เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 45 46 [47] 48 49
  พิมพ์  
อ่าน: 70986 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 690  เมื่อ 29 มี.ค. 16, 19:40

ด้วยเหตุใดจึงมีความเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน 5 เป็นน้ำผิ้งที่ดีที่สุด

ลองนั่งนึกดูว่ามีเหตุผลใดกันบ้างนะครับ
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 691  เมื่อ 30 มี.ค. 16, 18:20

คำอธิบาย

เดือน 5 ตามเดือนสากล คือ เดือนพฤษภาคม      เดือน 5 ตามเดือนไทย คือ ประมาณเดือนเมษายน
 
เดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นชวงที่มีอากาศร้อนและแห้ง ไม่มีฝนตก (แม้ในพื้นที่ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลางตอนบนจะเป็นเดือนที่มีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่บ้างก็ตาม) เป็นเดือนที่ต้นไม้หลากหลายชนิดก็เกือบจะไม่มีการออกดอกเลย การเก็บน้ำผึ้งในช่วงประมาณเดือนนี้จึงได้น้ำผึ้งที่มีการสะสมมาแล้วตลอดทั้งปี   ที่สำคัญก็คือเป็นน้ำผึ้งในเดือนที่ไม่มีน้ำ(ฝน)มาปนเปื้อนเลย  จึงเรียกได้ว่าได้น้ำผึ้งบริสุทธิ์   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 692  เมื่อ 30 มี.ค. 16, 18:56

ผึ้งรวงใหญ่ๆหรือผึ้งหลวงที่พบในป่านั้น มักจะติดห้อยอยู่กับกิ่งก้านของต้นยางซึ่งสูงมาก   การจะปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้งนั้นจะต้องใช้ทอยดังที่กล่าวมาแล้ว

ในการปีนขึ้นไปเอารวงผึ้งจริงๆนั้น ผู้ปีนจะต้องทำการประมูลลูกทอย    การประมูลลูกทอยก็คือ การประเมินว่าจะต้องใช้ไม้ทำลูกทอยจำนวนเท่าใด ซึ่งก็จะต้องไปตัดไม้เป็นท่อนๆ(ยาวประมาณ 30+/- ซม.)เท่ากับจำนวนที่ประเมินไว้ ทำการเสี้ยมปลายข้างหนึ่งให้แหลม แล้วใส่ย่ามสะพายข้างเตรียมให้พร้อม   

รอจนคืนที่มืดพอเห็นได้รำไร รวมทั้งเป็นคืนที่ลมสงบอีกด้วย   ก็เริ่มต้นด้วยการก่อไฟใต้ต้นไม้ ทำการรมควันเพื่อไล่ผึ้งให้ออกจากรัง จากนั้นก็จะลงมือปีนต้นไม้ ค่อยๆตีลูกทอยขึ้นไปทีละอัน จนไปถึงจุดที่สามารถเก็บเกี่ยวรวงผึ้งได้   

เหตุที่ต้องเป็นคืนที่มืดก็เพราะ ผึ้งมันมองไม่เห็น มันก็ได้แต่บินชนเราเท่านั้น  แม้จะใช้ไฟฉาย มันก็จะเห็นเฉพาะส่วนที่เป็นแสงไฟสว่างเท่านั้น   ส่วนไอ้ที่มันจะต่อยเรานั้น ก็เพราะเราเอามือไปปัดมันหรือตบมันเข้านั่นเอง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 693  เมื่อ 30 มี.ค. 16, 19:18

การสุมไฟที่ต้องการควันไฟมากๆนั้น ทุกท่านคงทำได้นะครับ เป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานของลูกเสือ

สำหรับเรื่องของลูกทอยนั้น มันมีทั้งวิทยาศาสตร์และความเชื่อทางจิตวิญญาณปนกัน    คนที่ประมูลถูกต้องนั้น เราจะเห็นลูกทอยถูกตีติดต้นไม้ที่ระยะห่างเท่าๆกัน เป็นทิวตั้งแต่โคนต้นไปจนถึงจุดที่มีรวงผึ้ง   ก็มีเยอะที่ประมูลผิด ปักขึ้นไปไม่ถึงจุดที่สามารถจะเก็บรังผึ้งได้  มีทั้งแบบยังห่างไกลและทั้งแบบใกล้เต็มที    อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยเห็นแบบที่มีลูกทอยเหลือคงค้างมากเกินไป

ลูกทอยพวกนี้ ชาวบ้านเขาจะไม่ถอดออกมา จะปล่อยใว้ให้คาอยู่กับต่นไม้นั้นๆ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 694  เมื่อ 30 มี.ค. 16, 20:28

ความเชื่อประการหนึ่งก็คือว่า หากประมูลลูกทอยผิด (ซึ่งส่วนมากจะเป็นในลักษณะขาด) ก็แสดงว่า เจ้าที่เขายังไม่ให้ ค่อยมาเอาในอีกปีหนึ่ง  ส่วนคนอื่นที่จะแอบมาต่อยอดก็ไม่ค่อยจะกล้า เพราะว่าการตอกลูกทอยนั้น แต่ละคนที่ตอกก็ลงน้ำหนักไม่เหมือนกัน คือก็จะตอกให้แน่นมากเพียงพอที่จะรับน้ำหนักตนเองได้เท่านั้น คนที่จะมาต่อยอดจึงไม่รู้ว่าลูกทอยนั้นจะรับน้ำหนักของตนได้หรือไม่   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 695  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 19:10

ผมเคยเห็นมหกรรมทำน้ำผึ้งป่าของหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเขตพม่า ในพื้นที่ปากนกแก้วระหว่าง บ.วาเลย์ อ.แม่สอด กับ บ.กล้อทอ อ.อุ้มผาง (อ่านว่า บ.กะล้อทอ)   มีทั้งกระทะใบบัวต้มน้ำไอน้ำฉุย มีรวงผึ้งวางกองอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ มีตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่เป็นทรงตะกร้าใช้หีบน้ำผึ้ง และมีกระบอกไม้ไผ่วางตั้งเรียงกันอยู่ ผู้คนก็กำลังชุลมุนช่วยกันทำงาน    ผมไม่มีโอกาสได้เห็นกระบวนการทำทั้งหมด ด้วยกำลังประสานงานเกี่ยวกับเรื่องทาง security   อย่างไรก็ตาม ก็ทำให้ได้นึกถึงเรื่องของน้ำผึ้งป่าเดือน 5 ที่มาจากพื้นที่ย่านนั้นว่า   

อืม์.. น้ำผึ้งป่าเดือน 5 ของแท้ที่น่าจะมีสีเข้ม มีเศษชิ้นส่วนบางอย่างปนอยู่บ้าง และมีความเข้มข้นสูงนั้น    แท้จริงแล้ว ที่เราได้เห็นน้ำผึ้งเดือน 5 ใสสะอาดที่เอามาเร่ขายกันนั้น  มันก็อาจจะผ่านขั้นตอนการใช้ไอน้ำร้อนเพื่อรีดเอาน้ำผึ้งออกมาจากรวงให้หมด จากนั้นก็เคี่ยวเพื่อไล่น้ำออกไปจนมีความเหนียวข้นพอดี แล้วก็กรอกใส่ขวดเอามาเร่ขายกัน

น้ำผึ้งที่ผ่านความร้อนมาแล้ว น่าจะเป็นน้ำผึ้งที่เกือบจะไม่มีสารอาหารที่มีคุณค่าหลงเหลืออยู่นัก ด้วยคงจะถูกทำลายไปจนเกือบหมดแล้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 696  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 19:18

เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ ตจว.   เคยเห็นการเอาน้ำผึ้งมาทำเป็นท๊อบฟี่อยู่ครั้งหนึ่ง ดูง่ายมาก ก็เอาน้ำผึ้งมาเคี่ยวให้เหนียวพอดี แล้วก็ใช้ช้อนตักหยอดลงในน้ำเย็น มันก็จะเป็นก้อนๆ เอามาอมเป็นท๊อบฟี่กัน   

ก็เคยกินอยู่ครั้งเดียว แล้วก็ไม่เคยลองทำเองด้วย ก็เลยไม่รู้ว่ากรรมวิธีที่เล่ามานี้ถูกต้องหรือไม่นะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 697  เมื่อ 31 มี.ค. 16, 19:35

่ทำให้นึกถึงของอร่อยและหากินยาก ..น้ำตาลอ้อยก้นกระทะที่ใส่มะพร้าวขูด..  ควักออกมาจากก้นกระทะที่ใช้เคี่ยวน้ำอ้อย นั่งกินอยู่ในพื้นที่ที่ทำการหีบอ้อยและเคี่ยวน้ำอ้อยนั่นเอง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 698  เมื่อ 01 เม.ย. 16, 19:23

ในปัจจุบัน ภาพการหีบอ้อยของชาวบ้านและการเคี่ยวน้ำตาลอ้อยในไร่อ้อยคงจะเหลือให้เห็นน้อยมากๆ หรือไม่มีอีกแล้วก็ได้  ที่คิดว่าคงจะเหลือน้อยมากๆนั้นก็เพราะยังพอจะเห็นชาวบ้านหาบงบน้ำอ้อยขายอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเห็นผู้เฒ่าแก่ๆนั่งขายอยู่ข้างถนน  ซึ่งผมจะซื้อเกือบจะทุกครั้งที่เห็น  ช่วยเขาครับ เขาพยายามดิ้นรนช่วยตัวเอง พยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต   10 บาท 20 บาท ของเขามีค่ามากกว่าของเรามากมายนัก   แม้กระทั่งตัวน้ำอ้อยที่ทำเป็นงบน้ำอ้อยเอามาขายเรานั้น ในความคิดของเขามันก็เป็นของมีคุณค่า ในขณะที่เราอาจจะไม่เห็นคุณค่าของมันเลย

ในสมัยก่อนนั้น ในย่ามของชาวบ้านที่มีธุระต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล จะต้องมีงบน้ำอ้อยติดอยู่เสมอ   ชาวบ้านเขาใช้ในลักษณะเป็นของกินเพื่อฟื้นความสดชื่น (refreshment) และกระตุ้นให้กำลังเมื่อมีอาการอิดโรยมากๆ  ครับ...มันก็เป็น energy จากน้ำตาลธรรมชาตินั่นเอง  นี่ก็คือความมีค่าของมันในสายตาชาวบ้าน   

แล้วในมุมของเราละครับ เราใช้น้ำตาลในการชงกาแฟ ใช้ในการทำอาหารคาวหวานต่างๆ  แล้วเราก็พยายามจะเลี่ยงการใช้น้ำตาลทรายขาวและเลี่ยงการใช้น้ำตาลปี๊บ หันไปใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลตะโหนด     ก็จะไม่ลองหันไปใช้น้ำตาลอ้อยดูบ้างหรือไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังบรรดาสารเคมีอันตรายที่ชาวบ้านอาจใส่เข้าไปในกระบวนการทำด้วย  ซื้อในตลาด ตจว. หรือตลาดชาวบ้านก็คงพอจะลดความเสี่ยงได้มากโขอยู่   จะให้ปลอดภัยที่สุดก็คงต้องไปนั่งดูเขาทำกัน

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 699  เมื่อ 01 เม.ย. 16, 19:41

ผมสนับสนุนให้มีกิจกรรมการเที่ยวชมการหีบน้ำอ้อยและการเคี่ยวน้ำตาลของชาวบ้านครับ  เป็นกิจกรรมในช่วงเดือนที่มีอากาศเย็น ช่วงเช้ามืดช่วงประมาณตี 5 หรือ 6 โมงเช้า   

เราจะเห็นลานวงกลม มีวัวเดินวนไปรอบๆเพื่อหมุนนลูกหีบซึ่งทำมาจากท่อนไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 ซม. (ตอนนี้เห็นขายอยู่ตามร้านขายของเก่าเต็มไปหมด)  แล้วก็เห็นการเคี่ยวน้ำอ้อยในกระทะใบบัว     นั่งผิงไฟ คุยกัน ดูกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาฟ้ากำลังเริ่มสางและดวงอาทิตย์กำลังให้สว่างรำไร  แล้วก็รอน้ำตาลอ้อยก้นกระทะ พองวดได้ที่ดีก็เอามะพร้าวห้าว จะขูดหรือหั่นเป็นเว่นเป็นชิ้นบางๆก็ได้ โยนใส่เข้าไปแล้วกวนให้เข้ากัน คะเนดูว่ามะพร้าวผสมผสานกับน้ำตาลกันได้ดีแล้ว ก็ตักออกมาหยอดบนใบตองกล้วยหรือใบตองตึงก็ได้   ของอร่อยเลยครับ หายง่วงแถมด้วยความสดชื่น   
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 700  เมื่อ 02 เม.ย. 16, 11:03

ในปัจจุบัน ภาพการหีบอ้อยของชาวบ้านและการเคี่ยวน้ำตาลอ้อยในไร่อ้อยคงจะเหลือให้เห็นน้อยมากๆ หรือไม่มีอีกแล้วก็ได้  ที่คิดว่าคงจะเหลือน้อยมากๆนั้นก็เพราะยังพอจะเห็นชาวบ้านหาบงบน้ำอ้อยขายอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเห็นผู้เฒ่าแก่ๆนั่งขายอยู่ข้างถนน  ซึ่งผมจะซื้อเกือบจะทุกครั้งที่เห็น  ช่วยเขาครับ เขาพยายามดิ้นรนช่วยตัวเอง พยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต   10 บาท 20 บาท ของเขามีค่ามากกว่าของเรามากมายนัก   แม้กระทั่งตัวน้ำอ้อยที่ทำเป็นงบน้ำอ้อยเอามาขายเรานั้น ในความคิดของเขามันก็เป็นของมีคุณค่า ในขณะที่เราอาจจะไม่เห็นคุณค่าของมันเลย

ในสมัยก่อนนั้น ในย่ามของชาวบ้านที่มีธุระต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล จะต้องมีงบน้ำอ้อยติดอยู่เสมอ   ชาวบ้านเขาใช้ในลักษณะเป็นของกินเพื่อฟื้นความสดชื่น (refreshment) และกระตุ้นให้กำลังเมื่อมีอาการอิดโรยมากๆ  ครับ...มันก็เป็น energy จากน้ำตาลธรรมชาตินั่นเอง  นี่ก็คือความมีค่าของมันในสายตาชาวบ้าน   

แล้วในมุมของเราละครับ เราใช้น้ำตาลในการชงกาแฟ ใช้ในการทำอาหารคาวหวานต่างๆ  แล้วเราก็พยายามจะเลี่ยงการใช้น้ำตาลทรายขาวและเลี่ยงการใช้น้ำตาลปี๊บ หันไปใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลตะโหนด     ก็จะไม่ลองหันไปใช้น้ำตาลอ้อยดูบ้างหรือไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังบรรดาสารเคมีอันตรายที่ชาวบ้านอาจใส่เข้าไปในกระบวนการทำด้วย  ซื้อในตลาด ตจว. หรือตลาดชาวบ้านก็คงพอจะลดความเสี่ยงได้มากโขอยู่   จะให้ปลอดภัยที่สุดก็คงต้องไปนั่งดูเขาทำกัน

 
หลายปีที่แล้วไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เชียงใหม่ เห็นน้ำตาลลักษณะอย่างที่อาจารย์บรรยายนี่ละค่ะใส่ขวดโหลตั้งอยู่ในครัว เจ้าของบ้านว่างบน้ำอ้อย ลองดมดูก็พบว่ากลิ่นมันแปลกๆคล้ายๆกับกลิ่นเหล้าแห้งๆ เลยไม่กล้าลองชิม หรือว่ามันเสียแล้วก็ไม่ทราบนะคะ เพราะเคยได้กลิ่นน้ำตาลสดบูด ก็กลิ่นประมาณนี้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 701  เมื่อ 03 เม.ย. 16, 18:17

ขออภัยครับ เมื่อวานไปค้างที่หาดเจ้าสำราญ เพชรบุรี   ไปทำบุญให้แม่และกลุ่มญาติฝ่ายแม่ที่แม่กลองเมื่อวาน แล้วต่อวันนี้ทำบุญให้พ่อตากับญาติฝ่ายพ่อพ่อตา

หาดเจ้าฯต่างกับสมัยก่อนมากเลยครับ  ปัจจุบันมี resort มากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย  ผมชอบหาดเจ้าฯตรงที่ยังคงให้ความเป็นส่วนตัว(ในระดับที่พอใจเลยล่ะ)กับทุกคนและทุกครอบครัวที่มาเที่ยวมาพักผ่อน  คนไม่มาก เสียงไม่ดัง ขี้เมาอ้อแอ้น้อยมาก  แม้ว่าหาดจะดูไม่สวยงามนัก ไม่เปิดโล่งเพราะเห็นกองแนวหินกันคลื่นกระแทกฝั่ง (breakwaters) เป็นช่วงๆ ก็ตาม

ในเชิงวิชาการ ผมเห็นว่าเป็นพื้นที่ชายทะเลที่ให้ข้อมูลและสิ่งบ่งชี้หลากหลายในเชิงของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นของอ่าวไทยตอนบน ทั้งจากตัวกระบวนการทางธรรมชาติเองและจากการกระทำของคนที่เข้าไปทำการพัฒนาแทรกอยู่ในกระบวนการทางธรรมชาติต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 702  เมื่อ 03 เม.ย. 16, 19:10

สำหรับงบน้ำอ้อยที่คุณ Anna ว่ามีกลิ่นคล้ายเหล้าแห้งๆหรือน้ำตาลสดบูดนั้น  ก็คงเป็นเช่นนั้น น้ำตาลทั้งหลายมันเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอลล์ได้ การทำเหล้าทำเบียร์ทั้งหลายก็คือกระบวนการเปลี่ยนแป้ง (จากข้าว มัน ข้าวโพด ฯลฯ) ไปเป็นน้ำตาล แล้วก็เปลี่ยนจากน้ำตาลไปเป็นเหล้า

ผมตอบไม่ได้ว่าจะใช้คำเรียกว่า เสียแล้ว ได้หรือไม่   สำหรับผมแล้วจะเรียกว่ามันเสียก็ต่อเมื่อมันดูไม่ดีเอาเลย เช่น มีสีดำเข้ม มีราขาวเป็นจุดๆแยกกันอยู่ มีกลิ่นเกินกว่าที่เราจะรับได้  แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร (หาใหม่ได้ใหม ยังพอใช้ใส่อาหารที่ปรุงด้วยไปร้อนๆได้ใหม เป็นต้น)   อย่าเชื่อผมนะครับ คนเดินดงก็เป็นอย่างนี้แหละ

ที่น่ากลัวจริงๆคงมิใช่เรื่องว่ามันเสียหรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องว่ามันจะทำให้เราตายหรือไม่ ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันมีสารเคมีฆ่าหญ้าพวก paraquart หรือ gramoxone ตกค้างหลงเหลืออยู่หรือไม่     ยาเคมีฆ่าหญ้านี้  ชาวบ้านบางรายเขาใส่ในกระบวนการหมักทำเหล้าด้วย เพื่อเร่งกระบวนการหมักให้เร็วขึ้น    ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะกล่าวว่าเมื่อกลั่นเป็นเหล้าแล้ว จะยังคงมีสารเคมีพวกนั้นติดค้างอยู่ในเหล้าตาตั๊กแตนมากน้อยเพียงใด หรือไม่มีเลย ??   

ทำได้อย่างเดียวครับคือ รับมาดื่ม 1 จอก แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเหล้าสี (เหล้าแม่โขงและกวางทองในสมัยนั้น) ที่ผมต้องซื้อติดตัวเข้าไปเสมอ    ครับ... ชาวบ้านเขาก็อยากกินเหล้าเมืองที่มีชื่อโด่งดังเหมือนกัน  ผมก็ปลอดภัยขึ้น อาจจะเปลืองเงินหน่อย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 703  เมื่อ 03 เม.ย. 16, 19:37

ที่ผมเจอแบบน่ากลัวจริงๆ ก็คือ สาโทที่ชาวบ้านเอามาดื่มร่วมวงกับพวกผม ใส่แกลอนน้ำมันเครื่องที่ล้างสะอาดแล้ว   เป็นสาโทที่มีกลิ่นเป็นน้ำตาลปี๊บ  ว้าว... แถวนั้นต้นมะพร้าวก็ไม่มี เป็นน้ำตาลเมาที่ทำจากน้ำตาลสดไม่ได้อยู่แล้ว แถมเป็นช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มเข้าไปแล้วอีกด้วย   นึกออกได้อย่างเดียว คือ เอาน้ำตาลปี๊บมาละลายน้ำ แล้วเหยาะยาฆ่าหญ้าเข้าไป   

พอได้กลิ่น พอเดาได้ว่าไม่ดีแน่ๆ ผมก็ต้องหาทางออก เอาเหล้าแดง (เหล้าสี) มาเข้าวงอีกขวดนึง (ตามปรกติ ก็ดื่มไม่เกิน 1 ขวด ที่เหลือก็ยกให้ชาวบ้านไป) ก็เลยรอดตัวมาได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 704  เมื่อ 04 เม.ย. 16, 18:57

กลับไปเรื่องหมีกับน้ำผึ้งต่อครับ

มีคำโบราณท่านเปรียบเปรยว่า บ่นเป็นหมีกินผึ้ง     ผมไม่เคยเห็นภาพและเสียงในขณะที่หมีกำลังกินรังผึ้ง  เคยเห็นก็แต่รอยเล็บที่มันกอดต้นไม้ปีนขึ้นไป บางต้นก็มีซ้ำหลายรอยทั้งในลักษณะของการปีนซ้ำในช่วงเวลาใกล้ๆกันและในระยะเวลาที่ห่างกันมาก ซึ่งก็น่าจะพอแสดงได้ว่ามันกินครั้งเดียวหมดหรือหลายครั้งหมด หรือมิฉะนั้นก็รังใหญ่หรือรังเล็ก 

ในป่าแม่วงก์นี้ผมเคยเห็นรอยเล็บใหม่ๆที่หมีมันปีนขึ้นไปกินผึ้ง ก็ใหม่พอที่จะต้องหันดูรอบๆตัวเลย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีตัวมันอยู่ใกล้ๆแถวๆนั้น ด้วยไม่รู้ว่า มันกินเสร็จแล้ว เลิกกินแล้ว เดินไปไกลแล้ว  หรือว่ามันลงมาจากต้นไม้มาหลบอยู่บนพื้นใกล้ๆนั้น เนื่องด้วยมันได้ยินเสียงของพวกผมเดินมากัน     

ในการเดินทำงานของผมนั้น จะมีเสียงดังจากการใช้ฆ้อนทุบหินเพื่อดูเนื้อในหรือเก็บตัวอย่างและเสียงพูดคุยกันแบบไม่ระวังความดัง มันเป็นการผสมผสานการทำงานพร้อมไปกับการไล่สัตว์ที่มีอันตรายทั้งหลายให้หลีกไป  ซึ่งก็มีสัตว์ใหญ่อยู่ชนิดหนึ่งที่มักจะไม่หลีก แต่จะยืนนิ่งเงียบฟัง ตนเองก็เลยต้องพิจารณาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ร่องรอยต่างๆ พร้อมฟังเสียงต่างๆของไพรพร้อมไปด้วย   ระมัดระวังขนาดนั้นก็ยังไม่วาย เฉียดวิกฤติถึงเลือดตกยางออกอยู่หลายครั้ง ..ช้างครับ ที่จะรวมเล่าต่อไป
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 45 46 [47] 48 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 20 คำสั่ง