เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 71092 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 24 ส.ค. 15, 21:54

..แสดงว่าน่าจะต้องเคยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มาก่อน เพราะใช้ระบบอ่านตำแหน่งแบบ Easting - Northing..

  ระหว่างอาจารย์naitangจอดพักเครื่องเรือ ขอแก้ตัวตามที่ท่านตั้งข้อสังเกต
  คือระบบงานที่เคยทำ  ต้องมีฝ่ายสำรวจออกไป survey สภาพภูมิประเทศของโครงการนั้นๆ เพื่อทราบข้อมูลกายภาพ เช่น ความลาดชัน ร่องน้ำธรรมชาติ พืชพันธุ์ไม้ในพื้นที่ ฯ  เมื่อทางฝ่ายสำรวจจัดทำแบบ(drawings)เรียบร้อยแล้ว ก็ส่งมอบแบบภูมิประเทศนั้นให้ฝ่ายออกแบ เพื่อเป็นbase drawings สำหรับออกแบบให้เหมาะสมต่อไป  ซึ่งแบบภูมิประเทศเหล่านี้จะตีตารางกริดไว้ด้วยเพื่อจะได้ทราบค่าพิกัดในพื้นที่นั้น  ค่าพิกัดที่ลงไว้จะเป็นระบบUTM คือ Easting, Northing คือ ระยะจากศูนย์กำเนิด(origin) หน่วยเป็น m กำกับด้วยอักษร E และ N
   สำหรับแผนที่มาตรฐาน มาตราส่วน 1:50,000 เคยเห็นส่วนงานออกแบบระบายน้ำ นำมาใช้ plot สันปันน้ำโดยพิจารณาจากเส้นชั้นความสูง เพื่อพิจารณาพื้นที่รับน้ำ(watershed) คำนวณบริมาตรน้ำ แล้วนำค่าไปใช้ออกแบบ ตัวอย่างคร่าวๆครับ ไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรง
    ก็เลยได้รู้จักระบบพิกัด ดังกล่าวและคุ้นเคยแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 แต่ยังไม่เคยนำออกไปใช้ในสนามจริงๆอย่างนักเดินสำรวจป่าแบบอาจารย์
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 25 ส.ค. 15, 20:40

ผมก็เลยได้ความรู้จากคนขับรถของคณะผม (อายุมากกว่าผมประมาณรอบกว่า) เรื่องของเสือใบ เสือดำ เสือมเหศวร ซึ่งเป็นพวกโจรคนดีสำหรับชาวบ้าน ปล้นคนมีฐานะ ดูแลและช่วยเหลือชาวบ้าน และไม่ทำร้ายคน   พื้นที่ทำการของเสือกลุ่มนี้อยุ่ในพื้นที่ราบด้านตะวันตกไปจนถึงทิวเขาทางตะวันตก 

ผมขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ในเรื่องของ ผู้ที่อาจารย์ได้เอ่ยนามไว้ 4 ท่าน คือ
เสือใบ เสือดำ เสือมเหศวร และนายตำรวจมือปราบ ขุนพันธรักษ์ราชเดช มาขยายความคั่นรายการครับ
(จากสำนักข่าว ไทยรัฐออนไลน์ และ Mthai News)

รวมอิทธิฤทธิ์ ขุนโจรพันธุ์เสือ ตำนานโรบินฮู้ดเมืองไทย

ปิดตำนาน ‘เสือใบ’ สุภาพบุรุษขุนโจรเมืองสุพรรณ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 19:02

กลับมาขึ้นเรือแล้วครับ  ต้องขออภัยจริงๆครับ ท้องมันเดินมาราธอนไปหน่อย   พอชึ้นเรือแล้ว กำลังจะผลักหัวเรือออก ก็ต้องลงเรือวิ่งเข้าหลังพุ่มไม้ริมตลิ่งอีกหลา่ยครั้ง  ตอนนี้เป็นปกติแล้วครับ

ก็เลยจะขอขยายความกรณีเกิดเหตุนี้ในป่าดง จะทำเช่นใด

ผมนั้น ได้ความรู้จากคุณพ่อซึ่งเป็นหมอว่า  ปล่อยให้มันถ่ายไปจนมันหยุดเอง ซึ่งก็จะค่อยๆดีขึ้นจนเป็นปกติภายใน 2-3 วัน และในกรณีที่ไม่มียาอะไรเลย เพื่อป้องกันการเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างมากจนอาจถึงภาวะคางเหลือง (เจียนตาย) ก็จะต้องดื่มน้ำให้มากๆในช่วงที่ท้องเสียนั้น 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 20:01

เนื่องจากเรื่องท้องเสียนี้ เป็นเรื่องปรกติสำหรับพวกเราคนเมืองที่ต้องกินอาหารผิดสำแดง ต้องกินอาหารที่ผิดแผกแตกต่างไปจากอาหารในเมืองที่เรากินกันทุกวัน  เรื่องโรคของท้องจึงเป็นพระเอกของการเจ็บป่วย 

รู้เช่นนี้แล้วก็ต้องมียาติดตัวและของคณะที่เดินทาง ผมก็จะเตรียมยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยากฤษณากลั่น ยาซัลฟากัวนิดีน และเกลือแร่ผง

แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ก็เกือบจะไม่ต้องใช้ยาที่เตรียมมาเหล่านั้น  เพราะมันมียาอยู่ในก้นครัวของเรานั่นเอง 
  -กระชายที่เตรียมมาสำหรับปรุงเครื่องแกงป่าและแกงคั่ว ก็เป็นยาทั้งขับลมและแก้ท้องเสีย 
  -น้ำข้าวที่ได้มาจากการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ก็เป็นอาหารอ่อนที่เหมาะสำหรับการปรับท้องใส้ และยังอุดมด้วยวิตามิน
  -เกลือทะเลจากนาเกลือ ก็มีเกลือแร่ที่สามารถทดแทนเกลือแร่ที่เราสูญเสียจากการถ่ายออกไป ทั้งโซเดียม โปแตสเซียม รวมทั้ง
      แคลเซียม  แมกนีเซียม และเหล็ก

เอาเกลือใส่ลงไปในน้ำข้าวแล้วดื่ม เป็นสุดๆของอาหารและยาบรรเทาอาการท้องเสียและอาการอ่อนเพลียเลยครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 19:11

ก่อนจะไปต่อ ก็ต้องขอบคุณคุณ ninpaat ที่ช่วยขยายความเรื่องของเสือชื่อดังและมือปราบชื่อดังของไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับผมนั้น  จากเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่ จากการสัมผัสจริงกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ทำให้ผมได้เห็นภาพของความต่างอย่างสิ้นเชิงของคำว่า ไอ้เสือ โจร นักเลง และอันธพาล     บุคคลเช่น เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร และมือปราบขุนพันธ์ฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นบุคคลที่มีใจเป็นนักเลง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 20:27

แล้วก็ออกเดินทาง  แควใหญ่ที่เคยเห็นว่ากว้างและมีหาดทราย ก็เริ่มแคบลงอย่างเห็นได้ชัด มีแก่งอยู่มากมายและค่อนข้างจะถี่เอาการอยู่ทีเดียวเลยครับ 

สักพักใหญ่ๆก็มาถึงปากห้วยองก์จุ แล้วก็ถึงบ้านนาสวน (เดิมเรียกกันว่า บ.ปากนาสวน) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์ในระดับที่ดีทีเดียว ก็คือ พอจะหาซื้อนมข้นหวานได้ หรือหาซื้อเหล้าโรงยกทั้งเทได้

เหล้าโรงในสมัยนั้น คือเหล้าขาวความแรงขนาด 28 ดีกรี ทำการบรรจุในลังไม้เพื่อส่งขายกระจายไปในที่ต่างๆ  แต่ละ 1 ลังไม้จะมีเหล้าอยู่ 32 ขวด เรียกว่า 1 เท    จนปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่มีความรู้เรื่องที่มาที่ไปของคำว่า "เท" เลยครับ

ก็แปลกดีที่เหล้าสี (เหล้าแม่โขง, กวางทอง) ขนาดความแรง 35 ดีกรี  กลับบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ แต่ละ 1 กล่องจะมีเหล้าอยู่ 12 ขวด  เรียกกันว่า 1 โหลบ้าง  1 กล่องบ้าง หรือ 1 ลังบ้าง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 30 ส.ค. 15, 19:41

ชาวกะเหรี่ยงบ้านนาสวนนี้พูดภาษาได้ค่อนข้างชัดเจน เขาเรียกตัวเองว่าเป็นพวกกะโพล่ว มิใช่พวกปากะญอ เขาบอกว่าชาวกะเหรี่ยงนั้นมีอยู่สี่พวก อีกสองพวกนั้นอยู่ในพม่า ทั้งหมดใช้ภาษาเดียวกันแต่ต่างกันที่การออกเสียงคำต่างๆ  เขาว่าพวกกะโพล่วเป็นพวกกะเหรี่ยงน้ำ เกือบทั้งหมดจะอาศัยอยู่ตั้งแต่พื้นที่ของ จ.กาญจนบุรี ลงมาทางใต้   ส่วนปากะญอนั้นเป็นพวกกะเหรี่ยงภูเขา และเป็นพวกที่เขาเรียกว่าพวกกะหร่าง เกือบทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของเรา   (ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าพวกกะเหรี่ยงทื่คนภาคเหนือเรียกว่า ยางแดง และ ยางขาว เป็นพวกใหน)

กะเหรี่ยงที่บ้านนาสวนนี้ แม้ว่าจะเข้าโรงเรียนและเรียนภาษาไทย แต่ก็มีการสอนภาษาของเขากันเอง เป็นตัวอักษรคล้ายกับอักษรพม่า (จะเรียกว่าเป็นอักขระเดียวกันก็น่าจะได้)  น่าสนใจก็ตรงที่เขามีสระและการออกเสียงคล้ายของภาษาไทย  และการเรียงคำเป็นประโยคก็คล้ายกับภาษาไทย ไม่เหมือนกับภาษาพม่า (เช่น กะเหรี่ยง...เหน่อ ดา กะช่อ แล่ = เธอ เห็น ช้าง ใหม   หรือ อ่อ มี่ = กินข้าว    แทนที่จะเป็นแบบพม่า...ทะเมน ซา = ข้าว กิน หรือ ทะเมน หมะ ซา = ข้าว ไม่ กิน (ซึ่งหมายถึง กินข้าว และ ไม่กินข้าว) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 31 ส.ค. 15, 19:32

จาก บ.นาสวน ขึ้นไป บรรยากาศของการเดินทางก็ค่อยๆเปลี่ยนไปสู่สภาพวิเวกอย่างแท้จริง ตลิ่งของล้ำน้ำเริ่มสูงชัน เกือบจะไม่มีช่องให้เอาห้วเรือเข้าเกยจอดได้เลย

แล้วก็เข้าสู่แก่งยาว ซึ่งเป็นแก่งที่คนเรือค่อนข้างจะมีความรู้สึกเกร็งๆ รู้สึกว่าต้องวัดดวงกันว่ารอดหรือไม่รอด   ซึ่งสำหรับขาทวนน้ำขึ้นนั้นจะมีความรู้สึกว่ารอดมากกว่าไม่รอด  แต่ขาล่องนั้นเป็นความรู้สึก 50/50 จริงๆ

พ้นจากหัวแก่งยาว ก็จะเห็นภูเขาโดดๆอยู่ทางขวามือ เรียกกันว่า เขาแม่พลู ซึ่งเป็นที่ๆชาวบ้านและคนเรือให้ความเคารพว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางประจำถิ่นของแก่งยาว  จากนั้นก็เข้าโค้งไปทางซ้ายอีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงปากลำขาแข้งซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 31 ส.ค. 15, 21:04

แก่งยาวเป็นลักษณะของ rapid จริงๆ คือ เป็นช่วงของแม่น้ำแคบ ท้องน้ำตื้น น้ำไหลแรง เป็นทางตรง มีความยาวประมาณ 200 ม. ผิวน้ำในช่วงของแก่งไหลเป็นลอนคลื่น ไม่ราบเรียบเหมือนผิวน้ำไหลตามปรกติ

แม้แก่งจะค่อนข้างตรงและดูเหมือนว่าจะนำเรือผ่านขึ้นไปได้ไม่ยากนัก   แต่ด้วยความที่น้ำไหลแรงและมีน้ำตบซ้ายตบขวามาก
  เรือขาขึ้นจึงต้องคอยปรับหัวเรือให้ตรง   ความเร็วของเรือจึงมีความสำคัญ เร็วมากไป หรือ เร็วน้อยไปก็บังคับทิศทางได้ยาก
  เรือขาล่อง ต้องล่องด้วยความเร็วที่เร็วกว่าความเร็วของน้ำไหล แล้วก็ไปให้แม่นๆต้องพรวดเดียว  หากไปชะงักอยู่กลางแอ่ง น้ำท้ายเรือก็จะทะลักเข้าเรือ ด้วยความเร็วตามน้ำที่ไหลแรงก็ทำให้บังคับหัวเรือยาก 

ที่แก่งยาวนี้แหละครับ ผมนั่งเรือครูดหินเกือบแตกมาครั้งหนึ่ง  แบบน้ำทะลักเข้าท้ายเรือครั้งหนึ่ง  แล้วก็เรือแตกอีกครั้งหนึ่ง                                                                                                           
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 19:15

นั่งเรือมาประมาณ 8+ ชม. ก็มาลุ้นกันที่แก่งยาวนี้แหละครับ ว่าจะรอดถึงปากลำขาแข้งด้วยความสวัสดีมีชัยหรือไม่ 

ก็คงจะพอเห็นภาพของความยากลำบาก ความไม่สะดวก ความเสี่ยง (ชีวิตและทรัพย์สิน) และค่าใช้จ่ายที่สูงต่างๆ   ซึ่งก็พอจะทำให้เห็นภาพแล้วนะครับว่า ด้วยเหตุใดนักนิยมไพรและพรานไพรทั้งหลายที่จะเข้าไปในห้วยขาแข้ง จึงนิยมไปใช้เส้นทางเดินเท้าเข้าทาง บ.ใหม่ บ.ทองหลาง อ.บ้านไร่ และทางห้วยทับเสลา กิ่ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

แท้จริงแล้ว เราก็สามารถเข้าถึงพื้นที่ปากลำขาแข้งได้โดยทางบกเหมือนกัน แต่มันไกลและต้องผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายแห่ง ซึ่งอาจจะดูน่ากลัวและโหดเกินไปสำหรับพรานไพรจากพื้นราบ  หนึ่งในเส้นทางนั้นก็คือ จาก บ.หนองรี (อยู่บนเส้นทางรถระหว่าง อ.บ่อพลอย กับ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือย้อนลำตะเพินขึ้นไป (ห้วยตะเพินที่ผ่านเขาชนไก่ แหล่งฝึก รด.นั่นแหละครับ) จนถึงเขาพุช้างหมอบ ต่อไปยังเขาทุ่งสว่าง แล้วลงไปตามห้วยแม่วง ก็จะถึง บ.ไก่เกียง ซึ่งตั้งอยู่บนจุพบกับห้วยขาแข้ง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 20:12

เอาเรื่องทางเรือให้หมดก่อนนะครับ แล้วค่อยไปเดินท่องๆในห้วยขาแข้งกัน

คำว่า "เรือแตก" นั้นดูน่ากล้ว    ผมคิดว่าภาพที่เราๆท่านๆคิดกันตามปรกตินั้น น่าจะเป็นสภาพของเรือถูกฉีกออกเป็นชิ้นส่วนแยกออกจากกัน 

แต่เรือแตกในแควใหญ่หรือแควน้อยนั้น มิได้มีภาพของความรุนแรงดั่งนั้น  ผมไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินว่ามีกรณีเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นจากการชนกัน หรือจากการชนหินในเกาะแก่ง 

เรือแตกในแควใหญ่และแควน้อยนั้น เกือบทั้งหมดหมายถึงกรณีที่เรือครูดกับหินในแก่ง และส่วนมากก็จะเป็นกรณีเกิดที่บริเวณตะเข็บส่วนต่อระหว่างกราบเรือกับท้องเรือ โดยเฉพาะส่วนช่วงครึ่งท้ายของเรือ   ส่วนกรณีท้องเรือครูดกับหินจนทะลุนั้นมีน้อยมาก       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 20:39

เรือแตก จึงมีความหมายถึง การที่น้ำรั่วเข้าเรือจนต้องเกยหัวเข้าฝั่งเพื่อจอดซ่อมแซม 

ก็ดูไม่น่ากลัวใช่ใหมครับ  แท้จริงมันก็น่ากลัวอยู่ในระดับหนึ่ง คือ สถานที่เรือแตกนั้นมันอยู่ในพื้นที่แก่ง ก็คงจะพอเห็นภาพได้นะครับว่ามันเกือบจะไม่มีช่องมีหาดให้เรือเกยหัวเข้าจอดได้เลย  และก็เนื่องจากแก่งเป็นบริเวณที่น้ำไหลเร็วและแรง ประกอบกับเรือต้องมีความเร็วกว่าน้ำไหลจึงจะสามารถบังคับทิศทางเรือได้   ทำให้การพุ่งหัวเรือเข้าเกยฝั่งเพื่อกันมิให้น้ำเข้าเรือจนจมนั้น หากหันหัวเรือเร็วเกินไปเรือก็จะถูกปัดไปขวางน้ำจนพลิกได้ และหากช้าไป น้ำก็อาจจะเข้าเรือจนจมได้

เรือทั้งหลายที่ขึ้นเหนือเลย อ.ศรีสวัสดิ์ ขึ้นไป จึงมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์   ก็จะมีเข่งไม้ไผ่วางอยู่ท้ายเรือ ใส่หม้อ จานชาม กระทะ ข้าวสาร ผักสด และเครื่องปรุงสำคัญ (หอม กระเทียม น้ำมัน น้ำปลา น้ำตาล ฯลฯ) เตรียมพร้อมไว้    ที่ขาดไม่ได้ก็คือ สังกะสีแผ่นเรียบ ตะปู และไฟฉาย
บันทึกการเข้า
PATAMA.M
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 02 ก.ย. 15, 10:04

ขอบคุณอาจารย์สำหรับประสบการณ์สนุกๆ ที่นำมาเล่าสู่เพื่อเป็นความรู้และความบันเทิงค่ะ

อ่านไปลุ้นไปเหมือนนั่งอยู่บนเรือ..รอให้ถึงปากลำห้วยขาแข้ง แล้วเหตุการณ์จะเป็นยังงัยต่อไปคะ  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 02 ก.ย. 15, 19:39

ขอบคุณที่ตามอ่านครับ   

ที่จริงแล้วมีเรื่องที่น่าจะเป็นความรู้รอบตัวและรู้รอดตัวแฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ   มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากทีเดียวที่ผมต้องละข้ามไป เช่น ในเรื่องของเรือ อาทิ เรื่องการเปลี่ยนใบจักรเรือ เรื่องอาการเรือสั่น เรื่องวิธีการจัดวางของและคนนั่งในเรือ เรื่องกติกาเรือต้องวิ่งชิดขวาและขาขึ้นกอดโค้งด้านใน ขาล่องเกาะโค้งด้านนอก ฯลฯ   ซึ่งเรื่องตามอาทิเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องรู้ เป็นเรื่องที่บ่งบอกความชำนาญการของนายท้ายเรือ บ่งบอกถึงสภาพและสถานะของเส้นทาง และเป็นเรื่องที่ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการได้ล่วงหน้าในการเอาชีวิตรอด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 02 ก.ย. 15, 20:40

เรื่องสังกะสีและตะปูที่เตรียมติดเรือไว้นั้น คงรู้แล้วนะครับว่าใช้ในการปะ ปิด รอยแตกของเรือจากการกระแทกกับหิน   หลักการก็ง่ายๆครับ น้ำแควนั้นไม่ลึกมากนัก ตลอดลำน้ำก็มีหาดอยู่มากมาย ดังนั้น เราก็ปะรอยแตกของเรือเพียงพอที่จะไม่ให้น้ำทะลักเข้ามามากเกินกว่าความสามารถที่เราจะวิดน้ำออกจากเรือได้ทัน  ถ้าดูไม่ดีก็แวะข้างทางแล้วทำการอุดใหม่  กลับไปถึงบ้านแล้วจึงค่อยซ่อมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ส่วนไฟฉายนั้น อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติที่ต้องมีใว้ใช้ในเวลาลางคืน  แต่ชาวเรือเขาใช้ประโยชน์ในอีกลักษณะหนึ่งด้วย 
 
นายท้ายเรือทั้งในแควใหญ่และแควน้อยนั้นมีความชำนาญสูงมาก  เขาเหล่านั้นสามารถจะขับเรือในเวลากลางคืนได้โดยไม่ต้องมีไฟส่องทาง ก็อาจจะสงสัยว่า แล้วขับไปได้อย่างไรในแม่น้ำที่มีความคดเคี้ยวและมีแก่ง

ครั้งหนึ่ง ขาล่องจากห้วยขาแข้งกลับมา base camp ที่ บ.ลาดหญ้า  หลังจากไปเสียเวลาซ่อมเรือแตกอยู่ที่แก่งยาวอยู่นาน ก็ห้อเหยียดกลับมาให้ทันมืด แต่ไม่ทันดันมืดเสียก่อนช่วงระหว่าง อ.ศรีสวัสดิ์ กับ บ.ลาดหญ้า  จะแวะพักข้างทางก็ไม่ได้เสียแล้ว มันมืดเกินไปที่จะจัดการในเรื่องใดๆ   คนเรือบอกว่าไปต่อไปจนถึงปลายทางได้ ไม่ต้องห่วง  เอาก็เอาครับ แม้จะค่อนข้างกลัวอยู่ทีเดียว 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง