เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 50014 ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


 เมื่อ 28 ส.ค. 15, 08:15

อาจเป็นได้ว่า ผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้นแต่งโดยกวีนิรนามในสำนักของพระองค์ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 08:48

^
เป็นไปได้มาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 09:52

ทำไมไม่คิดว่าเป็นพระนิพนธ์ล่ะคะ
ท่านอาจจะนิพนธ์ตั้งแต่ก่อนประชวรก็ได้นี่นา
บันทึกการเข้า
สาคร
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 13:50

พระโรคที่ท่านเป็นมันทำลายสมองด้วยหรือเปล่าครับ?
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 18:23

พระโรคที่ท่านเป็นมันทำลายสมองด้วยหรือเปล่าครับ?

Morbus Gallicus หรือ French Pox ก็คือซิฟิลิสครับ ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกับ 'คุดทะราด' หรือ 'คชราด' โรคสำหรับบุรุษที่กล่าวถึงในพงศาวดาร(ปัจจุบันคุดทะราดใช้เรียกโรค yaws แต่เข้าใจว่าสมัยอยุทธยาจะใช้เรียกรวมกับซิฟิลิสด้วย ทั้งสองโรคติดเชื้อ Treponema pallidum เหมือนกัน) ถ้าเป็นในระยะที่สาม(Tertiary state)หรือระยะสุดท้ายก็จะสามารถลุกลามไปทำลายระบบต่างๆของร่างกายรวมถึงระบบสมองและไขสันหลังได้ครับ แต่มักจะพบในคนที่เป็นเรื้อรังนานๆเป็นสิบปีครับ

รูปผิวหนังผู้ป่วยซิฟิลิสระยะที่สอง


หลายๆแหล่งอ้างว่าที่เรียกพระนามพระองค์ว่า 'เจ้าฟ้ากุ้ง' เพราะพระองค์ตัวงอเนื่องจากโรคลุกลามไปถึงเส้นประสาท(อาจจะส่งผลให้เกิด abnormal gait ได้) บางที่ก็ว่าต้องเดินงอตัวเพื่อลดความเจ็บปวดจนดูเหมือนกุ้ง แต่บางแห่งก็แย้งว่าโรคซิฟิลิสรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STD)อื่นๆไม่ทำให้ตัวงอได้ ก็อยากทราบเหมือนกันครับว่าในทางการแพทย์ โรคซิฟิลิสสามารถทำให้เกิดการงอตัวได้อย่างที่อ้างมั้ยครับ เพราะเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุชัดถึงเรื่องที่มาของพระนาม ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการตีความกันไปเองหรือเปล่า

ว่าแต่ทำไมถึงสงสัยว่าโรคนี้ทำลายสมองครับ เพราะเท่าที่ทราบก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าน่าจะทรงมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสมองแต่อย่างใดครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 18:28

อาจเป็นได้ว่า ผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้นแต่งโดยกวีนิรนามในสำนักของพระองค์ครับ

^
เป็นไปได้มาก

สงสัยเหมือน อ.เทาชมพูครับ ว่าทำไมถึงทั้งสองท่านถึงคิดว่าพระองค์ไม่น่าจะนิพนธ์ด้วยพระองค์เองล่ะครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 19:02

ลองเทียบเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารกับหลักฐานของ VOC ให้ดูง่ายๆครับครับ

๑ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖(พ.ศ.๒๒๙๙) เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในราชสำนักไทย
๒ เป็นเวลาราวๆ 1 ปีที่ "Kpoomprincs" ( มกุฎราชกุมาร / อุปราช ) ประชวรด้วยโรค Morbus Gallicus กามโรคชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "French Pox" เลยเข้าวังหลวงไม่ได้ทรงประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง ( วังหน้า )
"ณ เดือน ๖ ปีกุนสัปตศก(จ.ศ.๑๑๑๗ พ.ศ.๒๒๙๘) ฉลองวัดพระยาคำ อนึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นโรคคชราค แต่ไม่ได้เสด็จเข้าเฝ้าถึง ๓ ปีเศษ..."


๓ ในช่วงที่ทรงพระประชวร พระมหาอุปราชทรงสั่งลงโทษข้าหลวง ( แม้ข้าหลวงที่สำคัญ ) อย่างรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังทรงวิวาทกับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษอีกพระองค์หนึ่ง Tjauw Sakew ( ถอดเสียงออกเป็น "เจ้าสระแก้ว" น่าที่จะหมายถึง กรมหมื่นสุนทรเทพ ซึ่ง พระราชพงศาวดารว่าทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักสระแก้ว ) เจ้าฟ้ากุ้งได้สั่งให้ลูกน้องไปล้อมที่ประทับของ "Tjauw Sakew" แต่กรมหมื่นสุนทรเทพพร้อมบรรดาพระราชโอรสของพระองค์ทรงสามารถหลบหนีไปได้ แล้วเข้าไปที่พระราชวังหลวง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษและกราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด
"วันหนึ่งมีพระบัณฑูรให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาถามว่า เจ้ากรมเป็นแต่หมื่น จัดกันในกรมตั้งเป็นขุน แล้วทำสูงกว่าศักดิ์ ให้ลงอาญาโบยหลังคนละ ๑๕ ทีบ้าง ๒๐ ทีบ้าง เพลากลางคืนให้คนเข้ามาด้อมมองอยู่ประตูสระแก้ว กรมหมื่นสุนทรเทพเกรงจะทำร้าย เพลากลางคืนเสด็จประชุมอยู่ที่ข้างโรงเตียบ ต่อมาเพลากลางวันเสด็จไปอยู่ ณ ตำหนักสระแก้ว ได้ประมาณ ๙ วัน ๑๐ วัน  กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องราวกราบทูล พระกรุณาเป็นการลับ ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง..."


๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงออกพระโอษฐ์เรียกพระมหาอุปราชเข้าเฝ้า ทีแรกนั้นพระมหาอุปราชหายอมไม่ แต่ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงขู่ว่า ถ้าไม่มาเข้าเฝ้าแล้วไซร้พระองค์จะทรงมาจับตัวไปเอง เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงยอมเข้าไปในพระบรมหาราชวัง พระมหาอุปราชทรงนำอาวุธ ( ดาบ ) ติดพระองค์ไปด้วย พร้อมทั้งบริวารก็ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ทรงเดินถือดาบเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ( แต่บริวารของพระองค์ไม่สามารถเข้าไปได้ ) แต่ในที่สุดก็ทรงยอมยื่นดาบให้ "เจ้านายพระองค์หนึ่ง" ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ก่อนเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตรัสถามพระมหาอุปราชเรื่องการถืออาวุธเข้ามาในวังเพื่อที่จะฆ่า "Tjauw Sakew" แต่พระมหาอุปราชไม่ทรงตอบคำถามดังกล่าว
"...พระเจ้าอยู่หัวให้ชำระกรมฝ่ายในเป็นสัตย์ แล้วจึงสั่งพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ ให้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ กราบทูลว่า เป็นอริอยู่จะไปเชิญเสด็จมิได้ เจ้าจอมจันท์มารดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์กระแหจึงไปเชิญเสด็จ กรมพระราชวังมาจะขึ้นฉนวนวังหน้า มหาดเล็กที่ล่วงมารับเสด็จนั้นกราบทูลว่า ประตูเสาธงชัยปิด ก็หาเสด็จ ขึ้นไม่ล่องลงไปประทัพอยู่ที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด เรือพระที่นั่งล่วงลงมาเสด็จขึ้นสะพานใต้ระหัดน้ำ ทรงพระเสลี่ยงมาถึงศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งอยู่ริมศาลาลูกขุนท้ายสระเป็นอันมาก จะให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีผาวังทูลว่า ขอพระราชทานเสด็จไปเฝ้าจึงจะชอบ ก็เสด็จเข้าไปอยู่ ณ ทิมดาบ จึงมีพระราชโองการสั่งมหาดเล็ก ให้ออกมาเชิญเสด็จไป ณ ตำหนักสองห้องข้างทิมสงฆ์..."


๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงให้จับตัวพระมหาอุปราชไว้และล่ามโซ่ทั้งที่มือและเท้า ( การจองจำห้าประการ ) ทรงห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาติจากพระองค์ ให้เจ้าองค์หนึ่ง ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ขุนนาง ๒ คน คอยเฝ้าคุมอยู่ระหว่างที่เสวยพระกระยาหาร เนื่องจากพระมหาอุปราชไม่อยากเสวยพระกระยาหารนัก พระองค์จึงทรงเสวยได้น้อยมากในเวลา ๓ วัน ที่พระมหาอุปราชติดคุกอยู่ก้ได้มีคนนำเอาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับพระมหาอุปราชมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษหลายเรื่อง
๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ "Tjauw Sakew" กับ
"Tjauw Cromme Kiesa Poon" ( กรมหมื่นจิตรสุนทร ) พร้อมทั้งเจ้าพระยาจักรี , เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้สอบสวนพระมหาอุปราช แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรเลย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงลงพระอาญาให้โบยพระมหาอุปราช ๒๐ ที แต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นพระมหาอุปราชทรงถูกโบยอีก ๒๐ ที และให้เผา “ ปลายพระบาท “ อีกด้วย ( นาบพระบาท ) ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ผลนัก จึงมีพระราชดำรัสให้จับข้าหลวงสำคัญๆของพระมหาอุปราชเข้าคุกให้หมด เพื่อสอบสวนความต่างๆ ซึ่งได้มีการทรมานเฆี่ยนตีข้าหลวงเหล่านี้
"...แล้วสั่งพระมหาเทพให้จำห้าประการ แล้วมีกระทู้ถามกรมพระราชวังรับเป็นสัตย์ วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๕ ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ ๒๐ ที กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย ทรงพระกรุณาให้ริบ ครั้นแรม ๒ ค่ำเฆี่ยน อีก ยกหนึ่ง ๒๐ นาที แรม ๓ ค่ำอีกยกหนึ่ง ๒๐ ที แล้วให้นาบพระบาท..."


๑๐ พอเจ้านาย ๒ องค์ เสนาบดี ๒ คนนี้ ( ดูข้อ ๗ ) รายงานเรื่องราวต่างๆนี้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ
"...กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย...กรมหมื่นเทพพิพิธทูลว่า ได้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ทีแล้ว..."


๑๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตกพระทัยมาก พอได้ยินเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระมหาอุปราช จึงทรงมีรับสั่งให้เฆี่ยนตีพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที และให้เอาเหล็กร้อนๆมาจ่อที่หน้าผาก แขน และขา
"...แล้วให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษาพร้อมกันว่า โทษถึงตายเป็นหลายข้อ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ให้นาบพระนลาฎ..."


๑๓ ส่วนพระมเหสีและพระสนมทั้งสี่องค์นั้นทรงถูกเฆี่ยนตีองค์ละ ๕๐ ที จนสิ้นพระชนม์ทั้งหมด บริวารของพระมหาอุปราชต่างถูกโบยทั้งสิ้นและมีที่เสียชีวิต ๒ ราย
"...เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ให้เฆี่ยนยกหนึ่ง ๓๐ ที อยู่ ๓ วันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้น เฆี่ยนอีก ๔ ยกเป็น ๑๘๐ ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปณวัดชัยวัฒนารามทั้งสององค์"


๑๔ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖ พวกชาวฮอลันดาได้ข่าวว่า "พระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์แล้ว" พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้โบยพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที มีการซักถามพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ทำกุญแจเข้าไปในพระบรมหาราชวังเพื่อการอันใด ทรงตอบว่าเพื่อที่จะได้เข้าไปหา ( เป็นชู้ ) พระมเหสีและพระสนมถึง ๔ องค์ด้วยกัน
"...แลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดา เจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าเฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ ที จะว่าประการใด กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามจะทรงพระกรุณาโปรด..."



น่าสนใจว่านอกจากเจ้าสามกรมแล้ว ก็ยังปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ทรงมีความขัดแย้งกับเจ้านายฝ่ายในอย่างเจ้าฟ้าธิดากับเจ้าฟ้าสุริยวงศ์ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมพระมารดาด้วย โดยพงศาวดารระบุว่าถึงเป็น 'อริ' จนไม่สามารถไปทูลเชิญเสด็จมาเฝ้าได้ทั้งๆที่เป็นพระราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สันนิษฐานว่าความขัดแย้งในที่นี้น่าจะเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องทำนองพี่น้องไม่ชอบกันแบบธรรมดาครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 23:02

ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรตามหลักฐานที่ปรากฏ
แตกต่างไปจากภาพของเจ้าชาย กวีเอก นักรัก หนุ่มรูปงามในอุดมคติมากทีเดียวครับ

ตามหลักฐานที่เห็นเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ท่านนี้จะออกไปทาง มาเฟีย จอมกร่าง ลูกนักการเมืองใหญ่
ที่นิยมการท่องเที่ยวและขยันเสาะหา ดารา นักร้อง พริตตี้สาวๆมาไว้ใกล้ตัวมากกว่า

จากพฤติกรรมจอมกร่างของท่านในหลายๆคราว ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับยอดกวีที่ฝากผลงานไว้  
เป็นกาพย์และโคลงอันเยี่ยมยอด ที่เหลือตกมาให้เราได้ศึกษากันในปัจจุบัน
(ถ้าไม่เชื่อพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ เราก็ควรพิจารณาเอกสารที่น่าจะเป็นกลางแบบ wikileak อย่างเอกสารของ VOC ครับ)

ทั้งฐานะและทุนทรัพย์ของท่านก็สามารถชุบเลี้ยงบริวารติดสอยห้อยตามได้มาก
ทั้งนี้อาจรวมถึงเหล่ากวีนิรนาม หรือ ghost writer ที่ร่วมกัน collaborate สร้างผลงานให้ท่าน
ได้พิจารณาขัดเกลาและลงชื่อท่านผู้อุปถัมภ์กำกับไว้อีกต่อหนึ่ง

คล้ายกับกรณี กำสรวลสมุทร ที่น่าจะแต่งโดยกวีในสำนักของ เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์
(เรื่องเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็จบคล้ายๆกัน)


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 23:20


กาพย์เห่เรือ
https://th.wikisource.org/

       พระเสด็จโดยแดนชล   ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย   พายอ่อนหยับจับงามงอน
        นาวาแน่นเป็นขนัด   ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน   สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
        เรือครุฑยุดนาคหิ้ว   ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง   ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
        สรมุขมุขสี่ด้าน   เพียงพิมานผ่านเมฆา
ม่านกรองทองรจนา   หลังคาแดงแย่งมังกร
        สมรรถชัยไกรกาบแก้ว   แสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร   ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน
        สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย   งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์   ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม


จากภาพที่ปรากฏกวีผู้เขียนน่าจะมีมุมมองจากบนฝั่ง หรือนอกขบวนเรือพระที่นั่งครับ
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรในฐานะพระราชโอรสองค์โตจะเป็นผู้ตามเสด็จใกล้ชิดมุมมองจะต่างออกไป
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 23:56


กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

https://th.wikipedia.org/wiki/กาพย์ห่อโคลง


   ๑ เกลื่อนกรูหมู่จัตุรงค์ เปนกันกงเรียบเรียงไป
      ทรงช้างระวางใน เทพลีลาหลังคาทอง ฯ
      เกลื่อนกรูหมู่แห่ห้อม เรียงไสว
      เสด็จพุดตานทองไคล หว่างเขรื้อง
      ทรงช้างระวางใน มีชื่อ
      เทพลีลาเยื้อง ย่างแหน้หลังดี ฯ
  ๒ เครื่องสูงเพราเพริศพราย ชมชุมสายซ้ายขวาเคียง
     ธงไชยธงฉานเรียง ปี่กลองชนะตะเต่องครึมฯ
     กลองทองตีครุ่มครึ้ม เดิรเรียง
     จ่าตะเติงเติงเสียง ครุ่มครื้น
     เสียงปี่รี่เรื่อยเพียง กระเวก
     แตร้นแตร่นแตรฝรั่งขึ้น หวู่หวู้เสียงสังข์ ฯ
  ๓ นักสนมกรมชแม่มี่ ขี่ช้างกูบรูปโลมใจ
     พักตราอ่าผ่องใส นุ่งห่มโอ่โสภาจริง ฯ
     นักสนมกรมชแม่เจ้า ทังหลาย
     ขี่ช้างกูบดาวราย แจ่มหน้า
     พักตราผ่องใสสาย สุดสวาท
     นุ่มห่มโอ่โถงผ้า อร่ามริ้วทองพราย ฯ
 ๔ เพริศเพราเหล่านางห้าม รูปทรงงามตามเสด็จไป
    ผมมวยรวยริมไร ม่านปีกนกวกวงวัง ฯ
    เพริศเพราเหล่าฝ่ายห้าม งามนัก
    รูปงามตามแลลักษณ์ ลูบท้อง
    ผมมวยรวยไรอรรค ชาเยศ
    ม่านปีนกปกป้อง ห่อหุ้มคลุมเดิร ฯ


มุมมองของผู้แต่งคล้ายกับเป็นผู้ชมขบวนอยู่ที่พื้นดิน ไม่ได้ขี่ช้างอยู่ในขบวน


   ๕๒ ดู หนู สู่ รู งู งู สุด สู้ หนู สู้ งู
        หนู งู สู้ ดู อยู่ รูป งู ทู่ หนู มู ทู ฯ
        ดู งู ขู่ ฝูด ฝู้ พรู พรู
        หนู สู้ รู งู งู สุด สู้
        งู สู้ หนู หนู สู้ งู อยู่
        หนู รู้ งู งู รู้ รูป ทู้ มู ทู


บทนี้อยู่ในแบบเรียนจินดามณี


  ๑๐๗ จบเสร็จชมนกไม้ ในแหล่งไพรพนัศสถาน
         หญิงชายฟังสำราญ ที่ผิดอ่านวานแต้มเขียน ฯ
         จบเสร็จชมนกไม้ โคลงการ
         ชมแหล่งไพรพนัศสถาน เถื่อนกว้าง
         หญิงชายชื่นชมบาน ใจโลกย์
         ใคร่อ่านวานเติมบ้าง ช่วยแต้มเขียนลง ฯ
   ๑๐๘ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ
          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
   ๑๐๙ เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
         เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
         จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ
         อักษรเรียบร้อยถ้อย คำเพราะ
         ผู้รู้อ่านสารเสนาะ เรื่อยหรี้
         บรู้อ่านไม่เหมาะ ตรงเทิ่งไปนา
         ทำให้โคลงทั้งนี้ ชั่วช้าเสียไป
         อักษรสรรค์สร้างช่าง ชุบจาน
         โคลงก็เพราะเสนาะสาร แต่งไว้
         ผู้รู้อ่านกลอนการ พาชื่น ใจนา
         ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องเสียโคลง ฯ


เป็นไปได้มากที่สองบทสุดท้ายนี้ท่านไม่ได้แต่งเอง
จากมุมมองของ ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องฯ ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 07:06

ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรตามหลักฐานที่ปรากฏ
แตกต่างไปจากภาพของเจ้าชาย กวีเอก นักรัก หนุ่มรูปงามในอุดมคติมากทีเดียวครับ

ตามหลักฐานที่เห็นเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ท่านนี้จะออกไปทาง มาเฟีย จอมกร่าง ลูกนักการเมืองใหญ่
ที่นิยมการท่องเที่ยวและขยันเสาะหา ดารา นักร้อง พริตตี้สาวๆมาไว้ใกล้ตัวมากกว่า

จากพฤติกรรมจอมกร่างของท่านในหลายๆคราว ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับยอดกวีที่ฝากผลงานไว้  
เป็นกาพย์และโคลงอันเยี่ยมยอด ที่เหลือตกมาให้เราได้ศึกษากันในปัจจุบัน
(ถ้าไม่เชื่อพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ เราก็ควรพิจารณาเอกสารที่น่าจะเป็นกลางแบบ wikileak อย่างเอกสารของ VOC ครับ)

ทั้งฐานะและทุนทรัพย์ของท่านก็สามารถชุบเลี้ยงบริวารติดสอยห้อยตามได้มาก
ทั้งนี้อาจรวมถึงเหล่ากวีนิรนาม หรือ ghost writer ที่ร่วมกัน collaborate สร้างผลงานให้ท่าน
ได้พิจารณาขัดเกลาและลงชื่อท่านผู้อุปถัมภ์กำกับไว้อีกต่อหนึ่ง

คล้ายกับกรณี กำสรวลสมุทร ที่น่าจะแต่งโดยกวีในสำนักของ เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์
(เรื่องเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็จบคล้ายๆกัน)

เมื่อวานนี้ไม่มีเวลาเข้ามาตอบคำถามว่าทำไมผมจึงเห็นคล้อยตามคุณคนโคราช แต่ถ้าตอบก็คงตอบได้เพียงสั้นๆว่า จิตใจของคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์ขนาดเขียนกวีนิพนธ์ได้ระดับนั้น ย่อมจะมีจิตใจคนละชนิดกับคนอย่างเจ้าฟ้ากุ้ง ที่เราเรียนรู้จากหน้าตำนานประวัติศาสตร์

เช้านี้เห็นที่คุณคนโคราชอรรถาธิบายแล้ว ผมคงจะไม่ต้องเพิ่มในประเด็นนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 07:08

๑๐๘   เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์     ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า  ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร  เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร    ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า      อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ

กาพย์ท่อนบนและโคลงสี่ที่ตามต่อมานี้เอง ที่ทำให้คนทั้งปวงคล้อยตามว่าผู้นิพนธ์คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์     
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 07:10

แต่ถ้าดูสำนวนของโคลงบทต่อมาเหล่านี้ จะเห็นร่องรอยของผู้แต่งถวาย มีหรือที่เจ้านายพระองค์ใดจะทรงนิพนธิ์ยกยอตัวเองอะไรจะขนาดนั้น ผมไม่เคยเห็น ปกติพระนิพนธ์ของเจ้านายพระองค์ใดหากจะทรงออกพระนามก็จะไม่มีพระยศนำ จะใช้พระนามเฉยๆ

แต่นี่ ถ้านำเฉพาะสามบทนี้ไปแสดง คนอ่านก็ต้องบอกว่าเป็นอื่นที่ไม่ใช่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ จึงจะแต่งขึ้นแบบนี้
ถ้าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงนิพนธิ์ด้วยพระองค์เองอย่างนี้ คงโดนเจ้านายด้วยกันโห่แน่นอน

  ๑๐๙ เจ้าฟ้าหนุ่มน้อยราช       กุมาร
         ธรรม์ธำรงกลอนการ     ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์วราสถาน         ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ทรงโคลงแต้ม    แต่งไว้วานสงวน ฯ

         เจ้าฟ้าเลิศล้ำโพธิ           สมภาร
         กรมขุนหลวงพญากราน    กราบเกล้า
         เสนานราบานใจชื่น         ชมนา
         พิทักษ์รักษาเช้า            ค่ำด้วยใจเกษม ฯ

         จบจนจอมโลกย์เจ้า         คืนวัง
         บพิตรสถิตบัลลังก์          เลิศหล้า
         ริร่างกาพย์โคลงหวัง        ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์พระโคลงเจ้าฟ้า       ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ

บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 08:13

ไม่เคยสังเกตจุดนี้เลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆครับ บทที่ ๑๐๙ อ่านแล้วชัดเจนว่าเป็นการแต่งยอพระเกียรติ ผิดธรรมชาติที่จะเขียนชมตนเองอย่างที่ว่าครับ

ในเรื่องของกาพย์เห่เรือตอนเห่ชมกระบวนเรือซึ่งอยู่ในมุมมองบุคคลที่ ๓ จะเป็นไปได้ไหมครับว่ากาพย์เห่เรือนี้ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อบันทึกภาพการเดินทางสดแบบนิราศ แต่แต่งเพื่อใช้ในการเห่เรือแบบที่ในยุคปัจจุบันจะมีการแต่งบทเห่เรือเพื่อเฉลิมพระเกียรติเมื่อมีกระบวรพยุหยาตราชลมารคเป็นคราวๆไป ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้มั้ยครับว่าแต่งเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อน(แต่ใครแต่งจริงๆนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 08:33


คล้ายกับกรณี กำสรวลสมุทร ที่น่าจะแต่งโดยกวีในสำนักของ เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์
(เรื่องเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็จบคล้ายๆกัน)

ผมเอนเองไปตามข้อสันนิษฐานที่ว่ากำสรวลสมุทรน่าจะเป็นวรรณคดียุคต้นอยุทธยามากกว่าครับ เพราะรูปแบบภาษาเก่าแก่กว่าภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อเทียบกับวรรณกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์เองหรือการสะกดคำในบันทึกของออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ที่ไปฝรั่งเศส ภาษานั่นใกล้เคียงกับทวาทศมาสหรือยวนพ่ายมากกว่า รวมถึงเส้นทางการเดินทางที่ไม่ได้ผ่านคลองลัดสายต่างๆที่ได้ขุดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้ในจินดามณีที่แต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เขียนว่า "ผิจะเอากลอนห้าใส่ ให้เอาด้วยกันทั้งสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้น คืออุปาทวาทศ คำสวรสมุทร สมุทรโฆษ พระนนท์ กษัตรีสังวาส ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป อย่าได้เอาคำบูราณนั้นมาใส่ ผิจะดูเยี่ยงให้ดูเยี่ยงกลบท"  เป็นการสื่อว่ากำสรวลสมุทรเป็นวรรณกรรมเก่า ซึ่งมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ

“บาสรีจุฬาลักษณ์” อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นน้องสาวของพระเพทราชา เพราะ 'ศรีจุฬาลักษณ์' เป็นตำแหน่งสนมเอกที่มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว

ดูจากร่ายตอนแรกสุดที่มีข้อความว่า "ราเมศไท้ท้าวต้งง แต่งเอง ฯ" สันนิษฐานได้ว่าผู้แต่งเป็นพระมหากษัตริย์ครับ(แต่จะแต่งเองหรือเปล่าอันนี้ไม่ทราบ)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง