เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 33 34 [35] 36 37 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 70744 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 510  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 19:01

ตัวแลนนี้ พอจะใช้เป็นเครื่องวัดความบริสุทธ์ของป่าได้เหมือนกัน  หากเราเห็นมันยังคลานเอี้ยวไปเอี้ยวมาเมื่อได้ยินเสียงเรา ก็พอจะแสดงว่าเกือบจะไม่มีคนเข้ามาถึงในพื้นที่บริเวณนั้นเลย   ซึ่งตามภาพปรกติแล้ว ตัวแลนทั้งหลายจะโกยแนบขึ้นต้นไม้เมื่อรู้ว่าเราเข้ามาในพื้นที่ใกล้ตัวมัน   

ตัวแลนต่างกับตัวเหี้ย ตรงที่เราจะพบตัวแลนในพื้นที่ป่าแพะ (ป่าโปร่ง) พื้นที่เป็นเนิน เป็นเนินลาด ผืนดินเป็นดินปนหิน สภาพดินเป็นกรด ผืนดินดูแห้งแล้ง แดดร้อน มีร่มไม้น้อย       ในขณะที่เราจะพบตัวเหี้ยอยู่ตามริมห้วยขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี น้ำลึกระดับโคนขาขึ้นไป และมีวังน้ำตามคุ้งน้ำเป็นระยะๆ  เราจะเห็นตัวเหี้ยเดินป้วนเปื้ยนอยู่บริเวณชายน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีรากไม้ราน้ำอยู่ (รากต้นไคร้น้ำ เป็นต้น) เราจึงพบตัวเหี้ยเฉพาะบริเวณใกล้ปากลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี โดยเฉพาะบริเวณที่จะบรรจบกับแม่น้ำสายหลักที่มีน้ำตลอดปี

แต่ก็ดูแปลกดีที่ตัวเหี้ยในลำห้วยดูจะตื่นคนมากกว่าตัวแลนเสียอีก มันจะวิ่งหลบอย่างเดียว  และก็ต่างกับตัวเหี้ยตามคูคลองต่างๆในพื้นที่เมืองที่ดูจะชอบเดินส่ายอาดๆไม่เกรงกลัวอะไรใดๆเลย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 511  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 19:14

ฤๅ นั่นจะหมายความว่า ตัวเหี้ยในป่าก็ถูกล่าเอามากินเหมือนกัน ??

แท้จริงแล้ว เมื่อเอาทั้งสองสัตว์มาทำอาหาร หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไรบ้าง จะว่าเนื้อมันคาวต่างกันก็คงจะไม่ใช่   สัตว์ทั้งสองชนิดนี้กินอาหารที่มีลักษณะที่เหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงที่อาหารนั้นเป็นของในพื้นที่ๆบนบกหรือเป็นของในพื้นที่ๆเป็นน้ำเพียงเท่านั้น   
     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 512  เมื่อ 04 ก.พ. 16, 19:44

ขั้นตอนการนำตัวมันมาทำอาหาร ขั้นแรกสุดก็คือการนำตัวมันทั้งตัวมาเผา    ตรงนี้เป็นเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง  คือการเผานั้นจะต้องเผาจนผิวหนังของมันแตกเป็นเม็ดมะขามคั่ว   ดูง่ายดีนะครับ...แต่มันมีเทคนิคตรงที่จะใช้ไปแรงเพียงใด (ไฟอ่อนน่ะใช้ไม่ได้อยู่แล้วนะครับ) แล้วการเผานี้ก็จะต้องมิให้ความร้อนเข้าลึกมากไปจนไปทำให้เครื่องในสุก  เนื่องจากสัตว์พวกนี้..ง่ายๆก็คือ..เป็นสัตว์กินเนื้อ กินซาก  หากกระเพาะหรือลำใส้แตกขึ้นมาเมื่อใด ก็แทบจะต้องโยนตัวทั้งตัวมันทิ้งไปได้เลย เหม็นติดถึงเนื้อของมันสุดๆแบบอย่าได้บอกใครเลยทีเดียว

เผาไป สลับกับเอาตัวมันไปขูดหนังในน้ำ ค่อยๆขูดเอาส่วนที่ผิวหนังสุกร่อนเป็นแผ่นเป็นกาบทิ้งไป   จนถึงระดับหนึ่ง (สุกๆดิบๆระดับเนื้อย่างน้ำตก) จึงทำการผ่าท้อง ควักตับไตใส้พุงทิ้งไป แล้วล้างท้องให้สะอาด    แล้วก็นำเอาทั้งตัวมาย่างต่อ ค่อยๆย่างไปจนเนื้อมันสุกพอง  แล้วจึงน้ำไปผัดไปปแกง     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 513  เมื่อ 05 ก.พ. 16, 19:05

ตอนผ่าท้องควักใส้พุงออกทิ้งไปนั้น ต้องระวังอย่างมากที่จะไม่ให้กระเพาะและลำใส้แตก มิฉะนั้นก็ต้องโยนทิ้งไปเลย เหม็นอย่าบอกใครเชียว  ใช้วิธีผ่ากึ่งกลางตามยาวลำตัว แล้วหงายมีดตัดช่วงใหล่(สองขาหน้า)ให้แยกออกจากกัน ทำเช่นเดียวกับตะโพก(สองขาหลัง) 

ตัวแย้ก็ต้องผ่าท้องและควักใส้ด้วยวิธีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงลำใส้แตก ต่างกันแต่ว่าไม่ต้องทำการเผาตัวแย้นั้น ทำสดได้เลย จากนั้นจึงนำไปย่างแห้ง หรือต้มแล้วเอามาสับละเอียดยำกับยอดมะกอกอ่อน (หากไม่ลืม ก็จะขยายความต่อครับ) 

เมื่อขูดหนังตัวแลนออกแล้ว ลายด่างดอกดวงบนผิวของมันของมันก็จางลงไป ดูยากว่าเป็นตัวอะไร     ส่วนเนื้ออร่อยที่สุดของตัวแลนและสัตว์อื่นๆที่มีรูปทรงคล้ายๆกับมันก็คือส่วนที่เป็นบ้องตัน (ส่วนตั้งแต่โคนหางไปจนปลายหาง) เป็นส่วนที่หายไปอย่างรวดเร็วจากถ้วยกับข้าวของทุกสำรับข้าว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 514  เมื่อ 05 ก.พ. 16, 19:37

เนื้อของตัวแลนที่เผาด้วยไฟแรงให้สุกเกินระดับเนื้อย่างน้ำตกไปนิดนึงนั้น (ก่อนจะเข้าสู่สภาพ well done)   จะทำให้กลิ่นคาว กลิ่นสาบ และกลิ่นอื่นๆที่มีอยู่ในเนื้อของสัตว์หายไป

วิธีการเผาตัวสัตว์ต่างๆด้วยไฟแรงๆแล้วขูดขนและผิวทิ้งก่อนที่จะสับย่อยเป็นชิ้นๆแล้วเอามาปรุงเป็นอาหารนี้ ผมเห็นว่ามันเป็นทั้งสัญชาติญาณและภูมิปัญญาประจำตัวของมนุษย์ชาติ  เราจะเห็นว่ามีการทำกันแม้กระทั่งในกลุ่มชนที่ว่ามีชีวิตที่ primitive ที่สุด      จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่ชาวบ้านได้ล่ามา ก่อนที่มันจะถูกนำไปปรุงเป็นอาหาร มัจะต้องผ่านกระบวนการเผาไฟ   ครับ...ก็แน่นอนว่า เบื้องแรกก็คือการทำเพื่อการกำจัดขน  แล้วเอามาเผาต่อก็เพื่อกำจัดกลิ่นสาบทั้งหลาย ซึ่งยังจะทำให้เนื้อของมันหอมน่ากินขึ้นมาอีกด้วย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 515  เมื่อ 05 ก.พ. 16, 19:49

ในพื้นที่ที่เป็นป่าตามลักษณะที่ผมได้เล่ามานั้น  เราเกือบจะเห็นเป็นปรกติที่ชาวบ้านจะมีสุนัขสองสามตัวเดินไปด้วยกัน  (จะขออนุญาตใช้คำว่า หมา นะครับ)  หมาเหล่านี้นอกจากจะเดินนำหน้า อันเป็นการช่วยไล่แมลงและไล่งูแล้ว มันยังไล่และเล่นกับตะกวดอีกด้วย ตัวแลนก็จะวิ่งปรูดขึ้นต้นไม้แล้วรีบไต่ไปจนถึงง่ามไม้ จากนั้นก็นอนห้อยเท้ารอ   หมามันก็จะเห่าเรียกนาย จากนั้นก็จะเป็นภาพของการล่าซึ่งอาจจะเป็นการยิง หรือเป็นการโค่นต้นไม้ หรือเป็นทั้งสองแบบเลยทีเดียว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 516  เมื่อ 07 ก.พ. 16, 19:15

แลนตัวใหญ่มี่สุดเท่าที่ผมเคยได้พบเห็นมา อยู่ในพื้นที่ป่าแม่วงก์  ตัวนี้ไม่วิ่งขึ้นต้นไม้ แต่วิ่งเข้าไปซุกในโพรงไม้ซุงผุๆ  แต่แรกก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร เห็นหมาของชาวบ้าน 4-5 ตัวเห่ากันขรม แกว่งหางไปวิ่งเห่าไปรอบๆท่อนซุงไม้นั้น ชาวบ้านเจ้าของหมาที่เดินไปด้วยกัน ก็คงนึกว่าเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยหรืองู ไม่มีอะไรน่าสนใจในโพรงนั้น ก็เลยไล่หมาให้เดินไปที่อื่น   ตัวผมเองใช้ไม้เท้า (ค่อนข้างจะมีติดตัวอยู่เสมอ เพื่อเอาไว้ไล่งูและแมลงพวกที่กัดต่อยแล้วปวดมากๆ) อยากรู้ว่าเป็นอะไร ขึ้นไปยืนอยู่บนขอนไม้ เห็นมีรูก็เอาไม้ทิ่มลงไป ก็ไปเจอเอาอะไรก็ไม่รู้ รู้สึกหยุ่นๆ ขยับแหย่อยู่สองสามครั้ง ไอ้หยา..ยังกะไอ้เข้แนะครับ วิ่งพรวดออกไป บรรดาหมาทั้งหลายพอได้ยินเสียงก็หันมาในทันใด วิ่งเข้ารุมประชิดกัน ได้ยินเสียงร้องเป๋งอยู่ครั้งสองครั้ง  คงถูกหางของเจ้าแลนตัวนี้เข้าให้ฟาดเข้าให้ เจ้าแลนวิ่งเตลิดไปอย่างเดียว หมาก็ตามเห่าไปอย่างเดียว เกือบพ้นสายตา ชาวบ้านเจ้าของหมาก็เรียกหมากลับ ปล่อยตัวแลนให้รอดไป

แลนตัวนี้มีลำตัวขนาดใกล้ๆกับหมอนที่เราใช้หนุนนอน แล้วก็ที่ชาวบ้านปล่อยมันน้้น ก็เพราะตัวมันใหญ่เกินกิน  ผมก็เลยได้รู้ว่าแลนตัวขนาดประมาณน่องขาเรานั้น เป็นขนาดที่เหมาะในการนำมาทำอาหารมากที่สุด     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 517  เมื่อ 07 ก.พ. 16, 19:38

เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นตัวแลนทั้งตัวที่ชาวบ้านนำมาวางขาย แต่คงจะไม่เคยเห็นวิธีการผูกมัดมันเมื่อได้ตัวมา 

ชาวบ้านเขาจะหักเล็บนิ้วเท้าของมันของมันนิ้วหนึ่ง (ตีนหน้าข้างหนึ่งและตีนหลังข้างหนึ่ง) แล้วดึงออกมา ซึ่งก็จะเห็นเส้นเอ็นสีขาวใสยืดยาวออกมาด้วย  ผมจำไม่ได้แล้วว่า ดึงเส้นเอ็นนี้ยาวได้เพียงใด จำได้แต่ว่า ก็พอที่จะเอามาผูกรวบตีนคู่หน้าและคู่หลังของมันเพื่อจะได้เอาคานสอดหาม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 518  เมื่อ 07 ก.พ. 16, 19:45

รู้สึกว่าจะได้กล่าวถึงสัตว์ชื่อ ตัวแย้ มาพอควร     จะขยายความดีใหมครับ?? 
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 519  เมื่อ 07 ก.พ. 16, 20:18

ดีแน่นอนครับ ได้เห็นภาพรวมของสัตว์ตระกูลนี้ครบถ้วน ในบริบทของคนท่องไพรครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 520  เมื่อ 08 ก.พ. 16, 19:09

ผมไม่เคยเห็นแย้ในพื้นที่หุบห้วยขาแข้ง แต่ก็คิดว่าน่าจะมีในบริเวณพื้นที่ระหว่าง บ.ไก่เกียง กับ บ.เกริงไกร เพราะผืนดินบริเวณนั้นเป็นดินค่อนข้างร่วน คือ ดิน+ทรายหบาบ+pebbles(ขนาดหินเกล็ดที่ใส่ในตู้ปลา)  ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ไม่พบตัวมันก็เนื่องมาจากยังเป็นช่วงเวลาที่พวกมันยังจำศีล ยังไม่ออกมาหากินแมลง

ผมรู้จักแย้และเคยกินมาตั้งแต่เด็ก แต่เป็นแย้ตากแห้งที่ถูกไม้ไผ่หนีบประกับเรียงแถวกันมาไม้ละ 4-5 ตัว เป็นแย้ที่ทำแห้งของ จ.ลำปาง พ่อผมเอามาทอดกิน ส่วนผมก็กินแต่ช่วงที่เป็นบ้องตัน เนื้อที่บ้องตันมันก็ไม่มากแต่เมื่อได้แทะเล็มแล้วมันอร่อยมาก     

ในวัยนั้นผมได้รู้จากผู้ใหญ่ที่เขาคุยกันว่า แย้จะไม่พบเหนือจาก จ.ลำปางขึ้นไป  ก็คงจะจริงเพราะผมไม่เคยเห็นชาวบ้านในพื้นที่ๆอยู่นอกแอ่งลำปางพูดถึงเลย และดูจะยืนยันตรงกันว่าไม่มีแย้เหนือแอ่งลำปางขึ้นไป ซึ่งดูจะเป็นจริงแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้     เมื่อมาทำงานเข้าป่าเข้าดงเอาจริงๆ ก็จึงพอจะได้รู้ว่า แย้นั้นมีพบหนาแน่นอยู่ในเพียงไม่กี่พื้นที่ แต่ก็มีกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ๆมีลักษณะผืนดินดังที่ได้กล่าวมา  กล่าวดั่งนี้ก็คงจะพอคาดเดาได้นะครับว่า มีแย้กระจายอยู่ในผืนดินของภาคอิสานแน่นอน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 521  เมื่อ 08 ก.พ. 16, 19:41

เมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ  ผมก็ถูกครูจับไปแสดงการเล่น แย้ลงรู     ก็เอาเชือกมามัดรวมแล้วแยกออกเป็นสี่เส้น เอาไปผูกเอวเด็ก 4 คน ให้ดึงกันไปดึงกันมาในสี่ทิศ จนกว่าจะมีผู้ใดสามารถคว้าธงที่ปักอยู่ตรงหน้าแต่ละคนได้

จนกระทั่งเข้าวัยหนุ่มแน่นก่อนจบการศึกษา   เป็นวิชาบังคับที่จะตัองไปทำการสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาในพื้นที่จริง ก็จึงได้พบเห็นแย้ตัวเป็นๆเป็นครั้งแรก ได้เรียนรู้ชีวิตและอุปนิสัยของตัวแย้ ซึ่งรวมทั้งได้จับมันและได้นำมันมาทำอาหารอีกด้วย   

ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวแย้ของผมได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง เป็นความรู้ที่ได้จากมาจากการซักถามและการถ่ายทอดให้โดยชาวบ้านผู้หนึ่ง นามว่า ทิดร่วม    พื้นที่ที่ผมต้องเข้าไปทำงานนั้นคือ บ.ชะลาดระฆัง อยู่ห่างจากตัว จ.ตาก ประมาณ 16 กม. แยกขึ้นเหนือจากเส้นทาง จ.ตาก - อ.บ้านด่านลายหอย - จ.สุโขทัย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 522  เมื่อ 11 ก.พ. 16, 17:20

ขออภัยที่หายไปเป็นบางวัน  หมอนัดบ้าง ไปงานศพบ้าง ครับผม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 523  เมื่อ 11 ก.พ. 16, 17:49

แย้เป็นสัตว์ที่ขุดรูอยู่ แต่ละตัวเขาก็จะมีรูเฉพาะของเขา ผมไม่เคยเห็นรูแย้ที่มีแย้ลงไปมากกว่า 1 ตัว  เคยเห็นแต่ว่าเมื่อถึงวาระที่ต้องวิ่งหนีกันพล่าน พบรูใหนก็รีบลงไปหลบก่อน แต่ก็ต้องถูกไล่..รีบโผล่ออกมาวิ่งสุดฝีเท้าฝ่าสนามสมรภูมิไปเข้ารูของตัวเอง   

รูของเขาจะอยู่ใต้ผิวดินลึกเพียงใดผมไม่รู้  คิดว่าน่าจะลึกไม่เกิน 50 ซม. แล้วก็คิดว่า ณ จุดที่ลึกที่สุดของรูของเขาก็น่าจะต้องมีลักษณะเป็นโพรงกว้างพอที่เขาจะหมุนกลับตัวได้

รูแย้ของแต่ละตัวจะมีอยู่ 2 ปากรู  คล้ายประตูหน้าบ้านเอาไว้เข้าออกยามปรกติ แล้วก็มีประตูหลังบ้านเอาไว้หลบหนีศัตรู รูหลังบ้านนี้เรียกกันว่า รูเปี่ยว (ออกเสียงว่าเปี่ยว จะสะกดว่า เปลี่ยว หรือแป่ว ก็ไม่ทราบครับ)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 524  เมื่อ 11 ก.พ. 16, 18:17

พื้นที่ในภาคอิสานนั้นมีแย้กระจายอยู่ทั่วไปแน่ๆ  แต่ผมไม่คุ้นกับพื้นที่อิสานมากนัก จึงมิอาจกล่าวถึงได้ว่ามีชุกชุมอยู่ที่ใดบ้าง  เช่นเดียวกับภาคกลางตอนใต้และภาคใต้ต่ำกว่า จ.ราชบุรี ลงไป

ครับ..  นอกจากที่พื้นที่ของ บ.ชะลาดระฆัง ที่มีแย้ชุกชุมมากๆ ซึ่งไม่เหนือขึ้นไปถึงเขต อ.บ้านตาก   ก็มีในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ จ.นครสวรรค์ แยกไปตามถนนเส้น อ.หนองเบน - บ.ตลุกข่อยหนาม - บ.บ่อถ้ำ - บ.ศาลเจ้าไก่ต่อ  เข้าไปบริเวณที่เรียกว่าทุ่งหมาใน จนถึงมะม่วงสามพัน (ธุ์ ??)   แล้วก็ในพื้นที่ บ.ท่ามะนาว และที่ราบด้านตะวันออกของเขื่อนท่าทุ่งนา บนเส้นทาง บ.ลาดหญ้า ไปเขื่อนเจ้าเณร   อีกทั้ง แถบพื้นที่ปราสาทเมืองสิงห์ของ จ.กาญจนบุรี (บ.เก่า บ.ลุ่มสุ่ม บ.สุ้มสุ่ย)     

สำหรับความเห็นของตัวผมเองนั้น แย้ก็คงมีกระจายอยู่และพบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นไปในลักษณะ...อ้อ..อยู่นั่นใง (คือไม่ชุกชุม)    ต่างไปจากพื้นที่บริเวณที่ได้กล่าวถึงมาเหล่านั้น ซึ่งคือพื้นที่ๆเป็นดงแย้จริงๆ ที่มีแย้ตัวขนาดความกว้างประมาณ 3 นิ้วมือวิ่งกันให้เกลื่อน (เมื่อถึงฤดูของมัน)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 33 34 [35] 36 37 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 20 คำสั่ง