เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 49728 ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 08:08


เมื่อผ่านสองปีในรัชสมัยพระบรมโกษ เจ้าฟ้ากุ้งในวัยหนุ่มก็เริ่มสร้างวีรกรรมแอบลอบทำร้ายพระ
แต่พระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์นี้เกือบได้เป็นกษัตริย์ และน่าจะเป็นพระญาติที่พระเจ้าบรมโกษรักและนับถือมาก
แล้วเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีเหตุอะไรที่ต้องไปลอบทำร้ายพระองค์นี้หรือครับ

ผลสุดท้ายพระนางเจ้าอภัยนุชิต ต้องขอให้พระช่วย
เรียนย้ำนะครับปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๒๗๘ นักเลงหนุ่มเลือดร้อนหนีไปบวชพระทิ้งให้เจ้าชายเล็กๆต้องรับเคราะห์แทน
ไม่เห็นว่าท่านจะรู้สึกผิด เขียนอะไรบ้างในเรื่องนี้เลย
เกณฑ์อายุน่าจะประมาณ ยี่สิบต้น ๆ แล้วท่านทรงพระนิพนธ์ กาพย์ และโคลงต่างๆ ตอนไหนครับ



เหตุที่พระองค์ไปทำร้ายพระภิกษุกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แม้พงศาวดารจะไม่ได้กล่าวไว้ตรงๆก็คงจะประมาณได้ว่าท่านอิจฉาครับ แต่เรื่องนี้ผมก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเหตุผลที่จะทำให้ท่านไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ดีๆได้ครับ แล้วก็ต่อให้ท่านจะทรงรู้สึกผิดก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ท่านจะต้องเขียนออกมาเลยนี่ครับ

เรื่องพระชันษาของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร อาจจะลองประเมินโดยเทียบจากตาราง รายนามพระเจ้าแผ่นดินในคำให้การชาวกรุงเก่า ว่าพระเจ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์ตอนพระชนม์ได้ ๓๙-๔๐ ในพ.ศ.๒๓๐๑ ก็จะประมาณปีพระราชสมภพอยู่ที่ พ.ศ.๒๒๖๑-๖๒ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรน่าจะมีพระชนม์สูงกว่าเล็กน้อย ในพ.ศ.๒๒๗๘ น่าจะมีพระชันษาราว ๒๐ ปลายๆครับเกือบ ๓๐ ครับ เวลาผ่านมาประมาณนี้สำหรับคนที่เป็นกวีเองก็น่าจะมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานได้มากอยู่ครับ



พระบวชใหม่ ปีเดียวหรือ สองปี นะครับ ที่แปลภาษาบาลีได้หมดจดแล้วรังสรรค์วรรณกรรมชิ้นเอกที่เกี่ยวกับศาสนามาได้ถึงสองชิ้น
ถ้าไม่นับว่าเป็นสุดยอดอัจฉริยะบุคคลก็แปลกใช่ไหมครับ
สำนวนที่ใช้ไม่มีวี่แววว่าเป็นสำนวนพระพรรษาน้อยเลย
ประเมินพระชันษาแบบคร่าวๆ สันนิษฐานว่าน่าจะทรงเคยผนวชตามประเพณีเมื่อพระชนม์ ๒๑ พรรษามาก่อนแล้ว และการจะเรียนภาษามคธนั้น ตามความเห็นส่วนตัวของผมคือถ้าอยากจะเรียนรู้ให้แตกฉานจริงๆก็สามารถเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องผนวชครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 08:16



พระเจ้าบรมโกษเสด็จประพาศ

และ ณ เดือน ๖ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ฉลองวัดหานตรา ถึง ณ ปีมะแมเอกศก (จ.ศ. ๑๑๐๑ พ.ศ. ๒๒๘๒ ) เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท
ครั้นเดือน ๑๒ ปีวอกโทศก (จ.ศ. ๑๑๐๑๒ พ.ศ. ๒๒๘๓ ) พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปสมโภช พระชินราช พระชินศรี ณ เมืองพระพิษณุโลก ๓ วัน
เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชพระสารีริกบรมธาตุ ณ เมืองสวางคบุรี ๓ วัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงพระนครศรีอยุธยา


สองปีหลังจากสึก ท่านน่าจะได้ตามเสด็จประพาสพระบาท
กาพย์ห่อโคลงธารทองแดง และ โคลงนิราศพระบาท น่าจะแต่งช่วงนี้

         เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ


แต่จะแต่งโดยเจ้าฟ้าหนุ่มน้อยเหมือนที่เขียนในโคลงหรือครับ เกณฑ์อายุไม่น่าเข้ากัน



การเสด็จไปพระพุทธบาทเป็นราชประเพณีที่ทำเป็นประจำในเดือน ๔ ครับ ซึ่งมีระบุในเอกสารประเภทคำให้การว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปเป็นประจำ นอกจากนี้ก็มีตำรากระบวนเสด็จไปพระพุทธบาทแบบละเอียด การรักษาพระนครเมื่อเสด็จไปพระพุทธบาท ลพบุรี เพชรบุรี(ซึ่งเป็นที่เสด็จประจำ) รวมถึงตำราทรงพระเครื่องต้น ซึ่งระบุเครื่องทรงที่ใช้ในงานพระพุทธบาทอย่างละเอียดก็ย่อมเป็นหลักฐานให้เห็นว่าการไปพระพุทธบาทเป็นงานที่จัดเป็นประจำจนต้องมีตำราเขียนไว้เป็นแบบแผนครับครับ 

พ.ศ.๒๒๘๒ ในพระราชพงศาวดารน่าจะจัดเป็นงานสมโภชใหญ่เป็นพิเศษมากกว่าถึงได้บันทึกไว้ในพงศาวดาร

ดังนั้นหากจะประพันธ์เรื่องกาพย์ห่อโคลงธารทองแดง ก็น่าจะแต่งตอนไหนที่เสด็จไปก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 08:57


แต่งตั้งกรมพระราชวัง
 
ครั้นเดือน ๕ ปีระกาตรีศก (จ.ศ. ๑๑๐๓ พ.ศ. ๒๒๘๔ )
พระราชโกษาบ้านวัดระฆังกราบทูลว่า จะขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นกรมพระราชวัง
จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณี


แปดปีหลังจากสึกท่านถึงได้เป็นอุปราชวังหน้า

เราลองกลับไปดูส่วนที่เขียนว่าท่านแต่งใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง กันดีกว่าครับ

     อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
     เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
     เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า


ท่านบอกว่าวรรณกรรมนี้แต่งโดยวังหน้าในขณะที่บวชอยู่
ตกลงเราควรให้ นันโทปนันทสูตรคำหลวง แต่งใน พ.ศ. ไหนครับ

และ ในพระมาลัยคำหลวง

       สมุดมาลัยเลิศล้ำ       ลิลิต
       กรมพระราชวังคิด       ว่าไว้
       จบเสร็จเรื่องราวประดิษฐ์       (ประดับ?) แต่ง
       เพราะพร่ำทำยากได้       (แจ่มแจ้ง?) ใจจริง

      
       เมื่อเสร็จศักราชได้       สองพัน
       สองร้อยแปดสิบสรร       เศษเหล้า


ถ้าส่วนอื่นแต่งตอนบวชจริง ก็แปลว่าข้อความตอนนี้มีคนเขียนแทรกเข้ามาทีหลัง เพราะตอนบวชยังไม่เป็นวังหน้า
ถ้าเขียนแทรกได้แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าท่านเป็นคนแต่งจริงๆ หรือไม่ประการใดครับ

เชน จะกลับมาช่วย หรือยังครับท่าน


ข้อความสองตอนนี้ผมเห็นด้วยครับว่าแต่งเพิ่มในสมัยที่ทรงได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว

ถ้าดูจากข้อความท้ายเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง ซึ่งข้อความระบุว่าระบุนันโทปนันทสูตรคำหลวงแต่งโดย 'เจ้าฟ้าธรงพระผนวชกรมขุนเสนาพิทักษ์' แต่งเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘(หลัง) พ.ศ.๒๒๗๙ ปีมะโรง ครับ

มีการ 'ชุบบาฬัี' โดย นายสังกับนายสา และ 'ชุบเนื้อความ' โดย นายทองสุก     ชุบ ในที่นี้ผมไม่แน่ใจความหมายที่แท้จริงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการคัดลอกมาลงโดยอาจจะรวมถึงแก้ไขตรวจทานด้วยครับ ซึ่งจากเนื้อความเห็นได้ว่าน่ามีการนำมาเขียนลงสมุดเล่มใหม่ครับ ซึ่งอาจจะมีการแต่งเพิ่มเติมไปด้วยในตอนที่เขียนลงสมุดเล่มใหม่เพื่อทูลเกล้าถวายนั่นเองครับ อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงพระนิพนธ์ไว้นานแล้วโดยไม่ได้นำทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อาจจะมาถวายเมื่อครั้งได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว

ข้อความท้ายเรื่องครับ


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 09:05

ข้อความท้ายนันโทปนันทสูตรคำหลวง สำเนาอักษรไทยย่อครับ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 09:53

ตอบจากความทรงจำ เรื่องความสัมพันธ์ของพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ พระเจ้าบรมโกศ และเจ้าฟ้ากุ้งค่ะ

เจ้าฟ้านเรนทร์เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าท้ายสระ    พระเจ้าท้ายสระเป็นพี่ชายของเจ้าฟ้าพรหรือพระเจ้าบรมโกศ   นับญาติกันแล้วพระเจ้าบรมโกศเป็นอาของเจ้าฟ้านเรนทร์
การสืบราชสมบัติในสมัยอยุธยาเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐประหารในราชอาณาจักรที่เกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละราชวงศ์    คือพระเจ้าแผ่นดินมักจะมีทั้งน้องชายและลูกชาย      คนสมัยนั้นอายุไม่ยืนเท่าคนสมัยนี้ พระเจ้าแผ่นดินมักจะเสด็จสวรรคตไปตั้งแต่พระชนม์ยังไม่ทันจะแก่หง่อม  น้องชายก็ยังไม่ทันแก่เฒ่า  ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน   ส่วนลูกชายก็ยังเป็นเด็กบ้าง หรือโตเป็นหนุ่มน้อยแล้วบ้าง       
เมื่อพ่อรักลูกมากกว่าน้อง  ราชสมบัติก็จะตกกับลูกชาย  ซึ่งขาดประสบการณ์การปกครองและขาดบารมีเท่าอา    จึงเกิดการชิงราชสมบัติจากอากระทำต่อหลานกันหลายครั้ง   ส่วนใหญ่หลานก็ถูกสำเร็จโทษไปตามระเบียบของผู้แพ้
หนึ่งในหลานน้อยรายที่ฉลาดพอจะเล็งเห็นความจริง ทำนอง Survival of the fittest ตามทฤษฎีของชาร์ลสส์ ดาร์วิน    ว่าผู้เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่ได้  คือเจ้าฟ้านเรนทร์     ท่านรู้ว่าขืนรับมรดกราชสมบัติจากพระราชบิดาก็จะไปไม่รอด เพราะมีเจ้าฟ้าพรผู้เป็นอานั่งทะมึนอยู่พร้อมด้วยฝีมือและกำลังขุนนางหนุนหลังอีกเพียบ  เจ้าฟ้านเรนทร์ก็หาทางออกที่ปลอดภัยที่สุด คือผนวชแล้วไม่สึก
การผนวชของเจ้านายในสมัยนั้น มีความหมายตรงๆคือสละสิทธิ์ในราชสมบัติ   รองลงมาคือหลบหลีกราชภัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 10:09

       พระเจ้าบรมโกศทรงทราบดีว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ทำเช่นนี้เพราะไม่ต้องการจะกีดหน้าขวางตาอา     ผิดกับพระอนุชาของเจ้าฟ้านเรนทร์อีกสององค์คือเจ้าฟ้าอภัยและน้องชายชื่ออะไรลืมไปแล้ว ที่ฮึดสู้อา ก็เลยเกิดศึกกลางเมืองนองเลือดขึ้นมา   หลานก็พ่ายแพ้อาไปตามระเบียบ
       นอกจากจะเอาชีวิตไม่รอดแล้ว บรรดาแม่ทัพนายกองที่จงรักภักดีต่อนาย ก็พลอยถูกประหารไปด้วยอีกมาก   เพื่อให้สิ้นเสี้ยนหนามแผ่นดิน     นี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำลังพลของกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง  เพราะขุนศึกเก่งๆตายไปเยอะตั้งแต่ต้นรัชกาล  หาแม่ทัพนายกองมาสืบทอดฝีมือรบกันไม่ได้ในสมัยปลายอยุธยา

       ความเจียมตัวรู้แพ้รู้ชนะของพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าบรมโกศ    ก่อนหน้านี้ทั้งสองพระองค์ก็คงจะสนิทสนมเป็นที่โปรดปรานกันมาก่อนน่ะละค่ะ     ดังนั้น เจ้าฟ้านเรนทร์จึงเข้าวังมาเฝ้าพระเจ้าอาได้บ่อยๆตามพระราชประสงค์     ใครๆก็เลยมองว่าพระเจ้าบรมโกศทรงรักหลานองค์นี้มากเป็นพิเศษ     แม้ว่ามีพระราชโอรสหลายพระองค์ ก็หาได้มีองค์ใดเป็นที่โปรดปรานเท่าเจ้าฟ้านเรนทร์ไม่
       เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์พระราชโอรสองค์ใหญ่ จึงมองเจ้าฟ้านเรนทร์เป็นคู่แข่ง   พระนิสัยไม่กินเส้นกับพี่น้องแทนที่จะรักใคร่กลมเกลียว เป็นที่ประจักษ์ในพงศาวดาร  เห็นได้จากทรงชิงชังน้องรองๆลงไปอีกสามองค์ที่เรียกรวมกันว่าเจ้าสามกรมเอาเสียเลย     ดังนั้นถ้าหากว่าจะทรงวู่วามขึ้นมาถึงขั้นกำจัดเจ้าฟ้านเรนทร์ เอาง่ายๆ  ก็เป็นไปได้   
      ถ้าเราเชื่อจดหมายของฝรั่ง ที่กล่าวถึงในต้นกระทู้นี้  ก็จะเห็นว่า อย่าว่าแต่เจ้าฟ้านเรนทร์ที่เจ้าฟ้ากุ้งพระเอกกระทู้นี้คิดกำจัดเลย  แม้แต่พระเจ้าบรมโกศเอง ก็ทรงอยู่ในภาวะฉิวเฉียดเป็นอันตรายจากพระราชโอรสอยู่ไม่น้อย     ดังนั้นการสำเร็จโทษที่เกิดขึ้น ถึงไม่มีเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นสาเหตุ ก็มีแนวโน้มจะเกิดได้เพราะเหตุอื่นอยู่ดี
       นี่ยังไม่รวมว่า เป็นแผนของเจ้าสามกรม ชิงกำจัดเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์โดยอาศัยมูลเหตุเรื่องเจ้าฟ้าสังวาลย์อีกด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 10:14

   ดิฉันยังไม่เห็นเหตุผลว่า บทกวีที่ประกาศตัวผู้แต่งเอาไว้ชัดเจน เหตุใดจึงยิ่งเป็นข้อสงสัยว่าไม่ได้แต่งแน่ๆ  ต้องมีกวีนิรนามอยู่เบื้องหลัง
   เทียบง่ายๆ ก็ถ้าในเรือนไทยนี้กระทู้ไหนลงชื่อ NAVARAT.C ไว้ว่าเป็นคนเขียน   ท่านทั้งหลาย   ให้พึงสงสัยว่าเป็นของเทาชมพูแน่ๆ  กระนั้นหรือคะ

   กุลบุตรในสมัยอยุธยาตอนปลาย เล่าเรียนวิชามาตั้งแต่เยาว์  ยิ่งถ้าระดับเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าจะต้องเรียนกับพระเถระที่เชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม อาจจะระดับพระสังฆราชเลยก็ได้      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ท่านต้องเรียนภาษาไทย บาลีและขอมด้วยมาตั้งแต่เด็กแล้ว    คนที่มีสติปัญญาและพรสวรรค์ทางภาษาขนาดนี้  เมื่อเป็นหนุ่มใหญ่ มีลูกตั้งหลายองค์ ไปบวช ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะแต่งคำหลวงทั้งสองเรื่อง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 10:27

สมมติฐานที่เชนกล่าวไปแล้ว ว่าเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีมือปืนรับจ้างคอยเขียนคอยแต่งแน่นอน ตัวท่านอาจจะริเริ่มแต่งขึ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มีคนช่วยขัดเกลาแต่งเสริม เข้ารูปแบบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่… ซึ่งแต่งโดยผู้แต่งนิรนามแต่ยกเครดิตให้รัชกาลนั้นๆ

รัชกาลที่ 1 ก็มีเหมือนกัน  แต่พระราชนิพนธ์บทละครอย่างรามเกียรติ์   คือประชุมกวีมาแต่งเสียมากกว่าทรงเอง

ในรัชกาลที่ ๒ อิเหนาของเดิมของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ ต้นฉบับสูญหายไป    สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯถึงประชุมกวีหน้าพระที่นั่ง แต่งของเดิมขึ้นมาใหม่

เห็นด้วยกับเชน   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 10:49

      พระเจ้าบรมโกศทรงทราบดีว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ทำเช่นนี้เพราะไม่ต้องการจะกีดหน้าขวางตาอา     ผิดกับพระอนุชาของเจ้าฟ้านเรนทร์อีกสององค์คือเจ้าฟ้าอภัยและน้องชายชื่ออะไรลืมไปแล้ว ที่ฮึดสู้อา ก็เลยเกิดศึกกลางเมืองนองเลือดขึ้นมา   หลานก็พ่ายแพ้อาไปตามระเบียบ

อนุชาอีกองค์ชื่อเจ้าฟ้าปรเมศวร์ บางที่ก็เขียน บรเมศร์ บรเมศวร  จริงๆที่ฮึดสู้ก็เพราะพระเจ้าท้ายสระพระบิดาทรงหนุนหลังอยู่ด้วยครับ ตามพงศาวดารจริงๆเจ้าฟ้านเรนทร์ทรงพระผนวชอยู่ก่อนแล้ว พระเจ้าท้ายสระเลยยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย ทำให้พระเจ้าบรมโกศซึ่งเป็นวังหน้าไม่พอพระทัยเพราะข้ามหน้าข้ามตาพระองค์ แต่ถ้ายกราชสมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร์พระองค์ทรงยอมได้ครับ แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ท่านก็ไม่ยอมสึกออกมา

แต่ถ้าเจ้าฟ้านเรนทร์ได้ราชสมบัติเพราะพระเจ้าบรมโกศทรงหลีกทางให้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตบรรดาโอรสสายวังหน้าจะลุกขึ้นมาชิงอำนาจเมื่อพระเจ้าบรมโกศสิ้นไปแล้วครับ


ดิฉันยังไม่เห็นเหตุผลว่า บทกวีที่ประกาศตัวผู้แต่งเอาไว้ชัดเจน เหตุใดจึงยิ่งเป็นข้อสงสัยว่าไม่ได้แต่งแน่ๆ  ต้องมีกวีนิรนามอยู่เบื้องหลัง
เทียบง่ายๆ ก็ถ้าในเรือนไทยนี้กระทู้ไหนลงชื่อ NAVARAT.C ไว้ว่าเป็นคนเขียน   ท่านทั้งหลาย   ให้พึงสงสัยว่าเป็นของเทาชมพูแน่ๆ  กระนั้นหรือคะ

   กุลบุตรในสมัยอยุธยาตอนปลาย เล่าเรียนวิชามาตั้งแต่เยาว์  ยิ่งถ้าระดับเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าจะต้องเรียนกับพระเถระที่เชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม อาจจะระดับพระสังฆราชเลยก็ได้      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ท่านต้องเรียนภาษาไทย บาลีและขอมด้วยมาตั้งแต่เด็กแล้ว    คนที่มีสติปัญญาและพรสวรรค์ทางภาษาขนาดนี้  เมื่อเป็นหนุ่มใหญ่ มีลูกตั้งหลายองค์ ไปบวช ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะแต่งคำหลวงทั้งสองเรื่อง
ความเห็นส่วนตัวส่วนตัวผมคิดว่าพระองค์น่าจะทรงพระนิพนธ์เองเป็นหลัก แต่อาจจะมีคนแต่งเสริมหรือขัดเกลาเพิ่มเติมครับอย่างในบทท้ายๆพระราชนิพนธ์ที่เป็นการบอกว่าใครเป็นคนแต่งน่าจะเป็นคนอื่นแต่งเสริมเพื่อยกย่องผู้ประพันธ์ครับ

ย่อหน้าล่างเห็นด้วยครับ เรื่องภาษาขอม มีหลักฐานว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงทำจารึกแม่อักษรขอมขุดปรอทไว้ด้วยครับ เป็นจารึกอักษรขอมอยู่ภายในกรอบ แสดงการสะกดคำในแม่ ก กา เรียงลำดับอยู่ตามช่องตาราง มีอักษรไทยอธิบายไว้ตอนบน ด้านข้างและด้านหลัง เข้าใจว่าทำไว้เพื่อใช้ในการเรียนภาษาขอมเบื้องต้นของพระภิกษุ มีข้อความจารึกไว้ว่า

"วัน ๖ .๔. ๓ ค่ำพระพุทธศักราช ๒๒๙๐ จุลศักราช ๑๑๐๙ ปีถอะนพศก สมเดจพระราชโอระสาธิราชเจ้า ธรงพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐาสูริยวงษ ได้เสวอยราชพระราชวังบอวอรสถานมงคล ธรงแต่งแม่อักษอรขอมขุดบรอดนี้ไว้สำรับพระพุทธสาษนา"

เมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนผมเพิ่งเห็นที่หอสมุดแห่งชาติ แผนกเอกสารโบราณ คิดว่าน่าจะเป็นอันเดียวกันครับ


อักษรไทย ๒ บรรทัด
๑. แถวบนนี้ แต่คำต้นเปนกันทุกตูว คำปลายเป็นเหล่า กะกำไปสิ้นเหนซ้ำกันอยู่หา
๒. วิเศศมิได้

อักษรขอม ๒ บรรทัด
๑. กนฺน กนฺนา กนฺนิ กนฺนี กนฺนุ กนฺนู กนฺเน กนฺโน
๒. อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ

อักษรไทย ๑๕ บรรทัด
๑. แถว ๘ บันทัดล่าง
๒. นี้ ธรงแต่งใหม่ คำหน้า
๓. เปลี่ยนเป็นกันกาน
๔. กินครบทังสระ ๘
๕. นั้นทัง ๘ แม่สำรับ
๖. สามะเณระแลพระ
๗. ภิกขุอันยังมิแจ้ง
๘. จะได้บอกกลาวเล่า
๙. เรียนสืบไปสำรับ
๑๐. พระพุทธสาษนาจึ่ง
๑๑. จะได้อ่านในท้องพระ
๑๒. คำพีมีอำทิคือ โภนฺโต
๑๓. แล สพฺโพปฺปาทา เปน
๑๔. ต้นจึ่งจะเหนวิเศศใน
๑๕. หย่ำงซึ่งธรงไว้นี้ ฯะะะ

ที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=627
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 11:23

สมมติฐานที่เชนกล่าวไปแล้ว ว่าเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีมือปืนรับจ้างคอยเขียนคอยแต่งแน่นอน ตัวท่านอาจจะริเริ่มแต่งขึ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มีคนช่วยขัดเกลาแต่งเสริม เข้ารูปแบบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่… ซึ่งแต่งโดยผู้แต่งนิรนามแต่ยกเครดิตให้รัชกาลนั้นๆ

รัชกาลที่ 1 ก็มีเหมือนกัน  แต่พระราชนิพนธ์บทละครอย่างรามเกียรติ์   คือประชุมกวีมาแต่งเสียมากกว่าทรงเอง

ในรัชกาลที่ ๒ อิเหนาของเดิมของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ ต้นฉบับสูญหายไป    สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯถึงประชุมกวีหน้าพระที่นั่ง แต่งของเดิมขึ้นมาใหม่

เห็นด้วยกับเชน   ยิงฟันยิ้ม

ย้ายค่ายเถอะคุณหมอ
รามเกียรติกับอิเหนา ไม่มีตรงไหนที่บอกว่ารัชกาลที่ 1 กับรัชกาลที่ 2 ท่านแต่งเองเลย   มีประวัติบอกไว้ชัดเจน ว่าชุมนุมกวีหน้าพระที่นั่ง  อิเหนาในตอนท้ายก็บอกที่มาไว้เหมือนกัน
เรื่องยาวเหยียดขนาดนี้พระเจ้าแผ่นดินจะเอาเวลาที่ไหนมาทรงแต่งแต่องค์เดียว
แต่กาพย์เห่เรือ กับเรื่องอื่นๆบอกไว้ชัดเจนว่าเจ้าฟ้ากุ้งแต่ง  ไม่มีบอกสักคำว่าชุมนุมกวีวังหน้าแต่ง   ก็ยกเครดิตให้ท่านเถอะ 
ถ้ามีกวีแต่งได้เลิศเลอขนาดนี้ น่าจะมีผลงานอื่นออกมาให้เห็นบ้าง  ก็ไม่เห็นมีเลย  วรรณคดีตอนปลายอยุธยา ฝีมือคนละระดับกับเจ้าฟ้ากุ้งทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 12:25

เชนคัมแบค อีกแล้ววว
มารับคุณหมอเพ็ญไปด้วยกัน

เอาน่า เรามันสายวิทย์ ปล่อยให้สายศิลป์เค้าว่าไป เราไปขี่ม้าเล่นเป็นคนดูไปก่อนแล้วกัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 12:34

หัวข้อเรื่อง "ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์" เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

อาจเป็นได้ว่า ผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้นแต่งโดยกวีนิรนามในสำนักของพระองค์ครับ

หากจะแยกเป็นกระทู้ใหม่เพื่อให้เห็นหัวข้อชัดเจน และถ้าผู้ใดมีข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องเดิม "การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้ง" จะได้นำเสนอต่อได้โดยไม่สะดุด  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 13:09

แยกกระทู้แล้วนะคะ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 13:32

เชนคัมแบค อีกแล้ววว
มารับคุณหมอเพ็ญไปด้วยกัน

เอาน่า เรามันสายวิทย์ ปล่อยให้สายศิลป์เค้าว่าไป เราไปขี่ม้าเล่นเป็นคนดูไปก่อนแล้วกัน


ผมก็เรียนสายวิทย์นะครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 13:40

คุณศรีสรรเพชญ์จะไปกับเชนอีกคนหรือคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 19 คำสั่ง