เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16
  พิมพ์  
อ่าน: 49738 ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 15 พ.ย. 15, 09:11

คุณคนโคราช บอกใบ้ให้คิดว่า พระมหานาควัดท่าทราย คือ ghost writer ของพระนิพนธ์ธารทองแดง  ที่ลงชื่อท้ายบทว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นผู้แต่ง   เพราะสำนวนโคลงเหมือนกัน  วิธีแต่งเหมือนกัน
อย่างคำว่า จบบริบูรณ์ ที่นำหน้าโคลงแต่ละวรรค

ก่อนอื่น ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านเรือนไทย ทราบว่า โคลงชนิดที่มีคำคำแรก อ่านจากบนลงล่างถึงจะได้ความ  เป็นโคลงที่มีคำเรียกเฉพาะว่า โคลงกระทู้    ค่ะ    เป็นแบบแผนที่ใครจะหยิบมาแต่งก็ได้    ไม่ใช่การค้นคิดของใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว 
การที่ธารทองแดงและบุณโณวาทคำฉันท์ลงท้ายด้วยโคลงกระทู้เหมือนกัน     หมายความได้เพียงว่ากวีผู้แต่งเลือกใช้โคลงกระทู้จบเรื่องเหมือนกัน   อาจเป็นขนบการแต่งที่นิยมกันในยุคนั้นก็ได้     หรือว่าคนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากอีกคนก็ได้
แต่ไม่ได้แปลว่า ทั้งสองต้องเป็นคนเดียวกัน

ขอยกตัวอย่างโคลงกระทู้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 15 พ.ย. 15, 09:27

ข้อ 2   ถ้าพระมหานาคเป็นคนแต่งนิราศธารทองแดง    แต่ใส่ชื่อตอนท้ายว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นผู้แต่ง   ท่านก็ขาดศีลข้อมุสาวาทาเวอย่างแรง     ไม่ว่าท่านจะร่วมมือกับเจ้าฟ้ากุ้งเอง หรือถูกบังคับ  ศีลก็ขาดกระจุยแล้วค่ะ
ยิ่งท่านให้จดจารเป็นลายลักษณ์อักษรหลอกคนทั้งวังด้วย  ยิ่งร้ายหนักเข้าไปอีก
แบบนี้ อยู่ในผ้าเหลืองไม่ได้แล้ว

ข้อ 3  พระมหานาคแต่งฉันท์ ซึ่งถือเป็นกวีนิพนธ์ชั้นสูง   คนที่จะแต่งได้ต้องร่ำเรียนบาลีและสันสกฤตจนแตกฉาน   จึงจะแต่งลงลหุครุได้ไม่ผิดพลาด    ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นมหาเปรียญระดับสูงๆ  ไม่ใช่เปรียญหนึ่งสอง
ไม่ปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ แต่งฉันท์ไว้เลยสักเรื่อง  นันโทปนันทสูตรและพระมาลัยคำหลวง ใช้คำประพันธ์ชนิดร่าย แต่งง่ายกว่ากลอนเสียอีก

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ดิฉันจะค้านคุณโคราชชนิดไม่ให้ออกความเห็นอะไรอีก    ตรงกันข้าม  ดิฉันยินดีมากที่มีผู้จุดประกายความสงสัยขึ้นมา  มันทำให้การศึกษาวรรณคดีไม่ใช่มีแต่การท่องจำอย่างเดียว  แต่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ หรือแม้แต่คัดค้านได้ด้วย
ทำให้วรรณคดีพ้นจากสภาพของขลังใครแตะต้องไม่ได้  ถ้าแตะไม่ได้ก็เหมาะจะเก็บไว้ฝุ่นจับบนหิ้ง  แล้วก็สูญสลายไปในที่สุด

เพียงแต่ว่า ข้อค้านของดิฉันคือทางเลือกให้ท่านอื่นๆได้มองเห็นทั้งสองด้าน       ใครจะเชื่อด้านไหนก็แล้วแต่ ไม่บังคับค่ะ

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 15 พ.ย. 15, 11:33


ขอเรียนตอบท่านอาจารย์เทาชมพู เรื่องศีลข้อมุสาก่อนนะครับ
ตอนนี้เรายังไม่เห็นเหตุชวนสงสัยว่าผู้แต่งนิราศธารทองแดงและอื่นๆ จะไม่เป็นผู้อยู่ในเพศฆราวาส
ส่วนที่มาของ โคลงกระทู้จบบริบูรณ์ คงยังชี้ชัดไม่ได้ครับ

มีความเป็นไปได้แม้แต่ว่า พระยาตรังผู้รวบรวมภายหลังคัดลอกมาใส่ไว้ด้วยกัน
ตามความเข้าใจของตนเอง บางงานท่านแต่งเพิ่มเข้าไปด้วย

บุณโณวาทคำฉันท์นั้น พระนาค ท่านน่าจะแต่งตอนเป็นพระถือศีลอยู่แน่ครับ
แต่บรรยายเหตุการณ์ตอนตามเสด็จนั้นจะเป็นพระหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะบางเหตุการณ์
เหมือนไม่ใช่กิจของสงฆ์ เหมือนกับเคยเป็นชาววังมาก่อนบวช

การบวชแล้วสึก สึกแล้วบวช ของชาววัง เจ้านาย หรือข้าราชบริพารสมัยนั้นเหมือนเป็นเรื่องปกติครับ
เราทราบว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็บวชแล้วสึก สึกแล้วบวช กันมากกว่าหนึ่งครั้งครับ

สมัยรัชกาลที่ 1 ก็มีสึกพระราชาคณะมาทำราชการ ต่อมาลูกสาวของพระราชาคณะก็เป็นนางในด้วย
สมัยหลังๆ นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง เช่น นาคะประทีบ เสฐียรพงษ์ ก็เป็นพระมหาก่อนสึกออกมามีครอบครัวครับ

ร. 4 ท่านก็มีพระราชธิดา โอรส ก่อนบวช หลังครองราชท่านก็กลับเป็นฆราวาสเต็มตัว

โดยสรุปคือ พระต้องถือศีล 227 ข้อจริง แต่สึกออกมาแล้วจะถือกี่ข้อก็แล้วแต่บุคคลครับ
ทั้งนี้ผมยังไม่ได้หมายความว่า พระมหานาคท่านจะสึกออกมาทำมาหากินนะครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 15 พ.ย. 15, 11:58


เมื่อเราคุ้นเคยกับ ร้อยเล่ห์กลโกง ของบรรดา ทส. ลูกไล่ของบรรดาผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
เราก็สามารถเดาได้ว่ามีวิธีเปลี่ยนชื่อผู้แต่งได้โดยไม่ทำให้ผู้แต่งตัวจริงผิดศีลข้อมุสาครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 15 พ.ย. 15, 18:34

เป็นกระทู้ประเทืองปัญญาจริงๆ อ่านเพื่อกอบโกยเข้าสมองอย่างเดียว
แต่เสียดาย เมมโมรี่การ์ดของผมมันเสื่อมไปเยอะแล้ว จะหาอะไหล่มาเปลี่ยนก็ไม่มี เก็บได้แค่ไหนก็แค่นั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 15 พ.ย. 15, 18:49

คุณ NAVARAT.C แวะเข้ามาให้ซุ่มให้เสียง    ดีแล้ว จะได้ถามว่าไม่มีค.ห.ใหม่บ้างหรือคะ  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านค้างเติ่งอยู่นานแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 16 พ.ย. 15, 09:12

เรื่องของผมตรงนั้นน่าจะจบแล้วนี่ครับ ไม่มีใครมีความเห็นหรือมีคำถามอะไร กระทู้ก็ควรจะลาโรงได้แล้วนะครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 17 พ.ย. 15, 09:10

ก่อนอื่น ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านเรือนไทย ทราบว่า โคลงชนิดที่มีคำคำแรก อ่านจากบนลงล่างถึงจะได้ความ  เป็นโคลงที่มีคำเรียกเฉพาะว่า โคลงกระทู้    ค่ะ    เป็นแบบแผนที่ใครจะหยิบมาแต่งก็ได้    ไม่ใช่การค้นคิดของใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว  
ความนิยมจบบทวรรณกรรมร้อยกรองด้วยโคลงกระทู้ "จบบริบูรณ์" สืบเนื่องจากสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ดังบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จบลงด้วยโคลง ๒ บทสุดท้าย ดังนี้

๏ จบ เรื่องราเมศมล้าง   อสุรพงศ์
บ พิตรธรรมิกทรง        แต่งไว้
ริ รํ่าพรํ่าประสงค์         สมโภช พระนา
บูรณ์ บำเรอรมย์ให้       อ่านร้องรำเกษม ฯ

๏ เดือนอ้ายสองคํ่าขึ้น   จันทรวาร
บพิตรผู้ทรงญาณ        ยิ่งหล้า
แรกรินิพนธ์สาร          รามราพณ์ นี้แฮ
ศักราชพันร้อยห้า        สิบเก้าปีมะเส็ง ฯ


จาก  บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 24 พ.ย. 15, 15:04


อ้างอิง: ตู้หนังสือเรือนไทย

กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง

เห่ชมปลา
โคลง

๏ พิศพรรณปลาว่ายเคล้า      คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์      แจ่มหน้า
มัตสยาย่อมพัวพัน      พิศวาส
ควรฤพรากน้องช้า      ชวดเคล้าคลึงชม ฯ
                  
ช้าลวะเห่
๏ พิศพรรณปลาว่ายเคล้า      คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัตสยายังรู้ชม      สาสมใจไม่พามา
นวลจันทร์เป็นนวลจริง      เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา      ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย
เพียนทองงามดั่งทอง      ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย      ดั่งสายสวาทคลาดจากสม
                  
ทรงแปลง
แก้มช้ำช้ำใครต้อง      อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกกรม      เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง ฯ
                  
ทรงแทรก ๕ บท
มูลวะเห่

น้ำเงินคือเงินยวง      ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง      งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี
๏ ปลากรายว่ายเคียงคู่      เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่      เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร
หางไก่ว่ายแหวกว่าย      หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร      ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
๏ ปลาสร้อยลอยล่องชล      ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย      ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ      เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย      ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
๏ ปลาเสือเหลือที่ตา      เลื่อนแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง      ดูแหลมล้ำขำเพราคม
แมลงภู่คู่เคียงว่าย      เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม      สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง
หวีเกศเพศชื่อปลา      คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง      เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม
ชะแวงแฝงฝั่งแนบ      ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แอบแนบถนอม      จอมสวาทนาฏบังอร
๏ พิศดูหมู่มัจฉา      ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร      มาด้วยพี่จะดีใจ ฯ

ในกาพย์เห่เรือนี้ นับปลาได้ 17 ชนิด

ปลาหวีเกศ ปัจจุบันสูญพันธ์ไปแล้ว
ปลาแมลงภู่ น่าจะเป็น ปลาชะโด

มีปลาสี่ชนิด นวลจันทร์ หวีเกศ แปบ และ ปลาหางไก่ที่ไม่เข้าพวก
อีกสิบสามชนิดมีกล่าวอยู่ในฉันท์ไม่กี่บทของ พระนาควัดท่าทราย


บุณโณวาทย์คำฉันท์

ชมพรรณนกไม้สบสรรพ์      สบสัตวอนันต์
อเนกตรูตราไตร
      เสด็จชมถ้ำธารอำไพ      เย็นฉ่ำชลใส
ลเลื่อมวาลุกาพราย
      มีหมู่มัจฉามากมาย      ตริวตราวม่านลาย
แลฝูงจรเข้เหรา
      ช้างเหยียบปลาแม้วลิ้นหมา      คางเบือนเบือนหา
กรช่อนแก้มช้ำสู่หมอ
      กรตรับตรับฟังรังรอ      กรายว่ายเวียนตอ
ตรเพียนตรพากไยไภ
      ดาบลาวอ้าวอุกเสือไคร      เนื้ออ่อนอ่อนใจ
ประนอมน้ำเงินเงินมี
      แมวม้าพาเทโพลี      จิ้มฟันกุมภีล์
ก็พาอ้ายด้องดวนตาม
      กระแหแห่ห้อมหลังหนาม      อิทุกทุกคาม
มาสู่ปลากดกฎหมาย
      ทมางหมางใจไหลหลาย      ซ่อยซ่าซิวสวาย
ชวาดวิวาทข่มแขยง
      ชโดทองพลุกดุกแดง      ช่อนช้อนชวนแชวง
เห็นพวกกระดี่ดีใจ
      นานาแน่นน้ำเลมไคล      ผุดว่ายเวียนระไว
บรู้กีส่ำสังขยา

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 24 พ.ย. 15, 16:32



เห่ชมนก
โคลง
๏ รอนรอนสุริยโอ้      อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง      ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตจำนง      นุชพี่ เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว      คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ
                 
ช้าลวะเห่
๏ เรื่อยเรื่อยมารอนรอน      ทิพากรจะตกต่ำ
สนธยาจะใกล้ค่ำ      คำนึงหน้าเจ้าตาตรู
๏ เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง      นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
ตัวเดียวมาพลัดคู่      เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
๏ เห็นฝูงยูงรำฟ้อน      คิดบังอรร่อนรำกราย
สร้อยทองย่องเยื้องชาย      เหมือนสายสวาทนาดนวยจร
สาลิกามาตามคู่      ชมกันอยู่สู่สมสมร
แต่พี่นี้อาวรณ์      ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ
นางนวลนวลน่ารัก      ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
แก้วพี่นี้สุดนวล      ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง
นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง      จับไม้เรียงเคียงคู่สอง
เหมือนพี่นี้ประคอง      รับขวัญน้องต้องมือเรา ฯ
                 
มูลวะเห่
ไก่ฟ้ามาตัวเดียว      เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
เหมือนพรากจากนงเยาว์      เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
แขกเต้าเคล้าคู่เคียง      เรียงจับไม้ไซ้ปีกหาง
เรียมคะนึงถึงเอวบาง      เคยแนบข้างร้างแรมนาน
ดุเหว่าเจ่าจับร้อง      สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
ไพเราะเพราะกังวาน      ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย
โนรีสีปานชาด      เหมือนช่างฉลาดวามแต้มลาย
ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย      ห่มตาดพรายกรายกรมา
สัตวาน่าเอ็นดู      คอยหาคู่อยู่เอกา
เหมือนพี่ที่จากมา      ครวญหาเจ้าเศร้าเสียใจ
๏ ปักษีมีหลายพรรณ      บ้างชมกันขันเพรียกไพร
ยิ่งฟังวังเวงใจ      ล้วนหลายหลากมากภาษา ฯ

จากนกสิบชนิด มีสามชนิดไม่เข้าพวก
นกยูง นกขุนทอง(สร้อยทอง) และโนรี ซึ่งเป็นนกเลี้ยง

นอกนั้นมีอยู่ในบุณโณวาทย์คำฉันท์

เสด็จชมคณานก      ดุจผกฤไทยหวน
โกกิลขมิ้นนวล      หัสไนยรังนาน
      ไก่ฟ้าพญาลอ      กระวิกแขวกขวาน
ขุนแผนกระแวนวาน      รวังไพรตระไนยาง
      ขาบเค้ากระทาคุ่ม      อิลุ้มกรุมตรลอนฟาง
เงือกงั่วกระลิงลาง      กเลมาะเค้าแมวโมง
      สร้อยร้าพญาเสวย      ตีวิดวิ่งและคลิ้งโคลง
ภูรโดกชโงกโพรง      กุลาโห่และโกญจา
      ยางกรอกกับดอกบัว      กระเตนตั้วและตับคา
แขกเต้า กระเหว่า สา-      ลิกา แก้ว กรอดเกรียน
      กาสักและสัตวา      มยุเรศตีนเทียน
จินโจ้กระจาบเวียน      บารบุนและเบญจวรรณ
      กินลมสมบัณฑิต-      ยประหิศอัญชัน
เค้ากู่คับแคพรร-      ณพิราบครวญคราง
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 25 พ.ย. 15, 10:37


เห่ชมไม้
โคลง
๏ เรือชายชมมิ่งไม้      มีพรรณ
ริมท่าสาครคันธ์      กลิ่นเกลี้ยง
เพล็ดดอกออกแกมกัน      ชูช่อ
หอมหื่นรื่นรสเพี้ยง      กลิ่นเนื้อนวลนาง ฯ
                  
ช้าลวะเห่
๏ เรือชายชมมิ่งไม้      ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ
เพล็ดดอกออกแกมกัน      ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร
๏ ชมดวงพวงนางแย้ม      บานแสล้มแย้มเกสร
คิดความยามบังอร      แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
จำปาหนาแน่นเนื่อง      คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
คิดคะนึงถึงนงราม      ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง
ประยงค์ทรงพวงร้อย      ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง
เหมือนอุบะนวลละออง      เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม
พุดจีบกลีบแสล้ม      พิกุลแกมแซมสุกรม
หอมชวยรวยตามลม      เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ
สาวหยุด พุทธชาด      บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
นึกน้องกรองมาลัย      วางให้พี่ข้างที่นอน
                  
มูลวะเห่
พิกุล บุนนาคบาน      กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร      เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
เต็ง แต้ว แก้ว กาหลง      บานบุษบงส่งกลิ่นอาย
หอมอยู่ไม่รู้หาย      คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตาตรู
มะลิวัลย์พันจิก จวง      ดอกเป็นพวงร่วงเรณู
หอมมาน่าเอ็นดู      ชูชื่นจิตคิดวนิดา
ลำดวนหวนหอมตรลบ      กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา      รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
๏ รวยรินกลิ่นรำเพย      คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบเอวบาง      ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
๏ ชมดวงพวงมาลี      ศรีเสาวภาคย์หลากหลายพรรณ
วนิดามาด้วยกัน      จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย ฯ

มีพรรณไม้ 17 ชนิดในกาพย์เห่เรือบทชมไม้
มี 14 ชนิดอยู่ในพรรณไม้รอบๆ พระพุทธบาท บรรยายในบุณโณวาทคำฉันท์

ที่ไม่มีคือ พุดจีบ (มีแต่พุดซ้อน)
และในวรรค เต็งแต้วแก้วกาหลง  ขาด เต็ง และ กาหลง

บุณโณวาทคำฉันท์

มาลาเลวงกลิ่น      รสฟุ้งทั้งศิงขร
หล่นลอยชโลธร      ตระหลบอบสุคนธา
      ลั่นทมระดมดาษ      ดุจลาดประพัตรา
แก้วกรรณิกากา-      รเกษกลิ่นกำจรลม
      สายหยุด ประยงค์ แย้ม      ยี่สุ่นแซมสุกรมยม-
โดยดอกลำดวนสม      สุรภีพิกุลกาญจน์
      เบญมาศบุษบัน      มลิวรรณพุดตาลบาน
อังกาบกุหลาบธาร      สุคนธ์เทศเทียมกัน
      บุนนากลออนวล      พุทธชาติอัญชัน
ชงโคยี่เข่งพรรณ      มลุลีกระดังงา
      พุดซ้อนสลับกลีบ      จำปาปีบมลิลา
ซ่อนกลิ่นก็กลิ่นสา-      หัสยั่วกมลเสบย
      รวยเรื่อยจรุงรื่น      วายุพัดรำเพยเผย
บุปผาบุชาเชย      พุทธบาทบขาดวัน
      รุกขชาติประชุมแดน      มรฎปประดิษฐ์สรรพ์
ดั่งจิตรลดาวัน      วชิราสถาวร

...

เสด็จชมพนาดร      วรพฤกษสักขี
รวกรังกระสังมี      ผลดกประดู่แดง
      ชาเลียงและเหียงหัน      พชิงชันกระชุมแสง
จวงจันทนจิกแจง      ตะขบข่อยมค่าคาง
      พลวงพลองมตองแต้ว      และมตูมมตาดทราง
เกดแก้วลำไยยาง      พยอมยูงรโยงไพง
      อ้อยช้างและช้างน้าว      และกระเช้าสีดาใส่
หูกวางและกร่างไกร      มเกลือกล่ำกระลำภอ
      คูนเคี่ยมตะเคียนคล้าย      และย่างทรายเสม็ดสมอ
ปริกปรงประยงคุ์ยอ      มดูกเดื่อกระโดนโกรน
      สนสักมะกักกอก      และตระแบกตะบากโยน
หลาวหลกชโอนโอน      และกระทุ่มกระถินทอง
      คนทามะค่าแค      มงั่วแง่ระงับกรอง
เล็บนางขานางน้อง      มฝ่อแฟบมเฟืองไฟ
      เต่าร้างภุมเรียงรัก      ดูสลักสลมไพร
พรรณพฤกษ์ระบัดใบ      รบุช่อผกากาง
      หอมหวนประอวนกลิ่น      รสรินณริมทาง
ราชาคณานาง      ก็นิยมภิรมย์ยวน

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 25 พ.ย. 15, 11:47


ลองพิจารณาร่องรอยอิทธิพลของบุณโณวาทคำฉันท์/กาพ์เห่เรือ ที่มีต่อลิลิตตะเลงพ่าย

พระมหาอุปราชาชมไม้
ร่าย
๏ พระภูธรลวิลนาง   พลางรันทายรันทด ขุนคอคชหมื่นควาญ   ขับคชาธารจรดล   ลุตำบลสามสบ ธก็ปรารภรำพึง ถึงพักตร์พาลพธู   พลางพระดูดงเฌอ   พิศพุ่มเสมอเหมือนฉัตร เป็นขนัดเนืองนันต์ หลายเหล่าพรรณพฤกษา มีนานาไม้แมก หมู่ตระแบกตระบาก มากกระเบากระเบียน ตะขบตะเคียนคูนแค สมอสมีแสมม่วงโมก ซากซึกโศกสนสัก รวกโรกรักรังรง ปริกปริงปรงปรางปรู ลำแพนลำพูลำพัน จิกแจงจันทน์พันจำ เกดระกำกอกกุ่ม   กระทุ่มกระถินพิมาน เหล่าเสลาลานโลดเลียบ   เพียบพื้นแผ่นแดนไพร   หมู่มะไฟมะฝ่อ หมู่มะก่อมะกัก กระลำพักกระลำพอ ยูงยางยอกำยาน   แต้วตูมตาลตาดต้อง   ซ้องแมวโมงมูกมัน หาดเหียงหันกันเกรา สะเดาดูกเดื่อดก   กะทกรกรกฟ้า   มะข้ามะขามขานาง   ย่างทรายไทรไข่เหน้า เปล้าประดู่ดูดาษ สนุ่นหนาดขนุนขนาน   พะวาหวานหวายหว้า   สะบ้าสะบกเขลงขลาย   ประคำควายประคำโก่ ไผ่เพกาดาเสีอ มะเกลือมะกล่ำรำไย ไกรกรดกร่างช้างน้าว ขวิดขวาดขว้าวตะโกตะกู   พลับพลวงพลูพลองสล้าง   พลางบพิตรเจ้าช้าง ชื่นชี้ชมเดียว ฯ
๏ พระเหลียวแลไม้ดอก   ออกช่อแซมแนมผล ไขสุคนธ์เสาวรภย์   เลวงตรลบเเหล่งพนัส วายุพานพัดรำเพย ระเหยหอมฟุ้งเฟื่อง เปลื้องหฤทัยรำจวน เหล่าลำดวนดาษดง   แก้วกาหลงชงโค   ยี่สุ่นยี่โถโยทะกา พุดจีบลาลานเนตร   เกดพิกุลแบ่งกลีบปีบจำปาจำปี มะลุลีประดู่ดง ปรูประยงค์ยมโดย โรยเรณูร่วงเร้าเย้ากมลชวนชื่น สุรภีรื่นรสคนธ์ บุนนาคปนปะแปม การะเกดแกมกรรณิการ์ มะลิวัลย์ลาหลายหลาก   มากเมิลหมู่แมกไม้ ถวิลถึงองค์อ่อนไท้ ธิราซร้อนทรวงเสียว อยู่นา ฯ
                 
โคลง ๔
๏ มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า      อายสู
สถิตอยู่เอ้องค์ดู      ละห้อย
พิศโพ้นพฤกษ์พบู      บานเบิก ใจนา
พลางคะนึงนุชน้อย      แน่งเนื้อนวลสงวน ฯ
๏ พระครวญพระคร่ำไห้      โหยหา
พลางพระพิศพฤกษา      กิ่งเกี้ยว
กลกรกนิษฐนา-      รีรัตน์ เรียมฤๅ
ยามตระกองเอวเอี้ยว      โอบอ้อมองค์เรียม ฯ
๏ เฌอปรางเปรียบนาฏน้อง      นวลปราง
รักดั่งรักนุชพาง      พี่ม้วย
ช้องนางเฉกช้องนาง      คลายคลี่ ลงฤๅ
โศกพี่โศกสมด้วย      ดั่งไม้นามมี ฯ
๏ อบเอยอบชื่นชี้      เฌอสม ญาฤๅ
อบว่าอรอบรม      รื่นเร้า
อบเชยพี่เชยชม      กลิ่นอบ เฌอนา
อบดั่งอบองค์เจ้า      จักให้เรียมเชย ฯ
๏ ขานางนึกคู่คู้      ขาสมร
พลางพี่โอบเอวอร      แอบเคล้า
กระทุ่มดั่งทุ่มกร      ตีอก เรียมฤๅ
เกดว่าเกศนุชเกล้า      กลิ่นกลั้วเสาวคนธ์ ฯ
๏ เล็บมือนางนี้หนึ่ง      นขา นางฤๅ
ต้องดั่งต้องบุษบา      นิ่มน้อง
ชงโคคิดชงฆา      นุชนาฏ เหมือนฤๅ
เรียมระเมียรเดื่อปล้อง      ดั่งปล้องศอสมร ฯ
๏ ซ่อนกลิ่นกลิ่นแก้วซ่อน      นาสา เรียมฤๅ
ตาดว่าตาดพัสตรา      หนุ่มเหน้า
สลาลิงเล่ห์ซองสลา      นุชเทียบ ถวายฤๅ
สวาดดั่งเรียมสวาทเจ้า      จากแล้วหลงครวญ ฯ
๏ สลัดไดใดสลัดน้อง      แหนงนอน ไพรฤๅ
เพราะเพื่อมาราญรอน      เศิกไสร้
สละสละสมร      เสมอชื่อ ไม้นา
นึกระกำนามไม้      แม่นแม้นทรวงเรียม ฯ
๏ โม้โรกเหมีอนโรคเร้า      รุมกาม
ไฟว่าไฟราคลาม      ลวกร้อน
นางแย้มหนึ่งแย้มยาม      เยาว์ยั่ว แย้มฤๅ
ตูมดั่งตูมตีข้อน      อกอั้นกันแสง ฯ
๏ สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง      ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย      ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย      วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า      หยุดได้ฉันใด ฯ
๏ สุกรมกรมสุขไซร้      ไป่มี
กรมแต่ทุกข์เทวษทวี      ห่อนเว้น
นมสวรรค์นึกบัวศรี      เสาวภาคย์ พี่เอย
ถวิลบ่เคยขาดเคล้น      คลาดน้องใครถนอม ฯ
๏ โกสุมชุมช่อช้อย      อรชร
เผยผกาเกสร      ยั่วแย้ม
รวยรื่นรสคนธ์ขจร      จังหวัด ไพรนา
กลิ่นตระการกลแก้ม      เกศแก้วกูสงวน ฯ
บันทึกการเข้า
หอยทากเจ้าวายุ
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 09 ธ.ค. 15, 12:09


คนเราทุกคนจะอ่อนไหว นักรัก หรือคนแข็ง คนหุนหันก็เป็นกวีได้ (เวลาตกอยู่ในโลกส่วนตัว)
ส่วนจะแต่งออกมาได้ดีหรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เอาละ สมมติตั้ง assumption โดยทึกทักไปเองว่าคนทั่วไปที่มีบุคลิกแข็งๆ ไม่น่าจะเป็นกวีได้

ถ้างั้น "โดยตรรกะเดียวกัน" คนที่มีบุคลิกแข็งๆ จะคบหาสมาคมกับกวีไปเพื่ออะไรล่ะ !?

คนทั่วไป หากจะอุปถัมภ์กวี ตัวเองก็ต้องมีใจรักกวีไม่มากก็น้อย

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 10:24


คนเราทุกคนจะอ่อนไหว นักรัก หรือคนแข็ง คนหุนหันก็เป็นกวีได้ (เวลาตกอยู่ในโลกส่วนตัว)
ส่วนจะแต่งออกมาได้ดีหรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เอาละ สมมติตั้ง assumption โดยทึกทักไปเองว่าคนทั่วไปที่มีบุคลิกแข็งๆ ไม่น่าจะเป็นกวีได้

ถ้างั้น "โดยตรรกะเดียวกัน" คนที่มีบุคลิกแข็งๆ จะคบหาสมาคมกับกวีไปเพื่ออะไรล่ะ !?

คนทั่วไป หากจะอุปถัมภ์กวี ตัวเองก็ต้องมีใจรักกวีไม่มากก็น้อย

 ยิงฟันยิ้ม


ผมเข้าใจว่าที่หลายๆท่านได้คุยกันในกระทู้นี้
ความในปัจจุบันได้พ้น assumption ที่คุณหอยทากเจ้าวายุว่าคนทั่วไปที่มีบุคลิกแข็งๆ ไม่น่าจะเป็นกวีได้ ไปนานแล้ว
เราดูความไม่สมเหตุสมผล จากหลักฐานที่ปรากฏหลายๆอย่างมากกว่า
ไม่อย่างนั้นก็เถียงกันไปได้เรื่อยๆ แบบ "จะทำไปเพื่ออะไรล่ะ ?" เดี๋ยวคนดูก็ไล่ลงเวทีในที่สุด
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 10:35


ในโอกาสปิดเทอมสั้นๆ ปลายปีเมื่อได้ฤกษ์ จับพลัดจับผลูเข้าเข้ามาเขียนต่อแล้ว
ก็ขอเรียนต่อว่า บุคคลที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตเจ้าฟ้ากุ้ง
ที่เห็นควรจะกล่าวต่อไปในกระทู้นี้มี สามคนด้วยกัน คือ

1. พระอุปราช-พระเจ้าบรมโกศ
2. เจ้าฟ้านเรนทร์-ภิกษุ
3. ออกขุนชำนาญ-เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์

โดย กฏการสืบราชสมบัติ จากพี่ไปน้อง และจากพ่อไปลูก รวมทั้งการทำรัฐประหารโดยขุนนางผู้ใหญ่
ที่มีการละเมิดตลอดยุคสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำให้ผู้ที่มุ่งหวังในพระราชบัลลังก์จำต้องดำเนินการสร้างฐานอำนาจ
ของตนเองให้มั่นคง เพื่อที่จะใช้กำจัดคู่แข่ง และปีนไปสู่เป้าหมายให้ได้เมื่อถึงเวลาอันควร
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 20 คำสั่ง