เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 49733 ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 26 ก.ย. 15, 15:00

พระสาส์นสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่ส่งไปเมืองจีนในพ.ศ.๒๑๒๒ เขียนว่า 'พระนคอนสียุดทยา' ครับ

บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 26 ก.ย. 15, 15:09

คำว่า อยุทธยา มีใช้พระราชกำหนดเก่าหรือประกาศพระราชบัญญัติเก่าๆจำนวนมากครับ แม้ว่าพระราชกำหนดจะมีการแก้ไขการสะกดคำเป็นรูปแบบภาษาสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีใช้ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงแล้วครับ ควบคู่ไปกับ อโยธยา ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเมืองเก่าคืออโยธยาศรีรามเทพนครซึ่งเป็นรัฐโบราณอยู่ทางตะวันออกของเกาะเมืองปัจจุบัน แต่เพราะห่า(กาฬโรค)ลงเป็นเหตุทำให้ย้ายมาอยู่ที่ตรงหนองโสนในปัจจุบัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น 'อยุทธยา' นับแต่นั้น จะเป็นเพราะตั้งเมืองใหม่เลยไม่ให้ชื่อซ้ำเดิมหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ เรื่องนี้สุจิตต์ วงษ์เทศสันนิษฐานว่า ต้องสร้างเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันตกเพื่อแก้เคล็ดแล้วล้างอุบาทว์หลังห่าลง เข้าใจว่าเรื่องเปลี่ยนชื่อก็อาจด้วยเหตุผลเดียวกันก็เป็นได้

ชื่อ อยุทธยา อย่างเช่นที่ปรากฏในกฎหมายนั้น ตัวกฎอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบทได้ แต่ส่วนประกาศพระราชบัญญัติพระราชกำหนดต่างๆ เป็นสิ่งที่ได้ประกาศออกมาแล้วไม่น่าจะถูกแก้ไข ถ้าจะแก้อย่างมากน่าจะแก้แค่การสะกดคำให้เข้ากับยุคสมัยเท่านั้น ไม่น่าจะถึงกับแก้ชื่อพระนคร ซึ่งประกาศเหล่านี้ตั้งแต่สมัยพระเจ้ารามาธิบดีก็ใช้คำ อยุทธยา แล้วครับ เช่น

"ศุภมัศดุะ ๑๙๐๔ ศกชวดนักสัตว เดีอน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จันวาระ มีพระราชโองการมานะพระบันทูลพระราชอาญาสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาบพิตรเปนเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชกฤษฎิกาบัญญัติคำนับเผดิยงแก่เสนาพฤฒามาตยราชมนตรีภิริโยธามุขทุกกระทรวงทบวงการทหารรพลเรีอนซ้ายขวาประชาราษฎรทังหลายสมสังกัดพรรคอันมีในแว่นแคว้นพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุริรมย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า"


หรือในประการพระไอยการลักภาลูกเมียผู้คนท่าน ซึ่งดูจากการใช้คำและเนื้อความน่าจะเขียนสมัยพระเจ้ารามาธิบดีจริง(แต่แก้การสะกดคำ เป็นแบบสมัยร.๑) อิงเหตุการณ์สมัยที่สุโขทัยยังไม่ตกเป็นของอยุทธยา
'ศุภมัศดุ ๑๘๙๙ มเมนักสัตว เดือนอ้าย ขึ้นเจดค่ำพุทธวาร ปริเฉทกำหนด จึ่งนายสามขลาเสมิยนพระสุภาวะดีบังคมทูลแต่สมเดจ์พระรามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ประสงด้วยข้าหนีเจ้าไพ่รหนีนายแลมีผู้ไปเอาถึงเชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช เมืองท่านเปนอันหนึ่งอันเดียวกันดั่งนี้แลมีผู้เอาทาษเอาไพร่ท่านมาขาย แลเจ้าทาษเจ้าไพร่แห่งนครศรีอยุทธยาพบ แลมากล่าวพิภาษว่าให้ผู้ไถ่ไปไล่เอาเบี้ยแก้ผู้ขายนั้นคืน ข้าพระพุทธเจ้าขอเรียนพระราชประนิบัติ จึ่งสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจ์ภุดดากฤตยในเฉลียงบังอาจ์รัตนแปรพระภักตรโดยปัดจิมาภิมุขสมบูรรณ มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหม(เหล่านี้คือเมืองสำคัญของอยุทธยายุคต้น)นั้น บมิชอบเลย'


นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอย่างวรรณกรรมสมัยก่อนเสียกรุงครั้งแรก อย่างทวาทศมาสน่าจะแต่งสมัยหลังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไล่เลี่ยกับกำสรวลสมุทรบทสุดท้ายที่ว่า  
    อยุธยายศโยคฟ้า          ธรณี
เกษมบุรีภูธร                   ปิ่นเกล้า
ทวาทศสิบสองมี               สังเวช
สังวาสเกษมสุขท้าว            ทั่วหล้าเสวยรมย์



หรืออย่างในโคลงห้าโองการแช่งน้ำซึ่งภาษาเก่าแก่กว่าอยุทธยามาก แต่พระเจ้ารามาธิบดีคงทรงเอามาใช้โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน แต่อาจปรับให้เข้ากับสมัยพระองค์ดังที่มีข้อความว่า 'ผู้บดีบซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหา จักรพรรดิศรราชาธิราช'



หรือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกหมายเลข ๒/ก๑๐๔ ที่เขียนเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช(เจ้าสามพญา)อย่างละเอียด สันนิษฐานว่าน่าจะเขียนสมัยหลังเหตุการณ์ไม่มากนัก รูปแบบภาษาเก่าแก่กว่าพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนารายณ์ น่าเชื่อว่าเขียนก่อนเสียกรุงครั้งแรกครับ

'จึงสมเด็จ็พรบรมราชาธิราชเจา กไหขุนพิ้จํตรแตงพรราชวั้งฝายอุฎรแลราชมลเฑยิรไนสัรดเกบเดอิมนั้นแลทารกเสด็จ็ไปสถิศอูยไน้ทินั้นแลไหพรราชทานพรราชมลเทยิ้รเดิมสมเด็จ็พระรามเมศวรบรมไตร้ยโลคนารถบพิตรทารกเสด็จ็สถิศไนราไช้สวรรคถวัล..(ชำรุด)..ปรเวณิ้ สิบสรรตติยศิรสูริยวงษทรงทศพิศราชธรรมไน้กรุ้งพระมหาณคอรศิรอยุทยา'

(นี่จึงแย้งกับพงศาวดารสมัยหลังด้วยว่า เจ้าสามพญาทรงย้ายวังไปอยู่ติดแม่น้ำตั้งแต่สมัยพระองค์แล้ว แล้วพระราชทานวังเก่าให้พระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาเมื่อพระบรมไตรโลกนาถครองราชย์คงจะทรงย้ายไปวังใหม่ ส่วนวังเก่าก็สร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ครับ)
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 26 ก.ย. 15, 16:27


เอกสารที่สอบศักราชได้ ก่อน พ.ศ. 2112
ยังไม่ปรากฏชื่อ อยุทธยา อยุทยา ครับ
ไม่นับฉบับที่คัดลอกภายหลัง

ถ้าใครพบเห็นไดโปรดเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 26 ก.ย. 15, 17:35

เรื่องของศัพท์ว่าคำใดสะกดอย่างไรนี่ เห็นจะเอามาเป็นบันทัดฐานไม่ได้ เพราะสมัยนั้นคงไม่มีราชบัณฑิตสถานมากำหนด อาลักษณ์คงเขียนไปตามครูบาอาจารย์ของแต่ละท่านไป

อย่าว่าแต่สมัยกรุงเก่าเลย สมัยรัตนโกสินทร์ก่อนราชบัณฑิตสถานจะทำพจนานุกรม ก็สะกดกันคนละอย่างสองอย่างเช่นกัน
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 26 ก.ย. 15, 18:17


เอกสารที่สอบศักราชได้ ก่อน พ.ศ. 2112
ยังไม่ปรากฏชื่อ อยุทธยา อยุทยา ครับ
ไม่นับฉบับที่คัดลอกภายหลัง

ถ้าใครพบเห็นไดโปรดเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปครับ


ตรงนี้ผมหมายถึง ท่านใดเคยเห็นเอกสารที่สอบศักราชได้ว่า
มีอายุเอกสารก่อน พ.ศ. 2112 แล้วมีชื่อเมือง อยุทธยา อยุทยา ยุดทยา
ที่ไม่ใช่ อโยธยา ได้โปรดเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานด้วยครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 26 ก.ย. 15, 22:49

คำ "อยุทธยา" หรือ "อยุธยา" ที่พบในกำสรวลสมุทรสามารถแทนที่ด้วย "อโยธยา" โดยไม่ขัดกับฉันทลักษณ์ครับ และฉบับที่มาถึงยุครัตนโกสิทร์ไม่น่าจะมีฉบับไหนที่ยืนยันได้ว่าเป็นต้นฉบับ จะถูกแปลงในการคัดลอกในสมัยหลังก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาดนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 08:14


  
    ปี พ.ศ. 2290 เจ้าฟ้ากุ้งผู้โปรดให้จารึกฯ ยึดมั่นที่จะออกพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐา สุริยวงษ์
และตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล อย่างเหนียวแน่นและเป็นแบบเดียวกันกับ ที่ใช้ใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ กาพย์ห่อโคลง
    
    ตรงนี้ผมขอเสนอเล่นๆว่า ชื่อตัวของเจ้าฟ้ากุ้งคือ เจ้าฟ้าไชย ครับ
    สุริยวงศ์ เป็นเชื้อสายพระราม สุริยวงศ์ แห่งอโยธยา  
    พระเจ้าปราสาททองและพระเจ้าแผ่นดินต่อๆมา ดูค่อนข้างที่จะนิยมในพระไชยราชาเป็นมาก และใช้เป็นแบบอย่างหลายครั้งครับ
    พระโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททองชื่อ เจ้าฟ้าไชย
    ทรงบูรณะวัดชีเชียง ที่สร้างโดยพระไชยราชา (วัดชีเชียง อยู่ที่ ... ?)




เรื่องตำแหน่งของวัดชีเชียง พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์)ได้วินิจฉัยไว้ในหนังสือ 'อธิบายแผนที่นครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับชำระครั้งที่ ๒' ไว้ดังนี้ครับ

“...ป้อมปืนตรงวัดสีเชียงเป็นป้อมพระราชวังด้านใต้อยู่เกือบตรงกลางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์  หน้าป้อมออกระหว่างหลังวิหารแกลบ  กับหน้าวิหารพระมงคลบพิตร  ในกฏมณเฑียรบาลเรียกว่าป้อมศาลาพระมงคลบพิตร  แต่ในหนังสือนี้ว่าอยู่ตรงกลางวัดสีเชียง  นอกจากด้านหลังของป้อมอยู่เกือบกึ่งกลางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้ว  ข้างด้านหน้าป้อมไม่เห็นตรงกับวัดอะไร  แต่ก็มีตำนานการสร้างวัดในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า  เมื่อเดือน ๖ ปีจอ  พ.ศ.๒๐๘๑  ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช  แรกให้พูนดินวัดชีเชียงและสถาปนาพระพุทธรูป  พระเจดีย์เป็นอันว่า  วัดชีเชียงหรือวัดสีเชียง  มีจริง  จะหมายความว่าวิหารแกลบเป็นวัดสีเชียงหรืออย่างไรไม่ทราบ  แต่ที่วิหารแกลบก็มีแต่วิหาร  หามีเจดีย์ไม่”

สันนิษฐานว่าคงอยู่ใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ไม่ห่างจากพระวิหารพระมงคลบิพิตรเท่าไหร่ครับ แต่ไม่ปรากฏซากให้เห็นนอกจากวิหารแกลบ


ทั้งนี้ถ้าอิงตามหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของ VOC ประจำกรุงศรีอยุทธยาสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้อธิบายไว้ว่าถูกฟ้าผ่าบ่อย เคยมีพระเจ้าแผ่นดินหลายองค์พยายามบูรณะแต่ไม่สำเร็จ จนมาถึงพระเจ้าปราสาททองทรงรื้อวัดชีเชียงทิ้งทั้งหมดครับ ไม่ได้ทรงบูรณะครับ แล้วไปสร้างวัดใหม่ซึ่งฟาน ฟลีตไม่ได้อยู่นานพอที่จะเห็นว่าทรงสร้างเสร็จหรือไม่

"...ข้าพเจ้าได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ว่าพระชัยราชา พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สิบสี่แห่งสยามได้สร้างวัดพระชีเชียง ซึ่งมีเหตุมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นเสมอๆ  เนื่องจากเป็นเรื่องนิยายเกินไป ข้าพเจ้าจึงไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

    ครั้งหนึ่ง วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในพระราชอาณาจักร แต่ได้ถูกฟ้าผ่า และพายุพัดหักลงมาตลอดเวลา  พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้  แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มงานก็ต้องล้มเลิกไปกลางคัน  เพราะว่าผู้ควบคุมงานและคนงานเกิดเจ็บป่วยและสิ้นชีวิตอย่างน่าสังเวช

    กล่าวกันว่าพราหมณ์และพระสงฆ์ได้ทำนายไว้ ว่าผู้ที่จะบูรณะวัดนี้ได้ ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าอย่างบริสุทธิ์  

    เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว พระองค์ศรีธรรมาธิราช(พระเจ้าปราสาททอง)ได้ทรงให้รื้อวัดจนถึงฐาน  และทรงย้ายรูปหล่อทองแดงซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นออกไปไกลหลายวา เพื่อว่าจะสร้างวัดใหม่ ณ ที่ประดิษฐานรูปหล่อทองแดง..."


พระไชยราชาซึ่งเป็นพระนามในพงศาวดารเข้าใจว่าเป็นพระนามก่อนครองราชย์และค่อนข้างสามัญ เพราะมีปรากฏพระนามตอนครองราชย์ในกฎหมายลักษณะพิศูจน์ว่า 'สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชธิราช' ครับ

ส่วนเรื่องโยงพระเจ้าปราสาททองเข้ากับพระไชยราชา ส่วนตัวแล้วคิดว่ายังไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดพอครับ ที่เด่นๆคือทรงนิยมเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเขมร หรือเน้นหนักในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับคติจักรพรรดิราชอย่างพระราชพิธีอินทราภิเศกที่ทำตอนลบศักราช    ส่วนเรื่องพระนามของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หากว่า ไชย เป็นคำที่สำคัญจริง ก็ไม่น่าจะไปไว้ข้างหลัง ในที่นี้น่าจะเป็นเพียงสร้อยนามเท่านั้นครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 12:21

คำ "อยุทธยา" หรือ "อยุธยา" ที่พบในกำสรวลสมุทรสามารถแทนที่ด้วย "อโยธยา" โดยไม่ขัดกับฉันทลักษณ์ครับ และฉบับที่มาถึงยุครัตนโกสิทร์ไม่น่าจะมีฉบับไหนที่ยืนยันได้ว่าเป็นต้นฉบับ จะถูกแปลงในการคัดลอกในสมัยหลังก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาดนะครับ

เห็นด้วยในหลักการตามที่คุณ CrazyHOrse ว่ามาครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 13:17


ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ช่วยกันออกความเห็น ให้ได้มองเห็นกันในแง่มุมต่างๆครับ

เรื่องชื่อเมือง ในเอกสารต่างๆ ผู้ชำระเอกสารมีส่วนอย่างมากในการแก้ไขตามยุคสมัยครับ

ลองดูกรณีที่ คุณศรีสรรเพชญ์ ยกมาครับ

ร่องรอยของการแก้ไขชื่อเมืองก็มีอยู่

"มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหมนั้น บ่มิชอบเลย"

ส่วนข้อความแบบสมัยใหม่ ทันยุคสมัย ก็มีเห็นกันบ้าง

"ศุภมัศดุะ ๑๙๐๔ ศกชวดนักสัตว เดีอน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จันวาระ มีพระราชโองการมานะพระบันทูลพระราชอาญาสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาบพิตรเปนเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชกฤษฎิกาบัญญัติคำนับเผดิยงแก่เสนาพฤฒามาตยราชมนตรีภิริโยธามุขทุกกระทรวงทบวงการทหารรพลเรีอนซ้ายขวาประชาราษฎรทังหลายสมสังกัดพรรคอันมีในแว่นแคว้นพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุริรมย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า"

ส่วนการตั้งชื่อเมือง อยุทธยา ถ้าท่านอ้างความเห็นของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็น่าสนุกครับ
คนอ่านอย่างผมมีเรื่องเห็นไม่ตรงกับความเห็นของนักเขียนท่านนี้ในหลาย ๆ กรณีมากครับ (เกือบทุกเรื่อง)

ในส่วนกำสรวลสมุทร ตามข้อสังเกตของคุณ CrazyHOrse ตัวต้นฉบับอาจเป็น

       อโยธยาไพโรชไต้      ตรีบูร     
    ทวารรุจิรยงหอ             สรหล้าย     
    อโยธยายิ่งแมนสูร         สุระโลก รงงแฮ     
    ถนัดดุจสวรรคคล้ายคล้าย      แก่ตา ฯ   

ซึ่งจะไม่ขัดกับสมมติฐานการกำหนดอายุของวรรณกรรมไปเป็นยุคอยุธยาตอนต้น  เรื่องนี้ผมไม่มีข้อความเห็นแย้งครับ

   เรื่องวัดชีเชียง พระยาโบราณฯ ท่านก็บอกกลาย ๆ ว่า ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแน่
พระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะวัดนี้ และ วันวลิต ไม่มีตรงไหนบอกว่ารื้อทิ้งนะครับ
ถ้าไม่มีท่านใดเสนอ ผมขอเสนอก่อนตรงนี้ว่า

  วัดชีเชียง (วัดเก้ายอด) คือวัดไชยวัฒนาราม สร้างโดยสมเด็จพระไชยราชา บูรณะเสร็จโดยพระเจ้าปราสาททอง

  หลักฐานสนับสนุนขอละไว้ก่อนนะครับ  วันนี้ขอนำเสนอเรื่องเจ้าฟ้ากุ้งต่อไปก่อน

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 13:51


จากตู้หนังสือเรือนไทย ครับ

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก

 ขึ้นต้นมา ท่านให้เป็น credit ของ producer ครับ
 เป็นโคลงสองบท ไมีมีกาพย์ห่อ

       เจ้าฟ้าธรรม ท่านแท้      พยายาม
    ธิเบศร์ กุมารนาม             บอกแจ้ง
    ไชยเชษฐ ปัฐคาม            ภิรภาพ
    สุริยวงศ์ ทรงกาพย์แกล้ง      กล่าวเกลี้ยงโคลงการ ฯ      
      กาพย์โคลงชมเถื่อนถ้ำ      ไพรพง
    เจ้าฟ้าธิเบศร์ทรง               แต่งไว้
    อักษรบวรผจง                  พจนาดถ์
    ใครอ่านวานว่าให้              เรื่อยต้องกลโคลง ฯ      


 ต่อจากนั้นเป็นกาพย์ห่อโคลง ชมสร้อยศรีสมร อาลัยรักไปตลอด เช้าสายบ่ายเย็น วันเดือนปี

๑    สองชมสองสมพาส      สองสุดสวาทสองเรียงสอง
     สองกรสองตระกอง      สองคลึงเคล้าเฝ้าชมกัน ฯ
          สองชมสมพาสสร้อย      ศรีสมร
    สองสมพาสสองเสมอนอน      ครุ่นเคล้า
    สองกรก่ายสองกร               รีบรอบ
    สองนิทร์สองเสน่ห์เหน้า        แนบน้องชมเชย ฯ

๒       ชมเผ้าเจ้าดำขลับ      แสงยับยับกลิ่นหอมรวย
    ประบ่าอ่าสละสลวย      คือมณีสีแสงนิล ฯ
      ชมเกศดำขลับเจ้า      สาวสลวย
    แสงระยับหอมรวย      กลิ่นแก้ว
    ละเอียดเสียดเส้นสวย      ประบ่า
    คือมณีเนื้อแล้ว      คลับคล้ำแสงนิล ฯ


ชมนก ชมไม้ไปจนถึงคู่ 149-150

๑๔๙      ชมโฉมโลมสมพาส      บทนิราศจากชายา
         นักปราชญ์ย่อมแต่งมา      เล่ห์ท่าทางอย่างเรียมทำ ฯ
            ชมโฉมสมพาสแก้ว       ไนยนา
          พลัดพรากจากชายา        ชื่นชี้
          นักปราชญ์ย่อมแต่งมา      ในโลก
          เล่ห์ท่าทางอย่างนี้          ชอบด้วยเรียมทำ ฯ

๑๕๐      จบเสร็จคร่ำครวญกาพย์      บทพิลาปถึงสาวศรี
          แต่งตามประเวณี       ใช่เมียรักจักจากจริง ฯ
             โคลงครวญกลอนกล่าวอ้าง      นารี
          โศรกสร้อยถึงสาวศรี      เษกหว้า
          แต่งตามประเพณี          ธิรภาคย์
          เมียมิ่งพรั่งพร้อมหน้า      ห่อนได้จากกัน ฯ


ต่อด้วยคำบรรยายราชสำนักเจ้าฟ้ากุ้ง มุมมองโดยผู้สังเกต ที่ไม่ใช่เจ้าตัว

๑๕๑        เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ      ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง
         นางรักนักสนมองค์         อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์ ฯ
              เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ      รพิพงศ์
         ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง           เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์          อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า             เฟ่าพร้อมบริบูรณ์


แล้วต่อด้วยบทจบ พร้อม credit producer ที่ดูคุ้นตา

๑๕๒       นักปราชญ์หมู่เมธา       มีปัญญาอันฉับไว
         พินิจผิดบทใด                วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ
             กลกลอนบวรเกลี้ยง         คำแขง ก็ดี
         นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง      เปลี่ยนให้
         กลอนเกินเขินคำแคลง          ขัดข้อง
         วานเพิ่มเติมลงไว้                อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ

            จบ จนจอมโลกเจ้า        คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์           เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง      ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า      ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ      

            เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช      กุมาร
        ธรรม พงศ์ทรงกลอนการ      อยู่แย้ม
        ธิเบศร์ วราสถาน              ไชยเชฐ
        สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม      แต่งไว้อ่านสงวนฯ
     
           เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ          สมภาร
        กรมขุน หลวงพญากราน      กราบเกล้า      
        เสนา นราบาล                ใจชื่น ชมนา
        พิทักษ์ รักษาเช้า             ค่ำด้วยใจเกษม ฯ


 บท 150-151 ก็บอกแล้วว่าไม่ได้ออกจากวังไปไหน แต่ตอนจบก็ยังแถม จบบริบูรณ์ตอนจอมโลกย์เจ้าคืนวังอีก
 บอกให้คนดูทราบอีกครั้งว่า producer เจ้าเดียวกับนิราศธารทองแดง

  นิราศธารโศกนี้ มีกาพย์ห่อโคลง 152 คู่ มีโคลงเกินมาอีก 5 บท
  เกินมาเฉพาะตอนสำคัญที่คือ บทโฆษณา Producer

  ถ้านิราศธารโศก ท่านแต่งเอง ตรงโฆษณาสรรพคุณ producer ก็คงจะเป็นผลงานของผู้คัดลอกภายหลัง
  ที่หวังดีแต่ประสงค์ร้ายคัดลอกมาแปะเข้าด้วยกันแบบให้คนดูงงเล่นครับ
  (หวังว่าไม่ใช่ฝีมือ คุณ CrazyHOrse   ยิงฟันยิ้ม )
   
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 16:27


ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ช่วยกันออกความเห็น ให้ได้มองเห็นกันในแง่มุมต่างๆครับ

เรื่องชื่อเมือง ในเอกสารต่างๆ ผู้ชำระเอกสารมีส่วนอย่างมากในการแก้ไขตามยุคสมัยครับ

ลองดูกรณีที่ คุณศรีสรรเพชญ์ ยกมาครับ

ร่องรอยของการแก้ไขชื่อเมืองก็มีอยู่

"มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหมนั้น บ่มิชอบเลย"

ส่วนข้อความแบบสมัยใหม่ ทันยุคสมัย ก็มีเห็นกันบ้าง

"ศุภมัศดุะ ๑๙๐๔ ศกชวดนักสัตว เดีอน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จันวาระ มีพระราชโองการมานะพระบันทูลพระราชอาญาสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาบพิตรเปนเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชกฤษฎิกาบัญญัติคำนับเผดิยงแก่เสนาพฤฒามาตยราชมนตรีภิริโยธามุขทุกกระทรวงทบวงการทหารรพลเรีอนซ้ายขวาประชาราษฎรทังหลายสมสังกัดพรรคอันมีในแว่นแคว้นพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุริรมย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า"



ตั้งแต่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงก็มีชื่อเมืองเพชรบุรี ราชบุรีอยู่แล้วครับ  สะกด ราชบูรี เพชบูรี   ส่วนสุพรรณบุรี ในจารึกหลักที่ ๑ เรียก สูพรณณภูม แต่ถ้าในสมัยหลังจะเรียกเป็น สุพรรณบุรีแล้วก็ไม่เห็นว่าจะน่าแปลกประหลาดอย่างไรครับ

ส่วนการปกครองตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีก็ปรากฏตำแหน่งของกระทรวงกรมหลายๆกรมอยู่แล้วอย่างจตุสดมภ์ หรือตำแหน่งของขุนางฝ่ายทหารพลเรือนอย่างตำแหน่งสมุหนายกก็มีอยู่ก่อนแล้ว แต่มีตำแหน่งสูงสุดแค่ 'ขุน' ไม่ใช่ว่าเพิ่งมีในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้มีการตราพระอัยการนาพลเรือนกับนาทหารหัวเมืองอย่างที่เข้าใจครับ อย่างเช่นใน

กฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.๑๙๗๔ มี ขุนจ่าแสนศรีองครักษ์ สมุหนายก   ขุนศรีนพรัตนราชโกษาธิบดี
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ พ.ศ.๑๘๘๖ มี ขุนเกษตราธิบดี
กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ.๑๙๐๒ มี ขุนพระคลัง  เป็นต้นครับ

การตราพระไอยการของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถน่าจะเป็นการจัดระเบียบหรือปรับปรุงระบบเดิมมากกว่าครับ อย่างหนึ่งที่เห็นคือบรรดาศักดิ์สูงสุดของขุนนางไม่ใช่ขุน แต่ถูกยกระดับเป็น พระยา หรือ เจ้าพระยา



ส่วนการตั้งชื่อเมือง อยุทธยา ถ้าท่านอ้างความเห็นของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็น่าสนุกครับ
คนอ่านอย่างผมมีเรื่องเห็นไม่ตรงกับความเห็นของนักเขียนท่านนี้ในหลาย ๆ กรณีมากครับ (เกือบทุกเรื่อง)



ส่วนเรื่องสุจิตต์ วงษ์เทศ เนื้อหาส่วนใหญ่แล้วผมเองก็ไม่ได้เชื่อถือมาก เพราะหลายเรื่องยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอและดูเหมือนใช้ความเห็นส่วนตัวมากเกินไป เพียงแต่เห็นว่าข้อสันนิษฐานในเรื่องนี้มีความน่าสนใจเลยยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้นครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 16:42



   เรื่องวัดชีเชียง พระยาโบราณฯ ท่านก็บอกกลาย ๆ ว่า ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแน่
พระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะวัดนี้ และ วันวลิต ไม่มีตรงไหนบอกว่ารื้อทิ้งนะครับ
ถ้าไม่มีท่านใดเสนอ ผมขอเสนอก่อนตรงนี้ว่า

  วัดชีเชียง (วัดเก้ายอด) คือวัดไชยวัฒนาราม สร้างโดยสมเด็จพระไชยราชา บูรณะเสร็จโดยพระเจ้าปราสาททอง



ในจดหมายเหตุวันวลิตที่ผมยกมาก็บอกอยู่แล้วนะครับว่ารื้อถึงฐาน ย้ายพระประธานออกไปเพื่อสร้างวัดตรงตำแหน่งใหม่ตรงตำแหน่งที่ย้ายพระประธานไป

เรื่องตำแหน่งวัด สอบได้เพียงว่ามีป้อมสีเชียงอยู่ใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งตำแหน่งของป้อมนี้ถูกระบุว่าอยู่กลางวัดสีเชียง(ชีเชียง) จึงทำให้เข้าใจว่าตำแหน่งวัดเดิมอยู่ตรงนั้น ซึ่งห่างกับวัดชัยวัฒนารามที่อยู่ใต้พระนครมาก ไม่น่าจะเป็นวัดเดียวกันได้ครับ

แต่เรื่องวัดชัยวัฒนารามมีมาก่อนสมัยพระเจ้าปราสาททองผมเห็นด้วยครับ เพราะมีชื่อวัดนี้ปรากฏในพระราชกำหนดที่ออกในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และมีปรากฏในพงศาวดารช่วงสงครามช้างเผือก พ.ศ.๒๑๐๖ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าเป็นหนึ่งในที่ตั้งค่ายของทัพหงสาวดี พระเจ้าปราสาททองน่าจะทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ใหญ่โตมากกว่าจะเพิ่งทรงสร้างใหม่ในรัชกาลครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 27 ก.ย. 15, 17:10



ต่อด้วยคำบรรยายราชสำนักเจ้าฟ้ากุ้ง มุมมองโดยผู้สังเกต ที่ไม่ใช่เจ้าตัว

๑๕๑        เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ      ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง
         นางรักนักสนมองค์         อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์ ฯ
              เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ      รพิพงศ์
         ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง           เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์          อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า             เฟ่าพร้อมบริบูรณ์


แล้วต่อด้วยบทจบ พร้อม credit producer ที่ดูคุ้นตา

๑๕๒       นักปราชญ์หมู่เมธา       มีปัญญาอันฉับไว
         พินิจผิดบทใด                วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ
             กลกลอนบวรเกลี้ยง         คำแขง ก็ดี
         นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง      เปลี่ยนให้
         กลอนเกินเขินคำแคลง          ขัดข้อง
         วานเพิ่มเติมลงไว้                อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ

            จบ จนจอมโลกเจ้า        คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์           เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง      ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า      ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ      

            เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช      กุมาร
        ธรรม พงศ์ทรงกลอนการ      อยู่แย้ม
        ธิเบศร์ วราสถาน              ไชยเชฐ
        สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม      แต่งไว้อ่านสงวนฯ
     
           เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ          สมภาร
        กรมขุน หลวงพญากราน      กราบเกล้า      
        เสนา นราบาล                ใจชื่น ชมนา
        พิทักษ์ รักษาเช้า             ค่ำด้วยใจเกษม ฯ


 บท 150-151 ก็บอกแล้วว่าไม่ได้ออกจากวังไปไหน แต่ตอนจบก็ยังแถม จบบริบูรณ์ตอนจอมโลกย์เจ้าคืนวังอีก
 บอกให้คนดูทราบอีกครั้งว่า producer เจ้าเดียวกับนิราศธารทองแดง

  นิราศธารโศกนี้ มีกาพย์ห่อโคลง 152 คู่ มีโคลงเกินมาอีก 5 บท
  เกินมาเฉพาะตอนสำคัญที่คือ บทโฆษณา Producer

  ถ้านิราศธารโศก ท่านแต่งเอง ตรงโฆษณาสรรพคุณ producer ก็คงจะเป็นผลงานของผู้คัดลอกภายหลัง
  ที่หวังดีแต่ประสงค์ร้ายคัดลอกมาแปะเข้าด้วยกันแบบให้คนดูงงเล่นครับ
  (หวังว่าไม่ใช่ฝีมือ คุณ CrazyHOrse   ยิงฟันยิ้ม )
   


บท ๑๕๒ น่าจะเป็นการแทรกเข้าไปอย่างที่กล่าวมาครับ อาจจะเป็นคนอื่นแต่งอย่างที่ได้ว่ามา ถ้าจะอิงจากเนื้อหาผู้แต่งก็ต้องอยู่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่ใช่กวียุคหลัง แต่จะมองแต่งโฆษณาตนเองก็น่าจะได้เหมือนกัน เรื่องมุมมองบุคคลที่ ๓ ถ้าผู้แต่งประสงค์จะโฆษณาให้เห็นชัดว่าตนเองเป็นผู้แต่งโดยการบอกชื่อตนเองลงไปก็ไม่น่าจะแปลกประหลาดอย่างใดครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 30 ก.ย. 15, 17:30


รีบเข้ามาตอบ ก่อนที่ คุณศรีสรรเพชญ์จะสรุปว่า วัดชีเชียง ถูกพระเจ้าปราสาททอง"รื้อทิ้ง"
วันวลิตบอกว่ารื้อถึงฐาน ไม่ได้แปลว่ารื้อทิ้ง
ก่อนหน้านั้นวันวลิตก็บอกชัดเจน ว่าพระเจ้าปราสาททองตั้งใจบูรณะวัดนี้ 
ตำแหน่งที่พระยาโบราณฯ ว่าไว้เป็นวัดชีเชียงไม่ได้ ที่ไม่กว้างพอครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 30 ก.ย. 15, 19:11


เรื่องมุมมองบุคคลที่ ๓ ถ้าผู้แต่งประสงค์จะโฆษณาให้เห็นชัดว่าตนเองเป็นผู้แต่งโดยการบอกชื่อตนเองลงไปก็ไม่น่าจะแปลกประหลาดอย่างใดครับ

เห็นตรงกับคุณศรีสรรเพชญ์ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 20 คำสั่ง