เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 14 15 [16]
  พิมพ์  
อ่าน: 49736 ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 225  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 11:37


พระเจ้าบรมโกศ

พระเจ้าบรมโกศ ทรงเป็นบุคคลที่เข้าพระทัยในจุดอ่อนของกฎการสืบราชสมบัติเป็นอย่างดี
เป็นผู้มองการไกลเตรียมการเพื่อรับมือกับความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจได้ทันการ

ทรงประสูตร ในปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 เป็นบุตรชายคนที่สองของออกหลวงสรศักดิ์ บุตรพระเพทราชา

ก่อนหน้านั้นการสืบราชสมบัติไม่เป็นไปตามกฎทั้งสิ้น

ครั้งที่ 1 พ.ศ. ๒๑๕๔ พระเจ้าทรงธรรม (อายุ 19 ปี พระพิมลธรรม ราชาคณะ) ทำรัฐประหาร พระศรีเสาวภาคย์
ครั้งที่ 2 พ.ศ. ๒๒๗๑ พระเจ้าทรงธรรมมอบสมบัติให้พระเชษฐา พระโอรส  พระศรีศิลป์(พระอุปราช/พระอนุชา) ออกผนวช
ครั้งที่ 3 พ.ศ. ๒๒๗๓ ออกญากลาโหม (อายุ 35 ปี) ทำรัฐประหาร ตั้งพระอาทิตย์วงศ์ เป็นหุ่นเชิด
ครั้งที่ 4 พ.ศ. ๒๒๗๓ ออกญากลาโหม ปลดพระอาทิตย์วงศ์ ครองราชเป็น พระเจ้าปราสาททอง
ครั้งที่ 5 พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระโอรสขึ้นครองราช  พระศรีสุธรรมราชา(พระอนุชา/พระอุปราช) แข็งข้อ
ครั้งที่ 6 พ.ศ. ๒๑๙๙ พระศรีสุธรรมราชา ร่วมกับพระนารายณ์ ทำรัฐประหาร
ครั้งที่ 7 พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (อายุ 25 ปี) ทำรัฐประหาร สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีจลาจล

ครั้งที่ 8 พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชา (อายุ 56 ปี) ยึดอำนาจ
                          หลวงสรศักดิ์ (อายุ 28 ปี) ได้เป็นพระอุปราช
                          คุณเพชร (อายุ 10 ปี) และ คุณพร (อายุ 8 ปี) ได้เป็นเจ้า

รวมคร่าวๆ ในช่วง 77 ปี มีการสืบสมบัติไม่เป็นไปตามกฏ+รัฐประหาร 8 ครั้ง หรือ ประมาณ หนึ่งครั้ง ต่อทศวรรษ
ผู้ชนะได้สมบัติ ผู้แพ้ถูกประหาร และ ถูกยึดทรัพย์
กล่าวโดยประมาณคือ ทุกสิบปี มีเทศกาลฆ่าขุนนางหนึ่งครั้ง

พระเจ้าบรมโกศได้เติบโตมาในสมัยที่อยุธยามีความผันผวนทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 226  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 11:58

เข้ามาอ่านค่ะ
การรัฐประหารสมัยอยุธยา ตั้งแต่ราชวงศ์ปราสาททองถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง เข้าหลัก Survival of the fittest ของดาร์วิน
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 227  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 12:02


^^ ในบางครั้ง "The fittest" ไม่ "Survived" ครับท่านอาจารย์
 ยิงฟันยิ้ม

พระศรีศิลป์ พระอนุชา คือ the fittest ในปลายรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม
เจ้าฟ้านเรนทร์ คือ the fittest ในปลายรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 228  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 12:21

fittest ในที่นี้ หมายถึงผู้แข็งแกร่งที่สุด   ไม่ใช่ผู้เหมาะสมที่สุด หรือผู้ที่ถูกต้องตามหลักการที่สุดค่ะ
ถ้าเทียบกับธรรมชาติ  จ่าฝูงก็คือตัวที่แข็งแรงที่สุด    ถึงจะอยู่รอด
ส่วนความถูกต้องเหมาะควรนั้นเป็นสิ่งที่ตราขึ้นภายหลังในสังคมมนุษย์     ในเมื่อไม่มีการเคารพหลักการ    อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ดิฉันว่าพระเจ้าบรมโกศน่าจะเป็นผู้มีบุคลิกและจิตใจแข็งแกร่ง เหี้ยมหาญ เด็ดขาด  ตลอดจนกุมอำนาจเหนือแม่ทัพนายกองได้มากที่สุด   ถึงได้ประสบชัยชนะ  แต่ก็เป็นชัยชนะบนความยุ่งเหยิงตลอดรัชกาล แม้แต่สิ้นรัชสมัยพระองค์ไปแล้วก็ยังยุ่งเหยิงอยู่  จนนำไปสู่วาระสุดท้ายของอาณาจักร

เจ้าฟ้ากุ้งพระเอกของกระทู้นี้ ก็เป็นเฟืองจักรตัวเล็กๆที่หลุดกระเด็นออกไป
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 229  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 11:32


ดังที่เรียนไว้ในเบื้องต้น เจ้าพร ได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศแห่งความผันผวนทางการเมือง
ได้รู้เห็นกลวิธีวิธีการบริหารจัดการ ความขัดแย้ง ในแบบไทยๆ อย่างใกล้ชิด

ในต้นรัชสมัยพระเพทราชา ได้ขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกจากเมืองบางกอก และมะริด
กำจัดคู่แข่งทางการเมืองที่เป็นเชื้อพระวงศ์ปราสาททอง
จากนั้นจัดกระบวนขุนนางใหม่ ตั้งเจ้า และขุนนางสำคัญ

อิทธิพลของราชสำนักพระนารายณ์ยังคงฝังลึก
เกิดกบฏธรรมเถียร
เจ้าเมืองนครราชสีมา และ นครศรีธรรมราช แข็งข้อ ต้องระดมทรัพยากรเป็นอันมากในการปราบปราม
ศึกนอกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อังวะ เขมร ญวน ก็เป็นสิ่งที่น่าหนักใจ

ลองดูเรื่องเล่าในจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๒๔๒
สิบเอ็ดปีหลังการจลาจล เจ้าพร อายุ 17 ปี


จดหมายมองซิเออร์โบรด์ ถึงผู้อำนวยการ คณะการต่างประเทศ
กรุงศรีอยุธยา
วันที่ ๙ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒)
เรื่อง บาดหลวงตาชากลับมาอีกครั้ง ๑
    
        พระเจ้ากรุงสยามตกลงจะรับบาดหลวงตาชา เพราะเหตุที่ท่านอยากจะทราบว่าในเรื่องบาดหลวงตาชามายังเมืองไทยได้เปนอย่างไรบ้าง และพระราชสาสนที่บาดหลวงตาชาได้เชิญมาสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคต ตั้งแต่ครั้งปี ค.ศ.๑๖๘๙ (พ.ศ. ๒๒๓๒) ไทยได้จัดการรับอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ที่จะให้ท่านทราบตามความประสงค์ และจะได้เล่าการโดยเลอียด และจะไม่ลืมเล่าถึงเรื่องแม้แต่เปนเรื่องเล็กน้อย เพื่อท่านจะไดทราบ เรื่องโดยตลอด
         เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๘ (พ.ศ. ๒๒๔๑) ในกรุงศรีอยุธยาได้ทราบความจากผู้ที่ได้รู้เห็น ว่าที่ประเทศยุโรปได้ทำหนังสือสัญญา สงบศึก ซึ่งประเทศฝรั่งเศสต้องทำศึกสงครามกับประเทศใกล้เคียง หลายปีมาแล้ว พอข่าวนี้ได้มาถึงเมืองไทย ก็ได้ทำให้พระเจ้ากรุงสยามและบรรดาเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ต้องนึกตรึกตรอง เพราะเกิดร้อนใจขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ข่าวต่อมาอีกว่า มีเรืออังกฤษหลายลำได้มา ยังอินเดีย ก็ได้ทำให้ไทยร้อนใจมากขึ้นอีก คือมีนายเรือฮอลันดาคน ๑ มาบอกข่าวว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสได้ผ่านแหลมเคปออฟกุดโฮบ มาแล้วและว่ากองทัพเรือนี้ จะมายึดเมืองปอนดีเชรี และบางทีจะมายึดเมืองมริดด้วย
          ข่าวนี้ได้ทำให้ไทยตกใจมากขึ้นอีก ข่าวอันนี้ได้ทำให้ข้าราชการในราชสำนักตกใจเปนอันมาก พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ตั้งเกณฑ์คนฝึกหัดการต่าง ๆ บางทีหัดให้ปล้ำกัน บางทีหัดให้ต่อยมวย  บางทีหัดกระบี่กระบอง และหัดการต่าง ๆ ชนิดนี้อีกหลายอย่าง การฝึกหัดเหล่านี้ได้ทำให้พวกขุนนางข้าราชการมีงารมากขึ้น และพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงกริ้วกราดอยู่เปนนิตย์ ขุนนางข้าราชการจึงได้เดือดร้อนมาก เพราะใครจะมีความผิดอย่างใดแม้แต่เล็กน้อยก็ต้องถูกเฆี่ยน และการที่เฆี่ยนกันนี้มีทุกวันมิได้เว้นเลย ผู้ที่ถูกลงอาญานี้ไม่เลือกว่าข้าราชการผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ต้องถูกกันทุกคนมิได้เว้น หลังของเจ้าพระยาพระคลังและออกญาพิพัฒเนื้อขาดอยู่เสมอ จนร้านยาของเราก็ไม่มียาจะใส่แผลที่หลังของท่านทั้งสองนี้แล้ว
         มีเสียงพูดกันว่าข้าราชการแตกสามัคคีกันหมด และบางคน ก็คิดการขบถก็มี จนที่สุดงารการอย่างใดเปนอันไม่ได้ทำกัน ดูยุ่งเหยิงจนไม่รู้ว่าใครเปนใครแล้ว การในเมืองกำลังกระสับกระส่ายวุ่นวาย อยู่เช่นนี้ พอได้ข่าวมาว่าเรือฝรั่งเศสได้มาถึงเมืองมริด และได้รับ หนังสือบาดหลวงตาชา มีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังและออกญาพิพัฒ ลงวันที่ ๑๘ เดือนตุลาคม เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ให้คนมาตามพวก เราไปยังห้องว่าราชการของเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อให้แปลหนังสือ เหล่านี้เปนภาษาไทย และในคืนวันนั้นเอง เจ้าพระยาพระคลังได้นำความขึ้นกราบทูล พระเจ้ากรุงสยามจึงได้มีพระราชโองการโดยทันที ให้ตอบบาดหลวงตาชาไปว่าไทยจะได้จัดการรับรอง


       สิบปี หลังการรัฐประหาร
       พระเพทราชา ใช้อำนาจบริหารจัดการขุนนางอย่างเกรี้ยวกราด เบ็ดเสร็จ
       บาดหลวงตาชารด์ ถือพระราชสาส์น เก่าเข้ามาหลอกลวง เพื่อหาโอกาสทำการในสยามต่อไป
       เจ้าพระยาพระคลัง คือ โกษาปาน ราชทูตไปฝรั่งเศสผู้เรืองนาม กำลังอยู่ในช่วงขาลง
       พระยาพิพัฒน์ คือ ผู้ช่วยของพระคลัง เป็น ขุนนางชั้นสูงคนเดียวในสมัยพระเพทราชาที่มีชีวิตยืนยาว รอดมาได้จนแก่ตาย
       ในบรรดาขุนนางทั้งหลายไม่มีใครมั่นใจได้ว่าจะโดนลงพระราชอาญาครั้งต่อไปอีกเมื่อใด
       สถานการณ์เปลี่ยนกลับไปมาอยู่ตลอดเวลา ขุนนางไทยต้องมีเล่ห์เหลี่ยม พลิกแพลงเอาตัวรอดตลอดเวลา



       พวกเราได้แปล คำตอบนี้เปนภาษาฝรั่งเศส และได้มีจดหมายในส่วนพวกเราไปยัง บาดหลวงตาชาด้วยฉบับ ๑ จดหมายต่าง ๆ เหล่านี้  ไทยได้มอบให้ พวกเราห่อและผนึกตามธรรมเนียมของเรา และภายหลังอีกสองวัน นักการก็ได้มารับหนังสือเหล่านี้ไปยังเมืองมริด ฝ่ายในกรุงก็เตรียม การที่จะรับบาดหลวงตาชาทุกอย่าง ไทยได้จัดให้ข้าราชการล่วงหน้าไปรับบาดหลวงตาชา คนสำคัญ ที่เปนหัวหน้าไปนั้น มีขุนนางที่เคยเปนราชทูตที่ ๓ ไปยังประเทศฝรั่งเศสคน ๑ ขุนนางผู้น้อยซึ่งได้เคยไปฝรั่งเศสและกลับมากับบาดหลวงตาชาและเคยผ่านมาทางเมืองเบงกอลมายังเมืองไทย เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๒ (พ.ศ.๒๒๓๕) คน ๑ กับมองซิเออร์แวงซังแปงเฮโรล่ามของเราคน ๑ รวม ๓ คนเปนหัวหน้าออกไปรับบาดหลวงตาชา คนเหล่านี้ได้ออกเดิรทางภายหลังนักการสามหรือสี่วัน ฝ่ายเจ้าเมืองตนาวศรีก็ได้แจ้งต่อ บาดหลวงตาชา ว่าข้างกรุงได้มีคำสั่งมาว่า ถ้าบาดหลวงตาชาได้กลับมายังเมืองมริดอีก ก็ให้เจ้าเมืองตะนาวศรีจัดการรับรอง เพราะฉนั้น บาดหลวงตาชาจึงได้ลงจากเรือขึ้นบกโดยเชื่อใจ และเจ้าเมืองตะนาวศรีได้พาบาดหลวงตาชาจากเมืองมริดไปยังเมืองตะนาวศรี โดยมีการ รับรองให้เปนเกียรติยศตลอดทาง เมื่อบาดหลวงตาชาได้ขึ้นบกไปแล้ว เรือก็ได้ถอนสมอแล่นใบออกไปเข้ากองตามเดิม
         ในขณะนี้พวกฮอลันดาซึ่งใช้พวกแขกมัวเปนสาย ได้คิดพยายาม ที่จะให้การทั้งหลายได้ยุ่งเหยิงขึ้น เพื่อจะทำให้ไทยสงสัยบาดหลวงตาชา เพราะไทยได้เรียกพวกฮอลันดามาถามถึงข่าวที่เล่าลือว่า มีเรือฝรั่งเศสหลายลำได้มาประจำอยู่ในที่หลายแห่งรอบพระราชอาณาเขต และไทย ก็ได้ถามความเห็นของพวกฮอลันดา ว่าถ้าเรือฝรั่งเศสที่เมืองมริด จะควรทำประการใด ในขณะนี้พวกเราได้สังเกตว่าไทยได้เปลี่ยนกิริยา ทันที แต่ก่อน ๆ ไทยเคยเร่งรัดยินดีจะให้บาดหลวงตาชามา มาบัดนี้ มีแต่เจ้าพนักงารขัดข้องไปต่าง ๆ จนที่สุดการที่จะให้บาดหลวงตาชาพักในพระนครก็เกิดขัดข้องขึ้น จนถึงกับเจ้าพนักงารมาถามพวกเราหลายครั้งว่า จะให้พักในโรงเรียนของเราจะไม่ได้หรืออย่างไร และ ได้ให้เจ้าพนักงารมาตรวจแล้วัดที่ด้วย เพราะมีเสียงพูดกันว่าไม่ช้า บาดหลวงตาชาก็จะมาถึงอยู่แล้ว
         แต่จะอย่างไรก็ตามเมื่อไทยได้รับ จดหมายของบาดหลวงตาชา ซึ่งมีแต่ข้อความกล่าวแต่เรื่องไมตรี การที่กริ้วกราดต่าง ๆ ทั้งเดือนนั้นก็สงบดังกับปลิดทิ้ง พวกขุนนาง ข้าราชการก็หายใจคล่องขึ้น แผลถูกเฆี่ยนก็แห้งเข้า และเสียงเล่าลือต่าง ๆ ก็ซาลง ลงท้ายที่สุดการฝึกหัดต่าง ๆ ก็ไม่มีใครเอาเปนธุระ และทั้งหมดไม่ได้คิดอย่างอื่น นอกจากคิดถึงการเล่นให้เพลิดเพลิน มีการเล่นว่าวเปนต้น และมีนักขัตฤกษ์ฉลองวัด ซึ่งพระเจ้ากรุงสยาม ได้ทรงสร้างและทำแล้วสำเร็จภายในแปดหรือเก้าเดือน แต่ถึงดังนั้นก็ยังคิดอยู่เสมอ ถึงการที่จะรับพระราชสาสน และยังคงเตรียมการ อยู่เสมอ แต่ทำช้าอยู่สักหน่อย

          
         เนื้อความจดหมายที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงความผันผวนในโชคชะตาที่ขุนนางสยามต้องเจอ
         เจ้าพระยาพระคลัง โกษาปาน ในเวลานั้น อาจจะเรียกได้ว่า ถึงคราวเคราะห์ เมื่อร่างกายเกิดความล้า โรคภัยเบียดเบียน
         สติปัญญาอันเฉียบแหลมที่เคยมีไม่อาจพลิกแพลงให้สนองพระราชประสงค์ต่อไปได้ทันท่วงที
         อดีตขุนนางคนสนิทของพระนารายณ์ อดีดแม่ทัพผู้พิชิตเชียงใหม่ ราชทูตไปฝรั่งเศส ผู้พิชิตป้อมบางกอก
         และ อัครเสนาบดีในต้นรัชกาล ก็ถึงคราวต้องพบจุดจบในกาลต่อไปอย่างน่าสงสาร
         ออกญาพิพัฒน์ ผู้ช่วยคนสนิทกลับเป็นผู้ที่รอดชีวิตจากเทศกาลฆ่าขุนนางมาได้อย่างเหลือเชื่อ
 
         เจ้าฟ้าพรที่เติบโตในวังหน้าของกรมพระราชวัง จนย่างเข้าสู่วัยหนุ่มย่อมทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น
         นี่เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้พระองค์ตระหนักถึงความจำเป็นของการบริหารความเสี่ยง (risk management) ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
 
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 230  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 14:45


ขออนุญาตแทรก
บทประพันธ์ตอนต้นจากกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง อีกครั้งหนึ่ง


     ๏ เกลื่อนกรูหมู่จัตุรงค์   เปนกันกงเรียบเรียงไป
   ทรงช้างระวางใน      เทพลีลาหลังคาทอง ฯ
     ๏ เกลื่อนกรูหมู่แห่ห้อม   เรียงไสว
   เสด็จพุดตาลทองไคล   หว่างเขรื้อง
   ทรงช้างระวางใน           มีชื่อ
   เทพลีลาเยื้อง             ย่างแห้นหลังดี ฯ

จากเอกสารคำให้การฯ ช้างเทพลีลาเป็นช้างพัง อยู่ในขบวนรอง
จึงไม่ใช่ช้างทรงต้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินในขบวนเสด็จ

จึงอาจเป็นประเด็นต่อไปหรือไม่ก็ได้ว่าใครเป็นผู้ทรงช้างเทพลีลาในขนวนนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 231  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 15:13

ยังไม่ได้ไปเปิดหนังสืออ่าน     ขอสันนิษฐานคำตอบว่า ผู้ประทับบนช้างเทพลีลา คือวังหน้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
ไม่ใช่พระเจ้าบรมโกศ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 232  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 22:30


ขอยกจดหมายที่น่าสนใจมากอีกฉบับมา โดยไม่ตัดทอน
จดหมายฉบับนี้เขียนในตอนปลายรัชสมัยของพระเพทราชา กล่าวถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากมายครับ

ที่มา : วิกิซอร์ซ

เรื่องศึกกลางเมือง

จดหมายมองซิเออร์โบรด์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๓)

     พวกเราได้อยู่เปนสุขสบายโดยเรียบร้อยมาได้ปี ๑ แล้ว แต่พวกไทยยังระส่ำระสายอยู่ เพราะได้เกิดรบกันโดยมีคน ๆ หนึ่งคิดจะ ชิงราชสมบัติ ได้ยุแหย่ให้รบอยู่เสมอ ข่าวที่เล่าลือกันอยู่เสมอเปนนิจนั้นลือกันว่า ผู้ที่คิดจะชิงราชสมบัตินั้นเปนพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตนั้น (1) แต่ข่าวที่ลือนี้ก็มีเสียงต่าง ๆ กันจะจับเอาอะไรเปนแน่ก็ไม่ได้ ท่านคงจะไม่นึกเชื่อเลย ว่า ไทยได้รบราฆ่าฟันกันถึงปี ๑ มาแล้ว และข้าศึกก็อยู่ห่างหนทาง เพียง ๘ วัน ๑๐ วันเท่านั้น แต่ถึงดังนั้นก็ยังไม่มีใครจะทราบได้ว่า ค ที่จะคิดชิงราชสมบัตินี้จะเปนใครแน่ และยังมียิ่งกว่านี้อีกซึ่งเหลือที่ท่านจะเชื่อได้ คือมีข่าวเล่าลือกันว่า เจ้าได้ประชวรพระโรคอย่างร้ายแรง ได้สิ้นพระชนม์มาได้ ๗ เดือนแล้ว แต่ข่าวนี้ถึงจะสืบอย่างไรก็ไม่ได้ ความแน่ว่า เจ้าองค์นั้นจะได้สิ้นพระชนม์จริงหรือไม่ ผู้ที่คิดชิงราชสมบัตินั้นคงเปนคนที่ฉลาดรู้จักทางป้องกันที่จะไม่ให้ใครรู้ว่าตัวเปนใคร ทั้งเปนคนที่มีไหวพริบรู้จักทางล่อลวงด้วย ถ้าคนนี้ตายเสียแล้วก็อาจ จะเอาคนอื่นที่หน้าตารูปร่างคล้าย ๆ กันมาแทนอีกก็ได้

    
     (1) คือผู้อ้างว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ
        

     ข้าศึกซึ่งมีทหารอยู่ ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ คน ได้เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองนครราชสีมา ซึ่งเปนเมืองชายแดนติดกับเขตเขมร และข้าศึกนั้นล้วนเปนคนต่างชาติต่างภาษาทั้งนั้น ไทยได้ไปตั้งล้อมเมืองนครราชสีมาไว้ ๖ เดือน และได้คิดกลอุบายต่าง ๆ ก็หาตีเอาเมืองนครราชสีมาได้ไม่ (2) ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามหาทราบไม่ว่าการที่เกิดศึกขึ้นครั้งนี้เพราะเหตุใด ทรงเห็นว่ากลอุบายต่าง ๆ ที่คิดไว้ก็ไม่เปนผลสำเร็จ จึงทรงคิด กลศึกขึ้นใหม่อีกอย่าง ๑ คือโปรดให้ส่งว่าวขึ้นไปยังกองทัพ นัยว่าให้ เอาดอกไม้เพลิงผูกว่าวขึ้นไปสำหรับเผาเมืองและเผาผู้คนให้ตายหมด แต่การชักว่าวนี้ก็ไม่สำเร็จ ยังหาตีเมืองนครราชสีมาได้ไม่ เพราะยังกำลังทดลองที่จะเอาว่าวไปเผาเมืองนั้นก็ได้เกิดลือขึ้น จะจริงเท็จประการใดก็ไม่ทราบว่ากองทหารไทยได้หนีไปเข้ากับข้าศึกหมดแล้ว


      (2) พระยายมราช ข้าหลวงเดิมพระนารายณ์ เจ้าเมืองนครราชสีมา แข็งเมืองมาได้สิบปี


      แต่ความจริงนั้นเปนเรื่องที่ไทยได้เกิดบาดหมางกันขึ้นเองในเรื่องที่ว่า เจ้าได้สิ้นพระชนม์แล้ว เพราะเรื่องนี้พูดเปนเสียงอันเดียวกันหมดว่าสิ้นพระชนม์จริง เพราะฉนั้นพระเจ้ากรุงสยามจึงต้องระวังพระองค์ ได้มีพระราชโองการให้เตรียมการต่าง ๆ และได้รับสั่งเรียกให้ขุนนางข้า ราชการซึ่งขึ้นไปล้อมเมืองนครราชสีมานั้น ให้กลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ฝ่ายขุนนางข้าราชการที่ถูกเรียกกลับมานั้น ทราบอยู่แล้วว่าบุตรภรรยาและญาติพี่น้องได้ถูกจับมานานแล้ว เพราะเหตุว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงสงสัยว่าข้าราชการเหล่านี้จะไม่ซื่อตรง กำลังจะตรึกตรอง อยู่ว่าจะควรทำประการใดต่อไป บังเอิญวันหนึ่งในเวลาเช้ามืดเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในที่พัก ข้าราชการเหล่านี้ตกใจก็ต่างคนต่างหนีทิ้งเครื่องศัสตราอาวุธทั้งหมดรีบลงมายังกรุงศรีอยุธยา มาเฝ้ากราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ แต่ยังมีข้าราชการบางคนเช่นออกขุนชำนาญ (Channang) (3) เปนต้นได้หายไป

    
      (3) ออกขุนชำนาญ ผู้นี้คือ ออกขุนชำนาญใจจง ราชทูตไปฝรั่งเศส และวาติกัน คณะสุดท้ายในสมัยพระนารายณ์
           เป็นชาวสยามที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากที่สุดคนหนึ่ง ผ่านการผจญภัยจากการเดินทางมากมาย
           และ น่าจะเป็นคนให้ข้อมูลแก่ เดอ ลา ลูแบร์ ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในระหว่างทางไปยุโรป
           นับเป็นบุคคลที่ฉลาดปราดเปรื่องเข้าใจการเมืองและมีชีวิตรอดไปจนถึงรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ

           ขุนชำนาญบริรักษ์ เป็นขุนนางรุ่นหลังออกขุนชำนาญใจจง และเป็นบุคคลร่วมสมัย
      

      ครั้นข้าราชการเหล่านี้ได้ลงมาถึงกรุงศรีอยุธยา ทยอย ๆ กันไม่พร้อมกัน ก็ต่างคนต่างเข้าเฝ้าและคิดจะเอาตัวรอดจึงต่างคนต่างซัดกัน มีขุนนางอยู่สองสามคนหาได้ตรงลงมาเฝ้าไม่ แต่ ทำท่าทางที่จะหนีจึงต้องถูกจับ พระเจ้าแผ่นดินทรงสงสัยในพวกนี้ และจะป้องกันไม่ให้พวกนี้คิดประทุษร้ายได้ จึงตั้งต้นเอาเหล็กเผาไฟจนแดงมานาบท้าวข้าราชการเหล่านี้เสียก่อน แล้วจึงตั้งต้นซักถามเอาความจริงต่อไป ในระหว่าง ที่ซักถามอยู่นั้นได้เอาไม้แหลมบีบลิ้นไว้ไม่ให้พูด เมื่อได้ซักถามและ ทำความทรมานอยู่เช่นนี้ได้สัก ๑๕ วัน หรือ ๓ อาทิตย์ ก็ได้ตัดสินลงพระราชอาญารวม ๔๘ คน โดยมิได้เลือกว่าคน ๔๘ คนนี้ จะมีอายุบรรดา ศักดิ์หรือตระกูลอย่างใด

       วิธีที่ลงพระราชอาญานั้นได้ทำกันดังนี้ คือ ในตอนเช้าวัน ๑ เจ้าพนักงารได้เอาหลักไปปักไว้ในที่ประชุมชนแล้วจึงได้พาพวกนักโทษซึ่งจำโซ่ตรวนไว้แน่นหนา และมีไม้อุดปากไว้ด้วยมาณที่นั้น เจ้าพนักงารได้บังคับให้นักโทษเหล่านี้นั่งขัดสมาธิตรง กับหลัก ๆ ละคน แล้วได้ผูกมัดตรึงไว้กับหลักอย่างแน่นหนา จึงมี เจ้าพนักงารเอามีดมาสับศีร์ษะ ๗ แห่ง แล้วเอามือจับคอไว้จึงเอามีดเชือดเนื้อตั้งแต่บั้นเอวจนหัวไหล่ และได้ตัดเนื้ออกจากแขนเปนชิ้น ๆ บังคับให้นักโทษกินเนื้อของตัวเอง บางคนได้ถูกตัดนิ้วเท้านิ้วมือ บางคนถูกเอาเงินบาทละลายกรอกใส่ปาก เมื่อเสร็จแล้วเจ้าพนักงารได้ เรียกผู้หญิงทั้งในเมืองและนอกเมือง ให้เอากำปั้นทุบศีร์ษะพวกนักโทษเพื่อให้นักโทษได้รับความอาย เจ้าพนักงารได้ให้นักโทษตากแดดอยู่ประมาณ ๕ หรือ ๖ ชั่วโมง จึงได้คุมเอาตัวเข้าไปไว้ในคุกโดยไม่ให้ พบปะกับผู้ใดเลยเปนอันขาด นักโทษเหล่านี้ได้ถูกลงอาญาดังที่กล่าว มาแล้วนั้นหลายครั้ง บางคนก็ทนได้ถึง ๑๐ วัน ๑๒ วัน จนที่สุดพวก นักโทษทนอาญาไม่ไหว แล้วเจ้าพนักงารก็ประหารชีวิตเสียโดยแหวะ ท้องแล้วเอาศพไปเสียบไว้ที่ประตูเมือง และเอาหนามไม้ไผ่ล้อมศพ ไว้ด้วย ทรัพย์สมบัติของคนเหล่านี้ได้ถูกริบจนหมดจนสิ้น เจ้าพนักงาร จึงได้คุมบุตร์ภรรยาและญาติพี่น้องออกจากคุกพาไปยังสวนแห่ง ๑ ซึ่งอยู่กลางทุ่ง เพราะพระเจ้าแผ่นดินจะเผาคนเหล่านี้ทั้งเปน แต่เพอิญมีพระสงฆ์มากราบทูลทัดทานไว้จึงหาได้เผาคนเหล่านี้ไม่ แต่พระสงฆ์เหล่านี้ได้เฝ้าอยู่รอบสวนนั้นทั้งกลางวันกลางคืนหลายเดือนเพื่อคอยป้องกันมิให้พวกนี้ถูกเอาไฟเผาทั้งเปน ภายหลังจึงได้ทรงพระกรุณายกโทษให้และได้ปล่อยตัวไปแต่ต้องไปเปนทาสจนตลอดชีวิต

       คนเหล่านี้โดยมากเปนพวกผู้ที่มีตระกูลเก่า ๆ อยู่ในเมืองนี้ ขุนนางซึ่งถูกลงอาญา คราวนี้ล้วนแต่เปนเจ้าพระยา ออกญา และหลวง และมีพวกแขกมะลายู ที่มีบรรดาศักดิ์หลายคนกับหัวหน้ายี่ปุ่นสองคน พวกนี้ต้องถูกชำระลงโทษฐานขบถต่อแผ่นดิน ข้าพเจ้าได้สืบดูว่าตามธรรมเนียมของกฎหมายบ้านเมือง การลงโทษขบถต่อแผ่นดินได้ทำกันอย่างไร ก็ได้ความว่า ตามธรรมเนียมก็เคยแต่เพียงลงโทษแหวะท้องและตัดศีร์ษะเท่านั้น เพราะฉนั้นการที่ลงโทษอย่างร้ายกาจคราวนี้ ก็คงจะเปนด้วยพระเจ้าแผ่นดินกริ้วมาก และมีพระนิสัยโหดร้ายด้วย

       ในที่นี้ต้องงดไม่กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องไม่ฉนั้นจดหมายฉบับนี้จะยืดยาวเกินไปนัก ข้าราชการบางคนที่ได้กลับมาจากเมืองนครราชสีมาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงเห็นว่าเปนคนสุจริต หรือได้ทำการแก้ตัวได้ หรือได้รอดตัวเพราะความที่โปรดปรานนั้น ก็ต้องกลับขึ้นไปยังเมืองนครราชสิมาอีกพร้อมกับขุนนางอื่นที่ได้ตั้งขึ้นใหม่อีกหลายคน ฝ่ายพวกมลายูที่ได้หนีไปก็เพราะจะอยู่แต่พวกเดียวไม่ได้ด้วยไทยได้หนีไปหมดแล้ว ทั้งเปนคนที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงสยามจริง ๆ นั้นก็ได้รับพระราชทานรางวัลเลื่อนยศบ้าง รางวัลเปนเงินบ้าง และได้กราบทูลรับรองต่อพระเจ้ากรุงสยามว่าจะไปตีเอาเมืองนครราชสิมาคืนมาในเร็ววันให้จงได้ จึงได้โปรดให้พวกมลายูเหล่านี้รีบขึ้นไปสมทบกับข้าราชการไทย พวกมลายูอันกล้าหาญเหล่านี้ได้พยายามปีนกำแพงเมืองขึ้นไป แต่ฝ่ายข้าศึกได้ต่อสู้อย่างสามารถ พวกมลายูล้มตายหลายคนจึงหมดอยาก ที่จะต่อสู้อีกต่อไป พวกมลายูจึงได้พักรออยู่โดยไม่ได้ทำอะไรเลย ๔ เดือน ครั้นเมื่อปลายเดือนเมษายนพวกชาวเมืองได้มาเปิดประตูเมืองและได้บอกพวกไทยที่ล้อมเมืองไว้ว่าพวกข้าศึกได้หนีไปหมดแล้ว แต่บางคนก็พูดว่าพวกชาวเมืองได้ออกจากเมืองเพื่ออพยพไปอยู่ที่อื่น

      ครั้นเมืองนครราชสิมาได้ตกมาอยู่ในอำนาจของไทยแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งเจ้าเมืองให้ขึ้นไปรักษาการ เจ้าเมืองได้ส่งพลเมืองชาวเมือง นครราชสิมาลงมาชำระยังกรุงศรีอยุธยาเปนอันมาก พวกนี้ได้ถูกประหารชีวิตไปหลายคนแล้ว เมื่อข้าศึกได้หนีออกจากเมืองนครราชสิมานั้นก็หาได้ไปไกลไม่ เขาพูดกันว่าพวกข้าศึกได้เลยไปยึดเอาเมืองพิษณุโลก แต่ในเรื่องนี้ไทยปิดไม่อยากให้ใครรู้และคอยพูดกลบเกลื่อนอยู่เสมอ จนถึงกับ พระเจ้าแผ่นดินได้มีพระราชโองการให้มีงารนักขัตฤกษรื่นเริงตามเคย แต่อย่างไร ๆ ก็เห็นได้ชัดว่าการศึกยังหาสงบไม่ บางคนพูดว่าพระเจ้า กรุงสยามคงจะมีชัยชนะ บางคนก็พูดว่าไทยเสียเปรียบมาก
 
      ความจริงพวกพระสงฆ์ซึ่งเปนต้นเหตุยกให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัตินั้น ก็ออกจะเห็นแล้วว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ไม่ซื่อตรงต่อใคร ถ้าพูดอย่างคำสามัญก็ต้องพูดว่าเปนคนหน้าไหว้หลังหลอก การประหารพวกขุนนางข้าราชการโดยอาการอย่างร้ายกาจ ทั้งบุตร์ภรรยาข้าราชการเหล่านี้ยังต้องเปนทาสอีกนั้น เปนการที่กระทำให้พระสงฆ์เหล่านี้เอาใจออกหากทุกคน ราษฎรพลเมืองอีกทั้งขุนนางข้าราชการก็เกลียดพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ทั้งสิ้น และที่พวกนี้ยังยั้งมืออยู่นั้นก็ด้วยยังมีความเกรง อยู่หน่อย การที่ไม่ได้เกิดขบถขึ้นทั้งเมืองนั้นก็โดยยังเห็นแก่พระมเหษีและพระราชบุตร์องค์เล็กของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น (4)

        (4) พระมเหสีเดิมคือ กรมพระเทพามาตย์
             พระมเหสีฝ่ายขวาคือ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาสมเด็จพระนารายณ์ มีพระโอรสคือ เจ้าพระขวัญ
             พระมเหสีฝ่ายซ้ายคือ กรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาสมเด็จพระนารายณ์ มีพระโอรสคือ ตรัสน้อย
          
             พระโอรสสองพระองค์นี้อยู่ในข่ายที่สามารถสืบราชสมบัติได้ เจ้าพระขวัญเป็นความเสี่ยงแรกของพระอุปราช 


     เจ้าพระยาพระคลังหาได้อยู่ในจำพวกขุนนางที่ถูกประหารชีวิตไม่ เพราะได้ตายเสียก่อนสองเดือนมาแล้ว เขาพูดกันว่าที่ตายนี้ก็เพราะ ถูกเฆี่ยนตายทั้งเสียใจที่ตัวต้องถูกเฆี่ยนและถูกลงอาญาบ่อย ๆ ด้วย เพราะเมื่อ ๔ ปีมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินทรงกริ้วขึ้นมาก็ได้เอาพระแสงดาบตัดปลายจมูกเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งแต่นั้นมาเจ้าพระยาพระคลังก็ต้องรับพระราชอาญาเรื่อยมา เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงไว้พระทัยเสียแล้ว ก่อนที่เจ้าพระยาพระคลังจะตายนั้น บุตร์สาวคนใหญ่ คน ๑ บุตร์ชายสองสามคนกับภรรยาน้อยของเจ้าพระยาพระคลังได้ถูกจับไปและถูกชำระ จึงได้เกิดลือกันว่าเจ้าพระยาพระคลังมีความเสียใจนักจึงได้เอามีดแทงชายโครงฆ่าตัวเองตาย การที่เจ้าพระยาพระคลังตายนี้พระเจ้าแผ่นดิน ก็ออกตัวได้ดี ได้ทรงแกล้งทำเสียพระทัยว่าเจ้าพระยาพระคลังได้ถึง อสัญกรรมเสียแล้ว จึงได้โทษว่าหมอจีนซึ่งเปนผู้รักษาเจ้าพระยา พระคลังได้เอายาพิษให้เจ้าพระยาพระคลังรับประทานจึงได้พระราชทานรางวัลโดยให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหมอคนนั้นและให้เฆี่ยนทั้งหลังและท้องด้วย เวลากลางคืนได้ยกศพเจ้าพระยาพระคลังไปฝังไว้ยังวัดหาได้ มีการทำบุญให้ทานอย่างใดไม่ และมิได้ทำการศพให้สมกับเกียรติยศ ซึ่งต้องมีการแห่ศพไปไว้ยังโรงทึมและเผาตามธรรมเนียม นี่แหละเปน สิ้นชื่อของอรรคราชทูตสยามที่ได้ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส และเปนอรรคมหาเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ปัจจุบันนี้ด้วย

      ออกญาพิพัฒผู้ช่วยของเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเปนคนอัธยาศัยดีคงทำการให้พระเจ้าแผ่นดินโปรดอยู่เสมอ แต่ออกญาพิพัฒก็พูดอยู่เสมอ ว่ามิช้ามิเร็วก็คงจะถูกเหมือนอย่างคนทั้งหลายเหมือนกัน ในเมืองนี้พลทหารหามีเงินเดือนหรือผลประโยชน์อย่างใดไม่ เพราะฉนั้นการเดิรทางเปนการลำบากอย่างยิ่ง ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและ ผู้จ่ายเงินเปนคนที่เหนียวแน่นอย่างที่สุด กองทัพจึงขาดเสบียงไม่มีข้าว จะรับประทาน จนผู้คนได้ตายด้วยความหิวและความไข้เจ็บเปนอันมาก ทั้งช้างก็ล้มตายหลายเชือกด้วย พวกในค่ายปอตุเกตและพวกจีนกับญวนได้รับสั่งมาหลายเดือนแล้วให้ไปรักษาเพนียด ซึ่งเปนที่อยู่เหนือราชธานีกรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย พวกปอตุเกตจีนและญวนก็ได้ไปรักษา พเนียดตามคำสั่งโดยต้องใช้โสหุ้ยของตัวเองทั้งสิ้น ไทยหาได้จ่ายเงิน ให้จนอัฐเดียวไม่
      ยังมีจีนคนหนึ่งเปนคนของมองซิเออร์คอนซตันซ์ฟอลคอนผู้ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ได้จับหนังสือมาจากนครราชสิมาซึ่งเปนหนังสือที่มีมา ถึงพระสงฆ์หลายรูป จีนผู้นี้ได้นำหนังสือที่จับได้นั้นส่งเข้าไปถวาย ก็เกิดโปรดปรานจีนผู้นี้มาได้ประมาณ ๘- ๙ เดือนมาแล้ว แล้วได้โปรดตั้งให้จีนผู้นี้เปนออกญา แล้วภายหลังตั้งให้เปนอรรคมหาเสนาบดี (5)


      (5) นี่คือการปรากฏตัวของ เจ้าพระยาพระคลังจีน ที่กุมอำนาจวางเครือข่ายการเมืองไปจนถึงปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ
           และเป็นคู่แข่งทางการเมืองโดยตรงของเจ้าฟ้าพร พระอุปราช/พระเจ้าบรมโกศ


      แล้วภายหลังมาไม่ช้าวันนักพระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หา ยอช บุตร์ของมองซิเออร์คอนซตันซ์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายยอชเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดเอานายยอชไว้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเปนครูด้วยพระองค์เองสอนภาษาไทยให้แก่นายยอช พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งถามนายยอชสองหรือสามครั้งถึงโรงเรียนสามเณรและพวกบาดหลวงซึ่งอยู่ในโรงเรียน และได้รับสั่งใช้ให้นายยอช มาหาพวกเราครั้ง ๑ เพื่อมาขอตำราสร้างป้อม นายยอชได้อยู่ชิดสนิธสนมกับพระเจ้ากรุงสยามอยู่อย่างนี้หลายเดือน จึงรับสั่งว่า "เจ้าจงไปอยู่ที่ห้างพ่อเจ้าเคยอยู่เถิด" แล้วได้ทรงฝากฝังนายยอชไว้กับจีนผู้ที่เปน ผู้ดูแลของห้างนั้น

      การที่ได้เกิดสงครามขึ้นคราวนี้ ได้ทำให้การค้าขายฉิบหายหมด พวกพ่อค้าได้ยากจนลงและมีความเดือดร้อนมาก พวกชาวต่างประเทศไม่มีเข้ามาในเมืองไทยอีกเลย ในปีนี้ได้มีพ่อค้าจีนมาสามหรือสี่ราย เท่านั้น สินค้าที่พาเข้ามานั้นก็ไม่ใคร่จะมีอะไรและจะหาคนซื้อก็เกือบจะไม่ได้ พวกพ่อค้าจีนได้ขายของโดยราคาอย่างถูกแต่ถึงดังนั้นก็ไม่มี ใครซื้อ การร้องรำทำเพลง การรื่นเริงต่าง ๆ ตลอดจนการศพการเมรุ ได้งดมาตั้งแต่เกิดศึกขึ้น ไม่มีใครจะกล้าทำอะไรซึ่งเปนการที่พวก พระสงฆ์เสียใจมาก เพราะอาหารการบิณฑบาตได้น้อยลงไปมาก

     พระเจ้ากรุงสยามทรงถือว่าข้าศึกในคราวนี้เท่ากับเปนขบถ และห้ามมิให้ใครพูดว่า ผู้ที่คิดขบถนั้นเปนพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคต ใครขืนพูดจะลงพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มีคน บางคนสงสัยว่าผู้ที่เปนต้นเหตุทำศึกในคราวนี้ไม่ใช่อื่นไกลเลยเปนพระราชบุตร์ของพระเจ้ากรุงสยามนั้นเอง คือว่าราชบุตร์จะคิดขบถขึ้น แต่พระราชบิดาทรงทราบจึงคิดปิดความและคิดเกลี่ยกล่ายให้ความนั้นสงบไป การที่พระเจ้าแผ่นดินเอาไม้ยัดปากพวกขุนนางไม่ใช่สำหรับป้องกันไม่ ให้ร้องหามิได้ แต่เปนเครื่องสำหรับให้ขุนนางผู้รับโทษนั้น ได้ประกาศความทุกข์ยากและความผิดของตัว ยังมีคนอื่นอีกที่คิดเห็นว่าศึกคราวนี้เปนอุบายของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะทรงคิดจะเปลี่ยนขุนนางข้าราชการทั้งหมด และจะตั้งคนที่ไม่เคยได้ทำราชการและไม่รู้จักพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคตเลยเปนขุนนางต่อไป กล่าวคือ จะทรงคิดล้างขุนนาง เก่า ๆ ซึ่งอาจจะมีความริษยาในการที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติหรืออาจจะเปนเสี้ยนหนามแผ่นดินได้ การที่ทรงคิดเช่นนี้ก็ได้ตั้งต้นเอา พวกเราเข้าก่อน เพราะฉนั้นจะต้องเข้าใจว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงถือว่าพวกเราอยู่ในจำพวกที่จะต่อสู้กับพระองค์ แต่การตระเตรียมต่าง ๆ ทำกันอย่างใหญ่โตมากจึงเปนการยากที่จะเชื่อว่า ศึกคราวนี้ไม่ได้ประสงค์อะไรนอกจากจะเปนอุบายสำหรับลบล้างพวกขุนนางเก่า ๆ เท่านั้น แต่ที่จริงอะไรบ้างที่ไทยจะทำไม่ได้

     เมื่อเร็ว ๆ นี้เองยังไม่ได้เดือนหนึ่งเลยออกญาพิพัฒก็ได้ถามว่า ในปีนี้พวกฝรั่งเศสจะเข้ามาเมืองไทยหรืออย่างไร ดูเหมือนทุก ๆ คนหวัง ว่าถ้าฝรั่งเศสได้เข้ามาแล้ว การเดือดร้อนทั้งปวงคงจะได้เบาลงไปบ้าง พวกไทยนึกถึงเรื่องนี้อยู่ทุกคืนทุกวัน และหวังใจอยู่เสมอว่าคงจะได้เห็นเรือฝรั่งเศสเข้ามาหลาย ๆ ลำ แต่ส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน นั้นดูไม่ทรงต้องการไมตรีของฝรั่งเศสเลย แต่เดิมก็ทรงครั่นคร้ามอยู่บ้าง ครั้นมาภายหลังทรงเห็นฝรั่งเศสไม่แข็งแรงอะไร และมา อ้อนวอนขอร้องต่าง ๆ เช่นบาดหลวงตาชา ก็ทรงเห็นเสียว่าพวกฝรั่งเศสกลัวเกรงไทย และทรงเห็นว่าชาติฝรั่งเศสเปนชาติที่อ่อนมาก พระเจ้าแผ่นดินจึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเห็นฝรั่งเศสเข้ามาในพระราชอาณาเขตเลย เพราะฉนั้นถ้าใครยังนึกอยู่ว่า พระเจ้ากรุงสยามจะพระราชทานเมืองมริดให้แก่ฝรั่งเศสและ้วก็จะเปนการที่คิดผิด ถ้าจะต้องการเมือง มริดแล้วก็จะต้องใช้กำลังเท่านั้น และถึงดังนั้นก็ต้องเชื่อได้ว่า ถ้า ได้พระราชทานเมืองมริดโดยขัดขืนไม่ได้ ก็คงจะทรงหาโอกาศคิด กลอุบายอย่างใด ที่จะเอาคืนอีกให้จงได้

      เมื่อวันที่ ๖ เดือนมิถุนายน ข้าพเจ้าได้ให้คนไปถามออกญาพิพัฒว่า ข้าพเจ้าจะไปหาได้หรือไม่ เพราะข้าพเจ้ามีความเสียใจ มากที่ไม่ได้พบกับท่านออกญามาช้านานแล้ว ออกญาพิพัฒได้ตอบมา ว่า ให้ข้าพเจ้าไปหาที่บ้านในวันมรืนนี้จึงจะได้พบกัน ครั้นถึงวันนัด ข้าพเจ้ากับล่ามแวงซังแปงเฮโรก็ได้ไปยังบ้านออกญาพิพัฒ ท่านเจ้า ของบ้านได้ให้เอาพรมผืนยาวปูในห้องแลมีหมอนด้วยสองใบ เมื่อเรา ไปถึงนั้น ออกญาพิพัฒคอยเราอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้แสดงความยินดีที่ท่านออกญาได้หลุดพ้นอันตรายต่าง ๆ ได้ ออกญาพิพัฒจึงได้พูดถึงเรื่องศึก และเล่าถึงวิธีที่ทหารได้ปีน กำแพงเมืองนครราชสีมาและเอาไฟเผาบ้านเมืองทั่วทุกแห่ง และได้ เล่าถึงความกล้าหาญของบุตร์ท่านเอง ซึ่งได้ถูกเจ็บป่วยมา เล่าถึงการที่ข้าศึกได้อพยพหนีไป ถึงการที่ได้เกิดขบถขึ้นที่เมืองพิษณุโลก และเมืองอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ออกญาพิพัฒได้แจ้งว่า พวกขบถในที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกจับโบยมาแล้ว แต่ข้าศึกคือผู้ที่คิดจะชิงราช สมบัตินั้นหนีไปเสียแล้วพร้อมด้วยผู้คนเปนอันมาก จะเปนจำนวนมากน้อยเท่าใดหาทราบไม่ ล้วนแต่เปนคนแข็งในการทัพศึกทั้งนั้น เข้า ใจกันว่าพวกข้าศึกคงจะหนีไปทางเมืองเขมรหรือเมืองลาวเปนแน่ข้าพเจ้าจึงถามออกญาพิพัฒว่า คนที่คิดจะชิงราชสมบัตินี้จะเปนใครแน่และคนนี้มาแต่ไหนมาอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ได้รับคำตอบอย่างใดนอกจากว่า ดูเหมือนคน ๆ นี้จะผุดขึ้นมาจากใต้ดิน และได้ความจากออกญาพิพัฒต่อไปว่า มีมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดินติดสอยห้อยตามข้าศึกผู้จะ ชิงราชสมบัติคนหนึ่ง และว่าในเวลานี้กองทัพกำลังติดตามพวกข้าศึก ที่ยังหนีอยู่

      ถ้อยคำที่ขุนนางผู้นี้กล่าว เปนถ้อยคำที่พอจะเชื่อได้ และ ถ้าจะพิเคราะห์ดูเหตุการณ์ทั้งปวงแล้ว ก็จะต้องสันนิฐานว่าการศึกได้สงบแล้ว แต่ออกญาพิพัฒเปนคนไทยที่ไหวพริบคนหนึ่ง จะหาใครเปรียบทั่วทั้งแผ่นดินเปนไม่ได้ เพราะฉนั้นจึงได้รักษาตัวอยู่ได้จนตลอดเรื่อง ที่มีการรื่นเริงกันอยู่ในเวลานี้ก็คงจะมีกันพอแก้หน้าเท่านั้น เพราะตามคุกต่าง ๆ ก็เต็มไปด้วยนักโทษทั้งผู้ชายผู้หญิงและเด็ก และยังจะมีคนที่จะต้องถูกชำระและเอาตัวไปประจานที่ประตูเมืองก็อีกมาก

      เมื่อทางราชการได้ริบทรัพย์สมบัติมากมายเช่นนี้ ก็คงจะทำให้ท้องพระคลังเต็มไปหมด และการที่เกิดขึ้นครั้งนี้หาทำให้พระเจ้าแผ่นดินยากจนลง ไปไม่ แต่จะกลับทำให้มั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้นเสียอีก ผู้คนราษฎรพลเมือง ในพระราชอาณาเขตเบาบางน้อยลงไปมาก แต่ก็ไม่เปนสิ่งที่จะทำให้ พระเจ้าแผ่นดินร้อนพระทัยอย่างไร ถ้าแม้ว่าการศึกสงครามคราวนี้ เปนแต่กลอุบายแล้ว ศึกจะเลิกเมื่อไรก็ได้ตามชอบใจของผู้ที่คิดอุบาย นี้ เพราะฉนั้นที่เรียกกันว่าข้าศึกนั้น ก็คงจะเปนเงาของข้าศึกเท่า นั้น เปรียบเท่ากับการเพาะเห็ด ๆ ยังไม่ทันขึ้นดี ก็ไปเก็บมารับประทานเสียแล้ว


      ในขณะนั้นเจ้าเพชร อายุ 20 ปี เจ้าพร อายุ 18 ปี สองพี่น้องคู่นี้จะได้ช่วยพระบิดาขึ้นครองบัลลังก์ต่อไป

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 233  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 23:05

พระเจ้าแผ่นดินที่ว่า หมายถึงพระเพทราชาใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 234  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 23:15

พระเจ้าแผ่นดินที่ว่า หมายถึงพระเพทราชาใช่ไหมคะ



จดหมายฉบับนี้มีใจความสำคัญที่สรุปเรื่องราวในสมัยพระเพทราชาได้ครบทุกประเด็นเลยครับท่านอาจารย์เทาชมพู

   พระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคต คือ สมเด็จพระนารายณ์
   พระเจ้ากรุงสยามคือ สมเด็จพระเพทราชา
   พระราชบุตร คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 235  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 23:42


การผจญภัยของออกขุนชำนาญ เล่าโดย บาดหลวงตาชารด์
น่าจะนำไปทำภาพยนตร์ได้


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 236  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 23:57


กฎสามข้อ ในการบริหารความเสี่ยงแบบไทยๆ เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ

   1. ผู้ชนะคือผู้อยู่รอด ให้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะเป็นผู้ชนะ
   2. ถ้าไม่ได้เป็นผู้ชนะให้เลือกอยู่ข้างผู้ที่จะชนะ
   3. ถ้าพลาด มีท่าทีว่าจะแพ้ ให้รีบหนีไปพึ่งกรรมการ
  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 14 15 [16]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง