เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 49750 ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 15:42


         อักษรเรียบร้อยถ้อย      คำเพราะ
         ผู้รู้อ่านสารเสนาะ         เรื่อยหรี้
         บรู้อ่านไม่เหมาะ          ตรงเทิ่งไปนา
         ทำให้โคลงทั้งนี้         ชั่วช้าเสียไป
         อักษรสรรค์สร้างช่าง     ชุบจาน
         โคลงก็เพราะเสนาะสาร แต่งไว้
         ผู้รู้อ่านกลอนการ         พาชื่น ใจนา
         ผู้บ่รู้อ่านให้               ขัดข้องเสียโคลง ฯ
[/color]

เป็นไปได้มากที่สองบทสุดท้ายนี้ท่านไม่ได้แต่งเอง
จากมุมมองของ ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องฯ ครับ
[/size]

ไม่เข้าใจว่าคุณ Koratian ตีความอย่างไรถึงคิดว่าสองบทสุดท้ายเจ้าฟ้ากุ้งไม่ได้แต่งเอง

การแต่งกวีนิพนธ์กาพย์กลอนโคลงฉันท์หรือร่าย ในสมัยอยุธยา เขามีไว้ออกเสียงดังๆ  จะเอาไว้เทศน์หรือเอาไว้ขับก็แล้วแต่จุดประสงค์  แต่ไม่ได้มีเอาไว้อ่านกันเงียบๆในใจอย่างสมัยนี้   
กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งก็เช่นกัน เอาไว้เห่  ต้องเห่เป็นด้วย  จึงจะฟังเพราะ
โคลงสองบทนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าท่าน ต้องอ่านเป็นเสียงขับ เรียกว่าทำนองเสนาะ    ถ้าขับไม่เป็น ออกเสียงไปตรงๆอย่างอ่านหนังสือ ก็จะฟังไม่เพราะ    กวีท่านก็เลยเขียนกำกับเอาไว้
คนที่พิถีพิถันแม้กระทั่งการอ่านออกเสียง กำชับกำชาไว้ว่าอย่ามาอ่านทื่อๆเหมือนอ่านหนังสือ   ก็น่าจะเป็นเจ้าของเรื่องเขียนเอาไว้เอง   คนอื่นจะมาบอกแทนได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 15:59

    พงศาวดารไทยกับจดหมายเหตุฝรั่งให้น้ำหนักสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ต่างกัน     ของไทยเราไปให้น้ำหนักเรื่องชู้สาว  ของฝรั่งออกมาในรูปของความมั่นคงภายใน และความระแวงในการชิงอำนาจกันเอง
     เรื่องเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นองค์เดียวกัน    เห็นได้จากเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว มีการบันทึกถึง "สองพระองค์" คือฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง   ถูกนำศพไปไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม   ไม่ใช่ "สามพระองค์"   ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยเจดีย์เหลืออยู่องค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งสูญหายไปเหลือแต่ร่องรอยฐาน

   ทีนี้มาพูดถึงข้อเท็จจริงที่ตรงกันทั้งฝรั่งและไทย    คือเรื่องการประชวรพระโรคซิฟิลิสของเจ้าฟ้ากุ้ง    ทรงพระประชวรนานเป็นปี (คือตั้งแต่ 1 ปีเศษถึง 3 ปี) ขนาดพระโรคแสดงออกทางร่างกายให้เห็น  จนเข้าวังหลวงไม่ได้  ประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง  คนที่ป่วยขนาดนี้ยังลอบเข้าวังไปคบชู้อย่างสม่ำเสมอได้ก็แปลกประหลาดมาก     ผู้หญิงคนไหนยอมต้อนรับได้โดยไม่รังเกียจก็ยิ่งประหลาดหนักเข้าไปอีก  จึงคิดว่า มันทะแม่งจนไม่น่าจะเป็นความจริง
   ทั้งนี้  ไม่ได้หมายความว่า ท่านบริสุทธิ์ 100% ในเรื่องนี้  แต่คิดว่าเป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นนานมาแล้วก่อนประชวร   เพราะมีการกล่าวถึงในพงศาวดารเล่มไหนจำไม่ได้แล้วว่า ทรงรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์มาก่อนฝ่ายหญิงจะต้องมาเป็นพระมเหสีของพ่อ   แต่เมื่อเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นฝ่ายในไปแล้ว  ก็คงต้องเลิกรากันไป   หรือถ้าไม่เลิกก็คงแอบพบปะกันอยู่อีกระยะหนึ่งตอนยังหนุ่มสาว ก่อนจะเลิกกันไปเองเมื่ออายุมากขึ้น    เจ้าฟ้าสังวาลย์เองก็มีพระธิดากับพระเจ้าบรมโกศ 2 พระองค์คือเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎ

   หลักฐานที่นำมาแสดงตอนต้นกระทู้นี้ คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)เล่าว่า
    "นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์"
   ถ้าเป็นจริง เจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎก็ไม่น่าจะรอดพระราชอาญาไปได้  เพราะเป็นลูกชู้     พ่อแม่ตายคาหลักประหารลูกคงไม่รอดอยู่ดี     แต่ก็ไม่เห็นมีการบันทึกในเรื่องนี้   ท่านก็ยังรอดมาแต่งพระนิพนธ์ดาหลังกับอิเหนาให้เหลือร่องรอยมาแต่งต่อกันในสมัยรัตนโกสินทร์   แสดงว่าทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศ   ไม่ใช่ลูกอันเกิดจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 16:20

เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นคนละองค์ครับ ดูจากข้อความในพงศาวดารที่ว่า "นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์" แล้วพระนามก็ห่างไกลกันมาก แต่พระราชพงศาวดารกลับไม่ได้กล่าวถึงการลงอาญาเจ้าฟ้านิ่ม ไม่รู้ว่าบันทึกตกหล่นไปหรือไม่ บางทีอาจจะโดนลงอาญาแต่ไม่ถึงตายเลยไม่มีการกล่าวถึงว่าถูกนำไปฝังที่วัดชัยวัฒนารามครับ

เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันครับ บิดาคือพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเพทราชา พระมารดาคือเจ้าฟ้าเทพเป็นพระธิดาของพระเจ้าท้ายสระครับ
ขอแก้ตรงชื่อพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าแก้วครับ(ไปจำสับสนกับพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสพระเพทราชาเหมือนกัน)  ที่ว่าเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันมีอยู่ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ซึ่งเนื้อความใกล้เคียงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวงจะระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระนัดดาที่เป็นเจ้าฟ้า ๓ องค์ตามลำดับพระชนมายุคือ เจ้าฟ้าจิต กรมขุนสุรินทรสงคราม เจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่มครับ เคยเจอหลักฐานอื่นที่ระบุแบบตรงๆเลยว่าทั้งสององค์เป็นพี่น้องกัน แต่จำไม่ได้ว่าเอามาจากไหร ตอนนี้กำลังหาอยู่ครับ

เรื่องที่ว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเคยรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์มาก่อน เท่าที่อ่านพงศาวดารมาหลายฉบับ(ซึ่งก็ชำระมาใกล้เคียงกันเกือบหมด)ยังไม่เคยเจอที่ระบุไว้เลยครับ แต่อาจจะเป็นคนสมัยหลังตีความเอาจากพระนิพนธ์ของพระองค์ซึ่งทรงรำพันถึงนางผู้เป็นที่รัก ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงเคยรักใคร่ชอบพอกันมาก่อนตามที่อ.เทาชมพูกล่าวมาครับ อาจจะเป็นไปได้ว่าจะทรงเคยลอบเข้าวังหลวงขณะก่อนจะประชวรคุดทะราด
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 16:54

สำหรับเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฏ ส่วนตัวก็คิดว่าคงจะเป็นพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ ในพงศาวดารยังกล่าวว่ามีเจ้าฟ้าสังวาลยังมีโอรสอีกสององค์คือเจ้าฟ้าอาภรณ์กับเจ้าฟ้าสังคีต(หรือสังขีต)  แต่ใน 'บาญชีพระนามเจ้านาย' ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าที่แปลจากภาษาพม่ากลับระบุว่ามีโอรสธิดา ๓ องค์(แต่ตอนเขียนพระนามกลับมี ๔?) คือเจ้าฟ้าหญิงขวันตง(น่าจะเพี้ยนจาก กุณฑล) เจ้าฟ้าชายอัมพร(อาภรณ์) เจ้าฟ้าหญิง(ไม่ระบุชื่อ แต่น่าจะเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ) เจ้าฟ้าหญิงอีกองค์หนึ่ง ไม่มีเจ้าฟ้าสังคีต อันนี้ไม่แน่ใจว่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของเอกสารในการจดชายเป็นหญิง หรือพงศาวดารคลาดเคลื่อน หรือจริงๆมีเจ้าฟ้าหญิงที่ไม่ระบุชื่อองค์เดียวแต่เขียนซ้ำเป็นสอง(หรือผิดพลาดตอนพิมพ์ก็ไม่ทราบ)

อิงตามความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ซึ่งเนื้อความใกล้เคียงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวง ระบุลำดับอายุของโอรสธิดาเจ้าฟ้าสังวาลย์คือเจ้าฟ้ากุณฑล เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าสังคีต สำดับใกล้เคียงกับบัญชีแต่ไม่มีเจ้าฟ้าสังคีต

ลองคิดเล่นๆแบบไม่มีหลักฐานยืนยันดูว่าในกรณีที่มีเจ้าฟ้าสังวาลมีโอรสธิดา ๓ องค์ตามบัญชีพระนามเจ้านายจริง(เจ้าฟ้าหญิงอีกองค์อาจจะเขียนเกิน) จะเป็นไปได้มั้ยครับที่เจ้าฟ้าสังคีตซึ่งมีอายุน้อยสุดอาจจะเป็นลูกชู้ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เลยถูกตัดชื่อไปจากบัญชีพระนามเจ้านายที่น่าจะเขียนในเมืองพม่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 17:03

ก็น่าคิดว่า พระนามที่หายไปคือเจ้าฟ้าสังคีตหรือเปล่า   ว่าแต่เจ้าฟ้าสังคีต มีหลักฐานไหมคะ  ว่าเป็นหญิงหรือชาย

เจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์น่าจะมีชีวิตมาถึงตอนปลายอยุธยา  จึงเป็นที่จดจำได้ของคนที่เขียนคำให้การชาวกรุงเก่า    ถ้าหากว่าถูกสำเร็จโทษตามพระมารดาไป   ในบันทึกน่าจะมีบอกเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่น่าถูกมองข้ามไปได้

ถ้าทรงอยู่ดีมีสุข ไปจนตลอดรัชกาลก็น่าจะไม่ใช่ลูกชู้   
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 17:06

เจ้าฟ้าสังคีต ตามพระราชพงศาวดาร และความแทรกคำให้การระบุตรงกันว่าเป็นพระโอรสครับ

อย่างที่อ.เทาชมพูว่าครับ เรื่องใหญ่ขนาดนี้ถ้าจะสำเร็จโทษก็ควรจะบันทึกไว้ อย่างในกรณีที่พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ลูกเธอของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในข้อหาไปลวงเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์มาให้พระบิดาทำร้าย แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องมีลูกชู้เป็นเรื่องเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(น่าจะมากกว่าการที่มเหสีเป็นชู้)เลยปิดเงียบไม่กล่าวถึง

แต่ที่กล่าวมานี่ก็เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเล่นๆครับ ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน

คลิปประกอบการสนทนาครับ


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 22:21


เอาละครับพระเอกเชนของเราขอถอยไปตั้งหลักก่อน เหลือเพียงลูกกระจ๊อกอย่างกระผมไว้ล่อเป้าถ่วงเวลาไว้ก่อน
เดี๋ยวกระสุนเบาบางลงพระเอกคงแย้มม่านออกมาใหม่ครับ

จะขอเรียนตอบคุณศรีสรรเพชญ์ และท่านอาจารย์เทาชมพูไปทีละประเด็นครับ

1. เรื่องกำสรวลสมุทร ชื่อสถานที่ต่างๆมีอยู่ในสมัยพระนารายณ์ด้วยครับ ผมเชื่อตามท่าน ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร ที่ว่าเรื่องนี้
เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยอยุธยาไม่น่าจะมีมากกรณีที่เจ้านายชั้นสูงแอบรักกับพระสนมเอกแล้วยังแต่งกลอนเผยแพร่ได้

2. เรื่องพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่น่ามีข้อขัดแย้งครับ ท่านน่าจะเป็นผู้แต่งหลักในงานพระราชนิพนธ์

กรณีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรนี้ ถ้าเป็นผู้แต่งงานมาสเตอร์พีซของวรรณคดีไทยถึง สี่เรื่องต้องนับว่าเป็นอัจริยะของอัจฉริยบุคคลที่แท้จริง
แต่ที่แปลกคือไม่มีพงศาวดารฉบับใดบอกเลยว่าท่านแต่งโคลงกลอนเก่ง มีแต่กล่าวถึงรายละเอียดความเกเรของท่าน
ถ้าท่านเก่งในระดับอัจฉริยะ ร้อยปีมีคน ทำไมถึงไม่มีผู้กล่าวถึงความสามารถนี้ในเอกสารร่วมสมัยครับ

3. เรื่องสุนทรภู่ติดเหล้า น่าจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำครับ ดีไม่ดีต้องกินเหล้าก่อนจึงจะแต่งได้ดีครับ

4. เรื่อง เชคสเปียร์ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีบางคนเถียงกันอยู่เลยว่า ใครเป็นผู้แต่งงานของเชคสเปียร์

5. ฮิตเลอร์ตอนหนุ่มก็เป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงตนเอง เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วแกก็ยังชอบพบปะกับศิลปินและจิตรกรที่เชิญมาอยู่เนืองๆ
แต่ว่าแกไม่ชอบศิลปะสมัยใหม่ ที่สำคัญคือไม่มีงานชิ้นไหนของแกที่จัดว่าป็นมาสเตอร์พีซนะครับ
ที่ขายได้มีราคาหลังจากแกมีชื่อเสียงแล้วเพราะว่าท่านผู้นำวาด
อีกอย่างที่กรมโฆษณาการของอเมริกาและอังกฤษไม่คอยพูดถึงคือ ฮิตเลอร์และพวกนาซีส่วนใหญ่เป็นคริสต์และเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
เหมือนกับกองทัพญี่ปุ่นที่ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลาก็เป็นชาวพุธเหมือนไทย ไหว้พระถือศีลได้บ้างเหมือนกัน
เห็นด้วยครับว่าคนโหดเหี้ยมก็สามารถมีด้านที่ละเอียดอ่อนได้ แต่ไม่ใช่ระดับสร้างผลงานอัจฉริยะได้หลายผลงานในคนเดียวกัน

ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งท่านเขียนผลงานในระดับ พระมะเหลเถไถ มะไหลโถ ก็คงไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยนะครับ
แต่นี่คืองานชิ้นเอกสี่ชิ้น ในวงการวรรณคดีไทย โดยบุคคลเดียวเท่านั้น เอกลักษณ์บุคคลไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์เลยครับ
ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของ คำหลวง ทั้งสองฉบับครับ

เดี๋ยวมาต่อครับ

พระเอกเชน กลับมาด่วน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 22:37

เจอเรื่องที่ว่าเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลเป็นพี่น้องกันอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแล้วครับ แต่กล่าวว่าพระบิดาคือพระองค์เจ้าดำ โอรสพระเพทราชาที่ถูกสำเร็จโทษในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ไม่ใช่พระองค์เจ้าแก้วซึ่งถูกประหารตอนต้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

"ฝ่ายเจ้าพระยาพิศณุโลกก็ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าณเมืองศุโขไทยด้วย  ขณะนั้นเจ้าฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์เจ้าดำ  ซึ่งต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าบรเมศร   พระมารดานั้นเจ้าฟ้าเทพ   เปนพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา   แลเปนเจ้าพี่เจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังนั้น  แลเจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวัง  หลวงโกษาผลเมืองพระพิศณุโลกช่วยคิดอ่านให้หนีออกจากโทษได้  ไปรับณค่ายภูเขาทอง  แล้วพากันหนีไปเมืองกับทั้งบ่าวไพร่ในกองของตัว"

ตรงกับความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ที่ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระนัดดาที่เป็นเจ้าฟ้า ๓ องค์ตามลำดับพระชนมายุคือ เจ้าฟ้าจิต(หรือจีด)ที่เป็นกรมขุนสุรินทรสงคราม เจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่มครับ  โดยได้ศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าจากเจ้าฟ้าเทพพระมารดา

ส่วนเรื่องพระบิดา เข้าใจว่าพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาน่าจะคลาดเคลื่อน น่าจะเป็นพระองค์เจ้าแก้วอย่างที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ใน 'บาญชีพระนามเจ้านาย' ว่าพงศาวดาร(ไม่รู้ฉบับไหน)กล่าวไว้ ซึ่งสอดคล้องกับตอนอื่นๆของพงศาวดารที่กล่าวว่าพระองค์เจ้าแก้วเป็นพี่เขยของเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์(เจ้าฟ้าเทพเป็นพระพี่นางของทั้งสององค์) ส่วนพระองค์เจ้าดำพงศาวดารก็ระบุว่าได้พระองค์เจ้าแก้วที่เป็นพระธิดาของพระเจ้าเสือเป็นบาทบริจาริกาครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 22:38


ขออภัยครับ ที่ผมบอกว่าบทที่ท่านไม่น่าแต่เองแน่ๆ คือตรงนี้ครับ

 ๑๐๘ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ
          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
   ๑๐๙ เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
         เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
         จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ

บอกชื่อผู้แต่งแบบโต้งๆ โจ่งแจ้งเกินไป
ตรงนี้น่าสงสัยครับว่าท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ หรือผู้แต่งหลัก
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 22:48


นันโทปนันทสูตรคำหลวง


อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า


ตรงนี้ก็น่าสงสัยครับว่าท่านไม่ได้แต่งเอง

เชน คัมแบ็ค กลับมาช่วยด่วน
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 23:35


ระหว่างรอ เชนคัมแบ็ค ผมขอคัดพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ในส่วนที่เกี่ยวข้องมาบางส่วน

https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๖๔

ปลายแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ

ปีมะแม นพศก (พ.ศ. ๒๒๗๐ ) ชักชะลอพระพุทธไสยาศน์ไปได้กึ่งทางแล้วให้หยุดไว้สมโภช ๓ วัน แล้วชักต่อไปจนถึงที่
แล้วให้ดีดขึ้น สูงกว่าที่เดิมนั้นศอกเศษ แล้วจึงให้ก่อขึ้นรับองค์พระ แล้วถอด ฟากตะเฆ่ออกเสีย
แล้วให้สร้างพระวิหาร พระอุโสถ การเปรียญ และฉนวนยาว ๔ เส้นเศษ ทำ ๖ ปีแล้วยังหาได้ฉลองไม่
พอทรงพระประชวรลง ทรงพระกรุณาสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอภัยเสวยราชสมบัติสืบไป
ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ย่อม ถ้าจะให้เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสวยราชสมบัติ สืบไปจะยอมด้วย
ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ไม่ย่อม ก็หาลาพระผนวชออกไม่


รัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ

ครั้นถึงเดือน๕ปีฉลู (๑) เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกณพระที่นั่งพิมานรัตยา พระราชวังบวรสถานมงคล
แล้วให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง กราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒสัจจาตามพระราชประเพณี
แล้วจึงมีพระราชโองการมานพระบันทูลสุรสิงหนาท สั่งให้ขุนชำนาญเป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี
ให้หลวงจ่าแสนยากรนั้นพระยาสุรศรีว่าที่จักรี พระยาราชสงครามซึ่งว่าที่จักรีนั้น ให้เป็นพระยาราชนายกว่าที่กลาโหม
ข้าหลวงเดิมทั้งปวงซึ่งมีความชอบนั้น ทรงพระกรุณาตั้งแต่งตามสมควรสิ้น
แลพระพันวษาใหญ่เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต พระพันวษาน้อยให้เป็นกรมหลวงพิพิมนตรี
แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเดจ้าฟ้าธิเบศร์ ให้เป็นกรมหลวงพิทักษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าเอกทัศ ให้เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี
และ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าแขก ให้เป็นกรมหมื่นเทพิพิธ พระองค์ เจ้ารถให้เป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ

(๑) บางทีจะเป็นฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๐๙๕ พ.ศ. ๒๒๗๖


เจ้าฟ้ากุ้งลอบทำร้ายพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

ครั้น ณ เดือน ๗ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๐๙๗ (พ.ศ. ๒๒๗๘ ) ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงพระประชวร
ทรงพระผนวชกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์คิดว่าจริง จึงเสด็จเข้ามา ให้เสด็จขึ้นหน้าพระชัย
เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ทรงถือพระแสงดาบแอบประตูอยู่
ครั้นเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เสด็จเข้ามาประตูที่เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ๆ ฟันถูกแต่ผ้าจีวรสังฆาฏิขาด หาเข้าไม่
เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เข้าไปข้างใน
เจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จกลับลงจากพระชัยมา
เสด็จล้นเกล้า ล้นกระหม่อมทอดพระเนตรเห็นจีวรสังฆาฏิจีวรขาด มีพระราชโองการตรัสถามว่าเป็นไรผ้าสังฆาฏิจีวรจึงขาด
กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพระว่าเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เอาพระแสงดาบฟัน
จึงทรงพระกรุณาสั่งให้หาเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ไม่พบให้ค้นหาในพระราชวัง
แลเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตเสด็จออกมาตรัสเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ว่า พ่อมิช่วยก็ตาย
แลเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ตรัสว่า จะช่วยได้แต่กาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยพระอรหัตต์
เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตได้พระสติขึ้น จึงเสด็จไปขึ้นพระวอ ทั้งเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ด้วย
ให้เปิดประตูฉนวนออกไปทรงพระผนวชเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ณ วัดโคกแสง
ทรงพระกรุณาค้นหาได้แต่พระองค์เจ้าเทิด พระองค์เจ้าชื่นจึงทรงพระกรุณาสั่งให้ประหารเสียด้วยท่อนจันทน์



เมื่อผ่านสองปีในรัชสมัยพระบรมโกษ เจ้าฟ้ากุ้งในวัยหนุ่มก็เริ่มสร้างวีรกรรมแอบลอบทำร้ายพระ
แต่พระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์นี้เกือบได้เป็นกษัตริย์ และน่าจะเป็นพระญาติที่พระเจ้าบรมโกษรักและนับถือมาก
แล้วเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีเหตุอะไรที่ต้องไปลอบทำร้ายพระองค์นี้หรือครับ

ผลสุดท้ายพระนางเจ้าอภัยนุชิต ต้องขอให้พระช่วย
เรียนย้ำนะครับปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๒๗๘ นักเลงหนุ่มเลือดร้อนหนีไปบวชพระทิ้งให้เจ้าชายเล็กๆต้องรับเคราะห์แทน
ไม่เห็นว่าท่านจะรู้สึกผิด เขียนอะไรบ้างในเรื่องนี้เลย
เกณฑ์อายุน่าจะประมาณ ยี่สิบต้น ๆ แล้วท่านทรงพระนิพนธ์ กาพย์ และโคลงต่างๆ ตอนไหนครับ

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 00:08



เจ้าฟ้ากุ้งพ้นโทษ


ครั้น ณ ปีมะเส็งนพศก (จ.ศ. ๑๐๙๙ พ.ศ.๒๒๘๐) เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตทรงประชวรหนัก จึงกราบทูลพระกรุณาขอโทษสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมเสนาพิทักษ์
พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู๋หัว มีพระราชโองการตรัสว่า ถ้าไม่กบฏต่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้วไม่พิฆาตเสีย
แล้วเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตนิพพาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สั่งอัครมหาเสนาให้ทำพระเมรุหน้าพระศพขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก
ครั้น ณ เดือน ๕ ปีมะเมียสัมฤทธิศกศักราช ๑๑๐๐ (พ.ศ. ๒๒๘๑ ) ทำพระเมรุแล้ว เชิญพระศพขึ้นบนมหาพิชัยราชรถ
แห่แหนเป็นกระบวนเข้าในพระเมรุ พระสงฆ์สดับปกรณ์ ๑๐๐๐๐ คำรบ ๓ วัน ถวายพระเพลิงแล้ว เก็บพระอัฐิใส่พระโกศน้อย
แห่แหนเข้าไปบรรจุไว้ท้ายจระนำพระวิหารใหญ่วัดศรีสรรเพ็ชญ์


ทานบวชได้สองปีก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
มีที่เขียนไว้ใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง ว่าแต่งปี พ.ศ.๒๒๗๙
และ พระมาลัยคำหลวง  แต่งปี พ.ศ.๒๒๘๐ กว่าๆ

พระบวชใหม่ ปีเดียวหรือ สองปี นะครับ ที่แปลภาษาบาลีได้หมดจดแล้วรังสรรค์วรรณกรรมชิ้นเอกที่เกี่ยวกับศาสนามาได้ถึงสองชิ้น
ถ้าไม่นับว่าเป็นสุดยอดอัจฉริยะบุคคลก็แปลกใช่ไหมครับ
สำนวนที่ใช้ไม่มีวี่แววว่าเป็นสำนวนพระพรรษาน้อยเลย


พระเจ้าบรมโกษเสด็จประพาศ

และ ณ เดือน ๖ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ฉลองวัดหานตรา ถึง ณ ปีมะแมเอกศก (จ.ศ. ๑๑๐๑ พ.ศ. ๒๒๘๒ ) เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท
ครั้นเดือน ๑๒ ปีวอกโทศก (จ.ศ. ๑๑๐๑๒ พ.ศ. ๒๒๘๓ ) พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปสมโภช พระชินราช พระชินศรี ณ เมืองพระพิษณุโลก ๓ วัน
เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชพระสารีริกบรมธาตุ ณ เมืองสวางคบุรี ๓ วัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงพระนครศรีอยุธยา


สองปีหลังจากสึก ท่านน่าจะได้ตามเสด็จประพาสพระบาท
กาพย์ห่อโคลงธารทองแดง และ โคลงนิราศพระบาท น่าจะแต่งช่วงนี้

         เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ


แต่จะแต่งโดยเจ้าฟ้าหนุ่มน้อยเหมือนที่เขียนในโคลงหรือครับ เกณฑ์อายุไม่น่าเข้ากัน

แต่งตั้งกรมพระราชวัง
 
ครั้นเดือน ๕ ปีระกาตรีศก (จ.ศ. ๑๑๐๓ พ.ศ. ๒๒๘๔ )
พระราชโกษาบ้านวัดระฆังกราบทูลว่า จะขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นกรมพระราชวัง
จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณี


แปดปีหลังจากสึกท่านถึงได้เป็นอุปราชวังหน้า

เราลองกลับไปดูส่วนที่เขียนว่าท่านแต่งใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง กันดีกว่าครับ

     อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
     เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
     เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า


ท่านบอกว่าวรรณกรรมนี้แต่งโดยวังหน้าในขณะที่บวชอยู่
ตกลงเราควรให้ นันโทปนันทสูตรคำหลวง แต่งใน พ.ศ. ไหนครับ

และ ในพระมาลัยคำหลวง

       สมุดมาลัยเลิศล้ำ       ลิลิต
       กรมพระราชวังคิด       ว่าไว้
       จบเสร็จเรื่องราวประดิษฐ์       (ประดับ?) แต่ง
       เพราะพร่ำทำยากได้       (แจ่มแจ้ง?) ใจจริง

      
       เมื่อเสร็จศักราชได้       สองพัน
       สองร้อยแปดสิบสรร       เศษเหล้า


ถ้าส่วนอื่นแต่งตอนบวชจริง ก็แปลว่าข้อความตอนนี้มีคนเขียนแทรกเข้ามาทีหลัง เพราะตอนบวชยังไม่เป็นวังหน้า
ถ้าเขียนแทรกได้แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าท่านเป็นคนแต่งจริงๆ หรือไม่ประการใดครับ

เชน จะกลับมาช่วย หรือยังครับท่าน
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 01:22


จากตู้หนังสือเรือนไทยครับ

http://www.reurnthai.com/wiki/กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก


  ๑๕๑
        เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ     ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง
   นางรักนักสนมองค์         อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์ ฯ
      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ      รพิพงศ์
   ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง      เลิศหล้า
   นางรักนักสนมองค์         อภิชาติ
   คับคั่งนั่งเรียงหน้า         เฟ่าพร้อม บริบูรณ์
 ๑๕๒
      นักปราชญ์หมู่เมธา      มีปัญญาอันฉับไว
   พินิจผิดบทใด         วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ
   กลกลอนบวรเกลี้ยง         คำแขง ก็ดี
   นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง      เปลี่ยนให้
   กลอนเกินเขินคำแคลง      ขัดข้อง
   วานเพิ่มเติมลงไว้         อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ
      จบ จนจอมโลกเจ้า      คืนวัง
   บ พิตรสถิตบัลลังก์         เลิศหล้า
   ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง      ชนโลก อ่านนา
   บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า      ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ      
      เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช      กุมาร
   ธรรม พงศ์ทรงกลอนการ      อยู่แย้ม
   ธิเบศร์ วราสถาน         ไชยเชฐ
   สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม      แต่งไว้อ่านสงวนฯ
      เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ      สมภาร
   กรมขุน หลวงพญากราน      กราบเกล้า      
   เสนา นราบาล ใจชื่น      ชมนา
   พิทักษ์ รักษาเช้า         ค่ำด้วยใจเกษม ฯ


ตรงที่บอกว่าใครแต่ง ซ้ำกับ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง เกือบเป๊ะ
ทำไมต้องแต่งให้ซ้ำกันครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 07:21

ผมขอสารภาพความจริงว่าผมสนใจเจ้าฟ้ากุ้งในแง่ของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ในยามเด็กชอบอ่านไปเสียทุกเรื่อง ไม่ใช่อยากจะเป็นนักประวัติศาสตร์นะครับ แต่เห็นว่ามันสนุกกว่านิทานเท่านั้นเอง เรื่องของเจ้าฟ้ากุ้งอ่านแล้วก็สลดใจว่า อะไรสถาบันกษัตริย์ในสมัยปลายอยุธยาจึงได้โหดร้ายกันถึงขนาดนั้น ในส่วนงานนิพนธ์ของท่านก็เรียนรู้แต่เรื่องกาพย์เห่เรือในชั่วโมงเรียนชั้นมัธยมกลางเท่านั้น ท่านนิพนธ์อะไรไว้อีกก็ไม่ได้ติดตามต่อไปค้นหามาอ่าน เพราะแยกไปเรียนสายวิทย์ ไปจบที่สถาปัตย์ และทำงานหมกมุ่นอยู่ในวิชาชีพ จะออกความเห็นอะไรในเรื่องกวีนิพนธ์ก็เจียมตน กลัวจะไปเหมือนพวกเกรียนในเวปอื่นที่ไม่ค่อยจะรู้ แต่อวดรู้กันนัก

การที่ปรากฏบุคคลอย่างคุณคนโคราชและคุณศรีสรรเพชญอีกท่านหนึ่ง ที่สมัครใจเข้ามาร่วมกับชุมชนในเรือนไทย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะดึงดูดให้ชุมชนนี้อุดมไปด้วยปัญญาขน นำเสนอและสนทนากันด้วยเรื่องที่ทุกคนสนใจและถูกใจ
 
ส่วนเนื้อหาที่คุณคนโคราชเอารายละเอียดมาลง ผมก็ได้แต่ชื่นชมตามอ่านตามวิจารณ์ ล่าสุดนี้ยิ่งเห็นชัดในสมมติฐานที่เชนกล่าวไปแล้ว ว่าเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีมือปืนรับจ้างคอยเขียนคอยแต่งแน่นอน ตัวท่านอาจจะริเริ่มแต่งขึ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มีคนช่วยขัดเกลาแต่งเสริม เข้ารูปแบบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่… ซึ่งแต่งโดยผู้แต่งนิรนามแต่ยกเครดิตให้รัชกาลนั้นๆ
อ้างถึง
๑๕๒
  
   นักปราชญ์หมู่เมธา      มีปัญญาอันฉับไว
   พินิจผิดบทใด            วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ

 
   กลกลอนบวรเกลี้ยง                 คำแขง ก็ดี
   นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง          เปลี่ยนให้
   กลอนเกินเขินคำแคลง              ขัดข้อง
   วานเพิ่มเติมลงไว้                    อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ

ว่าแล้ว เชนก็ขอเดินทางต่อนะครับ มีภูมิจะว่าเท่านี้เอง
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 07:43


เอาละครับพระเอกเชนของเราขอถอยไปตั้งหลักก่อน เหลือเพียงลูกกระจ๊อกอย่างกระผมไว้ล่อเป้าถ่วงเวลาไว้ก่อน
เดี๋ยวกระสุนเบาบางลงพระเอกคงแย้มม่านออกมาใหม่ครับ

จะขอเรียนตอบคุณศรีสรรเพชญ์ และท่านอาจารย์เทาชมพูไปทีละประเด็นครับ

1. เรื่องกำสรวลสมุทร ชื่อสถานที่ต่างๆมีอยู่ในสมัยพระนารายณ์ด้วยครับ ผมเชื่อตามท่าน ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร ที่ว่าเรื่องนี้
เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยอยุธยาไม่น่าจะมีมากกรณีที่เจ้านายชั้นสูงแอบรักกับพระสนมเอกแล้วยังแต่งกลอนเผยแพร่ได้

2. เรื่องพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่น่ามีข้อขัดแย้งครับ ท่านน่าจะเป็นผู้แต่งหลักในงานพระราชนิพนธ์

กรณีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรนี้ ถ้าเป็นผู้แต่งงานมาสเตอร์พีซของวรรณคดีไทยถึง สี่เรื่องต้องนับว่าเป็นอัจริยะของอัจฉริยบุคคลที่แท้จริง
แต่ที่แปลกคือไม่มีพงศาวดารฉบับใดบอกเลยว่าท่านแต่งโคลงกลอนเก่ง มีแต่กล่าวถึงรายละเอียดความเกเรของท่าน
ถ้าท่านเก่งในระดับอัจฉริยะ ร้อยปีมีคน ทำไมถึงไม่มีผู้กล่าวถึงความสามารถนี้ในเอกสารร่วมสมัยครับ

3. เรื่องสุนทรภู่ติดเหล้า น่าจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำครับ ดีไม่ดีต้องกินเหล้าก่อนจึงจะแต่งได้ดีครับ

4. เรื่อง เชคสเปียร์ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีบางคนเถียงกันอยู่เลยว่า ใครเป็นผู้แต่งงานของเชคสเปียร์

5. ฮิตเลอร์ตอนหนุ่มก็เป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงตนเอง เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วแกก็ยังชอบพบปะกับศิลปินและจิตรกรที่เชิญมาอยู่เนืองๆ
แต่ว่าแกไม่ชอบศิลปะสมัยใหม่ ที่สำคัญคือไม่มีงานชิ้นไหนของแกที่จัดว่าป็นมาสเตอร์พีซนะครับ
ที่ขายได้มีราคาหลังจากแกมีชื่อเสียงแล้วเพราะว่าท่านผู้นำวาด
อีกอย่างที่กรมโฆษณาการของอเมริกาและอังกฤษไม่คอยพูดถึงคือ ฮิตเลอร์และพวกนาซีส่วนใหญ่เป็นคริสต์และเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
เหมือนกับกองทัพญี่ปุ่นที่ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลาก็เป็นชาวพุธเหมือนไทย ไหว้พระถือศีลได้บ้างเหมือนกัน
เห็นด้วยครับว่าคนโหดเหี้ยมก็สามารถมีด้านที่ละเอียดอ่อนได้ แต่ไม่ใช่ระดับสร้างผลงานอัจฉริยะได้หลายผลงานในคนเดียวกัน

ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งท่านเขียนผลงานในระดับ พระมะเหลเถไถ มะไหลโถ ก็คงไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยนะครับ
แต่นี่คืองานชิ้นเอกสี่ชิ้น ในวงการวรรณคดีไทย โดยบุคคลเดียวเท่านั้น เอกลักษณ์บุคคลไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์เลยครับ
ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของ คำหลวง ทั้งสองฉบับครับ

เดี๋ยวมาต่อครับ

พระเอกเชน กลับมาด่วน  ยิงฟันยิ้ม


1.จริงๆผมเคยอ่านงานของดร.วินัย พงษ์ศรีเพียรครับ แต่จำไม่ได้แล้ว อยากขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนว่ากำสรวลสมุทรแต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์หน่อยครับ เพราะทั้งการใช้คำและภาษาและเนื้อความนั้นไม่สอดคล้องกับภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ

2.มีเจ้านายหลายองค์ที่ทรงมีความสามารถด้านการประพันธ์ เช่น สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือรัชกาลที่ ๑ ผมก็ไม่เคยเห็นพงศาวดารหรือหลักฐานร่วมสมัยยกย่องความสามารถด้านนี้เลยครับ ทั้งนี้พงศาวดารเป็นเอกสารที่เน้นหลักในเรื่องเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ ไม่ค่อยเน้นเรื่องความสามารถส่วนพระองค์ ส่วนมากถ้าจะมีการยอพระเกียรติก็จะเป็นการยกย่องว่าทรงมีบารมีมาก เกิดนิมิตมีพระบรมสารีริกธาตุ หรือฝ่าผ่าโดนพระองค์ไม่เป็นอะไรมากกว่าจะยกย่องความสามารถส้วนพระองค์

ถ้าเราพิจารณาจากพงศาวดารที่มีเนื้อความเก่าจริงๆอย่างพระราชพงษาวดาร ความเก่าตามต้นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ หรืออย่างพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)ตอนสมเด็จพระนารายณ์(น่าจะชำระตั้งแต่สมัยอยุทธยา)แทบไม่มีข้อความพิสดารอะไรเลย จะเน้นบรรยายเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น แล้วจะรู้เลยว่าความพิสดารและบทสนทนาต่างๆถูกเพิ่มมาในสมัยรัตนโกสินทร์นั่นเองครับ เทียบจากฉบับธนบุรีกับฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)จะทราบได้    ส่วนฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)มีการยกย่องความสามารถในการขี่ม้าล่อแพนช้างของพระเพทราชาตอนยังไม่ครองราชย์ แต่ยกย่องแบบอ้อมๆ และไม่เกิดขึ้นบ่อย

ภาพอัธยาศัยส่วนพระองค์และความสามารถของเจ้านายมักจะพบได้จากเอกสารประเภท 'คำให้การ' อย่างคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด (ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการเอาความจากเอกสารเหล่านี้มาแทรกในพงศาวดารที่ชำระหลังจากฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)คือในฉบับพระพนรัตน์เป็นต้นมา)อย่างเช่นความสามารถในการปราบช้างม้าพยศของออกหลวงสุรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) วิชาศิลปศาสตร์ช้างของสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นว่า "อันการช้างของพระองค์นี้ยกเป็นยอดยิ่งนัก เป็นอัครมหากษัตริย์ในพงศาวดาร ไม่มีกษัตริย์องค์ใดในการวิชาช้างนี้ จักเสมอพระองค์ได้" แต่ด้วยเนื้อหารวมๆของเอกสารที่ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยหลายอย่างและหลายตอนมีเนื้อหาพิสดารเกินจริง ทำให้เอกสารคำให้การนี้มีความน่าเชื่อถือน้อย น่าจะเป็นเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากมากกว่า

ส่วนข้อ 3 4 5 ผมก็ยังคิดเหมือน อ.เทาชมพูครับว่าเรื่องอุปนิสัยกับความสามารถน่าจะแยกจากกันครับ ผมไม่ปฏิเสธว่าบางบทดูเหมือนจะไม่ใช่พระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งอาจจะเกิดจากการเขียนเสริมในสมัยหลังหรือหรืออาจจะมีคนช่วยแต่งให้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะนำพระอัธยาศัยส่วนพระองค์มาเป็นตัวชี้วัดว่าพระองค์ต้องไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ดีๆได้ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.105 วินาที กับ 19 คำสั่ง