เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 16083 เปิด'ตำราเรียน'พม่า จวกไทย'คลั่งชาติ'
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 25 มิ.ย. 01, 06:17

อยากให้เข้าไปอ่านกัน
ตามที่มติชนนำมาลง

http://www.matichon.co.th/matichon/'
target='_blank'>http://www.matichon.co.th/matichon/
/>
....".'มติชน'เปิดตำราประวัติศาสตร์พม่าละเอียดยิบ
เล่าปมทำสงครามรบพุ่งกันมาตั้งแต่สมัยกำเนิดอาณาจักรอยุธยา
โต้กษัตริย์พม่าไม่ได้ฆ่า'พระสุพรรณกัลยา'
ระบุพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์เพราะถูกยิง ไม่ใช่ทำยุทธหัตถี จวก'จอมพล
ป.'ปลุกกระแสชาตินิยม ให้คนไทยเกลียดชังพม่า"


/>
ขอลงรายละเอียดบางส่วนค่ะ


/>
'มติชน'เปิดตำราพม่าโจมตีไทย



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
หลังจากมีกระแสปรากฏข่าวว่า ทางการพม่าได้ทำตำราเรียนใหม่
ตีพิมพ์ข้อความที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับประเทศไทยและประชาชนไทยในหลายประเด็น
"มติชน" ได้ติดตามค้นหาตำราดังกล่าวจนพบ และมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง
จึงแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย



ตำราดังกล่าวมี 5 บท
กล่าวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
มีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างมาก โดยในบทที่ 1 กล่าวถึงการกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา
ซึ่งไทยตั้งชื่อนี้มีความหมายว่า เมืองที่ไม่สามารถโจมตีได้ แต่พม่าเรียกว่า
"ยุธยา"หรือ "โยธยา" เพื่อให้มีความหมายตรงกันข้าม



"คนโยธยา
รักการใช้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ใส่ใจในการทุ่มเททำงานหนักมากนัก
และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง พวกเขาปฏิบัติต่อ นักล่าอาณานิคมตะวันตก
อย่างผสมกลมกลืนแทนที่จะต่อสู้ขับไล่คนพวกนี้" ตำราระบุ และ
ยังโจมตีพระมหากษัตริย์ไทยต่อนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษต่อชาวต่างชาติและมหาอำนาจ
รวมทั้งโจมตีด้วยว่านโยบายของไทยเป็นนโยบายลู่ตามลม
/>
......................ฯลฯ


/>
อ่านจบแล้วขอเชิญออกความเห็น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 14:30

โหลดเว็บนี้จากมติชนค่อนข้างยาก  ใช้เวลานาน  เลยcopy มาให้อ่านกันที่นี่ค่ะ

ชูกษัตริย์หม่อง-อ้างเหตุเผากรุงศรีฯ

ขณะเดียวกันตำราพม่า ยังเชิดชูวีรกรรมของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ของพม่าว่า เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมพระราชอำนาจ ได้ขับไล่โยธยาที่มารุกรานเมืองทวายในดินแดนของพม่า และบุกโจมตีอาณาจักรอยุธยา มีการทำศึกยืดเยื้อ โดยฝ่ายไทยมีกองทัพโปรตุเกสหนุน สุดท้ายพม่าจับตัวราชวงศ์ไทยไปเป็นตัวประกัน จนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมมอบภาษีอากรในอาณาเขตตะนาวศรี,ช้างศึก 30 เชือก และ เงินหนัก 300 วิเศษ (มาตราชั่งของพม่า) เป็นเครื่องตอบแทนประจำทุกปีแลกกับตัวประกัน และจากนั้นมา "โยธยา" ก็เป็นอาณาจักรภายใต้อำนาจแห่งพม่าซึ่งต้องถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งมาถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองก็สามารถยึดโยธยาเป็นเมืองขึ้น

ในบทต่อๆ มา ตำราพม่าก็กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่ดำเนินไปภายใต้ภาวะสงครามที่มีการรบพุ่งต่อกัน แต่ตำราระบุว่าไม่ใช่เกิดจากการรุกรานของพม่า อย่างไรก็ตาม ตำราดังกล่าวได้ระบุถึงการเสียกรุงครั้งที่ 2 ของไทยว่า ตรงกับสมัยพระเจ้ามังระ กองทัพพม่าล้อมพระนครไว้นาน 14 เดือน ในที่สุดทหารพม่าขุดอุโมงค์ลอดเข้าไปเพื่อสุมไฟเผาป้อมค่ายของอยุธยา โครงไม้ของป้อมค่ายถูกเผาจนกำแพงป้อมค่ายทลายลง มีเพียงครั้งนี้เท่านั้น ที่ทหารพม่าบุกเข้าโจมตีอยุธยา ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นเมื่อปี 1767

"ระหว่างการโจมตีอยุธยา กองทัพจีนยกกำลังเข้าสู่พม่า พม่าไม่ต้องการทำศึก 2 ด้านในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจึงทำลายพระนครอยุธยาเสียจนหมดสิ้น" ตำราระบุ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 14:31

โต้'นันทะบุเรง'ไม่ได้ฆ่าสุพรรณฯ



ตำราระบุอีกตอนหนึ่งว่า สมัยที่พระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์โยธยา มีพระราชธิดานาม สุพรรณกัลยา ฝ่ายโยธยา กล่าวหาว่า พระสุพรรณกัลยา พระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ถูกถวายตัวกับพระเจ้าบุเรงนอง ถูกปลงพระชนม์โดยพระเจ้านันทะ (นันทะบุเรง) โดยการใช้ดาบฟัน ในความเป็นจริง พระเจ้านันทะ ไม่ได้ปลงพระชนม์พระสุพรรณกัลยา แต่เป็นเรื่องที่โยธยาแต่งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า พม่าเป็นคนใจอำมหิต โหดร้ายและชั่วร้าย



นอกจากนี้กรณีศึกยุทธหัตถี ระหว่างพระมหาอุปราชากับสมเด็จพระนเรศวรนั้น แท้จริงแล้ว ระหว่างการศึก พระมหาอุปราช ต้องพระแสงปืนจากพลปืนฝ่ายโยธยาสิ้นพระชนม์ชีพ แต่โยธยา ยึดถือพระนเรศวร เป็นวีรบุรุษ มีการประพันธ์แสดงออกในนวนิยาย เรื่องเล่า ภาพยนตร์ และภาพจิตกรรมต่างๆ และยังยึดถือให้วันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันแห่งกองทัพโยธยา เพื่อเป็นการยกย่องศึกดังกล่าว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 14:33

"ฝ่ายโยธยาได้ปลุกเร้าความเกลียดชังต่อพม่าอย่างเป็นระบบ ประชาชนเติบใหญ่ขึ้นในยุคสมัยนั้นพากันเกลียดชังพม่า และความเกลียดชังดังกล่าวฝังรากลึกในหมู่ประชาชนโยธยา"



จวก'จอมพล ป.'ปลุกกระแส



ตำราระบุอีกว่า ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีของไทยคือ พิบูน สงคราม (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม) ชื่อของประเทศถูกเปลี่ยนจากสยาม เป็นประเทศไทย ความพยายามของไทยที่จะก่อตั้งอาณาจักรไทยที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นระหว่างปี 1940-1941 แต่ล้มเหลว อย่างไรก็ตามโยธยาจะยังคงพยายามดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป



"จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้พยายามส่งเสริมความรักชาติในลักษณะเดียวกับเผด็จการสุดโต่ง ดังนั้น พม่าในฐานะศัตรูในประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทย มีการดำเนินการเพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังต่อพม่าขึ้น พิบูน (จอมพล ป.) ได้เขียนประวัติศาสตร์สงครามระหว่างพม่า-โยธยา ซึ่งยุยงส่งเสริมให้มองพม่าเหมือนกับโจรปล้นสะดมที่หยาบคายและอำมหิต ในหนังสือตำราของนักเรียนในโรงเรียน สอนไว้ว่าพม่าจะรุกรานไทยเสมอทุกครั้งที่ไทยอ่อนแอ และพระนครอยุธยาถูกทำลายเสียหายโดยพระเจ้าเซงพยูเชง(พระเจ้ามังระ) เขา(จอมพล ป.)ทำให้คนไทยเกลียดชังพม่า"



แฉไทยหนุนผู้ก่อการร้ายชายแดน



ตำรายังกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไทยได้ให้การรับรองผู้ก่อการร้ายของพม่าตามแนวชายแดน เพื่อใช้คนเหล่านี้เป็นกันชนระหว่างไทยกับพม่า มีการรับรองทหารจีนก๊กมินตั๋ง ที่ต่อมากองกำลังนี้ให้การช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายในรัฐฉานหลายกลุ่ม สร้างความปั่นป่วนขึ้นในพม่า นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาชาวพม่าจำนวนมากได้เข้าร่วมกับผู้ก่อการร้ายตามแนวชายแดนไทยพม่า และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศไทย ดังนั้น กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ จึงสามารถกลายเป็น แนวร่วมนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยทั่วพม่า (เอบีเอสดีเอฟ) อยู่จนกระทั่งบัดนี้



"ในปี 1990 กองทัพพม่า ได้เปิดยุทธการเชิงรุกหลายครั้งตามแนวชายแดน ผู้ก่อการร้ายและครอบครัวหลบหนีเข้ามายังดินแดนไทยและได้รับการยอมรับให้พำนักอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย อยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัย ปัจจุบันนี้มีค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ในดินแดนไทยรวมแล้ว 31 ค่ายภายใต้การสนับสนุนของ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) และ เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ของประเทศตะวันตก ไทยได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวนี้ โดยใช้เงินช่วยเหลือดังกล่าวเพื่อจัดหาอาหารให้กับผู้ลี้ภัย" ตำราระบุ และว่า พม่าจำเป็นต้องปราบปรามผู้ก่อการรายเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจพัฒนาประเทศของตนได้



ปล้นทรัพยากร-ค้ายาเสพติด



ในตอนท้ายของตำรายังกล่าวถึง การที่ไทยเข้าไปรุกน่านน้ำพม่า เพื่อลักลอบกอบโกยทรัพยากรทางน้ำ การเข้าไปหาผลประโยชน์จากการทำไม้ อัญมณี วัวควาย อย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการซื้อไม้จากผู้ก่อการร้าย ที่ประเทศไทยให้การสนับสนุน ไม้มีค่าเหล่านี้ถูกซื้อไปเป็นจำนวนหลายล้านตันในราคาถูก ทำให้ป่าไม้พม่าหมดสิ้นลงในขณะที่ทางการพม่าก็สูญเสียภาษีที่ควรได้ไป



ส่วนยาเสพติด กองกำลังจีนก๊กมินตั๋งเข้ามาปลูกฝิ่นผิดกฎหมายในพม่า เมื่อพม่ายื่นประท้วงไปยังองค์การสหประชาชาติ ก๊กมินตั๋งก็ล่าถอยออกไปจากชายแดนไทยพม่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้กองกำลังจีนก๊กมินตั๋งพำนักอยู่ในดินแดนของตนเอง พวกนี้จึงสามารถจัดสร้างโรงงานผลิตเฮโรอีนขึ้นได้



ตำราระบุว่า หลังจากปี 1980 ยากระตุ้นประสาท ระบาดจากประเทศตะวันตกมาถึงประเทศไทย และขยายตัวแพร่หลาย การค้ายากระตุ้นดังกล่าวระบาดมาถึงแนวชายแดนพม่า ยาเม็ดกระตุ้นประสาทดังกล่าวนี้ถูกผลิตและจำหน่ายโดยนักการเมืองของไทย และนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับคนเหล่านั้น ธุรกิจการค้ายาเสพติดส่วนใหญ่แล้วกระทำการโดยคนไทยและจัดจำหน่ายออกไปทั่วโลกโดยประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากการนี้



"เนื่องจากยาเสพติดเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้าย ตราบเท่าที่ไทยยังให้การรับรองและให้ความช่วยเหลือกับบรรดาผู้ก่อการร้าย ปัญหายาเสพติดจะยังคงอยู่ต่อไป" ตำราระบุในที่สุด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 14:35

'ทักษิณ'ไม่สนคำขู่ต้อนรับไม่อบอุ่น



เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สื่อพม่าระบุว่า การเดินทางไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยในวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ จะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีว่า ไม่เป็นไร ตนไม่ได้สนใจรูปแบบ แต่สนใจสาระที่จะคุยกัน ที่สำคัญคือปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการแก้ไขให้ได้ ซึ่งเท่าที่ส่วนล่างหน้ารายงานมาก็ทราบว่าได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลพม่าเป็นอย่างดี ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการร่างข้อตกลงล่วงหน้าไว้แล้วหลายเรื่อง เช่น ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น คิดว่า เมื่อตนไปแล้วความสัมพันธ์ต่างๆ น่าจะดีขึ้น"



ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดมีข่าวที่ไม่ค่อยดีออกมาในช่วงที่กำลังจะเดินทางไปเยือนพม่า พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะยังไม่เข้าใจกัน และยังไม่ได้เริ่มที่จะแก้ไขปัญหาอะไร แต่เมื่อมีการแก้ไขปัญหาแล้ว ความไม่เข้าต่างๆ จะหายไปเอง" เมื่อถามว่า มีมือที่สามอยู่เบื้องหลังในการปล่อยข่าวต่างๆ หรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น ที่จริงความไม่เข้าใจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะต่างฝ่ายต่างมีจินตนาการ ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นที่ชัดเจนหรือยังว่า พม่าจะเปิดด้านท่าขี้เหล็กต้อนรับการเดินทางไปเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คิดว่าเรื่องเปิดด่านไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะเป็นเรื่องเล็ก ยังมีเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่านี้มาก



'กอบศักดิ์'ชี้ไปพม่าทิ้งไพ่ใบสุดท้าย



นายกอบศักดิ์ ชุติกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า การเดินทางเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรี ในสภาวะที่ทั้งสองประเทศมีความตึงเครียดระหว่างกัน ในเชิงการทูตถือเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย โดยมีผลประโยชน์ของประเทศเป็นเดิมพัน ในฐานะคนไทยก็อยากเอาใจช่วย ให้การเดินทางครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ และมั่นใจว่าอย่างน้อยที่สุด การเดินทางเยือนครั้งนี้ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และความระแวงสงสัยที่มีต่อกัน แต่ในเมื่อเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ก็ต้องทำให้คุ้มค่ากับประเทศในระยะยาว มากกว่าการสร้างบรรยากาศที่ดีในระยะสั้นเท่านั้น เพราะการลงนามความตกลงต่างๆ ที่จะเซ็นร่วมกัน ที่ผ่านมาก็ลงนามกันหลายฉบับแล้ว ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การคมนาคม แต่เมื่อขาดการปฏิบัติและความจริงใจต่อกัน ความตกลงทั้งหมดก็เป็นเพียงเศษกระดาษ เช่นเดียวกับการเปิดจุดผ่านแดน ซึ่งเปิดได้ก็ปิดได้ทุกเมื่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 14:37

แนะส่งคนไปพบ'ออง ซาน ซูจี'ด้วย



นายกอบศักดิ์กล่าวว่า รากฐานปัญหาระหว่างไทย-พม่า มีสองประการ คือ 1.การสู้รบภายในพม่ากับชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อชายแดนไทย 2.เรื่องทรรศนะและความระแวงสงสัย ของผู้นำพม่าที่มีต่อไทย ซึ่งต้องระวังไม่ให้ทัศนคติที่ไม่ดี แผ่ขยายเป็นความรู้สึกของประชาชนพม่าโดยทั่วไป ทางแก้ในระยะยาว ต้องสนับสนุนให้เกิดความปรองดองแห่งชาติภายในประเทศพม่า ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปได้ รวมทั้งเรื่องสัมพันธ์ไทย-พม่าด้วย เรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม หรือมองเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาระยะยาวได้รับผลกระทบ



"การเยือนพม่าครั้งนี้ ควรติดต่อทาบทามขอพบนางออง ซาน ซูจี โดยอาจมอบหมายรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งไปพบ เป็นการแสดงออกที่ไม่ให้ชาวพม่าไม่พอใจไทย และเป็นการปูพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาระยะยาว และการสร้างความปรองดองในชาติของพม่าเอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนทุกประเทศ ที่ไปเยือนพม่าก็ทำเช่นกัน ไม่ว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย" นายกอบศักดิ์กล่าว



วางเป้าให้ยุติความเกลียดชังต่อกัน



รายงานข่าวเปิดเผยว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ การเจรจาจะมุ่งเน้นให้ยุติปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างทหารของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงความพยายามจะยุติการกระทำอันก่อให้เกิดความเกลียดชังของประชาชน เป็นที่น่าสังเกตว่า การเจรจาครั้งนี้ฝ่ายไทยยอมโอนอ่อนตามความต้องการของพม่าเป็นส่วนใหญ่ ขอเพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ



นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้กำชับคณะที่จะเดินทางไปเยือนพม่าว่า ในการหารือในขั้นต่างๆ ไม่ควรนำเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสัมปทานภาคเอกชนของไทยในพม่า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบในการเจรจาต่อรองเรื่องอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาพม่าเข้าใจว่าไทยห่วงผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพยากรธรรมชาติของพม่ามากกว่ามุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การเดินทางไปของนายกฯ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้พม่ายอมเปิดจุดผ่านแดนทุกจุด และให้ยกเลิกการกำหนดสินค้าต้องห้ามจากฝ่ายไทย 15 รายการ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 14:38

เผย'บัวแก้ว'ห่วง'จิ๋ว'ทำเสียแผน



อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศพยายามยับยั้งการเดินทางไปเยือนของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่ต้องการให้เจรจาออกจากกรอบที่วางไว้



สำหรับประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ไทยเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา คือเรื่องของยาเสพติด พ.ต.ท.ทักษิณจะมีการขอให้พม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งขอให้พม่าเห็นชอบและเข้าร่วมในการปราบปรามยาเสพติด 4 ฝ่าย คือ ไทย พม่า จีน และลาว โดยในอนาคตจะมีการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศ
บันทึกการเข้า
วรณัย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 23:23

ขอบคุณคุณพี่ เทาชมพูที่กรุณายกข้อความมาให้อ่าน
นาน ๆ ที "คนไทย"จะได้ใช้กระจกมองรูปหน้าของตัวเองซะบ้าง
ถึงแม้ว่า"กระจก"ด้านตะวันตกนั้น จะถูกสร้างขึ้นอย่างบิดเบี้ยวบ้าง ไม่สะท้อนสะเทือนบ้าง แต่ก็คงจะทำให้"เห็น"
แล้วทำให้"คิด"ต่อ
กันอีกมากมายเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
โมโน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 มิ.ย. 01, 23:37

ผมว่ามุมมองประวัติศาสตร์ของพม่า เท่าที่อ่านคร่าวๆจากหนังสือพิมพ์ มีมุมมองที่น่าสนใจนะครับ ฟังดูมีความเป็นประวัติศาสตร์ และ วิชาการ มากกว่าแบบเรียนไทย ที่มุ่งสร้างความเป็นชาตินิยม (ตามอิทธิพลลัทธิชาตินิยม ยุค จอมพล ป.) จนบางครั้งดูเหมือนนิทานมากกว่า และ ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง รับความคิดเห็นของเพื่อนบ้าน ที่มองมาที่เรา อาจได้แง่คิดที่จะมาปรับปรุงประเทศเราให้ดีขึ้น มากกว่าที่จะมาตั้งป้อมหาว่าเขาบิดเบือน (ผมว่าแบบเรียนเราบิดเบือนมากกว่า)
อีกอย่างหนึ่ง ผมมีความเห็นว่าคนไทยในสมัยก่อนยุคชาตินิยม ไม่ได้จงเกลียดจงชังพม่ามากนะครับ สังเกตุจากวรรณคดีเรื่องลิลิตเตลงพ่าย องค์ผู้นิพนธ์มิได้กล่าวถึงฝ่ายพม่าในแง่เป็นผู้ร้ายหรือชั่วร้ายแต่อย่างไรเลย กลับมองเสมือนเป็นคู่ต่อสู้ที่มีความคู่ควรกัน ตรงกันข้าม กลับมีแสดงความเคียดแค้น ต่อฝ่ายเขมรมากกว่า ถึงขั้นฝ่ายไทยตั้งใจจะยกทัพไปตี เพื่อเอาโลหิตของเจ้าเมืองกัมพูชามาล้างเท้า
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 00:11

เรื่องนี้ซับซ้อนครับ
ผมเคยได้ยินนักประวัติศาสตร์บางสำนักบอกว่า พม่าถูกสร้างภาพ โดยรัฐไทยบางสมัย ให้เป็นศัตรูของไทยเพื่อผลทางการเมืองภายใน เคยได้ยินมาอย่างนั้นจริงและ จอมพล ป. และคณะอาจจะสร้างกระแสชาตินิยมจริง แต่ไม่ได้สร้างจากสูญญากาศ แต่มีอะไรอยู่เป็นเชื้อเป็นเค้าอยู่

อีกประการ การที่พม่าสมัยนี้ลุกขึ้นมาสร้างภาพไทยเช่นนั้น ไม่ได้แปลว่าพม่าเองจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นพระอรหันต์ และสิ่งที่พม่าเขียนในแบบเรียนของพม่า ต้องถูกต้องไร้อคติเสมอ เราอ่านบทเรียนพม่าได้ ตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยบทเรียนไทยแต่เดิมก็ได้ แต่ก็ควรจะตั้งข้อสงสัยบทเรียนพม่าได้เช่นกัน ถ้าเราจะบอกว่านักการเมืองไทยในอดีตมีพฤติกรรมกำหนดบทเรียนประวัติศาสตร์ฉันใด เราจะรู้อย่างไรว่านักการเมืองพม่าเดี๋ยวนี้จะไม่มีพฤติกรรมฉันนั้นน่ะแหละเหมือนกัน

ไหนไหนเราก็พูดกันถึงประวัติศาสตร์ และจอมพล ป. ผมจำประวัติศาสตร์ยุคใกล้ได้ลางๆ ว่า จอมพล ป. นั้นท่านเป็นนายกหลายสมัยนะครับ สมัยเชื่อผู้นำนั้นก็รอบหนึ่ง ตกกระป๋องไปแล้วท่านก็กลับมาเป็นนายกใหม่ได้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วดูเหมือนจะสมัยหลังนี่แหละ ที่อูนุนายกรัฐมนตรีพม่าสมัยนั้นมาเยือนไทย แล้วก็ไปอยุธยาด้วย ใครมีรายงานข่าวสมัยนั้นลองค้นๆ ดูก็ได้ ไม่แน่ใจว่าอูนุขอโทษไทยด้วยหรือไม่ แต่ใช้คำทำนองว่า รับรู้ถึงการที่พม่าเข้ามาทำลายกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งก็เป็นธรรมดาของสงคราม ) แล้วนายก 2 ประเทศก็เข้าไปกราบพระพุทธรูป (ดูเหมือนที่วัดพนัญเชิงหรือที่ไหนไม่แน่) ด้วยกัน เป็นกันว่าลืมเรื่องเก่าเสีย มองไปข้างหน้าด้วยกัน... เป็นพุทธด้วยกันแล้วก็เป็นเพื่อนบ้านกันนี่นา

แต่การเมืองพม่านั้นซับซ้อนมาก หลังจากการที่อูนุไปเยือนอยุธยาแล้ว ซึ่งถ้าพม่าถือตามเจตนารมณ์ท่านอูนุ ก็ไม่ควรจะมีบทความหนังสือพิมพ์และตำราเรียนพม่ากระทบไทยในลักษณะที่เพิ่งมีเร็วๆ นี้ แต่ท่านอูนุก็อยู่ในอำนาจไม่ได้ตลอด ถูกท่านนายพลเนวิน บรรพบุรุษของ SPDC หรือกลุ่มทหารที่มีอำนาจในขณะนี้แหละครับทำปฏิวัติ นักประวัติศาสตร์ของทางการ SPDC ยังจำท่านอูนุได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าว่าแต่ท่านอูนุเลย ท่านอูอองซาน หัวหน้าขบวนการ "โบพะม่า"บิดาแห่งประชาชาติพม่ายุคใหม่ ผู้นำในการกู้อิสรภาพพม่าจากการยึดครองของอังกฤษ นักประวัติศาสตร์สาย SPDC ก็ไม่ทราบว่าจะจำได้แค่ไหน หรือ (กล้า) พูดถึงไว้ในตำราเรียนของตนแค่ไหน ผมก็อยากดูเหมือนกัน วีรกรรมของท่านอูอองซานนั้นมีจริงแน่ในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อลูกสาวท่านอูอองซานกลายเป็นนางอองซานซูจีอย่างนี้ ผมก็อยากจะเดาว่าครูสอนประวัติศาสตร์พม่าในพม่าคงสอนประวัติวีรกรรมของท่านอูอองซานได้ไม่ค่อยเต็มเสียงนักหรอกในเมืองพม่าสมัยนี้

เรื่องการชำระประวัติศาสตร์โดยใช้แหล่งหลักฐานที่แตกต่างกันหลายๆ แหล่ง เพื่อความเข้าใจประวัติศาสตร์จากหลายๆ มุม เป็นเรื่องดีครับ แต่การใช้ประวัติศาสตร์อย่างบิดเบือนเพื่อรับใช้การเมือง ไม่เป็นผลดีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ใครหน้าไหนทำอย่างนั้นก็ถือได้ว่าทำผิดต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นไทย หรือฝรั่ง หรือพม่าก็ตาม
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 00:23

แต่บทความของพม่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนะคะ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาเขียนเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายที่หนีมาจากประเทศของเขา รู้สึกเขาเขียนประมาณว่าอะไรที่ไม่ได้ดังใจเขาเป็นไม่ดีและเลวร้ายไปหมด ก็โถ จะให้เราฆ่าทุกคนที่หนีมาจากทางเขาเข้ามาประเทศเราหรือคะ ทำไม่ได้หรอกค่ะ  ดูเอาเถอะค่ะ แค่เหตุการณ์ในยุคเรายังเขียนทะแม่งๆเลย ผสมความคิดของผู้เขียนเข้าไปในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกลืนจริงๆ
 แล้วเหตุการณ์เมื่อหลายร้อยปีก่อนจะเชื่อได้แค่ไหนคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 00:32

ถ้าเชื่อมติชน ในตำราพม่าเองก็รับไว้เองด้วยซ้ำว่ากองทัพพม่า "ทำลายกรุงศรีอยุธยาจนหมดสิ้น"  แล้วพม่าเองจะไม่เข้าใจคนไทยบางคนที่ยังโกรธพม่าหรือ? มันเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีจอมพล ป. เป็นผู้ร้ายก็ได้ ตั้งแต่ครั้งสมัยท่านสุนทรภู่ท่านก็สะท้อนใจตอนเห็นกรุงเก่าแล้วว่า "กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้..." สุนทรภู่คงไม่ได้อ่านตำราเรียนที่เขียนสมัยจอมพล ป. เป็นแน่

แต่ธรรมชาติของคนที่จำประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองได้นั้น ไม่จำเป็นต้องคิดครุ่นคุมแค้นอยู่ตลอดกาล ถ้าสามารถทำให้รู้สึกว่าอนาคตของเราเป็นอาคตร่วมกัน ควรมองไปข้างหน้าร่วมกัน ก็อาจจะร่วมมือกันได้โดยที่ไม่ต้องลืมประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่าย อย่างเยอรมันกับฝรั่งเศส หรือฝรังเศสกับอังกฤษเดี๋ยวนี้
 
พม่ากล่าวหาว่าไทยคลั่งชาตินิยมและเขียนตำราให้คนไทยคงความเกลียดชังพม่าไว้ แต่วิธีเขียนตำราของพม่าเองนั่นก็ไม่ได้มีลักษณะที่จะเอื้อให้เกิดความเข้าใจดีระหว่างประเทศทั้งสองสักเท่าไหร่เลยนี่นา วิธีเขียนบทความหนังสือพิมพ์พม่าก็เหมือนกัน

เรากำลังทิ้งไพ่ใบสุดท้าย คือต้องพูดกันให้รู้เรื่องให้ได้ จะต้องใช้ระดับนายกรัฐมนตรีก็เอามิฉะนั้นก็จะเสียด้วยกันทั้งสองข้าง เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ย้ายประเทศหนีจากกันไปไหนไม่ได้ แต่การจะพูดกันให้รู้เรื่องนั้น จำเป็นต้องมีความต้องการจะพูดให้รู้เรื่องทั้ง 2 ข้างด้วย ข้างใดข้างหนึ่งอยากคุยกัน แต่อีกข้างรวน ก็พูดไม่รู้เรื่องหรอกครับ ตบมือข้างเดียวไม่ดัง...

ผมขอให้ภารกิจของท่านนายกฯ ทักษิณประสบความสำเร็จครับ
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 00:40

แหม คุณ นกข พูดได้ดีค่ะ
บันทึกการเข้า
ภาธร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 06:49

คิดอย่างที่คุณนกข.เขียน แค่ไม่สามรถเขียนอย่างที่ใจคิด  ชอบที่คุณเขียนมากโดนใจจริงๆ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 มิ.ย. 01, 07:54

ประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นอย่างบิดเบือน ถึงแม้ว่าจะเชื่อถือตามเนื้อหาไปทั้งหมดไม่ได้ แต่ถ้าพินิจพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และวิธีคิดของผู้เขียนให้ดีก็จะทำให้เข้าใจเขาได้มากขึ้น
ประวัติศาสตร์เองถูกใช้เพื่อรับใช้การเมืองมานานแล้ว ถ้าไม่พิจารณาของความบิดเบือนฝั่งไทยแล้ว ของฝั่งพม่าเองก็น่าสนใจ
ผมอ่านพบบ่อยใน webboard ทัศนคติและความรู้ของคนไทยเกี่ยวกับเพื่อนบ้านของเรานั้นแย่เอามากๆ พม่าเองที่ถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น สื่อปลุกความเคียดแค้นโดยไม่ได้สนใจว่าปัจจัยของปัญหาเหล่านั้นคืออะไร
ประเด็นสำคัญคือพม่าเองประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน การรวมกันนั้นในอดีตถูกบังคับไว้ด้วยอำนาจของรัฐที่กล้าแข็ง ซึ่งในช่วงประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคยนั้นก็คือชาวพม่า จนถึงยุคจักรวรรดินิยม เมื่อพม่าเจ้าแผ่นดินในเวลานั้นพ่ายแพ้แก่อังกฤษ การรวมกันก็เป็นการรวมภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนถึงเมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ การจัดตั้งประเทศก็อยู่ในรูปแบบของสหภาพพม่า โดยมีเงื่อนไขว่าจะค่อยๆแบ่งแยกอำนาจให้แต่ละรัฐชาติได้ปกครองตัวเอง การมาของนายพลเนวินซึ่งผูกพันกันจนมาถึงรัฐบาลทหารในปัจจุบันทำให้ข้อตกลงนี้ถูกละทิ้งไปโดยปริยาย รัฐชาติที่มีโอกาสสะสมกำลังก็จับอาวุธลุกขึ้นสู้ ทุนที่ใช้ก็คงจะมองเห็นกันอยู่ว่าจะมาจากทางไหนได้บ้าง ในเรื่องนี้มุมมองอาจจะเห็นว่า รัฐบาลทหารเป็นตัวร้ายที่ไม่ยอมให้เอกราชแก่ชนกลุ่มน้อย(ที่มีคนไม่น้อยเลย) แต่ถ้ามองอย่างยุติธรรม ไทยเราเองก็ไม่อยากให้เกิดการแยกตัวของสี่จังหวัดภาคใต้ไม่ใช่หรือ
เรื่องนี้กลับมาเป็นเรื่องแนวคิดทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งก็คงไม่มีผิดไม่มีถูก ถ้ามองฝั่งรัฐชาน(ไทยใหญ่)บ้าง เขาจะว่าเราเป็นคนไทด้วยกัน แต่ถ้ามองกลับไปในประวัติศาสตร์ ไทยใหญ่ใกล้ชิดกับพม่ามากกว่าสยามอย่างเห็นได้ชัด นี่ก็การเมืองอีก
ทั้งหมดนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นแค่ว่า มุมมองที่แตกต่างนั้น หลายๆครั้งเป็นความจงใจที่จะมองให้แตกต่างเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ ถ้าเรามองอย่างเป็นธรรม ตัดอคติออกไปได้ การแก้ปัญหาจะตรงประเด็นมากขึ้นครับ
ในเรื่องการแก้ปัญหาของท่านนายก เชื่อว่า staff ก็คงได้เตรียมข้อมูลไว้พร้อมอยู่แล้ว ที่เหลือก็คงจะเป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง ทางเลือกของเราคงมีอยู่ 3 ทางคือ หนุนรัฐบาลพม่า หนุนชนกลุ่มน้อย และวางตัวเป็นกลาง (ไม่รวมถึงวิธีใต้ดินแบบอื่นๆ) รัฐบาลที่ผ่านๆมานั้นเลือกการวางตัวเป็นกลาง ก็ได้แต่หวังว่าการไปเยือนครั้งนี้ การตัดสินใจที่ใช้จะเป็นผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อผลทางการเมืองในประเทศครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง