เอาละครับพระเอกเชนของเราขอถอยไปตั้งหลักก่อน เหลือเพียงลูกกระจ๊อกอย่างกระผมไว้ล่อเป้าถ่วงเวลาไว้ก่อน
เดี๋ยวกระสุนเบาบางลงพระเอกคงแย้มม่านออกมาใหม่ครับ
จะขอเรียนตอบคุณศรีสรรเพชญ์ และท่านอาจารย์เทาชมพูไปทีละประเด็นครับ
1. เรื่องกำสรวลสมุทร ชื่อสถานที่ต่างๆมีอยู่ในสมัยพระนารายณ์ด้วยครับ ผมเชื่อตามท่าน ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร ที่ว่าเรื่องนี้
เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยอยุธยาไม่น่าจะมีมากกรณีที่เจ้านายชั้นสูงแอบรักกับพระสนมเอกแล้วยังแต่งกลอนเผยแพร่ได้
2. เรื่องพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่น่ามีข้อขัดแย้งครับ ท่านน่าจะเป็นผู้แต่งหลักในงานพระราชนิพนธ์
กรณีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรนี้ ถ้าเป็นผู้แต่งงานมาสเตอร์พีซของวรรณคดีไทยถึง สี่เรื่องต้องนับว่าเป็นอัจริยะของอัจฉริยบุคคลที่แท้จริง
แต่ที่แปลกคือไม่มีพงศาวดารฉบับใดบอกเลยว่าท่านแต่งโคลงกลอนเก่ง มีแต่กล่าวถึงรายละเอียดความเกเรของท่าน
ถ้าท่านเก่งในระดับอัจฉริยะ ร้อยปีมีคน ทำไมถึงไม่มีผู้กล่าวถึงความสามารถนี้ในเอกสารร่วมสมัยครับ
3. เรื่องสุนทรภู่ติดเหล้า น่าจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำครับ ดีไม่ดีต้องกินเหล้าก่อนจึงจะแต่งได้ดีครับ
4. เรื่อง เชคสเปียร์ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีบางคนเถียงกันอยู่เลยว่า ใครเป็นผู้แต่งงานของเชคสเปียร์
5. ฮิตเลอร์ตอนหนุ่มก็เป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงตนเอง เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วแกก็ยังชอบพบปะกับศิลปินและจิตรกรที่เชิญมาอยู่เนืองๆ
แต่ว่าแกไม่ชอบศิลปะสมัยใหม่ ที่สำคัญคือไม่มีงานชิ้นไหนของแกที่จัดว่าป็นมาสเตอร์พีซนะครับ
ที่ขายได้มีราคาหลังจากแกมีชื่อเสียงแล้วเพราะว่าท่านผู้นำวาด
อีกอย่างที่กรมโฆษณาการของอเมริกาและอังกฤษไม่คอยพูดถึงคือ ฮิตเลอร์และพวกนาซีส่วนใหญ่เป็นคริสต์และเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
เหมือนกับกองทัพญี่ปุ่นที่ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลาก็เป็นชาวพุธเหมือนไทย ไหว้พระถือศีลได้บ้างเหมือนกัน
เห็นด้วยครับว่าคนโหดเหี้ยมก็สามารถมีด้านที่ละเอียดอ่อนได้ แต่ไม่ใช่ระดับสร้างผลงานอัจฉริยะได้หลายผลงานในคนเดียวกัน
ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งท่านเขียนผลงานในระดับ พระมะเหลเถไถ มะไหลโถ ก็คงไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยนะครับ
แต่นี่คืองานชิ้นเอกสี่ชิ้น ในวงการวรรณคดีไทย โดยบุคคลเดียวเท่านั้น เอกลักษณ์บุคคลไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์เลยครับ
ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของ คำหลวง ทั้งสองฉบับครับ
เดี๋ยวมาต่อครับ
พระเอกเชน กลับมาด่วน 
1.จริงๆผมเคยอ่านงานของดร.วินัย พงษ์ศรีเพียรครับ แต่จำไม่ได้แล้ว อยากขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนว่ากำสรวลสมุทรแต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์หน่อยครับ เพราะทั้งการใช้คำและภาษาและเนื้อความนั้นไม่สอดคล้องกับภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ
2.มีเจ้านายหลายองค์ที่ทรงมีความสามารถด้านการประพันธ์ เช่น สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือรัชกาลที่ ๑ ผมก็ไม่เคยเห็นพงศาวดารหรือหลักฐานร่วมสมัยยกย่องความสามารถด้านนี้เลยครับ ทั้งนี้พงศาวดารเป็นเอกสารที่เน้นหลักในเรื่องเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ ไม่ค่อยเน้นเรื่องความสามารถส่วนพระองค์ ส่วนมากถ้าจะมีการยอพระเกียรติก็จะเป็นการยกย่องว่าทรงมีบารมีมาก เกิดนิมิตมีพระบรมสารีริกธาตุ หรือฝ่าผ่าโดนพระองค์ไม่เป็นอะไรมากกว่าจะยกย่องความสามารถส้วนพระองค์
ถ้าเราพิจารณาจากพงศาวดารที่มีเนื้อความเก่าจริงๆอย่างพระราชพงษาวดาร ความเก่าตามต้นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ หรืออย่างพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)ตอนสมเด็จพระนารายณ์(น่าจะชำระตั้งแต่สมัยอยุทธยา)แทบไม่มีข้อความพิสดารอะไรเลย จะเน้นบรรยายเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น แล้วจะรู้เลยว่าความพิสดารและบทสนทนาต่างๆถูกเพิ่มมาในสมัยรัตนโกสินทร์นั่นเองครับ เทียบจากฉบับธนบุรีกับฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)จะทราบได้ ส่วนฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)มีการยกย่องความสามารถในการขี่ม้าล่อแพนช้างของพระเพทราชาตอนยังไม่ครองราชย์ แต่ยกย่องแบบอ้อมๆ และไม่เกิดขึ้นบ่อย
ภาพอัธยาศัยส่วนพระองค์และความสามารถของเจ้านายมักจะพบได้จากเอกสารประเภท 'คำให้การ' อย่างคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด (ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการเอาความจากเอกสารเหล่านี้มาแทรกในพงศาวดารที่ชำระหลังจากฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)คือในฉบับพระพนรัตน์เป็นต้นมา)อย่างเช่นความสามารถในการปราบช้างม้าพยศของออกหลวงสุรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) วิชาศิลปศาสตร์ช้างของสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นว่า "อันการช้างของพระองค์นี้ยกเป็นยอดยิ่งนัก เป็นอัครมหากษัตริย์ในพงศาวดาร ไม่มีกษัตริย์องค์ใดในการวิชาช้างนี้ จักเสมอพระองค์ได้" แต่ด้วยเนื้อหารวมๆของเอกสารที่ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยหลายอย่างและหลายตอนมีเนื้อหาพิสดารเกินจริง ทำให้เอกสารคำให้การนี้มีความน่าเชื่อถือน้อย น่าจะเป็นเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากมากกว่า
ส่วนข้อ 3 4 5 ผมก็ยังคิดเหมือน อ.เทาชมพูครับว่าเรื่องอุปนิสัยกับความสามารถน่าจะแยกจากกันครับ ผมไม่ปฏิเสธว่าบางบทดูเหมือนจะไม่ใช่พระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งอาจจะเกิดจากการเขียนเสริมในสมัยหลังหรือหรืออาจจะมีคนช่วยแต่งให้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะนำพระอัธยาศัยส่วนพระองค์มาเป็นตัวชี้วัดว่าพระองค์ต้องไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ดีๆได้ครับ