เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 24805 การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้ง
จิตรางคทา
อสุรผัด
*
ตอบ: 21


 เมื่อ 27 ส.ค. 15, 17:53

ผมอยากทราบว่า เป็นความจริงไหมครับ ที่ว่ากันว่า เหตุทีเจ้าฟ้ากุ้งต้องโทษประหารเพราะทรงถูกใส่ร้ายว่าทรงคบชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ หรือเป็นเพราะว่าพระองค์ทรงรักเจ้าฟ้าสังวาลย์จริงๆครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ส.ค. 15, 20:22

http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums/http/www.pantip.com/cafe/library/topic/K2860847/K2860847.html
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ส.ค. 15, 20:47

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)กล่าวไว้ว่ากรมหมื่นสุนทรเทพกล่าวหาว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรคบชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ทั้ง ๒ องค์จนถึงกับมีลูกด้วยกันถึง ๓-๔ องค์เป็นหลักฐาน แล้วเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ยอมรับทุกข้อกล่าวหาครับ ส่วนจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่จะพิจารณาเพราะไม่มีใครเกิดทันครับ นอกจากนี้หลักฐานในเรื่องนี้แทบไม่มีบันทึกเอาไว้ด้วย (พงศาวดารฉบับอื่นๆก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไห่ครับ)

"กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องราวกราบทูล พระกรุณาเป็นการลับ ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง พระเจ้าอยู่หัวให้ชำระกรมฝ่ายในเป็นสัตย์ แล้วจึงสั่งพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ ให้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ กราบทูลว่า เป็นอริอยู่ จะไปเชิญเสด็จมิได้ เจ้าจอมจันท์มารดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์กระแหจึงไปเชิญเสด็จ กรมพระราชวังมาจะขึ้นฉนวนวังหน้า มหาดเล็กที่ล่วงมารับเสด็จนั้นกราบทูลว่า ประตูเสาธงชัยปิด ก็หาเสด็จ ขึ้นไม่ล่องลงไปประทัพอยู่ที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด เรือพระที่นั่งล่วงลงมาเสด็จขึ้นสะพานใต้ระหัดน้ำ ทรงพระเสลี่ยงมาถึงศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งอยู่ริมศาลาลูกขุนท้ายสระเป็นอันมาก จะให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีผาวังทูลว่า ขอพระราชทานเสด็จไปเฝ้าจึงจะชอบ ก็เสด็จเข้าไปอยู่ณทิมดาบ จึงมีพระราชโองการสั่งมหาดเล็ก ให้ออกมาเชิญเสด็จไป ณ ตำหนักสองห้องข้างทิมสงฆ์ แล้วสั่งพระมหาเทพให้จำห้าประการ แล้วมีกระทู้ถามกรมพระราชวังรับเป็นสัตย์

วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๕ ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ ๒๐ ที กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย ทรงพระกรุณาให้ริบ ครั้นแรม ๒ ค่ำเฆี่ยน อีก ยกหนึ่ง ๒๐ นาที แรม ๓ ค่ำอีกยกหนึ่ง ๒๐ ที แล้วให้นาบพระบาทแลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดา เจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าเฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ ที จะว่าประการใด กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามจะทรงพระกรุณาโปรด กรมหมื่นเทพพิพิธทูลว่า ได้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ทีแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสสั่งว่า ให้เฆี่ยนยก ๓๐ ที ไปกว่าจะครบ ๒๓๐ ที แล้วให้เข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษาพร้อมกันว่า โทษถึงตายเป็นหลายข้อ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ให้นาบพระนลาฎ เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ให้เฆี่ยนยกหนึ่ง ๓๐ ที อยู่ ๓ วันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้น เฆี่ยนอีก ๔ ยกเป็น ๑๘๐ ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปณวัดชัยวัฒนารามทั้งสององค์"


เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันครับ บิดาคือพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเพทราชา พระมารดาคือเจ้าฟ้าเทพเป็นพระธิดาของพระเจ้าท้ายสระครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ส.ค. 15, 21:12

เรื่องการคบชู้กับเจ้านายฝ่ายในยังมีในหลักฐานร่วมสมัยของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC)ด้วย ซึ่งเคยมีผู้นำมาลงในกระทู้พันทิปครับ ขอลอกมาลงเลยนะครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3802572/K3802572.html


จดหมายส่วนตัว
เรื่องในเอกสาร VOC ที่เกี่ยวกับเจ้าฟ้ากุ้ง


ข้อมูลจาก
เอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ( Algemeen Riyksarchief ) ณ กรุงเฮก เลขที่ VOC 2883, หน้า ๑–๓๒ เป็นจดหมายจากนาย Nicolaas Bang พ่อค้าใหญ่ของ VOC ประจำกรุงศรีอยุธยา ถึงข้าหลวงใหญ่ MOSSCL ณ กรุงปัตตาเวีย เขียนที่กรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ ๘ มกราคม ๑๗๘๕

๑ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖ เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในราชสำนักไทย

๒ เป็นเวลาราวๆ 1 ปีที่ "Kpoomprincs" ( มกุฎราชกุมาร / อุปราช ) ประชวรด้วยโรค Morbus Gallicus กามโรคชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "French Pox" เลยเข้าวังหลวงไม่ได้ทรงประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง ( วังหน้า )

๓ ในช่วงที่ทรงพระประชวร พระมหาอุปราชทรงสั่งลงโทษข้าหลวง ( แม้ข้าหลวงที่สำคัญ ) อย่างรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังทรงวิวาทกับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษอีกพระองค์หนึ่ง Tjauw Sakew ( ถอดเสียงออกเป็น "เจ้าสระแก้ว" น่าที่จะหมายถึง กรมหมื่นสุนทรเทพ ซึ่ง พระราชพงศาวดารว่าทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักสระแก้ว ) เจ้าฟ้ากุ้งได้สั่งให้ลูกน้องไปล้อมที่ประทับของ "Tjauw Sakew" แต่กรมหมื่นสุนทรเทพพร้อมบรรดาพระราชโอรสของพระองค์ทรงสามารถหลบหนีไปได้ แล้วเข้าไปที่พระราชวังหลวง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษและกราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด
๔ เมื่อพระมหาอุปราชทรงทราบว่า "Tjauw Sakew" หนีเข้าไปในพระราชวังหลวงแล้ว ก็ทรงนำบริวารบุกไปถึงพระทวารพระบรมหาราชวัง โดยตั้งพระทัยจะจับตัว "Tjauw Sakew" มาฆ่าเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษได้ทรงมีพระราชดำรัสว่าให้ปิดพระทวารพระบรมหาราชวังเสีย ไม่ให้ผู้ใดล่วงเข้าไปทั้งสิ้น ( ถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาติจากพระองค์ ) พระมหาอุปราชเลยต้องเสด็จกลับไปยังวังหน้าของพระองค์

๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงออกพระโอษฐ์เรียกพระมหาอุปราชเข้าเฝ้า ทีแรกนั้นพระมหาอุปราชหายอมไม่ แต่ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงขู่ว่า ถ้าไม่มาเข้าเฝ้าแล้วไซร้พระองค์จะทรงมาจับตัวไปเอง เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงยอมเข้าไปในพระบรมหาราชวัง พระมหาอุปราชทรงนำอาวุธ ( ดาบ ) ติดพระองค์ไปด้วย พร้อมทั้งบริวารก็ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ทรงเดินถือดาบเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ( แต่บริวารของพระองค์ไม่สามารถเข้าไปได้ ) แต่ในที่สุดก็ทรงยอมยื่นดาบให้ "เจ้านายพระองค์หนึ่ง" ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ก่อนเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตรัสถามพระมหาอุปราชเรื่องการถืออาวุธเข้ามาในวังเพื่อที่จะฆ่า "Tjauw Sakew" แต่พระมหาอุปราชไม่ทรงตอบคำถามดังกล่าว

๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงให้จับตัวพระมหาอุปราชไว้และล่ามโซ่ทั้งที่มือและเท้า ( การจองจำห้าประการ ) ทรงห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาติจากพระองค์ ให้เจ้าองค์หนึ่ง ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพธ ) ขุนนาง ๒ คน คอยเฝ้าคุมอยู่ระหว่างที่เสวยพระกระยาหาร เนื่องจากพระมหาอุปราชไม่อยากเสวยพระกระยาหารนัก พระองค์จึงทรงเสวยได้น้อยมากในเวลา ๓ วัน ที่พระมหาอุปราชติดคุกอยู่ก้ได้มีคนนำเอาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับพระมหาอุปราชมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษหลายเรื่อง

๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ "Tjauw Sakew" กับ
"Tjauw Cromme Kiesa Poon" ( กรมหมื่นจิตรสุนทร ) พร้อมทั้งเจ้าพระยาจักรี , เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้สอบสวนพระมหาอุปราช แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรเลย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงลงพระอาญาให้โบยพระมหาอุปราช ๒๐ ที แต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นพระมหาอุปราชทรงถูกโบยอีก ๒๐ ที และให้เผา “ ปลายพระบาท “ อีกด้วย ( นาบพระบาท ) ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ผลนัก จึงมีพระราชดำรัสให้จับข้าหลวงสำคัญๆของพระมหาอุปราชเข้าคุกให้หมด เพื่อสอบสวนความต่างๆ ซึ่งได้มีการทรมานเฆี่ยนตีข้าหลวงเหล่านี้

๘ ได้ความว่า พระมหาอุปราชได้ทรงสั่งให้ทำกุญแจไขเข้าไปในพระบรมหาราชวัง ( ฝ่ายใน ) เพื่อที่จะได้ทรงเข้าไปหาพระมเหสีและพระสนมของของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษได้ในตอนกลางคืน นอกจากนั้นแล้วยังได้ความอีกว่า พระมหาอุปราชทรงรับสั่งให้ข้าหลวงซื้ออาวุธปืนไฟ ( ปืนยาว ) และดาบมาเก็บไว้

๙ และยังมีการกล่าหาพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตพระสงฆ์และคนอื่นๆอีกหลายคน ทรงรับสั่งให้ตัดมือตัดนิ้วมือของคนจำนวนหนึ่ง

๑๐ พอเจ้านาย ๒ องค์ เสนาบดี ๒ คนนี้ ( ดูข้อ ๗ ) รายงานเรื่องราวต่างๆนี้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ

๑๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงรับสั่งให้นำตัวเจ้าหญิงทั้ง ๔ องค์ ( Devier Princersen ) เข้ามาสอบสวน ที่แรกต่งทรงปฏิเสธ แต่เมื่อทรงถูกขู่มากๆเข้าก็ทรงยอมรับว่า พระมหาอุปราชมีแผนการที่จะลอบปลงพระชนม์ ( เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเข้ามาหาพระมเหสี / พระสนม ) เพื่อที่จะได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ด้วยความร่วมมือของ เจ้านาย ( เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ) และขุนนางจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งบริวารของพระมหาอุปราชเอง ซึ่งมีอาวุธพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้ามายึดพระบรมหาราชวัง

๑๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตกพระทัยมาก พอได้ยินเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระมหาอุปราช จึงทรงมีรับสั่งให้เฆี่ยนตีพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที และให้เอาเหล็กร้อนๆมาจ่อที่หน้าผาก แขน และขา

๑๓ ส่วนพระมเหสีและพระสนมทั้งสี่องค์นั้นทรงถูกเฆี่ยนตีองค์ละ ๕๐ ที จนสิ้นพระชนม์ทั้งหมด บริวารของพระมหาอุปราชต่างถูกโบยทั้งสิ้นและมีที่เสียชีวิต ๒ ราย

๑๔ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖ พวกชาวฮอลันดาได้ข่าว่า "พระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์แล้ว" พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้โบยพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที มีการซักถามพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ทำกุญแจเข้าไปในพระบรมหาราชวังเพื่อการอันใด ทรงตอบว่าเพื่อที่จะได้เข้าไปหา ( เป็นชู้ ) พระมเหสีและพระสนมถึง ๔ องค์ด้วยกัน




จากหลักฐานของฮอลันดา นอกจากเรื่องชู้แล้วก็ยังสะท้อนภาพการแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายระหว่างฝั่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลกับเจ้าสามกรมเหมือนกับพงศาวดาร แต่สิ่งที่มีมากกว่าพงศาวดารคือการระบุความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับตัวกรมพระราชวังบวรซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าถูกหวาดระแวงหวาดระแวงว่าจะชิงราชสมบัติจนเป็นเหตุให้ถูกลงโทษ เรื่องคบชู้ซึ่งเป็นประเด็นหลักตามพงศาวดารจึงดูจะกลายเป็นแค่ปัจจัยเสริมในหลักฐานร่วมสมัยครับ
บันทึกการเข้า
จิตรางคทา
อสุรผัด
*
ตอบ: 21


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ส.ค. 15, 21:25

ขอบคุณมากครับ ไม่ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์เพราะสาเหตุใด แต่ผลงานพระนิพนธ์ของพระองค์จะอยู่ในใจของเราเสมอ พระนิพนธ์ของพระองค์แฝงด้วยความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากพระหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 19:21

พระโรคที่ท่านเป็นมันทำลายสมองด้วยหรือเปล่าครับ?

Morbus Gallicus หรือ French Pox ก็คือซิฟิลิสครับ ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกับ 'คุดทะราด' หรือ 'คชราด' โรคสำหรับบุรุษที่กล่าวถึงในพงศาวดาร(ปัจจุบันคุดทะราดใช้เรียกโรค yaws แต่เข้าใจว่าสมัยอยุทธยาจะใช้เรียกรวมกับซิฟิลิสด้วย ทั้งสองโรคติดเชื้อ Treponema pallidum เหมือนกัน) ถ้าเป็นในระยะที่สาม(Tertiary state)หรือระยะสุดท้ายก็จะสามารถลุกลามไปทำลายระบบต่างๆของร่างกายรวมถึงระบบสมองและไขสันหลังได้ครับ แต่มักจะพบในคนที่เป็นเรื้อรังนานๆเป็นสิบปีครับ

รูปผิวหนังผู้ป่วยซิฟิลิสระยะที่สอง


หลายๆแหล่งอ้างว่าที่เรียกพระนามพระองค์ว่า 'เจ้าฟ้ากุ้ง' เพราะพระองค์ตัวงอเนื่องจากโรคลุกลามไปถึงเส้นประสาท(อาจจะส่งผลให้เกิด abnormal gait ได้) บางที่ก็ว่าต้องเดินงอตัวเพื่อลดความเจ็บปวดจนดูเหมือนกุ้ง แต่บางแห่งก็แย้งว่าโรคซิฟิลิสรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STD)อื่นๆไม่ทำให้ตัวงอได้ ก็อยากทราบเหมือนกันครับว่าในทางการแพทย์ โรคซิฟิลิสสามารถทำให้เกิดการงอตัวได้อย่างที่อ้างมั้ยครับ เพราะเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุชัดถึงเรื่องที่มาของพระนาม ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการตีความกันไปเองหรือเปล่า

ว่าแต่ทำไมถึงสงสัยว่าโรคนี้ทำลายสมองครับ เพราะเท่าที่ทราบก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าน่าจะทรงมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสมองแต่อย่างใดครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 19:24

ลองเทียบเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารกับหลักฐานของ VOC ให้ดูง่ายๆครับครับ

๑ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖(พ.ศ.๒๒๙๙) เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในราชสำนักไทย
๒ เป็นเวลาราวๆ 1 ปีที่ "Kpoomprincs" ( มกุฎราชกุมาร / อุปราช ) ประชวรด้วยโรค Morbus Gallicus กามโรคชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "French Pox" เลยเข้าวังหลวงไม่ได้ทรงประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง ( วังหน้า )
"ณ เดือน ๖ ปีกุนสัปตศก(จ.ศ.๑๑๑๗ พ.ศ.๒๒๙๘) ฉลองวัดพระยาคำ อนึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นโรคคชราค แต่ไม่ได้เสด็จเข้าเฝ้าถึง ๓ ปีเศษ..."


๓ ในช่วงที่ทรงพระประชวร พระมหาอุปราชทรงสั่งลงโทษข้าหลวง ( แม้ข้าหลวงที่สำคัญ ) อย่างรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังทรงวิวาทกับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษอีกพระองค์หนึ่ง Tjauw Sakew ( ถอดเสียงออกเป็น "เจ้าสระแก้ว" น่าที่จะหมายถึง กรมหมื่นสุนทรเทพ ซึ่ง พระราชพงศาวดารว่าทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักสระแก้ว ) เจ้าฟ้ากุ้งได้สั่งให้ลูกน้องไปล้อมที่ประทับของ "Tjauw Sakew" แต่กรมหมื่นสุนทรเทพพร้อมบรรดาพระราชโอรสของพระองค์ทรงสามารถหลบหนีไปได้ แล้วเข้าไปที่พระราชวังหลวง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษและกราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด
"วันหนึ่งมีพระบัณฑูรให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาถามว่า เจ้ากรมเป็นแต่หมื่น จัดกันในกรมตั้งเป็นขุน แล้วทำสูงกว่าศักดิ์ ให้ลงอาญาโบยหลังคนละ ๑๕ ทีบ้าง ๒๐ ทีบ้าง เพลากลางคืนให้คนเข้ามาด้อมมองอยู่ประตูสระแก้ว กรมหมื่นสุนทรเทพเกรงจะทำร้าย เพลากลางคืนเสด็จประชุมอยู่ที่ข้างโรงเตียบ ต่อมาเพลากลางวันเสด็จไปอยู่ ณ ตำหนักสระแก้ว ได้ประมาณ ๙ วัน ๑๐ วัน  กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องราวกราบทูล พระกรุณาเป็นการลับ ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง..."


๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงออกพระโอษฐ์เรียกพระมหาอุปราชเข้าเฝ้า ทีแรกนั้นพระมหาอุปราชหายอมไม่ แต่ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงขู่ว่า ถ้าไม่มาเข้าเฝ้าแล้วไซร้พระองค์จะทรงมาจับตัวไปเอง เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงยอมเข้าไปในพระบรมหาราชวัง พระมหาอุปราชทรงนำอาวุธ ( ดาบ ) ติดพระองค์ไปด้วย พร้อมทั้งบริวารก็ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ทรงเดินถือดาบเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ( แต่บริวารของพระองค์ไม่สามารถเข้าไปได้ ) แต่ในที่สุดก็ทรงยอมยื่นดาบให้ "เจ้านายพระองค์หนึ่ง" ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ก่อนเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตรัสถามพระมหาอุปราชเรื่องการถืออาวุธเข้ามาในวังเพื่อที่จะฆ่า "Tjauw Sakew" แต่พระมหาอุปราชไม่ทรงตอบคำถามดังกล่าว
"...พระเจ้าอยู่หัวให้ชำระกรมฝ่ายในเป็นสัตย์ แล้วจึงสั่งพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ ให้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ กราบทูลว่า เป็นอริอยู่จะไปเชิญเสด็จมิได้ เจ้าจอมจันท์มารดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์กระแหจึงไปเชิญเสด็จ กรมพระราชวังมาจะขึ้นฉนวนวังหน้า มหาดเล็กที่ล่วงมารับเสด็จนั้นกราบทูลว่า ประตูเสาธงชัยปิด ก็หาเสด็จ ขึ้นไม่ล่องลงไปประทัพอยู่ที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด เรือพระที่นั่งล่วงลงมาเสด็จขึ้นสะพานใต้ระหัดน้ำ ทรงพระเสลี่ยงมาถึงศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งอยู่ริมศาลาลูกขุนท้ายสระเป็นอันมาก จะให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีผาวังทูลว่า ขอพระราชทานเสด็จไปเฝ้าจึงจะชอบ ก็เสด็จเข้าไปอยู่ ณ ทิมดาบ จึงมีพระราชโองการสั่งมหาดเล็ก ให้ออกมาเชิญเสด็จไป ณ ตำหนักสองห้องข้างทิมสงฆ์..."


๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงให้จับตัวพระมหาอุปราชไว้และล่ามโซ่ทั้งที่มือและเท้า ( การจองจำห้าประการ ) ทรงห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาติจากพระองค์ ให้เจ้าองค์หนึ่ง ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ขุนนาง ๒ คน คอยเฝ้าคุมอยู่ระหว่างที่เสวยพระกระยาหาร เนื่องจากพระมหาอุปราชไม่อยากเสวยพระกระยาหารนัก พระองค์จึงทรงเสวยได้น้อยมากในเวลา ๓ วัน ที่พระมหาอุปราชติดคุกอยู่ก้ได้มีคนนำเอาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับพระมหาอุปราชมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษหลายเรื่อง
๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ "Tjauw Sakew" กับ
"Tjauw Cromme Kiesa Poon" ( กรมหมื่นจิตรสุนทร ) พร้อมทั้งเจ้าพระยาจักรี , เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้สอบสวนพระมหาอุปราช แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรเลย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงลงพระอาญาให้โบยพระมหาอุปราช ๒๐ ที แต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นพระมหาอุปราชทรงถูกโบยอีก ๒๐ ที และให้เผา “ ปลายพระบาท “ อีกด้วย ( นาบพระบาท ) ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ผลนัก จึงมีพระราชดำรัสให้จับข้าหลวงสำคัญๆของพระมหาอุปราชเข้าคุกให้หมด เพื่อสอบสวนความต่างๆ ซึ่งได้มีการทรมานเฆี่ยนตีข้าหลวงเหล่านี้
"...แล้วสั่งพระมหาเทพให้จำห้าประการ แล้วมีกระทู้ถามกรมพระราชวังรับเป็นสัตย์ วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๕ ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ ๒๐ ที กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย ทรงพระกรุณาให้ริบ ครั้นแรม ๒ ค่ำเฆี่ยน อีก ยกหนึ่ง ๒๐ นาที แรม ๓ ค่ำอีกยกหนึ่ง ๒๐ ที แล้วให้นาบพระบาท..."


๑๐ พอเจ้านาย ๒ องค์ เสนาบดี ๒ คนนี้ ( ดูข้อ ๗ ) รายงานเรื่องราวต่างๆนี้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ
"...กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย...กรมหมื่นเทพพิพิธทูลว่า ได้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ทีแล้ว..."


๑๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตกพระทัยมาก พอได้ยินเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระมหาอุปราช จึงทรงมีรับสั่งให้เฆี่ยนตีพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที และให้เอาเหล็กร้อนๆมาจ่อที่หน้าผาก แขน และขา
"...แล้วให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษาพร้อมกันว่า โทษถึงตายเป็นหลายข้อ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ให้นาบพระนลาฎ..."


๑๓ ส่วนพระมเหสีและพระสนมทั้งสี่องค์นั้นทรงถูกเฆี่ยนตีองค์ละ ๕๐ ที จนสิ้นพระชนม์ทั้งหมด บริวารของพระมหาอุปราชต่างถูกโบยทั้งสิ้นและมีที่เสียชีวิต ๒ ราย
"...เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ให้เฆี่ยนยกหนึ่ง ๓๐ ที อยู่ ๓ วันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้น เฆี่ยนอีก ๔ ยกเป็น ๑๘๐ ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปณวัดชัยวัฒนารามทั้งสององค์"


๑๔ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖ พวกชาวฮอลันดาได้ข่าวว่า "พระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์แล้ว" พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้โบยพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที มีการซักถามพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ทำกุญแจเข้าไปในพระบรมหาราชวังเพื่อการอันใด ทรงตอบว่าเพื่อที่จะได้เข้าไปหา ( เป็นชู้ ) พระมเหสีและพระสนมถึง ๔ องค์ด้วยกัน
"...แลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดา เจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าเฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ ที จะว่าประการใด กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามจะทรงพระกรุณาโปรด..."



น่าสนใจว่านอกจากเจ้าสามกรมแล้ว ก็ยังปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ทรงมีความขัดแย้งกับเจ้านายฝ่ายในอย่างเจ้าฟ้าธิดากับเจ้าฟ้าสุริยวงศ์ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมพระมารดาด้วย โดยพงศาวดารระบุว่าถึงเป็น 'อริ' จนไม่สามารถไปทูลเชิญเสด็จมาเฝ้าได้ทั้งๆที่เป็นพระราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สันนิษฐานว่าความขัดแย้งในที่นี้น่าจะเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องทำนองพี่น้องไม่ชอบกันแบบธรรมดาครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 19:26

   พงศาวดารไทยกับจดหมายเหตุฝรั่งให้น้ำหนักสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ต่างกัน     ของไทยเราไปให้น้ำหนักเรื่องชู้สาว  ของฝรั่งออกมาในรูปของความมั่นคงภายใน และความระแวงในการชิงอำนาจกันเอง
     เรื่องเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นองค์เดียวกัน    เห็นได้จากเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว มีการบันทึกถึง "สองพระองค์" คือฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง   ถูกนำศพไปไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม   ไม่ใช่ "สามพระองค์"   ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยเจดีย์เหลืออยู่องค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งสูญหายไปเหลือแต่ร่องรอยฐาน

   ทีนี้มาพูดถึงข้อเท็จจริงที่ตรงกันทั้งฝรั่งและไทย    คือเรื่องการประชวรพระโรคซิฟิลิสของเจ้าฟ้ากุ้ง    ทรงพระประชวรนานเป็นปี (คือตั้งแต่ 1 ปีเศษถึง 3 ปี) ขนาดพระโรคแสดงออกทางร่างกายให้เห็น  จนเข้าวังหลวงไม่ได้  ประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง  คนที่ป่วยขนาดนี้ยังลอบเข้าวังไปคบชู้อย่างสม่ำเสมอได้ก็แปลกประหลาดมาก     ผู้หญิงคนไหนยอมต้อนรับได้โดยไม่รังเกียจก็ยิ่งประหลาดหนักเข้าไปอีก  จึงคิดว่า มันทะแม่งจนไม่น่าจะเป็นความจริง
   ทั้งนี้  ไม่ได้หมายความว่า ท่านบริสุทธิ์ 100% ในเรื่องนี้  แต่คิดว่าเป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นนานมาแล้วก่อนประชวร   เพราะมีการกล่าวถึงในพงศาวดารเล่มไหนจำไม่ได้แล้วว่า ทรงรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์มาก่อนฝ่ายหญิงจะต้องมาเป็นพระมเหสีของพ่อ   แต่เมื่อเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นฝ่ายในไปแล้ว  ก็คงต้องเลิกรากันไป   หรือถ้าไม่เลิกก็คงแอบพบปะกันอยู่อีกระยะหนึ่งตอนยังหนุ่มสาว ก่อนจะเลิกกันไปเองเมื่ออายุมากขึ้น    เจ้าฟ้าสังวาลย์เองก็มีพระธิดากับพระเจ้าบรมโกศ 2 พระองค์คือเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎ

   หลักฐานที่นำมาแสดงตอนต้นกระทู้นี้ คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)เล่าว่า
    "นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์"
   ถ้าเป็นจริง เจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎก็ไม่น่าจะรอดพระราชอาญาไปได้  เพราะเป็นลูกชู้     พ่อแม่ตายคาหลักประหารลูกคงไม่รอดอยู่ดี     แต่ก็ไม่เห็นมีการบันทึกในเรื่องนี้   ท่านก็ยังรอดมาแต่งพระนิพนธ์ดาหลังกับอิเหนาให้เหลือร่องรอยมาแต่งต่อกันในสมัยรัตนโกสินทร์   แสดงว่าทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศ   ไม่ใช่ลูกอันเกิดจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นคนละองค์ครับ ดูจากข้อความในพงศาวดารที่ว่า "นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์" แล้วพระนามก็ห่างไกลกันมาก แต่พระราชพงศาวดารกลับไม่ได้กล่าวถึงการลงอาญาเจ้าฟ้านิ่ม ไม่รู้ว่าบันทึกตกหล่นไปหรือไม่ บางทีอาจจะโดนลงอาญาแต่ไม่ถึงตายเลยไม่มีการกล่าวถึงว่าถูกนำไปฝังที่วัดชัยวัฒนารามครับ

เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันครับ บิดาคือพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเพทราชา พระมารดาคือเจ้าฟ้าเทพเป็นพระธิดาของพระเจ้าท้ายสระครับ
ขอแก้ตรงชื่อพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าแก้วครับ(ไปจำสับสนกับพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสพระเพทราชาเหมือนกัน)  ที่ว่าเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันมีอยู่ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ซึ่งเนื้อความใกล้เคียงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวงจะระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระนัดดาที่เป็นเจ้าฟ้า ๓ องค์ตามลำดับพระชนมายุคือ เจ้าฟ้าจิต กรมขุนสุรินทรสงคราม เจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่มครับ

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้ แต่กล่าวว่าพระบิดาคือพระองค์เจ้าดำ โอรสพระเพทราชาที่ถูกสำเร็จโทษในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ไม่ใช่พระองค์เจ้าแก้วซึ่งถูกประหารตอนต้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

"ฝ่ายเจ้าพระยาพิศณุโลกก็ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าณเมืองศุโขไทยด้วย  ขณะนั้นเจ้าฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์เจ้าดำ  ซึ่งต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าบรเมศร   พระมารดานั้นเจ้าฟ้าเทพ   เปนพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา   แลเปนเจ้าพี่เจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังนั้น  แลเจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวัง  หลวงโกษาผลเมืองพระพิศณุโลกช่วยคิดอ่านให้หนีออกจากโทษได้  ไปรับณค่ายภูเขาทอง  แล้วพากันหนีไปเมืองกับทั้งบ่าวไพร่ในกองของตัว"

ตรงกับความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ส่วนเรื่องพระบิดา เข้าใจว่าพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาน่าจะคลาดเคลื่อน น่าจะเป็นพระองค์เจ้าแก้วอย่างที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ใน 'บาญชีพระนามเจ้านาย' ว่าพงศาวดาร(ไม่รู้ฉบับไหน)กล่าวไว้ ซึ่งสอดคล้องกับตอนอื่นๆของพงศาวดารที่กล่าวว่าพระองค์เจ้าแก้วเป็นพี่เขยของเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์(เจ้าฟ้าเทพเป็นพระพี่นางของทั้งสององค์) ส่วนพระองค์เจ้าดำพงศาวดารก็ระบุว่าได้พระองค์เจ้าแก้วที่เป็นพระธิดาของพระเจ้าเสือเป็นบาทบริจาริกาครับ

เรื่องที่ว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเคยรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์มาก่อน เท่าที่อ่านพงศาวดารมาหลายฉบับ(ซึ่งก็ชำระมาใกล้เคียงกันเกือบหมด)ยังไม่เคยเจอที่ระบุไว้เลยครับ แต่อาจจะเป็นคนสมัยหลังตีความเอาจากพระนิพนธ์ของพระองค์ซึ่งทรงรำพันถึงนางผู้เป็นที่รัก ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงเคยรักใคร่ชอบพอกันมาก่อนตามที่อ.เทาชมพูกล่าวมาครับ อาจจะเป็นไปได้ว่าจะทรงเคยลอบเข้าวังหลวงขณะก่อนจะประชวรคุดทะราด
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 21:03

ก็น่าคิดว่า พระนามที่หายไปคือเจ้าฟ้าสังคีตหรือเปล่า   ว่าแต่เจ้าฟ้าสังคีต มีหลักฐานไหมคะ  ว่าเป็นหญิงหรือชาย

เจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์น่าจะมีชีวิตมาถึงตอนปลายอยุธยา  จึงเป็นที่จดจำได้ของคนที่เขียนคำให้การชาวกรุงเก่า    ถ้าหากว่าถูกสำเร็จโทษตามพระมารดาไป   ในบันทึกน่าจะมีบอกเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่น่าถูกมองข้ามไปได้

ถ้าทรงอยู่ดีมีสุข ไปจนตลอดรัชกาลก็น่าจะไม่ใช่ลูกชู้   

สำหรับเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฏ ส่วนตัวก็คิดว่าคงจะเป็นพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ ในพงศาวดารยังกล่าวว่ามีเจ้าฟ้าสังวาลยังมีโอรสอีกสององค์คือเจ้าฟ้าอาภรณ์กับเจ้าฟ้าสังคีต(หรือสังขีต)  แต่ใน 'บาญชีพระนามเจ้านาย' ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าที่แปลจากภาษาพม่ากลับระบุว่ามีโอรสธิดา ๓ องค์(แต่ตอนเขียนพระนามกลับมี ๔?) คือเจ้าฟ้าหญิงขวันตง(น่าจะเพี้ยนจาก กุณฑล) เจ้าฟ้าชายอัมพร(อาภรณ์) เจ้าฟ้าหญิง(ไม่ระบุชื่อ แต่น่าจะเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ) เจ้าฟ้าหญิงอีกองค์หนึ่ง ไม่มีเจ้าฟ้าสังคีต อันนี้ไม่แน่ใจว่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของเอกสารในการจดชายเป็นหญิง หรือพงศาวดารคลาดเคลื่อน หรือจริงๆมีเจ้าฟ้าหญิงที่ไม่ระบุชื่อองค์เดียวแต่เขียนซ้ำเป็นสอง(หรือผิดพลาดตอนพิมพ์ก็ไม่ทราบ)

อิงตามความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ซึ่งเนื้อความใกล้เคียงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวง ระบุลำดับอายุของโอรสธิดาเจ้าฟ้าสังวาลย์คือเจ้าฟ้ากุณฑล เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าสังคีต สำดับใกล้เคียงกับบัญชีแต่ไม่มีเจ้าฟ้าสังคีต

ลองคิดเล่นๆแบบไม่มีหลักฐานยืนยันดูว่าในกรณีที่มีเจ้าฟ้าสังวาลมีโอรสธิดา ๓ องค์ตามบัญชีพระนามเจ้านายจริง(เจ้าฟ้าหญิงอีกองค์อาจจะเขียนเกิน) จะเป็นไปได้มั้ยครับที่เจ้าฟ้าสังคีตซึ่งมีอายุน้อยสุดอาจจะเป็นลูกชู้ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เลยถูกตัดชื่อไปจากบัญชีพระนามเจ้านายที่น่าจะเขียนในเมืองพม่า

บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 21:05

ก็น่าคิดว่า พระนามที่หายไปคือเจ้าฟ้าสังคีตหรือเปล่า   ว่าแต่เจ้าฟ้าสังคีต มีหลักฐานไหมคะ  ว่าเป็นหญิงหรือชาย

เจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์น่าจะมีชีวิตมาถึงตอนปลายอยุธยา  จึงเป็นที่จดจำได้ของคนที่เขียนคำให้การชาวกรุงเก่า    ถ้าหากว่าถูกสำเร็จโทษตามพระมารดาไป   ในบันทึกน่าจะมีบอกเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่น่าถูกมองข้ามไปได้

ถ้าทรงอยู่ดีมีสุข ไปจนตลอดรัชกาลก็น่าจะไม่ใช่ลูกชู้  

เจ้าฟ้าสังคีต ตามพระราชพงศาวดาร และความแทรกคำให้การระบุตรงกันว่าเป็นพระโอรสครับ

อย่างที่อ.เทาชมพูว่าครับ เรื่องใหญ่ขนาดนี้ถ้าจะสำเร็จโทษก็ควรจะบันทึกไว้ อย่างในกรณีที่พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ลูกเธอของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในข้อหาไปลวงเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์มาให้พระบิดาทำร้าย แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องมีลูกชู้เป็นเรื่องเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(น่าจะมากกว่าการที่มเหสีเป็นชู้)เลยปิดเงียบไม่กล่าวถึง

แต่ที่กล่าวมานี่ก็เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเล่นๆครับ ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 21:07

คลิปประกอบการสนทนา จากละครเรื่องฟ้าใหม่ครับ


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 22:03

มีหลักฐานร่วมสมัยที่น่าสนใจและอาจจะเกี่ยวกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร คือพระราชกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรื่องการฟ้องร้องในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและกรมพระลำพัง ซึ่งออกในจุลศักราช ๑๑๑๓(พ.ศ.๒๒๙๔) ๔ ปีก่อนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสิ้นพระชนม์

เนื้อหาคือให้ตราเป็นพระราชกำหนดว่าถ้าเกิดการฟ้องร้องในวังหน้า นอกจากทั้งโจทก์และจำเลยเป็นข้าของวังหน้าแล้วจึงให้ทางวังหน้าพิจารณาคดี(นอกจากเป็นคดีใหญ่จริงๆจึงส่งให้วังหลวง) นอกจากนั้นแล้ววังหน้าไม่มีสิทธิ ถ้าโจทย์หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งเป็นข้าวังหลวง วังหลวง วังหลวงก็เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาคดี   

แต่เทียบกับฝ่ายพระลำพังแล้ว หากจำเลยเป็นคนฝ่ายพระลำพังแล้วยังให้ฝ่ายพระลำพังพิจารณาคดีได้

อาจจะเรื่องเล็กน้อยอย่างการพิจารณาคดี แต่พิจารณาพระราชกำหนดนี้เหมือนเป็นการลดอำนาจในทางศาลของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงและเมื่อมีคู่กรณีที่เป็นข้าวังหลวงก็อาจจะเสียเปรียบได้หากผู้พิจารณา้ป็นคนของวังหลวงเช่นเดียวกัน และน่ามีสิทธิทางศาลจะน้อยกว่ากรมพระลำพังซึ่งยังมีสิทธิพิจารณาคดีของจำเลยใต้บังคับบัญชาตนได้ด้วย

ลองสันนิษฐานดูโดยอิงจากหลักฐานของ VOC ที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงมีท่าทีที่อาจจะแข็งข้อต่อพระบิดา และจากที่พระองค์ทรงมีอริอยู่มากตามพงศาวดาร อาจเป็นไปได้ที่ทางวังหลวงคือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอาจจะทรงระแวงพระองค์เลยพยายามลิดรอนอำนาจบางอย่างของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงครับ เรื่องนี้น่าสนใจอยู่เหมือนกันครับ



บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.106 วินาที กับ 20 คำสั่ง