ เวลาแต่งบทละครไหม?
 
ผมยืนยันอีกทีว่าผมไม่ขัดข้องเลยที่จะให้มีการปรับปรุงตำราประวัติศาสตร์ไทย และผมเชื่อว่ามีการศึกษาหลักฐานทางพม่าเอามาเทียบกับหลักฐานไทยอยู่แล้ว มีนักวิชาการไทยที่ไปค้นคว้าพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่าเอามาเทียบกับหลักฐานทางเรา และผมก็ยินดีที่จะได้ยินได้ฟังอะไรใหม่ๆ

แต่มาอ่านตำราเรียนพม่าฉบับแต่งใหม่นี่... รวมทั้งความเห็นของพม่าที่ว่าเราคลั่งชาติประกอบด้วย แล้ว อดนึกถึงคำพูดฝรั่งไม่ได้ว่า กาน้ำก้นดำหัวเราะเยาะหม้อน้ำเขม่าจับว่าหม้อเปื้อนดำ หรือไทยว่า อิเหนาเป็นเอง อย่าพูดมากดีกว่า
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 22:02

ประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยก็เป็นอีกประเด็นที่ละเอียดอ่อน

คุณ CrazyHouse ว่าไว้ถูกเลยครับว่าความเป็นมาเป็นอย่างไร ทำไมแต่ก่อนพม่าถึง เป็น "สหภาพ" พม่า แล้วรัฐบาลทหารสมัยหลังไปทำอะไรเข้าล่ะถึงได้เกิดศึกในบ้านตัวอยู่อย่างนี้ ใครกันล่ะที่ฉีกข้อตกลงเวียงป๋างโหลง หรือเวียงปางหลวง ที่รัฐบาลยุคแรกของพม่าหลังได้เอกราชจากอังกฤษให้สัญญาไว้กับเผ่าชนต่างๆ
ปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดมาลอยๆ จากสูญญากาศเหมือนกัน

นั่นเป็นประวัติศาสตร์ ทีนี้ในส่วนที่ว่าไทยเราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวแค่ไหน ก็แล้วแต่นโยบายเป็นยุคๆ ไป แต่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์นั้นมีอยู่ ตำราเรียนพม่าอยากจะเขียนโยนบาปให้ไทยเป็นผู้สนับสนุนกบฎของพม่าก็เขียนได้ (เหมือนกับที่โทษจอมพล ป. สถานเดียว) แต่ข้อเท็จจริงก็ยังเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ต่อให้ไม่มีไทย กลุ่มชนเหล่านี้เขาก็มีสาเหตุของเขาข้างในเองที่จะขัดแย้งกับรัฐบาลย่างกุ้งอยู่ดี และที่พม่าเขาว่าเขาเจรจากับกลุ่มต่างๆ 15 กลุ่มใน 16 กลุ่มเกือบเจรจาได้หมดแล้ว ก็ดีแล้วนี่  แต่ประวัติศาสตร์ก็เป็นประวัติศาสตร์อยู่ดีแหละ ว่าความขัดแย้งเริ่มต้นมาทางไหน

ไทยเราเองไม่อยากให้มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางใต้ แต่เท่าที่ผมทราบตำราเรียนของเด็กนักเรียนของเราไม่เคยพูดถึงมาเลเซียว่าสนับสนุนพูโล
บันทึกการเข้า
โมโน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 23:37

ขอร่วมวงด้วยครับ

กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก........ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย..........โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย

ผมว่าบทนี้สะท้อนทัศนะกวีของสุนทรภู่ ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสะทกสะท้อนใจ ต่อความอ่อนแอ ของฝ่ายไทย มากกว่าความเคียดแค้นต่อพม่านะครับ และเป็นทัศนะที่สร้างสรรค์และลึกซึ้งกว่าความแค้นนะครับ เพราะทำให้มีความรู้สึกที่จะต้องปรับปรุงตัวให้เข้มแข็งขึ้น

ส่วนทัศนะต่อพระมหาอุปราชา จากเตลงพ่าย น่าจะดูโคลงสองบทนี้ครับ

ดำเนอรพจนพากย์พ้อง........พรรณา
องค์อรรคอุปราชา...............ท่านแจ้ง
กอบเกิดขัติยมา..................นะฮึก หาญเฮย
ขับคชเข้ายุทธแย้ง..............ด่วนด้วยโดยถวิลฯ
.......................................................
อุราราญร้าวแยก................ยลสยบ
เอนพระองค์ลงทบ...............ท่าวดิ้น
เหนือคอคชซอนซบ.............สังเวช
วายชิวาตสุดสิ้น...................สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ฯ
บันทึกการเข้า
โมโน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 23:51

อีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่าคนสมัยก่อน อาจไม่เกลียด พม่าอย่างที่เราคิด (ไม่ชอบแน่นอน เพราะเป็นคู่ศึกกัน) เพราะสิ่งที่พม่าทำกับอยุธยา อาจจะคล้ายๆ กับที่เรา ทำกับ เชียงใหม่ ลาว เขมร ก็ได้ และผมคิดว่าในตำราเรียน ไม่ค่อยเขียนเรื่องนี้เท่าใด
ผมไม่แน่ใจว่า ระยะเวลาที่เราทำศึกกับพม่า กับ ระยะ เวลาที่เราทำศึกกับ เชียงใหม่ ลาว เขมร อย่างไหนจะนานกว่ากัน
บันทึกการเข้า
โมโน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 23:58

ที่พม่าว่าเราเป็นพวกคลั่งชาติ แต่พม่าตอนนี้กับทำตัวเป็นพวกคลั่งชาติตามเรา เสียเอง ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมาร์ (เหมือนเราเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย)
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 20 มิ.ย. 01, 00:33

ในตำราวิชาประวัติศาสตร์ของไทยทำให้ดิฉันทราบว่า พม่าเป็นศัตรูกับชาวไทยในสมัยอยุธยา,ธนบุรีและ รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ในตำราสังคมศึกษาทำให้ดิฉันรู้จักประเทศพม่าในปัจจุบันซึ่งไม่มีที่ใดในตำราสังคมศึกษากล่าวว่าประเทศพม่าในปัจจุบัน(เมียนม่า)เป็นศัตรูกับประเทศไทยเลยนะคะคุณCrazyHorse
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 20 มิ.ย. 01, 08:02

ดูว่าความสามารถในการสื่อสารในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานของผมจะสร้างปัญหาให้กับชุมชนนี้ซะแล้ว
ประเด็นของผม ไม่ได้ต้องการให้สอนว่า ยุทธหัตถีไม่เคยมี หรือไทยกับพม่าเป็นมิตรรักกันตลอดประวัติศาสตร์ แต่อยากให้นักเรียนได้ความรู้อันเป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันมากกว่านี้ ประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนๆกันมา ไม่ใช่ว่าควรจะถูกลบออกจากแบบเรียน แต่อยากจะให้เน้นในเรื่องที่ทำให้เห็นภาพที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากขึ้น ถ้าจะเอาแบบฟันธงก็คือ
1.ในเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน( ขอยกตัวอย่างพม่าไว้ในที่นี้) น่าจะเน้นประวัติศาสตร์ยุคใกล้คือในช่วงกลางรัตนโกสินทร์ขึ้นมามากกว่านี้ คนไทยควรจะรู้ว่าพม่าคืออะไร สหภาพพม่าคืออะไร ให้มีพื้นฐานสำหรับทำความรู้จักกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่ว่าก็อดอาร์มี่ดอดเข้ามายึดโรงพยาบาลก็ว่าพม่ามันเลว หรือเรามีปัญหาในแนวชายแดน ก็ว่าพม่ามันเลว แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร เรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไรกันแน่
2.ในแง่ของไทยเอง อยากให้เพิ่มเนื้อหาในแง่ของความเข้าใจเกี่ยวกับคนไท และสยาม รวมทั้ง "ข้อสงสัยอื่นๆ" หลายครั้งที่ผมอ่านเจอข้อความใน webboard ที่คน post เรื่องหลายๆเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย อย่างที่หลายคนเคยผ่านตามาบ้าง เรื่องการทรยศหักหลังระหว่างเพื่อนสนิท เรื่องการสาปแช่ง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่านี่เป็นผลของการปิดกั้น คนเดากันไปต่างๆนาๆ และให้ข้อสรุปที่ไม่ยุติธรรมกับบุคคลในประวัติศาสตร์ ผมเคยไปเที่ยวกับหลานที่เชียงใหม่ หลานถามว่าทำไมเชียงใหม่ถึงเก่ากว่าสุโขทัยได้ คุณจะตอบอย่างไรให้เขารู้ความจริงโดยทำข้อสอบอย่างถูกต้องได้ ตัวผมเองก็เคยเจอปัญหานี้ในการทำข้อสอบวิชา Civilization ของคณะอักษรศาสตร์มาแล้ว

ที่เขียนมาทั้งหลายนี้ใช่ว่าผมจะ pro พม่า ผมเคยเกลียดพม่า เคยไปเที่ยวเมืองเก่าอยุธยาพร้อมกับคิดถึงความโหดร้ายที่พม่าทำกับคนไทย (โดยหารู้ไม่ว่าความทรุดโทรมของอยุธยาไม่ได้เกิดจากการทำลายของพม่าซะทั้งหมด) เมื่อผมรู้ว่ามีบรรพบุรุษบางสายเป็นชาวมอญ ผมเริ่มศึกษามากขึ้น จากจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของอาณาจักรมอญ ความเคียดแค้นพม่าก็ยิ่งสะสมมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งเมื่อเข้าใจว่าโลกยุคก่อนเป็นโลกของ "ราชอาณาจักร" เป็นโลกของคนผู้มีอำนาจเพียงกลุ่มเล็กๆ ชาวบ้านธรรมดาถูกเกณฑ์ไปรบ ไปรุกรานรัฐเพื่อนบ้าน ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะมีความสุขหรอก ผมนึกไม่ออกว่าผมจะเกลียดพม่าต่อไปอีกทำไม ผมมีเพื่อนเป็นชาวพม่า ส่วนลึกของพวกเขานั้นเศร้าใจกับชะตากรรมของประเทศภายใต้รัฐบาลทหาร ผมเห็นใจเขา แต่ผมเป็นแค่คนไทยตัวเล็กๆคนเดียว การที่ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับเพื่อนบ้านคงอยู่ที่รัฐบาลซึ่งมาจากเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งถึงวันนี้แล้วนายกรัฐมนตรีประกาศอย่างชัดเจนว่าจะผูกมิตรกับรัฐบาลที่เป็นทางการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคงมีผลกระทบกับชนกลุ่มน้อยอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนลึกแล้วผมอยากเห็นโลกที่เป็นธรรม ชนชาติต่างๆได้มีโอกาสปกครองตนเอง รักษาวัฒนธรรมของตนเอง แต่ผมคงต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ ยุคที่คนกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวเป็นคนกำหนดความเป็นความตายของคนอื่น ถึงวันนี้แล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะตั้งเป็นคำถามไว้ในตอนจบคือ เมื่อมีปัญหากับพม่า คนกลุ่มหนึ่งจะบอกว่า
"บุกมันเลย ทำมันให้เหมือนกับที่มันเคยทำกับเราบ้าง"
คนเหล่านั้นเขาคิดเอาเอง หรือถูกปลูกฝัง?
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 20 มิ.ย. 01, 08:05

ประเด็นเหตุการณ์ปัจจุบันตามที่ตำราว่า ก็น่าพูดถึง แต่ขอให้ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ที่จริง ที่ว่ามาในกระทู้นี่ทั้งหมดก็ความเห็นส่วนตัวทั้งนั้นแหละ ไม่เกี่ยวกับงาน

ทั้งพม่า ทั้งไทย เป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยกัน ยอมรับนับถืออุดมคติตามหลักการของกฏบัตรสหประชาชาติและหลักมนุษยธรรมด้วยกัน ถ้าจะหาว่ากฏบัตรฯ เป็นของฝรั่ง (จริงหรือ?) แล้ว ผมพูดอีกอย่างก็ได้ว่า ไทยกับพม่าก็เป็นพุทธด้วยกัน ผู้ลี้ภัยที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น เขาต้องพบอะไรสักอย่างที่ผิดปกติหรือเป็นอันตรายในบ้านเขา เขาถึงหนีมา ตามหลักการ จะหลักพุทธหรือหลักสหประชาชาติก็ตาม ควรจะต้องพยายามช่วยเหลือเขาเท่าที่ทำได้ เราก็พยายามทำ ทำไม่ได้ 100% หรอกครับเพราะมีปัจจัยอย่างอื่นด้วย แต่เราก็พยายามช่วยเท่าที่ทำได้

UNHCR เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่คุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย เขาทำงานโดยมีอาณัติ หมายความว่า โดยได้รับมอบหมายอย่างถูกต้อง จากสหประชาชาติครับ และเท่าที่ผมทราบเขาก็อยากจะร่วมมือกับรัฐบาลย่างกุ้งอยู่ ช่วยกันแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลย่างกุ้งยอมร่วมมือกับเขาหรือยัง ไม่ได้ติดตามพัฒนาการล่าสุด

ที่ตำราว่าไทยได้ประโยชน์จากการแบกภาระรับคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นเหล่านี้ ผมว่าน่าขำครับ ผมเห็นเป็นส่วนตัวของผมเองว่า ถ้ารัฐบาลพม่าเขายอมร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกับเรา ยอมรับคนของเขากลับ เราก็คงยินดีส่งกลับละมั้ง คงไม่แบกรับภาระอยู่ยังงี้หรอก แต่ว่า คงจะต้องแน่ใจว่าไม่ได้เป็นการส่งเขากลับไปตาย จะมีการจัดที่ทางในสังคมพม่าให้นักศึกษาเหล่านี้เขากลับไปสู่สังคมของเขาได้โดยสมัครใจ อย่างปลอดภัย โดยที่ได้แสดงบทบาทของเขา มีส่วนร่วมในการร่วมสร้างสังคมพม่าที่สงบสุข สามัคคีกัน เป็นประชาธิปไตย และโปร่งใส ไหมล่ะครับ ? มีทางไหม ? ถ้ามีทาง คุณเอากลับไปได้เลย ...

ถ้ารัฐบาลพม่ายังไม่พร้อมที่จะรับนักศึกษาเหล่านี้กลับ (ไม่ใช่เอากลับไปขังคุกหรือไปยิงเป้านะ) ผมก็พอจะเข้าใจเหตุผลทางการเมืองพม่า และคงไม่ว่าอะไรหรอก แต่ถ้าจะยังไม่รับกลับ แต่แล้วยังมาต่อว่า ว่าไทยเราได้ผลประโยชน์จากการที่แบกภาระเลี้ยงดูเอาไว้นี่ ขอโทษเถิด พูดออกมาได้อย่างไรครับ

แล้วผมก็ยังสงสัย ว่าตำราประวัติศาสตร์ควรเป็นอย่างนี้หรือ มันใกล้เหตุการณ์ปัจจุบันไปหน่อยและจงใจมุ่งเป้าใส่ไทยเป็นการเฉพาะเกินไปหน่อย ผมไม่คิดว่ารัฐบาลพม่าเชื่อจริงๆ ว่า UNHCR เป็นศัตรู (หรือแม้แต่เชื่อว่าไทยปัจจุบันเป็นศัตรู) แต่ที่คนแต่งตำราสร้างภาพขึ้นมาให้เด็กนักเรียนพม่าเห็นไทยและ UN เป็นยักษ์มารที่สมคบกัน เดาประสาผมว่า จะได้ปกครองง่ายๆ เป็นผลเพื่อการเมืองภายในล่ะมากกว่า เพราะถ้า UNHCR คิดร้ายทำลายพม่าอย่างนั้นจริง หรือรัฐบาลพม่าเชื่อจริงเช่นนั้น พม่าคงจะลาออกจากสหประชาชาติไปแล้ว แต่ก็เห็นยังอยู่นี่ครับ เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อว่าเขาเห็น UNHCR เป็นศัตรู และดูที่เขาเตรียมรับท่านนายกฯ ทักษิณ ผมก็ไม่คิดว่ารัฐบาลพม่าผู้กำหนดนโยบาย เห็นไทยเป็นศัตรูจริงๆ เขาย่อมรู้เท่าๆ ที่ไทยรู้ ว่าเราต่างฝ่ายต่างย้ายประเทศหนีไปไหนไม่ได้ เราต้องคบกันอยู่ดี

อย่างนั้นแล้วคนแต่งตำราเขียนในเชิงยั่วยุอย่างนั้นทำไม? ผมเชื่อว่าเพื่อผลทางการเมืองภายในครับ และบางทีที่เขาปล่อยให้รั่วออกมาถึงไทย ทั้งทางบทความ นสพ. และที่เป็นบทเรียนในตำรา อาจเพื่อผลทางการเมืองทวิภาคี ลองเชิงเราหวังให้เราเสียกระบวนด้วยก็ได้

เอาละ ผมว่าของผมเองว่า เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว และจะจับเข่าคุยกันแล้ว ก็เลิกบลั๊ฟใส่กันทีเหอะ คุยกันอย่างคนโตๆ เป็นผู้ใหญ่กันแล้วด้วยกันเถอะน่า- -

ถ้าจะบอกว่า เรื่องนี้ผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว ก็ขอให้ผู้ใหญ่ทางโน้นจับเด็กทางโน้นมาดุมาเขกหัวเสียหน่อย ให้เลิกทำอะไรยังงี้ มันไม่ดี ... ไม่ได้ประโยชน์ขึ้นมาหรอก เชื่อผมเฮอะท่าน...

จะหน่อแช้เด ยูแช้แหม่ -
- ผมรักคุณแล้ว คุณรักผมไหม? เลิกเรียกร้องความสนใจทีเถอะน่า...
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 20 มิ.ย. 01, 08:43

ผมคิดว่าส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ คคหท. 26 หลายจุดครับ โดยเฉพาะที่ว่าคนไทยบางคนไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์พม่าหรือสภาพปัจจุบันพม่าดี และเอะอะอะไรก็จะบุกมันไว้ก่อน โดยไม่ศึกษาทำความเข้าใจ ว่ามันมีกี่พวกกันแน่ เป็นยังไง

ผมเห็นด้วยว่าคนพม่าและสังคมพม่านั้นน่าเห็นใจ แต่ประเด็นที่ผมว่ามาเป็นวรคเป็นเวรมานี่ มุ่งที่คนแต่งตำราทางการพม่าเดี๋ยวนี้เป็นสำคัญ ผมยังเห็นอยู่ดีว่าตำราเรียนพม่านี้จงใจบิดเบือน (แต่ถ้าจะว่าตำราไทยก็บิดเบือนด้วยหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) และไม่เป็นผลดีเลยต่อการทำความเข้าใจกันและกัน ประเด็นของผมอยู่เพียงว่า คนแต่งตำราพม่าต่อว่าเรา ว่าไทยเราปลูกฝังความรู้สึกเกลียดพม่า (ซึ่งอาจจริงหรือไม่ก็ได้ เป็นอีกเรื่อง - คุณ CraZyhorse อาจมีหลักฐานมาโต้ในประเด็นนี้ได้ว่าจริง แต่โดยส่วนตัวผม - ซึงก็ไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของนักเรียนไทยเฉลี่ยหรอก - ผมเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาแล้วก็โตขึ้นมามีเพื่อนเป็นพม่าได้เรียบร้อยดีนี่ครับ) ไม่ว่าอย่างไรก็ตามประเด็นนั้นยกไว้ ที่ผมพูดถึงก็คือ คนแต่งตำราพม่าที่ต่อว่าไทยเช่นนั้น ไม่ได้ทำตัวผิดไปจากคนที่เขาต่อว่าเลย และไม่ส่งเสริมความเข้าใจที่ดีเลยแม้แต่น้อย คือเป็นเสียเอง ซ้ำยังเป็นเสียเองหนักกว่า เพราะดูเหมือนเจตนายั่วยุเลยทีเดียว

ถ้าผมจะทะเลาะผมก็ทะเลาะกับคนแต่งตำรานั่นแหละครับ และผมคิดว่าผมพยายามจำกัดวงการทะเลาะหรือ "วิวาทะ" ไว้ในวงของประวัติศาสตร์ และการศึกษาประวัติศาสตร์ ผมไม่ได้ทะเลาะกับประชาชนชาวพม่าแน่ๆ และผมไม่อาจจะขึ้นไปทะเลาะกับรัฐบาลที่เป็นผู้บังคับบัญชาอยู่เหนือคนแต่งตำราขึ้นไปได้ด้วย เพราะเรื่องนั้นเป็นการดำเนินการระดับนโยบาย ในระดับรัฐบาล ผมต้องเคารพนโยบายของรัฐบาล คงคล้ายๆ ที่คุณ CraZyHorse ว่ามาแหละครับ

เอาละ เราเลิกพูดเรื่องประเทศเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง พูดกว้างๆ ดูแนวโน้มในประวัติศาสตร์ทั่วไปดีกว่า คุณ CrazyHorse เชื่อ ศรัทธา หรือมีความหวังเหมือนผมไหมครับว่า ในที่สุดแล้ว ในระยะยาว ระบอบใดๆ ที่ประชาชนไม่ยอมรับ จะอยู่ค้ำฟ้าไปไม่ได้ตลอดกาลหรอกครับ มันต้องวิวัฒนาการคลี่คลายเปลี่ยนไปจนได้ ดูประเทศหลังม่านเหล็กทั้งหลาย  ดูแอฟริกาใต้ ดูฟิลิปปินส์ หรือไม่ต้องดูไหนไกล ดูเมืองไทยเราก็ได้ ก็คลี่คลายพัฒนามาตั้งไกลแล้วจากสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จริงไหมครับ แต่ในระยะสั้นระยะกลาง เราจะตั้งท่าของเราอย่างไรเท่านั้น
บันทึกการเข้า
นกข. (ผู้หลงรัก "ดวงจันทร์" )
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 20 มิ.ย. 01, 08:57

แต่ว่ากันตามทฤษฎีประชาธิปไตยแท้ๆ ในทางทฤษฎี ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กขนาดไหนก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้นี่ครับ นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลก็เป็นนโยบายสาธารณะอันหนึ่งนี่ คนไทยทุกคนมีสิทธิวิจารณ์ได้ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง อย่างน้อยเอาไปประกอบการพิจารณาจากเสียงคนอื่นๆ ในสังคม
ผมอยากให้คุณ CrazyHorse แสดงความคิดเห็นต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 19 คำสั่ง